Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

แรม 16GB อาจเริ่มต้นของ Windows รุ่นต่อไป คอมเก่าทำไง DDR4 ยังไหวมั้ย

Windows รุ่นต่อไป อาจต้องเริ่มต้นแรม 16GB เป็นมาตรฐาน จำเป็นมั้ย คอมเก่าไหวรึเปล่า?

ระบบปฏิบัติการ (OS) มีการพัฒนาความสามารถอยู่ต่อเนื่อง ในการจะไปสู่ Windows ใหม่แต่ละรุ่นก็มักจะต้องการความสามารถของฮาร์ดแวร์ที่สูงขึ้นด้วย เพื่อให้รองรับรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ได้ดี เช่น แรม (RAM) ซึ่งจุดที่มักเห็นชัดและสังเกตง่ายสุดก็คือแรม ที่จะอยู่ในหนึ่งข้อจำกัดด้านความต้องการของแต่ละซอฟต์แวร์และ OS อยู่เสมอ ล่าสุดก็มีข่าวลือออกมาว่า Microsoft อาจจะกำหนดให้ Windows รุ่นต่อไป สามารถทำงานได้ดีกับเครื่องที่มีแรม 16GB เป็นขั้นต่ำ ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าน่าจะมาจากสาเหตุอะไร รวมถึงจะมีการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องที่มีปริมาณแรมต่าง ๆ ด้วย เพื่อดูว่าแรมมีผลกับการใช้งานขนาดไหน

Windows รุ่นต่อไป แรม 16GB

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับแรมแบบคร่าว ๆ ซักนิดนึงก็น่าจะดี โดยแรม (RAM) นี้คือคำย่อมาจาก Random Access Memory แปลเป็นไทยคือหน่วยความจำที่ใช้การเข้าถึงแบบสุ่ม ในนิยามของระบบคอมพิวเตอร์จะถือว่าแรมเป็นหนึ่งในหน่วยความจำหลัก (primary storage) ในขณะที่ SSD/HDD จะเป็นเพียงหน่วยความจำรอง (secondary storage) โดยแรมที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่เราคุ้นเคยจะเป็นแรมประเภท SDRAM (Synchronous Dynamic RAM) ซึ่งจะเป็นแรมที่ทำงานสอดคล้องกับสัญญาณนาฬิกาของ CPU ด้วย จึงได้ชื่อว่าเป็น synchronous

Advertisement

หน้าที่ของแรม หากอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็ให้เปรียบแรมว่าเป็นเสมือนกระดาษทดแผ่นใหญ่ เวลาเราจะเขียนข้อมูลลงไป ก็จะพยายามแบ่งข้อมูลไปเขียนลงในจุดที่ว่างบนกระดาษ ตรงไหนว่างก็เขียนไป บางทีข้อมูลก้อนเดียวกันก็อาจจะต้องแบ่งกระจายกันไปในส่วนว่างที่ไม่ได้อยู่ติดกันบนกระดาษก็ได้ ขอแค่มีตารางเก็บข้อมูลไว้ว่าถ้าจะหาข้อมูลชุดนี้ ต้องไปตามหาจากจุดไหนบนกระดาษบ้าง

ส่วนในระบบคอมพิวเตอร์ก็จะทำงานตามลักษณะที่กล่าวถึงคร่าว ๆ ข้างต้นเลย โดยข้อมูลอาจจะมีมาทั้งข้อมูลดิบจาก SSD/HDD ที่ถูกดึงมารอไปใช้งาน ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้วจาก CPU เป็นต้น ทำให้แรมเป็นจุดพักกลางของข้อมูลต่าง ๆ ในระบบ จึงทำให้ปริมาณของแรมส่งผลกับความสามารถของเครื่องโดยตรง ยิ่งมีแรมเยอะ ก็เท่ากับมีพื้นที่ให้โปรแกรมต่าง ๆ ใช้สอยพร้อมกันได้เยอะตาม ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิดหลายโปรแกรมขึ้นมาทำงานพร้อมกันได้ราบรื่นขึ้น

แรม 16GB

ในทางกลับกัน หากมีแรมน้อยเกินไป ก็จะส่งผลให้ OS ต้องจัดสรรพื้นที่ว่าง จัดสรรลำดับงานตามความสำคัญได้ยาก และกระทบมาถึงประสิทธิภาพของเครื่องโดยตรง นึกภาพว่าถ้ากระดาษทดเต็ม แล้วเรารอเขียนข้อมูลลงไปอยู่ ก็ต้องรอระบบเคลียร์กระดาษทดให้ แถมพอได้พื้นที่เขียนลงไปตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องรีบเคลียร์ข้อมูลออกอีก ทีนี้ถ้าเป็นคอมที่ใช้ HDD จานหมุนอยู่ ก็จะไปเจอปัญหาคอขวดที่ความเร็วในการเขียนข้อมูลลง HDD อีกชั้นหนึ่ง นั่นจึงทำให้คอมในยุคก่อนหน้านี้ ถ้าแรมในระบบน้อยเกินไป จะส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการใช้งานอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในคอมยุคนี้ที่ใช้ SSD แน่นอนว่าถ้ามีแรมน้อยก็ยังส่งผลกับการใช้งานอยู่ แม้อาจจะไม่หนักเท่ายุค HDD แต่ก็ไปส่งผลถึงอายุการใช้งาน SSD แทน

แรม 16GB

จุดเด่นของแรม

  • มีราคา ต้นทุนและประสิทธิภาพในจุดที่กำลังดีเมื่อเทียบกับหน่วยความจำประเภทอื่น
    • แคชและรีจิสเตอร์ใน CPU – อันนี้เร็ว แรง แต่ต้นทุนสูง ใช้เก็บข้อมูลน้อย ๆ และคำสั่งที่ CPU กำลังจะใช้งาน หรือเพิ่งประมวลผลเสร็จ
    • SSD/HDD – ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่า อันนี้ก็เร็วขึ้นมาแล้ว แต่ยังเร็วไม่เท่าแรม
  • เป็นการอัปเกรดประสิทธิภาพเครื่องที่ทำได้ง่าย (ในเครื่องที่รองรับ) และจะเห็นผลมากถ้าสเปคเดิมมีแรมค่อนข้างน้อย

ข้อจำกัดหลักของแรม

  • สามารถเก็บข้อมูลได้เฉพาะตอนที่มีไฟหล่อเลี้ยงเท่านั้น ถ้าปิดเครื่อง ไฟดับคือจบ ข้อมูลในแรมหายหมด

ปัจจุบันแรมที่เราใช้กันจะเป็นแรมแบบ DDR ที่ถึงขณะนี้ก็เป็นยุค DDR5 แล้ว แต่ละยุคก็จะมีการพัฒนาในหลายด้าน เช่น ความเร็ว ความจุข้อมูล การใช้ไฟที่ลดลง หรือมีประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งแต่ละจุดก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพโดยรวมของระบบ และทำให้ OS สามารถจัดการงาน และแสดงพลังออกมาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนั่นเอง ยังไม่รวมถึงเรื่อง latency และค่า timing ต่าง ๆ อีก ที่มีการปรับระดับช่วงกันในแทบทุก gen เลย

แรม 16GB

เกริ่นเรื่องแรมกันมาพอสมควรแล้ว ทีนี้เรามาดูที่ฝั่งระบบปฏิบัติการ (OS) บ้าง ปกติแล้วในการติดตั้ง OS ทางผู้พัฒนาจะมีการกำหนดสเปคขั้นต่ำเอาไว้ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรุ่นของ OS ที่เหมาะสมกับเครื่องของตนเองได้ หรืออาจเป็นส่วนในการตัดสินใจอัปเกรดสเปคเครื่องที่ใช้อยู่ ไปจนถึงซื้อเครื่องใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

แรม 16GB

ภาพด้านบนนี้จะเป็นสเปคขั้นต่ำที่ Microsoft ต้องการสำหรับการติดตั้ง Windows 11 (หน้าเว็บ Microsoft) จะเห็นว่าแรมขั้นต่ำในกรอบสีแดงจะอยู่ที่ 4GB เท่านั้นก็สามารถใช้งานได้แล้ว ส่วนรุ่นก่อนหน้าอย่าง Windows 10, 8.1 และ 7 จะอยู่ที่ 1GB สำหรับ 32 บิต และ 2GB สำหรับ OS 64 บิตเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องบอกว่าปริมาณแรมขั้นต่ำนี้ โดยทั่วไปแล้วคืออยู่ในระดับที่ติดตั้งและเปิด OS ขึ้นมาใช้งานได้ สามารถใช้โปรแกรมได้นิดหน่อย แต่ถ้าต้องเริ่มทำงานซับซ้อน ใช้หลายโปรแกรมพร้อมกัน บวกกับมีเซอร์วิสเบื้องหลังที่แอบทำงานอยู่อีก ปริมาณแรมขั้นต่ำน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยพอซักเท่าไหร่แล้ว โดยเฉพาะกับการใช้คอมเล่นเกม ทำให้ในช่วงปีสองปีหลังมานี้ ปริมาณแรมที่แนะนำจากหลายแห่งมักจะชี้ไปที่ขั้นต่ำ 8GB แทบทั้งนั้น ถ้ายิ่งใช้แรม 16GB หรือมากกว่าได้ก็ยิ่งดี ทำให้ถ้าอยากต้องการจัดสเปคคอม หรือซื้อคอมใหม่ หากเป็นไปได้ก็ควรจะจัดแรม 16GB มาเป็นฐานไว้ก่อนเลย อย่างน้อยก็ใช้ Windows 11 ลื่น และน่าจะใช้ Windows รุ่นถัดไปได้ดีด้วย

แรม 16GB

แรม 16GB จะมีบทบาทอย่างไร

ซึ่งในตอนนี้ก็มีหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า Microsoft น่าจะเดินหน้า นำระบบ AI เข้ามาใส่ใน OS รุ่นใหม่ ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้ชื่อ Windows 11 ต่อไป หรือจะขยับเป็น Windows 12 แบบเต็มตัว เพื่อให้เข้าสู่ยุค AI PC แบบที่คาดการณ์ไว้ สังเกตได้จากการนำ Copilot เข้ามาผสานกับส่วนต่าง ๆ ของ Windows 11 ในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย Copilot น่าจะเข้ามามีส่วนในการทำงานคล้ายกับระบบผู้ช่วยอย่าง Cortana, Siri และ Google Assistant แต่มีความชาญฉลาดมากขึ้น ด้วยการใส่เทคโนโลยีเชิง AI ที่มีการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานจริง ประสานกับข้อมูลต่าง ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถพูดคุย สอบถาม โต้ตอบ สั่งงานผู้ช่วย AI ได้คล้ายกับการคุยกับมนุษย์ยิ่งกว่าเดิม รวมถึงอาจจะมีการใส่ฟังก์ชันสาย generative ที่ช่วยสร้างข้อความ บทความ ไฟล์งาน รูปภาพเข้ามาให้อีกด้วย

แน่นอนว่าความสามารถที่เพิ่มขึ้นมานี้ ก็ยิ่งต้องการฮาร์ดแวร์ที่ทรงพลังมากขึ้นตามไปด้วย ที่จะเห็นได้ชัดก็คงหนีไม่พ้น CPU ที่อาจจะต้องมีพลังสูงพอสมควร หรือถ้าเป็นชิปรุ่นใหม่ที่มี NPU สำหรับประมวลผลงานด้าน AI โดยเฉพาะมาด้วยก็ยิ่งดี อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือแรม เพราะ AI เหล่านี้ก็ต้องการพื้นที่สำหรับจัดการข้อมูลเหมือนว่าเป็นหนึ่งในโปรเซสของโปรแกรมด้วยเช่นกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า Windows รุ่นถัดไป อาจจะต้องการแรมขั้นต่ำเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน บวกกับถ้าต้องการใช้งานเครื่องตามปกติ ใช้เล่นเกมได้ราบรื่นอีก จึงพอเป็นไปได้ที่อาจจะต้องขยับสเปคเป็นแรม 16GB สำหรับการติดตั้ง Windows 12 (หรือ 11 เวอร์ชันใหม่)​ และการใช้งานขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ และเป็นข้อมูลที่ Microsoft ยังไม่ได้ออกมายืนยันแต่อย่างใด ดังนั้นก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป คาดว่าในปีนี้เราน่าจะได้เห็นภาพชัดขึ้นแน่ ๆ

32gb 1500x1500 ram using2

ทดสอบ Windows 11 ที่แรม 8/16/32GB

และในครั้งนี้ ผมเองก็ลองทดสอบคอมตัวเองด้วยชุด benchmark ต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกันว่าแรม 8, 16 และ 32GB จะให้ผลต่างกันอย่างไร โดยควบคุมปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม รูปแบบการทดสอบ และสเปคเครื่องให้ตรงกันทั้งหมด สำหรับสเปคเครื่องที่ทดสอบก็คือ AMD Ryzen 5 2600 + Asrock B450 M/B + GTX 1070 8GB + SSD PCIe NVMe 1TB ส่วนแรมจะใช้เป็น DDR4 3200 CL16 แบ่งเป็นสามรอบการทดสอบคือ 8GB 1 แถว / 16GB 1 แถว / 16+16GB รวมสองแถว

ด้านของเครื่องมือที่ใช้ทดสอบก็ได้แก่

  • PCMark 10 Advanced Edition ทดสอบชุด Extended
  • 3DMark Advanced Edition ทดสอบด้วยชุด Time Spy และ Solar Ray
  • Cinebench 2024.1.0
  • ชุดทดสอบในเกม Cyberpunk 2077 ตั้งค่าแบบ default ที่เกมตั้งมาให้ ความละเอียด 1920×1080 ไม่เปิด RT
  • ชุดทดสอบ Phoronix Test Suite โดยทดสอบกับเครื่องมือที่รองรับการใช้งานบน Windows ได้แก่
    • CacheBench ทดสอบประสิทธิภาพหน่วยความจำและแคช
    • LeelaChessZero ทดสอบการเดินหมากโดยใช้การคำนวณผ่าน neural network (ทดสอบด้วย BLAS ที่ใช้พลังของ CPU เป็นหลัก)
    • Tesseract OCR ทดสอบการทำงานของเอนจิ้นที่ใช้ทำระบบ OCR สำหรับอ่านตัวอักษรจากภาพ
    • PyBench ทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลชุดคำสั่งภาษา Python เกี่ยวกับการวนลูป
    • PyPerformance ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานชุดคำสั่งต่าง ๆ ที่เขียนด้วยภาษา Python (เลือกมาแค่บางชุดคำสั่งยอดนิยม)
  • ทดสอบการใช้ Generative AI ในการสร้างภาพด้วย Stable Diffusion โดยใช้ prompt เดียวกัน ตั้งค่าแบบเดิม และใช้ seed เดิมตลอด เพื่อให้ภาพที่ออกมาเหมือนกันทุกครั้ง

PCMark 10

แรม 16GB

เมื่อเทียบจากชุดการทดสอบต่าง ๆ จะพบว่าผลคะแนนแต่ละด้านของเครื่องแรม 8, 16 และ 32GB ออกมาแตกต่างกันไม่มากนัก บางรอบสเปคแรม 8GB ยังทำได้ดีกว่า 32GB นิดนึงด้วยซ้ำไป ส่วนถ้าเข้าไปดูรายละเอียดผลการทดสอบของแต่ละหัวข้อย่อย จะพบว่าบางการทดสอบที่ต้องมีแรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เช่น การคัดลอกข้อมูล รอบที่มีแรมเยอะกว่าจะทำได้เร็วกว่านิดนึง แต่สำหรับในชีวิตการทำงานจริง จัดว่าอยู่ในระดับที่แทบจะสัมผัสความแตกต่างไม่ค่อยได้เท่าไหร่

ส่วนชุดที่คะแนนรอบ 8GB ดูจะแตกต่างจากสเปคแรม 16GB และ 32GB แบบเห็นชัดขึ้นมาหน่อยก็คือ Digital Content Creation ที่เป็นการทดสอบประสิทธิภาพเรื่องการตัดต่อภาพ วิดีโอและการเรนเดอร์ ที่จะมีคะแนนบางจุด ยิ่งเครื่องมีแรมสูงขึ้น คะแนนเฟรมเรตก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเรื่องการทำ sharpening โดยอาศัย OpenCL เป็นต้น

3DMark

แรม 16GB

แนวโน้มความแตกต่างของ 3DMark ก็จะคล้ายกับ PCMark เลย คือต่างกันไม่มากนัก จะมีแค่การทดสอบ CPU ในชุด Time Spy ที่พบว่ายิ่งเครื่องมีแรมเยอะ คะแนนที่ได้ก็จะเยอะตาม

Cinebench 2024

แรม 16GB

ต่อมาคือผลการทดสอบจากโปรแกรม Cinebench 2024 เวอร์ชันล่าสุด อันนี้แน่นอนว่าแรมจะมีผลด้วย สังเกตจากการทดสอบ CPU แบบ multi core ที่ยิ่งแรมเยอะ ก็จะได้ผลคะแนนที่สูงขึ้นด้วย แต่ที่น่าสนใจคือตอนรอบที่ทดสอบด้วยแรม 8GB อันนี้หลังจากทดสอบได้ไม่นาน โปรแกรมก็จะหยุดและแจ้งเลยว่ามีปัญหาเรื่องหน่วยความจำ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากแรม 8GB มันน้อยเกินไปแล้วสำหรับการทดสอบโปรแกรมเวอร์ชันล่าสุดนี้ เพราะพอหลังเพิ่มแรมกลับเข้าไป ก็สามารถทดสอบได้ตามปกติ

แรม 16GB

ส่วนคะแนนด้าน GPU แนวโน้มก็ยังคงเป็นแบบเดียวกัน คือรอบที่เป็นสเปคแรม 32GB ก็จะได้คะแนนที่ยังสูงกว่าแรม 16GB อยู่ดี

Cyberpunk 2077

แรม 16GB

เมื่อลองทดสอบด้วยชุด benchmark ที่มีอยู่ในเกม Cyberpunk 2077 แพตช์ล่าสุด จะค่อนข้างเห็นภาพว่าแรมมีส่วนกับการเล่นเกมด้วย สังเกตได้จากเฟรมเรตเฉลี่ย ที่ถ้าลองเทียบระหว่างแรม 8GB กับแรม 16GB จะพบว่าต่างกันอยู่ประมาณ 2 FPS แต่จุดที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือตรง FPS ต่ำสุดที่ทำได้ ที่แรม 16GB จะทำได้ดีกว่า 8GB อยู่ราว 3 เฟรมกว่า ๆ และถ้าขยับไปแรม 32GB ก็จะต่างจากตัวเริ่มต้นถึงเกือบ 5 เฟรมเลยทีเดียว ซึ่งส่งผลถึงค่า FPS เฉลี่ยด้วย

ถ้าจากผลการทดสอบนี้ ก็น่าจะเห็นว่ายิ่งแรมเยอะ ยิ่งช่วยเพิ่ม FPS ขั้นต่ำให้กับเกมได้เล็กน้อย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ หากจะเล่นเกมก็ควรจะเริ่มที่แรม 16GB ไว้ก่อนเลยดีกว่า ไม่จำเป็นต้องรอถึง Windows 12 หรือ Windows รุ่นถัดไป

ชุด Phoronix

CacheBench

แรม 16GB

อันนี้จะดูได้ผลค่าเฉลี่ยนที่แปลก ๆ นิดนึงครับ ที่ตรงการทดสอบการเขียนข้อมูล และข้อสามที่ทดสอบทั้งสามอย่างรวมกัน พบว่ารอบแรม 8GB ดันทำได้ดีที่สุด แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกันอยู่ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

LeelaChessZero AI (BLAS)

แรม 16GB

ในการทดสอบจะใช้พื้นฐานด้วยการรัน 3 ลูปแล้วหาค่าเฉลี่ยจำนวนโหนดต่อวินาที ยิ่งค่าสูงยิ่งดี ผลที่ได้ออกมาดังนี้

  • แรม 8 GB – เฉลี่ย 179 nodes/s
  • แรม 16 GB – เฉลี่ย 192 nodes/s
  • แรม 32 GB – เฉลี่ย 211 nodes/s

Tesseract OCR

แรม 16GB

จะเป็นการทดสอบด้วยการแกะตัวอักษรจากภาพในชุดทดสอบ ขั้นต่ำ 3 รอบ แล้วหาค่าเฉลี่ยว่าใช้เวลากี่วินาที ยิ่งน้อยยิ่งดี

  • แรม 8 GB – เฉลี่ย 78.309 วินาที
  • แรม 16 GB – เฉลี่ย 80.208 วินาที
  • แรม 32 GB – เฉลี่ย 80.548 วินาที

PyBench

แรม 16GB

ผลที่ได้จาก PyBench จะออกมาเป็นระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบแต่ละรอบ แล้วหาค่าเฉลี่ยออกมา ยิ่งน้อยยิ่งดี ผลที่ได้มีดังนี้

  • แรม 8 GB – เฉลี่ย 1,588 ms
  • แรม 16 GB – เฉลี่ย 1,619 ms
  • แรม 32 GB – เฉลี่ย 1,626 ms

PyPerformance

แรม 16GB

ผลทดสอบที่ได้ก็จะเป็นระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในแต่ละการทดสอบเช่นกัน หน่วยเป็นมิลลิวินาที แน่นอนว่ายิ่งได้น้อยก็ยิ่งดี อันนี้จะเห็นว่าที่แรมแต่ละความจุ ผลที่ได้ออกมาแทบไม่แตกต่างกันมากนัก

Stable Diffusion

แรม 16GB

ในการใช้งาน Stable Diffusion ให้ AI สร้างภาพขึ้นมา ผมใช้โมเดล checkpoint ที่โหลดมาเพิ่มเติม เสริมด้วย Lora ช่วยเพิ่มรายละเอียดให้กับภาพ ส่วนความละเอียดภาพ จะตั้งไว้ที่ 1500×1500 เนื่องจากเป็นขนาดที่ไม่ใช่เวลาทดสอบนานจนเกินไป และเป็นความละเอียดที่รอบแรม 8GB ยังสามารถทำงานได้ด้วย เนื่องจากถ้าเพิ่มความละเอียดไปซัก 2000×2000 โปรแกรมจะฟ้องทันทีว่าแรมไม่พอ และหยุดทำงานไปเลย

แรม 16GB

ซึ่งระหว่างการ gen ภาพ ฮาร์ดแวร์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำงานของ Stable Diffusion จะเป็นแรมเครื่องและก็การ์ดจอ ที่น่าสนใจคือตอนที่มีแรมเครื่อง 8GB ใน Task Manager จะแจ้งข้อมูลว่าแรมถูกใช้ไปทั้งหมดราว 6GB เมื่อสั่ง gen ภาพตามการตั้งค่าข้างต้น เหลือแรมให้ใช้งานได้อีกแค่ 2GB เท่านั้น ส่วนถ้าขยับขึ้นไปเป็นแรม 16GB และ 32GB ระบบก็จะจัดสรรแรมได้ง่ายขึ้น โดยทั้งสองรอบ ขณะที่เปิดโปรแกรมต่าง ๆ เท่ากันไปพร้อมกับการ gen ภาพ แรมระบบจะถูกใช้ไปรวมประมาณ 10 GB นิด ๆ ยังเหลือแรมว่างให้ใช้งาน หรือใช้ gen ภาพที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ได้สบาย

แรม 16GB

ส่วนถ้าเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ในการ gen ภาพจากการตั้งค่าเดียวกัน โดยใช้ seed เดิม พบว่าตอนแรม 8GB จะได้ภาพออกมาเร็วกว่า ที่ในกราฟจะดูเหมือนต่างกันเยอะ แต่ความจริงแล้วคือต่างกันประมาณ 20 กว่าวินาทีเท่านั้น ซึ่งถ้าเลือกการตั้งค่าที่ซับซ้อนขึ้น หรือความละเอียดภาพมากกว่านี้ ก็น่าจะพอเห็นช่องความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้นตามไปด้วย แต่ก็อาจจะเจอข้อจำกัดเรื่องแรมระบบไม่พอได้เหมือนกัน ในกรณีที่แรมเครื่องน้อยไป

สรุปแล้ว แรมเครื่องจะมีส่วนกับการประมวลผล การคำนวณต่าง ๆ บ้างเล็กน้อย แต่จะมีจุดที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของเครื่องอย่างเห็นได้ชัดในบ้างด้าน เช่น การประมวลผลที่ต้องมีการดึงข้อมูลมารอไว้จำนวนมาก อย่างการคำนวณด้านกราฟิกในเกม การทำงานที่ต้องผสานกันระหว่างแรมเครื่องกับแรมการ์ดจอ รวมถึงการเรนเดอร์ การทำงานที่ต้องอาศัยพื้นที่บนแรมเยอะ ๆ เพราะถ้าแรมน้อยเกินไป อาจจะส่งผลให้โปรเซสมีพื้นที่ไม่พอสำหรับเก็บข้อมูลรอการใช้งาน หรือผ่านการประมวลผลมาแล้ว แต่ยังไม่พร้อมส่งไปเก็บในหน่วยความจำสำรอง

แรม 16GB

จากการทดสอบทั้งหมดนี้ ก็น่าจะพอให้สามารถประติดประต่อได้ว่าแรมจะมีผลอย่างไรกับ Windows ซึ่งถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป เชื่อว่าแรม 8GB ก็น่าจะยังพอใช้งานได้อยู่ในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ถ้าจะขยับไป Windows 12 หรือเวอร์ชันใหม่ที่จะออกมาต่อจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการนำ AI เข้ามาผสานกับ OS มากขึ้น แนะนำให้เริ่มที่แรม 16GB เอาไว้ก่อนเลยโดยไม่ต้องรอสเปคขั้นต่ำจาก Microsoft ออกมา เนื่องจากพวกระบบด้าน AI หรือที่ต้องอาศัยการทำงานในเชิง neural network แน่นอนว่าต้องมีการกินสเปคมากขึ้นกว่า OS ปกติพื้นฐานขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าจะให้มีแรมเพียงพอสำหรับทั้งการรัน OS รัน AI รันโปรแกรมเบื้องหลัง รวมถึงอาจต้องมีการรันเกมและโปรแกรมต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย แน่นอนว่ายิ่งแรมเยอะยิ่งได้เปรียบ

ส่วนในช่วงนี้ ถ้างบจำกัดจริง ๆ ก็ใช้แรม 8GB ไปก่อนได้ครับ ไว้ตอนจะอัปเกรด Windows ค่อยอัปสเปคไปเป็น 16GB+ อีกทีก็ยังไหว

Click to comment
Advertisement

Trending Post

บทความน่าสนใจ

Accessories review

ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ Lexar Portable SSD SL400 คือไอเท็มสำคัญควรมีติดกระเป๋า! ในวงการหน่วยความจำแล้ว Lexar ก็เป็นผู้ผลิตหน่วยความจำระดับโลกซึ่งมีสินค้าหลากหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น Lexar Portable SSD SL400 สำหรับครีเอเตอร์ยุคใหม่เจ้าของ iPhone 15 Pro และ 16 Pro Series ได้ถ่ายคลิปเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ทำงานต่อได้หรือพกคู่มือถือ Android...

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

CONTENT

มารู้จักกับวิธีการสำรองข้อมูลของ Windows 11 ที่ถูกต้องและมีประโยชน์มากที่สุดกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันได้เลย แม้ว่า Windows Backup จะเป็นวิธีการสำรองข้อมูลที่ดีสำหรับ Windows 11 ที่แถมมากับ Windows ในตัว แต่ทว่ามันก็มีข้อจำกัดนั่นเป็นเหตุผลที่เราอาศัยกระบวนการสามขั้นตอนในการสำรองข้อมูลพีซี Windows 11 ของเราอย่างเหมาะสม ต่อไปนี้คือวิธีที่เราดำเนินการด้วยการสำรองข้อมูล Windows จะมีวิธีอะไรและต้องทำอย่างไรบ้างนั้นไปติดตามกัน ใช้ Windows Backup...

CONTENT

สำหรับผู้ใช้โน๊ตบุ๊คสิ่งสำคัญมากที่สุดคงหนีไม่พ้นอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยืนยาวแน่ๆ และนี่คือ 10 เทคนิคการปรับแต่งสำหรับ Windows 11 ที่จะช่วยให้คุณยืดอายุมันได้ยาวๆ แบตเตอรี่แล็ปท็อปเสื่อมสภาพตามกาลเวลาและสูญเสียความจุ ส่งผลให้มีเวลาทำงานน้อยลง เราเองก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับโน๊ตบุ๊ค Windows 11 ของเรา แต่หลังจากปรับแต่งการตั้งค่า Windows 11 ที่ซ่อนอยู่ดังต่อไปนี้เราพบว่าอายุการใช้งานแบตเตอรี่มีการปรับปรุงดีขึ้นเป็นอย่างมาก จะมีอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันได้เลย ปรับแต่งโหมดพลังงาน เปิดใช้งาน Battery Saver หรือ Energy...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก