การเลือกซื้อโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน เชื่อได้ว่าเกิน 50% จะเน้นเรื่องของความแรงการ์ดจอเป็นหลัก เนื่องด้วยราคาตัวเครื่องที่มีการ์ดจอแยกก็ไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน แถมความต้องการในการเล่นเกมบนโน๊ตบุ๊คมีมากขึ้นด้วย ทำให้เครื่องที่มาพร้อมการ์ดจอแยกค่อนข้างจะขายดีขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น NBS เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการ์ดจอแยกเหล่านี้กันครับ ว่าก่อนจะเลือกต้องมาดูอะไรบ้าง
เพราะบางครั้งในบางรุ่นเราเห็นชื่อรุ่นการ์ดจอแล้วดูน่าจะแรงแน่ๆ แต่เอาเข้าจริง รุ่นที่ต่ำกว่าดันแรงกว่าก็มี ทั้งนี้เนื่องด้วยความแรงของการทำงานการ์ดจอไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวชิพอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยอีก ดังนั้น
1. ชนิดของหน่วยความจำการ์ดจอ
เนื่องด้วยการ์ดจอบางรุ่น โดยเฉพาะรุ่นกลางๆ จะสามารถใช้ร่วมกับหน่วยความจำการ์ดจอได้หลายประเภท เช่น GDDR5, GDDR3 หรือเก่าหน่อยก็เป็น DDR2 (ซึ่งความแรงก็เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย) ทำให้ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คมีทางเลือกในการเลือกชนิดของหน่วยความจำการ์ดจอมาใช้ ทำให้บางครั้งเราเห็นว่าบางเครื่องมาพร้อมกับการ์ดจอตัวที่น่าจะแรง แต่เอาจริงๆมันดันมาพร้อมกับหน่วยความจำการ์ดจอที่ค่อนข้างช้า จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานมีไม่มากเท่าที่ควร แถมตามสติ๊กเกอร์ติดเครื่องก็มักจะไม่บอกประเภทของหน่วยความจำมาอีกต่างหาก ทำให้เป็นเรื่องค่อนข้างยากในการตรวจสอบอยู่พอสมควร
แล้วจะทราบข้อมูลได้อย่างไรล่ะ ??
ข้อนี้ก็คงต้องอาศัยการอ่านรีวิวตามเว็บละครับ โดยเฉพาะในหน้าการแสดงผลที่ได้จากการใช้โปรแกรม GPU-Z ที่จะมีบอกชัดเจนว่าใช้การ์ดจออะไร ใช้หน่วยความจำประเภทไหน หรือถ้าตกลงปลงใจแล้ว ก็อาจจะไปทดสอบกับเครื่องที่จะซื้อก็ได้ครับ แต่ถ้าถึงขั้นตกลงปลงใจแล้ว ก็คงไม่จำเป็นเท่าไรแล้วล่ะ
2. Bus Width ของหน่วยความจำการ์ดจอ
ถัดจากประเภทของหน่วยความจำ อีกเรื่องที่ผู้ผลิตอาจใช้เป็นกลยุทธ์ในการวางขายโน๊ตบุ๊คได้ก็คือความกว้างบัสของหน่วยความจำการ์ดจอ โดยความกว้างบัสก็เปรียบเหมือนความกว้างของถนน ยิ่งถ้าถนนมีเลนมากๆ รถก็จะวิ่งไปพร้อมๆกันได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็หลักการเดียวกันครับ ยิ่งความกว้างบัสมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลสามารถส่งผ่านจากหน่วยความจำไปยังชิพ GPU หรือนำออกไปแสดงผลได้เร็วขึ้นเท่านั้น
ถ้าให้แบ่งตามช่วงราคาเครื่องก็จะได้ดังนี้
- เครื่องราคาไม่สูงมาก หรือการ์ดจอที่ไม่แรงมาก จะมาพร้อมหน่วยความจำการ์ดจอที่มีความกว้างบัส 32 bit
- เครื่องรุ่นกลางๆ การ์ดจอรุ่นกลางๆ จะมาพร้อมกับความกว้างบัส 64 bit
- เครื่องรุ่นแรงๆ หรือการ์ดจอตัวแรงๆ มักจะมากับหน่วยความจำการ์ดจอความกว้างบัส 128 bit
แต่บางทีมันก็ไม่ตรงตามนี้มากนัก เพราะบางครั้งการ์ดจอรุ่นกลางๆ มันดันมาพร้อมหน่วยความจำที่มีความกว้างบัสเพียง 32 bit เท่านั้น ซึ่งหนทางในการตรวจสอบก็ต้องพึ่งวิธีเดียวกันกับด้านบนครับผม เพราะจะหาร้านที่ประกาศเลยว่าการ์ดจอในเครื่องนี้มีหน่วยความจำบัสกว้างกี่บิท ดูจะหายากกว่าร้านที่บอกว่าเป็น GDDR3 หรือ GDDR5 ซะอีก
หรือในเครื่องรุ่นใหญ่ รุ่นแพงบางรุ่น เราอาจจะมองว่า 2 เครื่องมีการ์ดจอเหมือนกัน น่าจะแรงเท่าๆกัน แต่เอาเข้าจริง อาจจะมีตัวหนึ่งที่การ์ดจอมีบัสน้อยกว่าก็ได้ ดังนั้นอาจต้องค่อยๆ ส่องกันดีๆ ก่อนซื้อละนะครับ
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อย โดย GDDR3 / DDR3 มักมาพร้อมบัส 64 bit ส่วน GDDR5 มักมาพร้อมบัส 32 bit นะครับ ซึ่ง GDDR5 นั้นแรงกว่าก็จริง แต่ก็อาจเกิดปัญหาคอขวดที่หน่วยความจำได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ ดูที่ GPU ไปเลยก็ได้ครับ ว่าตัวไหนแรงกว่า
3. ปริมาณหน่วยความจำการ์ดจอ
อันนี้แทบจะไม่ต้องกังวลกันมากแล้วในปัจจุบัน เนื่องด้วยส่วนใหญ่จะมาพร้อมขั้นต่ำคือ 1 GB กันอยู่แล้ว แต่จะมีบางตัวที่มาพร้อมกับแรมการ์ดจอ 2 GB ทำให้หลายคนสันนิษฐานว่ายิ่งแรมการ์ดจอเยอะกว่า จะยิ่งแรงกว่าหรือไม่ อันนี้บอกได้เลยครับ ว่าไม่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งใช้บนเครื่องที่มีจอแค่ 14 ? 17 นิ้วด้วย ผลที่ได้นั้นแทบจะไม่ต่างกับเครื่องที่มีแรมการ์ดจอ 1 GB เลย เผลอๆ บางทีความแรงน้อยกว่าเครื่องที่มีแรมการ์ดจอ 1 GB เสียอีก
ทั้งนี้เนื่องมาจากแรมการ์ดจอมันมีหน้าที่เก็บข้อมูลก่อนนำไปแสดงผลด้วย หรือจะเรียกว่ามันเป็น buffer ก่อนการแสดงผลก็ได้ ดังนั้นมันจะถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อจอของเรามีขนาดใหญ่ มีความละเอียดจอสูงๆ อย่างนั้นละครับแรมการ์ดจอถึงจะมีผล หรือเครื่องไหนที่เป็นจอ Full HD (1920 x 1080) แล้วอยากเล่นเกมที่ความละเอียดของภาพระดับสูงสุด อันนี้ล่ะ แรมการ์ดจอถึงอาจจะมีผล แต่ยังไงก็ยังไม่เท่าผลของความแรง GPU อยู่ดี
ดังนั้นถ้าแน่ใจว่าไม่ได้จะเอาเครื่องมาต่อออกจอใหญ่ๆ ล่ะก็ ไม่จำเป็นต้องหาเครื่องที่มีแรมการ์ดจอ 2 GB ก็ได้ครับ แค่ 1 GB ก็เกินพอแล้ว
4. ความเร็ว Clock ของ GPU และแรมการ์ดจอ
ข้อนี้ก็เป็นอีกหนึ่งข้อแตกต่าง โดยเฉพาะในการ์ดจอรุ่นเดียวกันแต่อยู่บนต่างเครื่อง ต่างแบรนด์ เพราะการ์ดจอในโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ บรรดาผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คจะรับตัวการ์ด/ชิพไปปรับแต่งเองอีกทีก่อนจะบรรจุลงเครื่อง ซึ่งการปรับแต่งที่เห็นได้ชัดก็คือการโม BIOS ให้เป็นของตน เพื่อให้สามารถควบคุมการทำงาน โดยเฉพาะความเร็ว Clock ของทั้ง GPU และแรมการ์ดจอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะทำให้ต่ำลงจากปกติเล็กน้อย เพื่อเป็นการควบคุมความร้อนระหว่างการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของการ์ดจอบางเครื่องลดลงไปเล็กน้อย ดังจะเห็นได้จากเฟรมเรตของเกมที่บางเครื่องจะต่ำกว่ารุ่นอื่นที่ใช้การ์ดจอเดียวกันเล็กน้อย
อีกทั้งเนื่องด้วยการโม BIOS และระบบภายในเล็กน้อยนี่เอง ทำให้บางเครื่อง บางแบรนด์ กว่าจะอัพเดต driver การ์ดจอได้ ก็ต้องรอ driver จากแบรนด์เท่านั้นไม่สามารถอัพเดต driver จากค่ายการ์ดจอได้โดยตรงครับผม