เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ใหญ่สำหรับวงการคอมพิวเตอร์พีซีก็คือเรื่องการเปิดตัว Windows 8 อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ตามมาด้วยความคาดหวังว่าน่าจะมีคนเปลี่ยนมาใช้ Windows 8 แทน Windows 7 กันเป็นจำนวนมาก ที่อาจส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งาน Internet Explorer เว็บเบราเซอร์พื้นฐานของ Windows เองเพิ่มขึ้้นมาด้วย และก็เป็นไปตามคาดครับ เมื่อมีการเปิดเผยส่วนแบ่งตลาดของเว็บเบราเซอร์จาก Net Market Share ออกมา พบว่า Internet Explorer มีส่วนแบ่งรวมในตลาดเป็น 48.75% นับว่าเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2011 เลยทีเดียว รองลงมาตกเป็นของ Firefox ซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 17.60% ส่วนอันดับสามเป็น Google Chrome ซึ่งกินส่วนแบ่งไป 16.02% ตามภาพด้านล่าง
โดยถ้าแยกออกมาดูกลุ่มของเครื่องพีซี พบว่า Internet Explorer มีส่วนแบ่งกว่า 54.77% ทิ้งห่าง Firefox ที่มีอยู่ราวๆ 19.82% เท่านั้น และมีแนวโน้มจะโตขึ้นไปอีกด้วย เช่นเดียวกับ Chrome ที่เริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้าง หลังจากพ่ายแพ้ให้กับ Firefox ไปตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ดังกราฟด้านล่างนี้
แต่ถ้ามาดูในกลุ่มโมบายล์ เช่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต อันดับหนึ่งก็ยังเป็นของ Safari ที่กินส่วนแบ่งอยู๋ 60.56% อันดับสองคือ Android Browser ที่มีส่วนแบ่ง 22.1% ส่วน Internet Explorer นั้นยังมีอยู่เพียง 1.16% ในตลาดเท่านั้น ส่วนกราฟแนวโน้มการเติบโตของเว็บเบราเซอร์บนโมบายล์แต่ละค่ายนั้น ก็ตามกราฟด้านล่างครับ มีที่น่าสนใจก็คือ Opera Mini ที่อยู่ดีๆ ก็พุ่งขึ้นมา สวนทางกับ Android Browser ที่มีคนใช้ลดลง อาจจะเป็นเพราะใน Android เวอร์ชันใหม่ๆ มีการใช้ Chrome เป็นเว็บเบราเซอร์หลักของเครื่องแทน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้ Chrome เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย
ส่วนถ้าลองมาดูเจาะลึกด้านเวอร์ชันของ Internet Explorer นั้น จะพบว่า Internet Explorer 10 ที่มาพร้อม Windows 8 มีแนวโน้มผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงหลัง Windows 8 เปิดตัวใหม่ๆ อยู่พอสมควร แต่ก็ยังจัดว่าน้อยอยู่ ส่วนที่น่าแปลกใจจริงๆ ก็คือตัวของ Windows 8 ที่ดูเหมือนจะมีจำนวนผู้ใช้งานที่น้อยจนน่าแปลกใจ เพราะพบว่าในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จำนวนเครื่องที่ใช้งาน Windows 8 จากการเก็บข้อมูลของ Net Market Share มีอยู่ราวๆ 1.72% เท่านั้น อันดับหนึ่งเป็น Windows 7 ที่มีอยู่กว่า 45.11% ของตลาด ส่วน Windows XP เองนั้นก็ยังมีอยู่กว่า 39.08% เลย ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องให้เวลา Microsoft กันซักหน่อยละนะครับ :)
ที่มา : Ars Technica