จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นทำให้ผู้คนทั่วโลกนั้นต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ประเทศไทยของเราเอกก็เช่นกัน ยิ่งในสถานการณ์ช่วงนี้ที่ยอดของผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แถมขณะนี้แทบทุกคนก็ต้องหยุดงานหรือทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) โดยหลีกเลี่ยงการออกไปพบปะผู้คน ซึ่งก็ส่งผลไม่น้อยเลยทีเดียวเพราะหลาย ๆ บริษัทที่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้นั้นก็ทำให้ต้องตัดสินใจหยุดจ้างงานหรือชะลอการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน และลูกจ้างอย่างเรา ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ไปเต็ม ๆ
รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงทำให้เกิดโครงการให้ประชาชนที่ว่างงานในช่วงนี้หรือได้รับผลกระทบในการทำงานจาก COVID-19 ได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ผ่านเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน.com’ แต่กระนั้นโครงการนี้ก็ยังทำให้ความสับสนและข้อสงสัยในรายละเอียดต่าง ๆ จนทำให้หลายคนเดินทางไปเปิดบัญชีหรือไปติดต่อกับธนาคารเพื่อรอรับเงินเยียวยานี้ ซึ่งก็ทำให้เกิดารแออัดของผู้คนที่ไปรวมตัวกันที่ธนาคาร ทำให้เสี่ยงต่อไวรัสมากขึ้นไปอีก ทีมงาน Notebookspec จึงขอนำเสนอวิธีการรับเงินเยียวยานี้จากรัฐบาล โดยเงื่อนไขในการที่จะได้รับเงินเยียวยาโดยสรุปนั้น มีดังนี้
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
- ต้องประกอบอาชีพ “แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรืออาชีพอิสระ” ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33)
- รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี
- ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 (อาชีพอิสระที่ส่งประกันสังคมเอง)
- ต้องไม่เป็นผู้มีสถานะนักเรียนหรือนักศึกษา ณ วันลงทะเบียน
- ต้องไม่เป็นอาชีพ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ อาชีพเกษตรกร (เกษตรกรรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว)
- ต้องไม่เป็นผู้ที่ไม่ได้ทำงานอยู่แล้ว
ในส่วนของคนที่มีประกันสังคมตามมาตรา 33 (ลูกจ้างผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน) จะได้รับในส่วนของเงินเยียวยาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้
กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน
ประกันสังคมจ่ายเงินเดือนให้ 50% (ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท) สูงสุด 6 เดือน (180 วัน)
กรณีที่รัฐสั่งหยุด
ประกันสังคมจ่ายเงินเดือนให้ 50% (ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท) สูงสุด 3 เดือน (90 วัน)
*ยกเว้นว่า หากผู้ประกันตนมีคุณสมบัติไม่ครบที่จะได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม สามารถเข้าร่วมโครงการรับเงินเยียวยา 5,000 บาทได้ ฉะนั้นจึงต้องตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองให้แน่ชัดเสียก่อน
ในกรณีที่ประกอบอาชีพอิสระ
- ถ้าประกอบอาชีพอิสระ แต่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม และเลือกรับเงินชดเชยจาก “เราไม่ทิ้งกัน” จะไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือจากโครงการในภาคเกษตรกรรมในอนาคตได้อีก
- ถ้าประกอบอาชีพอิสระ ต้องกรอกข้อมูลสถานประกอบการให้ชัดเจน ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจจริง และจะมีการตรวจสอบจากฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพอิสระของภาครัฐ
- กรณีผลิตสินค้าที่บ้านเพื่อส่งตามร้านค้า, แม่บ้านทําความสะอาดตามบ้าน, Outsource จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติอีกที (อาจล่าช้ากว่าคนที่เข้าเงื่อนไขธุรกิจที่โดนสั่งปิด)
- กรณีเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถลงทะเบียนได้ แต่ต้องเข้าเงื่อนไขกับทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด
สำหรับการลงทะเบียน **กรุณากรอกข้อมูลตามความเป็นจริง**
- ทางเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com เริ่มเปิดลงทะเบียนวันเสาร์ที่ 28 มี.ค 2563 เวลา 18.00 น.
- เตรียมข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน, ข้อมูลส่วนบุคคล, ข้อมูลการประกอบอาชีพ และ ข้อมูลนายจ้าง (กรณีมีนายจ้าง)
- หลังจากลงทะเบียนแล้ว ระบบจะใช้เวลาตรวจสอบระยะหนึ่ง หากผ่านเกณฑ์ จะมีการส่ง SMS ยืนยันว่าเราสามารถได้รับเงินเยียวยาจากโครงการนี้
- สามารถเลือกใ้โอนเข้าบัญชีธนาคารใดก็ได้ หรือ บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนก็ได้
- เงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท จะได้รับหลังจากได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้มิสิทธิ์ในโครงการ (ประมาณ 7 วันทำการ หรืออาจล่าช้ากว่านั้น)
สำหรับมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ครั้งนี้นั้น มีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ค่อนข้างรัดกุม จึงไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะสามารถลงทะเบียนเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือนนี้ก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่าตัวมาตรการนี้ได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ สำหรับใครที่เข้าเงื่อนไขและต้องการที่จะได้รับเงินเยียวยานี้ก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนกันได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
ที่มา: ไทยรัฐ, mof, เราไม่ทิ้งกัน