Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

วิธีทำให้ Mac เล่นเกม PC ได้ ผ่าน Game Porting Toolkit

ในงาน WWDC 2023 ที่ผ่านมา Apple ได้ประกาศเปิดตัว MacOS Sonoma ที่จะปล่อยให้อัปเดต และใช้งานอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ โดยหนึ่งในไฮไลท์ที่ดึงความสนใจของผู้ชม รวมถึงนักพัฒนาสายเกม ก็คือการเปิดตัวชุดพัฒนา Game Porting Toolkit ที่จะนักพัฒนาในการพอร์ตเกมพีซีของตนเอง ให้มาทำงานกับระบบปฏิบัติการ MacOS ได้ และทำให้ Mac เล่นเกมพีซีได้ในที่สุด โดยอาศัยการปรับจูนอีกเล็กน้อยเท่านั้น ทุ่นแรง ทุ่นเวลาในการพอร์ตลงไปได้อย่างมาก

Mac เล่นเกม PC

Advertisement

ซึ่งในตอนนี้ Apple ก็ได้ปล่อยชุด Game Porting Toolkit ออกมาให้นักพัฒนาดาวน์โหลดไปทดสอบเกมของตนเองกันได้แล้ว ว่าในเบื้องต้น ตัวเกมจะสามารถทำงานบนเครื่อง Mac และ MacOS Sonoma ได้ดีขนาดไหน ในแบบที่ยังไม่ได้มีการปรับแก้โค้ดใด ๆ ซึ่งผมก็ดาวน์โหลดมาลองแล้ว โดยในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าวิธีการทำเป็นอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง และตอนนี้ยังมีข้อจำกัดอะไร สำหรับการทำให้ Mac เล่นเกมพีซีได้ในตอนนี้

Game Porting Toolkit คืออะไร ทำงานอย่างไร

Game Porting Toolkit (GPTK) คือชุดคำสั่งสำหรับนักพัฒนา ที่ออกแบบมาให้นักพัฒนาเกมสามารถดาวน์โหลดไปติดตั้ง เพื่อทดสอบเกมของตนเอง ว่าจะสามารถทำงานบน Mac ได้ดีขนาดไหน โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขโค้ดตัวเกมเลย ซึ่งตัวชุดคำสั่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแปลงโค้ดเกม ทำให้นำ DirectX 11 และ DirectX 12 ไปทำงานบนโมดูล D3DMetal ของ Apple ได้แบบเรียลไทม์ ถ้าในกลุ่มของคนที่เล่นเกมบน Linux มาแล้ว ก็จะคุ้น ๆ ว่ามันคือโปรแกรม Wine ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้ว ก็จะเหมือนกับโปรแกรม Proton ที่ทำให้ Steam Deck สามารถเล่นเกมพีซีได้นั่นเอง

ซึ่งด้วยการทำงานแบบเรียลไทม์ จึงทำให้สามารถเปิดเกมขึ้นมาเล่นได้ทันที ไม่จำเป็นต้องแก้ไข และคอมไพล์เกมใหม่เลย ปล่อยให้ระบบจัดการแปลงโค้ดให้เอง แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยการทำงานแบบเรียลไทม์ ก็เป็นไปได้ว่ามันจะกินประสิทธิภาพเครื่องค่อนข้างสูงพอสมควร ทั้งส่วนของ CPU และ GPU

Screenshot 2566 06 29 at 10.45.46 AM

จากภาพคือจะเห็นว่าตัว GPTK จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการแปลงชุดคำสั่ง ทั้งด้านภาพ เสียง การควบคุมเกม และชุดคำสั่งที่ออกแบบมาสำหรับทำงานบน CPU แบบ x86 ให้มาทำงานกับชิป Apple Silicon ที่เป็นสถาปัตยกรรม ARM64 ได้ จึงนับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างหนักพอสมควรสำหรับ CPU และ GPU ทำให้ถ้ายิ่งมีจำนวนคอร์ทั้งสองแบบเยอะ ก็จะส่งผลโดยตรงถึงประสิทธิภาพด้วยแน่นอน

