Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

20 คำศัพท์เลือกซื้อการ์ดจอ ต้องดูอะไร สิ่งใดบอกรุ่น ซีรีส์ รู้แล้วซื้อไม่พลาด

การ์ดจอคือหนึ่งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะกับเกมเมอร์ และผู้ที่ต้องการใช้พลังประมวลผลจากการ์ดจอที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะทางได้ดี แต่ตัวของการ์ดจอเองก็มีออกมาหลากหลากรุ่น หลายสเปคจากผู้ผลิตรายต่าง ๆ ทำให้ในการเสนอขายก็จะเต็มไปด้วยคำศัพท์เชิงเทคนิคมากมาย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า 20 คำที่เรามักเจอในการบอกสเปคจะมีอะไรบ้าง จะได้เลือกซื้อการ์ดจอได้ตรงความต้องการที่สุด แบบเหมาะสมกับงบประมาณที่มีในกระเป๋า และถ้าอยากจะตั้งค่าการ์ดจอให้เล่นเกมไหลลื่นได้มากกว่าเดิมไปที่นี่ได้เลย

20 คำที่เจอตอนซื้อการ์ดจอ

20 คำศัพท์เลือกซื้อการ์ดจอ


Clock

เป็นคำที่ใช้บอกถึงความเร็วของหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของการ์ดจอรุ่นนั้น ๆ จะมองว่าเหมือนการบอกความเร็วใน CPU ก็ว่าได้เช่นกัน โดยแน่นอนว่ายิ่งเร็วก็ยิ่งมีโอกาสที่การ์ดจอรุ่นนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นที่มีคล็อกต่ำกว่า (ย้ำว่าแค่มีโอกาสเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของการ์ดจออีก) มีหน่วยวัดเป็น MHz ต่างจาก CPU ที่ปัจจุบันใช้ GHz กันเป็นส่วนใหญ่

Advertisement

ส่วนเวลาที่เขียนบอกสเปคการ์ดจอ อันนี้จะแปลกนิดนึง เพราะความเร็วของ GPU ส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลักพัน MHz เช่น 1600MHz ที่ถ้าอิงตามหลักการใช้คำนำหน้าพวก Mega (M) หรือ Giga (G) เราควรเขียน 1600MHz ว่าเป็น 1.6GHz แทน เนื่องจาก 1,000M = 1G แต่กลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่เราจะเจอการเขียนหน่วยของความเร็วที่ใช้ G นำหน้าก็แค่ความเร็ว CPU เท่านั้น อีกทางก็คือการบอกความเร็วการรับส่งข้อมูล เช่น Gbps

ซื้อการ์ดจอ

ข้อความที่มักใช้ในการระบุสเปคว่าเป็นความเร็ว GPU จะเขียนไว้ประมาณว่า Core Clock, Base Clock หรือไม่ก็เขียนเป็นภาษาไทยมาเลย แต่ใกล้ ๆ กันก็จะมีตัวเลขความเร็วอีกอันที่ค่าสูงกว่ามาให้ด้วย โดยมากแล้วจะเป็นเลขความเร็ว GPU ในสถานะที่การ์ดจอบูสท์ความเร็วตัวเองขึ้นมา เพื่อบอกว่าคล็อกสูงสุดที่ทำได้ของการ์ดจอรุ่นนี้เป็นเท่าไหร่ บางทีก็อาจจะมีบอกรายละเอียดย่อยเพื่อแยกไปอีกว่าเป็นการบูสท์สูงสุดเท่าที่ทำได้ การบูสท์สูงสุดขณะเล่นเกม

ซึ่งเลขเหล่านี้ก็อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามที่แต่ละผู้ผลิตจะออกแบบและปรับจูนมา เพราะตัวชิป GPU จริง ๆ ที่อยู่ในการ์ดจอแต่ละยี่ห้อ ถ้าเป็นชิปในซีรีส์เดียวกัน เช่น RTX 4070 การ์ดจอรุ่นนี้ทุกตัวจะใช้ชิปและโครงสร้างการใช้ชิ้นส่วนแบบเดียวกัน มีการปรับแต่งเล็กน้อยบางจุดภายใต้มาตรฐานที่ผู้ผลิตชิปกำหนดมา แต่จะแตกต่างกันที่การปรับจูนความแรง การบูสท์ความเร็ว และการพัฒนาระบบระบายความร้อน

ดังนั้นถ้าเลือกในใจได้แล้วว่าจะใช้การ์ดจอ RTX, RX หรือ Arc รุ่นไหนแล้ว เวลาเจอกับยี่ห้อต่าง ๆ อาจจะต้องดูสเปคละเอียด ถึงจะพอแยกความแตกต่างและช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อการ์ดจอได้ง่ายขึ้น

ซื้อการ์ดจอ

ส่วนที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวเลขความเร็ว GPU ที่สูงกว่า อาจจะไม่ได้ความว่าการ์ดจอรุ่นนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการ์ดจอที่คล็อกต่ำกว่าก็ได้ อันนี้ก็เนื่องมาจากเทคโนโลยีการ์ดจอที่มีการพัฒนาขึ้นในทุกปี ทำให้ปัจจัยอื่นมีผลต่อความแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความเร็วคล็อกเลย เช่น ความกว้างของบัสรับส่งข้อมูล ความเร็ว/ปริมาณแรม จำนวนคอร์ประมวลผล อย่างเช่นตัวอย่างในภาพตารางด้านบนที่เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ Techpowerup จะเห็นจากสองรุ่นที่ไฮไลท์สีน้ำเงินไว้ ตัวของ GTX 1630 มี GPU clock ที่สูงกว่า RTX 3050 ถึงราว 700MHz แต่ถ้าเทียบความแรงกัน แม้จะไม่ต้องเปิด benchmark เช็คก็คงพอทราบกันอยู่แล้วว่า RTX 3050 นั้นแรงกว่า GTX 1630 มาก

ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ถ้าเทียบแบบคร่าวมาก ๆ โดยใช้ข้อมูลจากตารางตัวอย่าง จะเห็นเลยว่าการ์ดจอสองรุ่นนี้ออกมาห่างกันประมาณ 1 ปีกว่า ๆ แน่นอนว่าเทคโนโลยีมันย่อมต่างกัน ถัดมาคือบัสที่ RTX 3050 ใช้เป็น PCIe 4.0 ที่ใหม่กว่า แรมการ์ดจอก็มีมากกว่า บัสแรมกว้างกว่า ความเร็วแรมสูงกว่า และที่สำคัญมากคือจำนวนคอร์ประมวลผล (Shaders) ที่มากกว่ากันราว 4 เท่าตัว นั่นจึงทำให้เราไม่สามารถใช้ความเร็วคล็อกเป็นปัจจัยหลักเดี่ยว ๆ ในการเทียบความแรงการ์ดจอได้นั่นเอง

ซื้อการ์ดจอ

OC

ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับตัวตนแบบ IC/OC ของเกมชื่อดังนะครับ แต่เป็นคำย่อมาจากคำว่า overclock ที่สำหรับการบอกสเปคการ์ดจอ ก็คือการบอกว่าการ์ดจอรุ่นนี้ได้รับการโอเวอร์คล็อกเร่งความเร็ว GPU มาจากโรงงานเลย ทำให้ตัวการ์ดสามารถทำความเร็วตอนบูสท์ได้สูงขึ้นกว่ามาตรฐานของตัวชิปอีกเล็กน้อย โดยที่ตัวการ์ดสามารถทำงานได้ตามปกติ ไม่มีปัญหากับระบบระบายความร้อน อีกนัยหนึ่ง ฝั่งกลุ่มลูกค้าก็มองว่าช่วยทำให้มั่นใจขึ้น ว่าชิปที่ใช้ทำการ์ดจอใบนี้น่าจะผ่านการคัดมาแล้วว่าทนร้อน และเร่งความเร็วได้ ก็น่าจะมีความทนทานกว่าการ์ดจอรุ่นปกติที่ไม่มีการ OC มาจากโรงงาน อย่างไรก็ตาม คงยืนยันในประเด็นนี้ไม่ได้ 100% แต่ที่แน่ ๆ คือการ์ดจอทุกใบล้วนผ่านการทดสอบ ตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์การใช้งานแบบมาตรฐานระดับผู้ใช้งานกันอยู่แล้ว ถ้าประกอบแบบถูกวิธี และไม่ได้ใช้งานแบบโหดจนเกินไป ส่วนถ้าถามว่าควรเลือกซื้อการ์ดจอที่ OC มาหรือไม่ อันนี้ถ้าราคามันไม่ได้ต่างจากรุ่นธรรมดามากนัก สเปคอื่นก็พอ ๆ กัน แบบนี้ก็เลือกรุ่น OC ไปเลยก็ดีครับ อย่างน้อยก็ได้ความเร็วสูงกว่านิดนึง เพื่อความสบายใจ

วิธีดูว่าการ์ดจอรุ่นไหนได้รับการโอเวอร์คล็อกมาจากโรงงานแล้วบ้าง หลัก ๆ ก็จะมีให้ดูอยู่สองจุด หนึ่งคือที่ชื่อรุ่น บางตัวจะมีคำว่า OC รวมมาในชื่อเลย เช่น Radeon RX 7900 XT OC Edition หรือถ้าไม่มีบอก ก็ให้เข้าไปดูในหน้าสเปค ตรงบริเวณใกล้ ๆ หัวข้อความเร็วคล็อก ถ้ามีก็มักจะใช้การบอกความเร็วสูงสุดหลังการ OC หรือมีคำว่า overclock อยู่ด้วย

