Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

ชิป A17 Pro ใน iPhone 15 Pro มีอะไรน่าสนใจบ้าง แรงขึ้นกว่าเดิมขนาดไหน

หลังจาก Apple เปิดตัว iPhone 15, 15 Plus, 15 Pro และ 15 Pro Max ไป หนึ่งในไฮไลท์ของงานนี้ก็คือการเปิดตัวชิป A17 Pro สำหรับไอโฟนในรุ่นโปรเท่านั้น นอกจากจะมีการอัปเกรดประสิทธิภาพแล้ว ในเชิงเทคโนโลยีเองก็มีจุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในหลายองค์ประกอบเช่นกัน ในบทความนี้จะมาดูกันครับว่าชิปรุ่นใหม่นี้มีเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และประสิทธิภาพแรงขึ้นกว่าเดิมขนาดไหน เริ่มต้นกันด้วยสิ่งที่ Apple นำเสนอในงานก่อนครับ

ชิป A17 Pro ใน iPhone 15 Pro มีเทคโนโลยีอะไรน่าสนใจบ้าง แรงขึ้นกว่าเดิมขนาดไหน

Advertisement

ชิป A17 Pro กับสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไป

ชิป Apple A17 Pro ที่ใส่มาให้เฉพาะใน iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max จะเป็นชิปในตระกูล Apple Silicon รุ่นแรกที่ผลิตโดยใช้สถาปัตยกรรมระดับ 3 นาโนเมตร เป็นการขยับจากชิปรุ่นก่อนหน้าอย่าง A16 Bionic ที่ใช้สถาปัตยกรรมระดับ 5nm ซึ่งนอกจากระดับสถาปัตยกรรมจะเล็กลงแล้ว ยังจัดว่าเป็นชิปประมวลผลระดับ 3nm รุ่นแรกที่จะมาอยู่ในอุปกรณ์พกพาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างสมาร์ตโฟนอีกด้วย เพราะที่ผ่านมา ชิประดับ 3nm ได้รับการผลิตเพื่อใช้กับเครื่องขุดคริปโตในจีนเป็นหลัก

สำหรับในปัจจุบัน (กลางเดือนกันยายน 2023) เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา จะมีเพียง 4 บริษัทใหญ่เท่านั้นที่ประกาศแผนงาน หรือเริ่มผลิตไปแล้ว ได้แก่ Samsung ที่ผลิตชิปให้กับเครื่องขุดคริปโตที่กล่าวไปข้างต้น ถัดมาคือ TSMC ที่จะเป็นผู้ผลิตชิป A17 Pro รายหลักให้กับ Apple ตามรายงานที่มีออกมาว่า Apple ได้จองคิวผลิตชิป 3nm ไปยาว ๆ แล้ว อีกบริษัทก็คือ MediaTek ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าสามารถผลิตชิป 3nm โดยใช้กระบวนการของทาง TSMC ได้แล้ว แต่คาดว่าจะเริ่มนำชิปลงตลาดได้ปีหน้าเลย ปิดท้ายด้วย Intel ที่คาดว่าจะอาศัยกระบวนการผลิตของ TSMC เช่นกัน ในการผลิตชิปสำหรับตลาด server และวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า

gsmarena 001 1

จุดเด่นของระดับสถาปัตยกรรมที่เล็กลง ก็คือทำให้ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลงเหลือเพียงเท่ากับความกว้างของอะตอมธาตุซิลิคอน 12 อะตอมเท่านั้น เพื่อทำให้สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ลงไปในชิปได้มากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยี Extreme Violet Lithography (EUV) ในการผลิต ทำให้ชิป A17 Pro มีจำนวนทรานซิสเตอร์รวมสูงถึง 19 พันล้านตัว ส่วนในชิปรุ่นต่าง ๆ ในมือถือจะมีจำนวนทรานซิสเตอร์ตามนี้

  • ชิป A16 Bionic (5nm) ใน iPhone 15, iPhone 14 Pro มี 16 พันล้านตัว
  • ชิป A15 Bionic (5nm) ใน iPhone 14, iPhone 13 Pro มี 15 พันล้านตัว
  • ชิป A13 Bionic (7nm) ใน iPhone 11 มี 8.5 พันล้านตัว
  • ชิป Snapdragon 8 Gen 2 (4nm) ใน Samsung Galaxy S23 มี 16 พันล้านตัว

ด้วยการที่ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง ทำให้สามารถใส่เข้าไปในแพ็คเกจชิปได้มากขึ้น ซึ่งการที่มีทรานซิสเตอร์มากขึ้น ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลให้สูงขึ้นตาม เนื่องจากตัวทรานซิสเตอร์สามารถสับเปลี่ยนสถานะได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อดีอื่นอีก อาทิ

  • ใช้พลังงานน้อยลง เพราะทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก
  • ความร้อนที่เกิดจากการสูญเสียพลังงานของไฟฟ้าลดลง สืบเนื่องจากการกินไฟที่ลดลง
  • มีพื้นที่ว่างในแพ็คเกจชิปเยอะขึ้น ทำให้สามารถใส่โมดูลอื่นเข้ามาเพิ่มความสามารถได้ หรือจะใส่ทรานซิสเตอร์เพิ่มเพื่อทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นอีก

 

แกะผัง schematic ของชิป A17 Pro

Screenshot 2023 09 13 at 3.49.01 PM

ในการเปิดตัวชิป ทาง Apple ได้อธิบายถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละโมดูลในตัวชิป โดยเราจะมาดูกันทีละกลุ่มสีแล้วกันครับ

กลุ่มคอร์ประสิทธิภาพสูง / High-performance core ของ CPU (สีน้ำเงิน)

ใช้สำหรับการประมวลผลที่ต้องใช้พลังสูง เป็นการคำนวณที่ซับซ้อน เช่น การเล่นเกม การเรนเดอร์วิดีโอ เป็นต้น โดยยังคงให้มา 2 คอร์เท่าเดิม ซึ่งทาง Apple ระบุไว้ว่ามีการปรับปรุงการคาดพยากรณ์คำสั่งสำหรับการประมวลผลให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงยังมีเอนจิ้นที่ช่วยในการถอดรหัสและประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย ทำให้สามารถโฆษณาได้ว่าเป็น CPU สำหรับมือถือที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลแบบ single-thread ที่สูงที่สุดในปัจจุบัน ในแง่ของการเปรียบเทียบความแรง ก็ระบุไว้ว่าแรงกว่าชิปรุ่นก่อนสูงสุด 10% แต่ไม่ได้แจ้งไว้ว่าเทียบกับชิปรุ่นใด คงต้องรอเทียบกับผล benchmark อีกที

กลุ่มคอร์สำหรับใช้งานทั่วไป / High-efficiency core ของ CPU (สีส้ม)

ยังคงให้มาที่ 4 คอร์เท่าเดิม เพิ่มเติมคือประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่ง Apple ให้ข้อมูลไว้ว่ามีอัตราส่วนระหว่างประสิทธิภาพต่อวัตต์พลังงานที่ใช้ที่ดีขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว กล่าวคือ ในการทำงานเดียวกัน ชิป A17 Pro จะทำงานเสร็จเร็วขึ้น แถมยังกินไฟน้อยกว่าเดิมด้วย แน่นอนว่าจะส่งผลถึงระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่าเดิม เพราะคอร์ประมวลผลกลุ่มนี้ จะเป็นส่วนที่ถูกใช้งานมากที่สุด

Screenshot 2023 09 13 at 4.46.12 PM

กลุ่มคอร์ Neural Engine (สีเขียว)

ใช้สำหรับประมวลผลงานด้าน machine learning ภายในเครื่อง เช่น การวิเคราะห์วัตถุต่าง ๆ ในรูปถ่าย เพื่อใช้ในการตัดพื้นหลัง การแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิด การถอดข้อความจากเสียง การประมวลผลคำสั่งเสียงเพื่อใช้กับ Siri เป็นต้น ซึ่งจุดประสงค์ที่ Apple ใส่ส่วนนี้เข้ามา และพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ก็เพื่อให้ iPhone สามารถจัดการกับงานเหล่านี้ได้เองในเครื่อง โดยไม่ต้องส่งข้อมูลมาที่คลาวด์ส่วนกลางเลย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวให้กับข้อมูลของผู้ใช้เอง

โดยในรอบนี้จะให้ Neural Engine มาทั้งหมด 16 คอร์เท่าเดิม แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม สูงสุด 2 เท่า สำหรับในมุมมองของผู้ใช้งานเอง อาจจะสังเกตความแตกต่างในจุดนี้ค่อนข้างยากซักนิดนึง เพราะงานด้าน machine learning มักจะเป็นส่วนที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง อาจจะพอเทียบได้บ้างเวลาที่ลองให้ระบบช่วยตัดพื้นหลังในภาพถ่ายให้ โดยที่ความเร็วก็คงไม่ต่างกับรุ่นเก่ามากนัก

แต่ในระยะยาวเราอาจจะเห็นความแตกต่างชัดเจนเมื่อมี iOS เวอร์ชันใหม่ ๆ ที่มาพร้อมฟีเจอร์อำนวยความสะดวกเบื้องหลังในลักษณะที่กล่าวข้างต้นออกมา ซึ่ง iPhone ที่ใช้ชิปรุ่นเก่าหน่อย ที่มีพลังของ Neural Engine ไม่สูงมาก อาจจะใช้งานฟีเจอร์ได้ไม่ครบถ้วนเหมือนเครื่องรุ่นใหม่กว่า ตัวอย่างเช่นฟีเจอร์การปลดล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้าขณะใส่หน้ากากอนามัยด้วยระบบ Face ID ที่ Apple กำหนดไว้ว่าใช้ได้เฉพาะ iPhone 12 หรือใหม่กว่าขึ้นมาเท่านั้น เนื่องจาก iPhone รุ่นก่อนหน้าจะมี Neural Engine เพียงแค่ 8 คอร์เท่านั้น ในขณะที่ตั้งแต่ iPhone 12 จะมีมาให้ 16 คอร์

แง่ประสิทธิภาพการประมวลผลของ Neural Engine จะใช้การวัดที่จำนวนคำสั่งที่ประมวลผลได้ต่อวินาที ใช้หน่วยเป็น ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (TOPS) ถ้าจับชิปแต่ละรุ่นมาเทียบกันก็จะได้ตามนี้

  • A17 Pro – 35 TOPS
  • A16 – 17 TOPS
  • A15 – 15.8 TOPS
  • A14 – 11 TOPS
  • A13 – ระบุไว้ว่าเร็วกว่า A12 อยู่ 20% คำนวณแล้วได้เท่ากับ 6 TOPS
  • A12 – 5 TOPS

จะเห็นความแตกต่างแบบก้าวกระโดดตรงชิป A14 ที่เร็วกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 2 เท่า ก็เนื่องมาจากการเพิ่มจำนวน Neural Engine จาก 8 เป็น 16 คอร์นั่นเอง ส่วนรอบ A17 Pro นี้ก็น่าสนใจเช่นกันครับ เพราะจำนวนคอร์เท่าเดิม แต่ได้ประสิทธิภาพดีกว่า A16 ถึงสองเท่าเลย คาดว่าเรื่องการเปลี่ยนระดับสถาปัตยกรรมการผลิตชิปจาก 5nm มาเป็น 3nm น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับจุดนี้ด้วย และในอนาคตเราน่าจะได้เห็นฟีเจอร์ที่อาศัยพลัง machine learning เพิ่มมาใน iOS อีกเยอะเลย

usbc dqdn0phay4mu large 2x

โมดูล USB Controller (สีเหลือง)