ส่วนถ้าเทียบกับแอปที่ทำให้ Mac เล่นเกม และลง Windows ได้บนเครื่องที่ใช้ชิป Apple Silicon ที่มีอยู่แล้ว เช่น CrossOver และ Parallels จุดที่ GPTK ทำได้เหนือกว่าก็คือมันสามารถทำงานร่วมกับ DirectX 12 ได้ด้วย ในขณะที่ Parallels จะได้สูงสุดในตอนนี้แค่ DirectX 11 ส่วน CrossOver ก็เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าจะรองรับ DX12 ใน CrossOver เวอร์ชัน 23 ที่จะเปิดให้ใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้

Screenshot 2023 05 31 at 2.31.31 PM

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ในเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสุดท้าย Apple จะเปิดช่องทางให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเล่นเกมพีซีบน Mac ได้อย่างไร อาจจะเป็นได้ทั้งผ่านแอป client ตามปกติ เช่นบน Steam แบบที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเล่นเกมที่ซื้อไว้ก่อนแล้ว เสมือนว่าเกมนั้นได้รับการออกแบบมาให้เล่นได้ทั้งบนพีซีและ Mac หรือที่น่ากังวลหน่อยก็คือ อาจจะใช้เป็นการวางขายใหม่บน Mac App Store ที่ผู้ใช้งานที่มีเกมนี้บนพีซีอยู่แล้ว จำเป็นต้องซื้อเกมใหม่อีกรอบ ซึ่งคงต้องรอดูกันอีกที และน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี ช่วงที่เปิดให้ใช้งาน MacOS Sonoma ตัวเต็ม

 

สิ่งที่ต้องเตรียม

ในการจะทำให้ Mac เล่นเกมพีซีได้ในตอนนี้ ก่อนอื่นเลยคือต้องบอกว่า ไม่แนะนำสำหรับเครื่องที่ต้องใช้ในการทำงาน เพราะซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดยังเป็นรุ่นสำหรับทดสอบเท่านั้น อาจมีบั๊ก ความเสี่ยง ข้อผิดพลาดที่ส่งผลถึงการใช้งานทั่วไป การใช้งานแอปเฉพาะทางได้ ถ้าพร้อมและมั่นใจแล้ว สิ่งที่ต้องมีและเตรียม ได้แก่

  • เครื่อง Mac รุ่นที่ใช้ชิป Apple Silicon เท่านั้น เช่น MacBook Air, MacBook Pro, iMac, Mac mini, Mac Studio ที่ใช้ชิปตั้งแต่ M1 ขึ้นมา
  • ติดตั้ง MacOS Sonoma Developer Preview (ทางที่ดีควรล้างข้อมูลในเครื่องด้วย)
  • ติดตั้ง Command Line Tools for Xcode 15 beta โดยค้นหาได้จากเว็บ Apple Developer
  • ดาวน์โหลดไฟล์ Game Porting Toolkit beta จากเว็บ Apple Developer และเปิดไฟล์ขึ้นมา จนมี drive ใหม่ขึ้นมาในเครื่อง

ในการทดสอบเกมด้วย GPTK ในตอนนี้ รูปแบบการทำงานจะใช้เป็นการติดตั้งชุดคำสั่ง เพื่อสร้างระบบจำลองแบบ Windows ขึ้นมาในเครื่อง (ลักษณะแบบโปรแกรม Wine) จากนั้นก็ติดตั้งโปรแกรม client สำหรับติดตั้งเกมอีกที โดยในขณะนี้จะรองรับ Steam, Epic, Battle.net และ GOG เท่านั้น

นอกจากนี้อีกข้อจำกัดที่น่าสนใจคือ เกมที่มาพร้อมระบบป้องกัน เช่นพวก anti-cheat หรือระบบ DRM อาจจะไม่สามารถทำงานร่วมกับ GPTK ได้ รวมถึงเกมที่จำเป็นต้องใช้ชุดคำสั่ง AVX และ AVX 2 ใน CPU เช่น The Last of Us Part I ก็อาจจะไม่สามารถทำงานได้ด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนการติดตั้ง

