เรื่องความร้อนมักเป็นเรื่องที่มาคู่กับการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คอยู่เสมอๆ เพราะด้วยความที่ว่าความร้อนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของเครื่อง เพราะถ้าหากอุณหภูมิสูงจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียให้กับตัวเครื่องโน๊ตบุ๊คในระยะยาว รวมไปถึงบางกรณีอาจจะทำให้โน๊ตบุ๊คของเรานั้นมีปัญหาก่อนวัยอันควร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานช้าลง หรือติดเกิดอาการค้าง กระตุก ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะดับเองไปเลยก็มี?แน่นอนว่าในส่วนของเครื่องโน๊ตบุ๊คอย่าง MacBook ของทาง Apple ก็มีปัญหาเช่นกัน หากว่าเราดูแลรักษาหรือใช้งานไม่ถูกต้องกับเรื่องของความร้อนและการระบายอากาศ
ช่องระบายกาศร้อน Mac และ MacBook
โดยเครื่อง?Mac และ MacBook รุ่นต่างๆ จะมีช่องระบายอากาศ (ร้อน) ดังต่อไปนี้
- MacBook Air อยู่ตรงบานพับของเครื่อง
- MacBook Pro?อยู่ตรงบานพับของเครื่อง
- MacBook Pro Retina?อยู่ตรงบานพับของเครื่อง พร้อมมีช่องดูดลมเย็นเข้าทางด้านข้าง
- Mac mini พัดลมอยู่ด้านหลังของเครื่อง (ใต้พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ)
- iMac (รุ่นอะลูมิเนียม ปี 2011 ลงไป) พัดลมอยู่ด้านหลังส่วนบนๆ
- iMac (ปี 2012 หรือใหม่กว่า) พัดลมอยู่ด้านหลังใต้บานพับของเครื่อง
- Mac Pro พัดลมอยู่ด้านบนของเครื่อง
ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ในการใช้งานเครื่อง Mac และ MacBook ก็ควรระมัดระวังไม่ให้สิ่งใดไปขว้างกันช่องทางระบายอากาศร้อนของตัวเครื่องเป็นอันขาด (อาทิเช่นวางบนที่นอนหรือโซฟา) รวมไปถึงไม่ควรนำ Mac, MacBook ไปใช้ในที่ที่มีอากาศร้อนจนเกินไป เพราะยิ่งทำให้เครื่องและพัดลมต้องทำงานหนักเปิดจำเป็น ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ควรนำไปใช้งานในห้องที่มีอากาศถ่ายเทหรือไม่ก็ในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศไปเลยจะดีกว่า
แนะนำว่าอย่าใส่เคส อย่าติดฟิล์ม MacBook
นอกจากนี้กับอีกหนึ่งเรื่องที่ร้ายแรงเรื่องหนึ่ง เพราะคนส่วนมากที่ใช้งาน MacBook ที่ไม่ว่าจะ MacBook Air หรือ MacBook Pro นั้นทำกัน นั่นก็คือการซื้อฮาร์ดเคสมาใส่ โดยถ้าใครนึกอุปกรณ์เสริมอย่างฮาร์ดเคสบน Mac ไม่ออก ก็ต้องบอกว่าอารมณ์เหมือนกับเคสมือถือที่เราใส่กันทั่วไปเลยซึ่งเป็นตัวช่วยในเรื่องของความสวยงามหรือกันรอย ที่โดยส่วนมากนั้นฮาร์ดเคสของ MacBook จะมีอยู่สองชิ้นด้วยกันก็คือ ชิ้นบนไว้ครอบฝาจอ และอีกชิ้นไว้ครอบฝาเครื่อง หรืออีกหนึ่งประเภทกันรอยก็คือ ฟิล์มกันรอย ซึ่งจะเป็นลักษณะฟิล์มใส โดยการใช้งานก็จะเป็นการติดรอบตัวเครื่อง Mac?ทั้งหมด เพื่อป้องกันรอยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเครื่องแบบไม่คาดคิดได้
รู้หรือไม่ว่าการที่เราจับเอา MacBook ไปใส่ฮาร์ดเคสหรือติดฟิล์มกันรอยรอบตัวเครื่องนั้น เป็นการทำร้ายเครื่องสุดที่รักของเราทางอ้อม เพราะ MacBook นั่นอาศัยการระบายความร้อนด้วยตัวเครื่องที่วัสดุทำจากโลหะที่มีคุณสมบัตินำความร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเราเอาฮาร์ดเคสหรือติดฟิล์มกันรอยมาติดนั้น ทำให้การนำความร้อนออกจากตัวเครื่องทำไม่ได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ตัวเครื่องภายในสะสมความร้อนมากยิ่งขึ้น พัดลมทำงานหนักขึ้น แน่นอนว่าจะให้อายุ MacBook ของเราสั้นลงกว่าที่ควรแน่นอน
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดๆ จากประสบการณ์ตรงเลยว่า ประสิทธิภาพจะตกลงไปแบบรู้สึกได้ ด้วยการใช้งาน MacBook Pro Retina 15 ในการเล่นเกม DOTA 2 โดยก่อนใส่เฟรมเรทจะอยู่ที่ประมาณ 50 -60 fps แต่พอใส่ฮาร์ดเคสเข้าไปแล้วพบว่าเฟรมเรทนั้นตกลงมาเหลือที่ประมาณ 30 fps เท่านั้น หรือบางช่วงเวลาก็รู้สึกกระตุกเลย หรือแม้แต่การใช้งานทั่วไปก็สังเกตได้จากพัดลมเครื่องว่าหมุนรอบจัดกว่าการไม่ใส่ฮาร์ดเคสพอสมควรทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าด้วยความที่ MacBook Pro Retina 15 หรือ MacBook Pro 15 ที่ติดตั้งชิปประมวลผล Core i7 และการ์ดจอแยก แน่นอนว่าทำให้เครื่องนั้น ปกติแล้วก็ร้อนกว่า MacBook Air หรือ MacBook Pro 13 อยู่แล้ว ทำให้เห้นผลได้ชัดกว่าเมื่อใส่ฮาร์ดเคส แต่ก็เชื่อได้ว่าหากเราไปใส่ฮาร์ดเคสกับ MacBook Air หรือ MacBook Pro 13 แล้ว เครื่องต้องทำงานหนักและประสิทธิภาพตกลงอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ไม่ใส่ฮาร์ดเคสจะดีที่สุด แต่ถ้าใครกังวลก็ใส่ได้ แต่ก็ต้องรับในเรื่องข้อเสียที่จะเกิดขึ้นให้ได้เหมือนกัน
ติดซิลิโคนคีย์บอร์ดเพื่อกันฝุ่นในเครื่อง MacBook ก็ด้วย
แม้ว่าซิลิโคนคีย์บอร์ดของ Mac และ MacBook ที่ผลิตโดยผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมชั้นนำจะออกแบบมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของความเข้ากันของแต่ละปุ่มแต่ละช่องบน Mac?รวมไปความสวยงามและวัสดุที่นำมาใช้ผลิตก็เป็นวัสดุชั้นดี ซึ่งข้อดีของการใช้งานซิลิโคนคีย์บอร์ดก็คือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้ตกลงไปในช่องว่างของคีย์บอร์ดรวมไปถึงไม่ให้ปุ่มอักษรบน Mac?ลอกอีกทั้งยังเสริมความสวยงาม ที่ในความเป็นจริงก็ต้องบอกว่าเรื่องฝุ่นช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังไงเรื่องของฝุ่นก็คงหนีไม่พ้นอย่างแน่นอน ข้อแนะนำก็คือให้หลีกเลี่ยงใช้ Mac บริเวณที่ฝุ่นเยอะ หรือยังไงก็ซื้อลูกยางเป่าลม มาค่อยเป่าไว้ก็จะดีกว่า
สำหรับข้อเสียในส่วนของคนที่ใช้ซิลิโคนคีย์บอร์ดของ MacBook ก็คือ ทำให้ระบายความร้อนได้แย่ลง แม้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าช่องระบายความร้อนบนเครื่อง Mac?ที่ติดตั้งมาให้ในโน๊ตบุ๊คก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่อันที่จริงต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของอากาศร้อนนั้นจะลอยขึ้นที่สูงแล้วการนำแผ่นซิลิโคนมาปิดไว้เหนือแป้นคีย์บอร์ดจะทำให้ความร้อนติดอยู่ที่แผ่นซิลิโคนและย้อนกลับเข้าไปในเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องเกิดความร้อนสูงขึ้นและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น?ที่สำคัญ MacBook Air และ MacBook Pro นั้น ทาง Apple ได้มีการออกแบบให้เป็นช่องทางของลมเย็นเข้าไป เพื่อไปเป่าออกตรงช่องระบายความร้อนล่างจออีกทีหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้แล้วซิลิโคนคีย์บอร์ดก็เป็นตัวสกปรกและดักฝุ่นเสียเองอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการที่ขัดขวางการระบายความร้อนด้วยการติดซิลิโคนคีย์บอร์ด อาจจะไม่เห็นผลชัดเจนเท่ากับการใส่ฮาร์ดเคส แต่ถ้าเป็นไปได้หลังจากได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็ลองพิจารณากันดูเองนะครับ ว่าเราจะทำร้าย Mac สุดที่รักของเราด้วยตัวเราเองหรือเปล่า (เว้นแต่กรณีใช้งานเป็นคีย์บอร์ด Mac แบบต่อแยก จะติดซิลิโคนก็ติดไปเถอะ ไม่มีผลอะไรอยู่แล้ว)
แนะนำปิดท้าย เรื่องของความสะอาดภายใน
หมั่นแก้เครื่องมาทำความสะอาดภายในตัวเครื่องบ้างด้วยการปัดฝุ่น เป่าลม ซึ่งหากสังเกตดูดีๆ แล้ว โอกาสที่ฝุ่นผงเล็กน้อย คงไม่อาจทำอะไรอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่มีส่วนไหนที่จะเกิดความเสียหายได้ ยกเว้นในส่วนที่เป็นกลไก อย่างเช่น พัดลมระบายอากาศ หากมีฝุ่นมากจริงๆ ก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อส่วนที่เป็นแกนหมุนได้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้ต้องมีมากจริงๆ และถูกสะสมเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเป็นแผงหรือเป็นก้อนฝุ่นที่มีความหนาและแข็งจนพัดลมไม่สามารถหมุนได้หรืออีกส่วนหนึ่งคือ เกาะกับฮีตซิงก์จนผิวสัมผัสไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ถ้าแค่ฝุ่นเล็กๆ น้อยเรียกได้ว่าแทบไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
เรื่องการระบายอากาศร้อนของเครื่อง Mac และ MacBook เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญในการที่จะดูแลไม่ให้ฝุ่นผงมาสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ภายในเครื่อง ซึ่งผู้ใช้เองก็ต้องหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาหาทางแก้ในภายหลัง แม้อาจจะไม่ได้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้อย่างรวดเร็ว การใส่ใจก็จะช่วยลดโอกาสความเสียหายที่อาจจะเกินการเยียวยา เมื่อมาพบในภายหลัง
อย่างไรก็ตามถ้าดูแลรักษาและใช้งานตามที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด แล้วยังไม่หายอาการเครื่องร้อน เครื่องดับ ล่ะก็ คงจำเป็นต้องส่งศูนย์ (หรือร้านที่ชำนาญเรื่อง Mac) เพื่อให้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วครับ โดยกรณีที่มีประกันก็คงจะสบายไปเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนถ้าหมดประกันแล้วก็คงต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายอีกทีก็แล้วกันครับ