เป็นไฮไลท์ที่แทบทั้งโลกรอคอย นั่นคือการที่ iPhone ขยับมารองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่มาตรฐาน USB 3 ซักที และเนื่องจากโมดูลนี้มีอยู่ในเฉพาะชิป A17 Pro เท่านั้น จึงทำให้ iPhone 15 และ iPhone 15 Plus ที่ใช้ชิป A16 Bionic ยังคงใช้เป็น USB 2.0 อยู่นั่นเอง แม้จะใช้พอร์ตแบบ USB-C เหมือนกันหมดก็ตาม

ซึ่ง USB 3 ที่ iPhone 13 Pro และ Pro Max รองรับ จะมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดตามทฤษฎีที่ 10 Gb/s ถ้าเทียบจากความเร็วแล้ว ก็น่าจะเป็น USB 3.2 แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็น Gen 1×2 หรือ Gen 2×1 หากต้องการถ่ายโอนข้อมูลได้เต็มศักยภาพ ก็ต้องเลือกสาย USB-C ที่รองรับการ transfer data ความเร็วขั้นต่ำ 10 Gb/s ด้วย อย่างถ้าเป็นของ Apple เองก็จะมีสายนี้ ที่มีระบุไว้ด้วยว่ารองรับการถ่ายโอนข้อมูลผ่าน USB 3 ด้วยความเร็วสูงสุด 10 Gb/s แต่ราคาก็จะสูงนิดนึง เพราะเป็นสายที่รองรับ Thunderbolt 3/4 และ USB 4 ด้วย แต่สายเทียบที่ราคาย่อมเยากว่าก็มีให้เลือกเยอะเช่นกันครับ อีกความสามารถที่ได้รับการอัปเกรดขึ้นก็คือตัวพอร์ต USB-C จะรองรับการแสดงภาพออกหน้าจอผ่านโปรโตคอล DisplayPort ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K HDR ด้วย จากที่แต่เดิมการต่อผ่านพอร์ต Lightning จะได้แค่ 1080p เท่านั้น แต่จะไม่สามารถใช้งานจอนอกเพื่อเพิ่มพื้นที่การทำงานแบบ extended mode เหมือน iPad ได้

Apple iPhone 15 Pro lineup ProRes video shoot 230912 big.jpg.large 2x

อีกฟังก์ชันที่ได้เพิ่มมาจากการขยับมาเป็น USB 3 ก็คือ ระบบอนุญาตให้สามารถถ่ายวิดีโอแบบ ProRes ระดับ 4K 60fps แล้วไปบันทึกไฟล์ลงใน external storage เช่นแฟลชไดรฟ์ที่ต่อกับพอร์ต USB-C ของ iPhone 15 Pro/Pro Max ได้โดยตรงแล้ว เรียกว่าตอบโจทย์งานถ่ายทำมาก ๆ เพราะเท่ากับว่าสามารถถ่ายวิดีโอแบบยาว ๆ ได้โดยแทบไม่ต้องกังวลเรื่องความจุในเครื่องอีกแล้ว (แต่ต้องระวังเรื่องแบตเหมือนเดิมนะ)

ถือว่าเป็นเรื่องราวดี ๆ จากการเปลี่ยนมาใช้พอร์ตชาร์จแบบ USB-C ซะที เพราะมันหาซื้อสายได้ง่ายมาก ยืมเพื่อนที่ใช้ Android ก็ยังได้เลย รวมถึงยังมีคุณสมบัติทางเทคนิคที่เหนือกว่า Lightning ที่ Apple แทบไม่มีการปรับปรุงมานานหลายปีแล้วด้วย

Screenshot 2023 09 13 at 5.56.41 PM

ชุดเอนจิ้นช่วยในการประมวลผลอื่น ๆ (สีชมพู)

จัดเป็นส่วนเสริมในชิปที่ช่วยให้ iPhone ทำงานเฉพาะทางบางอย่างได้เร็วขึ้น ลดการใช้งานคอร์ CPU หลักลง โดยในงานเปิดตัวมีการพูดถึงอยู่ 3 จุดหลัก ได้แก่

  • ProRes codec ใช้สำหรับการถอดรหัสไฟล์วิดีโอที่เป็นฟอร์แมตแบบ ProRes ซึ่งมีความละเอียดสูง ใช้สำหรับงานโปรดักชั่น
  • Pro display engine (น่าจะเป็นส่วนที่ใหญ่สุดทางขวา) ใช้ควบคุมเรื่องการแสดงผลของจอ
  • AV1 decoder ใช้สำหรับถอดรหัสไฟล์วิดีโอที่เข้ารหัสมาเป็นฟอร์แมต AV1 ซึ่งนิยมใช้ในการสตรีมมิ่งวิดีโอความละเอียดสูง แต่มีไฟล์ขนาดเล็ก เช่น การดูหนังระดับ 4K HDR ผ่านแอปสตรีมมิ่ง

ตัวที่จัดว่าน่าสนใจมาก ๆ ก็คือ AV1 decoder เพราะเป็นครั้งแรกที่ Apple ใส่เอนจิ้นของ codec AV1 เข้ามาในชิปตระกูล Apple Silicon ด้วย ประกอบกับที่ผ่านมามีข้อมูลว่า Apple ได้เพิ่มโค้ดที่เกี่ยวกับการรองรับ AV1 เข้ามาในระบบปฏิบัติการหลาย ๆ ตัวด้วย จึงพอจะคาดเดาได้ว่าชิป M3 สำหรับเครื่องแมคที่คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเร็วสุดช่วงปลายปีนี้ ก็น่าจะใส่ AV1 decoder มาให้ด้วยเช่นกัน หรืออย่างต่ำสุดก็คือไปใส่ให้ในชิป M3 Pro/Max/Ultra ที่น่าจะเปิดตัวในปีหน้า ส่วน M3 ปลายปีนี้ก็ยังไม่ใส่มาให้ ตามสไตล์ Apple ที่ชอบใส่ของหนัก ๆ ใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์รุ่นโปรก่อน แล้วปีถัดไปค่อยใส่ให้ในรุ่นปกติตามมา

ส่วนสิ่งที่ทำให้ AV1 decoder น่าสนใจก็คือมันจะเข้ามาช่วยในการถอดรหัสไฟล์วิดีโอในแอปสตรีมมิ่งเป็นไปได้ดีขึ้น กินพลังโดยรวมของ CPU น้อยลง เพราะระบบสามารถโยนงานนี้มาให้กับตัว decoder ที่ได้รับการออกแบบมาทำงานเฉพาะทางจัดการให้แทน รวมถึงน่าจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการสตรีมมิ่งให้ก้าวสู่ยุค AV1 ได้เร็วขึ้นอีกระดับด้วย เพราะจำนวนผู้ใช้ iDevice เองก็ไม่ใช่น้อยอยู่เหมือนกัน

lightest boybgwifuehe large 2x

Image Signal Processor และ Photonic Engine (สีดำด้านล่างขวา)

ตรงส่วนนี้ Apple ไม่ได้พูดถึงในการเปิดตัว แต่ถ้าเทียบกับแผนภาพ schematic ของชิป A16 Bionic จะพบว่ามันคือจุดเดียวกันเลย ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่าอาจจะไม่มีการปรับปรุงใหญ่ในจุดนี้มากนัก แต่หลัก ๆ แล้วโมดูลนี้จะใช้สำหรับการประมวลผลภาพถ่าย วิดีโอ เช่นการถ่ายภาพ HDR ด้วยฟีเจอร์ Smart HDR เพื่อให้ได้รายละเอียดภาพครบถ้วน สีสันสดใสในแทบทุกสภาพแสงเงา รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ในโหมด Portrait เช่น การถ่ายภาพความละเอียดสูง 24MP ที่เกิดจากการรวมพิกเซลใกล้ ๆ บนเซ็นเซอร์รับภาพเข้าด้วยกัน และการเปลี่ยนจุดโฟกัส/จุดเบลอภายหลังได้ เป็นต้น

อีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับด้านการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอที่ชิป A17 Pro สามารถทำได้ก็เช่น การรองรับการถ่ายวิดีโอเป็นไฟล์ LOG ซึ่งเหมาะกับงานโปรดักชั่น เพราะสามารถนำไปเกรดสี ทำเอฟเฟคท์ได้ดีกว่าวิดีโอปกติ

GPU ประมวลผลกราฟิก (สีฟ้าอ่อน)

ถือว่าเป็นจุดที่พีคสุดสำหรับการเปิดตัวชิป A17 Pro ก็ว่าได้ เพราะรอบนี้ Apple ได้ปรับปรุง GPU ให้มีพลังสูงกว่าที่เคย จุดที่เห็นได้ชัดสุดก็คือเพิ่มจาก 5 มาเป็น 6 คอร์ รวมถึงยังมีการปรับแต่งภายในอีก เช่น การเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของส่วนที่คำนวณ shader ทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมสูงสุดถึง 20% ส่วนถ้าเทียบกับ GPU ในชิป A14 Bionic ของ iPhone 12 Pro ก็จะสูงกว่ามากสุดถึง 70% เลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการเทียบกับชิปรุ่นก่อนหน้าอย่าง A16 มาด้วย

Screenshot 2023 09 13 at 6.48.59 PM

ความสามารถใหม่ของ GPU ในชิป A17 Pro ก็คือการรองรับการแสดงผลด้วยการให้แสงแบบ ray tracing โดยมีฮาร์ดแวร์แยกเฉพาะออกมา ทำให้มีการฉายและเกลี่ยแสงเงาได้สมจริงยิ่งขึ้น ซึ่งในงานเปิดตัวก็มีการเทียบประสิทธิภาพด้วยคลิปภาพจากในเกมที่ตั้งค่าให้มีการใช้ ray tracing ด้วย ฝั่งซ้ายคือใช้การคำนวณจากซอฟต์แวร์แบบปกติ ปล่อยให้ชิป A16 Bionic จัดการ ส่วนฝั่งขวาคือผลที่ได้จากการมีโมดูลคำนวณ ray tracing แยกออกมา จุดที่แตกต่างกันคือฝั่งขวาจะมีเฟรมเรตที่สูงกว่ามาก ส่วนฝั่งซ้ายจัดว่าอยู่ในระดับที่เล่นเกมไม่ได้เลย เทียบกันแล้วคือมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานแบบ software-based ด้วยชิป A16 ถึง 4 เท่า ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนักพัฒนาเกมด้วยว่าจะใส่ ray tracing เข้ามาในเกมด้วยหรือเปล่า

แต่ดูจากแนวโน้มเองก็จัดว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะในงานนี้มีการประกาศแล้วว่าจะมีเกมใหญ่ตัวเต็มที่หลายคนคุ้นเคยกันในพีซีและเครื่องคอนโซลมาลงให้เล่นใน iOS ด้วย ได้แก่

  • Resident Evil Village (ภาค 8) และ Resident Evil 4 Remake ภายในปีนี้
  • Death Stranding เวอร์ชัน Director’s Cut ภายในสิ้นปีนี้
  • Assassin’s Creed Mirage ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า

ซึ่งถ้าไม่ผิดพลาดอะไร ทั้ง 4 เกมนี้จะสามารถเล่นได้เฉพาะใน iPhone 15 Pro และ Pro Max ที่ใช้ชิป A17 Pro เท่านั้น ส่วนเกมอื่น ๆ ก็จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาของ GPU ด้วยเช่นกัน เช่น เอฟเฟคท์ภาพที่สมจริงขึ้น เพราะในรอบนี้ Apple เน้นในการโปรโมตด้านการเล่นเกมบน iPhone มาก ไม่แพ้ด้านกล้องเลย

Screenshot 2023 09 13 at 7.03.24 PM

อีกฟังก์ชันที่น่าสนใจมากคือ MetalFX Upscaling ที่ก็คือการอัปสเกลภาพให้มีความละเอียดสูงขึ้น เช่น สมมติว่า GPU เรนเดอร์ภาพมาที่ความละเอียดเพียงระดับ 50% ของจอ จากนั้นก็มาผ่านการอัปสเกลภาพให้กลายเป็น 100% เพื่อให้แสดงภาพบนจอได้สวยงาม โดยใช้พลังในการประมวลผลน้อยลง ซึ่งเป็นหลักการคล้ายกันกับในการ์ดจอพีซีทั้งค่ายเขียวและค่ายแดงเลย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

สำหรับในชิป A17 รุ่นโปรนี้ จะใช้การทำงานร่วมกันของ GPU และ Neural Engine ที่เชี่ยวชาญงานด้าน AI และ machine learning เพื่อให้สามารถอัปสเกลภาพได้ในตัวเลย เพื่อให้ได้ทั้งภาพที่สวย แต่ก็ใช้พลังงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็นด้วย นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำเกมใหญ่ระดับ AAA ในพีซีและคอนโซลมารันแบบ native ในมือถือได้ แต่ในเบื้องต้นน่าจะได้ภาพในเกมที่เฟรมเรต 30 fps เป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เล่นได้อยู่

379012276 612511537743965 449191063265943646 n

ล่าสุดมีประกาศจาก Capcom ว่าเกม Resident Evil Village และ 4 Remake จะสามารถเล่นได้บนเครื่องต่าง ๆ ดังนี้

  • iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max
  • iPad Pro 11″ 3rd/4th Gen และ 12.9″ 5th/6th Gen ที่ใช้ชิปตั้งแต่ M1 ขึ้นไป
  • iPad Air 5th Gen ที่ใช้ชิป M1

ส่วนเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการจะต้องเป็น iOS 17 และ iPadOS 17 ขึ้นไปเท่านั้น ที่พิเศษหน่อยจะเป็น RE4 Remake ที่รองรับ universal purchase ด้วย ทำให้สามารถซื้อในแพลตฟอร์มของ Apple ครั้งเดียว แต่นำไปเล่นต่อเนื่องได้ทั้งบน iOS, iPadOS และ macOS เลย

Screenshot 2023 09 13 at 7.17.36 PM

ทั้งหมดนี้ก็คือเทคโนโลยีที่น่าสนใจในชิป Apple A17 Pro รุ่นใหม่ล่าสุดที่จะมาพร้อมกับ iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max ส่วนตัวเลขการทดสอบประสิทธิภาพเพื่อเปรียบเทียบว่าแรงกว่าเดิมขนาดไหน ตอนนี้ก็เริ่มมีผลทดสอบจาก Geekbench 6 ของทั้ง iPhone 15 Pro และ Pro Max ที่ใช้ชิปตัวแรงรุ่นใหม่ล่าสุดออกมาแล้ว ซึ่งจากสเปคพบว่าทั้งสองรุ่นมาพร้อมแรม 8GB ส่วนคะแนนออกมาดังนี้

Screenshot 2023 09 14 at 3.21.59 PM 1

คะแนนของ iPhone สองรุ่นใหม่ในกราฟจะเป็นคะแนนเฉลี่ยจากผลการทดสอบ 3 ชุดที่มีอยู่ในฐานข้อมูล ณ ตอนนี้ ส่วนของรุ่นอื่น ๆ จะเป็นคะแนนเฉลี่ยที่ทาง Geekbench สรุปไว้ให้ สำหรับทั้งสองรุ่นใหม่เอง คะแนนรุ่น Pro Max จะต่ำกว่ารุ่น Pro เล็กน้อย แต่ก็จัดว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกันอยู่

ส่วนของรุ่นอื่นที่ใส่มา เมื่อลองเทียบคะแนนว่าน้อยกว่า iPhone 15 Pro อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ จะพบว่าพลังประมวลผลของ A17 Pro ทั้งแบบ single และ multi core ทำได้ดีกว่าชิปรุ่นก่อนหน้าทุกตัว แบบขยับขึ้นมารุ่นละประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ถ้าวัดพลังแบบคอร์เดี่ยวจริง ๆ จะยังแรงกว่าชิปทั้งตระกูล M1 และ M2 ที่อยู่ใน iPad, MacBook รวมถึงเครื่อง Mac รุ่นใหญ่ ๆ ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเทียบพลัง multi core อันนี้ก็แพ้ไปตามระเบียบ ด้วยความแตกต่างของจำนวนคอร์ที่มี

ด้านของพวกหน่วยความจำแคช ก็ยังใส่มาให้เท่ากับชิปรุ่นก่อนหน้าคือมีแคช L1 อยู่ 128+64 KB และ L2 อีก 4 MB ตัวชิปทำงานที่ความเร็วพื้นฐานประมาณ​ 3.77 GHz สูงกว่ารุ่นเก่าเล็กน้อย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Mac Corner

พอ Apple เปิดตัว iPhone 16 Series เปิดตัว iPhone 15 ราคาก็ถูกลงตามกลไกการตลาด หลีกทางให้สินค้ารุ่นใหม่และเคลียร์สต็อกสินค้าเก่าไปด้วย ถึงจะตกรุ่นแล้วแต่ถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปเน้น Social network, ถ่ายวิดีโอเก็บภาพความทรงจำและเล่นเกมบ้าง ไม่เน้น Apple Intelligence (AI) ตามสมัยนิยมเอาความแรงตัวชิปเซ็ตเข้าว่า ก็พูดได้ว่าราคาไอโฟน 15 ตอนนี้ก็คุ้มดีแล้วใช้เป็นมือถือเครื่องหลักไปได้อีกหลายปีก่อนจะหมดรอบการอัปเดต iOS...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Tips & Tricks

กำแพงภาษาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ใครหลายคนไม่อยากเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพราะกลัวจะสื่อสารไม่ได้คุยกับใครไม่รู้เรื่อง แต่ในยุคนี้ก็มีแอพแปลภาษาให้โหลดไปติดตั้งในสมาร์ทโฟนเอาไว้สื่อสารกับชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็สามารถพูดสื่อสารกันได้ตั้งแต่ถามเส้นทางการเดินทางไปจนติดต่อคุยงานกันในยามจำเป็นก็ยังได้ แม้จะไม่ถึงระดับของล่ามที่ฝึกฝนภาษานั้นมาเป็นเวลานานจนเชี่ยวชาญแต่ในนาทีสำคัญมันก็ช่วยแก้ปัญหาให้เราได้แน่นอนแถมส่วนใหญ่เป็นแอพฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือถ้าจ่ายค่าบริการเพิ่มก็ได้ฟีเจอร์มาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกหลายอย่าง ถ้าพูดถึงแอพฯ เหล่านี้เมื่อไหร่ เป็นใครก็ต้องคิดถึง Google Translate ก่อนเป็นชื่อแรกแน่นอนแ แต่บางประเทศ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ปลายทางยอดนิยมของชาวไทยตอนนี้หรือรัสเซียก็ไม่สามารถใช้ Google ได้ ยกเว้นจะ Roaming สัญญาณเน็ตเข้าไป ก็มีทางออกโดยหันมาใช้แอพฯ เฉพาะของที่นั่นแทน ซึ่งใช้งานได้ดีพอกันและออกแบบมาเพื่อภาษานั้นโดยเฉพาะด้วย ทำให้การแปลภาษาลื่นไหลสื่อสารกับผู้คนได้ต่อเนื่อง แถมแอพฯ เหล่านี้ก็พัฒนาตัวเองให้แปลเอกสารและไฟล์...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก