ASUS TUF Gaming F15 รุ่นใหม่จับคู่ RTX 3050 แต่ก็เล่นเกมได้ดีไม่แพ้รุ่นใหญ่
ASUS TUF Gaming F15 จัดเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์คุ้มค่าที่ ASUS ทำออกมาเน้นกลุ่มเกมเมอร์ที่อยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพดีคุ้มค่าราคาเป็นหลัก ซึ่งถ้าเทียบแล้วก็เป็นรุ่นเริ่มต้นในซีรี่ส์เกมมิ่งของ ASUS มีพี่น้องฝาแฝดที่หน้าตาเรียบร้อยแต่สเปคดีไม่แพ้กันชื่อ ASUS TUF Dash F15 ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ที่ดูเป็นโน๊ตบุ๊คสายกึ่งทำงานกึ่งเกมมิ่งหน้าตาเรียบร้อยดูดี ส่วน ASUS TUF Gaming F15 จะดีไซน์เน้นเกมเมอร์แบบเต็มตัว
ยิ่งยุคนี้ที่การ์ดจอแยกยังราคาแพงอยู่ เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ASUS TUF Gaming F15 ก็ได้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ เติมเข้ามามากมาย ได้แก่ NVIDIA DLSS ที่ใช้ AI ช่วยเรนเดอร์ฉากในเกม, Dynamic Boost 2.0 ที่ช่วยเพิ่มเฟรมเรทตอนเล่นเกมให้สูงขึ้น, Intel Resizable BAR ของซีพียู Intel รุ่นที่ 11 ในเครื่องเพื่อช่วยโหลดฉากในเกมได้เร็วขึ้นอีก ทำให้เกมเมอร์ที่อยากเล่นหรือ Live Stream เกมก็ติดตั้ง NVIDIA Broadcast ใส่ ASUS TUF Gaming F15 แล้วเริ่มเล่นเกมได้เลยและนอกจากนี้ยังมี WhisperMode 2.0 ที่เป็นอัลกอริธึ่มของ AI ที่ช่วยจัดการอุณหภูมิในเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าสังเกตของ ASUS TUF Gaming F15 นั้น ถึงจะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไร อย่างแรกคือพอร์ต Thunderbolt 4 ใช้โอนไฟล์เข้าออกเครื่องและใช้ต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort เท่านั้น ใช้ชาร์จแบตเตอรี่แบบ USB Power Delivery ไม่ได้เหมือน Thunderbolt ของโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่นหรือแบบที่ ASUS TUF Dash F15 ทำได้ และในตัวเครื่องมีที่ว่างพอใส่ช่อง 2.5″ SATA III SSD เข้าไปได้ แต่ไม่มีหัวพอร์ต SATA III กับถาดใส่ SSD ติดมาให้แล้วเว้นว่างเอาไว้เป็นพื้นที่ว่าง จัดว่าน่าเสียดายที่ทาง ASUS ไม่ใช้พื้นที่ว่างนี้ให้เต็มที่อย่างเพิ่มความจุของแบตเตอรี่หรือใส่ถาดเติม SSD มาให้ด้วย ซึ่งถ้าทาง ASUS ปรับปรุงในส่วนนี้อีกสักหน่อย จะถือว่ายอดเยี่ยมเลยทีเดียว
NBS Verdict
ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้ เรียกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นที่นอกจากประสิทธิภาพจะดีคุ้มค่าแล้ว ยังอัพเกรดเครื่องได้เต็มที่ทั้ง M.2 NVMe และแรมอย่างละ 2 ช่องที่ติดตั้งเอาไว้ในตัว ถ้าใครซื้อมาแล้วอยากอัพเกรดแรมจาก 8GB ไป 16-32 GB เลยก็ได้ ส่วน M.2 NVMe ที่ติดตั้งมาในเครื่องความจุ 512GB พร้อม Windows 10 Home นั้นเรียกว่ามีมากเพียงพอสำหรับติดตั้งเกมและโปรแกรมทำงานได้สบาย ๆ แต่ถ้ายังไม่พอ จะเพิ่มอีก 1TB ที่ช่องเสริมก็ได้ จัดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่อัพเกรดสเปคได้ยืดหยุ่นเครื่องหนึ่ง
จุดเด่นของ ASUS TUF Gaming F15
- ซีพียูรุ่นเริ่มต้นของซีรี่ส์เป็น Intel Core i5-11400H เป็น Intel รุ่นที่ 11 แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ประสิทธิภาพดีทำงานลื่นเล่นเกมสบาย
- มีช่องอัพเกรดแรมและ M.2 NVMe SSD ได้อย่างละ 2 ช่อง อัพเกรดสเปคเครื่องได้สะดวก ติดตั้ง M.2 NVMe OEM ของ Samsung ที่ประสิทธิภาพดีมาให้ในเครื่อง
- การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 มีประสิทธิภาพดี เล่นเกม AAA ในปัจจุบันแบบเปิดกราฟฟิคสุดแล้วก็ยังได้เฟรมเรทเฉลี่ย 52 fps ขึ้นไปทั้งหมด
- งานประกอบแข็งแรง แน่น เปิดฝาอัพเกรดได้ง่ายมากเพราะเป็นน็อตหัวแฉกที่หาไขควงมาไขออกได้ง่าย ดีไซน์ตัวเครื่องแข็งแรงคงเอกลักษณ์ของ ASUS TUF Gaming F15
- ระบายความร้อนในตัวเครื่องได้ดีและเย็น ตอนใช้ทำงานหรือเล่นเกมก็ไม่มีอาการเครื่องอุ่นหรือเริ่มร้อนรบกวนเลยด้วยฟีเจอร์ Whisper Mode 2.0
- ซอฟท์แวร์ Armoury Crate ปรับแต่งการทำงานตัวเครื่องให้เข้ากับการใช้งานทั้งการเล่นเกมหรือทำงาน
- มีฟีเจอร์เอื้อการเล่นเกมติดตั้งมาให้ครบครันทั้ง Dynamic Boost 2.0, Intel Resizable BAR, NVIDIA DLSS จึงเล่นเกมได้ลื่นไหล
- มีพอร์ต Thunderbolt 4 เอาไว้รับส่งข้อมูลและต่อหน้าจอเสริมได้แบบ DisplayPort ถ้าต้องการต่อจอเกมมิ่งแยกก็ทำได้เลย
- พอร์ต USB-A บนตัวเครื่องเป็น USB 3.2 Gen 1 Type-A ทั้งหมด ไม่มี USB 2.0 แล้ว ทำให้ต่อพอร์ตไหนก็รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วแน่นอน
- คีย์บอร์ดมีปุ่มฟังก์ชั่นไว้สลับระหว่างโหมดประหยัดพลังงานหรือโหมดเน้นประสิทธิภาพการเล่นเกมโดยเฉพาะ กดใช้งานได้ง่ายและไฟ RGB เปลี่ยนสีได้หลากหลาย
- ปุ่มคีย์บอร์ดมีน้ำหนักและสปริงคืนตัวได้ดี ระยะกดพิมพ์ที่ลึกกำลังพอเหมาะใช้พิมพ์งานหรือเล่นเกมได้ดีน่าสนใจ
ข้อสังเกตของ ASUS TUF Gaming F15
- พื้นที่ว่างข้างแบตเตอรี่ขนาดพอจะใส่ 2.5″ SATA III SSD ได้หนึ่งช่องพอดีแต่ถูกเว้นว่างเอาไว้ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร แนะนำว่า ASUS TUF Gaming F15 รุ่นใหม่น่าขยายแบตเตอรี่เป็น 76 Wh หรือใส่ชุดสำหรับติดตั้ง SATA III SSD มาด้วยจะดีสุด
- พอร์ต Thunderbolt 4 รองรับการต่อจอเสริมแบบ DisplayPort เท่านั้น ไม่รองรับการชาร์จแบตเตอรี่อย่างที่พอร์ต Thunderbolt ควรทำได้
- รุ่นสูงสุดยังเป็นการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 เท่านั้น ทั้งที่ Intel Core i9-11900H สามารถรีดประสิทธิภาพระดับ RTX 3070-3080 ได้สบาย ๆ
- การปลดล็อคเครื่องยังต้องพิมพ์รหัสผ่านอย่างเดียว ไม่มีระบบสแกนนิ้วหรือใบหน้า
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นานสุดเพียง 4 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น
รีวิว ASUS TUF Gaming F15
- Specification
- Hardware & Design
- Keyboard & Touchpad
- Screen & Speaker
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- User Experience
- Battery / Heat & Noise
- Conclusion & Award
Specification
สำหรับสเปคของ ASUS TUF Gaming F15 รหัสซีรี่ส์ FX506 จะมีทั้งหมด 5 รุ่นย่อย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 30,990-49,990 บาท ขึ้นอยู่กับซีพียูและการ์ดจอในเครื่อง ซึ่งถ้าให้สรุปสเปคแล้วจะเป็นดังนี้
รุ่นของ ASUS TUF Gaming F15 FX506 | FX506HC-HN002T (เครื่องรีวิว) |
FX506HE-HN003T | FX506HM-HN008T | FX506HM-HN007T | FX506HM-AZ101T |
ซีพียู | Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.7-4.5 GHz |
Intel Core i7-11800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.3-4.6 GHz |
Intel Core i9-11900H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.5-4.9 GHz |
||
การ์ดจอ | NVIDIA GeForce RTX 3050 4GB GDDR6 |
NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti 4GB GDDR6 |
NVIDIA GeForce RTX 3060 4GB GDDR6 |
||
แรม | 8GB DDR4 บัส 2933 MHz | 16GB DDR4 บัส 2933 MHz | 16GB DDR4 บัส 3200 MHz | ||
ฮาร์ดดิสก์ | M.2 NVMe 512GB | M.2 NVMe 1TB | |||
หน้าจอ | 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS แบบ Anti-glare ค่า Refresh Rate 144 Hz มี Adaptive-Sync |
||||
พอร์ตและการเชื่อมต่อ | USB 3.2 Type-A x 3 Thunderbolt 4 x 1 HDMI 2.0b x 1 RJ45 LAN x 1 ช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1 Kensington Lock x 1 Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax Bluetooth 5.2 |
||||
ระบบปฏิบัติการ | Windows 10 Home (64-bit) | ||||
แบตเตอรี่ | 3-Cell 48Wh | 4-Cell 90Wh | |||
ประกันตัวเครื่อง | 2 ปี Onsite | 2 ปี Onsite + ประกันอุบัติเหตุ 1 ปี | |||
ราคา | 30,990 บาท | 32,990 บาท | 36,990 บาท | 42,990 บาท | 49,990 บาท |
จะเห็นว่าสเปคของ ASUS TUF Gaming F15 รุ่นนี้จะเน้นอัพเกรดซีพียูให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นหลัก จะเห็นว่าสเปครุ่นสูงสุดรหัส FX506HM-AZ101T จะใส่ Intel Core i9-11900H มาให้เลย ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงพร้อมทำงานหรือใช้งานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรตัวเครื่องมากได้สบาย ๆ แต่มีจุดสังเกตเล็กน้อยคือถ้าเป็นรุ่นสูงสุดที่ใส่ Intel Core i9 มาแล้วทั้งที ถ้า ASUS ติดตั้ง NVIDIA GeForce RTX 3070 มาให้ จะน่าสนใจขึ้นมากทีเดียว
ชมสเปคโดยละเอียดของ ASUS TUF Gaming F15 ทั้ง 5 รุ่นได้ที่นี่
- ASUS TUF Gaming F15 FX506HC-HN002T (30,990 บาท) (เครื่องรีวิว)
- ASUS TUF Gaming F15 FX506HE-HN003T (32,990 บาท)
- ASUS TUF Gaming F15 FX506HM-HN008T (36,990 บาท)
- ASUS TUF Gaming F15 FX506HM-HN007T (42,990 บาท)
- ASUS TUF Gaming F15 FX506HM-AZ101T (49,990 บาท)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ TUF Gaming F15 นั้น ดีไซน์รอบตัวเครื่องจะอิงจากรุ่นที่แล้วมาและอัพเกรดสเปคตัวเครื่องให้ประสิทธิภาพดีขึ้น เน้นความเรียบง่ายแต่แฝงความแข็งแรงเอาไว้ ขาตั้งตัวเครื่องจะติดอยู่ทั้งสองฝั่งเว้นตรงกลางตัวเครื่องให้ว่างไว้เวลาตอนพับหน้าจอลงไป จะเห็นโลโก้ TUF Gaming และแถบไฟแสดงสถานะตัวเครื่องอยู่ด้านนอกตัวเครื่องระนาบเดียวกับฝาหลัง
ฝาหลังตัวเครื่องจะใช้ดีไซน์แบบเดิมที่ยิงเลเซอร์คำว่า TUF ไว้ที่ฝั่งซ้ายและโลโก้ที่มุมบนขวา มีลิ้นสำหรับดึงเปิดหน้าจอติดเอาไว้ตรงขอบบนตัวเครื่องเอาไว้ใช้นิ้วดึงเปิดตัวเครื่องได้และด้านหลังเป็นช่องระบายความร้อน 2 ช่อง ดีไซน์เหมือนท่อไอพ่นของเครื่องบินเจ็ต ให้ความสวยเท่ที่เกมเมอร์หลายคนน่าจะชื่นชอบ
และทาง ASUS ก็เน้นดีไซน์ให้รู้สึกถึงความแข็งแรงและออกดูดิบเล็กน้อยด้วยชิ้นพลาสติกด้านปิดมุมทั้ง 4 มุมของตัวเครื่องให้เป็นเหมือนน็อตที่ขันล็อคฝาหลังตัวเครื่องเข้ากับหน้าจอไว้ด้วย
ส่วนชิ้นพลาสติกด้านในที่เขียนคำว่า TUF Gaming ที่ออกแบบเว้นขอบล่างหน้าจอเอาไว้ เมื่อพับปิดหน้าจอจะเห็นทั้งแถบไฟแสดงสถานะ 4 ดวง ได้แก่ ไฟแสดงสถานะการเปิดเครื่องรูปหลอดไฟ, ไฟแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่รูปถ่านมีสายฟ้าฟาดตรงกลาง, ไฟแสดงสถานะว่าฮาร์ดดิสก์ทำงานที่เป็นรูปถังและไฟแสดง Airplane Mode ที่เป็นรูปเครื่องบิน
ซึ่งส่วนตัว ผู้เขียนมองว่าการออกแบบที่เว้นไฟแสดงสถานะเอาไว้ที่ขอบบนตัวเครื่อง จะทำให้สังเกตสถานะตัวเครื่องได้ง่ายและดูดีด้วย ถือเป็นการออกแบบเน้นความสวยงามที่ใช้งานได้จริงจุดหนึ่ง
ส่วนด้านใต้เครื่องจะเป็นฝาหลังที่ ASUS เรียกว่า Honeycomb Grip หรือดีไซน์แบบรังผึ้ง และเป็นพลาสติกเนื้อด้าน ทำให้การดูดอากาศเข้ามาระบายความร้อนทำได้ดีไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนมากวนใจระหว่างใช้งานเลย
ตัวเครื่องจะกางหน้าจอได้มากสุดราว 160 องศา ถือว่ากว้างเท่ากับโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ทำให้จัดมุมองศาให้เข้ากับการมองเห็นของเราได้สะดวก จะวางบนโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็กางให้เข้ากับสายตาของเราได้ง่าย เหมาะกับการจัดโต๊ะทำงานและเล่นเกมเป็นอย่างมาก
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ TUF Gaming F15 เครื่องนี้จะเป็นแบบ Full-size มีแป้น Numpad ติดตั้งมาให้ใช้กดตัวเลขได้สะดวกขึ้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าชุดปุ่ม F1-F12 จะจับเป็นชุด 4 ปุ่มทั้งหมด 3 ชุดและมีกลุ่มของปุ่ม Function ติดตั้งไว้เหนือ Numpad ด้วย ซึ่งจุดนี้ทาง ASUS ออกแบบและจัดระเบียบปุ่มได้ดีและใช้งานได้ง่ายทีเดียว ดีไซน์ตัวปุ่มจะทำขอบข้างและตัวอักษรบนปุ่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษเป็นแบบใสให้ไฟ RGB ลอดผ่านได้
ส่วนสัมผัสการพิมพ์ของแป้นคีย์บอร์ดจัดว่ามีระยะกดลึกราว 1 มม. จัดว่าลึกกว่าปุ่มคีย์บอร์ดเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่น ตอบสนองการกดได้ดีและสปริงค่อนข้างแข็งดีดตัวคืนไว จากการทดสอบพิมพ์ถือว่าเป็นคีย์บอร์ดที่พิมพ์ได้สนุกและเหมาะกับคนที่พิมพ์สัมผัสได้เร็ว และมีนิสัยพิมพ์แบบหวดปุ่มพอควร ส่วนการเล่นเกมถือว่าตัวปุ่มค่อนข้างแข็งและเวลาสลับนิ้วกดคำสั่งต่าง ๆ เช่นรีโหลดหรือวิ่งไปมาทำได้ไวทันใจ
ด้านของตัวปุ่มและการวางปุ่มบนคีย์บอร์ดของ TUF Gaming F15 ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าทาง ASUS ใส่ใจและจัดวางได้เป็นระเบียบดีกว่าโน๊ตบุ๊คบางรุ่นด้วย โดยปุ่ม W, A, S, D ที่เกมเมอร์มักวางนิ้วไว้บนคีย์บอร์ดจะเป็นปุ่มใสให้ไฟ RGB ตรงปุ่มนี้สว่างเป็นพิเศษ
ส่วนของปุ่ม Fn สำหรับกด Function ต่าง ๆ ของตัวเครื่องจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ถัดจากปุ่ม Ctrl เวลาจะกดปุ่ม Function ต้องกด Fn ค้างไว้ ค่อยกด F1-F12 และถ้ากด Fn+Windows จะล็อคปุ่ม Windows ไม่ให้ทำงาน เวลาเผลอไปกดโดนตอนเล่นเกม หน้า Start Menu ก็จะไม่เปิดออกมารบกวนตอนเล่นเกมด้วย
ส่วนปุ่ม Power ที่มุมบนขวาเหนือคีย์บอร์ดจะเป็นปุ่มธรรมดา ไม่มีฟังก์ชั่นสแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้เหมือนซีรีส์ Zephyrus ถึงจะดีไซน์คล้ายกันก็ตาม ซึ่งน่าเสียดายอยู่บ้างเพราะว่าถ้าติดตั้งมาให้จะทำให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกขึ้น ส่วนปุ่ม Function บนแถบปุ่ม F1-F12 จะแยกเป็นชุด ๆ จัดหมวดหมู่ได้ดี โดยแต่ปุ่มแต่ละชุดจะมีฟังก์ชั่นดังนี้
- F1-F3 : ปิดเสียง, เพิ่มหรือลดเสียง
- F4 : ปิดหรือเปิดไมโครโฟน
- F5 : ปุ่มสลับระหว่าง Performance mode สำหรับเล่นเกมหรือทำงานที่กินทรัพยากรเครื่องมาก ๆ และ Silent mode ที่ทำให้แบตเตอรี่ใช้งานได้นานและเสียงพัดลมเบา
- F6 : ปุ่มดับหน้าจอเวลาไม่ได้ใช้งาน
- F7-F8 : ปุ่มลดหรือเพิ่มความสว่างของหน้าจอ
- F9 : ปุ่ม Project เอาไว้ตั้งค่าเวลาต่อหน้าจอแยก
- F10 : ปุ่มปิดหรือเปิดการทำงานทัชแพด
- F11 : ปุ่ม Sleep mode
- F12 : ปุ่ม Airplane mode
ต่อจากปุ่ม F1-F12 จะเป็นเซ็ตปุ่ม Function อย่าง Delete กับ Insert, Pause กับ Break, Print Screen กับ SysRq, Home กับ End ที่ซ้อนกันอยู่ โดยวิธีกดคือถ้ากดทันทีจะเป็นฟังก์ชั่นบน ถ้ากด Fn ค้างไว้แล้วกดที่ปุ่มเดิมอีกครั้งจะเป็นฟังก์ชั่นด้านล่าง ตัวอย่างเช่นกดปุ่ม Home แล้วถ้ากด Fn+Home จะกลายเป็นปุ่ม End ซึ่งถือเป็นการออกแบบปุ่ม Function ที่ประหยัดปริมาณปุ่มได้ดีและสมเหตุผลด้วย
สำหรับปุ่ม Fn+F5 ที่เอาไว้สลับระหว่าง Performance mode กับ Silent mode เมื่อกดแล้วหน้าจอจะแสดงโลโก้ของโหมดนั้นขึ้นมาพร้อมกับเร่งหรือลดความสว่างหน้าจอด้วย เป็นสัญญาณบอกผู้เขียนว่าตอนนี้ ASUS TUF Gaming F15 เปลี่ยนโหมดเรียบร้อยแล้ว
ส่วนปุ่ม Function อีกปุ่มที่เซ็ตค่าเอาไว้ได้ดี คือปุ่มเรียกเครื่องคิดเลขที่ปุ่ม Enter ของ Numpad ซึ่งถ้าใครต้องคิดเลขคำนวนค่าใช้จ่ายอะไรบ่อย ๆ ก็เรียกใช้งานง่ายขึ้นด้วย ส่วนปุ่มลูกศรจะรวมฟีเจอร์ ASUS AURA SYNC หรือฟีเจอร์คุมไฟ RGB บนคีย์บอร์ดเอาไว้ ตอนใช้งานให้กด Fn ค้างเอาไว้ก่อนค่อยกด โดยกดขึ้นลงจะเพิ่มหรือลดความสว่างของไฟ ส่วนปุ่มซ้ายขวาที่มีคำว่า AURA อยู่ จะเป็นการสลับไปมาระหว่างไฟทั้ง 4 โหมด
สำหรับไฟทั้ง 4 โหมดมี Static จะเป็นไฟสีแดงค้างเอาไว้, Breathing ที่ไฟจะกระพริบเหมือนหายใจอยู่ม, Strobing จะกระพริบไฟบนคีย์บอร์ดเป็นจังหวะและ Color cycle จะเปลี่ยนแสงไฟบนคีย์บอร์ดเป็นสีต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ และเป็นโหมดเดียวที่สลับสีไปมาได้ ส่วนโหมดอื่นจะเป็นไฟสีแดงอย่างเดียว
ส่วนความสว่างของปุ่มบนคีย์บอร์ดจะกดได้ 3+1 ระดับ คือปิดไฟและเพิ่มความสว่างขึ้นมาได้ 3 ระดับ ซึ่งความสว่างจัดว่าสว่างมาก ซึ่งถ้าใครไม่ชอบก็อาจจะลดมาเหลือระดับ 1-2 ให้แดงเรื่อ ๆ ก็จัดว่าแดงกำลังดีแล้ว และที่ปุ่ม W, A, S, D ที่เป็นปุ่มใสจะสกรีนตัวอักษรบนปุ่มเอาไว้เป็นสีดำ ทำให้ดูตัดกับปุ่มทั้งคีย์บอร์ดได้สวยงามดี
ส่วนของทัชแพดจะเป็นดีไซน์แบบแยกระหว่างตัวทัชแพดกับปุ่มคลิกซ้ายขวาอย่างชัดเจน โดยตัวทัชแพดจะมีลูกศรชี้มุมทั้ง 4 ด้าน เป็นดีไซน์ช่วยบอกกรอบการทำงานของตัวทัชแพด และขอบล่างของทัชแพดก็ไม่ได้ซ่อนปุ่มคลิกเอาไว้ด้วยถ้าจะคลิกต้องกดที่ปุ่มด้านล่างที่ทำแยกเอาไว้เท่านั้น จัดเป็นดีไซน์แยกสัดส่วนการใช้งานได้ชัดเจนระดับหนึ่ง
Screen & Speaker
สเปคหน้าจอของ TUF Gaming F15 เครื่องนี้จะมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz มีฟีเจอร์ Adaptive Sync ที่ช่วยลดอาการภาพฉีก ซึ่งจะทำงานตอนเล่นเกมแล้วกวาดเมาส์เร็ว ๆ แล้ว ฟีเจอร์นี้จะช่วยลดอาการนี้ลงไปได้ ซึ่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ค่า Refresh Rate หน้าจอสูง ๆ แล้วมีฟีเจอร์นี้จะทำให้เล่นเกมแล้วภาพดูต่อเนื่องขึ้น
ส่วนดีไซน์ขอบหน้าจอขอบบนและด้านข้างจะบางเพื่อเพิ่มพื้นที่การมองเห็นให้กว้างขึ้น ติดตั้งกล้อง Webcam ความละเอียด HD เอาไว้ใช้ตอนประชุมออนไลน์ทั่วไป ซึ่งความละเอียดถือว่าอยู่ในระดับทั่วไปแค่พอใช้งานได้เท่านั้น
ส่วนขอบเขตสีบนหน้าจอเมื่อทดสอบด้วย Spyder5Elite ที่ใช้ปรับตั้งค่าและวัดขอบเขตสีบนหน้าจอแล้ว ได้ค่าขอบเขตสีที่ 61% sRGB, 46% AdobeRGB และ 45% DCI-P3 ซึ่งถือว่าขอบเขตสีนั้นอยู่ในระดับกลาง ๆ เทียบเท่ากับโน๊ตบุ๊คสายใช้งานทั่วไปและเกมมิ่งหลายรุ่นในปัจจุบัน ถือว่าใช้งานทั่วไปได้อย่างแน่นอนแต่ถ้าต้องการแต่งภาพหรือทำงานอาร์ตต่าง ๆ อาจจะแค่พอทำได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ส่วนค่าความสว่างเมื่อทดสอบแบ่งพื้นที่เป็นตาราง 9 ช่อง จะเห็นว่าพื้นที่โซนสว่างจะคละกันไปหมด โดยจุดสว่างที่สุดจะอยู่ตรงกลางมีค่าความมืดบนพาเนลจอ 0% ส่วนโซนที่สว่างน้อยสุดบนจอจะอยู่ตรงกลางฝั่งซ้ายและขวาของหน้าจอที่ 13% และลดหลั่นลงมาเป็น 11% ที่ตรงกลางขอบบนหน้าจอที่ 11% ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้วไม่ค่อยแนะนำให้ทำสีภาพถ่ายบนหน้าจอนี้มากนักเพราะความสว่างไม่ค่อยสม่ำเสมอกันเท่าไหร่ ให้ดีสุดควรใช้หน้าจอแยกที่มีขอบเขตสีกว้างกว่านี้ระดับ 90% sRGB ขึ้นไปและค่าความสว่างสม่ำเสมอกันจะดีกว่า
ส่วนคะแนน Monitor Rating รวมแล้ว จะได้ 3 จาก 5 คะแนนเท่านั้น จัดว่าเป็นหน้าจอที่อยู่ระดับทั่ว ๆ ไป ไม่ได้โดดเด่นเรื่องการทำงานอาร์ตต่าง ๆ เท่าไหร่ ซึ่งไม่ได้เป็นโฟกัสหลักของ TUF Gaming F15 อยู่แล้ว แต่จุดสังเกตคือหน้าจอนี้ค่า Contrast จะเด่นมากที่ 5 คะแนนเต็ม ลดลงมาเป็น Tone Response ที่ 4.5 คะแนน และ Color Uniformity 4 คะแนน
ส่วนของลำโพงที่ติดตั้งมาจะมี 2 ตัว กำลังขับ 2W อยู่ด้านใต้เครื่อง เมื่อเปิดแล้วเสียงจะอัดแล้วสะท้อนจากพื้นโต๊ะขึ้นมา มีซอฟท์แวร์ปรับแต่งเสียงของ DTS ซึ่งจากการทดลองฟังเพลงดูแล้ว ถือว่าลำโพงให้มิติเสียงที่ค่อนข้างดี มีเบสให้พอฟังเพลงแนว EDM ได้บ้าง แต่จริง ๆ แล้วเป็นลำโพงที่เน้นเรื่องรายละเอียดเสียงทั้งเครื่องดนตรีและคนร้องได้ค่อนข้างดีและสเตจเสียงจัดว่ากว้างระดับหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าลำโพงติดเครื่องของ TUF Gaming F15 จะเหมาะกับการดูหนังมากกว่า ส่วนการฟังเพลงถือว่าฟังได้ระดับหนึ่งแต่ถ้าให้ดีที่สุดควรต่อลำโพง Full Range แยกออกมาอีกตัวไปเลยดีกว่า
Connector / Thin & Weight
ส่วนของพอร์ตที่ติดตั้งมาบนตัวเครื่อง จะมีเพียง 2 ฝั่งซ้ายขวาเหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นคุ้มค่าจากหลาย ๆ แบรนด์ ไม่ได้ย้ายเอาไปติดตั้งด้านหลังเครื่องเหมือนหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ส่วนพอร์ตบนตัวเครื่องฝั่งซ้ายจากซ้ายมือจะเป็นช่องอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่อง, RJ45 LAN, HDMI 2.0b, USB 3.2 Gen 1 Type-A x 2 ช่อง, Thunderbolt 4 ที่ต่อหน้าจอแยกได้แบบ DisplayPort และช่องหูฟัง 3.5 มม. อีกหนึ่งช่อง ส่วนด้านขวามือจะมี USB 3.2 Gen 1 Type-A กับพอร์ต Kensington Lock อย่างละช่อง โดยมีช่องระบายอากาศคั่นกลางเอาไว้
ซึ่งเรื่องของพอร์ตจะมีทั้งข้อดีและจุดสังเกตรวม ๆ กัน คือตัวเครื่องจะใช้พอร์ต USB 3.2 Gen 1 Type-A ทั้ง 3 ช่อง ทำให้รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว ต่อให้ไฟล์ที่โอนเข้าออกเครื่องจะมีขนาดใหญ่ก็ทำได้รวดเร็วอย่างแน่นอน แต่จุดสังเกตคือพอร์ต Thunderbolt 4 ที่ได้ฟังก์ชั่นไม่ครบ ซึ่งปกติแล้วพอร์ตนี้จะใช้รับส่งข้อมูลเข้าออกเครื่อง, ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่กลับให้โน๊ตบุ๊คได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery แต่ ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้จะมีแค่ 2 อย่างแรก ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ไม่ได้ คาดว่าเพราะซีพียู Intel ในเครื่องเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงกินพลังงานเยอะ เลยใช้ปลั๊กแกลเลี่ยมไนไตรท์ (GaN) กำลังชาร์จ 65-100W ชาร์จไม่ไหว ทาง ASUS เลยตัดฟีเจอร์นี้ออกไปแทน
ด้านความหนาของตัวเครื่อง พอวัดด้วยเวอร์เนียดิจิตอลแล้ว ส่วนด้านหน้าเครื่องใกล้ผู้ใช้จะหนา 24.9 มม. และด้านหลังเครื่องหนา 25.4 มม. ถือว่าหนาไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน
ส่วนน้ำหนักตัวเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้วหนัก 2.095 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์ 522 กรัม รวม 2.616 กิโลกรัม จัดว่าหนักไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน สามารถพกเครื่องไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากมาก
Inside & Upgrade
ด้านการแกะอัพเกรดตัวเครื่อง เราสามารถขันน็อตทรงแฉกบวก (Philips Head) ทั้ง 11 ตัวด้านใต้เครื่องออกแล้วใช้การ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์ไล่ตามขอบตัวเครื่องเพื่อเปิดฝามาอัพเกรดได้เลย สำหรับเคล็ดลับการแกะเครื่องให้ง่ายที่สุด แนะนำให้เริ่มจากขอบด้านหลังเครื่องฝั่งโลโก้ TUF Gaming แล้วไล่ซ้ายมาเรื่อย ๆ จนวนรอบตัว ส่วนน็อตมุมล่างขวามือในภาพตอนกำลังจะเปิดเครื่องจะถูกออกแบบให้ฝืนติดกับเครื่อง เวลาถอดให้บีบตัวเครื่องแล้วขันออกถึงจะแกะออกได้ง่าย
ด้านในตัวเครื่อง ทาง ASUS จะวางแนวฮีตไปป์แบบเดียวกับ TUF Gaming F15 รุ่นก่อน โดยใช้ไปป์ทองแดงสามเส้นเดินพาดซีพียูและการ์ดจอ นำความร้อนมาที่พัดลมโบลวเวอร์ 2 ตัวที่ใช้ระบายความร้อนออกทางด้านหลังและฝั่งขวาของตัวเครื่อง ตรงกลางเป็นแผงเมนบอร์ดสีน้ำเงินส่วนด้านล่างเป็นแบตเตอรี่หนึ่งก้อน
ฝั่งขวาของแบตเตอรี่จะเป็นพื้นที่ว่างที่คาดว่าเคยติดตั้ง 2.5″ SATA III HDD ไว้ แต่พอเปลี่ยนมาใส่ M.2 NVMe SSD พื้นที่ตรงนี้ก็เว้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าถ้า ASUS อยากให้ TUF Gaming F15 อัพเกรดได้จัดเต็มกว่านี้ อาจจะเติมถาดฮาร์ดดิสก์กับหัว SATA III ทิ้งเอาไว้ให้ผู้ใช้ที่อยากเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD เอาไว้เก็บข้อมูลได้อัพเกรดได้ด้วยก็จะดีมาก
สำหรับ SSD แบบ M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 กับแรมจะมีช่องให้อัพเกรดเพิ่มอย่างละ 2 ช่อง ติดพลาสติกกันไฟฟ้าสถิตย์กับซิลิโคนแบบแผ่นเอาไว้ช่วยระบายความร้อนเอาไว้ สำหรับแรมจะอัพเพิ่มได้มากสุด 32GB DDR4 ถ้าใช้ Intel Core i5 ควรเลือกบัส 2933 MHz แต่จากที่ทดสอบแล้วสามารถใช้บัส 3200MHz ได้เหมือน Intel Core i7, i9 โดยไม่มีปัญหา สำหรับ M.2 NVMe อัพเกรดได้ช่องละ 1TB
ถือว่า ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้เหมาะกับเกมเมอร์สายคันไม้คันมือที่ลงเกมเยอะเปิดโปรแกรมหลาย ๆ โปรแกรมแล้วแรมไม่พอ SSD เต็มบ่อยก็เปิดฝาอัพเกรดเครื่องได้ง่าย ๆ เติมแรมกับ M.2 NVMe ได้ตามสะดวก แต่ถ้าทาง ASUS ติดหัว SATA III กับถาดฮาร์ดดิสก์ 2.5″ มาด้วย จะถือว่ายอดเยี่ยมมาก
ฮีตไปป์จะเดินแนวจากฝั่งซ้ายมือที่ติดกับซิ้งค์หน้าพัดลมโบลวเวอร์ที่เป่าออกด้านข้างและด้านบน เดินแนวพาดบนซีพียูและการ์ดจอ 2 เส้น และมีเส้นที่พาดผ่านชิ้นส่วนสำคัญในเครื่อง 1 เส้น แล้วทั้ง 3 เส้นไปรวมที่พัดลมขวามือ ซึ่งถึงผู้ใช้บางคนอาจจะติดภาพกับฮีตซิ้งค์แบบนี้แล้วมีภาพจำจาก TUF Gaming F15 รุ่นก่อนว่ามีปัญหาความร้อน ฯลฯ แต่จากที่ผู้เขียนทดลองเล่นเกมและใช้งานต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ไม่เจอปัญหาดังกล่าวแล้ว ดังนั้นผู้ใช้ที่เป็นห่วงปัญหาดังกล่าวว่าถ้าซื้อไปใช้อาจจะเจอปัญหาเก่ามากวนใจก็ไม่ต้องห่วง เพราะว่า ASUS TUF Gaming F15 ตัวนี้ไม่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว
Performance & Software
สเปคของ ASUS TUF Gaming F15 เครื่องที่ได้รับมารีวิว จะติดตั้งซีพียู Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.7-4.5 GHz การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6 ใช้ SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB ติดตั้ง Windows 10 Home มาให้ แรมความจุ 8GB DDR4 บัส 2933 MHz ส่วนหน้าจอมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz มี Adaptive Sync ช่วยลดอาการภาพฉีกเวลาเล่นเกมแล้วลากเมาส์เร็ว ๆ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.2 ด้วย
เมื่อเช็คสเปคของซีพียูด้วย CPU-Z แล้ว ตัว Intel Core i5-11400H นั้นจะเป็นซีพียู 6 คอร์ 12 เธรด สถาปัตยกรรม Tiger Lake ขนาด 10 นาโนเมตร เป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงของทาง Intel และรองรับชุดคำสั่งที่ใช้ทำงานกับโปรแกรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งจากการใช้งานจริง ถือว่าทำงานได้ดีทีเดียว ซึ่งจะเล่นเกมหรือทำงานที่กินประสิทธิภาพสูง ๆ ก็สามารถจัดการงานได้เป็นอย่างดี ส่วนแรม OEM ในเครื่องมีความจุ 8GB DDR4 บัส 3200 MHz จากทาง Samusung
การ์ดจอเมื่อเช็คด้วย GPU-Z แล้ว เป็นรุ่น NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6 รองรับ DirectX 12 แล้ว และเปิดฟีเจอร์ Resizable BAR ที่ช่วยเรื่องการโหลดฉากในเกมได้อย่างรวดเร็วเอาไว้แล้ว และถาสังเกตที่ช่องด้านล่าง จะเห็นว่าถึงจะเป็นรุ่นเริ่มต้นรหัส RTX 3050 ก็ตาม แต่ก็ใช้ Ray Tracing ได้เช่นกัน
เมื่อเช็คชิ้นส่วนในเครื่องด้วย Device Manager จะเห็นว่านอกจากชิป TPM 2.0 ที่ต้องมีเพื่อให้อัพเกรดเป็น Windows 11 ได้ทันทีติดตั้งมาให้แล้ว ชิป Wi-Fi 6 ก็เป็น Intel AX201 รุ่นใหม่ล่าสุดประสิทธิภาพดี รับสัญญาณได้ 160 MHz แบบ 2×2 MU-MIMO มี OFDMA และรองรับ Bluetooth 5.2 อีกด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากเล่นเกมหรือทำงานด้วย Wi-Fi อย่างเดียวก็ใช้งานได้เลยไม่ต้องกังวล
ส่วน SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB ในเครื่อง เป็น Samsung OEM รุ่น MZVLQ512HBLU-00B00 หรือ Samsung PM991 ที่มักนิยมเอามาติดตั้งในโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงหรือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค โดยอินเตอร์เฟสเป็น PCIe 3.0 x4 ขนาด 2280 ความเร็วหน้าสเปคมีค่า Sequential Read 3,100 MB/s กับ Sequential Write 1,800 MB/s
พอทดสอบด้วย CrystalDiskMark ได้ค่า Sequential Read 3,062 MB/s และ Sequential Write 1,609 MB/s ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับหน้าสเปคจากทาง Samsung ด้วย ดังนั้นถ้าใครซื้อ ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้ไปเล่นเกมหรือทำงาน ผู้เขียนเห็นว่าถ้าไม่ได้จะอัพเกรดไปใช้ Samsung 970 EVO Plus หรือว่า WD Black SN750 ที่ความจุเท่ากัน ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแล้วใช้ M.2 NVMe ติดเครื่องตัวนี้ไปได้เลย แล้วเติม M.2 NVMe ที่พอร์ตที่ 2 เอาไว้ลงเกมหรือโปรแกรมทำงานเพิ่มดีกว่า
ส่วนการทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 ว่า ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้ทำงานได้ดีหรือไม่ เมื่อทดสอบแล้วผลคะแนน OpenGL จะทำคะแนนได้ 133.73 fps และ CPU 1,497 cb จัดว่าทำคะแนนได้ดี และพอทดสอบการเรนเดอร์แบบเน้นที่ตัวซีพียูอย่างเดียวด้วย CINEBENCH R20 จะได้คะแนน CPU 3,738 pts นับว่าแรงและทำงาน 3D CG ต่าง ๆ ได้สบาย ๆ แน่นอน
เมื่อทดสอบการเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy แล้ว จะได้คะแนนเฉลี่ยรวมที่ 5,039 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้จัดว่าเล่นเกม AAA ได้สบาย ๆ โดยปรับกราฟฟิคระดับสูงแล้วคาดหวังเฟรมเรทระดับ 50-60 fps ขึ้นไปได้เลย และสังเกตที่กราฟ Monitoring ด้านล่าง จะเห็นว่ากราฟเป็นเส้นแนวเสถียรต่อเนื่อง อาจจะมีกราฟหยักขึ้นลงบ้างตามจังหวะแต่ไม่มีเส้นกราฟที่ปักหัวลงแบบหนัก ๆ ที่เป็นตัวบอกอาการว่าซีพียูและการ์ดจอตัวนี้มีปัญหาเรื่องการเรนเดอร์ภาพในเกมเลย
ส่วนการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMARK 10 ว่า ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้สามารถใช้ทำงานออฟฟิศ, ประชุมออนไลน์, บีบอัดและคลายไฟล์ Zip ได้ดีแค่ไหน ผลคะแนนเฉลี่ยได้ 5,633 คะแนน จัดว่าอยู่ในระดับสูงและแรงหายห่วง และสังเกตที่กราฟ Monitoring รันการทำงานด้านล่างจะเห็นว่าตัวกราฟก็รันได้เสถียรต่อเนื่อง ไม่มีอาการกราฟหัวปักลงมาเลยแม้แต่จุดเดียว ดังนั้นถ้าเกมเมอร์คนไหนที่อยากซื้อเครื่องนี้เอาไว้ทำงานและเล่นเกมก็ซื้อมาใช้ได้เลย ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
ส่วนการทดสอบซอฟท์แวร์แต่งภาพทำสี ตัดฉากหลังและทำไฟล์ภาพ Vector จะใช้ตัว Benchmark ของโปรแกรม Affinity Photo ซึ่งผลคะแนนที่ได้ จะเห็นว่าตัวคะแนน Vector แบบ Multi CPU ทำได้ 1,724 คะแนน, คะแนน Raster Multi GPU ที่เช็คการประสานงานกันระหว่างการ์ดจอออนบอร์ด Intel UHD Graphics กับ GeForce RTX 3050 แล้วได้ 3,438 คะแนน ซึ่งผลคะแนนนี้ จัดว่าอยู่ในระดับที่ทำงานตัดต่อแต่งภาพ หรือใช้ไฟล์ Vector ได้อย่างลื่นไหลแน่นอน
ส่วนการทดสอบเล่นเกม AAA โดยเปิดกราฟฟิคระดับสูงสุดที่ความละเอียด Full HD จะเห็นว่า Intel Core i5-11400H กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6 ถึงจะเป็นตัวรองจาก RTX 3060 ก็ตาม แต่เรื่องเล่นเกมถือว่าเล่นได้ดีไม่ต้องห่วงแน่นอน ซึ่งถ้าใครอยากได้เฟรมเรทสูงกว่านี้อีกสักหน่อย อาจจะปรับ Anti-aliasing ลงนิดหน่อยเพื่อไม่ให้กินแรมการ์ดจอเยอะเกินไปก็จะได้เฟรมเรทสูงกว่านี้อย่างแน่นอน
ส่วนของความรู้สึกตอนเล่นเกม AAA ด้วยการ์ดจอ RTX 3050 นั้น ถึงสื่อต่างประเทศจะบอกว่าการ์ดจอตัวนี้มีปัญหาเรื่องคอขวด Bandwidth ฯลฯ แล้วแนะนำให้ซื้อตัว RTX 3060 ขึ้นไปดีกว่า แต่พอผู้เขียนทดลองเล่นเกมและใช้ทำงานแต่งภาพต่าง ๆ แล้ว ประสิทธิภาพของการ์ดจอตัวนี้จัดว่าเพียงพอและเล่นเกมได้ลื่นอย่างแน่นอน ซึ่งความลื่นไหลตอนเรนเดอร์ภาพในเกมนั้นจัดว่าทำได้ดีหายห่วงแน่นอน ซึ่งใครที่มีงบประมาณจำกัดแต่อยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดี ๆ สักเครื่องก็ซื้อโน๊ตบุ๊คที่ติดตั้งการ์ดจอ RTX 3050 ไปเล่นเกมได้เลย ยิ่งถ้าเป็นเกมออนไลน์อย่าง DotA 2, Apex Legends, PUBG เรียกว่าลื่นไหลหายห่วง และฉากก็โหลดขึ้นมาได้ไว มองเห็นคู่ต่อสู้และตัดสินใจตอบสนองได้เร็วอย่างแน่นอน ไม่มีปัญหาเรื่องความหน่วงอืดหรือเฟมเรทตกมากวนใจเลย
ส่วนของซอฟท์แวร์ปรับแต่งการทำงานของ ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้จะมี Armoury Crate ที่ใช้มอนิเตอร์ความร้อนและปรับแต่งการทำงานโดยรวมของตัวเครื่อง, ปรับโปรไฟล์การแสดงผลบนหน้าจอได้หลากหลายแบบให้เข้ากับประเภทเกมที่เล่น, เปลี่ยนธีมของโปรแกรมและรวม User Center ที่เป็นหน้ารวมสำหรับผู้ใช้เพื่อดูสถานะตัวเครื่องได้อีกด้วย เรียกว่ารวมการตั้งค่าทั้งหมดเอาไว้ที่เดียวและทำให้ปรับแต่งการทำงานตัวเครื่องได้สะดวกขึ้นหลายเท่า
User Experience
ในฐานะที่ ASUS TUF Gaming F15 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบบเน้น ๆ และเอาไปทำงานได้ด้วย สามารถพูดได้ว่าถึงจะเป็นสเปคตัวเริ่มต้น ราคา 30,990 บาท ก็ตาม แต่ก็ได้ Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 ก็ถือว่าประสิทธิภาพดีทีเดียว
ผู้เขียนทดลองเอาไปแต่งภาพด้วยโปรแกรม Affinity Photo โดยใช้ไฟล์ที่มี Vector 3 เลเยอร์ก็สามารถแต่งภาพและเลื่อนเลเยอร์ไปมาได้อย่างรวดเร็วลื่นไหลไม่มีอาการหน่วงเลยแม้แต่น้อย ส่วนการทำงานเปิดเบราเซอร์ดูหนังฟังเพลงก็ลื่นไหลใช้ได้สบาย ๆ และตอนที่ทำงานกราฟฟิคกับดูหนังฟังเพลง ตัวเครื่องก็เย็นตลอดเวลาและไม่มีเสียงพัดลมเลย ดังนั้นเรื่องการทำงานทั่วไปอย่างการทำงานแต่งภาพหรือเอกสาร เรียกว่าผ่านได้เลยไม่ต้องกังวล
ส่วนการเล่นเกม ถ้าเปิดเกม AAA แล้วเปิด Performance mode ดู จะมีเสียงพัดลมออกมาบ้างและตัวเครื่องที่เย็นจะกลายเป็นอุณหภูมิห้องแต่ไม่มีอาการร้อน เนื่องจากตัวเครื่องรีดประสิทธิภาพออกมาให้เล่นเกมได้ลื่นไหล และพอเล่นเกมเสร็จแล้วเปลี่ยนมาใช้งานตามปกติ ASUS TUF Gaming F15 ก็กลับมาเย็นตามปกติอีกครั้ง นับว่าทาง ASUS ทำการบ้านกับการจัดการอุณหภูมิและความร้อนได้ดีทีเดียว ซึ่งถ้าใครอยากซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพดีในงบประมาณ 3 หมื่นบาทต้น ๆ ASUS TUF Gaming F15 ตัวนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าถ้าซื้อให้คุ้มที่สุด ตัวเริ่มต้นที่เป็น RTX 3050 ก็ได้ และพอเก็บเงินได้อีกนิดค่อยเพิ่มแรมอีกเส้นให้เป็น 16GB ก็โอเคแล้ว แต่ถ้าเพิ่มเงินได้ก็แนะนำให้ขยับไปซื้อตัว RTX 3050 Ti เลยก็ดี เพราะว่าการ์ดจอที่มีรหัส Ti ตามหลังจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นราว 10-15% อยู่แล้ว แต่ถ้าเล่นเกมอย่างเดียว ไม่ได้เอาไปเรนเดอร์ 3D CG หรือทำงานหนัก ๆ ผู้เขียนแนะนำว่าตัวที่คุ้มราคาที่สุดจะเป็นรุ่นกลางที่ได้ Intel Core i5-11400H กับ NVIDIA GeForce RTX 3060 ที่ราคา 36,990 บาท ซึ่งสเปคถือว่าแรงเพียงพอสำหรับเล่นเกมแล้วไม่ต้องอัพเกรดอะไรเพิ่ม อย่างมากอาจจะซื้อ M.2 NVMe 1TB มาเติมเอาไว้เป็นไดรฟ์ลงเกมหรือโปรแกรมที่ต้องใช้งานเพิ่มก็เพียงพอแล้ว ส่วนถ้าใครต้องทำงาน 3D CG อาจจะขยับไป Intel Core i7 หรือ Intel Core i9 ก็เลือกได้ตามความเหมาะสม ให้ซีพียูมีประสิทธิภาพสูงพอจะรันโปรแกรมที่ใช้งานเป็นประจำได้เลย
Battery / Heat & Noise
สำหรับแบตเตอรี่ใน ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้ จะเป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ขนาด 48Wh (4,240mAh Typical, 4,110mAh Rated) จัดว่ามีขนาดไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นจากค่ายคู่แข่งที่ราคาใกล้เคียงกัน โดยตัวนี้จะเป็นแบบ 3-Cell ขนาดไม่ใหญ่มาก
และเมื่อนำมาทดสอบว่าแบตเตอรี่ใน ASUS TUF Gaming F15 สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานกี่ชั่วโมง โดยเปิดความสว่างต่ำสุดและลดเสียงเหลือ 10% เปลี่ยนเป็น Silent mode ใช้ Microsoft Edge เปิดดูคลิปใน YouTube ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาที ได้ผลว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 4 ชั่วโมง 35 นาที ถ้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คบางเบาแบตอึดเป็นหลักอาจจะดูใช้งานได้ไม่นานก็จริง
ถ้าเทียบในหมู่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คด้วยกันแล้ว ต้องถือว่า TUF Gaming F15 เครื่องนี้ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่เกรดและระดับราคาเดียวกันได้สบาย ๆ ซึ่งจากการทดลองใช้งานจริงก็นับว่าใช้งานได้นานพอควร มากพอที่จะเอาเข้าประชุมหรือเข้าเลคเชอร์ต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กก็ยังไหว
ด้านอุณหภูมิตัวเครื่องเมื่อทดสอบเบิร์นเครื่องให้เกิดความร้อนสูงสุดแล้ววัดด้วย CPUID HWMonitor ตัวซอฟท์แวร์จะจับอุณหภูมิของ Package ได้ร้อนสุดที่ 97 องศาเซลเซียส เย็นสุดที่ 37 องศาเซลเซียส ได้อุณหภูมิเฉลี่ยช่อง Value ที่ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งสำหรับโน๊ตบุ๊คแล้วต้องถือว่าเย็นเลยทีเดียว เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปถึงระดับร้อนของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจะอยู่ราว 75-80 องศาเซลเซียส และถ้าเอามาเล่นเกมและใช้งานตามปกติแล้วอุณหภูมิ 97 องศาเซลเซียสเองก็ไม่ได้พีคอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นสามารถสรุปในประเด็นความร้อนได้เลยว่า ASUS TUF Gaming F15 เครื่องนี้สามารถคุมอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดี เล่นเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมงได้สบาย ๆ อย่างแน่นอน
Conclusion & Award
สำหรับ ASUS TUF Gaming F15 รุ่นใหม่นี้ ต้องถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวคุ้มที่นอกจากงานประกอบจะดี แข็งแรงและให้สเปคที่ถือว่าคุ้ม เพราะได้ Intel Core i5-11400H กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 ที่ใช้ทำงานและเล่นเกมส์ต่าง ๆ ได้ดีและสามารถอัพเกรดเพิ่มแรมและ SSD M.2 NVMe เพิ่มได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าเราเลือกรุ่นที่ใช้ซีพียูและการ์ดจอที่ตอบโจทย์การใช้งานของเราแล้ว จะมาเพิ่มแรมกับ SSD ภายหลังก็ทำได้ง่าย ๆ อีกด้วย
ส่วนเรื่องหน้าจอ แม้จะพอใช้งานแต่งภาพทำสีได้บ้างแต่จุดเด่นของหน้าจอนี้ คือเรื่องการเล่นเกมเพราะว่าเป็นจอที่มีค่า Refresh Rate สูงถึง 144 Hz และมี Adaptive Sync ที่ทำให้ภาพไม่ฉีกขาดตอนเลื่อนเมาส์เร็ว ๆ ระหว่างเล่นเกมอีกด้วย ทำให้เกมเมอร์สามารถเล่นเกมได้สนุกและเห็นภาพได้ต่อเนื่องด้วย ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะซื้อเครื่องนี้มาเล่นเกมเป็นหลักก็ซื้อมาใช้ได้เลย
ส่วนเรื่องความร้อนที่หลายคนกังวลาว่า ASUS TUF Gaming F15 รุ่นใหม่ เวลาเล่นเกมหรือทำงานหนัก ๆ แล้วจะร้อนเหมือนรุ่นก่อนหรือเปล่า ต้องบอกว่ารุ่นใหม่ที่อัพเกรดมาเป็น RTX 3050 ทาง ASUS ก็แก้ปัญหานี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นถ้าจะซื้อไปใช้ทำงานหรือเล่นเกมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่ต้องกังวลปัญหานี้เลย แต่ถ้าใครอยากให้เครื่องเย็นยิ่งขึ้น แนะนำให้วางเครื่องบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คสักหน่อยก็ช่วยเรื่องระบายอากาศและลดอุณหภูมิไปได้เยอะมากแล้ว
ส่วนเรื่องที่เป็นจุดสังเกตที่พูดถึงในรีวิวจะมีเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น พอร์ต Thunderbolt 4 ที่ติดตั้งมาให้จะให้ฟีเจอร์มาไม่ครบ ใช้ได้แค่ต่อหน้าจอและโอนไฟล์ได้เหมือน USB-C ที่มี DisplayPort Alternate mode เท่านั้น ใช้ชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าตัวเครื่องไม่ได้, มีพื้นที่ว่างพอติดตั้ง 2.5″ SATA III SSD แต่ไม่มีถาดและหัวต่อฮาร์ดดิสก์และต้องพิมพ์รหัสผ่านเพื่อปลดล็อคเครื่องเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนรายละเอียดเล็กน้อยของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เท่านั้น แต่ถ้ามองกลับไปที่จุดเด่นต่าง ๆ แล้วล่ะก็ ASUS TUF Gaming F15 ก็ถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ดีตอบโจทย์เครื่องหนึ่งเลยทีเดียว
Award
Best Gaming
สำหรับสเปคเริ่มต้นที่เปิดราคามาเพียง 30,990 บาท แต่ได้ Intel Core i5-11400H กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 กับแรม 8GB จัดว่าน่าสนใจ สามารถเล่นเกม AAA ปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดได้เฉลี่ยที่ 52-60 fps ขึ้นไปได้สบาย ๆ หน้าจอก็มี Adaptive Sync ช่วยลดอาการภาพฉีกขาดตอนเลื่อนเมาส์ในเกมเร็ว ๆ ทำให้ภาพที่เห็นต่อเนื่องยิ่งขึ้น ดังนั้น ASUS TUF Gaming F15 จึงคู่ควรกับรางวัล Best Gaming อย่างแน่นอน
Best Performance
สำหรับ Best Performance นั้น ถ้านับรวมรุ่นย่อยแล้วต้องบอกว่า ASUS จัดสเปค TUF Gaming F15 ออกมาได้ดี เพราะเริ่มต้นก็ได้ Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด แล้วและถ้าเพิ่มเงินเข้าไปก็ได้สเปคกลับมาในระดับที่คุ้มค่าขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งได้อัพเกรดการ์ดจอ, แรม เพิ่มเติมอย่างจุใจ จะทำงาน 3D CG ต่าง ๆ ก็ทำได้อย่างดีไม่มีปัญหา และถ้าใครยังหนำใจจะเปิดฝามาอัพเกรดเติมแรมและ M.2 NVMe เข้าไปก็ได้ เรียกว่าดีต่อผู้ใช้ที่ชอบการอัพเกรดเครื่องให้ประสิทธิภาพดีขึ้นเป็นอย่างมาก