Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

AMD FSR 3.0 ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ช่วยอะไรในการเล่นเกม

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา AMD ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาช่วยเสริมประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้น นั่นคือ AMD FidelityFX Super Resolution 3 หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า FSR 3.0 เป็นการอัปเกรดจาก FSR 2.0 ที่เปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2022 มีจุดมุ่งหมายคือเพื่อทำให้เกมเมอร์ได้เฟรมเรตในเกมที่สูงขึ้น นิ่งขึ้น ภาพสวยคมขึ้น โดยใช้พลังประมวลผลดิบ ๆ ของการ์ดจอน้อยลง ช่วยให้แม้จะใช้การ์ดจอรุ่นกลาง ๆ แต่ก็ยังสามารถเล่นเกมที่เฟรมเรตระดับสูงได้ โดยยังได้ภาพที่อยู่ในระดับโอเคอยู่

AMD FSR 3.0

Advertisement

ก่อนจะไปดูรายละเอียดของ FSR 3.0 เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี FSR ของ AMD กันก่อนครับ

AMD FSR คืออะไร? ใช้ทำอะไร?

ที่ผ่านมา ปกติแล้วเวลาเล่นเกม คอมพิวเตอร์จะใช้การประมวลผลภาพโดยใช้พลังของการ์ดจอเป็นหลัก ทำให้ความสวยงามของภาพ และระดับเฟรมเรตจะขึ้นอยู่กับความแรง และเทคโนโลยีในการประมวลผลภาพของการ์ดจอแทบจะล้วน ๆ ทำให้ถ้าอยากเล่นเกม FPS เฟรมเรตสูง ผู้ใช้งานก็ต้องลงทุนกับการ์ดจอเป็นหลักไว้ก่อน เพื่อซื้อการ์ดจอระดับท็อปมาใช้งาน

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ผู้ผลิตการ์ดจอรายใหญ่ต่างก็ใส่เทคโนโลยีเพิ่มเติมเข้าไปในการ์ดจอ เพื่อช่วย GPU ในการสร้างเฟรมและอัปสเกลภาพให้มีความละเอียดสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการประมวลผลของ GPU โดยตรงในทุกภาพทุกเฟรม จึงทำให้แม้ว่าจะเป็นการ์ดจอระดับกลาง ก็ยังสามารถเล่นเกมที่เฟรมเรตระดับสูงได้ด้วย โดยในฝั่งของ NVIDIA ก็คือเทคโนโลยี DLSS ที่มีการนำ machine learning เข้ามาช่วย ส่วนฝั่ง AMD ก็คือ FidelityFX Super Resolution หรือที่ใช้ชื่อย่อว่า FSR นั่นเอง แต่ตัวของ FSR จะทำงานโดยไม่ต้องใช้ machine learning หรือ AI ใด ๆ เลย ทำให้ AMD FSR มีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถใช้งานได้กับการ์ดจอที่หลากหลายกว่ามาก ๆ รวมถึงใช้งานร่วมกับการ์ดจอ NVIDIA ได้ด้วย ขอแค่ตัวเกมรองรับเป็นหลัก

 

Screenshot 2023 09 06 at 1.31.47 PM

จากหน้าเว็บไซต์ AMD ระบุไว้ถึงการ์ดจอที่รองรับเทคโนโลยี FSR ซึ่งถ้าในฝั่งของ AMD เอง ก็สามารถใช้ได้กับการ์ดจอซีรีส์ RX Radeon 460 ขึ้นมา ซึ่งเป็นการ์ดจอที่ออกมาตั้งแต่ราว 7 ปีก่อนเลย รวมถึงยังใช้ได้กับพวกกราฟิกชิปใน CPU ซีรีส์ Ryzen ทั้งในเดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊กอีกด้วย ส่วนการ์ดจอฝั่ง NVIDIA ก็จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ GeForce ซีรีส์ 10xx ขึ้นมาเลย แต่สำหรับฟีเจอร์ปลีกย่อยที่ใช้งานได้นั้น ก็จะถูกแบ่งตามระดับประสิทธิภาพอยู่ดี เช่นถ้าเป็นการ์ดจอรุ่นเก่าหน่อย ก็อาจจะเปิดใช้บางฟีเจอร์ไม่ได้ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งนักพัฒนาเกม ในตอนนี้จะมีเอนจิ้นหลักที่รองรับปลั๊กอิน FSR ก็เช่น Unreal Engine 4 ขึ้นมาและ Unity ตั้งแต่เวอร์ชัน 2021.2 ขึ้นมา และมีค่ายพัฒนาเกมสนับสนุนมากพอสมควรทีเดียว

ทีนี้มาดูในเชิงเทคนิคกันบ้าง ตัวหลักการของ AMD FSR คือการใช้อัลกอริธึม และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการจัดการกับภาพ มาช่วยในการอัปสเกลจากภาพที่มีความละเอียดต่ำ ที่ได้จากการประมวลผลของ GPU มาทำให้เป็นภาพความละเอียดสูงขึ้น และใช้แสดงออกทางหน้าจอสู่สายตาของผู้ใช้งานจริง จากที่แต่ก่อน GPU จะต้องเรนเดอร์ภาพเองแบบ 100% ก็อาจจะลดลงมาเหลือเรนเดอร์จริง สมมติว่า 50% ก็พอ แล้วปล่อยให้ FSR จัดการต่อให้ ส่วนตัว GPU เองก็เอาพลังประมวลผลที่เหลือไปทำอย่างอื่นแทน เช่น การคำนวณว่าภาพที่ควรจะเป็นในเฟรมถัดไปเป็นอย่างไร แล้วทำการอัปสเกลภาพให้เหมาะสม ทำให้ได้เฟรมเรตในเกมที่สูงขึ้น นิ่งขึ้น โดยคุณภาพของภาพไม่ตกไปมากนัก เป็นต้น

d26337b9b81f50b777ce87a5b2dd0259

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้อัลกอริธึมอัปสเกลภาพให้มีความละเอียดสูงขึ้น คุณภาพของภาพที่ได้ออกมาก็อาจจะด้อยกว่าการให้ GPU รับข้อมูลมาเรนเดอร์เอง 100% อยู่บ้าง เช่น อาจจะมีบางจุดในฉากที่ดูภาพไม่ค่อยคม แต่ก็มีการพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ประกอบกับการทดแทนด้วยจำนวนเฟรมเรตที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ AMD FSR เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ๆ ทั้งฝั่งเกมเมอร์ที่จะได้เล่นเกมด้วยเฟรมเรตสูงกว่าเดิม แลกกับภาพที่ด้อยลงนิดเดียว รวมถึงฝั่งผู้พัฒนาเกม ที่จะสามารถนำเสนอเกมให้กับกลุ่มผู้เล่นที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม ต่างจากเมื่อก่อนที่ถ้าลูกค้ามีการ์ดจอรุ่นไม่สูงมาก ก็แทบจะปิดประตูการเล่นเกมกราฟิกสวย ๆ ไปเลย ทำให้ตอนนี้มีสตูดิโอผลิตเกมมากกว่า 140 แห่งรองรับเทคโนโลยี FSR แล้ว และมีนับร้อยเกมที่สามารถใช้ FSR เพื่อเพิ่มเฟรมเรตในเกมได้

นอกจากการอัปสเกลภาพแล้ว AMD FSR ยังมีฟีเจอร์ย่อยอื่นอีก เช่น

  • FidelityFX Contrast Adaptive Sharpening (CAS) ช่วยเพิ่มความคมบริเวณขอบ object แบบที่ช่วยลดความสูญเสียจากลบรอยหยักโดยอาศัยเฟรมรอบข้างด้วยเทคโนโลยี TAA
  • FidelityFX Ambient Occlusion ช่วยในการให้แสงเงา (shading) ตามแสงในภาพให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น
  • FidelityFX Variable Shading ใช้สถาปัตยกรรม AMD RDNA 2 ของการ์ดจอในการวิเคราะห์ภาพในเฟรม เพื่อช่วยปรับจูนระบบความถี่การเรนเดอร์ภาพในแต่ละบริเวณให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  • FidelityFX Screen Space Reflections ช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับส่วนที่เป็นเงาสะท้อนของวัตถุในเฟรมภาพ ด้วยการลบ noise ที่ดีกว่าเดิม
  • FidelityFX Ambient Occlusion ช่วยทำให้ภาพจากการประมวลผลแบบ ray tracing ดูสวยงามขึ้น ด้วยการลด noise

Screenshot 2023 09 06 at 2.14.02 PM

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือแกนหลักของเทคโนโลยี FSR ที่ออกมาตั้งแต่เวอร์ชันแรกเท่านั้น ส่วนในเวอร์ชัน 2.0 ได้มีการเพิ่มเทคโนโลยีการอัปสเกลภาพโดยอาศัยการคำนวณภาพจากเฟรมก่อนหน้าด้วย ทำให้ได้ภาพที่สวย และเฟรมเรตที่ลื่นไหลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใช้ชื่อเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็น temporal upscaling

 

AMD FSR 3.0 พัฒนาจากเวอร์ชันก่อนหน้าอย่างไรบ้าง?

ถ้าแบบสั้นที่สุด AMD FSR 3.0 คือการใส่เทคโนโลยีการแทรกเฟรมภาพเข้ามา โดยใช้เทคนิค AMD Fluid Motion Frames (AFMF) รุ่นใหม่ และทำงานรวมกับเทคนิค temporal upscaling (อัปสเกลโดยอาศัยภาพจากเฟรมก่อนหน้า) ที่มีอยู่แล้วใน FSR 2.0 เพื่อให้ได้ภาพที่เฟรมเรตสูงขึ้นไปอีก โดยในการนำเสนอเทคโนโลยี FSR เวอร์ชันใหม่นี้ให้กับกลุ่มนักพัฒนาในงาน GDC 23 ที่จัดไปก่อนหน้านี้ AMD ใช้การเปรียบเทียบความแตกต่างของกระบวนการทำงานด้วยภาพด้านล่างนี้ ที่เป็นการแสดงขั้นตอนการทำงานแบบง่าย ๆ เพื่อให้เห็นความต่างเท่านั้น โดยเป็นการเทียบว่าในเวลาที่เท่ากัน แต่ละแบบสามารถทำงานได้เท่าไหร่ เรนเดอร์ได้กี่เฟรม

Screenshot 2023 09 06 at 2.21.02 PM

แท่งบนสุดคือการเรนเดอร์ภาพแบบ native ที่ปล่อยให้ GPU ทำเองแบบ 100% จะเห็นว่าการ์ดจอต้องเรนเดอร์ภาพออกมา แล้วมาผ่านการประมวลผลเพื่อตบแต่งเพิ่มเติม (PostFX) จากนั้นก็นำ UI ในเกมมาครอบอีกที จากนั้นจึงจะได้ภาพที่แสดงออกมาทางจอจริง ๆ ที่จุด Present เมื่อจบกระบวนการข้างต้นหนึ่งรอบ ก็ไปเริ่มเรนเดอร์เฟรมถัดไป

แท่งกลางคือการทำงานของ FSR 2.0 ที่มีการอัปสเกลภาพขึ้น 2 เท่า จะเห็นว่ามีแท่งสีชมพูที่ระบุว่า Upscale ปรากฏขึ้นมาแทรกด้วย นั่นหมายถึงว่า เมื่อ GPU เรนเดอร์เฟรมภาพในแบบที่ลดความละเอียดลง 50% แล้ว ก็จะมาผ่านกระบวนการอัปสเกลภาพขึ้น 2 เท่าก่อน จากนั้นจึงผ่าน PostFX และแปะ UI เข้าไป จากนั้นจึงส่งภาพออกจอได้ แต่ด้วยการที่ GPU ทำงานในการเรนเดอร์แต่ละภาพแค่ 50% เท่านั้น จึงทำให้รอบในการทำงานสั้นลง ทำให้ในเวลาที่เท่ากัน FSR 2.0 จะสามารถสร้างเฟรมเรตได้สูงกว่าการทำงานแบบ native

ส่วนแท่งล่างสุดคือ FSR 3.0 ที่กระบวนการโดยรวมจะเหมือนกับ 2.0 เลย แต่จะมีแท่ง Interpolate แทรกเข้ามาหลังจากการประมวลผล UI ซึ่งตรงนี้ก็คือการที่ระบบสร้างเฟรมภาพขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลที่มี แล้วแทรกเฟรมภาพใหม่นี้เข้าไปให้ ก่อนที่จะแสดงภาพจากเฟรมถัดไปที่เกิดจากการเรนเดอร์จริง ทำให้ได้ภาพที่ดูไหลลื่นขึ้น ซึ่งถ้าเทียบจากต้นไปหาหัวลูกศร หากเทียบเป็นเวลา 1 ลูกศร จะได้ความต่างของจำนวนเฟรมทั้งหมดที่ออกมาดังนี้

  • Native – ได้ภาพ 1 เฟรม + กำลังเรนเดอร์เฟรมถัดไป
  • FSR 2.0 – ได้ภาพ 2 เฟรม + กำลังเรนเดอร์เฟรมถัดไป
  • FSR 3.0 – ได้ภาพ 4 เฟรม (2 จากเรนเดอร์จริง และอีก 2 จากเฟรมแทรก) + กำลังเรนเดอร์เฟรมถัดไป

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มระบบประมวลภาพในส่วนของ UI เข้ามาด้วย ช่วยแก้ปัญหาเวลาอัปสเกลภาพ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะเจอปัญหา UI เบลอ ๆ เพราะมันไม่ถูกอัปสเกลตามภาพข้างหลังขึ้นมาด้วย

Screenshot 2023 09 06 at 3.04.00 PM

ทั้งนี้ก็ใช่ว่าการแทรกเฟรมใน FSR 3.0 จะมีแต่ผลดีอย่างเดียว เพราะมันก็มาพร้อมกับ latency และอาการแล็กที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะภาพที่ผู้เล่นเห็น จะมีทั้งภาพที่ผ่านการเรนเดอร์จริง ที่ผ่านการคำนวณหลังการควบคุมเกมของผู้เล่นมาแล้ว และภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้นมาแทรก ซึ่งถ้าผู้เล่นส่งคำสั่งควบคุมไปตรงกับจังหวะที่เป็นเฟรมจริง ภาพเฟรมถัดไปที่เป็นเฟรมแทรก จะยังเป็นข้อมูลที่อิงจากภาพที่ผ่านการคำนวณจากเฟรมก่อนหน้าซึ่งเป็นภาพเฟรมจริง ที่เพิ่งรับคำสั่งควบคุมไป จึงอาจจะทำให้เกิดการอาการแล็กของ action ในเกมได้ อันมาจาก latency ของการประมวลผลภาพนั่นเอง แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินจนน่าเกลียด เพราะเฟรมเรตต่อวินาทีมันสูงมากอยู่แล้ว

แต่ทาง AMD ก็เตรียมเทคนิคไว้จัดการข้อจำกัดในจุดนี้ไว้ด้วยเช่นกันครับ โดยในด้านการทำงานของแกนหลักเองก็จะมี Anti-Lag ช่วยจัดการในจุดนี้ด้วยแล้วส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการ์ดจอซีรีส์ Radeon RX 7000 ขึ้นมา ก็จะรองรับฟีเจอร์ Anti-Lag+ ในไดรเวอร์ที่ช่วยลด latency จุดนี้ลงไปอีก ทำให้ได้ประสบการณ์การเล่นเกมที่แทบไม่ต่างจากปกติมากนัก

 

FSR 3.0 เพิ่มเฟรมเรตได้ขนาดไหน

ในการเปิดตัวเทคโนโลยี FSR เวอร์ชันใหม่นี้ AMD ได้โชว์ผลการทดสอบประสิทธิภาพเทียบระหว่างการประมวลผลด้วยการ์ดจอแบบ native เทียบกับการเปิดใช้ FSR 3.0 ที่ตั้งค่าไว้ระดับ Performance เอาไว้ด้วย ส่วนการ์ดจอก็ใช้เป็น AMD Radeon RX 7900 XTX ตั้งภาพระดับ 4K Ultra-high เปิด Raytracing

Screenshot 2023 09 06 at 3.20.51 PM

จากตัวเลขเฟรมเรตเฉลี่ยตรงมุมขวาบนของแต่ละภาพ จะเห็นชัดเลยว่าฝั่งที่เปิดใช้ FSR 3.0 ด้วย ได้เฟรมเรตที่สูงกว่าถึงเกือบ 3 เท่าตัว แต่ถ้าเทียบรายละเอียด ความคมของภาพก็จะพบว่าฝั่งซ้ายที่เป็น native จะคมกว่าแบบชัดเจนเช่นกัน ทั้งที่ตัวละคร แสงเงา รวมถึงรายละเอียดของวัตถุในฉากด้วย ซึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเฟรมเรตที่ไหลลื่น จุดต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นข้อจำกัดที่รับได้อยู่ หรือถ้าอยากได้ภาพที่คมขึ้น ก็อาจจะปรับจากระดับ Performance ที่เน้นเฟรมเรตสูง ไปเป็น FSR โหมด Balanced หรือ Quality ก็ได้ เพื่อให้ได้เฟรมเรตที่สูงกว่า native แต่ก็ได้คุณภาพของภาพที่ดีขึ้นด้วย

ส่วนถ้าต้องการชมคลิปเปรียบเทียบจาก AMD สามารถคลิกเข้าชมได้จากข้างล่างนี้เลย

อีกสิ่งที่เพิ่มเข้ามาแล้วน่าสนใจเช่นกันก็คือการใช้งาน FSR 3.0 ในโหมด Native AA ย่อมาจาก Native Anti-Aliasing ซึ่งก็คือใช้การลดรอยหยักของขอบวัตถุในภาพตามปกติ โดยในโหมดนี้จะไม่มีการอัปสเกลภาพเลย อาศัยเพียงการเรนเดอร์ของ GPU แบบ native กับการแทรกเฟรมภาพเท่านั้น ทำให้ได้ข้อดีต่าง ๆ มาผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพที่คมชัดอย่างที่ตัวเกมได้รับการออกแบบมา เฟรมเรตสูงขึ้นกว่าการเรนเดอร์ native ดิบ ๆ รวมถึงยังได้ใช้เทคนิคการเพิ่มคุณภาพของภาพแต่ละเฟรมของ FSR ด้วย

AMD FSR 3 Gamescom blog performance chart 2

จากกราฟด้านบน เป็นการเทียบเฟรมเรตที่ได้จากในเกม Forspoken โดยสีเทาคือเฟรมเรตที่ได้จากการรันเกมโดยไม่ใช้ FSR เลย สีชมพูตรงกลางเป็นแบบเปิด FSR 3.0 โหมด Native AA ที่เฟรมเรตจะลดลงมาเล็กน้อย แต่ถ้าใช้ Native AA แบบใช้การแทรกเฟรมภาพด้วย ก็จะได้เฟรมเรตตามกราฟแท่งสีแดงด้านล่างสุดครับ ซึ่งสูงกว่าถึงเกือบ 2 เท่าตัวทีเดียว

การ์ดจอที่รองรับ FSR 3.0

สำหรับ FSR เวอร์ชันใหม่ล่าสุดนี้ AMD จะแบ่งการ์ดจอที่รองรับเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ ตามฟีเจอร์ที่รองรับได้สูงสุดของแต่ละซีรีส์ ดังนี้

การ์ดจอที่รองรับทั้งการอัปสเกล และการแทรกเฟรม

  • AMD Radeon RX 5700 ขึ้นไป
    • แนะนำที่ RX 6000 ขึ้นไป ถึงจะใช้ได้ดี
  • NVIDIA GeForce RTX 20 Series ขึ้นไป
    • แนะนำที่ RTX 30 Series ขึ้นไป ถึงจะใช้ได้ดี

การ์ดจอที่รองรับแค่การอัปสเกลเท่านั้น

  • AMD Radeon RX 590 ขึ้นไป
    • แนะนำที่ RX 5000 ขึ้นไป ถึงจะใช้ได้ดี
  • NVIDIA GeForce GTX 10 Series ขึ้นไป
    • แนะนำที่ RTX 20 Series ขึ้นไป ถึงจะใช้ได้ดี

ทั้งนี้ AMD แนะไว้ว่า ถ้าต้องการใช้งานฟีเจอร์นี้แบบที่มี latency ต่ำ และไม่พบการแสดงผลที่แปลก ๆ ตัวการ์ดจอควรรันเกมที่ต้องการแบบ native ได้ที่ระดับ 60fps แบบนิ่ง ๆ ไว้ก่อน ส่วนฝั่งเครื่องเกมคอนโซล เบื้องต้นทาง AMD ก็ระบุว่าจะรองรับเช่นกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ว่าจะเป็นคอนโซลรุ่นใดบ้าง แต่หลัก ๆ ก็คงหนีไม่พ้น PlayStation ของ Sony และ Xbox ของ Microsoft ที่ใช้ชิปของ AMD อยู่แล้วทั้งคู่

 

เกมที่ใช้ FSR 3.0 ในปัจจุบัน

ณ ตอนนี้ (ต้นเดือนกันยายน 2566) ยังไม่มีเกมที่รองรับ FSR 3.0 ออกมาอย่างเต็มตัว แต่ทาง AMD ได้เปิดเผยในงานว่าจะมีสองเกมแรกที่รองรับอย่างเป็นทางการออกมาก่อน นั่นคือ Forspoken และ Immortals of Aveum ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ซึ่งก็จะอยู่ในราว ๆ เดือนกันยายน – พฤศจิกายนนี้ และจะมีอีก 10 เกมตามมา เช่น Cyberpunk 2077 เป็นต้น

AMD FSR 3 Gamescom blog upcoming games

ส่วนเกมอื่นก็คงมีตามมาเพิ่มอีกในอนาคตแน่นอน เพราะในเบื้องต้นมีถึงสตูดิโอพัฒนา และค่ายจัดจำหน่ายเกมกว่า 15 รายที่ประกาศสนับสนุน FSR เวอร์ชันใหม่แล้ว สำหรับค่ายดัง ๆ ก็เช่น Square Enix, Ubisoft, CD Projekt Red, Unreal และ Sega เป็นต้น

AMD FSR 3 Gamescom blog partners

 

เทียบกับฝั่ง NVIDIA

ต้องบอกว่าทั้งสองขับเคี่ยววงการการ์ดจอด้วยเทคโนโลยีการอัปสเกลกันมาอย่างเข้มข้นทีเดียว โดยทางฝั่งค่ายเขียวจะมีฟีเจอร์ Deep Learning Super Sampling (DLSS) ที่อาศัยการนำระบบ AI และเทคโนโลยี deep learning มาช่วยในการเรียนรู้รูปแบบการเรนเดอร์ในแต่ละเกม เพื่อนำมาใช้ในการอัปสเกลภาพ และแทรกเฟรมเพิ่ม ด้วยการจัดการของ Tensor Core ในการ์ดจอ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะเป็น DLSS 3 ที่นอกจากจะใช้ AI ช่วยอัปสเกลแล้ว ยังเพิ่มเทคนิคการแทรกเฟรม และมีฟีเจอร์ NVIDIA Reflex ที่ช่วยลด latency เข้ามาด้วย แต่มีข้อจำกัดคือสามารถใช้ได้เฉพาะกับการ์ดจอซีรีส์ RTX 4000 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้การ์ดจอรุ่นเก่าไม่สามารถใช้งานการแทรกเฟรมได้

dlss 3 5 ray reconstruction improves cyberpunk 2077 full ray tracing

สำหรับในปีนี้ ค่ายเขียวได้เปิดตัว DLSS 3.5 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา (AMD เปิดตัว FSR 3.0 วันที่ 25 สิงหาคม) ซึ่งตัวของ DLSS 3.5 ก็คือ DLSS 3 ที่ตีบวกเรื่องความสามารถในการจัดการแสงในภาพได้ดีขึ้นโดยใช้เทคนิค Ray Reconstruction ที่มีระบบช่วยลด noise ของภาพผ่านการประมวลผล raytracing ที่ดีขึ้น ซึ่งระบบ AI นี้ผ่านการเทรนโมเดลจากข้อมูลปริมาณมหาศาลโดย supercomputer เพื่อให้สามารถจัดการกับแสงในภาพให้ดูสวยงาม เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆ ต้องบอกว่าพอเทียบกับ FSR 3.0 ได้เลยครับ ทั้งการอัปสเกลภาพ การแทรกเฟรมภาพ การลด latency ที่เกิดขึ้น แต่ DLSS จะมีข้อจำกัดเรื่องฟีเจอร์การแทรกเฟรมที่สามารถใช้ได้เฉพาะบนการ์ดจอซีรีส์ RTX 40 เท่านั้น ต่างจากฝั่ง FSR ที่เริ่มใช้ได้ตั้งแต่ RTX 20 เลย

Screenshot 2023 09 06 at 1.29.14 PM

สรุปปิดท้าย

AMD FSR 3.0 เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถเล่นเกมได้ในเฟรมเรตที่สูงขึ้น โดยกระทบกับคุณภาพของภาพเล็กน้อย มีฟีเจอร์เด่น ๆ คือการอัปสเกลภาพ และการแทรกเฟรมภาพให้ได้เฟรมเรตที่สูง รองรับการใช้งานได้ทั้งบนการ์ดจอ AMD และ NVIDIA รุ่นที่เปิดตัวในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (เช็คซีรีส์แบบละเอียดได้จากข้างต้น) แต่สำหรับฟีเจอร์แทรกเฟรมภาพ จะรองรับในการ์ดจอรุ่นที่ใหม่หน่อย คือรุ่นที่เปิดตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคือตัวเกมต้องรองรับเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเริ่มมีให้เห็นในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Special Story

หากจะพูดถึงซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดปี 2024 สำหรับโน้ตบุ๊กของ AMD ก็จะต้องเป็น AMD Ryzen AI 300 series ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านพลังประมวลผล พลังกราฟิก และที่เด่นชัดสุดคือความสามารถในการทำงานด้าน AI โดยที่ผ่านมาก็จะมีรุ่นที่ออกมาทำตลาดคือ AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปรุ่นกลาง แต่ล่าสุดเราเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD...

CONTENT

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กที่เป็นดีไซน์แบบฝาพับอย่างที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตัวเครื่องยังมีการพัฒนารูปทรงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการพกพา และอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมก็คือการทำออกมาเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 โดยใช้หน้าจอสัมผัสที่สามารถพลิกจอได้ 360 องศา ทำให้สามารถใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำโน้ตบุ๊กจอพับ AMD ในรูปแบบ 2-in-1 ที่น่าใช้กันครับ ตอบโจทย์ทั้งใช้ทำงาน ไปจนถึงการเล่นเกมได้เลยในบางรุ่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก