Micron โชว์เหนือด้วยการนำเทคโนโลยี NAND flash แบบใหม่ที่ให้ความจุได้เยอะยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่ม Stack หรือชั้นเข้าไปใน NAND ทำให้ขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้มากกว่าเดิม ในรูปแบบของ QLC NAND technology หรือ Quad-level cell ซึ่งสามารถเพิ่มความจุได้เพิ่มขึ้นจาก TLC แบบเดิมถึง 33% เลยทีเดียว ทำให้ SSD รุ่นใหม่มีความจุสูงขึ้นและราคาถูกลง
โดยที่ QLC นี้ ถูกออกแบบมาให้เก็บข้อมูลได้แบบ 4 บิตต่อเซลล์ นั่นหมายถึงความจุที่จะได้เพิ่มขึ้นในราคาที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับ SLC NAND ในรุ่นก่อนๆ พูดง่ายๆ คือ สามารถเพิ่มความจุให้สูงขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มความจุให้สูงขึ้นจาก 500GB บน SLC มาเป็น MLC NAND โดยราคาไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งปกติแล้ว SSD รุ่นล่าสุดที่ออกมาเป็นแบบ Triple-Level Cell หรือ TLC นั้น ทางผู้ผลิตจะขยาย NAND เป็นพื้นที่ไปตามแนวนอนคล้ายกับ Block สำหรับ Micron “3D” ที่เป็น QLC NAND เป็นระบบที่ทำให้จัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่ตามกายภาพตามแนวนอนของไดรฟ์ ด้วยการซ้อนขึ้นในแบบแนวตั้งได้สูงถึง 34 ชั้น ประกอบด้วยเซลล์ 4 ระดับ (Four-Level Cells) เลยทีเดียว
สำหรับบริษัท SSD รุ่นใหม่นี้ เป้าหมายอยู่ที่กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์และองค์กร แม้ว่า SSD จะไม่มี Fail-proof หรือป้องกันความผิดพลาดได้ แต่ก็ไม่มีชิ้นส่วนหรือกลไกที่ต้องเคลื่อนไหว ดังนั้นจึงใช้พลังงานที่น้อยลง ความร้อนก็ลดลง ไม่มีเสียงรบกวน ให้ความเชื่อมั่นได้มากกว่าฮาร์ดไดรฟ์
สิ่งเดียวที่ทำให้ฮาร์ดไดรฟ์ยังได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ใช้อยู่ก็คือ ความจุต่อราคา เพราะยังคงมีราคาถูกกว่า SSD ในความจุที่เท่ากัน ซึ่งการมาของ QLC ก็คือการเปลี่ยนแปลงจุดดังกล่าวนี้ในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเป้าหมายของ Micron อีกด้วย
สำหรับ Micron 5210 ION SSD ยังคงเชื่อมต่อมาตรฐาน SATA เช่นเดียวกับฮาร์ดไดรฟ์ แม้ว่าเวลานี้จะยังไม่มีผลทดสอบการอ่าน/เขียนข้อมูลออกมาอย่างชัดเจนสำหรับไดรฟ์รุ่นใหม่ที่ใช้ QLC แต่สิ่งที่เราพอสังเกตได้ก็คือ SSD ในแบบ SATA จะเร็วกว่าฮาร์ดไดรฟ์ แต่ช้ากว่าแบบ M.2 ที่ใช้ PCIe โดยที่ Micron มีเป้าหมายที่จะนำมาใช้แทนไดรฟ์ในระบบ ที่ไม่มีสล็อต M.2 ซึ่งคุณอาจจะใช้ไดรฟ์ที่มีความหนาประมาณ 7mm นี้ แทนไดรฟ์ 3.5″ ของเดิมในเครื่องได้สบายๆ
ล่าสุด Micron ได้เปิดตัว 5200 series ที่เป็น SSD รุ่นใหม่ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มองค์กร โดยแบ่งออกเป็น 4 โมเดลหลักๆ ได้แก่ Eco, Max, Pro, และ Ion drives ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ One drive write per day หรือสามารถเขียนข้อมูลได้เต็มความจุต่อเนื่องทุกวันแบบไม่มีข้อผิดพลาดตลอดระยะเวลารับประกัน และในรุ่น Pro ที่มีความทนทานในแบบเขียนได้ 2 ไดรฟ์ต่อวัน
ส่วนรุ่น Max จะได้สูงสุดถึง 5 ไดรฟ์ต่อวันเลยทีเดียว ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า QLC NAND แบบนี้ จะย้ายจากตลาดในระดับองค์กร มาให้ผู้ใช้ทั่วไปได้สัมผัสกันเมื่อใด และราคาจะเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ ให้ความจุมาเยอะๆ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเกมเมอร์หรือผู้ใช้ในกลุ่มมืออาชีพ ที่ไม่ได้ซีเรียสกับราคาของไดรฟ์มากนัก
ที่มา: QLC NAND