เชื่อว่าหลายๆ คนที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบัน ก็อยากจะขยับขยายไปเป็น SSD บ้าง แต่ติดอยู่ตรงความจุไม่ได้หรืออยากเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เร็วขึ้นกว่า SATA ปกติ ที่วิ่งไปแตะๆ 450-500MB/s แต่ถ้าย้ายไปเป็น NVMe บางทีราคาก็สู้ไม่ไหว เพราะอย่างที่เห็นคือ แพงกว่า SSD SATA อยู่เยอะทีเดียวบนความจุเดียวกัน แต่ในปัจจุบัน มีตัวเลือกให้ใช้งานได้มากขึ้น เช่นเดียวกับ SSD M.2 NVMe รุ่นประหยัดจาก Kingston รุ่นนี้ ที่เรียกว่าน่าใช้เลยทีเดียว
Kingston A1000 จัดว่าเป็น SSD ในแบบ M.2 NVMe 2280 อีกรุ่นหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ที่อยากเริ่มต้นกับ SSD ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นให้มากกว่าฮาร์ดดิสก์ที่ใช้อยู่เดิม หรือกลุ่มเกมเมอร์ที่อยากลดเวลาในการโหลดไฟล์เกมขนาดใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้สำนักงานที่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานกราฟฟิก เอกสารหรือโปรแกรมด้านสามมิติ ที่ต้องอาศัยการเขียนข้อมูลที่รวดเร็ว โดยที่ใช้หน่วยความจำแบบใหม่ 3D NAND ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Kingston นำมาใช้กับ SSD ในซีรีส์ดังกล่าวนี้ และมีตัวควบคุม Phison 5008-E8 คุณภาพสูงมาทำงานร่วม ในรูปแบบการเชื่อมต่อ PCIe NVMe Gen 3.0 x2 ที่ให้ความเร็วในระดับที่ดี โดยมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 240GB, 480GB ไปจนถึง 960GB เลยทีเดียว
Specification
- M.2 2280 Form Factor: ช่องต่อเอนกประสงค์ SFF ใช้แทนสล็อต mSATA และ mini-PCIe ขนาดเล็กได้
- Form Factor: M.2 2280
- การเชื่อมต่อ: PCIe NVMe Gen 3.0 x2 Lanes
- ความจุ2: 240GB, 480GB, 960GB
- ตัวควบคุม: Phison 5008-E8
- NAND: 3D TLC
- อ่าน/เขียน ต่อเนื่อง
- 240GB: ได้สูงถึง 1,500/800MB/s
- 480GB: ได้สูงถึง 1,500/900MB/s
- 960GB: ได้สูงถึง 1,500/1,000MB/s
- อ่าน/เขียน 4K แบบสุ่ม
- 240GB: up to 100,000/80,000IOPs
- 480GB: up to 100,000/90,000IOPs
- 960GB: up to 120,000/100,000IOPs
- การใช้พลังงาน: 0.011748W ว่าง / 0.075623W เฉลี่ย / 0.458W (สูงสุด) อ่าน / 0.908W (สูงสุด) เขียน
- ขนาด: 80มม x 22มม x 3.5มม
- อายุการใช้งาน: 1 ล้านชั่วโมง MTBF
- ปริมาณการเขียนโดยรวม (TBW):
- 240GB: 150TB
- 480GB: 300TB
- 960GB: 600TB
ฟังก์ชั่นและประสิทธิภาพในการทำงาน
ในส่วนของแพ็คเกจที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ เป็นกล่องพลาสติกธรรมดา มีข้อมูลของรุ่นระบุเอาไว้ด้านหลัง โดยรุ่นนี้มาพร้อมความจุ 480GB
ส่วนหน้าตาของ Kingston A1000 มาในรูปแบบของ M.2 NVMe 2280 พร้อมโลโก้และแจ้งความจุมาให้อย่างชัดเจน
ในส่วนของอินเทอร์เฟสเป็นแบบ B-Key ใช้การเชื่อมต่อในแบบ PCIe NVMe Gen 3.0 x2 Lanes
ด้านหลังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากลายวงจรเล็กน้อย โดยโครงสร้างหลักจะอยู่ด้านหน้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 3D NAND, และคอนโทรลเลอร์ Phison 5008-E8
ด้านบนเป็นส่วนที่ใช้ยึดน็อตเข้ากับเมนบอร์ด ด้านล่างเป็นอินเทอร์เฟสในการเชื่อมต่อเข้ากับสล็อต M.2 NVMe
ตัวอย่างเมนบอร์กที่นำมาใช้ในการติดตั้ง Kingston A1000 นี้ ซึ่งระบุการสนับสนุนมาบนเมนบอร์ดอย่างชัดเจน ในรุ่นนี้ติดตั้งได้ทั้ง M-key และ E-key
การติดตั้งค่อนข้างง่ายทีเดียว เพียงเสียบลงไปบนสล็อตและยึดน็อตเข้ากับตัวล็อคเท่านั้น เพียงแต่อาจจะต้องสังเกตให้ดีว่า เมนบอร์ดที่รองรับ M.2 2280 ด้วยหรือไม่
ใช้พื้นที่ในการติดตั้งไม่มาก โดยในรุ่นนี้จัดวางสล็อตอยู่ที่ตรงกลางของเมนบอร์ด
เมื่อติดตั้งลงบนเมนบอร์ดแล้ว ปกติจะยังไม่ทำงานหรือแสดงให้เห็นในทันที เพราะต้องไปสร้าง New Disk ในฟังก์ชั่น Disk Management ก่อน และฟอร์แมต เพื่อให้สามารถใช้งานได้
หลังจากที่ฟอร์แมต Kingston A1000 แล้ว ความจุที่ใช้งานได้อยู่ที่ประมาณ 447GB
การทดสอบแรก ด้วยโปรแกรม Anvil’s Storage ให้ความเร็วในการอ่าน/เขียนสูงสุด อยู่ที่ราวๆ 730MB/s และ 480MB/s ตามลำดับ
ส่วนการทดสอบด้วย AS SSD ซึ่งเป็นโปรแกรมยอดนิยม ให้ผลค่อนข้างสอดคล้องกัน อยู่ที่ประมาณ 750MB/s และ 680MB/s สำหรับอ่าน/เขียนข้อมูล
ในการทดสอบ Copy Benchmark ให้ความเร็วในการก็อปปี้ไฟล์ที่เป็น ISO, Program และ Game ด้วยตัวเลขที่ดีทีเดียว
ส่วนในการทดสอบด้วย CrystalDiskMark คะแนนเรียกว่าค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าโปรแกรมอื่นๆ ด้วยตัวเลขที่ทำลุ 800MB/s สำหรับการอ่านข้อมูล
ในด้านการทดสอบก็อปปี้ไฟล์ด้วยไฟล์วีดีโอขนาด 47.4GB จาก SSD พื้นฐานที่ใช้บูตระบบ มายัง Kingston A1000 ใช้เวลาประมาณ 1.18 นาทีเท่านั้น
Conclusion
Kingston A1000 นับเป็น SSD รุ่นใหม่ ซึ่งน่าจะกลายมาเป็นตัวแทนของ SSD ให้กับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการความคุ้มค่าหรืออยากเริ่มต้นกับ SSD สักรุ่น แต่อยากจะขยับความเร็วจาก SATA ปกติที่ใช้กันทั่วไป มาเป็น M.2 NVMe ซึ่งจากการทดสอบก็เห็นได้ชัดว่า ทำความเร็วได้เหนือกว่า อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากความเร็วที่มีบนเมนบอร์ดหรือโน๊ตบุ๊คได้อย่างเต็มที่อีกด้วย โดยเฉพาะคนที่มี SSD SATA อยู่แล้ว แต่อยากจะเสริม Storage เข้าไปเพิ่มแบบไม่ต้องเปลี่ยนอันเก่าออก ยิ่งเป็นผู้ใช้โน๊ตบุ๊คแล้ว ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เพราะมีให้เลือกทั้ง SATA และ M.2 อีกทั้งสนนราคาก็ดูไม่สูงเกินไป
อย่างไรก็ดีจะสังเกตเห็นได้ว่า สเปกที่ระบุเอาไว้ Kingston A1000 นี้ ใช้ประโยชน์จาก PCIe 3.0 ในแบบ x2 เท่านั้น ความเร็วจึงไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับในรุ่นที่เป็น Gen 3 x4 ที่ส่วนใหญ่จะแตะระดับ 1000MB/s ขึ้นไป สำหรับการอ่านและเขียนข้อมูล แม้ว่า Kingston จะเลือกใช้ 3D NAND บน SSD รุ่นนี้ก็ตาม ซึ่งดูแล้ว หากจะต้องการจะเปลี่ยนไปใช้คอนโทรลเลอร์และอินเทอร์เฟสใหม่ ในรุ่น KC1000 ที่มีสเปกดีกว่า แต่ราคาก็จะขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้าคุณมีงบประมาณจำกัดหรือไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพที่เกินความจำเป็น Kingston A1000 ตอบโจทย์คุณได้อย่างคุ้มค่าแบบไม่ต้องสงสัย
จุดเด่น
- มีความจุให้เลือก 3 ขนาด 240GB, 480GB และ 960GB
- ให้ความเร็วในการอ่านข้อมูลทสูงกว่า 600MB/s
ข้อสังเกต
- เชื่อมต่อในแบบ PCIe NVMe Gen 3.0 x2
ติดต่อ: Kingston
ราคา: ราวๆ 189USD หรือประมาณ 6,000 บาท