ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง เทรนด์ของการทำ Smart Home จึงเติบโตเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในบางจุด ความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและทรัพย์สิน รวมถึงยังเหมือนเป็นการรีเฟรชบ้านที่อยู่มานานให้ดูมีลูกเล่นมากขึ้น และให้ความรู้สึกใหม่ ๆ ในชีวิตไปพร้อมกัน ซึ่งการจะทำสมาร์ตโฮม จะมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนับตั้งแต่การวางแผนเลย นั่นคือการเลือกแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ของตนเองที่สุด
การแบ่งแพลตฟอร์มของอุปกรณ์สำหรับทำ Smart Home โดยหลักแล้วจะใช้เกณฑ์เรื่องรูปแบบการสื่อสาร (โปรโตคอล) เป็นหลัก ซึ่งจะมีเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้โปรโตคอลเดียวกันเท่านั้น ที่จะสามารถสื่อสารหากันได้ นั่นจึงทำให้ต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนทำสมาร์ตโฮมเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะให้ได้อุปกรณ์ที่ใช้โปรโตคอลหลักได้ตรงตามความต้องการที่สุด สำหรับโปรโตคอลของอุปกรณ์ประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็ได้แก่
- Zigbee
- WiFi
- HomeKit
- Thread
- Matter
ซึ่งแต่ละโปรโตคอลก็จะมีอุปกรณ์หลากหลายประเภทให้ใช้งานกัน อาทิ หลอดไฟ ช่องเสียบปลั๊กไฟ สวิตช์ เซ็นเซอร์ตรวจจับแบบต่าง ๆ ชุดลูกบิดประตูแบบดิจิทัล กล้องตาแมวหน้าประตู ไปจนถึงพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าบางตัวที่ติดตั้งระบบ Smart Home เพื่อให้นำไปใช้งานร่วมกับโปรโตคอลที่กำหนดมาได้อีก
แต่อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องแบรนด์ของผู้ผลิตครับ เพราะเรามักจะเจอบ่อยกับสินค้า IoT ที่มาจากแบรนด์ฝั่งจีน ซึ่งมักจะออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้เฉพาะกับสินค้าในแบรนด์ของตนเองเท่านั้น แม้จะใช้โปรโตคอลทั่วไปก็ตาม ตัวอย่างก็เช่น Mi ที่แม้จะใช้การเชื่อมต่อผ่าน WiFi แต่ก็มักไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับแอปของผู้ผลิตรายอื่นได้เท่าไหร่ จะมีบ้างบางตัวที่ใส่ HomeKit มาให้ด้วย เป็นต้น
ส่วนท่านที่อาจนึกไม่ออกว่าสมาร์ตโฮมจะเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างไร ขอยกตัวอย่างเคสที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น
- ตั้งค่าให้ไฟโถงทางเดินเปิดอัตโนมัติ เมื่อเปิดประตูบ้านเข้ามาในช่วงเวลาตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม พอไฟเปิดแล้ว ก็ให้นับถอยหลัง 5 นาทีเพื่อปิดไฟอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องทำอะไรกับสวิตช์ไฟเลย อาจจะใช้แค่เซ็นเซอร์ตรวจจับการเปิด/ปิดประตูกับแค่หลอดไฟหรือสวิตช์ไฟแบบสมาร์ตก็ได้ ถ้าให้แม่นขึ้นก็อาจเพิ่มเซ็นเซอร์จับวัตถุเข้ามา
- ตั้งค่าเตือนระดับน้ำในถังเก็บน้ำ ถ้าระดับน้ำสูงเกินตำแหน่งของเซ็นเซอร์ ให้ระบบสั่งปิดก๊อกหรือปั๊มน้ำทันทีแบบอัตโนมัติ
- มีเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณ PM 2.5 ถ้าเกินระดับที่ตั้งไว้ ให้สั่งเปิดเครื่องฟอกอากาศ และสั่งปิดม่านเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นที่เข้าห้องทันที
- ระบบที่เมื่อผู้ใช้ตื่น ก็จะเปิดม่านเพื่อรับแสงเข้าห้อง หรือเปิดไฟในบ้านแบบปรับสีของไฟให้ผู้ใช้รู้สึกสดชื่น พร้อมกับสั่งเปิดทีวีหรืออ่านข่าวให้ฟังผ่านลำโพงอัจฉริยะ ส่วนพอเวลากลางคืนก็เปลี่ยนไปใช้ไฟอีกสีหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย
และแน่นอนว่าทั้งหมด สามารถควบคุม สั่งงานและตั้งค่าผ่านมือถือที่เป็นสมาร์ตโฟนได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ และควบคุมการทำงานผ่านระยะไกลได้ด้วย จุดประสงค์หลักของการทำสมาร์ตโฮมก็คือการทำให้บ้านมีความอัจฉริยะมากขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้ดี และสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบต่าง ๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยตลอดเวลา
ในบทความนี้เราจะมาดูจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละโปรโตคอลกันครับ รวมถึงมาทำความรู้จักกับระบบตัวกลางที่มีความสามารถในการเชื่อมอุปกรณ์ต่างโปรโตคอลให้ทำงานร่วมกันได้ นั่นก็คือ Home Assistant
Zigbee
เป็นโปรโตคอลที่อยู่คู่วงการ Smart Home และอุปกรณ์จำพวกเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก สวิตช์ต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ทำให้มีประเภทของอุปกรณ์ให้เลือกค่อนข้างครบตามการใช้งานที่ข้อกำหนดเชิงเทคนิคเอื้ออำนวย และมีจำนวนแบรนด์ผู้ผลิตส่งสินค้าออกมาวางจำหน่ายให้เลือกเยอะด้วย แต่จะมีข้อจำกัดนิดนึงคือเราไม่สามารถใช้มือถือสื่อสารกับอุปกรณ์ Zigbee โดยตรงได้ เนื่องจากโปรโตคอลนี้ใช้การสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ 2.4GHz ที่มีการเข้ารหัสแตกต่างไปจาก WiFi ที่ใช้ 2.4GHz เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้มือถือในการควบคุมได้ตรง ๆ ต้องอาศัยอุปกรณ์ประเภทฮับเป็นตัวกลางเชื่อมให้ ลักษณะตามในภาพด้านบนครับ ที่จะมี Smart Hub สีขาวเป็นตัวกลาง เชื่อมสัญญาณ Zigbee ไปหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้าน ส่วนอีกขาก็ไปต่อ WiFi กับเราเตอร์เพื่อรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตมายังมือถืออีกที ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานอุปกรณ์ผ่านแอปบนมือถือได้
แต่สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Zigbee กันเองนั้น จริง ๆ แล้วอุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถเชื่อมต่อ สั่งงานกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตเลย อาศัยเพียงแค่การรับส่งข้อมูลภายในวงที่เชื่อมต่อกันก็เพียงพอ นี่จึงเป็นข้อดีที่ใหญ่มาก ๆ ของ Zigbee นั่นคือแม้เน็ตจะล่ม แต่อุปกรณ์ก็ยังสามารถทำงานกันเองได้ ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเน็ตบ้านมีปัญหา แล้วไฟในบ้านจะไม่ติด เซ็นเซอร์จะไม่ทำงานเลย ยกเว้นพวกอุปกรณ์ที่ต้องดึงข้อมูลจากเน็ตมาประกอบ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศจากการพยากรณ์อากาศ
นอกจากนี้ Zigbee ยังสามารถเชื่อมต่อกันแบบ mesh แบบในภาพด้านบน สังเกตจากกลุ่มของสวิตช์ทางขวาของภาพ ที่ตัวมันเองไม่ได้ต่อกับ Smart Hub ตรง ๆ แต่ไปต่อกับสวิตช์ตัวอื่นแทน กล่าวคือ อุปกรณ์ Zigbee บางชิ้น สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งอุปกรณ์ปลายทาง และทำตัวเหมือนเป็น router ให้อุปกรณ์อื่นมาเชื่อมต่อกับตนเองได้อีก ทำให้สามารถกระจายวงการเชื่อมต่อออกไปได้ไกล โดยในบางครั้งแทบไม่จำเป็นต้องซื้อ repeater หรือเดินสายใด ๆ เลย ขอแค่เลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีความสามารถในการเป็น repeater ในตัวมาด้วยก็พอ ตัวอย่างก็เช่นแผงสวิตช์ไฟ Zigbee หลาย ๆ รุ่นก็มีฟังก์ชันนี้มาให้ ทำให้เราสามารถขยายวง Smart Home ที่แต่ละห้องในบ้านได้ง่ายมาก แค่ติดสวิตช์ไฟที่เป็น repeater เข้าไปเท่านั้นเอง
อีกข้อเด่นที่สำคัญมากคืออุปกรณ์ Zigbee มีการกินไฟที่ต่ำ เนื่องจากกระบวนการรับส่งข้อมูลที่ต่างออกไป และแบนด์วิธที่ต่ำด้วย ทำให้การใช้ถ่านแบนหนึ่งก้อนมักจะอยู่ได้หลายเดือน หรือบางอุปกรณ์ก็เป็นปีเลยทีเดียว ทั้งยังมีระยะเวลาในการตอบสนองที่เร็ว เนื่องจากอุปกรณ์สามารถทำงานได้แทบจะตลอดเวลาโดยไม่ต้องพักการทำงาน (sleep) เลย จึงเหมาะมากสำหรับใช้เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพแวดล้อม เพื่อนำไปใช้สั่งงานอุปกรณ์อื่นอีกที
แต่ข้อจำกัด ข้อด้อยของ Zigbee ก็มีไม่น้อยเช่นกันครับ หนึ่งเลยคือแบนด์วิธในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำ จึงทำให้เราไม่ค่อยพบอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวที่ใช้ Zigbee ในการสื่อสาร เช่นอุปกรณ์ที่มีการสตรีมภาพ/วิดีโอ เนื่องจาก Zigbee เองมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลแค่ 20-250 kbps เท่านั้น ให้ส่งภาพนิ่งก็พอได้ แต่ส่งวิดีโอเลยไม่ไหวแน่นอน เราเลยมักพบ Zigbee ในอุปกรณ์พวกเซ็นเซอร์ตรวจจับต่าง ๆ มากกว่า
อีกประการคือต้นทุนในการเริ่มทำที่สูงกว่าโปรโตคอลอื่นที่เป็นคู่แข่งกันในวงกว้าง นั่นคือ WiFi เพราะในการที่จะสามารถวางระบบ Smart Home ที่ใช้ Zigbee ได้แบบครบวงจร แน่นอนว่าจะต้องซื้ออุปกรณ์ประเภท Smart Hub มาด้วย แล้วตัวฮับนี่ก็มีหลายราคาตามฟังก์ชันอีก ถ้าเป็นแบบ WiFi อย่างเดียวก็ราคาย่อมเยาลงมาหน่อย แต่ถ้าอยากได้ความเสถียร ก็จะมีฮับที่มีพอร์ตแลนมาด้วย ราคาก็ขยับขึ้นมา บางรุ่นมีอินฟราเรดในตัวอีก ต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่ถ้าใช้ WiFi ก็คือตัดเรื่อง Smart Hub นี่ออกได้เลย เพราะสามารถใช้เราเตอร์หรือ access point ที่มีในบ้านอยู่แล้วมาทำระบบได้ทันที (แต่ก็มีข้อแลกเปลี่ยนตามมาเหมือนกัน)
ด้านของราคาอุปกรณ์ Zigbee เท่าที่ศึกษามา ก็มักจะมีราคาปลีกต่อชิ้นที่สูงกว่าอุปกรณ์ WiFi ด้วย จึงทำให้ต้นทุนรวมในการเริ่มต้นจะสูงกว่า
ข้อเด่น
- มีอุปกรณ์ให้เลือกเยอะ โดยเฉพาะพวกเซ็นเซอร์ตรวจจับ สวิตช์ไฟ
- กินพลังงานต่ำมาก เพราะใช้การรับส่งแพ็คเกจข้อมูลขนาดเล็ก
- การตอบสนองทำได้เร็ว
- สามารถต่อแบบ mesh เพื่อกระจายวงการเชื่อมต่อออกไปได้
- มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่แต่ละอุปกรณ์เองด้วย
- มักสามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกับแอปของแบรนด์อื่นได้ ทำให้สามารถรวมศูนย์การควบคุมได้ง่าย เพราะบางชิ้นมันก็คืออุปกรณ์เดียวกัน แต่มาติดตั้งชิป Zigbee แล้วตีแบรนด์ขายคนละชื่อกันเท่านั้นเอง ที่ยอดนิยมหน่อยก็จะเป็นเครือ Tuya ที่สามารถใช้แอป Smart Life คุมได้แทบทุกอุปกรณ์ที่ใช้ Zigbee เลย (เพราะ Tuya เองก็ทำ Zigbee เยอะด้วย)
ข้อด้อย
- มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำ จึงไม่พบในอุปกรณ์บางประเภท เช่น กล้อง จอภาพแบบสมาร์ต
- ต้นทุนในการเริ่มติดตั้งสูงกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งตรง ๆ อย่าง WiFi
- มีโอกาสพบกับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำ เพราะผู้ผลิตก็มีหลายเกรดเหมือนกัน
WiFi
ถือเป็นโปรโตคอลคู่แข่งของ Zigbee ตรง ๆ สำหรับการทำ Smart Home เลย สาเหตุหลักเลยคือต้นทุนแรกเข้าที่ต่ำกว่า อุปกรณ์มีให้เลือกเยอะมาก ราคาย่อมเยากว่า Zigbee และความง่ายในการวางระบบ เนื่องจากบ้านที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน มักจะมีการติดเน็ตบ้านและกระจายสัญญาณ WiFi 2.4 กันอยู่แล้ว ถ้าอยากใช้อุปกรณ์ IoT ก็แค่เลือกซื้อตัวที่รองรับ WiFi จากนั้นเอามาติดตั้งก็ใช้ได้ทันที จะมอนิเตอร์การทำงานของอุปกรณ์ก็ทำได้จากหน้าตั้งค่าของ router ได้ ใครที่พอจะมีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่ก็สบายเลย
จุดเด่นอีกข้อของอุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณ WiFi ก็คือแบนด์วิธในการรับส่งข้อมูลที่สูงกว่า เราจึงพบอุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่เกี่ยวกับด้านภาพและเสียง เลือกใช้การเชื่อมต่อแบบ WiFi เป็นหลัก เช่น ลำโพง จอภาพแบบ smart display รวมถึงกล้อง IP กล้องหรือหน้าจอที่ติดตรงประตูบ้าน เป็นต้น
แต่ด้วยความที่แบนด์วิธในการส่งข้อมูลสูงกว่า ย่อมต้องทำให้อุปกรณ์ใช้กำลังในการส่งที่สูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีการกินไฟที่มากกว่า จึงค่อนข้างเหมาะกับอุปกรณ์ที่ใช้การเสียบปลั๊กไฟบ้านมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งในประเด็นนี้ ทางผู้ผลิตก็ได้มีการออกแบบให้อุปกรณ์ที่ใช้ WiFi มีวงรอบการหลับ (sleep) เพื่อลดการใช้พลังงานลง แต่ก็ส่งผลถึงความเร็วในการตอบสนองด้วย เพราะถ้ามี input เข้าไปในช่วงที่เซ็นเซอร์หลับพอดี ก็ต้องใช้เวลาในการปลุกอุปกรณ์ขึ้นมาก่อน ระบบจึงจะสามารถทำงานต่อได้ตามที่เขียนเงื่อนไขไว้ จุดนี้จึงอาจจะทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ WiFi ไม่ค่อยเหมาะกับงานตรวจจับสภาพแวดล้อม หรือการใช้งานที่ผู้ใช้ต้องการการตอบสนองของระบบแทบจะทันที เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับควัน หรือการกดสวิตช์เพื่อเปิดไฟ เป็นต้น
อีกสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของโปรโตคอลแบบ WiFi คือ ทุกอุปกรณ์จะต้องมาเชื่อมต่อกับเราเตอร์ในบ้านทั้งหมด เพื่อทั้งให้สามารถออกอินเตอร์เน็ตได้ และสามารถสื่อสารหากันเองได้ ทำให้ถ้าหากเราเตอร์หยุดทำงาน หรือถ้าไฟดับขึ้นมา เท่ากับว่าวงสมาร์ตโฮมที่ใช้ WiFi จะล่มไปพร้อมกันด้วยเลยทันที ไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต เพราะข้อมูลพวกการตั้งค่า scene การทำ automation ต่าง ๆ จะถูกเก็บอยู่บนคลาวด์ทั้งหมด เนื่องจากมันไม่มีอุปกรณ์ตัวกลางในบ้านเลย
และสิ่งที่พ่วงตามกันมาก็คือ ถ้าหากในบ้านมีอุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่ใช้ WiFi จำนวนมาก เท่ากับว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นก็ต้องมาเชื่อมต่อกับเราเตอร์ทั้งหมด ส่งผลให้เราเตอร์ทำงานหนักขึ้น เพราะต้องคอยสื่อสารกับแต่ละอุปกรณ์เป็นระยะ ๆ และถ้ามีอุปกรณ์จำนวนมากจริง ๆ อาจเกิดผลกระทบกับการใช้งานเครือข่ายรวมถึงอินเตอร์เน็ตในวงเดียวกันด้วย ถ้าอยากใช้งานอุปกรณ์ WiFi เยอะ ๆ จริง อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนเราเตอร์เป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้ชิปที่แรง มีแรมเยอะหน่อย เพื่อให้สามารถรองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมากได้ ซึ่งในข้อนี้ Zigbee จะได้เปรียบกว่า เพราะมี Smart Hub ที่ออกแบบมาเพื่อการเป็นตัวกลางอยู่แล้ว ทำให้เส้นเชื่อมต่อจากกลุ่มอุปกรณ์ Zigbee ทั้งหมดมายังเราเตอร์จะมีเพียงเส้นเดียวที่มาจากฮับเท่านั้น งานของเราเตอร์ก็ไม่โอเวอร์โหลด
ข้อเด่น
- มีอุปกรณ์ให้เลือกเยอะกว่า Zigbee ขึ้นไปอีก ราคาเริ่มต้นจับต้องง่าย
- รับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงกว่า ประเภทของอุปกรณ์เลยค่อนข้างหลากหลาย
- ต้นทุนแรกเข้าต่ำ ถ้าบ้านมี WiFi อยู่แล้วก็เริ่มใช้ได้ทันที
ข้อด้อย
- กินไฟสูง ทำให้แบตใช้งานได้ไม่นานเท่าอุปกรณ์ Zigbee โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องมีรอบการตื่นที่ถี่ และรับส่งข้อมูลบ่อย เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว
- ถ้าไม่มีเน็ต คือใช้งานไม่ได้ทั้งวงเลย
- ถ้าใช้อุปกรณ์จำนวนมาก อาจทำให้เราเตอร์ทำงานหนักเกินไป กระทบกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้
- ต้องมี repeater หรือ access point ช่วยกระจายสัญญาณ WiFi เพิ่ม ในกรณีที่บ้านมีหลายชั้น หรือมีบริเวณกว้างเกินกว่าสัญญาณ WiFi จากจุดหลักจะครอบคลุมทั้งหมด
- อุปกรณ์ WiFi บางแบรนด์ จะใช้ได้กับแอปจากแบรนด์ตนเองเท่านั้น ไม่สามารถใช้ข้ามกันได้ แม้จะใช้ WiFi เชื่อมต่อเหมือนกัน วงเดียวกัน เลยอาจต้องลงหลายแอปในมือถือ เพื่อจัดการอุปกรณ์ในบ้าน Smart Home และในบางครั้งก็สั่งงานข้ามกันไม่ได้ด้วย
HomeKit
เป็นโปรโตคอลสำหรับการทำสมาร์ตโฮมจาก Apple ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการออกแบบให้ใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการ iOS, iPadOS, macOS, watchOS และ tvOS ได้แบบเต็มศักยภาพที่สุด สำหรับในการเริ่มใช้งาน ผู้ใช้ก็ต้องมีสมาร์ตดีไวซ์ของ Apple เองก่อน ที่ดูจะเหมาะสมสุดก็คงหนีไม่พ้น iPhone เพราะจะสะดวกกว่าในการเพิ่ม จัดการ และควบคุมอุปกรณ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งเปิดปิด ดูการทำงานต่าง ๆ ผ่านแอป Home ที่มีอยู่ใน iOS ได้ทันที รวมถึงยังใช้งานร่วมกับ Siri ได้อีกด้วย
หากต้องการใช้งานระบบ Smart Home ด้วย HomeKit อย่างเต็มรูปแบบ สามารถสั่งงานจากระยะไกล และตั้งระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ได้ ก็จะต้องมีการตั้ง Home Hub ขึ้นมาด้วย โดยจำเป็นต้องใช้ HomePod, HomePod mini หรือ Apple TV 4K (3rd gen ขึ้นไป) ส่วนกรณีของ iPad ที่แต่ก่อนก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ล่าสุด Apple ได้ถอด iPad จากการใช้เป็น Home hub ไปแล้ว ในกรณีนี้ จึงอาจจะทำให้ค่าแรกเข้าแพลตฟอร์ม HomeKit เลยจะค่อนข้างสูงโดดไปซักนิดนึง ถ้าหากต้องการใช้งานแบบเต็มระบบเหมือนโปรโตคอล Zigbee หรือ WiFi ปกติ เพราะถ้าซื้อของใหม่มือหนึ่ง ถูกสุดก็จะเป็น HomePod mini ที่ราคาเกือบ 4 พันบาท แถมไม่มีขายในไทยอย่างเป็นทางการด้วย ส่วนถ้าจะเอาแบบหาซื้อง่ายหน่อยก็คือ Apple TV 4K ตัวล่าสุด เครื่องศูนย์ไทยราคาเริ่มที่ 5,290 บาทเลย แต่ถ้าใครที่มีใช้งานอยู่แล้วก็ดีไป
ผลิตภัณฑ์ที่รองรับ HomeKit ในปัจจุบันก็มีอยู่พอสมควรทีเดียวครับ นับตั้งแต่หลอดไฟ ช่องเสียบปลั๊กไฟ ออดไร้สาย กลอนประตู กล้อง IP Camera เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ลำโพง ทีวี ไปจนถึงพวกฮับที่เชื่อมกับอุปกรณ์ Zigbee ได้ด้วย แต่ในไทยเราอาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมสูงเท่า ส่วนหนึ่งก็มาจากราคาที่สูงกว่า เพราะถ้าจะให้สามารถใช้ร่วมกับ HomeKit ได้ จะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก Apple ด้วย ประกอบกับความหลากหลายของอุปกรณ์ที่นำเข้ามายังไม่สูงมาก ซึ่งก็ย้อนกลับไปที่เรื่องราคาครับ
แต่มันก็มาพร้อมความเสถียรในการใช้งาน และการการันตีว่ามันทำงานแบบแทบจะไร้รอยต่อแน่ ๆ ถ้าเจ้าของบ้านใช้ iPhone และอุปกรณ์ของ Apple อยู่แล้ว อีกอย่างก็คือได้ในเรื่องความง่ายของการควบคุม เพราะทุกอุปกรณ์จะมารวมอยู่ในแอป Home ทำให้สามารถจัดการและตรวจสอบสถานะได้ในจุดเดียว นอกจากนี้ระบบ HomeKit ยังสามารถทำงานกันเองได้แม้อินเตอร์เน็ตขัดข้อง ทำให้แม้ว่าจะเน็ตเสีย แต่เราก็ยังสามารถเปิด/ปิดไฟได้ตามเดิม แต่ฟังก์ชันบางอย่างจะลดลง เช่น การสั่งงานผ่าน Siri และคำสั่ง automation ผ่านเน็ตที่จะถูกตัดขาดไปเลย รวมถึงฟังก์ชันบางอย่างที่ต้องทำงานผ่านคลาวด์ หรือดึงข้อมูลจากเน็ตมา
ข้อเด่น
- ใช้งานร่วมกับ iPhone และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Apple ได้ดี
- สามารถใช้งานได้ แม้อินเตอร์เน็ตล่ม (เฉพาะงานที่ไม่ต้องออกเน็ต)
- การทำงานค่อนข้างเสถียร
- จัดการได้แบบรวมศูนย์ในแอป Home ที่มีอยู่ใน iOS, iPadOS และ macOS อยู่แล้ว
- ระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง
ข้อด้อย
- ถ้าต้องการใช้งานแบบเต็มระบบ ต้นทุนแรกเข้าจะสูงโดดกว่าโปรโตคอลอื่น
- อุปกรณ์ในไทยมีตัวเลือกค่อนข้างน้อยไปหน่อย
- รองรับ Matter ด้วย
Thread
เป็นโปรโตคอลการสื่อสารที่ได้รับการออกแบบและปรับปรุงมาเพื่ออุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะ แต่เป็นการจับนำข้อดีของ Zigbee และ WiFi มารวมร่างกัน ทำให้เกิดเป็น Thread ที่มีคุณสมบัติดังนี้
- ใช้คลื่นวิทยุ 2.4GHz เหมือนเดิม แต่ปรับปรุงรูปแบบการรับส่งสัญญาณใหม่ ทำให้กินไฟน้อยลงกว่า WiFi มาก
- ทำงานโดยอิงการระบุตัวตนผ่านระบบ IP เหมือน WiFi ทำให้สามารถเชื่อมหา และสั่งงานถึงกันเองได้แบบแทบไม่ต้องใช้ฮับ หรือบริดจ์กลางในการเชื่อมอุปกรณ์เข้ากับอินเตอร์เน็ตเลย
- รองรับการทำงานบน IPv6 เท่ากับว่าแทบไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนอุปกรณ์จะเยอะเกินจน IP pool เต็ม
- มีระยะเวลาในการตอบสนองที่เร็วเหมือนกับ Zigbee
- รองรับการเชื่อมต่อกันเป็นทอด ๆ แบบ mesh
- สามารถทำงานภายในวงได้ แม้อินเตอร์เน็ตจะล่ม
ส่วนในกรณีที่ถ้าหากต้องการสั่งงานระยะไกลผ่านคลาวด์ ผ่านอินเตอร์ ก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น Border Router Gateway ด้วย แม้ชื่ออาจจะดูเหมือนของใหม่และน่าจะราคาสูง แต่จริง ๆ แล้วมันถูกใส่มาอยู่ในผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ชิ้นกันแล้วครับ เช่นลำโพง HomePod mini, Apple TV 4K, Nest Hub 2nd gen, ไฟ Nanoleaf บางรุ่น เป็นต้น และน่าจะมีการขยายวงออกไปเรื่อย ๆ เพราะ Thread คือหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่จะนำไปสู่ Matter ในลำดับถัดไป และการจะทำให้อุปกรณ์กลายเป็น border router นั้นก็ไม่ยากเลย ขอแค่เป็นอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi และมีการเปิดใช้งานตลอดเวลา เช่น เราเตอร์, NAS หรือแม้กระทั่งตู้เย็นยังได้เลย
ส่วนข้อด้อยหน่อยก็คงจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ที่รองรับ Thread ซึ่งจัดว่ายังน้อยไปหน่อย ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากเป็นมาตรฐานที่ยังใหม่ไปนิดนึง และในหลายจุดยังคงเป็นการเขียนไว้แบบหลวม ๆ ทำให้มีผู้ผลิตอุปกรณ์บางรายเลือกที่จะจำกัดวงการแชร์ข้อมูลหากันไว้ ว่าจะต้องเป็นอุปกรณ์จากบริษัทเดียวกันเท่านั้น จึงจะสามารถทำงานร่วมกันได้ อย่างในบทความนี้จากเว็บไซต์ The Verge ตัวผู้เขียนระบุว่าในบ้านตัวเองมีอุปกรณ์ที่เป็น Thread border router ทำงานอยู่ถึง 5 ตัวพร้อมกัน แต่พบปัญหาว่าทุกตัวมันก็ต่างแยกวงกันทำงานหมดเลย อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นและสั่งงานอุปกรณ์ข้ามวงได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นหายนะของการทำ Smart Home ก็ว่าได้
ซึ่งก็ดีหน่อยตรงที่มีการออกอัปเดตมาตรฐาน Thread เป็นเวอร์ชัน 1.3.0 ให้ระบบสามารถจัดการรวมเครือข่ายเข้าด้วยกันได้แล้ว และพร้อมสำหรับใช้งานร่วมกับ Matter ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ย่อย ๆ ที่รองรับ Thread ก็ยังคงมีฐานที่ไม่ใหญ่เท่า Zigbee และ WiFi ปกติที่อยู่ในตลาดมานานกว่า สำหรับใครที่กำลังเล็งจะทำสมาร์ตโฮมที่ใช้ระบบ Thread และ Matter สามารถเข้าไปดูรายชื่ออุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองจาก Thread ได้ที่นี่เลย
Matter
จากข้างต้นที่ผ่านมา จะเห็นว่าโปรโตคอล รูปแบบการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ในระบบสมาร์ตโฮมมีค่อนข้างหลากหลาย แต่ละแบบก็มีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทำให้อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาก่อนจะตัดสินใจเลือกโปรโตคอล แพลตฟอร์มและแบรนด์กันซักนิดนึง เพราะถ้าหากติดตั้งใช้งานไปแล้ว เกิดอยากเปลี่ยนใจขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเรื่องงบ เวลา และความช้ำของตัวบ้านด้วย
จึงได้เกิดเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในชื่อว่า Matter ที่มาจากความร่วมมือของแบรนด์ที่มีส่วนเอี่ยวในวงการ Smart Home มาร่วมร่างมาตรฐาน และออกข้อกำหนด เพื่อทำให้อุปกรณ์ IoT และผลิตภัณฑ์ของตนเองสามารถทำงานร่วมกับโปรโตคอลอื่นได้ด้วย ตัวอย่างแบรนด์ที่จับมือกันก็เช่น Apple, Google, Amazon, Samsung, LG, Nanoleaf, eve, TP-Link , Haier, Huawei, IKEA, NXP, Oppo, Schneider, Siemens, Tuya ภายใต้ชื่อ CSA ที่แต่เดิมคือหน่วยงานที่ออกข้อกำหนดให้กับมาตรฐาน Zigbee นั่นเอง จะเห็นว่าล้วนแต่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีบทบาทในวงการสมาร์ตดีไวซ์อย่างมากในปัจจุบัน เราจึงคาดหวังได้ว่า Matter จะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนของวงการสมาร์ตโฮมได้ในไม่ช้า
จริง ๆ แล้วตัวของ Matter ไม่ได้เป็นโปรโตคอลสื่อสารใหม่ แต่ได้รับการออกแบบให้เปรียบเสมือนเป็นภาษากลาง และช่องทางที่ให้อุปกรณ์ต่างโปรโตคอล ต่างแบรนด์กันสามารถคุยและสั่งการข้ามกันได้ โดยอาศัย Thread และ WiFi เป็นโปรโตคอลหลักในการทำงาน ทำให้ยังคงความสามารถทั้งในด้านการใช้พลังงานที่น้อย ควบคู่กับสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ สตรีมภาพและเสียงได้อย่างที่คุ้นเคย นอกจากนี้ยังสามารถสั่งงานภายในบ้านเองแบบไม่จำเป็นต้องมีอินเตอร์เน็ตก็ได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งาน และเพิ่มความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานขึ้นไปอีกระดับ
จากในภาพข้างบน จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า Matter มันเข้ามาแทรกกึ่งกลางระหว่างส่วนของ Ecosystem (รวมถึงแอปในมือถือด้วย) และก็ตรงเลเยอร์เน็ตเวิร์ค เพื่อทำหน้าที่แปลงสาร เชื่อมระบบและโปรโตคอลต่าง ๆ เข้าหากัน ทำให้สามารถพูดคุยกันผ่าน Matter ที่เป็นตัวกลางได้ พอรู้เรื่องแล้ว ก็ค่อยส่งข้อมูลออกไปทางคลื่นวิทยุในรูปแบบของตนเองเหมือนเดิม นั่นจึงทำให้ตามหลักแล้ว อุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็ควรจะสามารถนำมาใช้กับ Matter ได้ด้วย
ฟีเจอร์ที่จัดว่าเป็นจุดเด่นของ Matter ก็คือ Multi-Admin ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้แอปใดก็ได้ที่สามารถคุมอุปกรณ์ Matter ในการคุมอุปกรณ์ Matter ในบ้านได้ทั้งหมด เช่น สามารถใช้แอป Home บน iOS ในการคุมอุปกรณ์ Matter จาก TP-Link ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงแอปของ TP-Link เลยก็ยังได้ ส่วนคนอื่นในบ้านที่ใช้มือถือ Android ก็สามารถใช้แอป Google Home ในการคุมอุปกรณ์ชิ้นเดียวกันได้เช่นกัน ซึ่งจุดนี้จะเข้ามาแก้ pain point การใช้สมาร์ตโฮมผ่าน WiFi ในปัจจุบัน ที่เราต้องลงแอปแยกแบรนด์ตามของที่นำมาใช้เลย แม้บางตัวจะจับมาใส่ในแอป Home บน iOS หรือ Google Home ได้ แต่บางครั้งก็จะพบปัญหาเรื่องการควบคุม และการอัปเดตสถานะการทำงาน จนต้องยอมไปตั้งค่าในแอปแยกเอง เพราะปรับค่าได้เยอะกว่า สถานะก็ตรงกับการทำงานจริงกว่าด้วย
แต่สำหรับตัว Matter เองในขณะนี้ยังไม่มีแอปเป็นของตนเองนะครับ เอาเป็นว่าใครสะดวกใช้แอปไหน ก็สามารถเลือกตัวที่ชอบได้เลย
อุปกรณ์ที่รองรับ Matter ในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังทยอยเติมเข้ามาในระบบอยู่ ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ และการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้กับอุปกรณ์ที่ทำงานผ่าน WiFi ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ซึ่งถ้าในช่วงสองสามปีนี้ เราก็น่าจะพบอุปกรณ์ Matter ในลักษณะนี้จากแบรนด์ใหญ่ ๆ เป็นหลักก่อน สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าจากรุ่นไหน แบรนด์ใดบ้างที่ผ่านการรับรองว่าใช้งาน Matter ได้แน่ ๆ แล้วบ้าง สามารถเข้าไปค้นหาได้จากหน้าเว็บไซต์ของ CSA เองได้เช่นกัน
ด้านของอุปกรณ์ที่ทำงานผ่าน Zigbee ที่มีอยู่ จริง ๆ แล้วก็สามารถนำมาใช้งานบน Matter ได้เช่นกันครับ แต่จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ที่เป็นสะพานเชื่อมตรงกลางให้ ในปัจจุบันก็จะมีที่นิยมกันหน่อยคือเป็นของ Philips Hue และ Aqara ส่วนอีกจุดที่น่าสนใจคือตามทฤษฎีแล้วอุปกรณ์ Zigbee น่าจะสามารถทำงานร่วมกับ Matter ผ่าน Thread ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการใช้คลื่นวิทยุในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่อาจต้องรอทิศทางการออกอัปเดตของแต่ละแบรนด์ผู้ผลิตอีกที ซึ่งถ้าให้คาดการณ์ คิดว่าคงไม่เน้นในแนวทางนี้เท่าไหร่ สู้ทำบริดจ์กลางออกมาขายน่าจะดีกว่า ได้ทั้งเงินเพิ่ม ของเก่าก็ไม่ค้างสต็อก แถมยังปลอดภัยกว่าการปล่อยอัปเดตเฟิร์มแวร์ไปยังอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้งานอยู่ด้วย
ข้อเด่น
- จะทำให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ข้ามแบรนด์ ข้ามโปรโตคอลได้
- สามารถใช้แอปเดียวควบคุม สั่งงาน ปรับค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบข้ามค่ายได้
- มีแบรนด์ใหญ่ทั้งฝั่งสมาร์ตดีไวซ์ อุปกรณ์สมาร์ตโฮมจับมือกัน คาดว่าจะเป็นแนวทางหลักของการพัฒนามาตรฐานกลางต่อไปในอนาคต
- สามารถทำงานได้ภายในวง แม้อินเตอร์เน็ตขัดข้อง
ข้อด้อย
- อุปกรณ์ที่รองรับ Matter ตั้งแต่แรกยังน้อย และมีราคาสูงอยู่ เพราะยังเป็นแพลตฟอร์มใหม่ในท้องตลาด
- อาจมีต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์เพิ่ม สำหรับผู้ที่ติดตั้งระบบสมาร์ตโฮมอยู่แล้ว
Home Assistant
อีกทางเลือกสำหรับใครที่มีอุปกรณ์ Smart Home แบบค่อนข้างสะเปะสะปะ มาจากการเก็บเล็กผสมน้อย หรือจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์คนละโปรโตคอลในบ้านเดียวกัน แต่ก็อยากให้สามารถสั่งงานข้ามกันได้ รวมถึงต้องการควบคุมอุปกรณ์ทั้งบ้านได้จากจุดเดียว ก็จะมีแพลตฟอร์มยอดนิยมที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด นั่นคือ Home Assistant นั่นเอง
Home Assistant (ย่อว่า HA) ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็คือระบบปฏิบัติการหนึ่งตัว สามารถติดตั้งในคอมพิวเตอร์ทั่วไป ติดตั้งในบอร์ดขนาดเล็กเช่นพวก Raspberry Pi ไปจนถึงการติดตั้งในแบบ virtual machine (VM) และ docker ได้ ในตัวสามารถติดตั้ง add-on เสริมเพื่อให้สามารถควบคุมอุปกรณ์จากโปรโตคอลและจากแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม โดยอาศัยการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย network ภายในบ้าน ทั้งยังออกเน็ตได้ตามปกติด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิด HA เพื่อดูข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์ และสั่งการจากที่ไหนก็ได้ ขอแค่เชื่อมกลับมาที่ HA server เท่านั้นเอง ซึ่งวิธีที่นิยมใช้กันก็คือผ่าน DDNS ครับ
อย่างผมเองก็มีการทำระบบ Home Assistant ไว้ที่บ้านเช่นกัน โดยอาศัยติดตั้งแบบ VM ไว้ใน NAS ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว เวลาจะเรียกใช้งานก็แค่พิมพ์เลข internal IP ในวงแลนตามด้วยพอร์ต 8123 เพื่อเรียกขึ้นมา เช่น 192.168.50.115:8123 รวมถึงมีการใช้ DDNS จากผู้ให้บริการเน็ตบ้านที่มักมีแจก DDNS ให้ใช้ฟรีอยู่แล้ว ร่วมกับการตั้งค่า port ที่เราเตอร์ เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงระบบ HA จากนอกบ้านได้ ทำให้แม้ผมจะอยู่ที่อื่น ก็สามารถเปิดดูกล้อง คุมไฟส่องสว่าง เช็คสถานะเน็ตไฟเบอร์ สั่งหุ่นดูดฝุ่นที่บ้านให้ทำงานได้ผ่านหน้าจอเดียว ไม่ต้องสลับไปใช้หลาย ๆ แอป รวมถึงยังสามารถเขียนคำสั่ง automation เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติตามเวลาที่ตั้งไว้ ตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ได้จากการเก็บข้อมูลของเซ็นเซอร์ต่าง ๆ และยังส่งข้อความเข้ามาใน Line ได้ด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้มอนิเตอร์จุดต่าง ๆ ภายในบ้านมาก
ด้านการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือแค่ติดตั้ง add-on เพิ่ม ก็สามารถนำอุปกรณ์มาใช้ใน HA ได้แล้ว ตัวอย่าง add-on ก็เช่น
- Tuya สำหรับเชื่อมกับอุปกรณ์ Zigbee ที่ต่อเข้ากับฮับ Zigbee ของ Tuya อยู่
- Xiaomi Miot Auto สำหรับใช้ร่วมกับอุปกรณ์จาก Mi เช่น หลอดไฟ หุ่นดูดฝุ่น เครืองฟอกอากาศ
ต้องบอกว่าข้อดีของ Home Assistant นั้นดีมากจริง ๆ มีผู้เขียน add-on และชุดคำสั่งมาให้ใช้กับอุปกรณ์ได้หลากหลาย รองรับการปรับแต่งหน้าแดชบอร์ดแสดงข้อมูลได้ตามต้องการ แต่ก็มาพร้อมการติดตั้งที่ค่อนข้างซับซ้อน การตั้งค่าค่อนข้างวุ่นวาย รวมถึงอาจมีการต้องเขียนโค้ดเพิ่ม เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามต้องการด้วย
นอกจากนี้ยังอาจค่อนข้างลำบากนิดนึงตั้งแต่การเลือกเครื่องที่จะติดตั้งเลย เพราะควรเป็นเครื่องที่เปิดทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่จะใช้เป็นคอมเครื่องใหญ่เลยก็ไม่น่าเหมาะ เพราะจริง ๆ แล้วงานของ HA มันไม่เยอะมาก แต่ถ้าให้เปิดคอมใหญ่ตลอดเวลา ก็จะดูกินไฟมากไปหน่อย แนะนำว่าการลงใน NAS เก็บข้อมูลก็เป็นทางเลือกที่ดี หรือจะหาพวกบอร์ด Pi 4 มาทำก็ได้ แต่ถ้าต้องการใช้คอมพีซีจริง ๆ ก็อาจจะหาเป็นพีซีเครื่องเล็กกินไฟต่ำมาก็ได้เช่นกัน แล้วลง Proxmox เพื่อติดตั้ง HA แบบ virtual machine เอา
ยังดีที่สังคมกลุ่มนักพัฒนาและผู้ใช้งาน Home Assistant นั้นมีขนาดใหญ่ และยังแอคทีฟกันอยู่ตลอด ตัวระบบเองก็ยังมีการอัปเดตเพื่อพัฒนาความสามารถ แก้ไขบั๊กอยู่เสมอด้วย จึงเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจะยังเติบโตต่อไปได้อีกนาน ถ้าใครมีพื้นฐานด้านคอม อ่านภาษาอังกฤษคล่อง และพออ่านโค้ดเป็น เข้าใจว่าควรใช้อะไร แก้ไขตรงไหนเพื่อให้เหมาะกับอุปกรณ์ที่ใช้งาน จะลองศึกษาระบบ HA ก็ดีครับ ระบบมันยืดหยุ่นมากจริง ๆ และสนุกมากด้วย แนะนำว่าอาจจะลองลงแบบ VM ในโปรแกรมพวก VirtualBox ดูก่อนก็ได้ เพื่อศึกษาวิธีการทำ แต่อาจจะมีความยุ่งยากนิดนึงเรื่องการเชื่อมต่อกับเครือข่าย
สรุปการทำ Smart Home จะเลือกใช้อะไรดี?
สำหรับใครที่กำลังวางแผนทำ Smart Home แล้วคิดอยู่ว่าจะเลือกใช้โปรโตคอล หรือแพลตฟอร์มใดดี เราขอแบ่งเป็นตามรูปแบบการใช้งาน การทำบ้านดังนี้ครับ
ต้องการทำแบบง่าย ๆ ฝึกทำ
– ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน WiFi
มีอุปกรณ์ไม่เยอะ ใช้งานแค่พื้นฐาน สั่งเปิด/ปิดไฟ เล่นเพลงออกลำโพง
– ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน WiFi
อยากได้ของเล่นเยอะ หาซื้อง่าย
– ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน WiFi
ต้องการความง่ายในการใช้งาน ควบคุมอุปกรณ์
– จะแบ่งเป็นสองสาย หนึ่งคือใช้ Zigbee หรือ WiFi หรือ Thread ก็ได้ แต่เน้นเลือกแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นหลัก จะได้ใช้แค่แอปเดียวในการควบคุม ตั้งค่า และเขียนเงื่อนไข ส่วนอีกสายก็คือมุ่งไป HomeKit เลย แต่เท่ากับว่าต้องใช้อุปกรณ์อื่นจาก Apple ด้วยเช่นกัน
ต้องการมอนิเตอร์จุดต่าง ๆ ในบ้าน
– อาจใช้ผสมกัน เช่น ถ้าต้องจับการเคลื่อนไหว ก็ใช้เซ็นเซอร์พวก PIR ต้องการวัดปริมาณแสงในบางบริเวณ ก็ใช้เซ็นเซอร์ที่ต่อผ่าน Zigbee เพราะเร็ว กินไฟต่ำ ถ้าต้องการดูปริมาณการใช้ไฟ จะใช้แบบ WiFi ก็ได้ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการความไวในการรับข้อมูลขนาดไหน และเป็นงานที่เซ็นเซอร์ต้องทำงานบ่อยหรือเปล่า ถ้าบ่อยก็ไป Zigbee หรือ Thread/Matter
ใช้ iPhone เป็นมือถือหลัก หรือในบ้านใช้ผลิตภัณฑ์ Apple กันหมด
– เลือกของที่รองรับ HomeKit ไว้ก่อนก็ดี แล้วของที่รองรับ HomeKit หลาย ๆ ตัวก็จะใช้กับ Matter ได้ด้วย แต่ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องงบนิดนึง ก็ใช้ Zigbee/WiFi ตามปกติได้เหมือนกัน เพราะพวกนี้ในบางแอปสามารถส่ง scene (คำสั่งให้อุปกรณ์ทำงานตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เมื่อกดปุ่มในแอป หรือเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้) ไปยัง Siri ได้ ซึ่งมันก็จะไปขึ้นในแอป Shortcut ด้วย ทำให้ผู้ใช้ iPhone สามารถนำไปผูกเป็นคำสั่งอัตโนมัติ (automation) ได้อีกเยอะเลย
ใช้ Android เป็นมือถือหลัก
– ใช้อะไรก็ได้ยกเว้นของที่มีแต่ HomeKit ล้วน ๆ
ต้องการวางระบบเพื่อใช้งานระยะยาว
– เลือกตัวไหนก็ได้ตามลักษณะงานและงบประมาณ แต่ก็ควรเผื่อไว้สำหรับ Matter ด้วยก็ดี ดังนั้นควรจะเลือกของจากแบรนด์ที่ร่วมอยู่ใน CSA ด้วย หรืออีกทาง ถ้ายังสามารถติดตั้งทีหลังได้ ก็คือยังไม่ต้องรีบครับ รอดูแนวโน้มสินค้าที่ใช้ Matter ในไทยก่อน โดยเฉพาะพวกเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ
มีความรู้ด้านคอม เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เน็ตและฮาร์ดแวร์
– ใช้อะไรก็ได้ แล้วตั้ง server ที่ติดตั้ง Home Assistant ไปเลย
นอกเหนือจากโปรโตคอลหลัก ๆ ที่กล่าวถึงในบทความนี้แล้ว ที่จริงในปัจจุบันก็จะยังมี Bluetooth อีกตัวครับ แต่จะได้รับความนิยมน้อยกว่า ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องระยะทาง การถูกรบกวนสัญญาณได้ง่าย ความเร็วในการรับส่งข้อมูลก็ไม่สูงเท่า WiFi แถมยังใช้พลังงานมากกว่า Zigbee อีก ประกอบกับการน่าจะถูกแทนที่ด้วยโปรโตคอลอื่นมากกว่า เลยขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ครับ