ในการติดตั้งและเรียกใช้งาน GPTK เพื่อทำให้ Mac เล่นเกมได้นั้น จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างเยอะ และต้องอาศัยการพิมพ์คำสั่งในแอป Terminal ทั้งหมด โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูล ขั้นตอน และคำสั่งต่าง ๆ แบบเต็มจากหน้าเว็บนี้ได้เลย ส่วนที่ผมติดตั้งเองมาแล้ว จะมีคำสั่งที่จำเป็นตามหัวข้อด้านล่างนี้ สามารถก็อปปี้เฉพาะคำสั่งไปใส่ใน Terminal ได้ทันที

1) Install Rosetta

softwareupdate --install-rosetta

2) Enter an x86_64 shell to continue the following steps in a Rosetta environment

arch -x86_64 zsh

3) Install the x86_64 version of Homebrew

/bin/bash -c "$(curl -fsSL https://raw.githubusercontent.com/Homebrew/install/HEAD/install.sh)"

4) Set the path

(echo; echo 'eval "$(/usr/local/bin/brew shellenv)"') >> /Users/$USER/.zprofile
eval "$(/usr/local/bin/brew shellenv)"

5) ทดสอบด้วยการพิมพ์ which brew ถ้าทำตามขั้นตอนข้างบนมาถูกต้อง จะได้คำตอบเป็น /usr/local/bin/brew

6) ดาวน์โหลด Apple tap

brew tap apple/apple http://github.com/apple/homebrew-apple

7) Install the game-porting-toolkit formula (ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน อาจถึงหลักชั่วโมงได้ ขึ้นอยู่กับความแรงเครื่องด้วย)

brew -v install apple/apple/game-porting-toolkit

8) เช็คว่าได้โหลด และเปิดไฟล์ Game Porting Toolkit ตามที่ระบุไว้ด้านบนหรือยัง ถ้าเปิดแล้ว จะมี drive ใหม่ที่ชื่อว่า Game Porting Toolkit ขึ้นมาที่หน้าจอเดสก์ท็อป

9) Copy the Game Porting Toolkit library directory into Wine’s library directory

ditto /Volumes/Game\ Porting\ Toolkit-1.0/lib/ `brew --prefix game-porting-toolkit`/lib/

9) Put the 3 scripts from the Game Porting Toolkit DMG into here /usr/local/bin

cp /Volumes/Game\ Porting\ Toolkit*/gameportingtoolkit* /usr/local/bin

10) Create a new Wine prefix named my-game-prefix in your home directory

WINEPREFIX=~/my-game-prefix `brew --prefix game-porting-toolkit`/bin/wine64 winecfg

ถ้าทำมาถึงขั้นตอนนี้ ก็ถือว่าได้ติดตั้ง GPTK เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ต่อไปคือเป็นการติดตั้ง client สำหรับติดตั้งเกมอีกที โดยวิธีการติดตั้งของแต่ละตัวก็จะแตกต่างกันไป และยังต้องมีการพิมพ์คำสั่งลง Terminal ประกอบด้วยเช่นกัน

ติดตั้ง Steam

1) ดาวน์โหลด Steam ที่เป็นเวอร์ชันสำหรับ Windows จากหน้าเว็บ Steam (ย้ำว่าโหลดเวอร์ชันของ Windows เท่านั้น)

2) ติดตั้ง Steam จากไฟล์ที่โหลดมา โดยที่ไฟล์อยู่ในโฟลเดอร์ Downloads ตามปกติ

gameportingtoolkit ~/my-game-prefix ~/Downloads/SteamSetup.exe

3) เปิด Steam ขึ้นมา และล็อกอินบัญชีที่มีอยู่ได้ทันที

gameportingtoolkit ~/my-game-prefix 'C:\Program Files (x86)/Steam/steam.exe'

ในการเปิด Steam ขึ้นมา บางครั้งอาจเกิดปัญหาจอเป็นสีดำ หรือเปิดไม่ขึ้นบ้าง ก็ให้ปิด (Quit) Terminal แล้วเปิดขึ้นมา พิมพ์คำสั่งเพื่อเปิด Steam ใหม่ดู โดยบางรอบอาจต้องใช้หลายครั้งหน่อย หรืออาจลองใช้อีกคำสั่งในการเปิด Steam ขึ้นมา นั่นคือ

