Kingston FURY Renegade DDR5 8400 CUDIMM แรมรุ่นใหม่ ตอบโจทย์คอเกม และนักแต่งคอมด้วยไฟ RGB
Kingston FURY Renegade DDR5 CUDIMM RGB เป็นแรมความเร็วสูงรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ออกแบบมาเพื่อพีซีเดสก์ทอปรุ่นใหม่ ให้ประสิทธิภาพสูง และการปรับจูนที่สะดวกมากขึ้น ด้วยการมีโพรไฟล์กำหนด Clock ของแรมมาในตัว จึงไม่ต้องใช้ค่าสัญญาณจากเมนบอร์ด หรือซีพียูโดยตรง CUDIMM ตัวแรมจะมีชิป CKD หรือ Client Clock Driver เป็นของตัวเองติดตั้งมาบนโมดูลแรม โดยไม่ต้องรอสัญญาณนาฬิกาของซีพียูเหมือนกับใน UDIMM ก่อนหน้านี้ โดยแรมจะทำหน้าที่ Generate clock ของตัวเอง ให้ขึ้นไปทำงานร่วมกับระบบ แจ้งเอาไว้เลยว่าเป็นแรม Clock ระดับไหน โดยไม่ต้องผ่าน PMIC หรือจะทำงานร่วมกันก็ได้ โดยแรมอาจจะมีความเร็วที่มากกว่าที่เกิดขึ้นในระบบนั่นเอง
โดยที่แรม Kingston รุ่นนี้ สนับสนุนซีพียูบนแพลตฟอร์ม Intel และ AMD มาพร้อมความเร็วพื้นฐาน 8400MT/s เป็นแบบชุดคิท 2 โมดูล แผงละ 24GB x2 เป็นความจุรวม 48GB มีค่า CL40-52-52-132 แรงดันไฟ 1.450v ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การเล่นเกม การทำงาน และกลุ่มนักโอเวอร์คล็อก รวมถึงผู้ที่ชอบการเพิ่มความสวยงามให้กับคอมที่ใช้ เพราะมาพร้อมแถบแสงไฟ RGB ปรับแต่งความสวยงามได้ตามโพรไฟล์ที่มีให้เลือกมากมาย สามารถซิงก์เข้ากับเมนบอร์ดและซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตรายต่างๆ ได้ หรือใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ FURY CTRL ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ได้อีกด้วย
Kingston FURY Renegade DDR5 8400MT/s
Specification
Description | |
Intel® XMP Certified | Yes |
AMD EXPO™ Certified | Yes |
Speeds | 8400 |
CAS Latencies | 32, 36, 38, 40 |
Voltages | 1.35V, 1.4V, 1.45V |
Module Capacities | 48GB |
Heat Spreader Colors | Black/Silver |
Height | 44-45mm |
Dimension | 133.35mm x 39.2mm x 7.65mm |
XMP Prifile | • Default (JEDEC): DDR5-6400 CL52-52-52 @1.1V • XMP Profile #1: DDR5-8400 CL40-52-52 @1.45V • XMP Profile #2: DDR5-8000 CL38-48-48 @1.45V • XMP Profile #3: DDR5-7600 CL38-46-46 @1.45V |
JEDEC standard latency | DDR5-6400, CL 52-52-52 at 1.1V |
ข้อมูลเพิ่มเติม Kingston
Unbox
กล่องของ Kingston FURY Renegade DDR5 มาในแบบที่คุ้นตากับโทนสีขาว ตัดด้วยเส้นสายสีดำ คาดกับแถบสีแดง บอกข้อมูลตัวผลิตภัณฑ์ได้เกือบครบ ไม่ว่าจะเป็น 8400MT/s ความจุ 48GB โดยเป็นโมดูลละ 24GB จำนวน 2 โมดูล ส่วนด้านล่างจะบอกข้อมูลของแสงไฟ ไม่ว่าจะเป็น RGB, FURY CTRL, มีเทคโนโลยี Infrared Sync มาด้วยเช่นกัน