ซื้อการ์ดจอ

GDDR / Gig (กิ๊ก) / Bit

การ์ดจอเป็นฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยความจำแรมแยกเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เพื่อใช้สำหรับเก็บและพักข้อมูลทั้งที่รอการประมวลผล และที่เตรียมส่งออกไปแสดงภาพ ซึ่งหน้าที่ก็เหมือนกับแรมหลักในระบบคอมพิวเตอร์เลย สำหรับการเรียกแรมการ์ดจอมักจะใช้คำย่อว่า VRAM เพื่อป้องกันความสับสนกับแรมหลักของระบบ

ส่วนประเภทของชิปหน่วยความจำที่นำมาใช้ทำ VRAM ก็จะมีสเปคที่แตกต่างจาก DDR ที่ใช้ทำแรมหลักด้วย โดยจะใช้ชื่อเรียกว่า GDDR คุณสมบัติเด่นคือเป็นชิปแรมที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนด้านการประมวลผลกราฟิกโดยเฉพาะ ด้วยแบนด์วิธที่มากกว่า เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลด้านกราฟิกได้รวดเร็ว ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน การ์ดจอมีทั้งรุ่นที่ใช้แรม GDDR และรุ่นราคาย่อมเยากว่าที่ใช้แรม DDR ที่แน่นอนว่าประสิทธิภาพก็ลดหลั่นลงมาด้วย แต่ในปัจจุบันจะหันมาใช้แรม GDDR กันทั้งหมดแล้ว อย่างต่ำสุดก็เป็น GDDR3 ส่วนใหม่สุดตอนนี้คือ GDDR6X และคาดว่าในปีนี้เราน่าจะได้เห็นการ์ดจอที่ใช้แรม GDDR7 ออกมาด้วย กับซีรีส์ RTX 5000 จาก NVIDIA และ RX 8000 จาก AMD

ซื้อการ์ดจอ

ปริมาณแรมที่ให้มากับการ์ดจอคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพิจารณาเลือกซื้อการ์ดจอ เพราะยิ่งมีแรมมาก (บวกกับแรมเร็ว) ก็จะช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นตาม สามารถเรนเดอร์กราฟิกหนัก ๆ ที่มีรายละเอียดเยอะได้ เรนเดอร์งานขนาดใหญ่ได้สะดวก รวมถึงกลุ่มที่นำการ์ดจอไปใช้ประมวลผลอื่น ๆ เช่น AI งานสาย deep learning กลุ่มนี้ก็ต้องการแรมการ์ดจอปริมาณมากเช่นกัน โดยแรมของการ์ดจอจะมีหน่วยเป็น Gigabyte (GB) เหมือนกับแรมหลักของเครื่องเลย ทำให้บางครั้งเราอาจจะเจอการบอกหน่วยแรมเป็นคำว่ากิ๊กที่เป็นภาษาพูดก็ได้ เช่น การ์ดจอตัวนี้แรม 12 กิ๊ก (12GB)

โดยปริมาณแรมการ์ดจอจะถูกกำหนดมาตามสเปคของผู้ผลิตชิป GPU อย่าง NVIDIA และ AMD อยู่แล้ว เช่นในภาพด้านบน ส่วนของข้อมูลหน่วยความจำด้านล่างจะมีการระบุไว้เลยว่า RTX 4070 แต่ละรุ่นย่อยจะมี VRAM แบบ GDDR6X ความจุเท่าไหร่บ้าง แตกต่างกันไปตามการจัดระดับความแรงและราคา ซึ่งผู้ผลิตการ์ดจออย่าง ASUS, Gigabyte, Galax และอื่น ๆ ก็ต้องยึดสเปคแรมการ์ดจอตามนี้ ทำให้การ์ดจอรุ่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะมาจากผู้ผลิตรายได้ สเปคแรมจะเหมือนกันทั้งหมด ประเด็นเรื่องแรมจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องเจาะลึกเป็นพิเศษมากนักในการเลือกซื้อการ์ดจอ

ซื้อการ์ดจอ

อีกคำที่มักมีการระบุไว้ที่หน้าเสนอขายการ์ดจอก็คือบิต (bit) ในกรณีนี้จะหมายถึงความกว้างแบนด์วิธของ VRAM การ์ดจอใบนั้น ๆ โดยมากแล้วยิ่งรุ่นสูงกว่า ราคามากกว่า ก็มักจะมีบิตที่สูงกว่าด้วย เช่น

  • RTX 4050 มี 96 bit
  • RTX 4060 มี 128 bit
  • RTX 4070 มี 192 bit ส่วนรุ่น Ti Super มี 256 bit
  • RTX 4080 มี 256 bit
  • RTX 4090 มี 384 bit

