ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ต้องบอกว่ากระแสของแรม RGB เริ่มมาให้เห็นกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะคนที่รอการมาของแรมเหล่านี้ มาเข้าชุดกับเมนบอร์ดที่มาพร้อม RGB เต็มรูปแบบ เพื่อให้ดูลงตัวมากยิ่งขึ้น เวลานี้ก็มีหลายค่ายมาให้เลือกใช้ ร่วมกับซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับจัดการปรับแสงสีให้ดูสวยงามนั่นเอง รวมถึงการปรับให้สีสันสอดคล้องกับเมนบอร์ดอีกด้วย
Corsair Vengeance RGB ก็เป็นแรม DDR4 อีกรุ่นหนึ่งที่เข้ามาทำตลาดแรม RGB ในบ้านเราเป็นกลุ่มแรกๆ โดยใช้ไลน์ของแรมระดับเพาเวอร์ยูสเซอร์ ที่เป็นแรมตัวแรงมาใส่สีสันเข้าไป โดยเป็นแรม DDR4 ความเร็ว 3000MHz มีค่า CL 15-17-17-35 รุ่นที่ได้รับมาทดสอบนี้ เป็นแรมความจุ 16GB (8GB x 2) รองรับ XMP2.0 ในการเพิ่มความเร็วแรมให้สูงขึ้นตามที่กำหนดไว้ โดยที่มีซิงก์หรือ Heat spreader ขนาดใหญ่สีดำ และมีครีบระบายด้านบน ซึ่งเป็นช่องให้แสงสว่าง RGB เรืองออกมา รองรับการทำงานร่วมกับเมนบอร์ดรุ่นใหม่ๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Intel 100 หรือ 200 series ก็ตาม รวมถึง AMD Ryzen ที่ออกมาใหม่นี้ด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนแสงสีและจังหวะของไฟได้ตามใจชอบผ่านยูทิลิตี้ที่เรียกว่า Corsair LINK อีกด้วย
Specification:
- Heat Spreader: Anodized Aluminum
- Memory Configuration: Dual / Quad Channel
- Memory Series: Vengeance RGB
- Memory Type: DDR4
- Package Memory Pin: 288
- Performance Profile: XMP 2.0
- LED Lighting: RGB
- Memory Size: 16GB Kit (2 x 8GB)
- SPD Latency: 15-15-15-36
- SPD Speed: 2133MHz
- SPD Voltage: 1.2V
- Speed Rating: PC4-24000 (3000MHz)
- Tested Latency: 15-17-17-35
- Tested Speed: 3000MHz
- Tested Voltage: 1.35V
ฟังก์ชั่นและการออกแบบ
ดีไซน์กล่องสำหรับ Corsair ยังคงเป็นสไตล์ Vengeance เดิม แต่เติมสีสันเข้าไปให้ดูโดดเด่นสมเป็น RGB พร้อมบอกข้อมูลรุ่นความเร็วไว้อย่างชัดเจน
สำหรับตัวแรมมาในโทนสีดำที่ดูเรียบง่าย เพียงแต่สกรีน RGB ติดมาด้วย ตัวซิงก์มีขนาดใหญ่ ความจุ 8GB จำนวน 2 แผง โดยซีรีส์นี้มีด้วยกัน 2 ความจุคือ 16GB และ 32GB ซึ่งมาเป็นแบบ 8GB x 4
ตัวซิงก์เป็นอลูมิเนียมชุบอโนไดซ์ นอกจากดูสวยขึ้น ยังช่วยลดความร้อนให้กับเม็ดแรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทาง Corsair ใช้งานในแรมหลายๆ รุ่น ความสูงจะเพิ่มขึ้นมาจากแรมทั่วไปเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้การระบายความร้อนดีขึ้น
รูปแบบของไฟ RGB ที่ปรากฏบนแรม จะมีเพียงตรงครีบระบายด้านบนและโลโก้ Corsair ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามการตั้งค่าบนยูทิลิตี้ของ Corsair เอง แต่ถ้าไม่ได้ปรับอะไร ก็จะมีแสงเรืองออกมาตามปกติ
ขนาดเมื่อเทียบกับความสูงของฮีตซิงก์ของทาง AMD จะเห็นได้ว่ามีความสูงพอประมาณ และความสูงไม่ได้เกะกะพื้นที่มากมายนัก
Corsair Link utility
สิ่งที่น่าสนใจและช่วยให้การใช้งานแรม Corsair Vengeance DDR4 RGB รุ่นนี้ได้อย่างสนุก อยู่ที่ยูทิลิตี้ที่เรียกว่า Corsair LINK โดยเครื่องมือนี้ จะช่วยในการมอนิเตอร์ระบบภายในของอุปกรณ์ทุกอย่างที่เป็น Corsair ไม่ว่าจะเป็น เคส แรมหรืออื่นๆ ทั้งในด้านอุณหภูมิ ความเร็วและการปรับแต่งแสงสีบนแรมนี้ด้วย
ในหน้าของ Configure จะเป็นการตั้งค่าความเร็วรอบพัดลม เช็คอุณหภูมิในจุดต่างๆ ได้อย่างละเอียด เช่น การตั้งรอบพัดลมบางจุดให้เร็วขึ้น เมื่อมีการตรวจพบความร้อนในจุดนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้พัดลมทั้งระบบทำงานในรอบเดียวกัน หรือในส่วนของ Settings จะเป็นส่วนของการกำหนดใช้ยูทิลิตี้นี้ในภาพรวม ทั้งเรื่องของการแสดงผลหรือการแจ้งเตือนเป็นต้น
สำหรับการตั้งค่าไฟ LED ก็ค่อนข้างง่ายทีเดียว ด้วยยูทิลิตี้ที่ไม่ได้ซับซ้อน และยังเลือกเก็บค่าที่ตั้งไว้บนโพรไฟล์ได้ เพียงแค่กำหนดโหมดและสี รวมถึงความเร็ว
ในการปรับแต่งแสงไฟ จะมีโหมดให้เลือกตั้งแต่ Static, Color Pulse, Color Shift และ Rainbow เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวในเบื้องต้น
นอกจากนี้ยังกำหนดจำนวนของสีที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามจังหวะที่ตั้งไว้ได้อีกด้วย อยากได้สีเดียวแสดงเป็นจังหวะต่างๆ หรือจะเป็นหลายสีสลับไปมา ก็ได้เช่นกัน
Benchmark Corsair DDR4 3000MHz
เริ่มปรับใช้งานที่ความเร็ว 3000MHz ที่เป็นความเร็วของแรม ใช้การปรับ XMP แล้วบูตเข้าระบบทันที โดยที่ CPUz ก็สามารถรายงานได้อย่างถูกต้อง
การทดสอบด้วย AIDA94 กับ Memory Bandwidth และ Memory Latency ด้วยแรมความเร็ว 3,000MHz
Benchmark Corsair DDR4 3200MHz (OC)
การทดสอบด้วย AIDA94 กับ Memory Bandwidth และ Memory Latency ด้วยแรมความเร็ว 3,200MHz ให้ตัวเลขสำหรับการ Memory Read และ Write ที่เพิ่มมากขึ้น
Conclusion
สำหรับไฮไลต์ของแรม Corsair Vengeance DDR4 RGB น่าจะอยู่ที่ลูกเล่น RGB ที่เสริมความสวยงาม เพิ่มเติมขึ้นจากความเร็ว 3000MHz โดยในแง่ของการทดสอบ ค่อนข้างดูโดดเด่นไปจากแรม DDR4 2400 ที่เคยได้ทดสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้การเลือกใช้แรมระดับ 3000MHz มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะถ้าจะอัพเกรดหรือเปลี่ยนจากแรมธรรมดามาตรฐาน 2133-2400MHz ไปเป็น DDR4 3000MHz หรือมากกว่านั้น ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แม้ว่าราคาแรมช่วงนี้จะค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบความต่างของราคาแรมความเร็วพื้นฐานแล้ว คุ้มค่ามากทีเดียว ที่สำคัญรุ่นที่เป็น RGB นี้ ก็ขยับราคาขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนในแง่ของประสิทธิภาพในการโอเวอร์คล็อก ก็ทำได้ดีพอสมควร จากการโอเวอร์คล็อกแบบเดิมๆ ด้วยการปรับบัสไปที่ 3200MHz และปรับค่า CL ไปเล็กน้อย โดยไม่ต้องไปแตะแรมดันไฟให้วุ่นวาย นั่นแสดงให้เห็นถึงช่องว่างในการโอเวอร์คล็อกที่ยังพอจะขยับไปได้อีกพอสมควร เช่นเดียวกับผลที่ได้จากการทดสอบ ที่แสดงให้เห็นตัวเลขที่ขยับขึ้นไม่น้อยทีเดียว อย่างไรก็ดีความน่าสนใจก็คือ ยูทิลิตี้อย่าง Corsair LINK ที่ช่วยให้การปรับแต่งไฟหรือเช็คสถานะการทำงานของระบบทำได้ง่ายขึ้น เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการใช้งานแรมที่ปรับแต่งไฟได้เช่นนี้
จุดเด่น
- ปรับแสงไฟ RGB ได้ ผ่านยูทิลิตี้ Corsair LINK
- ให้ความเร็วถึง 3000MHz
- รองรับการโอเวอร์คล็อก
ข้อสังเกต
- ลูกเล่นการปรับแต่งไฟ RGB ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่บ้าง
Contact: ascenti