Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

5 GPU AMD ที่ดีที่สุดในแต่ละยุค ของช่วง 20 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา

ชื่อแบรนด์ใหญ่ ๆ ในวงการการ์ดจอคอมพิวเตอร์ สองชื่อแรกที่มักจะอยู่ในความคิดของลูกค้ามาอย่างยาวนานก็คือ NVIDIA และ ATI ที่แข่งกันมาแบบสูสีมาอย่างยาวนาน ผลัดกันนำ ผลัดกันตามทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่ากันอยู่เป็นช่วง ๆ และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการที่ AMD เข้าซื้อกิจการของ ATI ทำให้กลายเป็นยุคของการต่อสู้อย่างเต็มตัวระหว่างชื่อ NVIDIA และ AMD มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมี GPU AMD รวมถึงการ์ดจอ ATI รุ่นที่ยอดเยี่ยม ได้รับการยอมรับอย่างสูงอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของราคาต่อความแรงที่ลงตัวมาก ๆ

GPU AMD ที่ดีที่สุด

Advertisement

ในบทความนี้จะเป็นการ์ดจอ / GPU AMD ที่ดีที่สุด 5 รุ่นในแต่ละช่วงตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีหลังที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกและจัดอันดับโดยเว็บไซต์ Tom’s Hardware นับถึงช่วงปลายปี 2023 เรามาดูกันว่าจะมีรุ่นไหนบ้าง จะเป็นรุ่นที่แต่ละท่านเคยใช้ (หรือกำลังใช้อยู่หรือเปล่า) มาชมกันเลย

 

อันดับ 5 – AMD Radeon RX 480 8GB

ถือเป็นหนึ่งในการ์ดจอรุ่นยอดนิยมแบบสุด ๆ สำหรับคนที่กำลังมองหาการ์ดจอที่พอใช้เล่นเกมทั่วไปบนจอระดับ Full HD ได้แบบลื่นพอตัวในช่วงราว 5-7 ปีก่อน ด้วยความลงตัวมาก ๆ จากราคาขายในไทยช่วงแรกที่เปิดมาราวหนึ่งหมื่นบาท มาพร้อมกับสถาปัตยกรรม GCN 4 (Polaris) ที่เป็นของใหม่ในขณะนั้น รองรับ DirectX 12 ทั้งยังให้แรม GDDR5 มา 8GB ด้วย ที่สำคัญคือเป็นการ์ดจอ GPU AMD ที่กินไฟค่อนข้างต่ำ มีค่า TDP ตามสเปคอยู่ที่ 150W ทำให้สามารถใช้พาวเวอร์ซัพพลายที่กำลังไฟไม่สูงมากก็ยังใช้งานได้สบาย โดยมีขั้นแนะนำอยู่ที่ 450W เท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นระดับกำลังไฟขั้นพื้นฐานสำหรับการประกอบคอม ที่สามารถใช้เล่นเกมได้อยู่แล้ว จึงทำให้ Radeon RX 480 เป็นการ์ดจอรุ่นยอดนิยมได้ไม่ยาก

1024

ยิ่งเมื่อเทียบกับการ์ดจอค่ายคู่แข่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ฝั่ง NVIDIA จะมีเป็นซีรีส์ GeForce GTX 900 วางขายอยู่ ซึ่งเมื่อจับสเปคมาเทียบกันตรง ๆ จะพบว่า Radeon RX 480 ให้มาเหนือกว่าทั้งความแรง และแรมการ์ดจอที่สูงกว่าแทบจะเป็นเท่าตัว ก่อนที่จะเปิดตัว GTX 1000 series ตามออกมาตบในภายหลัง โดยมีรุ่นที่ความแรงและราคาชนกันก็คือ GTX 1060 6GB แต่อย่างไรก็ตาม Radeon RX 480 ก็ยังคงอยู่ในท้องตลาดมาเสมอในฐานะการ์ดจอราคาเบา ๆ ที่เล่นเกมยอดฮิตอย่างพวก GTA V ได้อยู่ ก่อนที่ทาง AMD จะประกาศหยุดการสนับสนุนด้านการอัปเดตไดรเวอร์ ให้กับการ์ดจอที่ใช้ GPU AMD สถาปัตยกรรม Polaris และ Vega ไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เทียบความแรงกับการ์ดจอในยุคใกล้เคียงกัน บวก/ลบ 1-3 ปี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Techpowerup)

R9 390 < GTX 970 < RX 480 8GB < GTX 1060 6GB / RX 580

 

อันดับ 4 – AMD Radeon RX 6800 XT

หลังจากที่ค่ายเขียวเปิดตัว GeForce GTX 1000 series ที่เขย่าวงการการ์ดจอให้พลิกขั้ว ตามด้วยการส่ง RTX 2000 series เข้ามาเปิดตลาดกราฟิก ray tracing และมีการนำ tensor core เข้ามาช่วยในการประมวลผลกราฟิก ก็ทำให้การ์ดจอจาก AMD ในวงการพีซีเกมมิ่งมีกระแสความนิยมที่ลดลงไป (แต่ไปกินเต็มตรงเครื่องเกมคอนโซลแทน) การ์ดจอ AMD สำหรับพีซีในช่วงนั้นเช่น Radeon RX Vega 64 รวมถึง Radeon VII ก็ดูเหมือนจะได้รับความสนใจแค่ในช่วงที่เปิดตัว แต่จากนั้นก็เงียบหายไป สาเหตุหลักก็คือเรื่องความแรงในการปั่นเฟรมเรตสำหรับการเล่นเกมที่ยังสู้คู่แข่งรายสำคัญไม่ได้ แถมยังใช้ไฟเยอะกว่า อย่างถ้าเทียบ RX Vega 64 กับรุ่นที่ความแรงใกล้เคียงกันคือ RTX 2060 แม้ความแรงจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ค่ายเขียวมีค่า TDP ที่ต่ำกว่าถึงร้อยกว่าวัตต์เลย แถมราคายังย่อมเยากว่าซะอีก

26410 Large

พอมาถึงช่วงปลายปี 2020 AMD ก็เปิดตัวการ์ดจอในซีรีส์ RX 6000 โดยมีรุ่นที่น่าสนใจคือ Radeon RX 6800 XT ที่จับเทคโนโลยีการผลิตโหนดในระดับ 7nm จาก TSMC มารวมกับสถาปัตยกรรมกราฟิก RDNA 1 ที่เคยใช้ใน RX 5000 series มารวมไว้ด้วยกัน เกิดเป็นชิป GPU AMD โค้ดเนม Navi 21 สถาปัตยกรรม RDNA 2 และถูกนำมาใช้กับการ์ดจอในซีรีส์ RX 6000 ที่มีออกมาหลายรุ่นย่อย ซึ่งจุดที่ทำให้ RX 6800 XT เป็นหนึ่งในการ์ดจอยอดนิยมก็เช่น

  • ความแรงของ GPU ที่สามารถบูสต์ไปเกินกว่า 2 GHz ได้ตั้งแต่แกะกล่อง
  • ให้แรม GDDR6 มาถึง 16GB เหนือกว่าเมื่อเทียบกับรุ่นใกล้เคียงอย่าง RTX 3080 (10GB) จึงเหมาะนำมาใช้กับงานที่ต้องมีแรมการ์ดจอเยอะ ๆ
  • มี Infinity Cache แบนด์วิธที่ช่วยให้ GPU สามารถเข้าถึงข้อมูลในแคชได้เร็วขึ้น
  • ราคาเริ่มต้นที่เปิดมาย่อมเยากว่า RTX 3080

เมื่อมองจาก 4 ข้อข้างต้น ก็จะทำให้พอเห็นภาพว่าทำไม RX 6800 XT จึงเป็นหนึ่งในการ์ดจอที่ใช้ GPU ที่ดีที่สุดของ AMD ภายในระยะเวลา 20 ปีหลังมานี้ ด้วยปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพต่อราคาที่ทำได้ดี รองรับการใช้งานเฉพาะทางบางอย่างที่ต้องใช้แรมการ์ดจอมาก ๆ ได้ง่ายกว่าคู่แข่ง (ในกรณีที่โปรแกรม/เฟรมเวิร์ครองรับ) แม้อาจจะด้อยในเรื่องความสวยงามของภาพในเกมจากเทคโนโลยี ray tracing ไปบ้าง เพราะอาจจะยังรีดความแรงออกมาได้ไม่เต็มที่เท่าค่ายเขียว แต่สำหรับคนที่ไม่ซีเรียส การ์ดจอรุ่นนี้ถือว่าให้พลังดิบได้ค่อนข้างดีทีเดียว

เทียบความแรงกับการ์ดจอในยุคใกล้เคียงกัน บวก/ลบ 1-3 ปี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Techpowerup)

RTX 3060 Ti < RTX 3070 Ti < RX 6800 XT < RTX 3080 / RX 7800 XT

 

อันดับ 3 – AMD Radeon HD 7970

ปี 2010 นับเป็นช่วงที่ AMD ทำผลงานได้เหนือกว่าค่ายเขียว สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการ์ดจอซีรีส์ GTX 400 ที่มีปัญหาเรื่องความร้อน เสียงพัดลมดัง ประสิทธิภาพตก ทั้งยังออกสู่ตลาดช้า ทำให้เป็นโอกาสของค่ายแดงในช่วงเวลานั้นในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และสั่งสมชื่อเสียงด้วยการ์ดจอในซีรีส์ Radeon HD 6000 ที่เป็นรุ่นกลาง-สูงในปี 2010 และ ATI Radeon HD 4000, 5000 ในรุ่นกลางลงมา

graphics card asus

จากนั้นก็มาต่อเนื่องกันใน Radeon HD 7000 series ที่เปลี่ยนสถาปัตยกรรมคอร์ GPU AMD มาเป็น GCN 1 และใช้โหนดสถาปัตยกรรมระดับ 28nm เป็นครั้งแรก นำมาโดยการ์ดจอรุ่นท็อปอย่าง Radeon HD 7970 ในช่วงปลายปี 2011 และวางขายตอนต้นปี 2012 แน่นอนว่ามันมาพร้อมความแรงที่สูงกว่าทั้งรุ่นก่อนหน้าและ GTX 580 รุ่นท็อปจากค่ายเขียว จนกระทั่งมีการเปิดตัว GTX 680 ที่ขยับไปใช้โหนดระดับ 28nm ด้วยเช่นกัน ซึ่งมาพร้อมจุดที่ทำได้เหนือกว่า ทั้งเรื่องของความแรงที่สูงกว่า ราคาเปิดมาย่อมเยากว่า และตัวการ์ดที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย

แต่ AMD ก็แก้เกมด้วยการออกการ์ดจอ HD 7970 GHz Edition ที่ปรับความเร็ว based clockให้สูงขี้นเป็น 1 GHz ส่งผลให้ตัวเลขความแรงสูงขึ้นจนชน ไปจนถึงสามารถแซง GTX 680 ได้ในบางการทดสอบ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยไดรเวอร์ออกมาอัปเดตให้ HD 7970 รุ่นปกติสามารถโอเวอร์คล็อกเพิ่มความแรงจนแซง GTX 680 ได้ และเมื่อผสานกับการปรับลดราคาลง ก็ทำให้ AMD Radeon HD 7970 กลายเป็นหนึ่งในการ์ดจอ GPU AMD ที่ดีที่สุดในช่วง 20 ปีหลังในความเห็นของเว็บไซต์ Tom’s Hardware เลย

เทียบความแรงกับการ์ดจอในยุคใกล้เคียงกัน บวก/ลบ 1-3 ปี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Techpowerup)

GTX 680 < Radeon R9 285 < Radeon HD 7970 < GTX 680 < Radeon HD 6990

 

อันดับ 2 – ATI Radeon HD 5870

ย้อนกลับมาถึงช่วงที่ยังเป็นชื่อ ATI อยู่บ้าง ซึ่งจะมีการ์ดจออยู่หนึ่งรุ่นที่เชื่อว่าหลายท่านคงเคยใช้งานหรือผ่านมือกันมาบ้าง นั่นคือ ATI Radeon HD 5870 ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากหนึ่งในการ์ดจอรุ่นยอดฮิตเช่นกันอย่าง Radeon HD 4870 ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการออกแบบดาย GPU ให้มีขนาดเล็กลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในระดับที่สูสีกับคู่แข่งได้อยู่ ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนในการผลิตการ์ดจอที่ลดลง สะท้อนถึงราคาขายที่จับต้องได้ง่ายกว่าด้วย

81Es8ZuQaUL

พอมาถึงยุคของ HD 5870 ในปี 2009 แม้ว่าความแรงจะสูงขึ้นจนแซงรุ่นท็อปค่ายเขียวในเวลานั้นอย่าง GTX 285 ได้ก็ตาม แต่ก็มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมื่อ GTX ซีรีส์ต่อไปมาถึง ค่ายเขียวก็น่าจะกลับมาแซงได้แบบไม่ยากเย็นนัก แต่กลับกลายเป็นว่าการ์ดรุ่นต่อมาอย่าง GTX 400 series กลับมาปัญหาอย่างที่ระบุไปในข้างต้น หลัก ๆ คือเรื่องความร้อนและเสียงพัดลม ทำให้แม้ว่า GTX 480 จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า Radeon HD 5870 ก็ตาม แต่กลับมีปัญหาเรื่องการกินไฟและราคาที่สูงกว่า จึงทำให้ HD 5870 ดูจะเป็นการ์ดจอที่ถูกใจ และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า สังเกตได้จากแม้ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ตัวของ HD 5870 ก็ยังคงมีวางขายหมุนเวียนในตลาดมือสองอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งก็มีข้อมูลส่วนแบ่งตลาด GPU ในช่วง Q2 ของปี 2010 ออกมา พบว่า AMD/ATI สามารถกินส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 44.5% เลยทีเดียว

แต่จากกลยุทธ์การออกแบบการ์ดจอให้ใช้ดายขนาดเล็กและการตั้งราคาแบบดุเดือด ทำให้แม้ว่ายอดขายการ์ดจอจะสูง แต่กำไรต่อชิ้นค่อนข้างน้อย ในทางกลับกัน แม้ยอดขายของคู่แข่งจะไม่สูงเท่า แต่ก็ยังขายได้อยู่ ประกอบกับกำไรต่อชิ้นที่สูงกว่า ทำให้ทาง NVIDIA ได้สะสมกำลังไว้ไปปล่อยในรุ่นถัดไป (GTX 500 series) ในขณะที่ AMD/ATI ก็เหมือนแค่ได้กำไรมาประคองตัวเฉย ๆ แถมยังโดนคู่แข่งบีบอ้อม ๆ ให้ต้องตั้งราคาการ์ดจอแบบได้กำไรต่ำอีก จึงทำให้เราอาจจะไม่ได้เห็นการ์ดจอ GPU AMD ที่ทั้งแรง กินไฟต่ำ ราคาเบา ๆ แบบในยุคนั้นอีกแล้ว

เทียบความแรงกับการ์ดจอในยุคใกล้เคียงกัน บวก/ลบ 1-3 ปี (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Techpowerup)

GTX 285 < GTX 470 < Radeon HD 5870 < GTX 560 Ti < Radeon HD 6950

 

อันดับ 1 – ATI Radeon 9700 PRO

rad9700prou Large

อันนี้ยิ่งย้อนกลับไปไกลถึงช่วงปี 2002 เลย กับการ์ดจอในตำนานอีกหนึ่งรุ่นซึ่งออกมาในช่วงที่ยังคงใช้พอร์ตเสียบการ์ดจอแบบ AGP กันอยู่ ซึ่งถ้าให้นึกถึงรุ่นการ์ดจอที่เป็นตำนานในยุคนั้น หลายท่านคงจะนึกถึงฝั่ง NVIDIA มากกว่า อาทิ ซีรีส์ GeForce 4 MX440 และ GeForce FX 5200 เป็นต้น ซึ่งทางฝั่ง ATI แม้จะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีศักยภาพในการต่อกรกับค่ายเขียวได้ก็ตาม แต่การ์ดจอที่ออกมาก็ยังคงมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าอยู่ดี

ต่อมา ATI ตัดสินใจออกแบบขนาดของ GPU ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากที่เคยผลิตมา ทั้งยังใหญ่กว่าการ์ดจอของคู่แข่งอีกด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อันเนื่องจากการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไป ทำให้สุดท้ายแล้ว การ์ดจออย่าง ATI Radeon 9700 PRO มีความแรงขึ้นมาเทียบชั้นกับ GeForce 4 Ti 4600 ที่เป็นหนึ่งในการ์ดรุ่นท็อปของปี 2002 ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ด้วยการออกแบบให้ตัว GPU มีขนาดใหญ่ถึง 215 ตร.มม. เทียบกับคู่แข่งที่มีขนาดเพียง 142 ตร.มม. ส่งผลให้มีจำนวนทรานซิสเตอร์สูงกว่าถึงเกือบเท่าตัว ทำให้ในภายหลัง ทั้งสองค่ายต่างพยายามออกแบบให้ GPU มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ซึ่งประสิทธิภาพของตัวการ์ดก็ทำได้ดีจริง ๆ โดยเฉพาะการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กราฟิกแบบธรรมดา ไปจนถึงการเปิด AA ที่ถือว่ากินสเปคโหดมากในสมัยก่อน แถมยังมีราคาเปิดมาเท่า ๆ กับ GeForce 4 Ti 4600 ด้วย จึงไม่แปลกในที่ Radeon 9700 PRO จะได้รับความนิยมสูงมากในช่วงเวลานั้น และติดเป็นหนึ่งในการ์ดจอ AMD/ATI ที่ดีที่สุดด้วย

 

สรุป – การ์ดจอ GPU AMD ที่ดีที่สุดในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา

โดยรวมแล้ว การ์ดจอที่ใช้ GPU ของ AMD/ATI ที่ดีที่สุดในแต่ละยุค มักจะมีสิ่งที่โดดเด่นออกมาเหมือน ๆ กัน คือเรื่องของราคาต่อประสิทธิภาพที่ดี ในบางรุ่นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แม้ว่าราคาจะเท่ากันแต่ก็ได้ประสิทธิภาพ เฟรมเรตในเกมที่ดีกว่า ปรับกราฟิกได้สูงกว่า ส่วนบางรุ่นที่ทำราคาออกมาย่อมเยากว่า แม้ว่าประสิทธิภาพจะต่ำกว่า แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่คุ้มค่าอยู่ดี ซึ่งก็สามารถจับกลุ่มตลาดผู้ที่ต้องการการ์ดจอไปใช้เล่นเกมในราคาเบา ๆ ได้อยู่เสมอ แต่พอมาในยุคหลัง ต้องยอมรับว่าค่ายเขียวสามารถทำหลายด้านได้ตอบโจทย์ตลาดกว่า ไม่ว่าจะประสิทธิภาพ เทคนิคการประมวลผล กลยุทธ์การโปรโมต และที่สำคัญคือความอเนกประสงค์ในการใช้งาน อันเกิดจากความร่วมมือกันกับกลุ่มนักพัฒนาโปรแกรม ผู้สร้างแพลตฟอร์ม เฟรมเวิร์คต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถใช้การ์ดจอค่ายเขียวในการประมวลผลที่มากกว่าการเล่นเกมได้ดี หรือสะดวกกว่าการ์ดค่ายแดงไปแล้ว ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า AMD จะแก้เกมกลับมาอย่างไร

แล้วแต่ละท่านมีการ์ดจอ AMD/ATI รุ่นไหนที่ถือว่าเป็นรุ่นเด็ดในดวงใจกันบ้าง ลองคอมเมนต์บอกเรามาได้เลย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Special Story

หากจะพูดถึงซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดปี 2024 สำหรับโน้ตบุ๊กของ AMD ก็จะต้องเป็น AMD Ryzen AI 300 series ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านพลังประมวลผล พลังกราฟิก และที่เด่นชัดสุดคือความสามารถในการทำงานด้าน AI โดยที่ผ่านมาก็จะมีรุ่นที่ออกมาทำตลาดคือ AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปรุ่นกลาง แต่ล่าสุดเราเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD...

CONTENT

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กที่เป็นดีไซน์แบบฝาพับอย่างที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตัวเครื่องยังมีการพัฒนารูปทรงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการพกพา และอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมก็คือการทำออกมาเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 โดยใช้หน้าจอสัมผัสที่สามารถพลิกจอได้ 360 องศา ทำให้สามารถใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำโน้ตบุ๊กจอพับ AMD ในรูปแบบ 2-in-1 ที่น่าใช้กันครับ ตอบโจทย์ทั้งใช้ทำงาน ไปจนถึงการเล่นเกมได้เลยในบางรุ่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก