ในงาน CES 2013 ที่ผ่านมา เหล่าผู้ผลิตชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์รายต่างๆ ได้จัดงานเปิดตัวและเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ สำหรับชิปประมวลผลรุ่นใหม่ของตนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น Intel และ AMD ที่มีชิปสำหรับแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ประกอบกับชิปสำหรับอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นส่วนเสริม หรือจะเป็นทาง Qualcomm กับ NVIDIA ที่เปิดตัวชิปประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พกพาไป แน่นอนว่าทั้งสองฝั่งต่างก็มีเทคโนโลยีและข้อมูลที่น่าสนใจพอตัวทีเดียว
ด้านของ Intel และ AMD นั้น เห็นได้ชัดว่าทั้งสองเริ่มให้ความสำคัญกับชิปประมวลผลสำหรับสายโมบายล์เช่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น เพื่อมาแข่งกับชิปที่ใช้สถาปัตยกรรมของ ARM ที่ครองตลาดโมบายล์อยู่ในขณะนี้ โดยฝั่งของ Intel นั้น ตั้งเป้าในการลดอัตราการใช้พลังงานในชิปตระกูล Intel Atom เพื่อให้มีการกินพลังงานน้อยลงเมื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์พกพา ซึ่งในปีนี้เราจะได้เห็นชิปประมวลผลรุ่นใหม่ในโค้ดเนมว่า Lexington สำหรับสมาร์ทโฟน และ Bay Trail กับ Clover Trail+ สำหรับกลุ่มแท็บเล็ตแน่นอน
ส่วน AMD นั้น ก็มีการเปิดตัวชิปประมวลผลกลุ่ม APU รุ่นใหม่ออกมาสี่ตระกูล โดยมี Temash และ Kabini ที่เป็นชิปแบบ SoC x86 รุ่นแรกของโลกที่มีคอร์ประมวลผลถึง 4 คอร์ โดยเราจะได้เห็นชิปสองตระกูลนี้อยู่ในสินค้ารุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ Temash ที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานบนแท็บเล็ต Windows 8 โดยตรง และยังจะมี Richland และ Kaveri (ออกมาช่วงครึ่งปีหลัง) ที่เป็น APU สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ปกติอีก
ฝั่งของชิปสถาปัตยกรรม ARM นั้น ก็มีการเปิดเผยข้อมูลของชิปรุ่นใหม่ๆ ในงาน CES 2013 ด้วยเช่นกัน อย่างในรายของ Qualcomm เองได้เปิดตัวชิปประมวลผลรุ่นใหม่คือ Qualcomm Snapdragon 600 และ Snapdragon 800 ที่นอกเหนือจะเป็นชิปรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการปรับวิธีการเรียกชื่อให้สามารถจดจำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย โดยทั้งสองรุ่นที่เปิดตัวมาล้วนเป็นชิปแบบ quad-core ด้วยกันทั้งคู่ ด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าชิป Snapdragon S4 Pro ในปัจจุบันถึง 75% ส่วนจุดเด่นเรื่องการกินพลังงานที่ต่ำมากนั้น ก็ยังคงได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าชิปรุ่นก่อนหน้าขึ้นไปอีก จึงอาจจะเป็นการยากที่ชิป x86 ของ Intel และ AMD จะปรับลดเรื่องอัตราการใช้พลังงานให้ลงมาเทียบเคียงกับชิปตระกูล ARM ได้
ปิดท้ายด้วย NVIDIA ที่ในงานนี้ได้เปิดตัวชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 4 สำหรับแพลตฟอร์มโมบายล์เช่นเดียวกัน โดยจุดเด่นคือพลังในการประมวลผลกราฟิกที่เพิ่มขึ้นจาก Tegra 3 มาก เนื่องด้วยมีการเพิ่มจำนวนคอร์ของ GPU ภายในให้สูงถึงกว่า 72 คอร์ มากกว่าชิปรุ่นเก่าถึง 6 เท่า ส่วนด้านการประมวลผลนั้นก็ยังคงใช้การออกแบบภายในให้มีจำนวนคอร์เป็นแบบ 4+1 คือมีหนึ่งคอร์ที่ใช้ทำงานเบาๆ ทั่วไป ส่วนอีกสี่คอร์จะไว้ใช้ตอนต้องประมวลผลหนักๆ ซึ่งถึงแม้จะดูว่าเหมือนรุ่นเก่าก็จริง แต่จุดที่เปลี่ยนแปลงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพก็คือสถาปัตยกรรมของตัวคอร์ ที่เปลี่ยนมาใช้เป็น ARM Cortex-A15
ด้วยการเปิดตัวของแต่ละบริษัทเช่นนี้ ทำให้ด้านการแข่งขันของชิปประมวลผลน่าสนใจขึ้นมาก โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มโมบายล์ที่เราได้เห็นยักษ์ใหญ่อย่าง Intel และ AMD กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยอย่างเต็มตัวในปีนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลดีก็ตกอยู่กับผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกในตลาดมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา : eWEEK