ถ้าจะประกอบพีซีสักเครื่อง Power Supply ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งพลังงานเดียวที่จ่ายไฟให้พีซีทั้งเครื่อง ดังนั้นตอนถามว่า Power Supply ยี่ห้อไหนดีก็ควรใส่ใจเป็นพิเศษไม่แพ้หน้าจอเกมมิ่งหรือ M.2 SSD สเปคแรง ๆ เลย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรลงทุนเลือกแบรนด์คุณภาพระดับสากลไม่ใช่แบรนด์บ้าน ๆ ทั่วไปที่ไหนก็ได้มาใช้ นั่นเพราะถ้าเราผ่าตัว Power Supply ออกมาแล้วเราจะเห็นว่าชิ้นส่วนในแบรนด์ระดับสากลนั้นเป็นของคุณภาพดี ทำให้จ่ายไฟได้นิ่งและเสถียรทีเดียว
ดังนั้นเวลาประกอบพีซีมาใช้สักเครื่อง โดยเฉพาะเกมมิ่งพีซี ก็ควรลงทุนกับ Power Supply คุณภาพสูงสักรุ่นมาติดตั้งในเครื่อง จะได้ไม่ต้องกังวลหรือเจอปัญหา “แต๊บ” หรือจ่ายไฟให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่พอจนเครื่องดับกลางคันให้เสียอารมณ์อีกด้วย แต่ถ้าไม่แน่ใจว่า Power Supply ดี ๆ ต้องเลือกอย่างไรก็สามารถอ่านวิธีการเลือกในบทความนี้ได้เลย
เปลี่ยนคำถามจาก Power Supply ยี่ห้อไหนดี เป็นสเปคไหนดีกว่า!
ผ่าไส้แบรนด์ดังแล้ว จะเห็นว่าชิ้นส่วนข้างในใส่แต่ของคุณภาพแถมงานประกอบเรียบร้อยด้วย
หากพูดถึงเรื่องไฟฟ้าและพาวเวอร์ซัพพลาย เชื่อว่าเกมเมอร์อย่างเรา ๆ ก็คงจะส่ายหน้ากันเป็นแถว ๆ ยิ่งถ้าไม่ได้เรียนสายช่างไฟฟ้าหรือมีพ่อเป็นช่างไฟ อ่านสเปคไปแค่ไหนก็ไม่เก็ทอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งเรื่องกระแส, แอมแปร์, ค่าความสูญเสียในภาคจ่ายไฟ (Heat loss) ฯลฯ อีกมากมายจนพลอยจะเบื่อเอา
ดังนั้นเราจะปล่อยเรื่องของไฟฟ้าทิ้งไว้แล้วใช้วิธีการเลือกพาวเวอร์ซัพพลายแบบง่าย ๆ แทน ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดและได้พาวเวอร์ซัพพลายคุณภาพดีไปใช้งานอย่างแน่นอน โดยวิธีการมีดังนี้
เข้าใจเรื่องมาตรฐาน 80 Plus กันก่อน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องพาวเวอร์ซัพพลายแบบ 80+ (แปดสิบบวก) จากเพื่อนหรือคนรอบตัวที่ชอบจัดสเปคประกอบคอมกันอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่คนใกล้ตัวพูดกันนั้นคือเรื่องมาตรฐาน 80 Plus ไว้ใช้บอกเรื่องการประหยัดพลังงานของ PSU ลูกนั้น ๆ กล่าวคือ PSU ลูกนั้น ๆ จะสูญเสียพลังงานไม่เกิน 20% โดยมีสูตรคำนวนคือ effciency = Output/input โดยคิดจากไฟขาเข้าสู่ขาออก
ตัวอย่างเช่นถ้าเข้ามา 143 วัตต์ AC ออกเป็น 100 วัตต์ DC ก็จะไม่ถึงมาตรฐาน 80 Plus เพราะมีค่า effciency ไม่ถึง แต่กลับกัน ถ้าขาเข้า 125 วัตต์ AC ออกมาเป็น 100 วัตต์ DC ก็จะได้ที่ 80% พอดี (effciency = 100/125 = 0.8) เท่ากับ PSU นั้นเสียพลังงานจากขาเข้าไป 25 วัตต์เท่านั้น เท่ากับว่า PSU นั้นใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
เริ่มต้นจะเป็น 80 Plus ที่ไม่มีชื่อของโลหะตามท้าย บางคนอาจจะเรียก 80+ ขาว ซึ่งก่อนหน้านี้บางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นโลโก้ปลอม แต่จริง ๆ แล้วเป็นมาตรฐานการันตีว่าตัว PSU นั้นทำงานที่โหลดทั้ง 3 ช่วงที่ 20%, 50%, 100% ได้โหลด 0.8 ก็เป็น 80% efficiency โดยการทดสอบ 80 Plus จะทดสอบที่ไฟ AC 110V เท่านั้น
ส่วนของมาตรฐานที่สูงกว่า 80 Plus แล้วจะเป็นมาตรฐานที่มีชื่อโลหะตามหลัง โดยไล่ขึ้นไปตามลำดับดังนี้
- 80 Plus Bronze (ทองแดง) – มีค่า efficiency ช่วงการทำงาน 20% ที่ 0.81 และที่โหลด 50% ได้เกิน 0.85 ส่วนโหลด 100% ต้องได้เกิน 0.81 ถึงได้การการันตีระดับ Bronze (ทดสอบที่ไฟ AC 220V)
- 80 Plus Silver (เงิน) – มีค่า efficiency ช่วงการทำงาน 20% ที่ 0.85 และที่โหลด 50% ได้เกิน 0.89 ส่วนโหลด 100% ต้องได้เกิน 0.85 ถึงได้การการันตีระดับ Silver (ทดสอบที่ไฟ AC 220V)
- 80 Plus Gold – มีค่า efficiency ช่วงการทำงาน 20% ที่ 0.88 และที่โหลด 50% ได้เกิน 0.92 ส่วนโหลด 100% ต้องได้เกิน 0.88 ถึงได้การการันตีระดับ Gold (ทดสอบที่ไฟ AC 220V)
- 80 Plus Platinum – มีค่า efficiency ช่วงการทำงาน 20% ที่ 0.9 และที่โหลด 50% ได้เกิน 0.94 ส่วนโหลด 100% ต้องได้เกิน 0.91 ถึงได้การการันตีระดับ Platinum (ทดสอบที่ไฟ AC 220V)
- 80 Plus Titanium – มีค่า efficiency ช่วงการทำงาน 20% ที่ 0.94 และที่โหลด 50% ได้เกิน 0.96 ส่วนโหลด 100% ต้องได้เกิน 0.91 ถึงได้การการันตีระดับ Titanium (ทดสอบที่ไฟ AC 220V)
ประเภทพาวเวอร์ซัพพลายและวิธีคำนวนเลือก PSU
หลายคนอาจจะเห็น Power Supply หลัก ๆ เป็นแบบที่ถอดสายได้หมดหรือถอดสายไม่ได้เลย แต่จริง ๆ แล้วพาวเวอร์ซัพพลายนั้นจะมีถึง 3 แบบ คือ Non-modular, Semi-Modular และ Modular ซึ่งในโจทย์ Power Supply ยี่ห้อไหนดี ก็ควรโฟกัสเรื่องดีไซน์ของ Power Supply ด้วย โดยแต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อแตกต่างดังนี้
- Non-Modular – เป็นแบบที่หาซื้อง่ายและราคาถูกที่สุด ขนาดใหญ่กำลังดีสามารถติดตั้งในเคสได้แทบทุกเคสในปัจจุบัน แต่เมื่อประกอบเข้ากับเคสคอมแล้วต้องจัดสายเก่งระดับหนึ่งไม่อย่างนั้นสายจะรกจนหลายคนเรียกว่า “รังงู” แต่อุณหภูมิของตัว Power Supply จะสูงกว่าอีกสองแบบอยู่บ้าง
- Semi-Modular – เป็นแบบที่ถอดสายไฟได้เกือบหมด ยกเว้นสายหลักอย่างสาย 24-pin สำหรับจ่ายไฟให้เมนบอร์ดจะถูกต่อติดกับตัวพาวเวอร์ซัพพลายแล้วถอดไม่ได้ ราคาอาจจะสูงกว่าแบบ Non-Modular เล็กน้อยแต่จัดสายไฟได้ง่ายกว่าและถ่ายเทอากาศได้ดีขึ้นรวมทั้งพัดลมมีขนาดใหญ่กว่าด้วย
- Modular (Fully Modular) – เป็นแบบยอดนิยมที่เกมเมอร์ที่ประกอบเกมมิ่งพีซีแบบจัดเต็มเลือกมาติดตั้งในเครื่อง ราคาจัดว่าค่อนข้างแพงและมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเวลาซื้อต้องเลือกเคสที่ขนาดใหญ่หน่อยเพราะว่าตัวพาวเวอร์ซัพพลายมีขนาดใหญ่พอตัว แต่จัดสายง่ายมากและถอดได้ทุกสายรวมถึงสาย 24-pin ที่จ่ายไฟเลี้ยงเมนบอร์ดด้วย
ซึ่งถ้าผู้อ่านคนไหนเข้าหน้าจัดสเปคคอมของทาง Notebookspec อยู่เป็นประจำ จะเห็นว่ามีช่องให้ติ๊กเลือกทั้ง 80+ และ Modular อยู่แล้ว ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าถ้าจัดสเปคทุกครั้ง อย่างน้อยควรกดเลือกที่ 80+ เอาไว้ ระบบจะกรองเอาแต่ Power Supply คุณภาพดีจากแบรนด์ที่ไว้ใจได้มาให้เลือกใช้ ตอบคำถามว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดีได้ง่าย ๆ แต่ Power Supply นั้นจะเป็นระดับไหนก็ต้องสังเกตที่ชื่อและคลิกดูในสเปคด้วยตัวเอง
ส่วนการคำนวนว่าสเปคของเกมมิ่งพีซีของเราเหมาะกับ Power Supply กี่วัตต์ดี ผู้เขียนแนะนำให้นำสเปคพีซีของตัวเองไปคำนวนที่เว็บไซต์ OuterVision และเมื่อได้ค่าวัตต์ของพาวเวอร์ซัพพลายแล้ว แนะนำให้ซื้อเผื่อวัตต์ไว้อีกหน่อยเพื่อรองรับการอัพเกรดเปลี่ยนการ์ดจอหรือซีพียูในอนาคต เช่น ถ้าเว็บไซต์แนะนำที่ 450 วัตต์ ให้ขยับไป 650-700 วัตต์ จะดีที่สุด
แนะนำ Power Supply 700 วัตต์ 9 รุ่นแบรนด์คุณภาพใช้ได้สบายใจ!
เมื่อรู้วิธีแล้วว่าจะเลือก Power Supply ยี่ห้อไหนดีมาเป็นหัวใจหลักให้พีซีของเราให้ทำงานได้โดยไม่มีปัญหา และถ้าเป็นเกมมิ่งพีซีก็รองรับการอัพเกรดในอนาคตได้ด้วย ซึ่งถ้าเราประกอบเครื่องและใช้การ์ดจอตัวเดียวเพื่อเล่นเกมล่ะก็ Power Supply แบบ 700 วัตต์ นั้นถือว่ามากเพียงพอจะจ่ายไฟเลี้ยงทั้งระบบแน่นอน และถ้าราคาการ์ดจอกลับมาอยู่ในระดับปกติก็สามารถจ่ายไฟให้ตัวแรงอย่าง GEFORCE RTX 3080 หรือ Radeon RX 6800 XT ได้แน่นอน
สำหรับพาวเวอร์ซัพพลายที่เลือกมาแนะนำในบทความนี้ นอกจากจะติดอันดับในชาร์ต PSU Ranking ของทางเว็บไซต์แล้ว จะมีคละกันตั้งแต่ 80 Plus ธรรมดา, 80 Plus Bronze และ 80 Plus Gold โดยมีรุ่นแนะนำดังนี้
- SILVERSTONE ST70F-ES230 700W 80+ (1,660 บาท)
- COOLERMASTER MWE 700 White V2 (1,890 บาท)
- ANTEC VP700P (1,730 บาท)
- THERMALTAKE Smart RGB 700W 80 Plus (2,065 บาท)
- ASUS TUF Gaming 750B (2,990 บาท)
- COUGAR BXM700 (3,190 บาท)
- COOLERMASTER MWE Gold 750 (2,860 บาท)
- THERMALTAKE Toughpower GF1 750W Gold (3,740 บาท)
- CORSAIR CX750F RGB Black (3,990 บาท)
1. SILVERSTONE ST70F-ES230 700W 80+ (1,660 บาท)
SILVERSTONE ST70F-ES230 700W เป็น Power Supply แบบ 80 Plus ตัวแรกที่ราคาไม่แพงมากและมีคุณภาพมาอย่างยาวนานจากไต้หวัน ถ้างบประมาณประกอบเกมมิ่งพีซีมีจำกัดก็สามารถเลือกซื้อจากแบรนด์นี้ได้เลย โดย ST70F-ES230 มีอายุใช้งาน 100,000 ชั่วโมงขึ้นไป เป็นพาวเวอร์ซัพพลายขนาด ATX แบบ Non-Modular หรือถอดสายไม่ได้ สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ตลอดเวลาและอุณหภูมิจะเสถียรอยู่ที่ 40 องศาตลอดการทำงาน ส่วน Power density อยู่ที่ 388W per litr
สเปคของ SILVERSTONE ST70F-ES230 700W 80+
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 700W แบบ 80 Plus
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Non-Modular
- อายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไป
- อุณหภูมิ 40 องศาตลอดการทำงาน
- Power Density 388W per litr
- ราคา 1,660 บาท (Advice)
2. COOLERMASTER MWE 700 White V2
(1,890 บาท)
COOLERMASTER MWE 700 White V2 ก็เป็นอีกตัวเลือกที่เวิร์คเช่นกันถ้ากำลังคิดอยู่ว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดี แต่เชื่อว่าหลายคนจะติดภาพ Cooler Master จากผู้ผลิตเคสและเกมมิ่งเกียร์เป็นหลัก แต่ Power Supply ก็ถือว่าประสิทธิภาพน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งรุ่นที่แนะนำจ่ายกระแสได้ 700 วัตต์ 80 Plus สามารถรักษาอุณหภูมิระหว่างใช้งานได้ 40 องศาอย่างต่อเนื่อง เป็นพาวเอร์ซัพพลายขนาด ATX ดีไซน์แบบถอดสายไม่ได้ มีอายุการใช้งานมากกว่า 100,000 ชม. ขึ้นไป
สเปคของ COOLERMASTER MWE 700 White V2
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 700W แบบ 80 Plus
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Non-Modular
- อายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไป
- อุณหภูมิ 40 องศาตลอดการทำงาน
- ราคา 1,890 บาท (Advice)
3. ANTEC VP700P (1,730 บาท)
ANTEC VP700P นั้นถือเป็นรุ่นราคาถูกเข้าถึงง่ายของแบรนด์ ANTEC ซึ่งถ้าถามว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดี ANTEC ที่เป็นแบรนด์จากอเมริการุ่นนี้ก็ถือว่าน่าสนใจเช่นกัน โดย VP Series นั้นเป็นรุ่นเริ่มต้น ราคาไม่แพงแต่ประสิทธิภาพดีแต่ถอดสายไฟไม่ได้ ติดตั้งพัดลม 120 mm. ทำงานเสียงเบาและระบายความร้อนได้ดีเอาไว้ โดย VP700P เป็น Power Supply 80 Plus แบบ Single 12V Rail ซึ่งรองรับโหลดไฟฟ้าได้ดีกว่า Power Supply ทั่วไป มีสายไฟ PCI-E 8-pin แบบ 6+2 อยู่ 4 เส้น รองรับการต่อการ์ดจอได้หลายตัวพร้อมกันอีกด้วย
สเปคของ ANTEC VP700P
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 700W แบบ 80 Plus
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Non-Modular
- ติดตั้งพัดลม 120 mm. ไว้ใช้ระบายความร้อนให้เย็นตลอดการทำงาน
- มีสาย PCI-E 8-pin แบบ 6+2 อยู่ 4 เส้น
- ราคา 1,730 บาท (Advice)
4. THERMALTAKE Smart RGB 700W 80 Plus (2,065 บาท)
THERMALTAKE Smart RGB 700W 80 Plus นั้นเป็น Power Supply 700W คุณภาพจากแบรนด์ชื่อดังของคนไทยอีกรุ่นหนึ่ง ที่ตอบโจทย์สาย RGB มีปุ่มเปลี่ยนไฟ RGB ติดตั้งไว้ด้านหลังตัว Power Supply ให้เปลี่ยนได้ตามต้องการ ติดตั้งพัดลมประสิทธิภาพสูงทำงานได้เงียบและระบายความร้อนได้ดีและเป็นแบบ Single +12V Rail ที่สามารถจ่ายไฟให้ชิ้นส่วนในเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัว PSU แบบ ATX ขนาดปกติที่ถอดสายไม่ได้ มีอายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไปอีกด้วย
สเปคของ THERMALTAKE Smart RGB 700W 80 Plus
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 700W แบบ 80 Plus
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Non-Modular
- อายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไป
- มีพัดลมระบายความร้อน 120 mm. ติดตั้งไว้ด้วย
- ราคา 2,065 บาท (Advice)
5. ASUS TUF Gaming 750B (2,990 บาท)
ASUS TUF Gaming 750B จากค่ายคนขยันนั้นเป็น PSU รุ่นประสิทธิภาพดีไม่ต้องคิดมากเมื่อมีคำถามว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดี โดย TUF Gaming 750B นั้นเป็น PSU 750W ที่ได้มาตรฐาน 80 Plus Bronze ติดตั้งพัดลมขนาด 135 มม. ออกแบบใบพัดเป็น Axial-tech Fan ช่วยจัดทิศทางลมเพื่อเป่าจี้เข้าไปที่อุปกรณ์ภายในเป็นเส้นตรง ไม่กระจายเหมือนพัดลมบางรุ่น เสียงตอนทำงานจัดว่าเงียบมาก ด้านคาปาซิเตอร์และโช๊คไฟฟ้าในตัว PSU ยังผ่านมาตรฐาน Military-grade อีกด้วย สำหรับตัว PSU เป็นขนาด ATX ที่ถอดสายไม่ได้แต่เป็นขนาดมาตรฐานสามารถใส่เคสได้ทุกแบบและรับประกันนานถึง 6 ปีอีกด้วย
สเปคของ ASUS TUF Gaming 750B
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 750W แบบ 80 Plus Bronze
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Non-Modular
- พัดลมขนาด 135 มม. ออกแบบใบพัดเป็น Axial-tech Fan
- รับประกันการใช้งาน 6 ปี
- ราคา 2,990 บาท (JIB)
6. COUGAR BXM700 (3,190 บาท)
Cougar BXM700 นั้นเป็นแบรนด์อุปกรณ์คอมคุณภาพดีที่ทำตลาดในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และ Power Supply ก็มีคุณภาพดี สามารถใช้งานได้หลายปีโดยไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน โดย BXM700 นั้นจะเป็น Power Supply 700W แบบ Single Rail 12V มาตรฐาน 80 Plus Bronze ดีไซน์เป็นแบบ Semi-Modular ถอดสายได้เกือบหมด ยกเว้นแต่สาย 24-pin ที่ต่อเลี้ยงเมนบอร์ดเท่านั้น ใช้คาปาซิเตอร์คุณภาพสูงของญี่ปุ่น ติดตั้งพัดลมขนาด 135 มม. เอาไว้ สามารถคุมความร้อนไว้ที่ 40 องศาตลอดการใช้งานอีกด้วย
สเปคของ Cougar BXM700
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 700W แบบ 80 Plus Bronze
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Semi-Modular
- พัดลมขนาด 135 มม. สามารถคุมอุณหภูมิไว้ได้ระดับ 40 องศาตลอดการใช้งาน
- ราคา 3,190 บาท (JIB)
7. COOLERMASTER MWE Gold 750
(2,860 บาท)
COOLERMASTER MWE Gold 750 นั้นถือเป็น Power Supply คุณภาพดีที่ไม่ควรมองข้ามและประสิทธิภาพดี สามารถจ่ายไฟได้ 750W มาตรฐาน 80 Plus Gold ถ้าใครจะเอาไปใช้งานกับเกมมิ่งพีซีก็ถือว่าเป็นรุ่นแนะนำในโจทย์ว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดี ข้อดีคือจัดสายได้ง่ายเพราะเป็น PSU ATX แบบ Modular ถอดสายได้หมดทุกเส้นอีกด้วย ส่วนความร้อนจะอยู่ที่ 45 องศาระหว่างใช้งาน มีอายุการใช้งานเกิน 100,000 ชม. ขึ้นไป
สเปคของ COOLERMASTER MWE Gold 750
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 750W แบบ 80 Plus Gold
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Modular
- พัดลมขนาด 120 มม. สามารถคุมอุณหภูมิไว้ได้ระดับ 45 องศาตลอดการใช้งาน
- อายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไป
- ราคา 2,860 บาท (Advice)
8. THERMALTAKE Toughpower GF1 750W Gold (3,740 บาท)
THERMALTAKE Toughpower GF1 750W Gold จัดว่าเป็น Power Supply ประสิทธิภาพสูงน่าใช้ถ้ามีคำถามว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดี โดยตัว GF1 นี้จ่ายไฟได้ 750W มาตรฐาน 80 Plus Gold รับประกันการใช้งาน 10 ปี ดีไซน์ Modular ถอดสายได้ทุกเส้นและออกแบบให้การเชื่อมต่อภายในตัว PSU ไม่มีสายไฟอยู่เลย เวลาดึงอากาศเข้าด้วยพัดลม 140 mm. จะไม่ขวางทางลม ทำให้คุมอุณหภูมิเอาไว้ได้ที่ 50 องศาตลอดการใช้งาน และใช้ชิ้นส่วนภายในคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น อายุการใช้งานที่ 120,000 ชม. ขึ้นไป จัดว่าแข็งแรงใช้งานได้นานเลย
สเปคของ THERMALTAKE Toughpower GF1 750W Gold
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 750W แบบ 80 Plus Gold
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Modular
- พัดลมขนาด 140 มม. สามารถคุมอุณหภูมิไว้ได้ระดับ 50 องศาตลอดการใช้งาน
- อายุการใช้งาน 120,000 ชม. ขึ้นไป
- ราคา 3,740 บาท (Advice)
9. CORSAIR CX750F RGB Black (3,990 บาท)
CORSAIR CX750F RGB Black ถ้าถามว่าจะซื้อ Power Supply ยี่ห้อไหนดีแล้วไม่มี Corsair อยู่ในรายการแนะนำด้วยคงจะไม่ครบถ้วนนัก ซึ่ง CX750F นั้นถือเป็นรุ่นประสิทธิภาพดีราคาไม่แพง มีไฟ RGB พร้อมปุ่มเปลี่ยนสีไฟที่ด้านหลัง PSU ข้างช่องปลั๊ก ผ่านมาตรฐาน 80 Plus ระดับ Bronze ตัว PSU เป็นขนาด ATX แบบ Modular ถอดสายได้ทุกเส้น ติดตั้งพัดลมขนาด 120 mm. เอาไว้ระบายความร้อนระหว่างใช้งาน ทำให้อุณหภูมิของ PSU อยู่ที่ 40 องศาตลอดการทำงานเพราะด้านในดีไซน์แบบไม่มีสายไฟทำให้ลมสามารถเข้าถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ทั่วถึงและใช้ชิ้นส่วนคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 100,000 ชม.
สเปคของ CORSAIR CX750F RGB Black
- Power Supply จ่ายกระแสได้ 750W แบบ 80 Plus Bronze
- ดีไซน์ขนาด ATX แบบ Modular
- พัดลมขนาด 120 มม. สามารถคุมอุณหภูมิไว้ได้ระดับ 40 องศาตลอดการใช้งาน
- อายุการใช้งาน 100,000 ชม. ขึ้นไป
- ราคา 3,990 บาท (JIB)
สรุป – Power Supply ยี่ห้อไหนดี จ่ายทีเดียวจะได้จบ
จากรายละเอียดของ Power Supply ทุกรุ่นที่แนะนำมาแล้ว จะเห็นว่าแต่ละรุ่นมีประสิทธิภาพ, ราคาและสเปคที่แตกต่างกันดังในตารางนี้
รุ่น / สเปคของลิสท์ Power Supply ยี่ห้อไหนดี | จ่ายกระแสและมาตรฐาน 80 Plus | อุณหภูมิเวลาใช้งาน / ขนาดพัดลม | อายุการใช้งาน (ชม.) | Power Density | ดีไซน์ | ราคา |
SILVERSTONE ST70F-ES230 | 700W 80 Plus |
40 องศา | 100,000 | 388W per litr |
ATX ถอดสายไม่ได้ |
1,660 บาท |
COOLER MASTER MWE 700 White V2 |
700W 80 Plus |
40 องศา | 100,000 | – | ATX ถอดสายไม่ได้ |
1,890 บาท |
ANTEC VP700P | 700W 80 Plus |
– | – | – | ATX ถอดสายไม่ได้ |
1,730 บาท |
THERMALTAKE Smart RGB 700W 80 Plus | 700W 80 Plus |
ติดตั้งพัดลม 120 mm. ไว้ระบายความร้อน | 100,000 | – | ATX ถอดสายไม่ได้ |
2,065 บาท |
ASUS TUF Gaming 750B | 750W 80 Plus Bronze |
Axial-tech Fan ขนาด 135 mm. | รับประกัน 6 ปี | – | ATX ถอดสายไม่ได้ |
2,990 บาท |
Cougar BXM700 | 700W 80 Plus Bronze |
พัดลม 135 mm. อุณหภูมิ 40 องศา | – | – | ATX ถอดสายได้บ้างระดับ Semi-Modular |
3,190 บาท |
COOLER MASTER MWE Gold 750 |
750W 80 Plus Gold |
พัดลม 120 mm. อุณหภูมิ 45 องศา | 100,000 | – | ATX ถอดสายได้ทุกเส้น |
2,860 บาท |
THERMALTAKE Toughpower GF1 750W Gold | 750W 80 Plus Gold |
พัดลม 140 mm. อุณหภูมิ 50 องศา | 120,000 รับประกันใช้งาน 10 ปี |
– | ATX ถอดสายได้ทุกเส้น |
3,740 บาท |
CORSAIR CX750F RGB Black | 750W 80 Plus Bronze |
พัดลม 120 mm. อุณหภูมิ 40 องศา | 100,000 | – | ATX ถอดสายได้ทุกเส้น |
3,990 บาท |
จะเห็นว่า Power Supply แต่ละรุ่นนั้นจะมีคุณภาพและราคาแตกต่างกันไป ส่วนราคานั้นถือว่าอยู่ในระดับตั้งแต่พันต้น ๆ ไปจนถึงเกือบ 5,000 บาท ตามสเปคและคุณภาพของชิ้นส่วนภายในที่เลือกมาประกอบ แต่อย่างไรก็ตาม Power Supply นั้นถือเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดในพีซีเครื่องหนึ่งเพราะว่าเป็นแหล่งจ่ายไฟให้เครื่องทั้งเครื่อง ซึ่งถ้าเลือกมาดีก็จะทำให้เครื่องนั้นใช้งานได้หลายปีและไม่พังง่าย กลับกันถ้าเลือกมาเป็น PSU ไม่มีมาตรฐานหรือที่เรียกกันว่า “PSU กระป๋อง” ก็อาจจะพังเร็ว เพราะว่าจ่ายไฟไม่พอหรือจ่ายได้ไม่เสถียรนั่นเอง
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนก็อยากแนะนำให้ลงทุนกับ Power Supply เลือกซื้อรุ่นที่คุณภาพดีไปเลยทีเดียวเพราะนี่คือชิ้นส่วนที่มีโอกาสเปลี่ยนได้ยากที่สุดชิ้นหนึ่งไม่แพ้กับหน้าจอคอม ซึ่งควรเลือกแบบ 80 Plus ขึ้นไป และในตอนนี้จะเห็นว่าราคาก็เริ่มต้นเพียงหลักพันต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งถ้า PSU มีคุณภาพสูงก็สามารถใช้คอมเครื่องนั้นทำงานหรือเล่นเกมได้อย่างสบายใจอย่างแน่นอน