จะเห็นว่ามีตัว 4070 Ti Super ที่มีบิตของ VRAM กว้างกว่า 4070 ปกติ จนไปเท่ากับ 4080 เลย แต่ถ้าไปเทียบสเปคส่วนอื่นแบบละเอียดกัน ก็แน่นอนว่า 4080 ยังเหนือกว่าอยู่ดี ทำให้ยังมีระยะห่างระหว่างสองรุ่นนี้อยู่ ในขณะเดียวกันก็ห่างจากรุ่น 4070 ปกติด้วยเช่นกัน โดยแบนด์วิธที่กว้างกว่า ก็เปรียบเหมือนมีถนนเลนใหญ่ให้รถวิ่งพร้อมกันได้จำนวนมาก นั่นคือสามารถรับส่งข้อมูลได้มากกว่าในเวลาที่เท่ากัน ส่งผลถึงประสิทธิภาพที่จะสูงกว่าการ์ดจอที่มี bit น้อยกว่า หากเทียบใน gen เดียวกัน


PCIe / Interface

เป็นส่วนที่ระบุถึงรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างการ์ดจอเข้ากับเมนบอร์ด โดยการ์ดจอสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในปัจจุบันทั้งหมดจะใช้อินเตอร์เฟส (ส่วนขั้ว) ตามมาตรฐาน PCI Express (PCIe) ทั้งหมด สำหรับคำที่ใช้ในการบอกก็อาจจะมีระบุว่าเป็น Interface หรือมีคำว่า Bus ประกอบอยู่ หรือไม่ก็ใช้การบอกว่าเป็น PCIe ไปเลย

ซึ่งจุดนี้จะมีการพ่วงข้อมูลเวอร์ชันของ PCIe ที่การ์ดจอรุ่นนั้น ๆ รองรับด้วย เช่น PCIe 4.0 x16 ที่จะหมายถึงว่าการ์ดจอรุ่นนี้ใช้ PCIe 4.0 และมีการเชื่อมต่อกับ PCIe เพื่อรับส่งข้อมูลได้สูงสุด 16 เลน โดยการ์ดจอที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดจะเป็น x16 ส่วนเวอร์ชันของ PCIe ก็จะให้มาที่ 4.0 มาเลย สำหรับการ์ดจอที่ออกมาในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้

ซื้อการ์ดจอ

สำหรับการเลือกซื้อการ์ดจอมาใช้กับเมนบอร์ด แม้ว่าตัวบอร์ดจะรองรับแค่ PCIe 3.0 แต่ก็สามารถหาการ์ดจอที่เป็น PCIe 4.0 หรือสูงกว่ามาใช้ได้ครับ โดยประสิทธิภาพก็จะตันสุดที่ระดับของ 3.0 เท่านั้น ในทางกลับกันหากเมนบอร์ดเป็น 4.0 แต่การ์ดจอแค่ 3.0 อันนี้ผลก็จะออกมาคล้ายกัน คือตันที่ระดับของตัวที่ต่ำกว่า ดังนั้นหากเป็นไปได้ ทางที่ดีก็ควรเลือกการ์ดจอที่เป็น PCIe 4.0 x16 เป็นหลักไว้ก่อนเลย


Slot

คือข้อมูลที่ระบุว่าการ์ดจอใบนั้น ๆ จะกินพื้นที่ในการติดตั้งตามแนวยาวของเมนบอร์ดลงมาเท่าไหร่ คิดเป็นตำแหน่งของพอร์ต PCIe บนบอร์ดไปกี่ช่อง ถ้าให้เห็นภาพก็ให้ดูจากด้านหลังเคสได้เลย

ซื้อการ์ดจอ

การนับสล็อตก็ให้ดูง่าย ๆ ที่ตรงแผงด้านหลังเคสว่าการ์ด PCIe แต่ละใบต้องถอดแผงปิดด้านหลังออกกี่อัน เพื่อให้สามารถติดตั้งการ์ดให้หน้าพอร์ตเชื่อมต่อออกมาที่ช่องด้านหลังเคสได้ ซึ่งผู้ผลิตจะออกแบบเคสมาให้สล็อตเหล่านี้มีตำแหน่งตรงกับพอร์ต PCIe บนเมนบอร์ดพอดี อย่างในภาพด้านบนจะเห็นว่าการ์ดจอด้านบนจะมีขนาดที่หนา และต้องถอดแผงด้านหลังออก 2 อัน ก็เท่ากับว่าเป็นการ์ดจอ 2 สล็อต ส่วนการ์ด Wi-Fi ด้านล่างที่เสียบกับพอร์ต PCIe x1 อยู่ จะกินพื้นที่แค่ 1 สล็อตเท่านั้น

ข้อมูลนี้มีความสำคัญตรงที่จะทำให้เราสามารถดูขนาดคร่าว ๆ ก่อนซื้อได้ว่าถ้าติดตั้งการ์ดจอลงไปแล้ว จะกินพื้นที่เมนบอร์ดในแนวตั้งลงมาเท่าไหร่ เพราะพื้นที่ส่วนที่จะถูกกินไปนั้น จะไม่สามารถติดตั้งการ์ด PCIe ใบอื่น ๆ ได้เลย ตัวอย่างจากในภาพด้านบน หากสังเกตดี ๆ ตรงบริเวณใต้การ์ดจอจะมีพอร์ต PCIe x1 ขนาดเล็ก ๆ อยู่ ซึ่งตำแหน่งนั้นจะไม่สามารถติดตั้งการ์ดเสริมอะไรลงไปได้เลย เพราะจะติดกับแผงระบายความร้อนของการ์ดจอ หรือต่อให้ติดตั้งได้ก็จะอาจจะไปลดประสิทธิภาพของการระบายความร้อนอีก ยิ่งถ้าเป็นเมนบอร์ด mATX หรือบอร์ดขนาดเล็กที่มีช่อง PCIe น้อย หากใช้การ์ดจอที่กินสล็อตเยอะ ๆ ก็เท่ากับว่าเราแทบจะไม่สามารถติดตั้งการ์ดเสริมอื่นที่ช่อง PCIe ได้มากนัก เช่นการ์ด Wi-Fi การ์ดเสียง การ์ด Thunderbolt เป็นต้น

ซื้อการ์ดจอ

แต่หากลองดูในเว็บขายสินค้าไอที จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ระบุจำนวนสล็อตที่การ์ดจอต้องใช้ในการติดตั้งกันเท่าไหร่ อันนี้จึงอาจจะต้องอาศัยการตรวจสอบจากรูปภาพแทน อย่างในภาพด้านบนนี้ที่เป็นการ์ดจอของ Intel จะเห็นว่าตัวการ์ดค่อนข้างบาง และที่แผงด้านหลังตรงส่วนที่หักงอออกมา จะมีบ่าสำหรับขันน็อตยึดแค่ช่องเดียวเท่านั้น แบบนี้คือการ์ด 1 สล็อต โดยมากแล้วจะพบในกลุ่มการ์ดจอที่ไม่เน้นความแรงมากนัก การ์ดจอที่ไม่ค่อยร้อนมากจนผู้ผลิตไม่ต้องใส่ฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงพวกการ์ดจอแบบ low-profile ที่เน้นสำหรับใส่เครื่องขนาดเล็กที่มีพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ภายในน้อย

ซื้อการ์ดจอ

การ์ดจอส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะเป็นแบบ 2 สล็อตซะมากกว่า โดยให้ดูที่แผงที่งอออกมาเช่นกัน จะเห็นว่ามีช่องสำหรับยึดน็อตมากกว่า ประกอบกับความหนาของการ์ดก็จะมากกว่าด้วย โดยปกติแล้วจะมีความหนา (ความสูงของการ์ด) ไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว แต่สำหรับการ์ดจอรุ่นใหญ่ที่มีฮีตซิงค์ขนาดใหญ่มาก ๆ ตัวการ์ดก็จะยิ่งหนาขึ้นไปอีก และอาจกินพื้นที่เมนบอร์ดในแนวยาวที่เกินกว่าขนาดของสล็อตติดตั้งได้อีก อันนี้ก็แนะนำว่าให้ดูจากความสูงของการ์ดเป็นหลักจะชัวร์กว่า ซึ่งผู้ผลิตมักจะระบุข้อมูลส่วนนี้ไว้ให้อยู่แล้ว รวมถึงอีกสามค่าที่สำคัญอย่าง

  • ความยาว เพื่อดูว่าเคสใหญ่พอติดตั้งการ์ดจอหรือไม่
  • ความกว้าง เพื่อดูว่าเมื่อติดตั้งแล้ว การ์ดจะอยู่สูงขึ้นมาจากเมนบอร์ดเท่าไหร่ ปิดฝาข้างเคสได้หรือไม่
  • น้ำหนักการ์ดจอ

DirectX

ใช้เพื่อระบุว่าการ์ดจอรุ่นนั้น ๆ รองรับ DirectX ได้สูงสุดในขณะนั้นที่เวอร์ชันเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันก็ถูกลดความสำคัญลงไปมากแล้ว เพราะเทคโนโลยีของฝั่ง DirectX เองก็ไม่ได้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมาก ๆ อย่างในช่วง DX7, DX8, DX9 และ DX10 แล้ว

ส่วนการ์ดจอในปัจจุบัน ขั้นต่ำ ๆ ก็จะเริ่มต้นรองรับที่ DirectX 12 กันทั้งหมด แม้กระทั่ง GeForce GT710 และรุ่นยอดฮิตอย่าง GTX 950 ยังเริ่มมาที่ DX12 เลย ส่วนถ้าเป็นการ์ดจอรุ่นใหม่ ๆ หน่อยก็จะขยับมาเป็น DirectX 12 Ultimate กันหมด ส่วนถ้าจำเป็นต้องติดตั้ง DX เวอร์ชันเก่ากว่าก็สามารถทำได้อยู่แล้ว


TGP / Watt (W)

ใช้บอกว่าการ์ดจอรุ่นนั้นมีอัตราการกินไฟกี่วัตต์ เพื่อให้สามารถเลือกซื้อ PSU ได้เหมาะสมกับทั้งระบบ ซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเลยว่าตัวการ์ดกินไฟกี่วัตต์ หรือไม่ได้บอกว่าเป็นค่า TGP โดยตรง แต่จะใช้ระบุข้อมูลว่าควรเลือกใช้ PSU ที่มีกำลังไฟกี่วัตต์ เพื่อให้สามารถใช้การ์ดจอใบนั้นได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็อย่าลืมว่าสุดท้ายเราก็ต้องเลือก PSU เผื่อให้กับ CPU และอุปกรณ์อื่นด้วยอยู่ดี ดังนั้นอาจจะลองหาข้อมูลค่า TGP สูงสุดจริง ๆ ของการ์ดจอรุ่นที่ต้องการซื้อมาก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาอีกทีว่าทั้งระบบจะกินไฟพีคสุดกี่วัตต์ แล้วค่อยเลือก PSU ที่เหมาะสม หรือถ้าจะอัปเกรดเครื่องแบบใช้ PSU เดิม หากนำค่า TGP จริงมาคำนวณก็จะช่วยให้สามารถเลือกซื้อการ์ดจอได้ง่ายขึ้นด้วย


DisplayPort / HDMI / DVI

คือชื่อพอร์ตสำหรับต่อภาพจากการ์ดจอออกไปยังหน้าจอ หน้าตาเป็นตามภาพด้านล่างนี้

ซื้อการ์ดจอ
  • 1 = DisplayPort จำง่าย ๆ คือหัวสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่มีหักอยู่หนึ่งมุม
  • 2 = HDMI จำง่ายคือหน้าพอร์ตเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู
  • 3 = DVI

โดยปกติแล้วการ์ดจอรุ่นหลัง ๆ จะให้ DisplayPort มาเยอะกว่า HDMI หรืออย่างดีหน่อยก็ให้มาเท่ากันแบบ 2:2 ส่วน DVI แทบจะไม่มีให้มาแล้ว นอกจากในการ์ดจอรุ่นเริ่มต้นแบบสุด ๆ หรือในการ์ดจอรุ่นซัก 5 ปีก่อนหน้านี้ขึ้นไป ส่วนความสำคัญเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อก็จะเห็นได้ชัดสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานหลายหน้าจอพร้อมกัน เพราะสายต่อจอจะต้องมาต่อกับพอร์ตที่การ์ดจอทั้งหมด ทำให้ควรที่จะเช็คข้อมูลก่อนซื้อซักนิดนึงว่าการ์ดจอที่เล็งไว้มีพอร์ตอะไร เท่าไหร่บ้าง เพื่อจะได้สามารถใช้งานหลายจอได้ตามต้องการ หรือเผื่อต้องซื้อสายต่อ หัวแปลงสายเพิ่มแล้วแต่กรณี


Technology

คำต่าง ๆ เหล่านี้เป็นชื่อเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแสดงผล และเทคโนโลยีของแต่ละค่ายการ์ดจอที่มักจะเจอบ่อยในการพูดถึงการ์ดจอ อธิบายได้ดังนี้

Ray Tracing

เป็นเทคนิคการให้แสงในภาพที่ผ่านการคำนวณซับซ้อน เพื่อให้ได้แสงเงาในภาพที่สมจริงใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในปัจจุบันสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของวัตถุและแหล่งกำเนิดแสงในภาพได้แบบเรียลไทม์ด้วย ต่างจากการเรนเดอร์กราฟิกในยุคก่อนหน้าที่มักจะใช้การคำนวณแสงเงาแบบตายตัวมาเลย โดยจะนำมาใช้กับการแสดงผลในหลาย ๆ จุดที่แสงเงามีผลต่อการแสดงภาพได้อย่างสมจริง เช่น เงาสะท้อนในกระจกและบนผิวน้ำ การหักเหแสงผ่านวัตถุ การเกลี่ยเงา ความตื้นลึกของมิติภาพที่เกิดจากแสง เป็นต้น

ปัจจุบัน ประสิทธิภาพของการ์ดจอรุ่นใหม่ ๆ นั้นสูงขึ้นจนสามารถคำนวณการให้แสงแบบ ray tracing ได้ เราจึงได้เห็นภาพในเกมที่แสงเงา ภาพสะท้อนดูสมจริงกว่าในอดีตมาก แต่ก็ยังคงต้องแลกมาด้วยเฟรมเรตในเกมที่ลดลงไปบ้าง ส่วนค่ายการ์ดจอที่มีชื่อเสียงในเรื่อง ray tracing ก็จะเป็น NVIDIA ที่นำหน้ามาก่อนใครด้วยการใส่ RT Core ที่เป็นคอร์สำหรับคำนวณด้าน ray tracing โดยเฉพาะมาในการ์ดจอซีรีส์ RTX ของตนเอง ส่วนคู่แข่งอย่าง AMD ก็ตามหลังมาแบบกระชั้นชิดแล้ว แม้จะไม่ได้มีคอร์ RT แยกมาก็ตาม ส่วนพวก iGPU ที่อยู่ใน CPU และ SoC ต่าง ๆ ก็รองรับการประมวลผล ray tracing บ้างแล้วเหมือนกัน

ซื้อการ์ดจอ

CUDA

CUDA คือชื่อแพลตฟอร์มการประมวลผลแบบขนานของ NVIDIA ที่เปิดให้ซอฟต์แวร์ภายนอกสามารถใช้การ์ดจอช่วยเร่งในการประมวลผลได้ ย่อมาจาก Compute Unified Device Architecture จุดประสงค์ก็คือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานบางประเภท โดยอาศัยการประมวลผลของคอร์ CUDA ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ มีจุดเด่นคือปริมาณคอร์ที่เยอะมากเป็นหลักพันหลักหมื่นคอร์ จึงทำให้สามารถแบ่งงานออกไปได้เยอะ และช่วยกันทำงานได้เร็ว โดยมากแล้วมักจะนำมาใช้ประมวลผลงานซับซ้อน เช่น การคำนวณด้านการแพทย์ การขุดคริปโต การเรนเดอร์ในโปรแกรมด้านกราฟิก/วิดีโอ ถอดรหัสไฟล์ รวมถึงช่วยเสริมการเรนเดอร์กราฟิก 3D ในเกมด้วย ส่วนการเรนเดอร์ภาพออกสู่จอ จะเป็นหน้าที่ของ Shader Core แทน ซึ่งมักไม่ถูกกล่าวถึงเท่าไหร่ในเชิงการขาย

ในหน้าบอกสเปคการ์ดจอมักจะมีการระบุจำนวนคอร์ CUDA มาให้ด้วย โดยถ้าเป็นการ์ด NVIDIA รุ่นเดียวกัน ก็จะมีจำนวนคอร์เท่ากันทั้งหมด เช่นถ้าเป็น RTX 4060 ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็จะมีจำนวนคอร์เท่ากัน แต่ในบางครั้งก็อาจจะเขียนว่าเป็น Stream Processors ที่เป็นชื่อเรียกคอร์แบบคล้าย ๆ กันในฝั่ง AMD หรือใช้คำกลาง ๆ อย่าง Compute Units ก็ได้ แต่ถ้าพูดถึงคำว่า CUDA ก็จะดูคุ้นหูคุ้นตามากกว่าอยู่พอสมควร

ซื้อการ์ดจอ

RDNA

เป็นชื่อแพลตฟอร์มสถาปัตยกรรมการ์ดจอของ AMD ย่อมาจาก Radeon DNA เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2019 ในการ์ดจอซีรีส์ Radeon RX 5000 ถัดมาในปี 2020 ก็มี RDNA 2 ออกมาในการ์ดจอซีรีส์ Radeon 6000 และอยู่ใน iGPU ของชิป APU Ryzen 6000 กับ 7000 ด้วย

ส่วนเวอร์ชันล่าสุดในขณะนี้ก็จะเป็น RDNA 3 ที่อยู่ในการ์ดจอซีรีส์ Radeon 7000 และ APU Ryzen 7000/8000/Z1 ซึ่งแต่ละเวอร์ชันก็มีการพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้น หลัก ๆ ก็จะมีการเพิ่มจำนวนคอร์ต่าง ๆ และใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

DLSS / FSR / XeSS

คือชื่อเทคโนโลยีที่ใช้ในการอัปสเกลภาพ (upsampling) ที่หลักการทำงานคือจะให้ GPU เรนเดอร์ภาพในเกมที่ความละเอียดต่ำเพื่อลดภาระการทำงานของ GPU ลง จากนั้นก็ใช้เทคนิคในการอัปสเกลภาพให้มีความละเอียดสูงขึ้นแทน โดยยังได้ภาพที่ค่อนข้างคมชัดอยู่ ซึ่งเทคนิคการอัปสเกลภาพนี้จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป อย่างของ DLSS (NVIDIA) และ XeSS (Intel) จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้แบบ deep learning มาฝึกฝนชุดคำสั่งในการอัปสเกลภาพ โดยฝั่งของ DLSS จะมี Tensor Core มาช่วยด้วย จึงจำกัดว่าสามารถใช้งานได้เฉพาะบนการ์ดจอ NVIDIA ซีรีส์ RTX เท่านั้น

ส่วน XeSS ของ Intel แม้จะออกแบบมาให้ใช้ฮาร์ดแวร์ XMX Matrix Engine และชุดคำสั่ง XMX ในการ์ดจอ Intel Arc อัปสเกลภาพก็จริง แต่ก็เปิดให้การ์ดจอค่ายอื่นนำไปใช้ได้เช่นกัน โดยเลี่ยงไปใช้ชุดคำสั่งอื่นแทน ซึ่งก็แน่นอนว่าประสิทธิภาพที่ออกมาย่อมต่ำกว่าการใช้การ์ดจอของ Intel เองตรง ๆ

ด้านของ FSR จะเป็นเทคนิคการอัปสเกลภาพของ AMD จุดต่างคือจะไม่ได้นำ deep learning มาใช้ในการเทรนโมเดล AI เพื่ออัปสเกลภาพ แต่จะใช้พลังของ GPU ล้วน ๆ นั่นจึงทำให้สามารถนำไปใช้งานได้กับการ์ดจอทุกรุ่น แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลกับประสิทธิภาพของ GPU ด้วย แต่ก็ช่วยเพิ่มเฟรมเรตขึ้นได้จริงเช่นกัน

ซื้อการ์ดจอ

นอกจากนี้ใน DLSS 3 และ FSR 3.0 ขึ้นมา ยังมีฟังก์ชันการสร้างเฟรมภาพ (frame generation) เพื่อแทรกเข้ามาระหว่างเฟรมภาพที่เกิดจากการเรนเดอร์จริงได้ด้วย ทำให้ได้ภาพในเกมที่มีเฟรมเรตสูงขึ้นโดยที่ไม่สูญเสียความละเอียดภาพไป ซึ่งในแง่การทำงานก็จะมีความแตกต่างกันเช่นเคย อย่างฝั่งของ DLSS จะใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะที่มีในการ์ดจอ RTX 40 series เท่านั้น ส่วน FSR จะใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน

สำหรับในการซื้อการ์ดจอ ถ้าง่ายสุดก็คือการ์ดจอรุ่นใหม่ ๆ จะรองรับเทคโนโลยีกลุ่มนี้รุ่นใหม่กันอยู่แล้ว และอาจจะมีการอัปเดตเวอร์ชันเพิ่มเติมในอนาคต (ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านฮาร์ดแวร์ที่ต้องใช้) ซึ่งถ้ายิ่งใช้เวอร์ชันใหม่ได้ก็ยิ่งดีครับ อย่างน้อยเทคโนโลยีก็ใหม่กว่า ครบกว่า เล่นเกมได้เฟรมเรตลื่น ๆ ด้วยแม้จะเป็นการ์ดจอระดับกลางก็ตาม

ซื้อการ์ดจอ

สรุป – 20 คำที่ต้องเจอในการเลือกซื้อการ์ดจอ

ด้านบนทั้งหมดนี้ก็คือคำที่มักพบได้บ่อย ๆ ในการบอกสเปคการ์ดจอ ที่ก็จะมีตั้งแต่การบอกความแรงคล็อก ปริมาณแรมที่มี ชุดคำสั่งที่รองรับ เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ การกินไฟ รวมถึงลักษณะทางกายภาพที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่นขนาด ความสูงของการ์ด และพอร์ตเชื่อมต่อที่มี เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อการ์ดจอได้ตรงกับความต้องการและงบประมาณที่มี

ซึ่งสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ขอแค่เห็นคำเหล่านี้แล้วพอเข้าใจเบื้องต้นว่าหมายถึงอะไรบ้างก็เพียงพอแล้วครับ อย่างน้อยก็จะได้พอใช้เปรียบเทียบได้ โดยจุดสำคัญที่จะต้องตรวจสอบดี ๆ หน่อยก็ได้แก่

  • รุ่นของชิปการ์ดจอว่าเป็น RTX, RX หรือ Arc อะไร
  • แรมการ์ดจอมีเท่าไหร่ เพียงพอกับเกมที่จะเล่น งานที่จะใช้หรือเปล่า
  • PCIe อะไร เหมาะกับเมนบอร์ดที่มีหรือไม่
  • กินไฟขนาดไหน แล้ว PSU จ่ายไฟพอหรือเปล่า
  • การ์ดจอมีขนาดเท่าไหร่ สามารถใส่ในเคสที่มีหรือเคสที่จะซื้อได้หรือไม่ แล้วกินพื้นที่กี่สล็อต จะพอกับการใช้การ์ด PCIe เสริมหรือเปล่า (ถ้ามี)
  • ด้านหลังการ์ดจอมีพอร์ตอะไรให้ต่อจอออกได้บ้าง

ถ้าสามารถตรวจสอบและตอบคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ก็น่าจะช่วยให้สามารถเลือกการ์ดจอให้ตรงใจได้ง่ายขึ้นเยอะเลยทีเดียว

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก