Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s ระดับ 48GB เล่นเกมลื่นไหล ทำงานไม่สะดุด
Kingston FURY RENEGADE DDR5 48GB 7200MT/s เป็นแรมความเร็วสูงรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมความจุ 48GB (24GB x2) ที่เป็นชุดคิท สำหรับการใช้งานร่วมกับซีพียู Intel และ AMD เจนเนอเรชั่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Intel Core processor 14th หรือรุ่นก่อนหน้านั้น ติดตั้งร่วมกับสล็อตแรมบนเมนบอร์ดที่รองรับ DDR5 ไม่ว่าจะเป็น Intel 600 series หรือ 700 series เป็นต้น รวมถึงซีพียู AMD Ryzen 7000 series บนเมนบอร์ด AMD 600 series ที่รองรับแรม DDR5 ทั้งหมด สนับสนุนมาตรฐาน JEDEC และรองรับการใช้ร่วมกับ Intel XMP Profile ได้อีกด้วย เป็นแรมที่มีชุดระบายความร้อนหรือ Heat spreader ขนาดใหญ่ และแสงไฟ RGB ซึ่งสามารถซิงก์เข้ากับซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ดชั้นนำในการปรับแต่งโพรไฟล์แสงไฟในแบบต่างๆ ได้อีกด้วย พร้อมกับ Kingston FURY Infrared Sync มีความจุให้เลือกตั้งแต่ 16GB-48GB สำหรับ Single และชุดคิทมีให้ตั้งแต่ 32GB-96GB สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 12,500 บาท
Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s 48GB
Specification
- KF572C38RSK2-48
- 48GB (24GB 3G x 64-Bit x 2 pcs.)
- DDR5-7200 CL38 288-Pin DIMM Kit
- Latencies CL32, CL36, CL38
- Voltage 1.35V, 1.4V, 1.45V
- Operating Temperature 0°C to 85°C
- Dimensions 133.35mm x 39.2mm x 7.65mm
- FACTORY TIMING PARAMETERS
- Default (JEDEC): DDR5-4800 CL40-39-39 @1.1V
- XMP Profile #1: DDR5-7200 CL38-44-44 @1.45V
- XMP Profile #2: DDR5-6400 CL32-39-39 @1.4V
- XMP Profile #3: DDR5-6000 CL32-38-38 @1.35V
Unbox
สำหรับ FURY RENEGADE เป็นแรม DDR5 ที่มาในแพ๊คเกจสีขาวตัดกับเส้นสายสีแดง และดำ กับภาพกราฟิกของแรม พร้อมแสงไฟ RGB บนหน้ากล่องทำออกมาได้สะดุดตา และระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น 7200MT/s ความจุ 48GB ในแบบ 2x24GB หรือ 2 โมดูลนั่นเอง
ด้านหลังกล่อง Kingston จะระบุเอาไว้ว่าเป็นแรมประสิทธิภาพสูง กับโลโก้ Intel XMP certified และกราฟิกของ ซอฟต์แวร์ RGB ของเมนบอร์ด ที่ใช้ในการปรับเอฟเฟกต์แสงไฟ ไม่ว่าจะเป็น MSI MYSTIC LIGHT, GIGABYTE RGB FUSION และ ASUS AURA SYNC รวมถึง ASRock POLYCHROME SYNC รวมถึงใช้งานร่วมกับ FURY CTRL ของตัวเองได้อีกด้วย
เมื่อแกะกล่องออกมาด้านในจะมีพลาสติกกันกระแทกตัวแรมอีกหนึ่งชั้น เพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวแรมได้ดีทีเดียว
Design
ในส่วนของตัวแรม FURY RENEGADE DDR5 48GB นี้ มาในมิติที่ไม่ใหญ่มากนัก ด้วยซิงก์แรมที่ทำออกมากระชับ ความสูงประมาณ 39mm เท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะสูงเกินไป และยังไม่เบียดกับฮีตซิงก์ซีพียูตัวใหญ่ๆ อีกด้วย
ส่วนตัวชอบกันกระแทกแบบนี้มาก เพราะลดความเสียหายต่อตัวแรมในระหว่างการขนย้ายได้เป็นอย่างดี โดยชุดแรมนี้มาเป็นแบบ Kit มี 2 โมดูลในกล่อง ความจุรวม 48GB แบ่งเป็น 24GB จำนวน 2 โมดูล
ชุดระบายความร้อนอะลูมิเนียม มาในโทนสีดำตัดด้วยเส้นสายที่ดูทันสมัย มิติประมาณ 133.35mm x 39.2mm x 7.65mm เท่านั้น พร้อมโลโก้ FURY และ RENEGADE ดูสะดุดตาเลยทีเดียว
ด้านหลังเป็นลักษณะเดียวกัน แต่จะมีลาเบลบอกรุ่นรหัสของโมดูลแรมนี้ KF572C38RSAK2-48 และบอกด้วยว่าใช้แรงดันไฟ 1.45V สำหรับการทำงานที่ 7200MT/s
ด้านข้างของแรม ไม่ได้หนามาก โดยชุดระบายความร้อนทั้ง 2 ด้านประกบไว้อย่างแน่นหนา ไม่ต้องกังวลว่าแรมจะเบียดกัน เมื่อต้องติดตั้งแรม 4 โมดูล
ด้านบนจะเป็นแถบของแสงไฟ มาพร้อมเทคโนโลยี Kingston FURY Infrared Sync Technology™ เฉพาะของทาง Kingston ให้แสงสีมีความสดใส คมชัดซิงก์กับเมนบอร์ดชั้นนำได้มากมาย หรือจะใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ Kingston FURY CTRL ปรับแสงไฟได้ถึง 18 รูปแบบโพรไฟล์อีกด้วย
Performance
หลังจากที่ได้ดูข้อมูลพื้นฐานของ Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s 48GB กันไปแล้ว มาเข้าสู่การทดสอบ สำหรับระบบที่ใช้ในการทดสอบประกอบด้วย
- Intel Core i9-14900K และ Core i9-12900K
- ASRock B760M PG Sonic WiFi และ ASRock Z790 Steel Legend WiFi
- Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s 48GB
- Radeon RX5500XT
- Windows 11 Home
- Software Kingston FURY CTRL
การตั้งค่าในเบื้องต้น หากเมนบอร์ดที่คุณใช้รองรับ XMP Profile ก็สามารถปรับใช้ได้ทันที อย่างเช่น เมนบอร์ดที่เราใช้อยู่นี้ สังเกตในหัวข้อ XMP 3.0 Profile 1 ที่รองรับ DDR5 7200 และมีค่า CL38-44-44-105 แรงดันไฟ 1.45V เมื่อเปิดใช้แล้วรีวตาร์ทระบบกลับมาใช้งานได้ ก็ถือว่าผ่าน แต่ถ้าคุณต้องการปรับแต่งด้วยตัวเอง ให้เช็คจากเว็บไซต์ผู้ผลิตด้วยว่าเมนบอร์ดรองรับแรมความเร็วระดับที่กำหนดหรือไม่
CPUz
บนโปรแกรม CPUz ในส่วนของ Memory speed หลังจากที่เราเปิดใช้งาน XMP 3.0 Profile 1 ระบบตรวจพบแรม DDR5 7200MT/s กับค่า CL ตามมาตรฐานที่ระบบกำหนดเอาไว้ให้อย่างถูกต้อง
AIDA64 – Cache & Memory
มาที่การทดสอบ AIDA64 Extrem ในส่วนของ Cache & Memory ผลการอ่าน (Read) สูงถึง 104.12GB/s และเขียน (Write) 85650MB/s เลยทีเดียว โดยมีค่า Latency 75.72ns เป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว สำหรับมาตรฐานของแรมที่เกิน 6000MT/s ในปัจจุบัน หากเทียบกับ DDR5 4800MT/s ที่จัดว่าเป็นแรมระดับเริ่มต้น ให้อัตราการอ่านนั้นมีเพียงแค่ 73.92GB/s เท่านั้น และค่า Latency ของ 7000MT/s ยังทำได้รวดเร็วกว่าอีกด้วย
OCCT
DDR5 7200MT/s DDR5 4800MT/s
มาที่การทดสอบด้วยโปรแกรม OCCT ผลที่ได้สอดคล้องกับ AIDA64 ไม่ว่าจะเป็น Memory Read และ Write รวมถึงค่า Latency ประสิทธิภาพที่ได้จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s ทำผลงานเหนือกว่าแรม DDR5 4800MT/s ไปอย่างเหนือชั้น
PASSMARK PerformanceTest 11.0
มาที่ Passmark PerformanceTest กันบ้าง ตัวเลข Memory Mark ได้ที่ 3865 เมื่อเทียบกับ DDR5 4800MT/s มีคะแนนที่ 3309 คะแนนเท่านั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ชัดว่า หากคุณต้องการ Performance ในการทำงานที่ดีขึ้น แรมที่มีความเร็วสูงแบนด์วิทธิ์ที่กว้างก็ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างชัดเจน
VOVSOFT RAM Speed
DDR5 7200MT/s DDR5 4800MT/s
เป็นอีกหนึ่งการทดสอบประสิทธิภาพของ RAM ด้วยการ Read และ Write ซึ่งตัวเลขเวลาที่ใช้ไปในการทดสอบ FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s ด้วย Block size 5GB ใช้เวลาที่สั้นกว่า DDR5 4800MT/s รวมถึงอัตรการอ่าน/เขียนข้อมูล และความเร็วสูงสุด (Max. speed) ที่ยังคงชัดเจนว่าความเร็วที่มากกว่า ย่อมให้ผลการทำงานที่ดีกว่าในการทดสอบนี้
PCMark10
กับการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมของระบบด้วย PCMark10 โดยพื้นฐานของแรมจะเข้าไปอยู่ในทุกๆ ช่วงของการทำงาน เรียกว่าไม่มีแรม ก็คงทำงานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร ทำไฟล์ภาพ เปิดโปรแกรม หรือจะเล่นเกม ตัดต่อวีดีโอก็ตาม ซึ่งระบบที่เราใช้ทำการทดสอบนี้ ทำคะแนนไปได้ถึง 8426 คะแนน ซึ่งในภาพรวมถือว่าทำได้มากกว่าระบบที่ใช้แรม DDR5 4800MT/s อยู่เล็กน้อย เพราะโดยพื้นฐานของความต่างจะอยู่ที่ซีพียู กราฟิกและระบบ Storage รวมอยู่ด้วย ในแง่ของปัจจัยต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน ความจุแรม 48GB และ 32GB อาจไม่ทำให้ต่างกันมากนัก แต่ถ้าเป็นงานหนักๆ เช่น การเรนเดอร์กราฟิก 3 มิติ ทำโมเดลขนาดใหญ่ และการ Export วีดีโอ ก็น่าจะทำให้เห็นความแตกต่างมากขึ้น
Game Benchmark
Call of Duty Modern Warfare 2
DDR5 7200MT/s DDR5 4800MT/s
Forza Horizon 5
DDR5 7200MT/s DDR5 4800MT/s
Rise of Tomb Raider
DDR5 7200MT/s DDR5 4800MT/s
ในส่วนของการทดสอบเล่นเกม Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s กับโหมดการเล่นระดับกลาง ไม่ว่าจะเป็น Medium หรือ Balanced settings เพื่อให้สอดคล้องกับกราฟิกการ์ดที่นำมาใช้ บนความละเอียด 1080p ส่วนใหญ่เรียกได้ว่าอัตราเฟรมเรตไม่ต่างกันมากนัก เนื่องจากปัจจัยหลักอยู่ที่กราฟิกการ์ด และจาก Status ในกระหว่างการทดสอบ บอกถึงแรมที่ใช้ไปสูงสุดประมาณ 13GB – 15GB เท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งของแรมระบบ แม้ว่าในการทดสอบความละเอียด 1440p ก็ตาม แต่ก็ถือว่าความจุแรมก็มีส่วนทำให้การเล่นเกมไหลลื่นขึ้นได้ จากการส่งข้อมูลเพื่อประมวลผลในการทำงานระหว่าซีพียูกับกราฟิกการ์ดอยู่ด้วยเช่นกัน และเกมในยุคถัดไป หลายๆ เกมก็เริ่มมีการแนะนำแรมที่ใช้ในการเล่น 16GB กันแล้ว อย่างเช่น Baldur’s Gate 3, Cyberpunk 2077, Starfield หรือ Call of Duty: Modern Warfare 3 เป็นต้น
Kingston FURY CTRL
และสำหรับคนที่ใช้เมนบอร์ดรุ่นทั่วไป ที่อาจจะไม่มีแสงไฟหรือหัวต่อ ARGB ให้ได้ปรับเล่น หรือไม่มีซอฟต์แวร์ปรับบนเมนบอร์ด แต่คุณก็สามารถปรับโพรไฟล์แสงไฟบน Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s ด้วยซอฟต์แวร์ Kingston FURY CTRL ได้แล้ว ในนี้จะมีให้คุณได้ปรับแต่งแสงไฟกันอย่างสนุกได้ถึง 18 profile ด้วยกัน เมื่อติดตั้งซอฟต์แวร์เสร็จสิ้น ระบบก็พร้อมทำงาน
ในหัวข้อ Effect สามารถเลือกโพรไฟล์สีได้ในแบบที่ต้องการ และยังปรับเฉดของสี ด้วยการเลื่อนสไลด์บาร์เท่านั้น กรณีที่อยากจะได้แบบที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงการเพิ่ม-ลดความเร็วในการเคลื่อนไหว ความสว่างและทิศทางของแสง ให้ไปทางซ้ายหรือขวาได้อีกด้วย ผมว่าส่วนนี้ทำให้การปรับแต่งสนุกและตอบสนองได้รวดเร็ว แต่ถ้าคุณต้องการให้ซิงก์แสงไฟให้เข้ากับระบบ เช่น พัดลม ชุดน้ำหรือเมนบอร์ดและการ์ดจอ ก็อาจจะต้องไปใช้ร่วมกันกับซอฟต์แวร์เมนบอร์ดรุ่นนั้นๆ แทน
นอกจากนี้ในซอฟต์แวร์ยังมีระบบ Hardware Monitor ในการรายงานค่า CL, Temp และ Part number ของแรมรุ่นนั้นๆ ไว้ให้อีกด้วย แม้จะเป็นฟีเจอร์เล็กๆ แต่ก็ช่วยให้คุณสามารถตรวจเช็คระบบการทำงานของแรมได้ในอีกทางหนึ่ง
Conclusion
ถ้ามองจากองค์ประกอบโดยรวมของตัวแรม Kingston FURY RENEGADE DDR5 7200MT/s 48GB รุ่นนี้ ผมให้คะแนนเรื่องของการออกแบบที่กระชับ แม้จะเป็นแรม DDR5 7200MT/s ที่เรียกว่าเป็นแรมที่มีความเร็วระดับต้นๆ ในท้องตลาด ที่เปิดมาให้กับผู้ใช้ทั่วไปได้สัมผัส นอกเหนือจากเกมเมอร์ทั่วไป สามารถติดตั้งลงบนเมนบอร์ดได้แบบไม่เกะกะชุดระบายความร้อน แม้จะมีแสงไฟ RGB มาให้ในตัวก็ตาม เรื่องความสูงประมาณ 39mm เท่านั้น นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย หากเมนบอร์ดรองรับ Intel XMP Profile ก็สามารถเปิดใช้งานได้ทันที แต่ถ้าไม่ได้ ก็ให้เช็คเมนบอร์ดว่ารองรับการปรับความเร็วแรมหรือไม่ อย่างที่เราได้ทดสอบบางเมนบอร์ดสามารถดันความเร็วไปได้ถึง 7000MT/s แบบง่ายๆ ไม่ต้องแก้ไขให้วุ่นวาย เรื่องประสิทธิภาพ ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกับแรม DDR5 4800 ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีด้วยแรมระดับ 48GB เช่นนี้ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยเลย สำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการความลื่นไหลของระบบ นอกเหนือจากการเปิดไฟล์ขนาดใหญ่ หรือการดูเว็บไซต์หลายๆ หน้าพร้อมกัน เช่นเดียวกับการสตรีมมิ่ง การทำงานร่วมกันกับซอฟต์แวร์หลายๆ ตัว และโปรแกรมใหญ่ๆ ในชีวิตประจำวัน สนนราคา 12,500 บาทกับแรมความเร็วสูง และมีแสงไฟ RGB ปรับแต่งได้ ถือว่าคุ้มค่าน่าลงทุนทีเดียว
FAQ คำถามพบบ่อย
1.เลือกแรมสำหรับเล่นเกมอย่างไร
Ans.โดยพื้นฐานตัวเกมจะอิงกับกราฟิกการ์ด และซีพียูเป็นหลัก แต่แรมก็มีความสำคัญ โดยทั่วไปเน้นที่ความจุ เพราะเกมส่วนใหญ่ แม้จะไม่ได้เป็นเกม AAA ก็มีความต้องการแรมระดับ 4GB-8GB แล้ว หากเล่นเกมขนาดใหญ่ มีวีดีโอคัตซีน รวมถึงต้องใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นๆ แรมระดับ 16GB ขึ้นไป จะรองรับการทำงานได้ดีมากกว่า เพราะจะจัดการกับข้อมูลหลายๆ อย่างของซอฟต์แวร์แต่ละตัวได้พร้อมกัน ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น
2.เพิ่มแรม ทำอย่างไรบ้าง
Ans.ในการอัพเกรดแรม หรือเพิ่มแรมเข้าไปในระบบ สิ่งสำคัญคือ จะต้องทราบว่าคอมที่ใช้ รองรับแรมแบบใด ความเร็วเท่าไร และมีสล็อตสำหรับการอัพเกรดหรือไม่ โดยทั่วไปเราจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ผู้ผลิตเมนบอร์ด ที่จะระบุว่าเมนบอร์ดมีกี่สล็อต รองรับแรมแบบใด รวมถึงความจุสูงสุดเท่าไร เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ให้เช็คด้วย CPUz หรือโปรแกรมอื่นๆ ว่ามีแรมในระบบกี่สล็อตแล้ว หรือง่ายๆ คือ เปิดฝาปิดเคสออก แล้วดูว่ายังมีสล็อตเหลือสำหรับการอัพเกรดหรือไม่ หรือจะเป็นต้องเปลี่ยนกับแรมโมดูลที่มีอยู่เดิม ก็ต้องลองคำนวณให้ดี
3.แรมต่างความเร็วใช้งานร่วมกันได้มั้ย
Ans.จากการทดสอบในหลายๆ ครั้งกับหลายระบบที่ได้ลองใช้ แม้ว่าแรมจะมีความเร็วที่ต่างกันมาก แต่ก็ยังใช้งานร่วมกันได้ตามปกติ เพียงแต่ความเร็วของแรมนั้น จะถูกจำกัดไว้ที่แรมความเร็วต่ำสุดเท่านั้น กรณีที่แรมเดิมเป็นรุ่นเก่าความเร็วพื้นฐาน แต่ปัจจุบันอาจหาได้ยาก ก็เลือกแรมความเร็วมากกว่าติดตั้งเข้าไปได้ เช่นเดียวกับความจุที่ต่างกัน ก็ใช้ร่วมกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นแรมแบบเดียวกันเท่านั้น
4.เมื่อไรถึงต้องเพิ่มแรมคอม
Ans.การเพิ่มแรมคอมสามารถทำได้ทุกโอกาส ไม่จะเป็นต้องเจออาการ เปิดไฟล์ช้า โอนถ่ายไฟล์ไม่ทันใจ เปิดเว็บไซต์เยอะแล้วกระตุก หรือเล่นเกม ทำงาน ก็รอนานกว่าจะโหลดสิ่งใดสักอย่าง โดยเฉพาะปัจจุบันแรมทั้ง DDR4 และ DDR5 ต่างมีราคาค่อนข้างถูกลง อาจจะใช้โอกาสนี้อัพเกรดเพิ่มเติมได้เลย แม้ในคุณจะไม่ได้ใช้งานหนักมาก แต่ในอนาคตหากมีโปรแกรมที่ต้องใช้แรมมาก เล่นเกมที่โหดหินมากขึ้น หรือเปิดเว็บเยอะกว่าในวันนี้ ก็สามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหล
5.แรมประกัน Lifetime คืออะไร
Ans.การรับประกันแบบ Lifetime ไม่ได้หมายถึงการรับประกันตลอดอายุการใช้งาน แต่เป็นการประกันให้ จนกว่าสินค้ารุ่นนั้นๆ จะยกเลิกการจำหน่าย หรือเลิกสายการผลิตกันไป และต้องอยู่ในเงื่อนไขการรับประกันอีกด้วย หากเกิดความเสียหายนอกเหนือจากการใช้งานปกติทั่วไป เช่น ดับ ระบบมองไม่เห็นหรือใช้งานไม่สมบูรณ์สามารถเคลมได้ ดังนั้นแล้วการรับประกันเช่นนี้ ก็ยังถือว่าอุ่นใจ และหลายแห่งก็มีข้อเสนอให้กับลูกค้า เช่น คืนเงินบางส่วน เปลี่ยนรุ่นใหม่ กรณีที่ไม่มีของอยู่ในสต๊อกแล้ว