Acer Aspire 3 A315 เรียบง่าย ตอบโจทย์ได้ในชีวิตประจำวัน พลัง Intel Gen12 การ์ดจอแยก MX550
Acer Aspire 3 A315-59G-39AV เป็นโน๊ตบุ๊คอเนกประสงค์ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเรียน และกลุ่มที่ใช้งานออนไลน์ ค้นหาข้อมูล งานเอกสาร กับบอดี้ที่ออกแบบให้ลงตัวกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงใช้งานนอกสถานที่ ตั้งแต่ห้องเรียน ที่ทำงาน ประชุมลูกค้าหรือว่าอยู่ร้านกาแฟ ด้วยดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย แต่เข้ากันได้ในหลายโอกาส มาพร้อมIntel Core i3-1215U และแรม 4GB DDR4 พร้อมกับ SSD ในและ 512GB M.2 NVMe PCIe Gen3 x4 กราฟิกชิปแบบแยก GeForce MX550 ที่เพิ่มศักยภาพให้กับงานด้านกราฟิก และการเล่นเกมได้ดีขึ้น สลับกับการทำงานของ Intel UHD Graphic ที่มีมาในซีพียู หน้าจอแสดงผลขนาด 15.6″ ความละเอียด Full-HD 1080p และพอร์ตเชื่อมต่อพื้นฐานที่ให้มาเยอะพอสมควร รองรับการเชื่อมต่อทั้งเครือข่ายไร้สาย WiFi ac และ Gigabit LAN ที่สำคัญคือ ให้ระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home เปิดเครื่องก็พร้อมใช้งาน และน้ำหนักเบาเพียง 1.7 กิโลกรัมเท่านั้น การรับประกัน 2 ปีและมี 3 Hours Service กับการซ่อมด่วนใน 3 ชั่วโมง
Acer Aspire 3 A315-59G-39AV
- NBS Verdict
- Specification
- Hardware / Design
- Keyboard / Touchpad
- Screen / Speaker
- Connector / Thin And Weight
- Inside / Upgrade
- Performance / Software
- Acer Care Center
- Battery / Heat / Noise
- Conclusion & Award
จุดเด่น
- ซีพียู Intel Core i3-1215U ที่ติดตั้งมาด้วยให้ประสิทธิภาพที่ดีในงานหลายอย่าง
- บอดี้ออกแบบได้ดี ไม่เทอะทะ บางพกพาสะดวก
- มีตัวเลือกกราฟิกทั้ง Intel UHD และ GeForce MX550
- ใช้ซอฟต์แวร์ Acer Care Center ตรวจเช็ค ปรับปรุงระบบได้
- ให้ SSD M.2 NVMe PCIe 512GB
- หน้าจอขนาด 15.6″ ใช้งานแบบหลายหน้าต่างได้ชัดเจน
- ภายในอัพเกรดได้เยอะ แรม SSD ที่มีแบบ SATA ให้ใช้งานด้วย
- น้ำหนักเพียง 1.7 กิโลกรัมเท่านั้น
- ราคาไม่ถึง 2 หมื่นบาท
ข้อสังเกต
- มีเพียงพอร์ต USB 3.2 ที่เป็นแบบ Type-A มาเท่านั้น
- ขาดพอร์ต USB-C มาบ้างก็น่าจะดี
- มีแรมให้เพียง 4GB แต่อัพเกรดได้
NBS Verdict
เปิดเทอมใหม่หัวใจว้าวุ่นกันอีกแล้ว น่าจะเป็นช่วงที่หลายคนเริ่มขยับขยายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้อยู่กันใช่มั้ยครับ รวมถึงคนที่ต้องกลับมาใช้โน๊ตบุ๊ค หรือหาโน๊ตบุ๊คให้ลูกหลานเข้าสู่การเรียนอีกครั้ง ในวันนี้ผมมีโน๊ตบุ๊คจากทาง Acer จัดว่าที่ออกมาในช่วงที่เหมาะกับช่วงเวลาเปิดเทอมตอนนี้ได้ดีทีเดียว เป็นโน๊ตบุ๊คจอใหญ่ ขุมพลังซีพียูรุ่นใหม่อย่าง Intel Gen 12 และมีการ์ดจอแยกอีกด้วย ในงบไม่เกิน 20,000 บาท ในรุ่น Acer Aspire 3 A315 รุ่นนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ส่วนสเปคเป็นอย่างไร มาดูรายละเอียดกัน
ดีไซน์ ค่อนข้างที่จะต่างไปจาก Aspire 3 เดิมอยู่เล็กน้อย ปั้นให้เป็นสันดูมีเหลี่ยมมุมมากยิ่งขึ้น และให้มิติที่บางลงกว่าเดิม Mood & Tone จะไปทางเรียบง่าย สีสันลงตัวกับในทุกสไตล์ Acer น่าจะมองที่การจับถือง่ายขึ้น ไม่เทอะทะจนเกินไป แม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คในระดับ 15.6” ก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ขอบจอที่บางเฉียบทั้งซ้ายและขวา ไล่ลงมาตรงขอบข้างของคีย์บอร์ดก็เล็กลงจากเดิม ทำให้มีพื้นที่การวางปุ่มแบบ Full-size ได้เต็มที่ รวมถึงพอร์ตต่างๆ ก็จัดมาให้เพียงพอต่อการใช้งาน น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.7Kg และเมื่อรวมอแดปเตอร์จะอยู่ที่ 2.1Kg โดยประมาณ เรามาดูกันครับว่า กับโน๊ตบุ๊คเบาๆ ขุมพลัง Intel Core i3 และมีกราฟิกแยก GeForce MX550 มานี้ จะใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ดีเพียงใด
Specification
ข้อมูลเพิ่มเติม: Acer
Acer Aspire 3 A315-59G-39AV | |
Operating System | Windows 11 Home 64-bit |
Processor Type | Intel Core™ i3 1215U, Turbo up to 4.4GHz, 6 Core |
Standard Memory | DDR4 4 GB |
Solid State Drive Capacity | 512 GB PCIe NVMe Gen3 |
Screen Size 1 | 5.6″ Full HD (1920 x 1080) Acer ComfyView™ |
Graphics Controller | NVIDIA GeForce® MX550 (2GB GDDR6) |
Number of Speakers | Two built-in stereo speakers and built-in microphones |
Wireless LAN | 802.11ac |
Bluetooth | Bluetooth® 5.0 |
Webcam | Yes |
Ports | HDMI, 3 x USB 3.2 Gen 1 ports, RJ-45, Headphone |
Battery | 3-cell, 40 Wh |
Weight | 1.792 kg |
Hardware / Design
Cover ด้านนอกของ Acer Aspire 3 A315 มาในโทนสี Pure Silver ซึ่งจะออกแนวสีเงินที่มีความสว่าง ยิ่งเมื่อเจอกับแสงไฟ ก็ยิ่งเห็นเม็ดสีเล็กๆ และมีพื้นผิวให้จับได้ถนัดมือ ไม่ได้เน้นความหวือหวา เพราะมีเพียงโลโก้ Acer อยู่ด้านบนสุดเท่านั้น ดูแล้วเข้ากับการใช้งานในโอกาสต่างๆ ได้ดีทีเดียว
โลโก้ Acer ที่ดูโดดเด่นบนฝาปิดด้านบน ซึ่งถ้าปัจจุบันสไตล์การออกแบบเช่นนี้ ก็มีอยู่ในโน๊ตบุ๊ค Acer หลายๆ ซีรีส์ ที่เน้นไลฟ์สไตล์และงานธุรกิจ เช่น Acer Swift เป็นต้น
ด้านข้างออกแบบให้ดูเพรียวบาง ซึ่งเราอาจไม่ได้เห็นกันบ่อย บนโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ ซึ่งทาง Acer เก็บรายละเอียดในส่วนนี้ได้ดี ซึ่งทำให้มิติของโน๊ตบุ๊คดูบางลง จุดหนาสุดอยู่ด้านท้าย และบางที่สุดด้านหน้า และโครงสร้างหลักที่เป็นอะลูมิเนียม ทำออกมาได้แข็งแรง
บานพับแน่น กางได้ง่าย นิ้วเดียวก็เปิดได้ สังเกตว่า Acer ออกแบบให้ยกฐานของโน๊ตบุ๊คให้สูงขึ้น ซึ่งเรียกว่า Elevate Design เพื่อปรับมุมมองและมุมรับกับการวางมือที่ง่ายขึ้น
จากมุมมองด้านหน้าของ Acer Aspire 3 A315 จะเห็นถึงความเรียบง่าย และโทนสี Pure Silver ที่เป็นสีหลักของบอดี้เกือบทั้งหมด ยกเว้นขอบของจอภาพ ที่เป็นสีดำและขอบค่อนข้างบางทีเดียว ทำให้สัดส่วนของพื้นที่แสดงผลกว้างขวางดูสบายตา
ขอบจอบาง ซ้าย-ขวา และมีกล้องเว็บแคมด้านบน 720p ประชุมหรือเรียนออนไลน์ก็ไหลลื่น
มุมมองจากด้านข้าง จะเห็นได้ว่าเมื่อวางในมุมมอง 90 องศาของบานพับ ตัวฐานจะแนบกับพื้นโต๊ะแทบจะสนิดทีเดียว ซึ่งอาจจะเหมาะในการใช้งานบางโอกาส แต่ถ้าให้ดี ก็ควรจะปรับให้ลาดเอียง เพื่อให้รับกับการมองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มช่องว่างด้านใต้ ให้มีอากาศที่ไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี บานพับจะไม่ได้กางสุด 180 องศา เหมือนกับในหลายๆ รุ่นของค่ายนี้ แต่ก็มากพอสำหรับการใช้งานในแต่ละรูปแบบ ในกรณีที่จะให้คนตรงข้ามได้ดูด้วย ก็คงต้องหันหน้าจอไปให้ ก็ยังถือว่าสะดวกต่อการใช้งานในแต่ละวัน
ช่องระบายความร้อนขาออก อยู่ด้านใต้ของหน้าจอ เป็นช่องลมขนาดใหญ่ ที่ถูกเป่าออกมาจากด้านใน ซึ่งจากที่เราใช้งานมาในระยะหนึ่ง เห็นได้ชัดว่า แทบไม่ค่อยมีลมร้อนออกมามากนัก แม้จะเป็นการเล่นเกมก็ตาม ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากช่องลมด้านใต้ ที่เปิดช่องเอาไว้กว้างขวาง เพื่อระบายความร้อนออกได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็จะมาออกในส่วนนี้ ซีพียูและการ์ดจอ ก็ไม่ได้มีค่า TDP ที่ร้อนแรงนัก พัดลมพร้อมฮีตไปป์ที่มีก็จัดการได้อยู่หมัดแล้ว ในจุดนี้สามารถดูที่การทดสอบอุณหภูมิกันต่อไปครับ
Keyboard / Touchpad
ที่วางมือ ด้านซ้าย มีโลโก้ Intel Core i3 และ nVIDIA ที่เป็นการ์ดจอแยก รวมถึง 3 Hour Service
ส่วนทางด้านขวา มีสติ๊กเกอร์ คุณสมบัติเด่นๆ เช่น Elevate Design, Better Image in low light, Narrow Bezel และ Upgrade แรมได้
คีย์บอร์ดเป็นแบบ Full-size มาครบทั้ง Numberpad ให้ผู้ใช้ที่ต้องคีย์ข้อมูล และทำงานด้านตัวเลข เอกสาร ปุ่มครบเป็นแบบ Chiclet ตัวใหญ่ พร้อมอักษรครบ แต่ไม่มีแสงไฟ Backlit มาให้แต่อย่างใด
Acer Aspire 3 A315 ติดตั้งคีย์บอร์ดแบบ Full-size แบบนี้ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ใช้งานที่พิมพ์สัมผัส เพราะกดได้แม่นยำ แทบไม่ต้องมองแป้นพิมพ์เลยทีเดียว และยิ่งแยกปุ่มกัน มีระยะกำลังดี คือเว้นช่วงให้คนนิ้วใหญ่ ไม่ต้องกดไปโดนปุ่มอื่นได้ง่าย แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัด เพราะเว้นขอบข้างไว้เยอะนิดนึง ก็ทำให้การวางเลย์เอาท์ของ Number pad ดูแคบลงไปบ้าง รวมถึงทำให้บางปุ่มดูเล็กเหลือเพียง 50-75% ของปุ่มปกติ เช่น ปุ่มลูกศรหรือตัวเลขก็ตาม
แต่จุดที่น่าสนใจคือ มีปุ่ม Function มาให้เกือบครบ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ไล่ไปตั้งแต่ ปิด-เปิด เพิ่มลดความสว่าง ไมโครโฟน สัญญาณต่อจอนอก โหมด Airplane
ปิดทัชแพด แต่ปุ่ม f11 และ f12 มีเว้นว่างเอาไว้ โดยขยับปุ่ม Print screen และ Delete มาไว้ด้านบน ขยับมาด้านข้างขวาสุดจับเอาปุ่ม / และ * มาไว้บน Number pad สุดท้ายเป็นปุ่มเพาเวอร์เปิด-ปิด
ตัวปุ่มที่ให้มามีระยะการกดที่ลึกอยู่เล็กน้อย ตามสไตล์ของโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ ระยะการยุบตัวก็อาจจะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยในระยะหนึ่ง ยิ่งถ้าใครใช้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมา ก็อาจจะต้องปรับตัวอยู่พอควร อย่างไรก็ดีเรื่องของปุ่มคีย์ ความชัดเจนของตัวอักษรต่างๆ อยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ว่าไม่มีแสงไฟ Backlit ในปุ่ม สำหรับใครที่ต้องใช้งานในที่แสงน้อย อาจจะต้องหาทางออก เช่น การใช้ USB Lighting หรืออื่นๆ
ทัชแพดที่มีให้ออกแบบมาเรียบง่าย ในรูปแบบของสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งดูจะเหมาะกับการใช้งานด้านมัลติทัชที่สะดวกมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นข้อดีของโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6″ ขึ้นไป และยังรองรับ Gesture Control ซ่อนปุ่มคลิ๊กซ้าย-ขวา ไว้ที่ด้านใน การกดทำได้เต็มที่ แม้จังหวะการกดบางครั้งจะวืดไปบ้าง เพราะมีระยะห่างกันในการคลิ๊ก แต่ก็ถือว่าตอบสนองในการใช้งานโดยพื้นฐานได้ดี
Screen / Speaker
Acer Aspire 3 A315 รุ่นนี้ มาพร้อมหน้าจอแสดงผล 15.6” ความละเอียด Full-HD 1920 x 1080p รีเฟรชเรต 60Hz
Acer Aspire 3 A315 รุ่นนี้ให้จอแสดงผล 15.6″ และมีขอบจอที่บางในแบบ Narrow Bezel ประมาณ 4-5mm ทั้งซ้ายและขวา ส่วนด้านบนจะเป็นจุดที่วางกล้องเว็บแคมมาให้ ความละเอียด 720p พาแนล IPS ให้ความคมชัดในมุมมองต่างๆ ได้ดีในระดับหนึ่ง ในเรื่องของความสดใส ก็ต้องว่ากันที่ระดับความสว่างที่เยอะขึ้น เพราะโดยการใช้งานพื้นฐานเท่าที่ได้ลอง ในแง่ของการท่องอินเทอร์เน็ตและทำงานเอกสาร ก็ค่อนข้างสบายตา แต่ถ้าอยากได้ความชัดเจนมากขึ้น อาจจะปรับขึ้นไปในระดับ 80% เพื่อให้มองเห็นในมุมต่างๆ ได้มากกว่าเดิม มุมในการมองยังคงอยู่ที่ด้านหน้าเป็นหลัก ในส่วนนี้เรามาดูการทดสอบด้วย Spyder5 Elite กันครับ
สำหรับมุมของการยกตัวของจอภาพ จะเป็นแบบ Elevate Design ซึ่งเป็นรูปแบบก็จะคล้ายกันกับในโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น ที่ใช้แกนหลักของบานพับ เป็นตัวยกให้ทำมุมกับสายตาของผู้ใช้ และองศาของคีย์บอร์ด เพื่อให้วางมือและพิมพ์ได้ถนัดขึ้น ทั้งนี้ย้ำไว้ก่อนครับว่า องศาของหน้าจอ จะไม่ได้กางออกเป็น 180 องศา เช่นเดียวกับใน Aspire บางรุ่น แต่ก็ถือว่ากางได้มากพอสำหรับการใช้งานบนโต๊ะ หรือวางบนตัก เมื่อต้องออกไปใช้งานข้างนอก สะดวกได้เหมือนเดิม
ในเรื่องของขอบเขตสี ที่ได้จากการวัดผลโดย Spyder5 Elite นี้ ให้ค่า sRGB อยู่ที่ xx% และ AdobeRGB xx% จัดว่าให้สีสันที่อยู่ในเกณฑ์ระดับมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับการใช้งานด้านเอกสาร ความบันเทิง และการท่องเน็ต แต่อาจจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานด้านตกแต่งภาพ หรืองานด้านภาพ วีดีโอ ที่ต้องการความแม่นยำเที่ยงตรงของสีมากขนาดนั้น เน้นไปที่การเรียน การใช้งานพรีเซนเทชั่น หรือการเทรดหุ้น เป็นหลัก ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ส่วนในเรื่องของความสว่างของหน้าจออยูที่ประมาณ 156.5 nits
โดยในตำแหน่งที่ให้ความสว่างมากที่สุดอยู่ตรงกลางของจอ และด้านซ้ายมือของจอภาพ ตามการแบ่งสัดส่วนของหน้าจอออกเป็น 9 ช่อง โดยช่องกลางจะมีค่าเป็น 0% คือให้ความสว่างได้เต็มที่มากที่สุด และซ้ายมือแถวกลางและมุมบนซ้าย เป็นตัวเลขที่ถือว่าใกล้เคียงกัน ส่วนจุดอื่น เช่น ตรงกลางด้านบน และมุมขวาล่าง มากสุดอยู่ที่ 16% อาจจะเป็นจุดที่ผู้ใช้งานด้านภาพ หรือต้องใช้พื้นที่ที่มีแสงมากๆ ในการพิจารณา ก็ต้องระวังเล็กน้อย อย่างไรก็ดีถ้าไม่มั่นใจอาจจะลองต่อเข้ากับจอภายนอก เพื่อเช็คงานดูอีกครั้ง แต่ในส่วนนี้อ้างอิงจากที่เราทดสอบเท่านั้น
คะแนนรวมอยู่ที่ 2.5 คะแนนเต็ม 5 ซึ่งแทบจะเท่ากับใน Aspire หลายรุ่นที่ผ่านมา
จุดวางลำโพงทั้ง 2 ด้าน อยู่บริเวณด้านใต้ของตัวเครื่อง เป็นแบบเสียงสะท้อนลงพื้นโต๊ะ เรื่องคุณภาพเสียง อยู่ในระดับน่าพอใจ คมชัด ความดังของเสียงปรับเพิ่มได้ ไม่แตกพร่าให้ได้ยิน เสียงกลางมาได้ดี แต่เสียงแหลม ดูจะลดน้อยไปบ้าง ตามสไตล์ของโน๊ตบุ๊ค แต่ก็ดีที่เรื่องของเสียงสนทนาและการการดูหนังยังคงไว้ใจได้ เอฟเฟกต์กระแทกมาให้สนุกได้เป็นระยะ รวมถึงการเล่นเกม ขาดแต่มิติของเสียงไปบ้าง แต่ถ้าต้องการจะเน้นความสนุก โต้ตอบในเกมกับเพื่อนได้ รวมถึงการเก็บรายละเอียดเสียงที่ดีขึ้น แนะนำว่าเพิ่มหูฟังอีกสักตัว ก็น่าจะดีไม่น้อยเลย
Connector / Thin And Weight
พอร์ตต่อพ่วงมีให้มาเกือบครบ สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น USB 3.2 Gen2 ในแบบ Type-A ให้มาถึง 3 พอร์ต ทั้งด้านซ้ายและขวา
ทางด้านขวามือของเครื่อง ให้มาเป็น USB 3.2 Gen2 Type-A และ Kensington lock รวมถึง Audio combo jack สำหรับหูฟังและไมโครโฟน พร้อมไฟแสดงสถานะ
ส่วนทางด้านซ้ายประกอบด้วย USB 3.2 Gen2 Type-A มีให้ 2 พอร์ต และพอร์ต HDMI เพื่อแสดงผลภายนอก กรณีที่ไปพรีเซนท์งานหรือความบันเทิง ระหว่างการพักผ่อน ดูหนัง หรือเล่นเกม และ RJ-45 สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่าย Gigabit LAN นอกเหนือจาก WiFi ac ที่มีมาให้ ที่ดูจะขาดหายไป ก็น่าจะเป็น USB Type-C ที่น่าจะมีไว้ให้สักพอร์ต เผื่อต่อใช้งานกับอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ได้ดีขึ้น
มาดูที่น้ำหนักกันบ้าง ทาง Acer แจ้งเอาไว้ที่ 1.79 กิโลกรัม ซึ่งจากที่เราชั่งเฉพาะโน๊ตบุ๊คเพียงอย่างเดียวก็เรียกว่าเท่ากับกับที่ระบุเอาไว้ จัดว่าเป็นน้ำหนักที่เหมาะกับคนที่ต้องการโน๊ตบุ๊คจอใหญ่ แต่ไม่ชอบกับการที่ต้องแบกเป้หนักๆ สำหรับใครที่ต้องหิ้วไปใช้งานข้างนอก ก็ยังพอไหว ไม่หนักมากเกินไป
แต่ถ้าคุณจะออกไปใช้งานแบบยาวๆ เราลองนำอแดปเตอร์ ที่มากับตัวโน๊ตบุ๊คลองชั่งรวมกัน น้ำหนักขยับไปที่ 2.1 กิโลกรัม แต่โดยส่วนตัวมองว่า ไม่ได้เป็นประเด็นมากมายนัก แม้ว่าจะพกไปรวมกัน ก็ยังน้อยกว่าโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งตัวเริ่มต้นอยู่ไม่น้อยเลย และหากคุณต้องนำไปใช้งานข้างนอก 3-4 ชั่วโมง ก็แทบจะไม่ต้องเอาอแดปเตอร์ไปก็ได้ หากแค่เปิด-ปิดใช้งานเป็นบางระยะ ก็ใช้งานได้นานมากขึ้นไปอีก
Inside / Upgrade
แกะดูด้านในของ Acer Aspire 3 A315 กันบ้าง น็อตมีทั้งหมด 10 ตัวครับ รวมกับที่อยู่ด้านใต้ของสคิ๊กเกอร์รับประกันด้วย ซึ่งในส่วนนี้หากอยู่ในประกัน แนะนำไปอัพเกรดที่ร้านจะดีที่สุดครับ
พื้นที่ภายในค่อนข้างกว้างขวางทีเดียว และเท่าที่สังเกต มีจุดที่จะให้ผู้ใช้เพิ่มเติมหรืออัพเกรดอุปกรณ์ได้อีกมากมาย
ฮีตซิงก์และฮีตไปป์ รวมถึงพัดลม ให้การระบายความร้อน พัดลมดูดลมเย็นจากทางด้านใต้เครื่อง แล้วเป่าออกทางช่องด้านหลัง ใต้จอ แต่ด้วยความที่ซีพียูและองค์ประกอบภายใน ค่า TDP ไม่สูง จึงมีความร้อนน้อยจนแทบไม่ต้องกังวล
สล็อตแรมมีให้ 2 ช่อง ติดตั้งมาแล้ว 4GB DDR4 3200 สามารถเพิ่มอีกสล็อตได้ในช่องที่เหลือเป็น 20GB
ติดตั้ง Storage เป็นแบบ SSD M.2 NVMe PCIe 3.0 512GB จากทาง Samsung และยังมีสล็อตที่เพิ่มเติมมาให้สามารถอัพเกรด SSD M.2 เพิ่มได้อีก 1 โมดูล แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีช่องติดตั้ง HDD 2.5” หรือ SSD SATA มาให้อีก 1 ช่อง เรียกว่าใช้งานกันแบบเหลือๆ
Performance / Software
แต่ก่อนที่จะไปสู่การทดสอบ อยากให้มาดูในเรื่องของซอฟต์แวร์ที่มากับโน๊ตบุ๊ค Acer กันก่อน ซอฟต์แวร์นี้เรียกว่า Acer Care Center ก็ทำงานสมชื่อเลยครับ แคร์กับทุกสิ่งที่อยู่ในเครื่องนี้ ทำอะไรได้บ้าง มาดูกัน
CPUz จากภาพตัวโปรแกรมแจ้งข้อมูล ระบุรายละเอียดของซีพียู Intel Core i3-1215U ซีพียูรุ่นนี้น่าสนใจไม่น้อยเลย เพราะเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างมาเพื่อโน๊ตบุ๊คโดยเฉพาะ กับการทำงานแบบ 6 core (2P+4E) และมี 8 thread ด้วยกัน ซึ่ง Core P (Performance) เป็นแบบไฮบริดนี้ ก็เป็นตัวทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย เมื่อมารวมกับ L3-cache ขนาดใหญ่ และสัญญาณนาฬิกา Boost 4.40GHz เมื่อทดสอบเทียบกับซีพียูรุ่นพี่ จะเห็นได้ว่าคู่คี่กัน และยังมีกราฟิกอย่าง Intel® UHD Graphics ที่มีความเร็ว 1.10 GHz มาในตัว ก็ยิ่งดูคุ้มค่าน่าใช้งาน
GPUz รายงานข้อมูลกราฟิกชิป ที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็น GeForce MX550 ซึ่งเป็นกราฟิกในกลุ่มคนทำงาน ใหม่ล่าสุดจาก nVIDIA โดยสังเกตว่ามีคุณสมบัติที่น่าสนใจมากมาย เช่นชุด Shader และอินเทอร์เฟสที่เชื่อมต่อ PCIe 4.0 x4 รวมถึงความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่ดี และใช้ VRAM แบบแยก GDDR6 2GB ที่ถือว่ามาแปะมือสลับการทำงานกับกราฟิก Intel UHD Graphic บนซีพียูได้อย่างลงตัว สำหรับในช่วงที่คุณอยากเล่นเกมหรือเน้นงานที่เกี่ยวกับภาพที่หนักหน่วงมากขึ้น
PCMark10 เป็นอีกหนึ่งตัวแทนในการวัดความสามารถของโน๊ตบุ๊คได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลที่ได้คะแนนรวมอยู่ที่ 3,872 คะแนน ซึ่งถ้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คในระดับเดียวกันจากที่เราได้เคยทดสอบ ก็ถืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้วยคคะแนนที่แตะอยู่ประมาณ 3,000-5,000 คะแนน ส่วนที่ดูจะน้อยไปบ้าง ก็คงอยู่ที่ Digital Content Creation ที่ต้องอาศัยแรมในการจัดการหนักที่สุด โน๊ตบุ๊ค Acer รุ่นนี้มีให้ที่ 4GB แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นพื้นฐานได้ และทดสอบผ่านในทุกๆ โปรแกรมครั้งนี้ แต่ถ้าเป็นไปได้อัพเกรดเพิ่มเป็น 16GB ก็จะทำให้ใช้งานได้ลื่นขึ้นอีก
3DMark ที่เป็นการทดสอบด้านกราฟิก 3 มิติอย่างหนักหน่วง แสดงให้เห็นถึงความสามารถของซีพียูและกราฟิก Intel UHD Graphic และ MX550 ที่ทำคะแนนโดยส่วนใหญ่ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่คงต้องย้ำว่า พื้นฐานของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ อาจไม่ได้มุ่งเป้าไปที่เกมมิ่งอย่างเต็มที่ เหมือนกับ Acer Nitro แต่ก็มีกราฟิกมาให้ เพื่อใช้งานในด้านงาน 3D ได้สะดวกมากขึ้น ผลคะแนนที่ออกมา ถือว่าการันตีในด้านของเกมมิ่งได้ในระดับหนึ่ง
CrystalDiskMark เป็นการทดสอบความสามารถของ Storage ที่มีมาให้บนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ซึ่งผลที่ได้ในการทดสอบ จัดว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ความเร็วในการทำงานถือว่าทำได้ค่อนข้างน่าพอใจ เพราะอัตราการอ่านข้อมูลแบบสุ่มสูงถึง 2,792MB/s และเขียนที่ 1049MB/s เท่านี้ก็สามารถรองรับการถ่ายโอนข้อมูล รวมถึงการเข้าถึงข้อมูล เปิดไฟล์และโปรแกรมได้อย่างรวดเร็วขึ้นแล้ว
เปิดใช้งาน Google Chrome 10 แท็ปพร้อมกัน และยังมีโปรแกรมเบื้องหลังทำงานอยู่บ้าง ตัวแรมก็จะถูใช้ไปประมาณ 3-3.3GB หรือราวๆ 90% ของแรมที่มี แต่ในการทดสอบของเรานี้ จะมีการรันวีดีโอยูทูปไปด้วย ซึ่งตัวเลขอื่นๆ ถือว่ายังคงทำงานได้อย่างราบรื่น ในกรณีที่คุณชอบดูวีดีโอ ฟังเพลง ไปพร้อมๆ กับการหาข้อมูลหรือทำงานเอกสาร จะพอเหมาะกับแรมที่ติดตั้งมาให้ แต่ถ้าอยากได้อะไรที่ลื่นกว่านี้ แนะนำว่าให้เพิ่มแรมมากขึ้น
ชมวีดีโอ 4K ด้วยการสตรีมมิ่งผ่านทาง Youtube ภาพออกมาสวยเนียนตา และลื่นไหลดีทีเดียว เรื่องของความสดใสอยู่ในระดับปานกลาง ขึ้นอยู่กับการปรับความสว่างและโทนของวีดีโอ แต่ที่ดูสบายตาขึ้นก็คือ ขอบจอที่บาง ทำให้การโฟกัสอยู่กับเนื้อหาได้ดีกว่า และไม่มีเรื่องของภาพซ้อนหรือภาพขาดมาให้กวนใจ
การเทรดคริปโตฯ และการเทรดหุ้น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เหมาะกับการใช้งานบนโน๊ตบุ๊ค Acer Aspire 3 รุ่นนี้ แม้ว่าช่วงนี้หลายเหรียญจะร่วงไปบ้าง ให้ได้ลุ้นกันเหนื่อยก็ตาม ในการเทรด สิ่งสำคัญคือ การวิเคราะห์กราฟ และหลายครั้งเรามักจะตามข่าวอย่างใกล้ชิด คุณก็สามารถใช้ความที่เป็นจอขนาดใหญ่ มาแบ่งพื้นที่ในการเทรดและดูข้อมูลได้พร้อมๆ กัน หรือถ้ามี 2 จอ ก็เปิดกราฟขยายใหญ่ให้สุดหน้าจอ ซึ่งทำให้ดูได้ชัดเจนมากขึ้น และบอกได้เลยว่า การมีแรม 4GB ไม่ได้มีผลต่อการเทรดหรือดูข้อมูลมากมาย หากคุณไม่ได้เปิดหลายหน้าต่างมากเกินไป
Game
DOTA2 เป็นตัวแทนเกมในแนวที่เหมาะกับการเล่นบนโน๊ตบุ๊ค Acer นี้ ด้วยองค์ประกอบของซีพียูและกราฟิกการ์ดที่ให้มาด้วย ก็สนุกสนานไปกับการเล่นได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเราเน้นที่ตัวเกมตั้งค่าแบบ 1080p ในแบบ Native และปรับความละเอียดเป็น 2 แบบคือ Best looking เน้นภาพสวย มีรายละเอียด เฟรมเรตที่ได้อยู่ที่ 33fps. ซึ่งก็จัดว่าเล่นได้ลื่นดี แต่ถ้าปรับมาที่ Fastest ที่เน้นเกมลื่นๆ ก็ขยับมาถึง 65fps. เลยทีเดียว แม้ว่าภาพที่ได้จะลดความสวยงามลงบ้าง แต่ก็เล่นได้สบายตา ดูลื่นไหลมากกว่า
Acer Care Center
ก่อนที่จะไปสู่การทดสอบ อยากให้มาดูในเรื่องของซอฟต์แวร์ที่มากับโน๊ตบุ๊ค Acer กันก่อน ซอฟต์แวร์นี้เรียกว่า Acer Care Center ก็ทำงานสมชื่อเลยครับ แคร์กับทุกสิ่งที่อยู่ในเครื่องนี้ ทำอะไรได้บ้าง มาดูกัน
ฟังก์ชั่นในการตรวจเช็ครายละเอียด จะบอกถึงข้อมูลฮาร์ดแวร์ที่ติดตั้งมาในเครื่อง พร้อมกับซีเรียลนัมเบอร์และข้อมูลประจำตัวเครื่อง ส่วนหนึ่งก็ใช้ในการแจ้งประกัน และตรวจเช็คในเบื้องต้น
ในส่วนของ Checkup จะเป็นการให้ระบบตรวจเช็คความผิดพลาด หรือในกรณีที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของฮาร์ดแวร์ เช่น แรม, แบตเตอรี่หรือ SSD ก็ตาม
Tuneup จะเป็นการปรับแต่งหรือจัดการไฟล์ในระบบ เช่น Disk Cleanup, Delete Junk files หรือจะเป็นการ Defragment ส่วนใหญ่จะเป็นฟังก์ชั่นแบบเดียวกับบน Windows แต่รวมมาให้สำหรับใช้งานได้ง่ายขึ้น
Update จะช่วยให้คุณทำการตรวจเช็คและอัพเดต ปัญหาเพื่อทำการแก้ไข และเช็คประวัติย้อนหลังได้
ส่วนสุดท้ายน่าสนใจมากๆ สำหรับคนที่ต้องการปรับปรุงให้ระบบทำงานได้ดีเสมอ โดยคุณสามารถเก็บระบบและข้อมูลที่ดีที่สุดเอาไว้ จากนั้นทำการ Backup เก็บเอาไว้ หากเกิดปัญหากับเครื่อง เช่น ไม่เสถียร ซอฟต์แวร์ผิดปกติ โปรแกรมบางอย่างทำงานไม่ได้ ก็สามารถ Restore ระบบและข้อมูลกลับมาได้
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาด้วยนี้ เป็นแบบ Li-Polymer ในแบบ 3-cell ขนาดกระทัดรัด ความจุ 43.08Wh
ในการทดสอบระยะเวลาการใช้งาน ด้วยโปรแกรม BatteryMon กับการชาร์จไฟจนเต็ม แล้วทดสอบด้วยการสตรีมมิ่ง วีดีโอ 4K บนยูทูปต่อเนื่อง ระดับความสว่างหน้าจอ 30% และระดับเสียง 30% เมื่อใช้งานเป็นเวลา 30 นาทีโดนประมาณ ตัวเลขจะอยู่ที่ราวๆ 3 ชั่วโมงครึ่งถึง 4 ชั่วโมง เป็นตัวเลขที่น่าพอใจทีเดียว เพราะแบตที่ใส่มานี้เป็นแบบ 43Wh เท่านั้น
ชุดระบายความร้อนภายในประกอบด้วยพัดลม 1 ตัว อยู่ชิดทางด้านมุมบนขวาของตัวเครื่อง และมีฮีตไปป์ทองแดง 2 เส้น พาดไปยังซีพียู และกราฟิกชิป และระบายลมร้อนออกทางด้านใต้ของหน้าจอ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นเวลาที่กางตัวเครื่องออกมา
มาว่ากันที่อุณหภูมิในการทำงานกันบ้าง สำหรับในโหมด idle หรือเปิดใช้งานทั่วๆ ไปของ Acer Aspire 3 A315 จะอยู่ที่ราวๆ 48-55 องศาเซลเซียส และเมื่อทดสอบในแบบ Full Load ด้วยโปรแกรม Furmark ในโหมด CPU Burner ทำให้ซีพียูทำงานในระดับ 100% ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาที อุณหภูมิในช่วงแรกจะไปที่ราวๆ 90 องศาเซลเซียส ในช่วงไม่กี่นาที จากนั้นก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 69-74 องศาเซลเซียส กับเสียงของพัดลมที่ดังขึ้นเล็กน้อย แต่ในแง่ของการใช้งานจริง โอกาสที่ซีพียูจะทำงานด้วยโหลดระดับนี้ มีไม่มากนัก และความร้อนก็ไม่ได้ดูน่ากังวล และถ้าหากมีการจัดวางโน๊ตบุ๊คในแบบที่ยกสูงขึ้น ความร้อนก็จะลดน้อยลงไปอีกพอสมควรเลยทีเดียว
Conclusion & Award
ในภาพรวมของ Acer Aspire 3 A315 เป็นโน๊ตบุ๊คในระดับทำงานและการเรียนออนไลน์ ที่ค่อนข้างคุ้มค่าทีเดียว โดยเฉพาะการเลือกซีพียู Intel Core i3 รุ่นน้องเล็ก แต่เป็น Alder Lake รุ่นใหม่ ซึ่งจากการทดสอบ ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว ทั้งในเรื่องของงานเอกสารทั่วไป ความบันเทิง และในด้านของมัลติทาส์กกิ้ง รวมถึงการเล่นเกมแบบเบาๆ โดยมีการ์ดจอแยก ที่เอาใจคนทำงานกราฟิกพื้นฐาน ที่ทำได้ดีมากขึ้นจากกราฟิกบนตัวซีพียู ซึ่งสามารถสลับใช้งานตามความเหมาะสมของแอพพลิเคชั่นได้อัตโนมัติ และยังให้ SSD มาถึง 512GB และยังมีสล็อตเพิ่มเติมมาให้ในการอัพเกรดอีก 2 ช่องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น M.2 NVMe PCIe 4.0 หรือจะเป็น SSD SATA3 ก็ตาม แต่จะมีเพียงจุดเดียวที่ผู้ใช้ควรจะนำไปอัพเดตเพิ่มเติมก็คือ แรม เพราะให้มาเพียง 4GB ซึ่งพอสำหรับการใช้งานทั่วไป ถ้าอยากให้ลื่นก็อัพเพิ่มอีกสัก 8GB-16GB ก็จะทำสิ่งต่างๆ ได้ไหลลื่นมากขึ้น
แต่จุดที่ต้องยกความดีงามให้กับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ก็คือ การออกแบบให้รองรับการอัพเกรดได้หลากหลาย ทั้งแรมและ SSD Storage มีสล็อตให้ใช้เยอะ ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน หน้าจอยังคงให้สีสันที่ดี และความคมชัดในระดับที่พอเหมาะกับการทำงาน มีพื้นที่กว้าง แต่อยู่ในบอดี้ที่บางลง การออกแบบก็เข้ากันได้กับการใช้งานในแบบต่างๆ โดยระยะการใช้งานได้ราวๆ 3-4 ชั่วโมงต่อการชาร์จ และอาจยืดได้อีก หากปรับแต่งให้ลงตัวมากขึ้น ส่วนอีกจุดหนึ่งที่อาจจะต้องพูดก็คือ พอร์ตจะมีให้เป็นแบบ USB Type-A เท่านั้น ไม่มี Type-C หากผู้ใช้ต้องการ อาจจะต้องเลือกใช้ตัวแปลงแทน
สุดท้ายนี้ถ้าให้เคาะว่า Acer Aspire 3 A315 รุ่นนี้เหมาะกับใคร กลุ่มผู้ใช้ที่มีกิจกรรมหรือซอฟต์แวร์พื้นฐานใช้งานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานสำนักงาน การเรียน ท่องอินเทอร์เน็ต และการทำพรีเซนเทชั่น รวมถึงความบันเทิง เช่น สตรีมมิ่ง ฟังเพลง เหล่านี้เหมาะอย่างยิ่งในการใช้งาน เพราะโน๊ตบุ๊คนี้ มีศักยภาพมากพอให้กับการใช้ รวมถึงหน้าจอที่ใหญ่ มี SSD มาให้และซีพียูที่พร้อมต่อการประมวลผลในด้านต่างๆ แต่ถ้าต้องการเล่นเกมได้ดีขึ้น อาจจะต้องเพิ่มแรมให้มากกว่าเดิม รวมถึงคนที่อยากได้โน๊ตบุ๊คทำงาน ในราคาไม่ถึง 2 หมื่นบาท และยังได้การรับประกัน 2 ปี รวมถึง 3 Hours Service ให้อุ่นใจอีกด้วย
และรางวัล Best Value ที่เหมาะกับโน๊ตบุ๊คคุ้มค่า ราคาไม่สูง จับต้องได้ง่าย แต่ให้ฟีเจอร์ในการทำงานลงตัวกับความต้องการของผู้ใช้ในกลุ่มนี้ โดยที่ Acer Aspire 3 A315 อาจจะไม่ได้มีขุมพลังร้อนแรง แต่ก็มีซีพียูรุ่นใหม่ ที่ครอบคลุมการใช้งานในเบื้องต้น ของคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบง่ายๆ ในปัจจุบัน อีกทั้งใส่ SSD หน้าจอขนาดใหญ่ พอร์ตต่อพ่วงให้เกือบครบ และอัพเกรดได้ อีกทั้งน้ำหนักเบาเพียง 1.7 กิโลกรัมเท่านั้น พกพาสะดวก กับการใช้งานได้ในทุกโอกาส