เมื่อไม่นานมานี้ทาง Google ได้ยื่นขอสิทธิ์ในสิทธิบัตรใบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ที่การใช้งานนั้นออกจะน่ากลัวสักนิดเพราะมันจะต้องใส่เข้าใปในลูกตาของผู้ใช้โดยตรงแต่เมื่อใส่อุปกรณ์ดังกล่าวนี้เข้าไปในลูกตาแล้วประสิทธิภาพทางด้านวิสัยทัศน์ของผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ สิทธิบัตรดังกล่าวนี้อธิบายเอาไว้ครับว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนี้จะถูกใส่เข้าไปทางลูกตาของผู้ใช้ผ่านทางการฉีดเข้าไปยังส่วนที่เป็นของเหลวของลูกตาจากนั้นแล้วแคปซูลเลนส์ตาจะเกิดการแข็งตัวในจุดที่ตรงกับเลนส์ตาเพื่อผสานการใช้งานกับเลนส์ตาของผู้ใช้ครับ
อ่านดูแล้วดูเหมือนจะน่ากลัวว่าจะมีอะไรเข้าไปอยู่ในลูกตาเรารึเปล่า แต่ทั้งนี้มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นเลยครับ ตัวสิทธิบัตรได้อธิบายในเรื่องนี้ต่อไปครับว่าเจ้าอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ เมื่อผสานกับเลนส์ตา(ณ แคปซูลเลนส์ตา) แล้วมันจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนว่าตัวของมันเองนั้นเป็นเยื่อหุ่มเซลล์ที่โปร่งแสงล้อมรอบดวงเลนส์ตาเอาไว้ ซึ่งกระบวนการฉีดดังกล่าวนี้นั้นจะทำให้อุปกรณ์ที่ฉีดเข้าไปนั้นจะทำการแทนที่เลนส์ตาธรรมชาติของเราจากตัวแคปซูลเลนส์ตาที่ฉีดเข้าไปครับ(คล้ายๆ กับว่าเป็นการย้ายเอาเลนส์ตาธรรมชาติออกมาจากแคปซูลเลนส์ตาด้วยการแทนที่เลนส์ตาจากอุปกรณ์ครับ)
ในสิทธิบัตรนี้นั้นได้อธิบายถึงอุปกรณ์ที่จะเอาไว้ใช้ในการทำการฉีดเข้าไปในดวงตาของเราเอาไว้ด้วยซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์เล็กๆ หลายตัวด้วยกันไม่ว่าจะเป็นแหล่งเก็บข้อมูล, เซ็นเซอร์, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดจิ๋ว, แบตเตอรี่และเลนส์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากส่วนนี้ของสิทธิบัตรนี่แหละครับที่ทำให้เจ้าสิทธิบัตรดังกล่าวนี้น่าสนใจและดูเหมือนกับว่าถ้าสามารถจะทำได้จริงๆ แล้วหล่ะก็นี่จะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของการดัดแปลงอวัยวะธรรมชาติด้วยอวัยวะเทียมที่มาพร้อมกับความสามารถอัจฉริยะในตัว
หรือ Google Glass จะเข้าไปอยู่ในดวงตาของพวกเราได้จริงๆ ในอนาคต
หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าหากเรานำเอาอุปกรณ์เล็กๆ ต่างๆ ดังกล่าวที่บอกไปในย่อหน้าที่แล้วใส่เข้าไปในลูกตา(หรือร่างกายของเรา) จริงๆ แล้วมันจะใช้แหล่งพลังงานจากที่ไหนเนื่องจากว่าถึงแม้ตามสิทธิบัตรจะบอกว่ามีการใส่แบตเตอรี่ขนาดเล็กเข้าไปด้วยก็ตามแต่แบตเตอรี่นั้นก็ต้องมีวันหมด ตรงจุดนี้ Google ถือว่ารอบคอบมากครับเนื่องจากในสิทธิบัตรได้อธิบายเอาไว้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวนั้นจะใช้แหล่งพลังงานจากการเก็บเกี่ยวพลังงานแบบไร้สาย(คล้ายๆ กับการชาร์โทรศัพท์แบบไร้สาย) จาก “เสาอากาศการเก็บเกี่ยวพลังงาน” ที่ถูกใส่เข้าไปด้วยครับ
Google ยังจัดหนักเข้าไปกว่านั้นด้วยการระบุในสิทธิบัตรดังกล่าวนี้ว่าอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในลูกตาดังกล่าวนี้จะสามารถติดต่อสื่อสารกับ “interface device” ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผลที่สามารถทำการประมวลผลเพื่อทำการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างกันและทำการประมวลผลในด้านต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการแสดงผลบนลูกตาของผู้ใช้ซึ่งหากอ้างอิงตามที่ Google ได้ระบุไว้ในสิทธิบัตรใบดังกล่าวนี้พบว่าเลนส์อิเล็กทรอนิกส์จะทำหน้าที่ในการประมวลผลเกี่ยวกับการโฟกัสแสงที่เข้ามาสู่เรตินาของลูกตาผู้ใช้เพื่อปรับให้ผู้ใช้สามารถที่จะมองเห็นได้อย่างปกติไม่ว่าจะใกล้หรือไกลครับ
สิทธิบัตรดังกล่าวนี้อ่านแล้วเหมือนหลุดมาจากหนัง Sci-Fi หล่ะครับ ที่สำคัญก็คือเราคงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอุปกรณ์ดังกล่าวและวิธีการตามสิทธิบัตรดังกล่าวจะเป็นจริงในเร็วๆ นี้หรือไม่ ที่สำคัญที่สุดก็คือหากทาง Google สามารถที่จะสร้างอุปกรณ์และกรรมวิธีตามสิทธิบัตรดังกล่าวได้ขึ้นมาแล้วจริงๆ จะมีใครผู้ใดที่จะเป็นมนุษย์รายแรกของโลกที่ได้รับการตัดต่อดวงตาให้กลายเป็นอุปกรณ์กึ่งอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ครับ
ที่มา : forbes