Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 มิตรแท้สายประหยัดเอาอยู่ทุกงานออฟฟิศ หัวใจ Ryzen 7000 Series ใหม่แกะกล่อง! ค่าตัว 16,400 บาทเท่านั้น!

Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เครื่องเบา ราคาชิล มิตรแท้นักศึกษาทั้งที่ยังเรียนอยู่และเพิ่งได้งาน ซื้อไว้ใช้ยังไงก็เวิร์ค!

รีวิว Lenova IdeaPad 1 1

Lenovo IdeaPad เป็นโน๊ตบุ๊คราคาคุ้มค่าซึ่งผู้ใช้หลายๆ คนมักคิดถึงเมื่อจะซื้อโน๊ตบุ๊คใหม่และมันมีสายตระกูลแยกย่อยไปอีกมากพอควร ส่วน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 รุ่นใหม่ซีพียู AMD Ryzen 7000 Series ก็ยังคงคอนเซปท์โน๊ตบุ๊คสายทำงานราคามิตรรักนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่หรือเพิ่งจบใหม่ได้งานทำก็หาโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพดีราคาเพียง 16,400 บาท ถือว่าราคาสมเหตุผลมาก ยิ่งใครทำงานเอกสารหรือเปิดเว็บทำงานผ่านทางเบราเซอร์เป็นหลักล่ะก็ IdeaPad 1 ก็นับว่าเหลือเฟือมาก

Advertisement

ด้านบอดี้ตัวเครื่องแม้จะเป็นพลาสติกแต่งานประกอบถือว่าแข็งแรงทนทานและดีไซน์ยังสวยเรียบง่าย น่าจะถูกใจผู้ที่ต้องการโน๊ตบุ๊คบอดี้สวยเรียบง่ายแน่นอน ภายในเครื่องได้ M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ติดตั้งมาให้ หาก SSD ติดเครื่องรันงานได้ไม่เร็วไม่ทันใจก็อัพเกรดไปใช้รุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูงขึ้นได้และแรมยังเป็น LPDDR5 จึงรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แม้ทาง Lenovo จะติดตั้งมา 8GB ก็ยังทำงานได้เร็วทันใจไม่เจออาการเครื่องหน่วงทำงานช้าแน่นอน

Lenovo IdeaPad 1 15AMN7

NBS Verdicts

IdeaPad Slim 1 DSC00272

Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 รุ่นใหม่ที่อัพเดทซีพียูเป็น AMD Ryzen 3 7320U แล้วและทาง Lenovo ตั้งราคามาเพียง 16,400 บาท ถือเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานสเปคดีราคาเป็นมิตรกับผู้ใช้มาก เมื่อดูประกอบกับสเปคแล้วก็ถือว่าทาง Lenovo ให้มาคุ้มค่า ได้ M.2 NVMe SSD ความจุ 256GB ติดตั้ง Windows 11 Home และแรม 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz และจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ด้วยก็นับว่าคุ้มค่าสุดๆ หาคู่เปรียบเทียบในระดับราคาใกล้เคียงกันได้ค่อนข้างยาก ซึ่งรุ่นที่สเปคไล่เลี่ยกันราคาอาจราคาสูงขึ้นไปถึงระดับ 19,990 บาทหรือสูงกว่านั้นได้เลย และน้ำหนักตัวเครื่องยังเบาเพียง 1.5 กิโลกรัม พอรวมอแดปเตอร์แล้วก็อยู่ราว 1.9 กิโลกรัมเท่านั้น จึงพกไปไหนมาไหนได้ง่ายไม่ลำบากแน่นอน

นอกจากนี้กราฟิคการ์ดออนบอร์ด AMD Radeon 610M แบบ 2 คอร์ในตัวก็มีประสิทธิภาพสูงพอทำงานกราฟิคหรือใช้เปิดเล่นเกมออนไลน์ก็ใช้งานได้ดีระดับหนึ่งทีเดียวและยังรองรับชุดคำสั่ง AV1 ด้วย เวลาเปิดดู Livestream หรือดูคลิปความละเอียดสูงบน YouTube ก็รันได้ลื่นไหลแถมยังได้พอร์ตพื้นฐานต่างๆ ติดตั้งมาให้ค่อนข้างครบเครื่องไม่ว่าจะ USB-A, USB-C, HDMI หรือแม้แต่ SD Card Reader ก็มีให้ใช้ด้วย จึงไม่ต้องหาพอร์ตมาต่อเสริมให้เปลืองเงินเลย

ด้านข้อสังเกตของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะมีอยู่เล็กน้อย อย่างแรกคือคีย์บอร์ดจะไม่มีไฟ LED Backlit ติดตั้งมาให้ เวลาใช้งานในที่แสงน้อยแล้วผู้ใช้คนไหนไม่ถนัดพิมพ์สัมผัสอาจจะทำงานได้ไม่สะดวกนัก และการอัพเกรดจะทำได้แค่ถอดเปลี่ยน M.2 NVMe SSD ได้อย่างเดียว ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้ใช้งานสเปคเดิมจากโรงงานแล้วหันไปซื้อ External HDD/SSD มาเซฟงานแทนจะสะดวกกว่ามาก

ข้อดีของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7
  1. ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen 3 7320U รุ่นใหม่ประสิทธิภาพดีขึ้นมาให้ใช้จากโรงงานแล้ว
  2.  แรมออนบอร์ดมีความจุ 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz ประสิทธิภาพดีและประหยัดแบตเตอรี่
  3. กราฟิคการ์ดออนบอร์ด AMD Radeon 610M ใช้เล่นเกมออนไลน์หรือทำงานได้ดี
  4. จัดการอุณหภูมิในตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี แม้รันงานเต็มที่ตัวเครื่องก็ไม่ร้อนเลย
  5. มีพอร์ตใช้งานติดตั้งมาให้ครบถ้วนทั้ง USB-A, USB-C, SD Card Reader ไม่ต้องใช้ตัวแปลง
  6. มี Privacy Shutter ให้เลื่อนปิด Webcam เมื่อไม่ต้องการใช้งาน เพิ่มความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น
  7. หน้าจอสามารถกางได้กว้างมากราว 170 องศา สามารถปรับมุมองศาหน้าจอให้มองได้สะดวก
  8. บอดี้ตัวเครื่องแม้เป็นพลาสติกแต่ก็ประกอบมาได้แข็งแรงทนทานและแกะอัพเกรดได้สะดวก
  9. น้ำหนักเครื่อง 1.5 กิโลกรัม สำหรับโน๊ตบุ๊คจอ 15.6 นิ้ว ถือว่าเบาพกพาง่าย
  10. ประสิทธิภาพต่อราคาถือว่าคุ้มค่า เพียง 16,400 บาทก็หาซื้อมาใช้งานได้ง่ายๆ
  11. แบตเตอรี่ 42Wh สามารถใช้งานได้นานถึง 11 ชั่วโมงด้วย Radeon Chill
ข้อสังเกตของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7
  1. แรมเป็นแบบออนบอร์ดจึงอัพเกรดได้เฉพาะ M.2 NVMe SSD เท่านั้น
  2. ไม่มีไฟ LED Backlit ถ้าใช้งานในที่แสงน้อยอาจทำงานไม่สะดวกบ้าง

รีวิว Lenovo IdeaPad 1 15AMN7

Specification

lenovo laptops ideapad 1i gen 7 14 AMD hero

Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานเน้นความคุ้มค่า ราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายคอมพิวเตอร์ชั้นนำเจ้าต่างๆ ได้ ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่อยากเปลี่ยนเครื่องแต่ไม่อยากจ่ายแพงอย่างแน่นอน ซึ่งสเปคของ IdeaPad 1 รุ่นใหม่จะเป็นดังนี้

สเปคของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7
CPU AMD Ryzen 3 7320U แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.4~4.1GHz
GPU AMD Radeon 610M แบบ 2 คอร์ ความเร็ว 1,900MHz
SSD M.2 NVMe SSD 256GB
RAM 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz
Display 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS
Connectivity USB 2.0 x 1, USB-A 3.1 Gen 1 x 1, USB-C 3.2 Gen 1 x 1, HDMI 1.4b x 1, SD Card Reader x 1, Audio combo x 1

Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1
Software Windows 11 Home
Weight 1.58 กิโลกรัม
Price 16,400 บาท

Hardware & Design

IdeaPad Slim 1 DSC00263

ดีไซน์ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะยังใช้บอดี้ร่วมกับ IdeaPad รุ่นก่อนหน้า มีความเรียบง่ายและสีตัวเครื่องเป็นสีเงินตัดกับกรอบหน้าจอสีดำ ทำให้ดูสวยเรียบร้อยและติดสติ๊กเกอร์แสดงคุณสมบัติเด่นและรุ่นซีพียูของตัวเครื่องเอาไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งว้าย ส่วนด้านขวามือจะเป็นป้ายอลูมิเนียมของ Lenovo ติดไว้ ซึ่งเหมือนกันกับโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นของทางบริษัท ส่วนมุมบนขวาเหนือคีย์บอร์ดจะมีปุ่ม Power และไฟ LED แสดงสถานะติดเอาไว้อีกดวงหนึ่งเพื่อบอกว่า ณ ตอนนี้เครื่องเปิดอยู่หรือไม่

ช่องระบายความร้อนของ IdeaPad 1 จะถูกดีไซน์ซ่อนเอาไว้ขอบส่วนบนเหนือแป้นคีย์บอร์ดและเป็นช่องเล็กเพียงช่องเดียวเท่านั้น เนื่องจากทาง Lenovo ติดตั้งพัดลมโบลวเวอร์เอาไว้เพียงตัวเดียว ก้านบานพับหน้าจอดีไซน์นก้านเดียวขนาดใหญ่ติดเอาไว้และมีฐานขาของหน้าจอติดเอาไว้ด้านในเครื่อง เมื่อลองกางหน้าจอดูแล้วต้องถือว่ามันแข็งแรงไม่มีอาการโยกคลอน ดังนั้นก้านบานพับและชิ้นส่วนขยับได้ของเครื่องนี้ถือได้ว่าแข็งแรงทนทาน กางเปิดพับปิดหลายครั้งไม่เป็นไรอย่างแน่นอน

IdeaPad Slim 1 DSC00275

ด้านดีไซน์ก้านบานพับของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 ถูกออกแบบให้มันกางได้กว้างมากราว 170 องศา มันจึงปรับมุมองศาให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่าย จะวางบนโต๊ะทำงานตามปกติหรือวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ใช้ได้สะดวกอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังกางให้เพื่อนร่วมงานดูเนื้อหาบนหน้าจอเวลาทำงานด้วยกันได้สะดวกยิ่งขึ้น 

IdeaPad Slim 1 DSC00298

ฝาหลังของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะเป็นพลาสติกสีเงินเหมือนตัวเครื่องแถบโซนคีย์บอร์ด แต่มีเพลตโลโก้ของทาง Lenovo ติดไว้ตรงมุมบนซ้ายมือของตัวเครื่องดูเรียบง่ายไม่รกเกะกะ ถูกใจผู้ใช้ที่ชอบดีไซน์ที่เรียบร้อยไม่หวือหวาอย่างแน่นอน

IdeaPad Slim 1 DSC00240

ฝาใต้ตัวเครื่องเป็นพลาสติกเนื้อด้าน มีแถบยางกันลื่นและรองเครื่องอยู่ไว้ 3 เส้น แบ่งเป็นเส้นสั้น 2 เส้นด้านล่างทั้งสองฝั่งใกล้ๆ กับลำโพงกับแถบยางเส้นยาวที่ขอบบนของฝาใต้ตัวเครื่องเหนือจากช่องนำลมเครื่องไประบายความร้อน มีน็อตหัวแฉก Philips Head 10 ดอกขันล็อคฝาใต้เข้ากับตัวเครื่อง ใช้ไขควงธรรมดาขันถอดใส่เข้ากลับได้ตามต้องการและยังเปิดฝาอัพเกรดได้สะดวกซ่อมเครื่องได้ง่ายมาก

Screen & Speaker

IdeaPad Slim 1 DSC00266

หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ของ Lenovo IdeaPad 1 เป็นจอขอบบางฝั่งซ้ายและขวา ส่วนขอบบนจะหนาขึ้นเพื่อติดตั้งชุดกล้อง, ไฟ LED แสดงสถานะการทำงานของกล้องและไมโครโฟนสำหรับพูดคุยสื่อสารเวลาประชุมออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีบานสไลด์ Privacy Shutter ติดตั้งมาให้สไลด์ปิด Webcam เวลาไม่ต้องการใช้งานได้อีกด้วย แม้จะเป็นฟีเจอร์เล็กน้อยแต่ก็เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้รู้สึกดีขึ้น เมื่อไม่ต้องการใช้งานและไม่อยากให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเจาะระบบเข้ามาเปิดกล้องโดยพลการก็สามารถสไลด์ปิดกล้องทิ้งได้เลย

ถ้าสังเกต จะเห็นว่าขอบบนหน้าจอจะไม่ได้ราบเป็นระนาบเดียวเหมือนกับโน๊ตบุ๊คทั่วไปแต่จะทำหยักเป็นสันยื่นขึ้นมาเล็กน้อยเหมือนกับโน๊ตบุ๊คตระกูล Yoga ให้เจ้าของเครื่องกางเปิดหน้าจอได้สะดวกขึ้น

IdeaPad Slim 1 DSC00300

อย่างไรก็ตาม หน้าจอของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 แม้จะเป็นพาเนล IPS แต่เป็นเกรดพื้นฐานทั่วไป สามารถมองเห็นภาพและข้อความบนหน้าจอได้กว้าง 178 องศาก็ตาม แต่บางมุมหน้าจออาจจะมีเงาขึ้นมาบนหน้าจอเล็กน้อย และเมื่อทดสอบด้วย DisplayCal 3 และใช้เครื่อง Colorchecker ของ Calibrite วัดค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอนี้ได้ 54.8% sRGB, 37.9% Adobe RGB, 38.9% DCI-P3 ส่วน Gamut volume ซึ่งเป็นขอบเขตสีโดยรวมทั้งหมดของจอนี้ทำได้อยู่ที่ 55% sRGB, 37.9% Adobe RGB, 38.9% DCI-P3 มีค่าความเที่ยงตรงสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 0.11~4.74 ซึ่งแม้จะแสดงภาพและสีสันบนหน้าจอได้ดีและพอใช้แต่งภาพอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ก็ตาม แต่ถ้าทำงานอาร์ทแต่งภาพถ่ายจากกล้องแนะนำให้ต่อหน้าจอเฉพาะทางใช้งานจะดีกว่า

ความสว่างหน้าจอที่วัดได้จาก DisplayCal 3 เมื่อปรับความสว่าง 100% จะได้ความสว่าง 234.39 cd/m2 ซึ่งสว่างพอใช้ทำงานในออฟฟิศได้สบายๆ แต่อาจมีเงาสะท้อนตอนมีแสงอาทิตย์ส่องกระทบหรืออยู่นอกอาคารอาจจะสู้แสงในบางโอกาสไม่ได้บ้าง ดังนั้นถ้าใครนั่งทำงานชานนอกร้านกาแฟบ่อยๆ อาจจะใช้งานไม่สะดวกเล็กน้อย

ลำโพงของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เป็นลำโพงคู่กำลังขับ 3 วัตต์ (1.5 วัตต์ x 2) เมื่อปรับเสียงลำโพงดังสุด 100% แล้ววัดด้วยเครื่องวัดเสียงได้ความดังราว 83dB แต่เนื้อเสียงเมื่อทดลองฟังแล้วโทนเสียงเครื่องดนตรีและนักร้องนำเด่นขึ้นมาและเบสสนับสนุนเสียงได้ระดับหนึ่ง แต่แรงปะทะจะน้อยและไม่โดดเด่นนัก ซึ่งถ้าใช้ประชุมออนไลน์, เปิดดูคลิปและ Podcast ต่างๆ ใน YouTube ก็ถือว่าพอฟังได้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่โดดเด่นนักและผู้เขียนแนะนำว่าถ้าต้องการฟังเพลงให้ได้อรรถรสควรต่อลำโพงหรือใส่หูฟังเพลงแทนจะดีที่สุด

Keyboard & Touchpad

IdeaPad Slim 1 DSC00277

คีย์บอร์ดแบบ Full-size ของ Lenovo IdeaPad 1 เป็นคีย์บอร์ดแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่แยกชุดปุ่มลูกศรออกมาจากชุดคีย์บอร์ดปุ่มหลักและมีปุ่ม Function Key ติดตั้งมาให้โดยรวมเอาไว้กับปุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะปุ่มลูกศรที่มี Page Up/Down, Home, End ที่รวมเอาไว้กับปุ่มลูกศร มีปุ่ม Insert อยู่กับ Numpad 0 และเครื่องหมายมหัพภาค (.) เป็นปุ่ม Del ที่ต้องกด Fn ร่วมด้วยถึงจะทำงาน ด้านปุ่ม Function Key ในบรรทัดบนถัดจาก F12 จะมี Insert ซึ่งมีคำสั่ง User Define Key ให้เจ้าของเครื่องตั้งค่าเรียกโปรแกรมหรือคำสั่งอื่นๆ ได้และ Print screen เมื่อกด Fn แล้วจะเรียกโปรแกรม Snipping Tool ขึ้นมาใช้งานได้ ส่วนปุ่ม Esc จะมี Fn Lock ติดตั้งมาให้กดสลับเลเยอร์ของ F1~F12 กับ Function Hotkey ด้วย

ส่วนจุดน่าสนใจของคีย์บอร์ด IdeaPad 1 15AMN7 จะเป็น Multimedia Key เหนือชุด Numpad โดยมีปุ่มเล่น/หยุดเพลงชั่วคราว, หยุดเล่นเพลง, เล่นเพลงก่อนหน้าและปุ่มเล่นเพลงถัดไปติดมาให้ใช้งานเช่นเดียวกันกับโน๊ตบุ๊ค IdeaPad รุ่นก่อนหน้า ช่วยให้ใช้ทำงานได้สะดวกทีเดียว ส่วนตัวปุ่มจะมีระยะกดสั้น ใช้แรงกดเพียงเล็กน้อยก็ทำงานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามคีย์บอร์ดของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไม่มีไฟ LED Backlit ติดตั้งมาให้ ซึ่งถ้าใครยังพิมพ์สัมผัสไม่ถนัดอาจใช้งานในที่แสงน้อยไม่สะดวก ซึ่งดูน่าเสียดายอยู่บ้างที่ทาง Lenovo ไม่ได้ใส่ฟังก์ชั่นนี้มาให้ใช้ด้วย

IdeaPad Slim 1 DSC00287

ปุ่ม F1~F12 ของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะมี Function Hotkey ติดตั้งมาให้ใช้งาน โดยคำสั่งจะมีส่วนคล้ายกับ IdeaPad หลายๆ รุ่นและมีคีย์ให้ใช้งานดังนี้

  • F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปิดหรือเปิดไมค์
  • F5~F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
  • F8 – Airplane Mode
  • F9 – เปิดคำสั่ง Settings
  • F10 – Windows Lock
  • F11 – ปุ่มคีย์ลัด Windows+Tab เรียกโปรแกรมที่เปิดอยู่ขึ้นมาให้เลือกสลับใช้งาน
  • F12 – เรียกโปรแกรม Calculator

แม้ Function Hotkey ของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะคล้ายกับคีย์ลัดของ IdeaPad หลายๆ รุ่นที่วางจำหน่ายมาก่อนหน้านี้ก็ตามแต่ก็มีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับเครื่องแต่ละรุ่นด้วย และทางบริษัทก็ติดตั้งคีย์ลัดที่จำเป็นต้องใช้งานอย่างคำสั่งเรียก Calculator ตรง F12 ซึ่งอยู่ใกล้ชุด Numpad พอดี ซึ่งถ้าผู้ใช้ปรับตัวได้แล้วก็จะใช้งานได้สะดวกอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าทาง Lenovo ควรจะเปลี่ยนปุ่มเรียกคำสั่ง Settings ของ Windows 11 ออกไปแล้วใส่ปุ่มปิดการทำงานทัชแพดเข้ามาแทนจะดีกว่า เนื่องจากบางครั้งผู้ใช้บางคนอาจจะต่อเมาส์แยกแล้วไม่อยากให้ทัชแพดมารบกวนการทำงานจะได้ปิดทิ้งได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทัชแพดของ IdeaPad 1 จะมีขนาดใหญ่และรองรับ Gesture Control ของ Windows 11 ครบถ้วน ใช้งานได้สะดวกพอควร แต่ตัวแป้นจะติดตั้งใกล้มือซ้ายเป็นพิเศษ เวลาวางมือแล้วสันมือซ้ายจะพาดลงไปบนตัวแป้นพอดี แต่ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาทัชแพดลั่นอย่างที่ผู้ใช้บางคนกังวลอย่างแน่นอน แต่ถ้าต้องการป้องกันเอาไว้ก่อนก็สั่งปิดการทำงานในคำสั่ง Settings ได้เช่นกัน

Connector / Thin & Weight

พอร์ตและการเชื่อมต่อของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะถูกติดตั้งเอาไว้ด้านข้างตัวเครื่องฝั่งซ้ายและขวา โดยจะมีพอร์ตใช้งานดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 1, HDMI 1.4b, USB-C 3.2 Gen 1 (ใช้ถ่ายโอนไฟล์เท่านั้น), Audio combo
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – SD Card Reader, USB 2.0
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1

ถึง IdeaPad 1 15AMN7 จะเป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นราคาไม่แพง แต่ทาง Lenovo ก็ยังติดตั้งพอร์ตพื้นฐานมาให้ใช้งานค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว ไม่ว่าจะ USB-A, USB-C ก็มีให้ใช้งาน แม้แต่ USB 2.0 ก็ยังให้มาด้วยเผื่อใช้ต่อเมาส์คีย์บอร์ดเพื่อทำงาน จะได้ไม่รบกวน USB-A 3.2 ฝั่งซ้ายมือนั่นเอง และยังได้ Wi-Fi 6 อีกด้วย ซึ่งโน๊ตบุ๊คระดับราคานี้บางรุ่นยังเป็น Wi-Fi 5 อยู่ด้วยซ้ำ ก็กล่าวได้ว่าทาง Lenovo ให้พอร์ตมาครบพอใช้งานดีทีเดียว

IdeaPad Slim 1 DSC00235

น้ำหนักของตัวเครื่องในหน้าสเปคนั้นเคลมเอาไว้ 1.58 กิโลกรัม เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วได้ 1.59 กิโลกรัม ถือว่าน้ำหนักใกล้เคียงกับที่เคลมเอาไว้ เมื่อรวมอแดปเตอร์กำลังชาร์จ 65 วัตต์ น้ำหนัก 320 กรัมเข้าไปแล้ว น้ำหนักสุทธิจะอยู่ที่ 1.91 กิโลกรัมเท่านั้น ถ้าเทียบกับบรรดาโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วด้วยกันแล้ว ต้องถือว่า Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 มีน้ำหนักเบาพกพาง่าย สามารถพกเครื่องติดตัวไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากจะผู้ชายหรือผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็พกได้สบายๆ แน่นอน 

Inside & Upgrade

IdeaPad Slim 1 DSC00248

การอัพเกรด IdeaPad 1 15AMN7 สามารถขันน็อตที่ล็อคฝาใต้ตัวเครื่องออกแล้วใช้การ์ดแข็งไล่ตามขอบแล้วดึงฝาใต้ตัวเครื่องออกได้ทันที แต่เมื่อดูบนเมนบอร์ดแล้วจะเห็นว่าจุดที่อัพเกรดได้ มีแต่ M.2 NVMe SSD ขนาด M.2 2242 ที่ติดแผ่นเหล็กยืดระยะให้ยาวขึ้นเป็น M.2 2280 เพียงตัวเดียวเท่านั้น หัวอินเตอร์เฟสได้อัพเกรดเป็น PCIe 4.0 แต่แรมของเครื่องนี้จะเป็นออนบอร์ดจึงอัพเกรดอะไรได้ไม่มาก ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าอย่างมากอาจจะถอดเปลี่ยน SSD ตัวหลักเปลี่ยนเป็นรุ่นอ่านเขียนข้อมูลได้เร็วขึ้นแทนก็พอแล้วหรือจะใช้งานเดิมๆ ไปเลยก็ดีเช่นกันแล้วหาซื้ออุปกรณ์เสริมมาใช้งานควบคู่กันจะดีกว่า

Performance & Software

cpu

ซีพียูของ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 ถูกอัพเกรดมาเป็น AMD Ryzen 3 7320U แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.4~4.1GHz ซึ่งเป็นซีพียูรุ่นปรับปรุงรุ่นใหม่ของทาง AMD โดยมีค่า TDP 15 วัตต์ จึงจึดการพลังงานดีใช้งานได้หลายชั่วโมงและขนาดทรานซิสเตอร์ในตัวชิปเล็กเพียง 6 nm

เมนบอร์ดของ IdeaPad 1 นั้น ทาง Lenovo เป็นผู้ผลิตเองและติดตั้งอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 มาให้ใช้งานแล้ว สามารถเลือกติดตั้ง M.2 NVMe SSD ขนาด M.2 2280 รุ่นใหม่ความเร็วสูงได้ มีแรมออนบอร์ดมา 8GB LPDDR5 มีความเร็วรับส่งข้อมูลสูง ใช้เปิดเบราเซอร์และโปรแกรมต่างๆ เอาไว้แล้วใช้งานได้ค่อนข้างลื่นไหลต่อเนื่อง

314002974 619270526469025 4210931403582844625 n

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอาจยังไม่ทราบวิธีการอ่านรหัสของ AMD Ryzen 7000 Series ว่าเป็นเช่นไร โดยทาง AMD ได้เปลี่ยนวิธีการตั้งชื่อรหัสรุ่นซีพียูใหม่โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2023 นี้เป็นต้นไป โดยวิธีการอ่านชื่อรุ่นตัวเลข 4 หลักกับ 1 ตัวอักษร จะเป็นดังนี้

  • ตัวเลขหลักแรก – ใช้บอก Model Year หรือปีที่ซีพียูรุ่นดังกล่าวเปิดตัว โดยเริ่มจากรหัส 7 คือปี 2023, รหัส 8 คือปี 2024 และรหัส 9 คือปี 2025 และคาดว่าปี 2026 ทาง AMD จะประกาศการใช้ตัวเลขใหม่อีกครั้งหนึ่ง
  • ตัวเลขหลักที่สอง – Segment ของซีพียู โดยซีพียูแต่ละรุ่นจะแยกเป็น Tier ทั้งหมด 2 ระดับ คือ รุ่นธรรมดาและรุ่นบนซึ่งมีตัวเลขสูงกว่า จากภาพคือ
    • X1XX ~ X2XX – Athlon โดย X1XX เป็น Silver และ X2XX เป็น Gold
    • X3XX ~ X4XX – Ryzen 3 ซึ่ง X3XX เป็นรุ่นธรรมดา X4XX เป็นรุ่นประสิทธิภาพสูง
    • X5XX ~ X6XX – Ryzen 5 ซึ่ง X5XX เป็นรุ่นธรรมดา X6XX เป็นรุ่นประสิทธิภาพสูง
    • X7XX ~ X8XX – Ryzen 7 ซึ่ง X7XX เป็นรหัสเฉพาะ Ryzen 7 เท่านั้น ส่วน X8XX อาจะเป็น Ryzen 7 หรือ Ryzen 9 ก็ได้ แต่มีประสิทธิภาพสูง
    • X9XX – รหัสเฉพาะ Ryzen 9 เท่านั้น
  • ตัวเลขหลักที่สาม – บ่งบอกสถาปัตยกรรมของซีพียูว่าเป็นรุ่นใด โดยแบ่งแยกดังนี้
    • 1 – Zen 1 / Zen+
    • 2 – Zen 2
    • 3 – Zen 3 / Zen 3+
    • 4 – Zen 4
    • 5 – Zen 5
  • ตัวเลขหลักที่สี่ – แยกโมเดลในรุ่นว่าเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงหรือรุ่นมาตรฐาน โดยใช้เลข 0 แทนรุ่นมาตรฐานในซีรี่ส์ ถ้าเป็นเลข 5 แทนรุ่นประสิทธิภาพสูง
  • ตัวอักษรท้ายชื่อ – Form Factor และค่า TDP เอาไว้จำกัดความว่าซีพียูตัวนั้นๆ โดดเด่นเรื่องใด
    • HX – รุ่นประสิทธิภาพสูงสุด ค่า TDP 55 วัตต์ขึ้นไป
    • HS – รุ่นประสิทธิภาพสูงเพื่อโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งบางเบาเหรือ Creator ค่า TDP 35 วัตต์ขึ้นไป
    • U – โน๊ตบุ๊คบางเบาคุณภาพสูง (Premium Ultrathin) ค่า TDP 15~28 วัตต์
    • C – ซีพียูเพื่อ Chromebook โดยเฉพาะ ค่า TDP 15~28 วัตต์
    • e – เป็นรุ่นย่อยของรหัส U แต่ถูกออกแบบให้ทำงานแบบไม่ใช้พัดลม ค่า TDP 9 วัตต์

จะเห็นว่าตั้งแต่ AMD Ryzen 7000 Series เป็นต้นไป วิธีการอ่านชื่อเรียกรุ่นของทาง AMD จะถูกเปลี่ยนมาใช้แบบนี้แทน หากใครต้องการทราบว่าซีพียูในโน๊ตบุ๊คของตนเองเป็นแบบใด ก็สามารถยึดตามนี้ได้เลย และหากจำกัดความให้กับ AMD Ryzen 3 7320U ใน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 แล้ว ก็คือ

AMD Ryzen 3 ผลิตในปี 2023 เป็นรุ่นมาตรฐาน สถาปัตยกรรม Zen 2 ผลิตมาเพื่อใช้ในโน๊ตบุ๊คบางเบาประสิทธิภาพสูง ค่า TDP 15~28 วัตต์

gpu z

กราฟิคการ์ดออนบอร์ดของ AMD Ryzen 3 7320U จะเป็น AMD Radeon 610M แบบ 2 คอร์ ความเร็ว 1,900MHz ใช้ประมวลผลกราฟิคต่างๆ ไม่ว่าจะแสดงภาพขึ้นหน้าจอ, ตัดต่อแต่งภาพหรือแม้แต่ใช้ทำงานก็ได้ รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan และได้ Ray Tracing ในตัวและยังรองรับการเข้ารหัสแบบ AV1 อีกด้วย

devicemgr

พาร์ทภายในเครื่องเมื่อเช็คใน Device Manager แล้ว นอกจากชิป TPM 2.0 สำหรับใช้ทำงานร่วมกับระบบรักษาความปลอดภัย Windows 11 และ AMD PSP 10.0 แล้ว ก็ได้ Wi-Fi PCIe Card รุ่น Realtek RTL8852BE ซึ่งรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.1 ในตัว ซึ่งจากการใช้งานจริง ต้องถือว่าชิป Realtek ตัวนี้ทำงานได้ดีมากและสเปคถือว่าคุ้มค่าอีกด้วย นั่นเพราะปกติแล้วโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 20,000 บาท มักได้ชิป Wi-Fi 5 เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า IdeaPad 1 นี้คุ้มค่ามาก

crystaldiskmark

M.2 NVMe SSD ความจุ 256GB จากโรงงานเป็นของ Samsung รหัส MZAL4256HBJD-00BL2 เมื่อทดสอบความเร็วอ่านเขียนข้อมูลด้วย CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 1,768.56 MB/s และ Sequential Write 1,337.42 MB/s ซึ่งความเร็วระดับนี้ถือว่าเร็วพอสำหรับโน๊ตบุ๊คทำงานสักเครื่องหนึ่งแล้ว แต่ถ้าผู้ใช้คนไหนคิดว่ายังช้าไปไม่ทันใจจะอัพเกรดเป็นรุ่นอื่นที่มีความเร็วสูงกว่านี้ก็ได้เพราะอินเตอร์เฟส SSD ก็เป็น PCIe 4.0 แล้ว แต่ส่วนตัวผู้เขียนเสนอว่าแทนที่จะเปลี่ยน SSD ก็ขอแนะนำให้ซื้อ External Harddisk/SSD แบบ USB-C สำหรับเซฟงานแยกไปเลยจะดีกว่า

Screenshot 1 1

ประสิทธิภาพของ AMD Ryzen 3 7320U ด้านการเล่นเกม เมื่อทดสอบด้วย 3DMark Time Spy แล้ว จะได้คะแนนเฉลี่ย 633 คะแนน แยกเป็น CPU score 3,306 คะแนน และ Graphics score 554 คะแนน ซึ่งเป็นระดับคะแนนทั่วไปของโน๊ตบุ๊คพร้อมการ์ดจอออนบอร์ด ในแง่การเล่นเกมต้องถือว่าอยู่ในระดับทั่วไป

จากที่ผู้เขียนทดลองเล่นเกมดูแล้ว AMD Ryzen 3 7320U ใน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 พอเล่นเกมออนไลน์เช่น DotA 2 โดยปรับกราฟิคสูงสุดได้และไม่กระตุกตอนมีเอฟเฟคในเกมเยอะๆ แน่นอน แต่เมื่อเป็นเกมที่เน้นกราฟิคมากขึ้นอย่าง Genshin Impact ต้องปรับกราฟิคระดับ Low แต่ยังเปิดเฟรมเรทระดับ 60 fps ถึงพอจะเล่นได้บ้าง แต่เมื่อเป็นเกมฟอร์มใหญ่อย่าง Resident Evil Village จะเกิดอาการหน่วงและแล็คอย่างเห็นได้ชัด

สรุปได้ว่า IdeaPad 1 ถ้าเล่นเกมเน้นกราฟิคอย่าง Genshin Impact หรือ Resident Evil Village จะไม่เหมาะนักและต้องปรับกราฟิคระดับ Low ถึงจะพอเล่นได้ แต่ถ้าเน้นทางซีพียูเป็นหลักอย่าง DotA 2 จะเล่นได้แน่นอนหรือถ้าเป็นเกม 8-bit และ JRPG พอร์ตมาจากเครื่องคอนโซลก็ไม่มีปัญหา

Screenshot 2

ด้านการทำงาน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 ทำคะแนนเฉลี่ยในโปรแกรมทดสอบอย่าง PCMark 10 ไปได้ 4,162 คะแนน ใช้ทำงานทั่วไปอย่างประชุมงานออนไลน์, เปิดเว็บเบราเซอร์, ทำงานเอกสารได้ดี แต่ด้านการแต่งภาพทำงานอาร์ทต้องถือว่าพอใช้แต่งภาพอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ไหลลื่นเท่ากับโน๊ตบุ๊คที่มีการ์ดจอแยกเพื่อรันงานกราฟิคโดยเฉพาะ ดังนั้นลักษณะการทำงานที่เหมาะกับ IdeaPad 1 เป็นงานเอกสารและเน้นเปิดเว็บทำงานดูหนังฟังเพลงเป็นหลัก หากเป็นนักศึกษา, พนักงานออฟฟิศหรือฝ่ายบัญชีของบริษัทก็เหมาะกับมันอย่างแน่นอน

การทดสอบจำลองโมเดล 3D ด้วย CINEBENCH R15 จะเห็นว่า Ryzen 3 7320U ทำคะแนน OpenGL ได้ 63.14 fps ได้คะแนน CPU 757 cb ด้านของ CINEBENCH R20 ซึ่งเน้นทดสอบพลังการประมวลผลของซีพียูแล้วจะได้คะแนน CPU 1,787 pts ซึ่งผลคะแนนจากทั้งสองโปรแกรมนี้ถือว่าตัว IdeaPad 1 พอจะใช้รันงานกราฟิคทั่วไป อย่างการตัดต่อหรือแต่งภาพได้และพอใช้พรีวิวโมเดล 3D ได้ระดับหนึ่ง แต่ใช้โมเดลในโปรแกรม Blender อาจจะไม่ไหลลื่นไหลนักแต่ก็พอใช้ทำงานได้ระดับหนึ่ง

vantage 1

นอกจากนี้ ใน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะมีโปรแกรม Lenovo Vantage สำหรับปรับแต่งตัวเครื่อง, อัพเดทเฟิร์มแวร์หรือแม้แต่ต่อประกันภายในตัวได้ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าถ้าใครซื้อ IdeaPad 1 มาใช้งานแล้ว ควรเปิดโปรแกรมนี้มาอัพเดทเฟิร์มแวร์ทั้งหมดควบคู่กับระบบ Windows Update ให้เฟิร์มแวร์ในเครื่องเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดเสมอจะได้ทำงานได้ดีที่สุด

Battery & Heat & Noise

IdeaPad Slim 1 DSC00252

แบตเตอรี่ใน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เป็นแบตเตอรี่ขนาดไม่ใหญ่มาก มีความจุ Typical Capacity 3,735mAh หรือ 42Wh ส่วน Rated Capacity อยู่ที่ 3,635mAh หรือ 40Wh ขนาดตัวแบตเตอรี่ไม่ใหญ่มากและวางตัวยาวสุดขอบลำโพงทั้งสองด้าน

Screenshot 2023 01 27 104148

ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่เมื่อทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอให้เหลือ 50%, ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% และใช้โหมด Battery Saver เปิด Microsoft Edge ดู YouTube นาน 30 นาที จะเห็นว่าแบตเตอรี่ 42Wh จะใช้งานได้นานเพียง 6 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งถือว่าไม่นานเท่าที่ควร ถ้าไปพบลูกค้าหรือเข้าห้องเรียนจดเลคเชอร์อาจจะใช้งานได้ไม่จบวัน

ในทางกลับกันวิธีการยืดระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ให้นานยิ่งขึ้นสำหรับโน๊ตบุ๊ค AMD Ryzen โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 ให้ใช้ AMD Software: Adrenalin Edition ตั้งค่า Graphics Profile เป็น Power Saving และเปิด Radeon Chill และจำกัด Min FPS ให้เหลือ 30 Fps เพื่อลดการใช้พลังงานเกินจำเป็น เปิดความสว่างและเสียงเท่ากันและใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาทีเท่ากัน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 จะใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 10 ชั่วโมง 53 นาที เท่ากับได้เพิ่มมาราว 4 ชั่วโมงครึ่ง จัดเป็นวิธีการตั้งค่าจัดการพลังงานที่ดี ช่วยให้ใช้ทำงานได้นานขึ้นมากและแม้จะจำกัด FPS ลงมาแต่ก็ยังใช้ทำงานออฟฟิศหรือเปิดดูหนังฟังเพลงก็ได้สบายๆ 

IdeaPad Slim 1 DSC00258

นอกจากนี้จุดเด่นของ AMD Ryzen 3 7320U คือเรื่องอุณหภูมิในเครื่องเวลาใช้งาน ซึ่งตอนใช้งานตามปกติแล้วเครื่องจะไม่ร้อนและพัดลมแทบจะไม่หมุนส่งเสียงรบกวนเลย และพอเช็คด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor จะเห็นว่าอุณหภูมิของซีพียูวิ่งอยู่ราว 36~43 องศาเซลเซียสเท่านั้น พอเปิดเกมแล้วปรับโหมดตัวเครื่องเป็น Performance แล้ว อุณหภูมิขึ้นไปเป็น 36~74 องศาเซลเซียส เฉลี่ยราว 48 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่วนเสียงพัดลมแม้จะรันเต็มที่แล้วก็ตามแต่พอวัดด้วยเครื่องวัดเสียงแล้ว เสียงพัดลมดังสุดราว 55dB ซึ่งดังพอได้ยินว่าเครื่องกำลังทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่หนวกหูอย่างแน่นอน

User Experience

IdeaPad Slim 1 DSC00272

ประสบการณ์การใช้งาน Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องหลักมาราว 1 สัปดาห์ ต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คราคา 16,400 บาทในยุคปี 2023 นั้นใช้งานได้ดีเกินตัว แม้จะมีแรมแค่ 8GB ก็ตาม แต่พอเป็น LPDDR5 ซึ่งเป็นแรมออนบอร์ดและประสิทธิภาพสูงพอควร ก็สามารถรันงานต่างๆ ให้เสร็จได้เร็วขึ้นมาก ยิ่งถ้าใครทำงานโดยใช้เบราเซอร์ เปิด WordPress, Google Doc ฯลฯ เป็นหลัก ต้องถือว่าพลังของ AMD Ryzen 3 7320U นั้นดีพอใช้ทำงานออฟฟิศต่างๆ ได้ดีมากโดยเฉพาะงานเอกสารหรือแต่งภาพเล็กๆ น้อยๆ เพื่ออัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ถือว่าดีเหลือเฟือพลังประมวลผลเหลือใช้และยังเย็นตลอดเวลาอีกด้วย จัดเป็นตัวเลือกที่น่าใช้มากๆ

ด้านการพกพา น้ำหนัก Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 รวมอแดปเตอร์อยู่ที่ 1.9 กิโลกรัม ถือว่าไม่หนักเกินไปและเทียบกับโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นต้องถือว่าน้ำหนักเบาใส่กระเป๋าพกไปไหนมาไหนได้สะดวกหรือสาวๆ ที่มีกระเป๋าสะพายใบเล็กจะถือติดมือยกไปไหนมาไหนก็ไม่หนักจนเกินไป เพราะตัวเครื่องอย่างเดียวหนักเพียง 1.5 กิโลกรัมเท่านั้น แต่จากการทดลองใช้งานจริงผู้เขียนไม่แนะนำให้กดโหมด Battery Saver ของ Windows แต่ให้กด Fn+Q ปรับโหมดการทำงานแล้วใช้ควบคู่กับโปรแกรม AMD Software: Adrenalin Edition ที่ได้ยกตัวอย่างไว้ในหัวข้อก่อนหน้าแทน จะทำให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้นานกว่า และระยะเวลาใช้งานก็อยู่ได้นานใกล้เคียงกับที่โปรแกรม BatteryMon ทดสอบได้จริงด้วย ดังนั้นในแง่แบตเตอรี่และการจัดการพลังงานของ AMD Ryzen 3 7320U นั้นก็ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เรื่องน่าติดใจเล็กน้อยหากใครจะใช้ Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 เครื่องนี้อีก 2~3 ปี อย่างแรกคือเรื่องแรมแม้มีความจุ 8GB LPDDR5 ก็ตาม แต่เมื่อเปิดเบราเซอร์ 10 แท็บและมีโปรแกรมอีกสัก 1~2 โปรแกรม เรื่องจะเริ่มหน่วงอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้บริหารจัดการโปรแกรมและแท็บเบราเซอร์ให้ดีอย่าเปิดทิ้งเอาไว้เยอะเกินจำเป็นจะดีกว่า เพียงเท่านี้ก็ใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้ดีอย่างแน่นอน

Conclusion & Award

Lenovo IdeaPad Slim 1

Lenovo IdeaPad 1 15AMN7 แม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คธรรมดาๆ หน้าตาเรียบง่ายบอดี้พลาสติกที่สร้างมาเพื่อนักศึกษาและคนทำงาน ตีตลาดด้วยราคาเบาๆ เพียง 16,400 บาท แต่ได้ซีพียู AMD Ryzen 3 7320U รุ่นใหม่ล่าสุดที่ทำงานได้ดีเกินตัว ซึ่งทั้ง 4 คอร์ 8 เธรด ในเครื่องนั้นสามารถรันงานพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเปิดเบราเซอร์, ทำงานเอกสารหรือแม้แต่ดูหนังดู YouTube เพื่อความบันเทิงได้สบายๆ และยังจัดการพลังงานได้เป็นอย่างดี เมื่อเปิด Radeon Chill แล้ว แม้จะตั้งค่าความสว่างหน้าจอเอาไว้ 50% ก็ยังใช้งานได้นานสุดร่วม 11 ชั่วโมงทีเดียว ดังนั้นในแง่สเปคต่อราคาถ้าหาเอาไว้ทำงานถือว่าคุ้มมากและน้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัม กับตัวเครื่อง 15.6 นิ้ว ถือว่าพกง่ายติดตัวไปไหนมาไหนก็สะดวกสบายอีกด้วย

ด้านสเปคต่อราคาระดับนี้ถือว่า IdeaPad 1 15AMN7 เป็นโน๊ตบุ๊คที่เข้ามาเขย่าตลาดโน๊ตบุ๊คราคาต่ำกว่า 20,000 บาทให้มีสีสันได้อีกครั้ง ดังนั้นถ้าทาง Lenovo ทำตลาดและเปิดตัวโน๊ตบุ๊คกลุ่มนี้ออกมาเรื่อยๆ ก็น่าจะจับใจผู้ใช้ที่ต้องการโน๊ตบุ๊คราคาคุ้มค่าแต่สเปคดีได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

award

award new value

best value

IdeaPad 1 15AMN7 ราคา 16,400 บาท แต่ได้ AMD Ryzen 3 7320U รุ่นใหม่ล่าสุด ใช้ทำงานออฟฟิศต่างๆ ได้สบายๆ ดีต่อผู้ใช้ที่ยังเรียนอยู่หรือเพิ่งได้งานใหม่ ถือว่าเป็นมิตรต่อกระเป๋าเงินมาก

NBS award 4 Mobility

best mobility

ปกติแล้วโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักยืนพื้น 1.8~2.5 กิโลกรัม แต่ IdeaPad 1 15AMN7 มีน้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัมเท่านั้น ถือว่าเบาพกง่าย ติดตัวไปทำงานหรือเข้าห้องเรียนก็ได้สบายๆ

award new Battery Life

best battery life

แบตเตอรี่ 42Wh ปกติแล้วจะอยู่ได้ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเปิด Radeon Chill แล้วก็ใช้งานได้นานสุดร่วม 11 ชั่วโมงทีเดียว ถือว่าระบบจัดการพลังงานของ AMD Ryzen 7320U ทำได้ดีขึ้นมาก ลบข้อครหาว่า AMD แรงแต่กินไฟไปได้อย่างสวยงาม

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก