หลังจาก AMD ได้เปิดตัวการ์ดจอรุ่นใหม่สำหรับพีซี นั่นคือไลน์ของ AMD Radeon R9 ที่เป็นรุ่นท็อปและ AMD Radeon R7 ที่เป็นรุ่นรองลงมาไปแล้ว (บทความเก่า) คราวนี้จะเป็นการลงรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ์ดจอในซีรี่ส์ AMD Radeon R7 ครับ ว่ามีสเปคอย่างละเอียดและความแรงเป็นอย่างไรบ้าง
ในซีรี่ส์ R7 นั้น จะแบ่งเป็นสามรุ่นหลักๆ คือ
- AMD Radeon R7 260X
- AMD Radeon R7 250
- AMD Radeon R7 240
เรามาเริ่มเจาะกันที่ R7 260X กันก่อน
การ์ดจอ AMD Radeon R7 260X เป็นการรุ่นกลางๆ ของ AMD ในเจ็นนี้ครับ เปิดราคาพื้นฐานมาที่ $139 หรือราวๆ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น (แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ด้วยว่าจะเสริมฟีเจอร์ และปรับตั้งราคาขายอย่างไร) จุดเด่นโดยคร่าวๆ ก็คือเป็นการ์ดจอที่มาพร้อมกับแรมขนาด 2 GB เป็นอย่างต่ำ และเป็นการ์ดรุ่นเดียวในซีรี่ส์ R7 ที่รองรับฟีเจอร์ AMD TrueAudio Technology อีกด้วย
สเปคกลางของ AMD Radeon R7 260X ครับ
- Stream Processor 896 หน่วย ความเร็วสูงสุด 1.1 GHz?
- แรม 2 GB GDDR5 ความกว้างแบนด์วิธอยู่ที่ 128 บิต
- ต้องต่อสายไฟแบบ 6 พินเพิ่ม กินไฟ 115W (reference card)
- เชื่อมต่อผ่านพอร์ต PCI-Express รองรับมาตรฐาน PCI-E 3.0
- รองรับ AMD TrueAudio
- รองรับการ CrossFire
- รองรับ DirectX 11.2 / OpenGL 4.3 และสามารถใช้งาน Mantle ได้ (ทำความเข้าใจกับ Mantle ได้จากบทความนี้)
มาดูผลทดสอบที่ทาง AMD นำเสนอหน่อยครับ พบว่า AMD Radeon R7 260X มีประสิทธิภาพจากการทดสอบด้วย 3DMark เพิ่มขึ้นจาก ATI Radeon HD 5870 ประมาณ 400 กว่าคะแนน ถ้าดูจากกราฟอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าดูเรื่องของราคา พบว่า R7 260X ราคาถูกกว่า Radeon HD 5870 ตอนเปิดตัวถึง $240 หรือประมาณ 7,500 บาทเลยทีเดียว เรียกได้ว่าผู้ใช้จะได้รับประสิทธิภาพการทำงานของการ์ดจอที่ดีขึ้น ในราคาที่ต้องจ่ายน้อยลงจากเมื่อก่อนพอสมควรเลย
คราวนี้เป็นการเทียบกับคู่แข่งอย่าง NVIDIA GTX 650 Ti บ้างครับ เห็นว่า R7 260X สามารถทำคะแนนผลการทดสอบได้ดีกว่าในทุกๆ เกมเลย
รุ่นต่อมาก็คือ AMD Radeon R7 250 ที่เปิดราคามากระชากใจเพียงแค่ $89 หรือประมาณเกือบๆ 3,000 บาทเท่านั้น ! จัดว่าเป็นการ์ดสุดคุ้มเลยก็ว่าได้
สเปคกลางของ AMD Radeon R7 250 ที่น่าสนใจก็ได้แก่
- มี Stream Processor ประมวลผล 384 หน่วย ความเร็วสูงสุด 1.05 GHz
- แรมจะมีให้เลือกทั้งแบบ 1 GB GDDR5 กับ 2 GB DDR3 โดยทั้งคู่จะมีความกว้างแบนด์วิธอยู่ที่ 128 บิตเป็นมาตรฐานเดียวกัน
- ไม่ต้องต่อสายจ่ายไฟเลี้ยงการ์ดเพิ่ม กินไฟ 65W (reference card)
- เชื่อมต่อผ่านพอร์ต PCI-Express รองรับมาตรฐาน PCI-E 3.0
- รองรับ DirectX 11.2 / OpenGL 4.3 / Mantle
ส่วนการเปรียบเทียบกับการ์ดจอรุ่นเก่าด้วยการทดสอบจาก 3DMark นั้น AMD Radeon R7 250 จะเทียบประสิทธิภาพได้ใกล้เคียงกับ ATI Radeon 5770 ซึ่งคะแนนออกมาแทบจะเท่ากัน แต่ราคากลางของ R7 250 ถูกกว่ากันเกือบครึ่ง
สำหรับรุ่นเล็กสุดของการ์ดจอ AMD ในซีรี่ส์ R7 ก็คือ AMD Radeon R7 240 ครับ แม้จะเป็นการ์ดรุ่นเล็ก แต่ก็ยังอัดแน่นมาด้วยสเปคที่เหลือเฟือสำหรับการเล่นหลายๆ เกมในปัจจุบัน
- Stream Processor สำหรับประมวลผล 320 หน่วย ความเร็วสูงสุด 780 MHz
- แรมมีให้เลือกทั้งแบบ 1 GB GDDR5 กับ 2 GB DDR3 แบนด์วิธ 128 บิต
- ไม่ต้องต่อสายจ่ายไฟแยก กินไฟแค่ 30W (reference card)
- เชื่อมต่อผ่านพอร์ต PCI-Express รองรับมาตรฐาน PCI-E 3.0
- แม้จะเป็นรุ่นเล็ก แต่ก็รองรับทั้ง DirectX 11.2 / OpenGL 4.3 และ Mantle เหมือนรุ่นใหญ่ทุกประการ
ต่อมา พูดถึงซีรี่ส์ AMD Radeon R9 กันต่อครับ แต่ในขณะนี้ยังสามารถเผยแพร่ได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น นั่นคือ R9 270X และ R9 280X ก่อน ส่วน R9 290 และ R9 290X คงต้องรออีกซักเล็กน้อยนะครับ
AMD Radeon R9 280X เป็นการ์ดจอตัวกลางในซีรี่ส์ R9 ของ AMD ในปีนี้ เปิดมาด้วยราคากลางที่ $299 หรือประมาณ 10,000 กว่าบาทด้วยกัน จุดเด่นที่ AMD นำเสนอก็คือการรองรับจอความละเอียด 2560 x 1440 และสามารถเล่น Battlefield 4 ได้สบายๆ ด้วยแรมการ์ดจอในตัวที่มาตรฐานคือ 3 GB เป็นอย่างต่ำ
ประสิทธิภาพเมื่อทดสอบด้วย 3DMark ออกมาทิ้งห่าง Radeon HD 6970 เกือบสองเท่าตัว แถมราคากลางยังถูกกว่าราคาเปิดตัวของ HD 6970 อีกด้วย และถ้าเทียบกับ HD 5870 ที่คะแนนผลทดสอบออกมาใกล้เคียงกับ R7 260X หลายๆ ท่านก็คงพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วใช่มั้ยครับว่า R9 280X แรงกว่า R7 260X ขนาดไหน
อย่างที่บอกเบื้องต้นว่า R9 280X เหมาะสำหรับการเล่น Battlefield 4 โดยจุดหลักก็อยู่ที่ปริมาณและความเร็วของแรมการ์ดจอนี่ล่ะครับ เพราะ R9 280X มาพร้อมกับแรม GDDR5 ถึง 3 GB พอดีกับสเปคที่ทาง EA และ DICE ผู้สร้างเกม Battlefield 4 แนะนำ
สเปคคร่าวๆ ของ AMD Radeon R9 280X
- Stream Processor สำหรับประมวลผล 2048 หน่วย ความเร็วสูงสุด 1 GHz
- แรมการ์ดจอ 3 GB GDDR5 แบนด์วิธี 384 บิต
- ต้องต่อสายไฟแบบ 6 พินหนึ่งชุดกับ 8 พินอีกหนึ่งชุด จึงจะใช้งานได้ กินไฟ 250W (reference card)
- เชื่อมต่อผ่านพอร์ต PCI-Express รองรับมาตรฐาน PCI-E 3.0?
- รองรับ DirectX 11.2 / OpenGL 4.3 / Mantle
ปิดท้ายด้วยรุ่นเล็กของซีรี่ส์ R9 กับ AMD Radeon R9 270X ที่มีจุดเด่นคือพลังในการประมวลผลให้สามารถเล่นเกมที่ความละเอียด 1080p ด้วยการปรับความละเอียดภาพในระดับสูงสุดได้สบายๆ ในราคาสบายกระเป๋า นั่นคือ $199 หรือประมาณ 7,000 กว่าบาทเท่านั้น
ผลทดสอบคะแนนจาก 3DMark เทียบกับการ์ดจอรุ่นก่อนหน้าครับ
โชว์เทียบกับการ์ดจอคู่แข่งอย่าง GeForce GTX 660 ที่ไม่มีเทคโนโลยี TressFX ที่ให้ผมสลวยเหมือนจริง แต่ AMD Radeon R9 270X ก็ยังสามารถรันเกมได้ไม่ต่ำกว่า 60 FPS ถึงแม้จะเปิดใช้งาน TressFX ที่กินพลังประมวลผลมากอยู่ก็ตาม ทำให้เห็นข้อแตกต่างได้ชัดเลยว่าการ์ดจอซีรี่ส์ R9 นี้สามารถให้ได้ทั้งเฟรมเรตที่ไหลลื่นและความสวยงามสมจริงของภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง
เทียบเฟรมเรตจากเกม Tomb Raider ที่ความละเอียด 1080p ครับ แถมฝั่ง R9 270x ยังเปิดใช้งาน TressFX อยู่ด้วย
ลองมาเทียบกับเกม Hitman Absolution ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ TressFX (เพราะ Agent 47 ไม่มีผม) กันบ้าง พบว่า R9 270X ก็ยังทำได้ดีกว่าอยู่ ภายใต้การปรับความละเอียดที่ 1080p รายละเอียดระดับ Ultra
สเปคกลางของ AMD Radeon R9 270X
- Stream Processor 1,280 หน่วย ความเร็วสูงสุด 1.05 GHz
- แรมการ์ดจอ GDDR5 มีให้เลือกทั้ง 2 GB และ 4 GB แบนด์วิธอยู่ที่ 256 บิต
- ต้องต่อสายจ่ายไฟแยกแบบ 6 พินสองชุด กินไฟ 180W (reference card)
- เชื่อมต่อผ่านพอร์ต PCI-Express รองรับมาตรฐาน PCI-E 3.0?
- รองรับ DirectX 11.2 / OpenGL 4.3 / Mantle
ซึ่งเราน่าจะได้เห็นการ์ดจอซีรี่ส์ใหม่จากหลากหลายผู้ผลิตเข้ามาวางจำหน่ายในไทยเร็วๆ นี้ครับ ตัวอย่างการ์ดจากผู้ผลิตต่างๆ ก็ตามภาพด้านล่างนี้เลย
มาดูข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี TrueAudio เพิ่มเติมกันซักเล็กน้อยครับ
อย่างที่ได้อธิบายไปในบทความแรกว่าเทคโนโลยี TrueAudio คือการประมวลผลเพื่อสร้างเอฟเฟ็คท์เสียงเพิ่มเติม คำนวณระยะห่างจำลองของแหล่งกำเนิดเสียงเพื่อให้เสมือนว่ามีแหล่งกำเนิดเสียงล้อมตัวเราอยู่เหมือนกับสภาพแวดล้อมจริง รวมไปถึงช่วยในการสร้างเสียงแบบ reverb ซึ่งแต่เดิมกระบวนการทั้งหมดนี้ CPU หลักของเครื่องจะเป็นตัวจัดการ แต่เทคโนโลยี TrueAudio จะเปลี่ยนให้การ์ดจอมารับภาระตรงนี้แทน เพื่อแบ่งเบางาน CPU หลักของเครื่องลง จะได้เอากำลังไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่าแทน
ด้านบนนี้เป็นกราฟแสดงตัวอย่างงบประมาณการค้นคว้าและพัฒนาเพื่อการสร้าง CPU แบบคร่าวๆ จะเห็นว่างบที่ลงมาให้ส่วนงานด้านเสียง (Audio) นั้นไม่สูงมาก ทำให้ศักยภาพการทำงานในส่วนนี้ไม่สูงเท่าที่ควร แถมยังต้องออกแบบระบบสลับการทำงานภายในตัว CPU ให้สามารถรองรับงานได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการประมวลผลเกมที่ต้องใช้ทรัพยากร CPU สูง ทำให้ระบบเสียงมักจะได้รับความสำคัญน้อย ทั้งๆ ที่เสียงเป็นส่วนเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดก็คือเสียงจะต้องออกมาให้ถูกเวลา ถูกตำแหน่ง จึงจะให้ผลออกมาได้ตรงตามที่ผู้สร้างเกมต้องการและผู้เล่นเกมคาดหวัง ดังนั้นการประมวลผลเสียงแบบ Real-time จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการเล่นเกม (แต่ก็มักถูกละเลย เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ)
ซึ่งเทคโนโลยี TrueAudio จะลดปัญหาด้านนี้ลง เพราะเป็นการยกภาระการประมวลผลเอฟเฟ็คท์เสียงมาให้การ์ดจอเป็นตัวจัดการแทน แต่ทั้งนี้ไม่ได้ให้ GPU เป็นตัวประมวลผลโดยตรงนะครับ แต่ใช้คอร์ชิป DSP จาก Tensilica ชื่อว่า Tensilica HiFi EP ที่รวมอยู่ใน GPU เป็นตัวประมวลผลให้ ซึ่งจะให้การทำงานและความเร็วที่ดีกว่า เพราะเป็นคอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ทั้งยังสามารถประมวลผลพร้อมกันหลายๆ เสียงแบบ pipeline ไปได้ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเกมเลยว่าจะออกแบบระบบเสียงมาอย่างไร
โดยผู้พัฒนาเกมสามารถเรียกใช้งาน TrueAudio ได้ทั้งผ่านทางปลั๊กอินตัวกลางที่ AMD มีให้ หรือจะผ่านทางปลั๊กอินจาก 3rd party เช่น GenAudio เพื่อสร้างเสียงเอฟเฟ็คท์ สร้างรูปแบบการประมวลผลเสียงต่างๆ ได้ รวมไปถึงยังสามารถเรียกเข้าถึงไลบรารี่ของ TrueAudio เองได้ด้วย ซึ่งก็จะได้ในเรื่องความอิสระในการปรับแต่ง ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับปลั๊กอินใดๆ แต่ก็แลกด้วยขั้นตอนการใช้งานที่ยากกว่าปลั๊กอินสำเร็จรูปอยู่บ้างครับ
ส่วนสำหรับผู้ใช้งานอย่างเราๆ ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องพวกนี้เลย เพราะถ้าหากการ์ดจอเราและเกมรองรับ TrueAudio แล้ว ระบบก็จะจัดการทำงานให้อัตโนมัติทันที แทบไม่ต้องไปยุ่งกับระบบเลย
การ์ดจอที่จะรองรับเทคโนโลยี AMD TrueAudio ในช่วงแรกนี้จะมีเพียงแค่สามรุ่น ได้แก่ R9 290X, R9 290 และ R7 260X เท่านั้น ส่วนรุ่นเก่า คงต้องรอลุ้นใน HD 7790 ครับ
ด้านบนนี้ก็เป็นผังลำดับการทำงานของเทคโนโลยี TrueAudio ไล่มาตั้งแต่วัตถุดิบคือชุดข้อมูลเสียงของเกม จะถูกนำมาจัดการและประมวลผลเพื่อสร้างข้อมูลเอฟเฟ็คท์เสียงด้วย TrueAudio ก่อน จากนั้นจึงนำข้อมูลเอฟเฟ็คท์เสียงต่างๆ ไปประมวลผลออกเป็นเสียงเพื่อขับออกมาตามช่องทางต่างๆ ด้วยส่วนของชิปเสียง/การ์ดเสียงหลักของคอมพิวเตอร์อีกที โดยสามารถใช้งานอินเตอร์เฟส output ของเสียงได้สามช่องทางตามปกติเลย นั่นคือผ่านช่อง 3.5 มิลลเมตร ผ่านพอร์ต USB หรือจะผ่านทางพอร์ต HDMI ก็ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะใช้ชิปเสียงหรือการ์ดเสียงตัวไหน ก็สามารถขับเอฟเฟ็คท์ที่ประมวลผลมาจากระบบ AMD TrueAudio ได้ทั้งนั้น (แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันเรื่องคุณภาพเนื้อเสียงและจำนวน channel ตามคุณภาพชิปเสียงอยู่เช่นเคย)
ปิดท้ายด้วยการสาธิตเปรียบเทียบการประมวลผลเอฟเฟ็คท์เสียงระหว่างการใช้ CPU ประมวลผลตามปกติ กับการใช้เทคโนโลยี TrueAudio เข้าช่วยครับ
กราฟสีดำ เป็นเปอร์เซ็นต์การทำงานของ CPU เมื่อใช้ CPU ประมวลผลเอฟเฟ็คท์เสียงแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนเส้นกราฟสีแดงคือเมื่อเปิดใช้งาน TrueAudio อยู่ด้วย เห็นได้ชัดเลยว่าถ้าเปิด TrueAudio อยู่ CPU จะทำงานน้อยลงหลายเท่าตัวเลย ทำให้ CPU เหลือพลังที่จะไปประมวลผลส่วนอื่นมากขึ้น และน่าจะส่งผลให้การเล่นเกมดีขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกด้วยครับ
ส่วนการ์ดจอรุ่นใหญ่ในซีรี่ส์ AMD Radeon R9 จะมีข้อมูลมาอัพเดตเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ครับ รอติดตามชมกันได้