MTL_HUD_ENABLED=1 WINEESYNC=1 WINEPREFIX=~/my-game-prefix /usr/local/Cellar/game-porting-toolkit/1.0/bin/wine64 'C:\Program Files (x86)\Steam\steam.exe'

หลังจากล็อกอินเสร็จแล้ว ก็สามารถดาวน์โหลดเกมที่มีอยู่ใน Library ได้เลย

 

Screenshot 2566 06 29 at 11.33.42 AM

ในระหว่างการดาวน์โหลด สิ่งที่พบคือเครื่องจะใช้ CPU เยอะมากจนเครื่องร้อน และพัดลมในตัวต้องทำงานแบบเต็มที่สุด ๆ โดยทดสอบบน MacBook Pro 14″ M1 Pro ที่ใช้ CPU 8 คอร์ GPU 14 คอร์ ส่วนในระหว่างเล่นเกม พบว่าก็ใช้ CPU สูงเหมือนกัน แต่ไม่เท่ากับตอนโหลดไฟล์เกม

ส่วนถ้าใครต้องการเล่นเกมแบบใช้จอย ก็สามารถทำได้แบบไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเลย ขอเพียงแค่เชื่อมต่อกับ MacOS ได้ ก็สามารถนำมาใช้ในเกมได้ทันที อย่างในรอบนี้ผมใช้จอย Xbox One สำหรับพีซี ก็เพียงแค่เอามาเชื่อมกับ MacBook ผ่าน Bluetooth เท่านั้นเอง พอเปิดเกมขึ้นมา ก็สามารถใช้จอยควบคุมได้โดยอัตโนมัติทันที

Screenshot 2566 06 29 at 12.04.19 PM

ติดตั้ง client อื่น ๆ

สำหรับการจะติดตั้ง client อื่น ๆ ให้ Mac เล่นเกมบนแต่ละโปรแกรมได้ ขอใช้การอ้างอิงไปที่เว็บต้นทางแทนนะครับ เพราะขั้นตอนค่อนข้างเยอะและยาวนิดนึง

ติดตั้ง Battle.net (วิธีและการทำงานจะคล้าย ๆ กับ Steam)

ติดตั้ง Heroic Games Launcher เพื่อเล่นเกมที่อยู่ใน Epic และ GOG (ตัว Heroic จะเป็นแอปที่อยู่ในฝั่ง Mac แต่ต้องมีการตั้งค่าอีกเล็กน้อย เพื่อใช้ชุดคำสั่ง Wine จาก GPTK อีกทีในการรันเกม)

นอกจากนี้ ในเว็บ Apple Gaming Wiki ที่ใช้อ้างอิง จะมีชุดคำสั่งที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เปิดโปรแกรมแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมีปัญหากับภาพ กับจอยเกม ซึ่งก็สามารถเข้าไปไล่หาในหน้าหลักได้เลย แต่ทั้งหมดจะเป็นภาษาอังกฤษนะ รวมถึงยังมีรายชื่อเกม และผลการทดสอบที่มีการรวบรวมไว้ด้วย ว่าเกมไหนสามารถเล่นได้บ้าง เล่นได้ระดับไหน หรือถ้าเล่นไม่ได้ ติดปัญหาที่ส่วนไหน

 

ทดสอบการใช้ Mac เล่นเกมพีซี

ในรอบนี้ผมทดสอบด้วยเกมที่คุ้นเคย คุ้นมือตัวเองไป 7 เกม กลุ่มของเกมที่จัดว่าเปิดไม่ได้ เล่นไม่ได้ก็จะมี

  • Hogwarts Legacy – เกมนี้ค่อนข้างแปลกครับ เพราะคนอื่นเปิดเล่นได้ แต่ที่ผมทดสอบกับเครื่องตัวเอง คือเปิดได้แค่รอบแรกเท่านั้น โดยที่เกมโหลดช้ามาก เฟรมเรตต่ำมากด้วย แต่พอปิดแล้วเปิดใหม่ ก็เปิดเกมไม่ขึ้นอีกเลย
  • Resident Evil 4 Chainsaw demo – เปิดไม่ได้เลย แต่ผมไม่มีเกมตัวเต็ม เลยไม่ได้ทดสอบกับเกมเต็ม
  • Cyberpunk 2077 จาก GOG ผ่าน Heroic launcher – เปิดไม่ได้เช่นกัน
  • Metal Gear Rising Revengeance – เปิดไม่ได้

ส่วนอีกสามเกมที่ทดสอบ แล้วสามารถเล่นบน MBP 14″ M1 Pro รุ่นล่างสุดได้ กับการเลือกใช้ระดับกราฟิกตามค่าเริ่มต้นที่เกมตั้งให้ ก็จะมี

Devil May Cry 5

IMG 2851

จากแถบข้อมูลทางฝั่งขวาของจอ จะเห็นว่าตัวเกมทำงานโดยใช้ D3D12 ของ DirectX 12 แปลงชุดคำสั่งด้วย Rosetta รันภาพที่ความละเอียด 1512×982 ส่วนเฟรมเรตที่ได้จะอยู่ในช่วง 60fps ขึ้นไปแทบจะตลอด จัดว่าอยู่ในเกณฑ์เล่นได้ดีเกินคาดเลย สามารถซิงค์เซฟเกมที่เล่นค้างไว้จากใน Steam บน Windows ปกติได้สบาย ๆ

Final Fantasy XV – Windows Edition

IMG 2853

Final Fantasy 15 เป็นหนึ่งในเกมที่อยู่ในรายชื่อเกมที่ผ่านการทดสอบบนเว็บ Apple Gaming Wiki แล้วว่าสามารถรันผ่าน GPTK ได้ในระดับ perfect ซึ่งจากที่ลองด้วยตัวเอง ก็สามารถเล่นได้จริง แต่จะมีกระตุกบ้างตอนแพนกล้องเร็ว ๆ ด้วยความที่เป็นเกม open world ที่ต้องมีการโหลดฉากไกล ๆ ด้วย สามารถทำเฟรมเรตเฉลี่ยที่ประมาณ 40 fps ขึ้นไปเล็กน้อย

Mega Man 11

และเกมสุดท้ายที่ผมทดสอบก็คือ Mega Man 11 ซึ่งผลที่ได้ก็เรียกว่าดีมาก ทำเฟรมเรตได้ประมาณ 60 fps แบบค่อนข้างนิ่ง

Screenshot 2566 06 29 at 1.33.03 PM

สรุปการใช้ Mac เล่นเกมผ่าน Game Porting Toolkit

แม้ว่าจะเล่นเกมพีซีได้จริง แต่ไม่ว่าจะเล่นเกมใดก็ตาม ต้องยอมรับว่ามันกินประสิทธิภาพเครื่องที่ค่อนข้างสูงซักนิดนึง เพราะจะต้องมีกระบวนการแปลงโค้ด แปลงชุดคำสั่งให้มาทำงานร่วมกับ CPU และ GPU ที่เป็น Apple Silicon ได้ ยังไม่ได้เป็นการรันแบบตรง ๆ ด้วยโค้ดแบบ native เหมือนกับเล่นบนพีซีที่ใช้ Windows อยู่ดี แต่ก็ต้องถือว่าทำได้ดีเกินคาดแล้ว ถ้ามองว่ามันเป็นการทำงานแบบสองต่อ ด้วยพลังของชิปตัวเดียว

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำอีกครั้งว่า Game Porting Toolkit เป็นชุดคำสั่งที่ออกแบบมาเพื่อให้นักพัฒนาใช้ในการตรวจสอบเกมของตนเอง ว่าสามารถรันบน Mac ได้ดีขนาดไหน รวมทั้งยังใช้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการแปลงโค้ดเกม และลดระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาเกมลงได้ในอนาคต ยังไม่ได้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ Mac เล่นเกมโดยตรงสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ใช้ Mac และต้องการเล่นเกมพีซี ก็อาจจะต้องรอดูแนวโน้มไปอีกซักระยะ เร็วสุดก็คือช่วงปลายปีนี้ ที่เป็นช่วงเปิดให้อัปเดต MacOS Sonoma ตัวเต็ม หรือถ้าจะให้เห็นภาพชัดสุด คงต้องรอดูซักปีสองปีต่อจากนี้ ว่านักพัฒนาจะนำเกมของตนเองมาลงมากขนาดไหน

ส่วนถ้าใครต้องการติดตั้งเพื่อทดสอบ หรือทดลองเล่นเกมกับเครื่องตนเอง ก็ควรจะใช้เป็นเครื่องที่ไม่ได้เป็นเครื่องใช้งานหลัก เพราะ MacOS เวอร์ชัน developer preview อาจจะมีปัญหากับการใช้งานบางแอปพลิเคชันได้ แนะนำว่าถ้าอยากลองก่อนตัวเต็มออก ควรไปรอตอนช่วง Apple ปล่อยให้อัปเดต MacOS Sonoma Public Beta ที่คาดว่าจะมาอย่างเร็วในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งก็จะปลอดภัยกว่านิดนึง 

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

How to

ในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน เชื่อว่าหลายคนก็มี YouTube เป็นเพื่อนไว้ดูหนัง, การ์ตูนหรือฟัง Podcast กันแน่นอน แต่ถ้าไม่อยากให้โฆษณากวนใจก็ต้องสมัคร YouTube Premium เพิ่มให้ดูคลิปได้ต่อเนื่องไม่ให้เสียอารมณ์นัก ซึ่งบางคนก็ไม่ชอบที่ Google ทำแบบนี้นักจึงหาวิธีแก้ทางร้อยแปดมาใช้กัน กลับกันการใช้บัญชี Premium ยอมเสียค่าบริการคนละ 179 บาท/เดือน จะเป็นแพ็คเกจแบบตัดโฆษณาใน YouTube Music ไปในตัว ทำให้เวลาฟังเพลงไม่ต้องโดนยิงสปอตโฆษณาให้เสียอารมณ์...

Accessories review

ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ Lexar Portable SSD SL400 คือไอเท็มสำคัญควรมีติดกระเป๋า! ในวงการหน่วยความจำแล้ว Lexar ก็เป็นผู้ผลิตหน่วยความจำระดับโลกซึ่งมีสินค้าหลากหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น Lexar Portable SSD SL400 สำหรับครีเอเตอร์ยุคใหม่เจ้าของ iPhone 15 Pro และ 16 Pro Series ได้ถ่ายคลิปเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ทำงานต่อได้หรือพกคู่มือถือ Android...

Mac Corner

ขึ้นชื่อว่าเป็นไอโฟนเป็นใครอยากได้ ว่าด้วยราคาเครื่องจะจ่ายเงินสดรอบเดียวก็ยังได้แต่ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้องใช้เงินก้อนเมื่อไหร่ หลายคนจึงเลือกวิธีผ่อนไอโฟนทีละงวดไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 10 ถึง 30 เดือนก็มี ตามที่ร้านค้ากับธนาคารเจ้าของบัตรจะทำข้อตกลงกันไว้ ทำให้ลูกค้าได้เปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น และยังไม่รวมแคมเปญอื่นๆ จาก Apple กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละเจ้าเอามาเป็นจุดจูงใจเพิ่มเติมอีกด้วย ข้อดีของการจ่ายเงินผ่อน นอกจากไม่ต้องลงเงินก้อนครั้งเดียวแต่เฉลี่ยจ่ายไปเรื่อยๆ จนครบได้แล้ว ยังมีเครื่องมือทางการเงินอีกหลายอย่างเข้ามาช่วยแบ่งเบาผู้ใช้ได้อีกมาก ไม่ว่าจะใช้แต้มในบัตรเครดิตหักลดราคาเครื่องก่อนผ่อนชำระได้, กดส่งโค้ดเอาแต้มกับเงินคืนไว้ใช้ในโอกาสอื่นได้ไม่พอ ในยุคนี้บางร้านค้ายังให้ผ่อนด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้อีก เป็นทางเลือกเพื่อคนไม่มีบัตรเครดิตแต่มีเงินในกระเป๋าแบ่งจ่ายค่าเครื่องได้สะดวกไม่แพ้กัน Advertisement ผ่อนไอโฟนวิธีไหนได้บ้าง?...

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก