DELL G15 Gaming Ryzen Edition รุ่นใหม่พลังแดง Ryzen 7 ตัวนี้เด็ดแน่นอน!
โน๊ตบุ๊คจากอเมริกาอย่าง DELL นั้น ในฝั่งโน๊ตบุ๊คสายทำงานก็มีแฟนคลับผู้ชื่นชอบเลือกซื้อใช้งานอย่างเหนียวแน่น ส่วนฝั่งเกมมิ่งก็มี DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นรุ่นย่อยเคียงคู่กับรุ่น G15 ที่เป็นซีพียู Intel ซึ่งผู้เขียนได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแง่ฮาร์ดแวร์และดีไซน์ตัวเครื่องภายนอกเรียกว่าแชร์กันทั้งหมด แต่จะต่างกันตรงซีพียู AMD Ryzen 6000 Series รุ่นใหม่ มีพลังทำงานดีกว่าเดิมมากจะทำงานหรือเล่นเกมก็ยอดเยี่ยม และมีชุดระบบระบายความร้อนด้วยฮีตไปป์และพัดลมโบลวเวอร์ซึ่งแม้จะไม่มีชื่อเฉพาะหรูหราอะไร แต่มันก็จัดการอุณหภูมิในเครื่องได้อย่างดี จับคู่กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3000 Series แล้วได้ซอฟท์แวร์ Alienware Command Center เข้ามาช่วยปรับจูนเครื่องให้รีดประสิทธิภาพออกมาได้อย่างหมดจดอีกด้วย
อีกข้อดีหนึ่ง คือ DELL G15 Gaming Ryzen Edition มีซอฟท์แวร์ติดตั้งมาให้ครบเครื่อง ไม่ใช่แค่ Windows 11 Home อย่างเดียว แต่ได้ Microsoft Office Home & Student 2021 อีก หากนับในกลุ่มเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแล้ว มีรุ่นที่ติดตั้งซอฟอท์แวร์สายทำงานมาให้เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ต้องถือว่าเจ้า G15 Gaming Ryzen Edition นี้เอาใจทั้งเกมเมอร์และพนักงานออฟฟิศทั้งคู่ ใช้ทำงานก็ได้ เล่นเกมก็ดีไม่แพ้กัน
NBS Verdicts
DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นสเปคฝั่ง AMD โดยเฉพาะเพื่อผู้ใช้ที่ชอบซีพียู AMD เมื่อจับคู่กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3000 Series แล้วได้โปรแกรม Alienware Command Center เข้ามาช่วยปรับจูนตัวเครื่อง ก็ช่วยรีดประสิทธิภาพของมันออกมาได้เต็มที่และยังระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องเย็นตลอดเวลาไม่เกิดอาการ Throttle down หรือตัวเครื่องลดกำลังการทำงานลงเพื่อลดอุณหภูมิภายในเครื่องแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นแง่การใช้ทำงานจะหนักหรือเบาก็เอาอยู่ทั้งหมดอย่างแน่นอน
ด้านพอร์ตเชื่อมต่อก็ให้มาครบเครื่องทีเดียว ไม่ว่าจะ USB-C สำหรับต่อโอนไฟล์และต่อจอแยกแบบ DisplayPort ได้ เมื่อนับรวมกับพอร์ต HDMI แล้ว ทำให้ G15 Ryzen Edition ใช้หน้าจอแยกพร้อมกัน 2 จอพร้อมกันได้ง่ายๆ และยังมีพอร์ตใช้งานหลักๆ ติดตั้งมาให้ครบเครื่อง ทั้ง USB-A 3.2, LAN ฯลฯ เรียกว่าไม่ต้องพึ่งตัวแปลงเพิ่มพอร์ตเลยก็ต่ออุปกรณ์เสริมใช้ทำงานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตหลักที่ผู้เขียนอยากให้ผู้ใช้รับทราบก่อนจะเลือกซื้อ คือ DELL G15 Gaming Ryzen Edition จะมีช่อง M.2 NVMe SSD แค่ช่องหลักเพียงช่องเดียวเท่านั้น ดังนั้นการอัพเกรดจึงมีข้อจำกัดอยู่ หากจะเซฟงาน, ติดตั้งเกมเพิ่มเติมก็ต้องพึ่ง External Harddisk แบบธรรมดาหรือเกมมิ่งโดยเฉพาะไปเลยจะดีกว่า และคีย์บอร์ดของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไม่มีไฟ LED Backlit ดังนั้นถ้าพิมพ์งานในที่แสงน้อยก็จะลำบากกว่าปกติเล็กน้อย แนะนำให้มีโคมไฟหน้าจอแบบพกพาติดกระเป๋าเอาไว้จะช่วยได้มาก
อีกส่วนที่เป็นข้อสังเกตเล็กน้อยคือค่า Refresh Rate หน้าจอของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition ยังยืนพื้นอยู่ที่ 120Hz เช่นเดียวกับรุ่นซีพียู Intel ซึ่งถ้าดูตามหน้าสเปค G15 Gaming บนหน้าเว็บไซต์จะเห็นว่าทางบริษัทมีรุ่นหน้าจอ 165Hz แบบขอบเขตสีกว้างให้เลือกปรับสเปคได้ แต่น่าเสียดายที่ DELL ไม่ติดตั้งมาให้ หากเป็นไปได้ก็คาดหวังว่ารุ่นย่อยอื่นๆ จะมีตัวเลือกจอ Refresh Rate สูงเกิน 120Hz ให้เลือกได้จะดีมาก หากให้ดียิ่งขึ้นอาจจะเสริม NVIDIA G-SYNC เข้ามาด้วยจะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ข้อดีของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition
- ดีไซน์ตัวเครื่องมีความเป็นเกมมิ่งแต่ก็ไม่หวือหวามาก พกไปออฟฟิศก็ไม่ดึงดูดสายตามาก
- ได้ Microsoft Office Home & Student 2021 ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานทันที
- ซีพียูอัพเกรดเป็น AMD Ryzen 7 6800H ประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดี
- ให้แรมมา 16GB DDR5 จากโรงงาน เป็น SO-DIMM ทั้งคู่ รองรับการอัพเกรดเพิ่มเติม
- พอร์ต USB-C รองรับการต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort ต่อได้ 2 จอพร้อมกัน
- ซอฟท์แวร์ Alienware Command Center ปรับจูนรีดประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ดีมาก
- ปรับโหมดการทำงานของตัวเครื่องได้ง่าย ทั้งกดปุ่ม G ตรง F9 หรือกด Fn+G ก็ได้
- ชุดพัดลมระบายความร้อนคุมอุณหภูมิและระบายอากาศได้ดีมาก ใช้งานต่อเนื่องไม่ร้อนเลย
- ระบบจัดการพลังงานทำงานได้ดี เป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่ใช้งานต่อเนื่องได้นานเกิน 8 ชั่วโมง
- ชุด Numpad มีปุ่มเรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลขและฟังก์ชั่นเครื่องคิดเลขติดตั้งมาให้
ข้อสังเกตของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition
- ไม่มีไฟ LED Backlit ทั้งที่รุ่นก่อนหน้ามีไฟสีส้มติดมาให้ จึงใช้งานในที่แสงน้อยได้ลำบาก
- มีช่อง M.2 NVMe SSD ติดตั้งมาให้เพียง 1 ช่องเท่านั้น ทำให้อัพเกรดได้ค่อนข้างจำกัด
- ค่า Refresh Rate แค่ 120Hz เท่านั้น แต่แบรนด์คู่แข่งอัพเกรดไป 144~165Hz แล้ว
รีวิว DELL G15 Gaming Ryzen Edition
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นโน๊ตบุ๊ค Dell Gaming ที่อัพเดทซีพียูเป็น AMD Ryzen 6000 Series รุ่นใหม่ล่าสุด สเปคทรงพลังพร้อมใช้ทำงานหรือเล่นเกมก็ได้สบายๆ โดยสเปคมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition
- CPU : AMD Ryzen 7 6800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2~4.7GHz
- GPU : NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6
- SSD : M.2 NVMe ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4
- RAM : 16GB LPDDR5 บัส 4800MHz
- Display : 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 120Hz
- Ports : USB-A 3.2 x 3, USB-C 3.2 x 1 รองรับ DisplayPort, HDMI x 1, LAN x 1, Audio combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
- Webcam : 720p HD Camera
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 2.52 กิโลกรัม
- Price : 46,990 บาท (ราคากลาง)
Hardware & Design
DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในตระกูล G15 Gaming ซึ่งแชร์บอดี้ร่วมกับรุ่นซีพียู Intel ดังนั้นรายละเอียดการดีไซน์ตัวเครื่องจะคล้ายกัน ไม่ว่าจะบอดี้ตัวเครื่องขนาดใหญ่สีทูโทนแบบน้ำเงินอมม่วงตัดสีดำ มีช่องสำหรับดึงลมเข้าไประบายความร้อนเหนือชุดคีย์บอร์ด, มีสติ๊กเกอร์แสดงฟีเจอร์ติดไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งซ้ายและขวา รวมทั้งสลักโลโก้ตัว G สีส้มไว้ 2 จุดด้วยกัน คือ เหนือสติ๊กเกอร์ฟีเจอร์ฝั่งซ้ายมือและสันตัวเครื่องสีดำระหว่างช่องระบายความร้อนด้านข้างและหลังฝั่งขวามือ
ตัวบานพับหน้าจอจะดีไซน์แบบยึดเข้าไปในฐานตัวเครื่องด้านหลังและเว้นพื้นที่ให้กางหน้าจอได้กว้างราว 120 องศา จะวางเอาไว้บนพื้นโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับสายตาของผู้ใช้ได้ง่าย ด้านงานประกอบต้องถือว่าแข็งแรงทนทานมากรวมทั้งกางหน้าจอแล้วไม่มีอาการบานพับสะบัดหรือโยกแม้แต่นิดเดียวแถมยังบาลานซ์น้ำหนักทั่วตัวเครื่องได้ดี ทำให้ใช้มือแค่ข้างเดียวกางหน้าจอใช้งานได้ทันที
ฝาหลังเครื่องนอกจากโลโก้อลูมิเนียมของ DELL ในวงกลมตรงกลางหน้าจอด้านหลังแล้ว ตัวฝาหลังจะมีเนื้อตัวเครื่องสองแบบ คือทรงสามเหลี่ยมเป็นเส้นตีเฉียงเป็นทรงสามเหลี่ยมพีระมิดและถัดขึ้นไปจะเป็นบอดี้เนื้อเรียบ ให้ความแตกต่างจากฝาหลังของโน๊ตบุ๊ค DELL หลายๆ รุ่นที่เน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก
บอดี้ด้านใต้ของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition จะมีช่องระบายความร้อนดึงลมเข้าขนาดใหญ่โดยกินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของตัวเครื่อง ถัดไปด้านข้างทั้งสองฝั่งซ้ายขวาจะเป็นช่องระบายอากาศร้อนออกจากเครื่อง ถัดลงมาจะมีช่องลำโพงติดตั้งเอาไว้ทั้งสองข้างของตัวเครื่องด้วย ส่วนแถบยางสำหรับกันบอดี้ตัวเครื่องสัมผัสกับพื้นโต๊ะและกันลื่นจะเป็นแบบแถบยาว 4 เส้น ติดไว้ 2 คู่แยกไว้ขอบบนและล่าง
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS มีค่า Refresh Rate 120Hz กรอบหน้าจอบางทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ขอบข้างทั้งสองฝั่ง แต่กรอบส่วนบนจะมีความหนาเล็กน้อยเพื่อติดตั้งกล้องเว็บแคมความละเอียด HD และไมค์สองตัวเพื่อใช้ประชุมออนไลน์ ซึ่งดีไซน์ขอบจอบางทั้งสองฝั่งเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้มองเห็นคอนเทนต์บนหน้าจอได้กว้างยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่า Refresh Rate ของ G15 Gaming ทำได้ตามขั้นต่ำของหน้าจอ High Refresh Rate คือ 120Hz ซึ่งถ้าใช้งานทั่วไปและเล่นเกมก็สามารถแสดงผลได้ลื่นไหลดี แต่ผู้เขียนก็หวังว่าทางบริษัทจะนำพาเนล 165Hz มาติดตั้งในรุ่นย่อยให้ผู้ใช้เลือกซื้อได้ในอนาคต
ขอบเขตสีหน้าจอของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition เมื่อทดสอบด้วย DisplayCal 3 และใช้เครื่อง Colorchecker ของ Calibrite แล้ว วัดค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอนี้ได้ 56.9% sRGB, 39.4% Adobe RGB, 40.5% DCI-P3 ส่วน Gamut volume ซึ่งเป็นขอบเขตสีโดยรวมทั้งหมดของจอนี้ทำได้อยู่ที่ 57.2% sRGB, 39.4% Adobe RGB, 40.6% DCI-P3 มีค่าความเที่ยงตรงสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 1.56 ซึ่งเมื่อค่าน้อยกว่า 2 นับว่าขอบเขตสีบนจอ DELL G15 นี้แสดงสีสันได้เที่ยงตรง แต่ขอบเขตสีไม่ได้กว้างนัก ดังนั้นถ้าใช้แต่งภาพอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คถือว่าพอใช้ได้ แต่ถ้าแต่งภาพถ่ายทำงานแนะนำให้ต่อหน้าจอแยกไปจะดีกว่า
ความสว่างของจอ DELL G15 เครื่อง Colorchecker วัดได้ 283.95 cd/m2 จัดว่าสว่างพอใช้งานในอาคารออฟฟิศต่างๆ ได้สบาย ปรับความสว่างราว 50~70% ก็สว่างเหลือเฟือแล้ว แต่ถ้านั่งอยู่ที่ชานร้านกาแฟหรือกลางแจ้งแล้วโดนแสงสะท้อนอาจจะเร่งความสว่างสู้ได้ไม่มากนัก ดังนั้นถ้านั่งทำงานนอกสถานที่แนะนำให้หามุมนั่งดีๆ จะช่วยได้ระดับหนึ่ง
ลำโพงของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นลำโพงคู่ติดตั้งไว้ที่ขอบล่างของตัวเครื่อง เนื้อเสียงถือว่าพอใช้ดูหนังและประชุมออนไลน์ได้ระดับหนึ่ง แต่เนื้อเสียงตอนฟังเพลงยังเน้นเสียงเครื่องดนตรีกับเสียงนักร้องเป็นหลัก ส่วนเสียงเบสยังพอมีซัพพอร์ตเครื่องดนตรีโดยรวมได้ระดับหนึ่งแต่แรงปะทะค่อนข้างน้อย ดังนั้นถ้าใครเน้นฟังเพลงเป็นหลักแนะนำให้ต่อลำโพงแยกดีๆ สักชุดไปเลยจะดีที่สุด
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ด Full-size ของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวปุ่มลูกศรไม่ได้แยกตัวออกมาจากชุดปุ่มหลัก แต่เพราะถูกกระชับพื้นที่เข้ามาเลยทำให้หลายๆ ปุ่ม อย่างเช่น Page Up, Page Down และกลุ่มปุ่มลูกศรเป็นปุ่มขนาดครึ่งเดียวของปุ่มหลัก ถ้าสังเกตชุดปุ่ม Numpad จะเห็นว่าชุดปุ่มนี้ดีไซน์มาเพื่อนักบัญชีและคนที่ต้องกดตัวเลขบ่อยๆ เพราะมีคีย์ลัดเรียกโปรแกรม Calculator, CE สำหรับลบตัวเลขที่กดผิดไปและเครื่องหมาย +/- สำหรับกลับตัวเลขจากบวกเป็นลบติดมาให้
ด้านดีไซน์พิเศษอื่นๆ จะเห็นว่าตัวปุ่ม WASD ถูกล้อมกรอบสีขาวเอาไว้เน้นเป็นพิเศษให้ดูเด่นกว่าปุ่มอื่นๆ เพราะเป็นปุ่มประจำนิ้วของเกมเมอร์ซึ่งเป็นลูกค้าของโน๊ตบุ๊ค DELL G15 มีปุ่ม Function Lock รวมอยู่กับปุ่ม Esc ให้กดสลับเลย์เอ้าท์ระหว่างปุ่ม F1~F12 กับ Function Hotkey ได้ตามสะดวก
นอกจากดีไซน์และจุดเด่นของคีย์บอร์ด DELL G15 Gaming Ryzen Edition ในข้างต้นแล้ว จุดสังเกตของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ คือไม่มีไฟ LED Backlit เหมือนรุ่นอื่น และโปรแกรม Alienware Command Center ก็แจ้งว่าไม่มีระบบไฟ LED Backlit ด้วย จึงทำให้ปุ่ม F5 ไม่มี Functio Hotkey ไปโดยปริยาย หากผู้ใช้คนไหนทำงานในที่แสงน้อยก็อาจจะลำบากอยู่บ้าง แต่ใครที่พิมพ์สัมผัสได้ก็ไม่น่ามีปัญหา
คำสั่ง Function Hotkey ตรงปุ่ม F1~F12 ของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition ใช้ชุดคีย์ลัดเดียวกันกับรุ่นซีพียู Intel ทุกอย่าง โดยมีคีย์ลัดดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – หยุดหรือเล่นเพลงหรือวิดีโอ
- F5 – ปรับไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด (ใช้เป็นปุ่ม F5 ตามปกติ)
- F6-F7 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F8 – Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F9 – Game Shift กดเพื่อให้เครื่องทำงานเต็มที่ อาจจะกด Fn+G แทนก็ได้
- F10 – Print Screen
- F11 – Home
- F12 – End
ในเมื่อ G15 Gaming Ryzen Edition แชร์บอดี้และชิ้นส่วนร่วมกับรุ่น Intel มันจึงยกจุดสังเกตต่างๆ ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงไปก่อนหน้ามาทั้งหมด ทั้งเซ็ตปุ่ม Function Key ที่ไม่กระชับพื้นที่นัก ทั้งที่ควรเอา Inset กับ Delete ให้มีปุ่มว่างแล้วรวบ Home กับ End ไว้ด้วยกัน ถ้าดูไปจนชุด Numpad จะเห็นว่าถ้าเอา CE รวบกับ +/- แล้วย้ายปุ่ม Print Screen จาก F10 ไปไว้แทนแล้วเสริมคีย์ลัดเรียก Snipping Tool ขึ้นมาจะยิ่งน่าใช้ขึ้น
อีกจุดน่าเสียดาย คือเมื่อทาง DELL ถอด LED Backlit ออกจากชุดคีย์บอร์ดแล้ว ก็ควรเปลี่ยนฟังก์ชั่นที่ปุ่ม F5 ที่เอาไว้ปรับความสว่างไฟคีย์บอร์ดให้เป็นคำสั่งอื่นด้วย เพราะเมื่อกด Function Hotkey แล้วปุ่มนี้ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าควรใส่ใจรุ่นที่เป็น AMD Ryzen ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ใช้ส่วนใหญ่นิยมเลือกซีพียู AMD มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประสิทธิภาพกับราคาคุ้มค่า แต่ถ้าทาง DELL ทำให้ดูด้อยกว่ารุ่น Intel อย่างนี้อาจไม่ดีนักและปั้นแบรนด์ฝั่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คไม่ขึ้นแทน
ทัชแพดของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition มีขนาดปานกลาง โดยขอบแป้นจะเริ่มจากริม Spacebar ไปจนสุดปุ่ม Alt ฝั่งขวา รองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่มีคีย์ลัดล็อคการทำงานทัชแพดให้กด ต้องไปกดเปิดปิดในคำสั่ง Settings > Touchpad แทน
Connector / Thin & Weight
พอร์ตของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition ถูกเซ็ตเอาไว้ขอบตัวเครื่องทั้ง 3 ด้าน โดยทางบริษัทติดตั้งพอร์ตมาให้ตามนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – LAN RJ45, Audio combo, ไฟแสดงสถานะการชาร์จ
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 x 2
- ด้านหลังจากซ้าย – USB-C 3.2 รองรับการต่อหน้าจอแบบ DisplayPort, USB-A 3.2, HDMI, ช่องเชื่อมต่ออแดปเตอร์
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
ในแง่ของพอร์ตเชื่อมต่อถือว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะ USB-C 3.2 ที่รองรับการต่อจอแยกแบบ DisplayPort ได้ หากใครใช้จอ DELL UltraSharp ที่มีพอร์ต USB-C Upstream อยู่ด้วย ก็เอาสาย Thunderbolt ต่อเข้าหากันก็ใช้งานได้เลยและสะดวกมาก
แต่อย่างไรก็ตาม หากสังเกตส่วนด้านหลังเครื่องจะเห็นว่ามีพื้นที่ว่างใกล้ๆ พอร์ต HDMI อยู่ พื้นที่ระยะห่างระหว่างพอร์ตก็กว้างพอใส่พอร์ต USB 2.0 สักพอร์ตเอาไว้ต่อเมาส์หรือคีย์บอร์ดได้ ถ้าทาง DELL เสริมเข้ามาให้ก็น่าจะมีประโยชน์ดีทีเดียว
น้ำหนักของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition เฉพาะเครื่องมีน้ำหนัก 2.52 กิโลกรัม เมื่อรวมกับอแดปเตอร์กำลังไฟ 180 วัตต์ซึ่งหนัก 692 กรัมเข้าไปจะมีน้ำหนักรวมที่ 3.2 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักมาตรฐานของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าจะพกเครื่องติดตัวไปไหนมาไหน แนะนำให้ใช้กระเป๋าเป้เป็นหลักและส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้ซื้อใบที่รองรับเครื่องขนาด 17.3 นิ้วได้ด้วย เพราะมิติตัวเครื่องและความหนาจะล้นกระเป๋าเป้สำหรับโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วทั่วไปพอสมควร
Inside & Upgrade
เมนบอร์ดของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition จะมีอินเตอร์เฟสเชื่อมต่อหลักๆ ได้แก่ช่องสำหรับใส่แรมแบบ SO-DIMM ทั้งหมด 2 ช่อง วางหัวพอร์ตหันเข้าหากันและมีช่องสำหรับติดตั้ง M.2 NVMe SSD อีกช่องอยู่ถัดลงมาจากตัวการ์ด Wi-Fi PCIe ฝั่งซ้ายมือ แต่สังเกตว่าฝั่งขวามือของเมนบอร์ดจะมีฐานสำหรับติดตั้ง M.2 NVMe SSD เช่นเดียวกันแต่ไม่มีหัวอินเตอร์เฟส SSD ติดตั้งมาให้ ดังนั้น G15 Gaming แม้จะเป็นรุ่น AMD Ryzen ก็ยังอัพเกรดได้แต่แรมและ SSD ตัวหลักได้อีกเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าต้องการพื้นที่สำหรับติดตั้งไฟล์เกมเพิ่มเติม แนะนำให้ซื้อ Game Drive มาต่อ USB-A 3.2 ด้านหลังเครื่องแทนดีกว่า
Performance & Software
ซีพียู AMD Ryzen 7 6800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.2~4.7GHz ในเครื่องเป็นสถาปัตยกรรม Rembrandt ขนาดทรานซิสเตอร์ 6 นาโนเมตร ซึ่งประสิทธิภาพจัดว่าดีเหลือเฟือ มีแรมติดตั้งมา 16GB DDR5 บัส 4800MHz จากโรงงาน ซึ่งประสิทธิภาพเวลาใช้งานจริงก็ตอบสนองได้ดีมาก ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้ติดตั้ง AMD Chipset Driver เข้าไปด้วยเพื่อให้ตัวซีพียูสามารถทำงานหนักและจัดการพลังงานได้ดีขึ้น
กราฟิคการ์ดใน DELL G15 Gaming Ryzen Edition จะมี 2 ตัว คือ AMD Radeon Graphics ในซีพียูซึ่งทำงานเวลาดูหนังฟังเพลงหรือทำงานเอกสารทั่วไป ส่วนการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 ในเครื่องจะทำงานเมื่อเล่นเกมหรือรันโปรแกรมทำงานกราฟิคหรือตัดต่อวิดีโอเพื่อให้ทำงานได้เสร็จเร็วขึ้น
การ์ดจอทั้งสองตัวจะรองรับ DirectX 12 เหมือนกัน รวมถึง Computing Technologies ด้วย ซึ่งรองรับ OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX ครบถ้วน ยกเว้นเฉพาะ CUDA ที่มีเฉพาะการ์ดจอ NVIDIA เท่านั้น
พาร์ทในเครื่องเมื่อเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่า DELL G15 Gaming Ryzen Edition มีชิปเซ็ต TPM 2.0, AMD PSP 10.0 ติดตั้งมาให้ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยร่วมกับระบบของ Windows 11 และชิป Wi-Fi PCIe ในเครื่องเป็น MediaTek MT7921 ซึ่งผู้ผลิตหลายเจ้านิยมนำมาติดตั้งในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ เวลาใช้งานจริงก็สามารถเปิดเว็บไซต์, โหลดไฟล์งานต่างๆ ได้รวดเร็วไม่มีปัญหา
Samsung PM991a ความจุ 512GB ใน DELL G15 Gaming Ryzen Edition เมื่อทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 3,136.49 MB/s และ Sequential Write 1,507.02 MB/s ซึ่งถือว่าเร็วใช้ได้ สามารถเปิดโปรแกรมหรือเกมได้เร็ว แต่เนื่องจากมีช่องอัพเกรดบนเมนบอร์ดแค่ช่องเดียวถ้าจะอัพเกรดแนะนำให้ซื้อรุ่นความจุ 1TB เช่น WD Black SN750 SE, Samsung 980 ฯลฯ มาเปลี่ยนแล้วเอา SSD จากโรงงานตัวนี้ไปทำเป็น External SSD แล้วซื้อ External Harddisk แบบ Game Drive มาต่อเสริมแล้วติดตั้งเกมในไดรฟ์นั้นดีกว่า
การทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 ตัว DELL G15 Gaming Ryzen Edition สามารถทำคะแนน OpenGL ได้ 138.27 fps และได้คะแนน CPU อีก 2,143 cb และเมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R20 ก็ได้คะแนน CPU 4,937 pts กล่าวคือ ซีพียู AMD Ryzen 7 6800H เมื่อนำมาติดตั้งใน DELL G15 แล้ว ประสิทธิภาพของมันก็สูงขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งผลคะแนนระดับนี้ใช้ปั้น, เรนเดอร์และพรีวิวโมเดล 3D ให้ลูกค้าดูได้สบายๆ ดังนั้นนอกจากเกมเมอร์แล้ว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็เหมาะกับมันเช่นกัน
ผลดีต่อมาเมื่อซีพียูถูกอัพเกรดเป็น AMD Ryzen 7 6800H คือผลการทดสอบของ PCMark 10 สำหรับวัดประสิทธิภาพเวลาใช้ DELL G15 Gaming Ryzen Edition ทำงาน ได้ผลคะแนนเฉลี่ยได้สูง 7,000 คะแนน เมื่อดูคะแนนในแต่ละหมวดแล้วจะเห็นว่ามันสามารถทำงานได้ดีหมดไม่ว่าจะใช้ทำงานทั่วไปอย่างการประชุมงาน, เปิดเว็บไซต์, ทำงานเอกสารหรือแม้แต่ทำงานกราฟิคอย่างตัดต่อ Vlog, แต่งภาพหรือเรนเดอร์โมเดล 3D ก็ทำได้ยอดเยี่ยมทั้งหมด ประกอบกับคะแนนเฉลี่ยระดับนี้ ก็ทำให้ G15 Gaming Ryzen Edition เป็นหนึ่งในโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่ทำคะแนนทดสอบ PCMark 10 ได้สูงมาก
การทดสอบ 3DMark Time Spy ตัว DELL G15 Gaming Ryzen Edition ทำคะแนนเฉลี่ยได้ 6,271 คะแนน แยกเป็น CPU score 9,334 คะแนน และ Graphics score 5,928 คะแนน ซึ่งคะแนนโดยรวมต้องถือว่าสูงพร้อมใช้เล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันบนจอความละเอียด 1080p และปรับกราฟิคระดับ High แล้วยังได้เฟรมเรทเฉลี่ยเกิน 60 fps ขึ้นไปอย่างแน่นอน
ส่วนการทดสอบเล่นเกมฟอร์มยักษ์ยอดนิยมในปัจจุบันนี้ ผู้เขียนทดลองปรับกราฟิคทุกเกมไประดับสูงสุดที่มีให้ตั้งค่า ยกเว้น Call of Duty Modern Warfare II ที่ปรับกราฟิคเอาไว้ระดับ Ultra ซึ่งรองจากระดับสูงสุดลงมา 1 ขั้น จะเห็นว่า G15 Gaming Ryzen Edition สามารถรันทุกเกมได้ดี หลายๆ เกมทำได้เกิน 100 Fps แม้แต่ SCUM ปรับกราฟิคระดับ Epic ก็ยังเล่นได้และเฟรมเรทไม่พุ่งขึ้นลงวูบวาบเกินไป ทำให้ไม่เสียจังหวะในนาทีสำคัญอย่างการ Raid บ้านหรือปะทะกับผู้เล่นคนอื่นเลยแม้แต่น้อย
ด้านซอฟท์แวร์ปรับแต่งตัวเครื่องจะมีโปรแกรม My Dell เอาไว้เช็คสภาพสถานะและอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้ระบบภายในเครื่องและมี Alienware Command Center ที่โหลดเพิ่มจาก Microsoft Store มาติดตั้งเพื่อปรับแต่งและเร่งประสิทธิภาพการทำงานได้และผู้เขียนแนะนำให้โหลดมาติดตั้งด้วย เพราะมันช่วยรีดประสิทธิภาพโดยรวมทั้งเล่นเกมและทำงานได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 56Wh ใน DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นขนาดมาตรฐานซึ่งพบเห็นในโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งความจุนี้สามารถจ่ายไฟให้โน๊ตบุ๊คนี้ใช้งานต่อเนื่องได้นานหลายชั่วโมงอย่างแน่นอน
เมื่อทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยปรับโหมดตัวเครื่องเป็นแบบประหยัดพลังงาน, ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% และปรับความสว่างหน้าจอไว้ 50% เปิดเบราเซอร์ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาทีแล้ว โปรแกรม BatteryMon แจ้งว่า DELL G15 Gaming Ryzen Edition ใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 8 ชั่วโมง 13 นาที ซึ่งใช้งานได้นานกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น ณ ตอนนี้ซึ่งแบตเตอรี่ใช้งานได้นานราว 5~6 ชั่วโมงเท่านั้น และถ้ารุ่นไหนมีแบตเตอรี่ราว 75Wh ก็จะใช้งานได้ราว 7 ชั่วโมง 30 นาทีไม่เกินนี้ ดังนั้นถ้าใครซื้อ G15 Gaming Ryzen Edition ไปก็พกเครื่องไปประชุมหรือเข้าห้องเรียนได้สบายๆ
กลับกัน DELL G15 Gaming Ryzen Edition รุ่นซีพียูรหัส H ซึ่งใช้พลังงานแบตเตอรี่มากกว่าซีพียูรหัส U หรือ HS สามารถบริหารจัดการพลังงานในเครื่องได้นานเกินกว่าที่คาดเอาไว้ ก็ถือว่าระบบภายในเครื่องทำงานได้ดีมาก แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนแนะนำให้ติดตั้ง AMD Chipset Driver เสริมเข้าไปด้วย จะช่วยดึงประสิทธิภาพของซีพียู Ryzen ในเครื่องออกมาได้ดีขึ้น
ระบบระบายความร้อนของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นพัดลมโบลวเวอร์คู่ โดยดึงอากาศเย็นเข้าทางช่องขอบบนเหนือแป้นคีย์บอร์ดและด้านใต้เครื่องเพื่อระบายความร้อนและเป่าออกทางช่องด้านหลังและข้างเครื่องทั้งหมด 4 ช่อง แต่เราจะไม่เห็นชุดฮีตไปป์เพราะทางบริษัทติดมันเอาไว้อีกด้านถัดลงมาจากชุดคีย์บอร์ดที่วางมือนั่นเอง
ในส่วนนี้ผู้เขียนมั่นใจว่าหลายคนคงกังวลว่าถ้าติดชุดฮีตไปป์เอาไว้ใกล้กับผู้ใช้เช่นนั้นจะร้อนหรือมีปัญหาไหม ในส่วนนี้จากที่ผู้เขียนทดสอบเล่นเกมและทำงานโดยวางมือบนแป้นคีย์บอร์ดของ DELL G15 Gaming ต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง ตัวเครื่องก็แค่อุ่นๆ เท่านั้น ไม่ได้ร้อนจนวางมือไม่ได้เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในอดีตเลย และมีเสียงพัดลมโบลวเวอร์ความดังราว 58~61dB แทน ซึ่งถือว่าดังพอได้ยินว่าพัดลมกำลังทำงานอยู่
อุณหภูมิในเครื่องตอนรันโปรแกรม Benchmark แล้วเช็คด้วย CPUID HWMonitor แม้จะไม่เห็นว่าซีพียู AMD Ryzen 7 6800H ตัวชิปโดยตรงจะร้อนเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ดูจากการ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics แทนได้ว่าอุณหภูมิของซีพียูนั้นจะวิ่งอยู่ที่ 45~75 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าไม่ร้อนมาก ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการ Throttle Down ลดประสิทธิภาพตัวเองระหว่างใช้งานอยู่
User Experience
ประสบการณ์ใช้งาน DELL G15 Gaming Ryzen Edition ในฐานะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสำหรับใช้เล่นเกมและทำงานตัดต่อของครีเอเตอร์จัดว่าทรงพลัง ใช้ทำงานได้หลากหลายตั้งแต่ทำงานออฟฟิศทั่วไปจนกระทั่งงานกราฟิคตัดต่อวิดีโอหรือภาพนิ่งก็ไม่มีปัญหา ถ้าใครคิดจะซื้อเอาไว้ทำงานแล้วจะซื้อโน๊ตบุ๊คซีพียู AMD มาใช้จะดีไหม ในยุค AMD Ryzen เช่นนี้ผู้เขียนกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพของมันไล่เลี่ยกับ Intel Core Series ในราคาที่ถูกกว่าเสียด้วยซ้ำ
ด้านการเล่นเกม ยิ่งถ้าเกมไหนเน้นใช้พลังของซีพียู (CPU Intensive) ยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะกำลังของ Ryzen 7 6800H มีให้ใช้เหลือเฟือและยังรีดประสิทธิภาพของการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ได้ไหลลื่นไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย และพอมีแรมมาจากโรงงานอีก 16GB และเป็น DDR5 ก็รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว จากที่ลองใช้เล่นเกมฟอร์มใหญ่หลายๆ เกมในปัจจุบันนี้ ก็ได้เฟรมเรทสูงน่าประทับใจพอควร
หากจะพกพาไปไหนมาไหนและเอาไปใช้งานนอกสถานที่ ผู้เขียนแนะนำให้หากระเป๋าเป้ใบใหญ่สำหรับโน๊ตบุ๊ค 17.3 นิ้วมาเตรียมเอาไว้ เพราะขนาดเครื่องแม้จะอยู่ที่ 15.6 นิ้ว แต่ตอนทดลองใส่กระเป๋าขนาดดังกล่าว กลายเป็นว่าขอบและความหนาทำให้โน๊ตบุ๊ครั้งแนวซิปของกระเป๋าโดยปริยาย ทำให้ต้องย้ายจากช่องใส่โน๊ตบุ๊คมาใส่รวมกับช่องกลางที่เอาไว้ใส่อุปกรณ์เสริมแทน แต่เรื่องระยะเวลาใช้งานต้อง 8 ชั่วโมง 13 นาทีของ DELL G15 Gaming Ryzen Edition จัดว่านานดีไม่มีปัญหา หากพกไปประชุมหรือเข้าเรียนก็ไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะหมดเอาง่ายๆ แต่ถ้าวันนั้นไม่มั่นใจว่าจะต้องทำธุระนานไหม ก็แนะนำให้เตรียมอแดปเตอร์ใส่กระเป๋าไปเลยจะอุ่นใจที่สุด
อย่างไรก็ตาม จุดที่ผู้เขียนขอให้ทาง DELL ปรับปรุงเพื่อให้ Gaming Series ของทางบริษัทได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในอนาคต คือใช้หน้าจอพาเนล IPS คุณภาพสูงเกรดเดียวกันทั้งหมด ไม่ต้องปรับแต่งสเปคให้วุ่นวายมีจอ 120Hz แต่ขอบเขตสีปานกลางแค่พอใช้งานได้ นั่นเพราะปัจจุบันนี้ครีเอเตอร์หลายๆ คนหันมาใช้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมากขึ้น ถ้าทางบริษัทต้องการจับตลาดกลุ่มนี้ ต้องติดตั้งพาเนล IPS ขอบเขตสี 100% sRGB มาก่อนเป็นอันดับแรก
ถัดมาคือ ไม่กั๊กหัวอินเตอร์เฟส M.2 NVMe PCIe ช่องสำรองไว้ให้ตัวท็อปหรือรุ่นซีพียู Intel เท่านั้น ติดตั้งมันให้เป็นมาตรฐานสำหรับ G Series ทุกรุ่นไปเลย ให้ผู้ใช้ที่ต้องการอัพเกรดเพิ่มความจุ SSD ในเครื่องจะได้อัพเกรดได้อย่างสบายใจ และให้ดีผู้เขียนแนะนำว่าใส่ฟีเจอร์ LED Backlit มาคู่กันจะได้ช่วยให้เจ้าของเครื่องที่เลือกซื้อ G15 Gaming Ryzen Edition ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น
Conclusion & Award
DELL G15 Gaming Ryzen Edition เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นน่าสนใจซึ่งเอาใจทั้งกลุ่มคนทำงานด้วยสเปคที่รันโปรแกรมทั่วไปตั้งแต่งานเอกสารไปจนงานตัดต่อภาพหรือวิดีโอก็ได้สบายๆ และยังได้ Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้ใช้ ซึ่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่แถมโปรแกรมนี้มาให้ตั้งแต่เปิดเครื่อง ส่วนการเล่นเกมก็มีโปรแกรม Alienware Command Center เอาไว้รีดประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้ทำงานได้เต็มที่ แม้จะไม่ได้ติดตั้งมาให้ตั้งแต่แรกก็แนะนำให้โหลดมาติดตั้งไว้เลย ยิ่งถ้าใครหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ครบเครื่องแม้จะมีข้อสังเกตอยู่บ้างแต่ถ้ายอมรับมันได้ ก็ถือเป็นรุ่นที่น่าซื้อมาใช้งานอย่างแน่นอน
award
best battery life
เมื่ออัพเกรดซีพียูเป็น AMD Ryzen 7 6800H แล้วติดตั้ง AMD Chipset Driver เข้าไป G15 Gaming Ryzen Edition ก็จัดการพลังงานได้ดีมาก อยู่ได้นานถึง 8 ชั่วโมง ชนะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันที่แบตเตอรี่ใช้ได้เฉลี่ยเพียง 5~7 ชั่วโมงไปได้อย่างสวยงาม
best gaming
แม้จะเป็นการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แต่พอได้ Alienware Command Center ก็เร่งประสิทธิภาพตอนเล่นเกมได้ดีขึ้นมากและยังจัดการอุณหภูมิระบายความร้อนได้ดีมาก ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนรบกวนระหว่างใช้งานเลยแม้แต่น้อย