7 ข้อคิดก่อนซื้อจอทีวีมาใช้เป็นจอคอม ดูหนัง เล่นเกม ทำงานคุ้มมั้ย ความคมชัด สีสัน ราคา 2024
ด้วยคุณสมบัติของจอทีวีในปัจจุบันที่พัฒนาในหลาย ๆ จุดขึ้นมาก เช่น ประสิทธิภาพในการแสดงสีสัน มุมมองความกว้างของภาพ รีเฟรชเรต ในขณะเดียวกันก็มีทีวีที่ขนาดหน้าจอไม่ใหญ่มากนัก แต่เน้นคุณภาพของภาพมากขึ้น จึงทำให้หลายท่านอยากจะซื้อทีวีมาใช้แทนจอคอมไปเลย เผื่อไว้ใช้ทั้งทำงาน ดูหนังและเล่นเกม ในบทความนี้จะเป็นข้อควรพิจารณา 7 ข้อก่อนจะซื้อทีวีมาใช้เป็นจอคอม ว่าควรต้องดูเรื่องอะไรก่อนบ้าง เพราะถึงแม้จะใช้แสดงภาพได้เหมือนกัน แต่ก็มีบางจุดที่ต้องชั่งใจอยู่ดี
เลือกจอทีวีแทนจอคอมดีมั้ย ต้องดูสิ่งใดบ้าง?
1.ขนาดหน้าจอ
ฝั่งของจอคอมของใหม่มือหนึ่งที่มีให้ซื้อในปัจจุบันจะเริ่มที่ 19” ขึ้นไป ส่วนขนาดยอดนิยมก็จะเป็น 21” 23” และ 30 กว่านิ้ว ซึ่งเป็นขนาดหน้าจอที่สามารถใช้งานบนโต๊ะได้สะดวก ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องนั่งห่างจากจอมากนัก หรือจะใช้แบบหลายจอวางประกบกันก็จัดโต๊ะได้ง่าย
ในขณะที่จอทีวี ขนาดเล็กสุดที่หาซื้อได้ง่ายหน่อยก็จะเริ่มที่ 32” ส่วนกลุ่มของทีวีที่สเปคดีหน่อยก็จะขึ้นไปที่ระดับขั้นต่ำ 42” แน่นอนว่าภาพที่ได้จากจอก็จะใหญ่เต็มตากว่า แต่สิ่งที่ตามมาก็คือผู้ใช้จะต้องนั่งห่างจากจอออกมามาก เพื่อให้สามารถมองภาพทั้งจอได้โดยไม่ต้องขยับคอและกวาดสายตามากนัก นอกจากนี้ยังควรติดตั้งทีวีโดยใช้แขนจับจอที่ติดเข้ากับหลังจอผ่าน VESA mount เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตำแหน่ง ปรับมุมก้มเงยของจอทีวีขณะใช้งาน
หากต้องการซื้อทีวีมาใช้แทนจอคอม จึงจะต้องพิจารณาร่วมกันทั้งขนาดหน้าจอที่ต้องการและพื้นที่จัดวางและติดตั้งด้วย เพื่อจะได้ทั้งความสะดวกในการใช้งาน ความสวยงาม และสุขภาพของผู้ใช้งานในระยะยาว
2.ความละเอียดหน้าจอ
จุดที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีผลกับภาพไม่แพ้กันก็คือเรื่องความละเอียดหน้าจอ ซึ่งจะสัมพันธ์กับขนาดหน้าจอด้วย อย่างถ้าจอทีวีขนาด 42” ความละเอียดระดับ 1080p ในขณะที่จอคอมขนาด 27” 1080p แม้ทั้งสองจอนี้จะมีความละเอียดภาพอันหมายถึงจำนวนพิกเซลเท่ากันที่ 1920×1080 = 2,073,600 เม็ดพิกเซลก็ตาม แต่ด้วยพื้นที่การแสดงผลที่ต่างกัน ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณความหนาแน่นของพิกเซลบนแต่ละจอจะได้เป็นดังนี้
- ทีวี 42” จะมีความหนาแน่นพิกเซลเท่ากับ 52.45 PPI
- จอคอม 27” จะมีความหนาแน่นพิกเซลเท่ากับ 81.59 PPI
ค่าความหนาแน่นพิกเซลจะส่งผลถึงความเนียนของภาพบนจอ ยิ่งมีค่ามากก็เท่ากับเม็ดพิกเซลจะมีขนาดเล็ก มีจำนวนมากและอัดแน่นกว่าในพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว ส่งผลให้ภาพที่แสดงบนจอดูเนียนจนมองเห็นเม็ดพิกเซลได้ยาก นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับระยะห่างจากหน้าจอที่จะทำให้ได้ภาพจากจอที่สวยด้วย เช่นหากถ้าใช้ทีวี 42” ความละเอียดระดับ 1080p หากนั่งมองใกล้ ๆ แบบในระยะจอคอม เราอาจจะมองเห็นเม็ดพิกเซลบนจอได้ชัดเจนมาก ทำให้ภาพดูแตก ๆ ไม่สวยเหมือนกับจอมือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาก็คือต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างสายตากับหน้าจอออกมา
ส่วนถ้าให้เทียบกันแบบง่าย ๆ หากอยากได้ทีวีที่มีค่าความหนาแน่นพิกเซลไม่น้อยกว่าของจอคอมขนาด 27” 1080p ก็จะต้องเลือกซื้อทีวี 4K ขนาด 55” หรือเล็กกว่าลงมา ดังนั้นถ้าหากต้องการทีวีที่ภาพเนียนตา สามารถนั่งใช้งานใกล้ ๆ ได้สบาย ก็แนะนำว่าควรเลือกที่ความละเอียดระดับ 4K ขึ้นไปไว้ก่อน จากนั้นค่อยว่ากันเรื่องขนาดอีกที ซึ่งก็จะย้อนกลับไปที่ข้อแรกครับ ว่าพื้นที่เรามีขนาดไหน สามารถนั่งได้ห่างหรือใกล้สุดเท่าไหร่
3.ค่า Input Lag
เป็นสิ่งที่สายเกมเมอร์ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเล่นเกมที่ภาพบนจอจะต้องตอบสนองตามการควบคุมได้แบบเร็วที่สุด เช่นเกมแนวต่อสู้อย่างพวก Tekken รวมถึงเกม FPS เกมแนวยิง เกมแอคชันที่ต้องตอบสนองกับสิ่งที่อยู่บนจออย่างรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลถึงสถานการณ์ในเกมได้เลย
ซึ่งสิ่งที่มีผลก็คือค่า input lag ของจอ ที่จะเป็นระยะเวลาซึ่งจอจะแสดงภาพออกมาตามการควบคุม เช่น ผู้ใช้เลื่อนเมาส์ไปทางขวา ผ่านไป 5 มิลลิวินาที (ms) ตัวเคอร์เซอร์ถึงจะขยับไปทางขวาตามคำสั่ง แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี อย่างในกลุ่มของจอทีวีมักจะอยู่ที่ราว ๆ 20-30 ms ส่วนจอคอมมักจะอยู่ที่ไม่เกิน 10 ms เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามจุดประสงค์ของจอแต่ละประเภทอยู่แล้ว เนื่องจากจอคอมจะต้องตอบสนองตามการสั่งงานของผู้ใช้ให้เร็วที่สุด เช่นการเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์ การเล่นเกมบนคอม ในขณะที่จอทีวีโดยทั่วไปจะออกแบบให้รองรับการแสดงภาพตามข้อมูลที่ส่งมาอย่างเดียว ไม่ต้องรับคำสั่งการเคลื่อนไหวของผู้ใช้มากนัก ทำให้บางครั้งเวลาเล่นเกมบนทีวี อาจจะพบปัญหาเรื่องการควบคุมว่าตัวละครหรือเคอร์เซอร์เคลื่อนที่ไม่ได้ดั่งใจอยู่บ้าง
แต่ทีวีในปัจจุบันก็มีการพัฒนาเรื่อง input lag ให้ดีขึ้นมาก เพราะตัวเครื่องเกมคอนโซลที่นำมาต่อกับทีวีก็ล้วนต้องการระยะเวลา input lag ที่ต่ำลง เพื่อให้ผู้ใช้สนุกกับเกมบนรีเฟรชเรตสูงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ทีวีหลาย ๆ รุ่นยังมาพร้อมกับ Game Mode ที่ผู้ผลิตใส่มาให้เลือกใช้ได้ โดยเมื่อเปิดใช้ จอจะพยายามลดค่า input lag ลงเพื่อให้สามารถใช้เล่นเกมคอนโซล และใช้ต่อเป็นจอคอมได้ รวมถึงในทีวีรุ่นที่มาพร้อมพอร์ต HDMI 2.1 ในรุ่นราคาหลักหมื่นขึ้นไปก็มักจะมีฟีเจอร์ ALLM (Auto Low Latency Mode) มาให้ด้วย เมื่อเปิดใช้งานและถ้าอุปกรณ์ส่งภาพเช่นเครื่องเกมคอนโซล หรือการ์ดจอรองรับ ค่า input lag ของจอก็จะลดลง ก็จะช่วยให้เล่นเกมได้สนุกขึ้น ลดปัญหาเรื่องการควบคุมลง
ทำให้ถ้าหากต้องการซื้อทีวีมาใช้แทนจอคอม ประเด็นของค่า input lag และ Game Mode ก็เป็นจุดที่ควรตรวจสอบด้วยว่าสามารถทำได้ต่ำขนาดไหน เพียงพอกับรูปแบบการใช้งานที่ต้องการหรือเปล่า แต่ถ้าให้ชัวร์ที่สุดก็จอคอมครับ โดยเฉพาะกับคนที่ต้องการใช้เล่นเกมแบบจริงจัง เพราะยังไงก็มี input lag ต่ำกว่า รวมถึงยังมีคุณสมบัติข้ออื่น ๆ ที่เหมาะกับการเล่นเกมกว่าจอทีวีด้วย
4.Response Time
อีกค่าที่เกี่ยวข้องกับเวลาและคุณภาพของจอก็คือ response time ที่เป็นระยะเวลาของการเปลี่ยนสีของเม็ดพิกเซล แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งน้อยก็ยิ่งดี เพราะเท่ากับว่าจอจะสามารถเปลี่ยนภาพได้เร็ว ไม่มีอาการภาพค้างบนจอ (ghosting) ซึ่งฝั่งของจอคอมจะทำสิ่งนี้ได้ดีมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วตัวจอจะนำข้อมูลภาพที่ได้จากการ์ดจอหรือเครื่องต้นทางมาแสดงแบบตรง ๆ เลย ไม่ค่อยมีการประมวลผลเพื่อปรุงแต่งภาพเพิ่มเติมมากนัก จึงทำให้การเปลี่ยนสี การเปลี่ยนภาพเป็นไปได้เร็ว เหมาะกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีการเปลี่ยนภาพที่ว่องไว ตอบสนองการใช้งานได้เร็ว และไม่เกิดอาการภาพค้างให้กวนใจ
ส่วนของฝั่งจอทีวี จุดประสงค์ของการแสดงภาพคือต้องการให้ได้ภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะกับการดูภาพยนตร์ ทำให้ทีวีส่วนใหญ่จะมีการประมวลผลภาพ เช่นการบูสต์สีสัน คอนทราสต์ การเพิ่มความคมชัด การแสดงภาพในโหมดที่เหมาะสำหรับการดูหนัง ก่อนที่จะแสดงขึ้นจอผ่านพวกเอนจิ้นต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตใส่มาในตัวทีวี ส่งผลให้เกิดความหน่วงในการเปลี่ยนภาพบนจอขึ้นมา โดยส่วนใหญ่แล้วทีวีจะมี response time ราว ๆ 15 ms ในขณะที่จอคอมจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 ms เท่านั้น ถ้ากลุ่มทีวีจะมีที่สู้ได้ก็คือพวกทีวี OLED ที่มี response time ต่ำมากแค่ราว ๆ 1 ms ทำให้ทีวี OLED ดูจะเป็นทีวีประเภทที่เหมาะกับการใช้แทนจอคอมที่สุด หากเทียบในกลุ่มของจอทีวีด้วยกัน
5.รีเฟรชเรต
เป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่าจอสามารถแสดงภาพได้กี่เฟรมในหนึ่งวินาที หน่วยเป็น Hz โดยทีวีมาตรฐานในปัจจุบันจะมีค่ารีเฟรชเรตขั้นต่ำที่ 60Hz แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้ก็จะมีการออกทีวีที่มีรีเฟรชเรตสูงขึ้นเพื่อรองรับการเล่นเกม ไม่ว่าจะจากเครื่องเกมคอนโซลหรือการต่อกับพีซีก็ตาม อย่างในยุคนี้ก็จะโฆษณากันโดยเน้นที่ 120Hz เป็นหลัก ซึ่งจะเหมาะกับการต่อเพื่อเล่นเกมจากเครื่องเกมคอนโซลยุคปัจจุบันอย่างพวก PlayStation 5 และ Xbox Series X|S ที่บางเกมก็สามารถแสดงผลที่เฟรมเรต 120 fps ซึ่งเหมาะกับจอ 120Hz แบบพอดิบพอดี
แต่อย่างไรก็ตาม ในทีวีรุ่นราคาหลักหมื่นต้น ๆ ขึ้นไปที่บอกว่ารองรับการแสดงผล 120Hz หลายรุ่นจะใช้เป็นการประมวลผลเพื่อแทรกเฟรมภาพเพิ่มเพื่อให้พาเนลจอซึ่งมีสเปค 60Hz สามารถแสดงภาพที่ระดับ 120Hz ได้ ทำให้ภาพที่ออกมาอาจจะดูแตกต่างจากทีวีที่พาเนล 120Hz แบบ native จริง ๆ อยู่บ้าง รวมถึงอาจทำให้เกิดความหน่วง (latency) ในการแสดงผลขึ้นอีก ทำให้ถ้าหากต้องการซื้อจอทีวีมาใช้เล่นเกมแทนจอคอม แล้วต้องการเล่นเกมที่เฟรมเรตสูงกว่า 60 fps ได้อย่างเต็มศักยภาพ ก็จะต้องเลือกทีวีที่รีเฟรชเรต 120Hz ขึ้นไปแบบ native ด้วย ซึ่งอาจจะต้องอ่านสเปคและรีวิวกันลึกนิดนึง รวมถึงราคาก็จะสูงขึ้นไปจากทีวีปกติด้วย
ในขณะที่ฝั่งของจอคอม ค่ารีเฟรชเรตสูงสุดที่จอนั้นทำได้ก็คือจะตรงกับความสามารถของพาเนลจอจริง ๆ เพราะจอคอมจะไม่มีการประมวลผลเพื่อแทรกภาพเพิ่ม เรียกว่าการ์ดจอส่งข้อมูลออกมาอย่างไรก็แสดงไปตามนั้นเลย ทำให้สามารถเลือกซื้อได้ง่ายกว่า นอกจากนี้จอคอมยังมีรีเฟรชเรตที่สูง และมีตัวเลือกที่มากกว่า ไล่ตั้งแต่ 60Hz ที่เป็นค่ามาตรฐาน ขยับขึ้นมาเป็น 75, 90, 100, 120, 144, 240 มาจนถึงระดับ 540Hz รวมถึงบางรุ่นยังสามารถปรับค่าจากเมนูของจอเพื่อโอเวอร์คล็อกรีเฟรชเรตให้สูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยด้วย จึงทำให้เป็นจอที่เหมาะสำหรับการใช้เป็นจอคอม ใช้เป็นจอเล่นเกมที่ต้องการเฟรมเรตของภาพที่สูงได้ดีกว่า ประกอบกับค่า response time ที่มักจะต่ำกว่าด้วย
ดังนั้นหากต้องการซื้อทีวีมาใช้แทนจอคอมแล้วต้องการได้ภาพที่ไหลลื่น ก็จะต้องดูเป็นจอรุ่นสูง ๆ ที่รีเฟรชเรตสูงหน่อย เช่นซัก 120 และ 144Hz แบบ native ส่วนถ้าต้องการซื้อทีวีมาใช้เล่นเกมเครื่องคอนโซลรุ่นปัจจุบัน อันนี้ไม่ซีเรียสมากครับ เพราะตัวเครื่องเองก็ยังมีเกมที่รันได้ระดับ 120 fps แบบนิ่ง ๆ ไม่กี่เกมเอง ใช้ทีวี 60Hz หรือทีวีที่แทรกภาพได้เป็น 120Hz ก็ยังเพียงพอเลย
6.การบีบอัดสี
ปกติแล้วการส่งข้อมูลภาพมายังจอ ฝั่งต้นทางจะมีการบีบอัดข้อมูลสีสันมาเพื่อลดปริมาณข้อมูลในการรับส่ง โดยเฉพาะการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ผ่านบริการต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สามารถรับข้อมูลมาแสดงผลได้เร็ว ซึ่งจะใช้กระบวนการ Chroma subsampling ในการบีบอัดเป็นค่าสีแบบ YCbCr โดยจะระบุระดับของการบีบด้วยชุดตัวเลข 3 ตัว เช่น 4:4:4 ที่ไม่มีการบีบอัดใด ๆ ส่งมาแบบเต็ม ๆ ถัดมาคือ 4:2:2 ที่มีการบีบอัดมาในระดับหนึ่ง และท้ายสุดคือ 4:2:0 ที่มีการบีบอัดสูงสุดตามภาพด้านล่าง
ผลที่ตามมาจากการบีบอัดสีที่สูงก็คือเมื่อมองภาพใกล้ ๆ จอ จะพบว่าบางจุดจะมีอาการสีเพี้ยนบ้าง โดยเฉพาะบริเวณขอบตัวอักษรที่จะมีสีเหลื่อมแปลก ๆ ออกมา และอาจทำให้อ่านข้อความได้ยากกว่าปกติ และจะมีสีสันที่ต่างไปจากสีเดิมของคอนเทนต์เล็กน้อย อย่างในภาพด้านบน ถ้าสังเกตความเข้มของสีแดงในชุด complete picture ที่เป็นภาพสุดท้ายซึ่งจะมาแสดงผลบนจอ จะเห็นว่าชุดที่ผ่านการบีบอัดแบบ 4:2:0 จะดูสีซีดกว่า 4:2:2 และ 4:4:4 ทำให้สีสันดูไม่เต็มอิ่มเท่า ซึ่งถ้าทีวีสามารถปรับค่าการบีบอัดสี YCbCr ให้เป็น 4:4:4 หรืออย่างน้อยก็ 4:2:2 ได้ก็ยังดี ในขณะที่ด้านของจอคอมจะไม่ค่อยมีปัญหานี้เท่าไหร่
7.ความแม่นยำของสี
แน่นอนว่าจอที่ดีสำหรับการทำงานก็ควรจะเป็นจอที่แสดงสีสันของภาพได้ตรงตามที่ออกแบบมา ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายของจอคอมมาได้ซักพักใหญ่แล้ว คือให้สีสันที่แม่นยำตามมาตรฐานค่าสีที่มีการโฆษณาทั้งมาตรฐาน sRGB, NTSC, Adobe RGB และ DCI-P3 ที่ยิ่งเปอร์เซ็นต์สูงก็มักจะหมายถึงความแม่นยำของสีที่สูงด้วย
ด้านของทีวีมักจะไม่ได้เน้นความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก เพราะจุดประสงค์ของทีวีที่ผ่านมาคือใช้เพื่อความบันเทิง จึงมักมีการปรับจูนภาพให้ดูมีสีสันสดใส เพิ่มมิติให้กับเนื้อภาพ แต่ในช่วงหลังมานี้นับตั้งแต่พาเนล OLED และ mini-LED ลงสู่ตลาดทีวี ผู้ผลิตหลายรายก็เริ่มชูจุดเด่นในเรื่องของความแม่นยำของสีสันเพิ่มขึ้น ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคของพาเนลเองที่สามารถให้สีสันได้ตรงตามข้อมูลภาพขึ้นด้วย ประกอบกับที่มีผู้ใช้งานบางกลุ่มนิยมซื้อทีวีไปใช้ประกอบการทำงานสายคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ทำให้ถ้าหากต้องการซื้อไปใช้แทนจอคอมโดยต้องการเน้นความแม่นยำของสีสันด้วย ก็อาจจะต้องเลือกรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และราคาสูงประมาณหนึ่ง
ส่วนถ้าต้องการเล่นเกมแบบเน้นความถูกต้องของสีสันด้วย ก็จะคล้าย ๆ กันกับข้างต้นครับ คือไปทางสายจอคอมเลยจะจบง่ายกว่ามาก ตัวเลือกก็มีเยอะกว่าในราคาจับต้องได้ง่ายกว่าด้วย
สรุป ซื้อทีวีมาใช้แทนจอคอมจะดีมั้ย?
หากจะหาซื้อจอแสดงภาพมาใช้กับคอม ก็แนะนำว่าควรซื้อจอ ซื้อมอนิเตอร์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์จะเหมาะสมกว่า
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเชิงเทคนิคหลาย ๆ ข้อ ต้องยอมรับว่าหากจะหาซื้อจอแสดงภาพมาใช้กับคอมพิวเตอร์ ก็แนะนำว่าควรซื้อจอ ซื้อมอนิเตอร์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์จะเหมาะสมกว่า ไล่ตั้งแต่เรื่องขนาด การจัดวางจอ ระยะห่างจากจอที่กำลังพอดี ๆ ความละเอียดภาพ มาจนถึงเรื่อง input lag และรีเฟรชเรตที่จอคอมจะได้เปรียบทั้งในแง่ของสเปค ตัวเลือกที่หลากหลาย และราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่า ในกรณีที่เทียบกับทีวีสเปคใกล้เคียงกัน
ส่วนถ้าต้องการซื้อแค่จอเดียวแล้วใช้งานแบบอเนกประสงค์ พื้นที่จัดวางอุปกรณ์เสริมมีไม่ค่อยเยอะ กรณีนี้การซื้อทีวีก็อาจจะเหมาะสำหรับการใช้งานของบางท่าน เนื่องจากทีวีเป็นอุปกรณ์ที่สมบูรณ์ในตัว ด้วยภาพที่สวย ลำโพงก็เสียงอยู่ในระดับที่ดีกว่าลำโพงติดจอคอมส่วนใหญ่ ทั้งยังมีระบบ OS ในตัวที่รองรับการใช้งานได้หลากหลายกว่า โดยเฉพาะกับทีวีรุ่นสูงขึ้นมาหน่อย เช่นกลุ่มของทีวี OLED ที่ก็มีหลายรุ่นได้รับการออกแบบมาให้สามารถใช้เป็นจอคอมได้ด้วย ขนาดก็ไม่จัดว่าใหญ่เกินไป อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ รูปแบบการใช้งานและพื้นที่จัดวางของแต่ละท่านเลย
เรียบเรียงจากบทความของเว็บไซต์ MakeUseOf