หลังกล่องจะบอกรายละเอียดของบรรดา Certified การรับประกัน รวมถึงการสนับสนุนการเชื่อมต่อแสงไฟ RGB ร่วมกับเมนบอร์ดค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MSI Mystic Light, GIGABYTE RGB FUSION, ASUS AURA SYNC และ ASRock รวมไปถึงการใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ของ Kingston ที่เป็น FURY CTRL ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างโพรไฟล์สีเฉพาะตัวได้ง่ายดาย
แพ๊คเกจด้านในกล่องเป็นแบบกล่องใสกันกระแทก เรียกว่าเป็นมาตรฐานเพราะเราได้เห็นกันแบบชินตา ซึ่งช่วยลดแรงกระแทกได้ดี แต่ก็น่าเสียดายที่ตัวกล่องไม่ได้เปิดให้เห็นตัวโมดูลได้ชัดนัก แต่ก็มีกราฟิกบนตัวกล่องให้เห็นอย่างชัดเจน
โดยกล่องพลาสติกนี้ แนะนำว่าให้เก็บเอาไว้ให้ดี เพราะในกรณีที่ไม่ได้ใช้แรม หรือต้องการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย จะมีความปลอดภัยมากกว่า
Design
แรม Kingston FURY Renegade DDR5 มาในโทนสีเงินคาดมาบนแถบแผง Heat spreader สีดำ เป็นอลูมิเนียม ซึ่งทำหน้าในการระบายความร้อน ซึ่งจะต่างจากในโทนของ Renegade DDR5 Limited Edition ที่เคยได้รีวิวไปก่อนหน้านี้
แรม DDR5 รุ่นนี้มีพินหน้าสัมผัส 288-pins โดยที่ Notch Position เป็นแบบเดียวกับ UDIMM ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้งาน
ออกแบบด้วยการใช้เส้นสายที่ดูทันสมัย แต่ไม่ได้หวือหวามากนัก เรียกว่าคลุมโทน ดูแล้วจะต่างจากซีรีย์ของ FURY BEAST ที่จะเน้นเส้นสายดูสบายตามากกว่า แต่เชื่อว่ากลุ่มที่รักการปรับแต่ง เพิ่มความสวยภายในเคส จะต้องชื่นชอบรุ่นนี้ เพราะมาพร้อมแถบไฟ RGB ที่อยู่ด้านบนของโมดูลแรม
มุมมองด้านข้าง จะมองเห็นพีซีบีของแผงแรม ซึ่งมีแผงซิงก์แรม แนบกับเม็ดแรมที่อยู่ภายใน เรื่องนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะกับแรมความเร็วสูงระดับ 8000MT/s ขึ้นไปเช่นนี้ เพราะจะช่วยลดอุณหภูมิที่สูง และช่วยให้สัญญาณนาฬิกามีความเสถียรมากขึ้น
แถบแสงไฟ RGB ที่อยู่ด้านบน เป็นแถบสีขาว ยาวไปตลอดทั้งตัวแรม และมาพร้อมเทคโนโลยี Infrared Sync อันเป็นเอกลักษณ์ของทาง Kingston โดดเด่นด้วยแสงไฟที่มีความต่อเนื่องสวยงาม
โลโก้ FURY สีดำอยู่ตรงกลางของโมดูล เวลาที่แสงไฟ RGB สว่างขึ้น ทำให้ดูโดดเด่นมากขึ้น
แผงหลังของโมดูลมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันกับแรมด้านหน้า เพียงแต่ไม่ได้เป็นโลโก้ติดมา แต่เป็นลาเบลที่บอกรายละเอียด Serial number, หมายเลขผลิตภัณฑ์ แรงดันไฟ และรูปแบบของโมดูลแรมในแบบชุดคิท แหล่งผลิต ลาเบลนี้มีความสำคัญ เพื่อให้ยังคงการรับประกันเอาไว้
Install
การติดตั้งแรม Kingston FURY รุ่นนี้ ยังคงเป็นไปในรูปแบบของแรม DDR5 UDIMM ทั่วไป ถ้าเป็นแรมชุดคิท 2 DIMM เช่นนี้ ก็ต้องติดตั้งที่สล็อต DIMM A2 และ DIMM B2 หรือสล็อตที่ 2 และสล็อตที่ 4 ซึ่งหลายคนเรียกว่าสล็อตแรมคู่นอก เมื่อนับจากซ็อกเก็ตของซีพียู ตามที่ผู้ผลิตแนะนำ และออกแบบมาเพื่อการทำงาน XMP Profile ที่เหมาะสม
เมื่อติดตั้งแรม Kingston FURY DDR5 ลงไปในสล็อตแล้ว เปิดเครื่องเข้าสู่ระบบ และเข้าไปใน BIOS ซึ่งตัวอย่างนี้ เราใช้เมนบอร์ด Intel Z890 จากทาง AORUS จากเดิมระบบจะตรวจเช็คได้ว่าเป็น DDR5 standard latency DDR5-6400, CL 52-52-52 at 1.1V จากนั้นปรับค่า XMP 3.0 Profile 1 ตามความเร็วของแรมที่ 8400MT/s
และเมื่อปรับการทำงานของแรมบน XMP Profile 1 เรียบร้อย เมนบอร์ดจะตรวจเช็คบน BIOS เป็นแรม Kingston DDR5 8400MT/s โดย DRAM เป็น Hynix ความจุ 48GB
รวมถึงใน Speed Info ของเมนบอร์ด ตรวจพบการทำงานบน DIMM 2 เป็นแรมแบบ Single-Side ความจุ 28GB แบรนด์ Kingston บน XMP1 8400MT/s พร้อมค่า CL 40-52-52-132 บนแรงดันไฟ 1.45V ตามสเปคของแรม
อีกสิ่งที่หลายคนสนใจนั่นคือ เมื่อติดตั้งแรมลงบนสล็อตแรมแล้ว จะมีผลต่อการติดตั้งพัดลมหรือฮีตซิงก์หรือไม่ ซึ่งทีมงานใช้ชุดพัดลมขนาดใหญ่จาก DeepCool AK500 Digital ซึ่งใช้พื้นที่ในการติดตั้งในระดับหนึ่ง จัดเป็นฮีตซิงก์ระดับ L ค่อนไปทางใหญ่ แต่การติดตั้งแรม ก็ไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งมีระยะห่างของแรมกับพัดลมอยู่พอสมควรตามภาพที่ได้เห็นนี้
ทั้งในเรื่องของความสูง และระยะห่าง จัดว่าอยู่ในระดับที่พอเหมาะ ดังนั้นหากใช้ชุดปั้มน้ำ Water block หรือฮีตซิงก์ที่เล็กกว่า ก็สามารถติดตั้งได้ไม่ยาก
มุมมองจากด้านบน จะเห็นได้ว่า ยังมีระยะห่างของตัวแรมอยู่อีกพอสมควร รวมถึงโมดูลแรมเอง ก็มีมิติที่ค่อนข้างบาง ดังนั้นแม้จะติดตั้งแรม 4 แถวเต็มทุกสล็อตก็ยังไม่ได้เบียดกันอีกด้วย
Performance
ระบบที่ใช้ในการทดสอบ
- Intel Core Ultra 9 285K
- Z890 AORUS PRO ICE
- Kingston FURY Renegade DDR5 CUDIMM 8400 48GB
- WD Blue SN550 1TB
- Intel Arc B580
- Windows 11 Home 22H2
เช็คใน Task Manager กับ Process การทำงาน ระบบตรวจพบแรม DDR5 8400MT/s ได้ถูกต้อง กับการเริ่มต้นใช้งาน ซึ่งเปิดเข้าสู่ Windows ในเบื้องต้นมีโปรแกรมบางส่วน ที่รันขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปิดเครื่องอยู่ราวๆ 5-6GB เท่านั้น ความจุระดับนี้กับผู้ใช้ทั่วไปเรียกว่าเหลือเฟือ
CPUz รายงานการทำงานของซีพียู Intel Core Ultra 9 285K ใช้ร่วมกับแรม Kingston FURY Renegade DDR5 8400MT/s ซึ่งใช้หน่วยความจำ SK Hynix บนโพรไฟล์ XMP-8400 แรงดันไฟ 1.450V ได้อย่างถูกต้อง
การทดสอบแรกกับ VOVSOFT RAM Benchmark การทดสอบบัฟเฟอร์ระดับ 1GB ให้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2622MB/s ส่วนถ้าเป็น 5GB จะอยู่ที่ 2573MB/s
มาที่การทดสอบ Memory Speed บน 3delite’s GFX กัน กับการทดสอบแรมระบบในช่วง Peak จะได้อยู่ที่ 16.6GB/s สำหรับการ Write ส่วนการ Read ได้อยู่ที่ 22.74GB/s ซึ่งสอดคล้องกับผลที่ได้บน VOVSOFT
เช่นเดียวกับ OCCT Memory Benchmark ที่ให้ตัวเลขในการทดสอบที่ค่อนข้างดีทีเดียว นั่นคือ 2297MB/s Read และ 1797MB/s Write ถ้าเทียบกับแรม DDR5 4800 จะอยู่ที่ Read 1216MB/s, Write 1038MB/s และ Combined 1215MB/s เท่านั้น ซึ่งคุณจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่ออัพเกรดมาใช้แรมใหม่ความเร็วสูงเช่นนี้
DDR5 7200MT/s DDR5 6800MT/s
และการทดสอบ Passmark PerformanceTest11 ตัวเลขที่ได้บน Memory benchmark overall อยู่ที่ 4325 สูงกว่า DDR5 7200MT/s และ DDR5 6800MT/s ที่ได้เคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ที่อย่างชัดเจน
FURY CTRL
ไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ที่เป็นจุดเด่นบนแรม Kingston FURY Renegade DDR5 8400MT/s รุ่นนี้ แต่ยังมีเรื่องของความสวยงามจากแสงไฟ RGB บนโมดูลของแรม ซึ่งนอกจากจะมีความโดดเด่น สวยสะดุดตาแล้ว ยังให้ผู้ใช้ปรับแต่งให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อีกด้วย
ซึ่งจากครั้งก่อนๆ ทีมงานได้เคยทดสอบกันไปบนเมนบอร์ด ASUS และ ASRock ไปบ้างแล้ว และสามารถใช้งานด้วยการซิงก์แสงไฟเข้ากับฟีเจอร์ของเมนบอร์ดเองก็ได้ อย่าง POLYCHROME SYNC บน ASRock เป็นต้น ซึ่งในครั้งนี้ทดสอบร่วมกับเมนบอร์ด AORUS ซึ่งจะใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าให้สะดวกมากขึ้น สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ของ Kingston ในชื่อ FURY CTRL โดยแสงไฟ RGB จะปรากฏบน Lightbar ที่อยู่ด้านบน โดยเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า Infrared Sync ซึ่งจะทำให้การซิงก์แสงไฟเป็นไปอย่างเรียบเนียน และแสดงผลออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
กับการใช้งานนั้น สามารถดาวน์โหลด FURY CTRL ได้จากเว็บไซต์ เมื่อนำมาติดตั้งในระบบเสร็จแล้ว ก็ใช้งานได้ทันที และยังใช้งานง่ายอีกด้วย หน้าตาของซอฟต์แวร์จะเป็นลักษณะนี้ มีโพรไฟล์แสงให้เลือกถึง 18 รูปแบบ และในบางโพรไฟล์ยังให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่ง Customize ได้ตามใจชอบอีกด้วย จากตัวอย่างนี้บนโพรไฟล์ Wind จะมีให้เลือกแถบสีที่ปรากฏ แยกเป็น Sequence ที่เคลื่อนไหวติดต่อกันได้
และเมื่อเลือกโพรไฟล์แสงสี ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงปรากฏบนโปรแกรมให้เห็นแบบเรียลไทม์ และเมื่อได้แสงแบบที่พอใจ ก็ยังเลือกปรับระดับความสว่าง ความเร็วในการเคลื่อนไหว ความหน่วง หรือแถบแสงและทิศทาง เรียกว่ามีให้เลือกใช้อย่างละเอียด
ในแง่ของความสวยงาม บอกได้เลยว่าแม้ในเคสของคุณจะเป็นรุ่นเก่า หรือแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้มีสีสันแต่อย่างใด แค่เพิ่มแสงไฟจากแรม Kingston FURY นี้เข้าไป ก็ทำให้เคสของคุณมีความสดใส สวยสะดุดตามากขึ้น เนื่องจากแถบสีมีความสว่างสดใส โดดเด่นท่ามกลางความมืดภายในเคสได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี หากต้องการปรับจูนแสงที่ซิงก์กับอุปกรณ์อื่นๆ อาจจะต้องปรับจูนร่วมกับซอฟต์แวร์ RGB ของเมนบอร์ด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
เมื่อปรับแต่งทุกอย่างเสร็จสิ้น ยังสามารถบันทึกเป็นโพรไฟล์เพื่อเก็บเอาไว้ใช้ กรณีที่อยากจะปรับแต่งแสงไฟในรูปแบบอื่นๆ หรือมีฮาร์ดแวร์ใหม่เข้ามาซิงก์ร่วมกัน หรืออยากลองเปลี่ยนสไตล์ของสีดูบ้าง ก็บันทึกเอาไว้ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด
นอกจากในเรื่องของการปรับแสงสี ในซอฟต์แวร์ FURY CTRL ก็ยังมีข้อมูลของแรมระบุเอาไว้ให้ดูอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว, ค่า CL, แรงดันไฟ และอุณหภูมิในระหว่างการทำงาน โดยจะรวมอยู่ในแถบเมนูเครื่องมือด้านบนขวาของโปรแกรมนั่นเอง
Conclusion
Kingston FURY Renegade DDR5 8400 RGB CUDIMM เป็นแรมที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่งของค่ายนี้ ที่ออกแบบมาเพื่อคอเกมและคนที่อยากเพิ่มเติมความสวยงามและความแรงให้กับพีซีควบคู่กันไป เพราะได้ทั้งความจุระดับ 48GB และความเร็วถึง 8400MT/s รวมถึงแสงไฟ RGB ในแบบ Infrared Sync ที่ให้ความสวยเนียน และแสงที่สว่างสดใส ปรับแต่งได้ตามใจ การใช้งานก็สะดวกกว่า UDIMM ที่รวมเอาโพรไฟล์ของความเร็วเอาไว้ในตัว ผู้ใช้จะสามารถจัดการหรือปรับความเร็วได้สะดวก และยังใช้ร่วมกับ XMP 3.0 Profile ได้เช่นเดียวกัน การโอเวอร์คล็อกก็ยังทำได้เช่นกัน เพียงแต่อาจจะต้องพอมีพื้นฐานความเข้าใจ ในการปรับใช้บน BIOS ของเมนบอร์ดอยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในช่วงแรกนี้ การใช้งานจะเน้นไปที่ชิปเซ็ตใหม่อย่าง Intel Z890 เป็นหลัก แต่ก็ยังใช้แรมนี้ร่วมกับเมนบอร์ดรุ่นเก่าได้เช่นกัน แต่การปรับแต่งบางส่วน จะไม่ได้มีเหมือนกับเมนบอร์ดที่รองรับ CUDIMM โดยตรงนั่นเอง สนนราคา ณ เวลานี้ Dec 2024 ยังไม่ได้เคาะออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จะมาอัพเดตเพิ่มเติมให้ในบทความนี้ภายหลังกันอีกครั้ง