DELL G15 รุ่นใหม่หัวใจ Intel Alder Lake แรงดั่ง Alienware ย่อส่วน!
ถ้า Alienware เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คและพีซีระดับเรือธงของ DELL เทียบชั้นตัวแรงจากแบรนด์คู่แข่งแล้ว DELL G15 ก็ครองตำแหน่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคแรงราคาเป็นมิตร เข้าถึงง่ายได้กลิ่นอายดีไซน์ระดับยานอวกาศจากพี่ใหญ่ของทางค่ายอยู่ สิ่งยืนยันคือ โน๊ตบุ๊คนี้รองรับโปรแกรม Alienware Command Center ไว้รีดประสิทธิภาพให้แผลงฤทธิ์ได้เต็มที่ไม่มีอะไรมารบกวนตอนเล่นเกมหรือจะเน้นประหยัดพลังงานก็ได้ตามใจผู้ใช้และยังใช้ดึงประสิทธิภาพของเกมมิ่งเกียร์ Alienware ให้ทำงานได้สูงสุดอีกด้วย
ด้านฮาร์ดแวร์ก็ไม่แพ้กันทั้งงานประกอบที่แข็งแรงแน่นหนาตามสไตล์ DELL กับการเล่นสีสันตัวเครื่องเป็นเขียวลายพราง Digital Camoflage เท่ถูกใจและสวยได้ใจเกมเมอร์ สเปคของ DELL G15 ได้อัพเกรดเป็น Intel 12th Gen สถาปัตยกรรม Alder Lake จับคู่แรม 16GB DDR5 ตั้งแต่ออกจากโรงงานพร้อมออกแบบระบบระบายความร้อนใหม่ให้ระบายความร้อนดีขึ้น รีดประสิทธิภาพตัวเครื่องได้เต็มที่ และนอกจากมี Windows 11 Home ติดตั้งมาแล้วยังได้โปรแกรม Microsoft Office Home & Student 2021 มาพร้อมใช้ทำงานได้ทันที เรียกว่าได้ทั้งเกมมิ่งและเอาไปทำงานก็สะดวกไม่แพ้กัน
NBS Verdict
ถ้าประเมินแล้ว DELL G15 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเกมเมอร์อย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนทำงานหรือแม้แต่นักเรียนก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ เพราะสเปค Intel 12th Gen เมื่อจับคู่กับแรม 16GB DDR5 แล้ว ทำได้ตั้งแต่งานสายกราฟฟิค ตัดต่อคลิปและแต่งภาพหรือจะพกเข้าเลคเชอร์หรือประชุมที่กินเวลาหลายชั่วโมง โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็ยังจัดการพลังงานได้ดี ใช้งานได้โดยไม่ดับระหว่างประชุมอย่างแน่นอน และแม้ดีไซน์จะดูเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมากก็ตามแต่ยังคงความเรียบร้อยเอาไว้ระดับหนึ่งไม่เด่นจนเป็นเป้าสายตาเกินไป ได้ความแข็งแรงและการเล่นลวดลายบนตัวเครื่องซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนโน๊ตบุ๊คทั่วไปอย่างแน่นอน
ด้านซอฟท์แวร์ในตัวเครื่องก็ให้มาครบทั้ง Windows 11 Home และติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้จากโรงงาน สามารถเปิดเครื่องแล้วทำงานได้เลยเหมือนโน๊ตบุ๊คทั่วไป ไม่ต้องซื้อซอฟท์แวร์เพิ่มเติมให้เสียเงิน ซึ่งมีเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่จะได้ซอฟท์แวร์มาครบเครื่องระดับนี้ และยังรองรับการเชื่อมต่อหน้าจอแยกได้ถึง 2 ช่อง ทั้ง HDMI กับ USB-C ที่ต่อเป็น DisplayPort Alternate Mode ได้ด้วย ถ้าเอาไปทำงานที่ออฟฟิศก็ต่อสาย Thunderbolt เข้ากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ทำงานได้ทันที และถ้าไม่พอก็เพิ่มสาย HDMI ได้ รวมแล้ว DELL G15 สามารถต่อจอพร้อมกันได้ 3 จอ มีพื้นที่ทำงานเหลือเฟือแน่นอน
ด้านโปรแกรม Alienware Command Center ก็ Optimize ตัวเครื่องให้ทำงานได้ดีมากจนน่าประทับใจ ถ้าปรับเป็นโหมด Performance เพื่อทำงานกราฟฟิคหรือเล่นเกมก็ดึงประสิทธิภาพของ Intel Core i5-12500H กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 ออกมาได้เต็มที่ พอเปลี่ยนเป็นโหมดประหยัดพลังงานก็ใช้พลังงานน้อยมากจนใช้งานได้นานราว 8 ชั่วโมง เลยไม่ต้องกลัวว่าถ้าไปประชุมหรือเข้าคลาสเรียนหลายชั่วโมงแล้วเครื่องจะดับกลางทาง ไม่เกิดอาการโปรแกรมรวนหรือทำงานผิดพลาดจนต้องรีเซ็ตเครื่องแล้วเปลี่ยนโหมดเลย ยิ่งไปกว่านั้นระบบระบายความร้อนก็ถูกปรับแต่งให้ทำงานได้ดีขึ้น ถึงเปิดโหมด Performance แล้วเล่นเกมหรือทำงานหนักๆ ก็ไม่ร้อนจนรบกวนการใช้งานสักนิด
ถึงจะมีข้อดีมากเช่นนี้ แต่ข้อสังเกตของ DELL G15 สเปคเริ่มต้นก็ดูน่าเสียดาย อย่างแรกคือคีย์ลัดของตัวเครื่องมีเพียงปุ่ม G สำหรับสลับโหมดการทำงานไปมาเพียงปุ่มเดียว ไม่มีลูกเล่นใดๆ เพิ่มเติม เช่น ปุ่มเปิด Crosshair ค้างบนหน้าจอ หรือคีย์ลัด Windows Lock ป้องกันมือเผลอไปโดนปุ่มแล้วหน้าต่าง Start Menu เปิดขึ้นมารบกวนตอนเล่นเกมก็ไม่มี ซึ่งถ้าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแล้ว เพิ่มคีย์ลัดเหล่านี้มาสัก 1-2 ปุ่มก็น่าจะดีกว่านี้ และคีย์บอร์ดเป็นไฟ LED Backlit สีส้ม ในขณะที่รุ่นแพงกว่าจะเป็นไฟ 4-Zone RGB ทั้งที่บนเมนบอร์ดก็มีหัวต่อคีย์บอร์ด RGB ติดมาให้ ซึ่งแบรนด์คู่แข่งหลายๆ รุ่นก็ได้ไฟคีย์บอร์ดหลากสีสวยงามเช่นนี้แล้วทั้งที น่าจะเซ็ตเป็นดีไซน์พื้นฐานให้ DELL G15 ไปเลย
อีกจุดน่าสังเกตที่น่าเสียดาย คือ อินเตอร์เฟส M.2 PCIe บนเมนบอร์ดมีเพียง 1 ช่อง ทั้งที่ในตัวเครื่องก็เว้นพื้นที่เผื่อและมีแท่นรับ M.2 NVMe SSD ติดตั้งไว้ครบครัน ดังนั้นคนซื้อรุ่นนี้ไปถ้าจะเพิ่มความจุให้มากขึ้นก็ต้องถอดอันเก่าไปทำ External SSD ไม่สามารถใส่เป็น 2 ช่องพร้อมกันได้ ยกเว้นรุ่นบนที่มี M.2 PCIe ให้ 2 ช่อง ซึ่งเป็นการลดสเปคสร้างข้อแตกต่างระหว่างรุ่นเริ่มต้นและรุ่นบนที่ดูจะขัดขากันเองอยู่บ้าง ที่ตัวเริ่มต้นราคาเข้าถึงง่ายแต่ให้อินเตอร์เฟสมาจำกัด ส่วนตัวบนถึงสเปคดี อินเตอร์เฟสครบแต่ราคาก็สูงพอควร
ข้อดีของ DELL G15
- งานประกอบตัวเครื่องแน่นแข็งแรง ใช้สีเขียว Digital Camoflage สวยมีเอกลักษณ์
- ติดตั้งซีพียู Intel 12th Gen Alder Lake มาให้ ประสิทธิภาพดีพร้อมทำงานและเล่นเกม
- ได้แรม DDR5 ความจุ 16GB ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไม่ต้องอัพเกรดก็ได้
- มีพอร์ต HDMI กับ USB-C รองรับ DisplayPort ใช้ต่อหน้าจอแยกใช้งานได้ด้วย
- ซอฟท์แวร์ Alienware Command Center ทำ Optimization ตอนเล่นเกมได้ดีมาก
- แบตเตอรี่ 56Wh แต่จัดการพลังงานดี ใช้งานได้นานสุดถึง 8 ชั่วโมง ถือว่าน่าประทับใจ
- ลำโพงของตัวเครื่องฟังเพลงได้เสียงดี มิติเสียงตอนเล่นเกมแบ่งแยกทิศทางได้ชัดเจน
- ติดตั้ง Windows 11 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้
- จัดการอุณหภูมิและความร้อนตัวเครื่องได้ดี ไม่ร้อนเหมือนรุ่นก่อนหน้าแล้ว
ข้อสังเกตของ DELL G15
- รุ่นเริ่มต้นมีช่อง M.2 NVMe SSD เพียงช่องเดียว เพิ่มความจุได้ค่อนข้างจำกัด
- คีย์บอร์ดเป็นไฟสีส้มโทนเดียวไม่เป็น RGB ทั้งที่มีคอนเน็คเตอร์หัว 4-Zone RGB อยู่
- คีย์ลัดเซ็ตแบบคีย์บอร์ดสายทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีปุ่มลัดเน้นเกมมิ่งอย่างที่ควร
รีวิว DELL G15
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค DELL G15 ในตอนนี้จะมีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นแยกเป็นรุ่นเริ่มต้นและตัวแรงเพื่อเกมเมอร์ที่อยากได้สเปคจัดเต็ม โดยมีสเปคดังนี้
- CPU – แยกเป็น 2 รุ่น ได้แก่
- Intel Core i5-12500H แบบ 12 คอร์ (4P+8E) 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.5GHz
- Intel Core i7-12700H แบบ 14 คอร์ (6P+8E) 20 เธรด ความเร็ว 3.5-4.7GHz
- GPU – แยกเป็น 2 รุ่น ได้แก่
- NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6
- NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- RAM : 16GB DDR5 4800MHz
- Display : 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS, Refresh Rate 120Hz
- Ports : USB-C 3.2 x 1 รองรับ DisplayPort, USB-A 3.2 x 3, HDMI 2.1 x 1, RJ45 LAN x 1, Audio Combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
- Webcam : 720p HD Camera
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 2.67 กิโลกรัม
- ราคา – แยกตามรุ่นดังนี้
- DELL G15-W566311000M2CTH ราคา 36,900 บาท (Advice)
- DELL G15-W566311000M2CTH ราคา 55,900 บาท (Advice)
Hardware & Design
ในแง่การดีไซน์ตัวเครื่อง ถ้าผู้ใช้ที่ชื่นชอบหรือรู้จัก Alienware อยู่แล้ว มองก็จะรู้ทันทีว่า DELL G15 กับ Alienware m15 เป็นฝาแฝดกัน ซึ่ง DELL G15 ยกดีไซน์บอดี้ตัวเครื่องแบบท้ายยาวเลยหน้าจอและติดพอร์ตที่มักไม่ถอดออกบ่อยๆ เอาไว้ด้านหลังเหมือนกัน เจาะช่องระบายความร้อนจากพัดลมโบลวเวอร์คู่เอาไว้ตำแหน่งเดียวกันทว่า Alienware m15 จะเดินเส้นไฟ RGB ล้อมกรอบด้านหลังเอาไว้ให้เหมือนยานอวกาศ ทั้งสองเครื่องมีช่องลมเข้าด้านบนเหนือแป้นคีย์บอร์ดเหมือนกันแต่ฉลุช่องคนละแบบ ด้าน Alienware m15 จะเป็นลายรังผึ้งตลอดแนวและมีโลโก้หน้าเอเลี่ยนติดเอาไว้เป็นปุ่ม Power สำหรับเปิดปิดเครื่อง แต่ DELL G15 จะเป็นฉลุเส้นแนวเฉียงแทนและย้ายปุ่ม Power มารวมกับชุดปุ่มคีย์บอร์ดแทน
ส่วนแตกต่างของ DELL G15 จะเป็นการใช้สีสันของตัวเครื่อง เลือกได้ 3 สี คือ ขาว, ดำ หรือสีเขียวลายพราง Digital Camoflage ดูเท่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น ติดโลโก้ G สีส้มอยู่ 2 จุด คือขอบหลังสีดำของตัวเครื่องและที่พักข้อมือฝั่งซ้าย เป็นจุดแยกระหว่างโน๊ตบุ๊คทำงานกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คของ DELL ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายและโดดเด่นพอควร
ตัวคานหน้าจอจะเป็นเหล็กเส้นเดียวเดินยาวตลอดขอบล่างของหน้าจอและมีฐานรับติดไว้ในตัวเครื่อง 2 ฝั่ง ให้ความแข็งแรง กางได้กว้างราว 120 องศาเป็นมุมป้าน ปรับองศาให้เข้ากับองศาการมองเห็นของสายตาได้ง่ายทั้งแบบวางบนพื้นโต๊ะหรือจะบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ดูหน้าจอได้สะดวกทั้งคู่ แต่จะกางราบไม่ได้เนื่องจากติดขอบหลังของตัวเครื่อง
ฝาหลังตัวเครื่องถ้ามองเผินๆ จะเห็นสีฝาหลังตัวเครื่องสีเดียวกับบอดี้ตัวเครื่องและโลโก้ DELL วงกลมเส้นอลูมิเนียมเท่านั้น แต่ถ้าดูพื้นผิวตัวเครื่อง จะเห็นว่าจากฐานฝาหลังหน้าจอขึ้นมาเป็นทรงสามเหลี่ยมเหนือโลโก้ DELL จะเป็นผิวแบบเส้นตรงแนวตั้งและส่วนที่เหลือเป็นผิวเรียบ ได้ดีไซน์สวยแตกต่างและตัดกับบอดี้ตัวเครื่องด้านหลังสีดำด้วย
ด้านใต้ตัวเครื่องจะเห็นว่า DELL G15 มีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่สำหรับดึงลมเย็นเข้าเครื่องถึง 2 ช่องในส่วนครึ่งบน มีช่องระบายอากาศออกด้านข้างและหลังของตัวเครื่องอย่างละ 2 ช่องด้วยกัน ทำให้ตอนรีดประสิทธิภาพตัวเครื่องสูงสุด ความร้อนก็ไม่ส่งไปถึงมือของผู้ใช้อย่างแน่นอน เสริมยางด้านใต้เครื่องเอาไว้อีก 4 เส้นสั้น ทำให้บอดี้ด้านใต้เครื่องไม่รูดกับพื้นโต๊ะโดยตรง ช่วยป้องกันรอยขีดข่วนเสียหายได้มาก
Screen & Speaker
หน้าจอของ DELL G15 จะมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 120Hz เป็นหน้าจอแบบ ComfortView Plus ทำให้นั่งทำงานและเล่นเกมต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงและตาไม่ล้าง่าย จะเห็นว่ากรอบหน้าจอฝั่งซ้ายและขวาถูกดีไซน์ให้บางลงเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มพื้นที่การมองเห็นด้วย ส่วนขอบล่างมีโลโก้ของ DELL สลักเอาไว้ด้วย
ด้านขอบเขตสีที่วัดได้ด้วย Spyder5Elite แล้ว ได้ผลใกล้เคียงกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน ได้ผลคือ 61% sRGB, 46% AdobeRGB และ 45% DCI-P3 ถือว่าไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน และเทียบความเที่ยงตรงสีวัดเป็นค่า Delta-E ได้ 1.99 ซึ่งน้อยกว่า 2 ก็ถือว่าสีเที่ยงตรงระดับหนึ่ง ไม่ออกอาการสีจัดหรือเข้มเกินไปจนสีเพี้ยนมองผิดได้
ความสว่างหน้าจอเมื่อเปิดความสว่าง 100% จะสว่างสุด 205.7 nit ถือว่าสว่างเพียงพอใช้งานในห้องอาคารต่างๆ และพอสู้แสงแดดได้ระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ถึงระดับหน้าจอพาเนล OLED หรืออื่นๆ ที่สว่างกว่านี้ ซึ่งถ้านั่งทำงานร้านกาแฟหรือแสงสะท้อนเข้าหน้าจอก็อาจจะทำให้ภาพบนหน้าจอมืดไปบ้างเล็กน้อย และพอแยกวัดความสว่างเป็น 9 โซนบนหน้าจอ จะเห็นว่าจอของ G15 แถบบนของหน้าจอและริมซ้ายขวาส่วนกลางหน้าจอเป็นโซนความสว่างลดลงมากตั้งแต่ 9-16% ทีเดียว จะสว่างจริงคือตรงกลางและขอบล่างของหน้าจอเท่านั้น หากใครคิดซื้อเอาไปทำงานแต่งภาพทำสีหรือตัดต่อวิดีโอแนะนำให้ต่อหน้าจอแยกสำหรับงานอาร์ตโดยเฉพาะจะดีกว่า เช่น จอ UltraSharp Series จะทำให้แต่งและไกด์สีไม่เพี้ยนเกินไป ส่วนตัวผู้เขียนไม่แนะนำให้ทำงานอาร์ตบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้นัก
สุดท้ายคะแนนเฉลี่ยที่ Spyder5Elite วัดได้ จะเห็นว่าหน้าจอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้คะแนนเฉลี่ย 3.5 จาก 5 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยทั่วไปของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ จะเด่นสุดคือเรื่องค่า Contrast ซึ่งเต็ม 5 คะแนน ถัดลงมาเป็น Tone Response, Color Uniformiy, Color Accuracy ทำได้ 4 จาก 5 คะแนน ดังนั้นก็สรุปได้ว่าหน้าจอนี้เหมาะกับเป็นจอใช้งานทั่วไปทั้งทำงานเอกสาร, เล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลงก็ได้ แต่ถ้าทำงานอาร์ตควรต่อจอทำงานแยกเฉพาะไปเลยจะดีสุด
ลำโพงของ G15 จะเป็นลำโพง 2 วัตต์ x 2 ดอก แยกติดไว้สองฝั่งซ้ายขวา กำลังขับถือว่าดังดีพอใช้ดูหนังในห้องนอนได้สบายๆ และค่อนข้างดังทีเดียว เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดเสียงจะดังสุดราว 85~86 dB ด้วยกัน ส่วนโทนเสียงนับว่าทำได้ดี เนื้อเสียงหนักแน่นฟังเพลงได้หลากหลายแนวและเสียงเครื่องดนตรีกับนักร้องแยกกันชัดเจนไม่ทับไลน์ สเตจกว้างปานกลางและเน้นเบสชัดเจนแต่แรงปะทะน้อย รวมแล้วใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนวตั้งแต่ป็อป, ร็อค, เมทัลและ EDM ได้สบาย เพลงแจ๊สเท่าที่สังเกตมีอาการเสียงพร่าปลายเล็กน้อย
กลับกัน จุดเด่นของลำโพงเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้คือการแยกทิศทางได้ชัดเจน มีความดังหนักเบา ช่วยให้จับทิศทางศัตรูได้สะดวกในระดับ 2 แชนแนล ถือว่าเล่นเกมผ่านลำโพงได้ดีทีเดียว
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ G15 จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Full-size พร้อมปุ่มฟังก์ชั่นใช้งานหลักติดตั้งมาครบถ้วน ดีไซน์แบบปุ่มลูกศรตัดครึ่งปุ่มพร้อมซ้อนปุ่ม Page Up, Page Down เอาไว้เหนือลูกศรซ้ายขวาและมีปุ่ม Power อยู่มุมบนขวา Numpad ไม่แยกปุ่มออกไปเป็นพิเศษเหมือน Alienware m15 เมื่อตัดปุ่มเช่นนี้จะทำให้แป้นคีย์บอร์ดเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดี รุ่นเริ่มต้นมีไฟ LED Backlit สีส้มเลือกเปิดปิดได้ แต่ถ้าเป็นรุ่นสเปคสูงกว่านี้จะเป็นไฟ RGB ในตัว ซึ่งส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่าให้เป็น RGB เหมือนกันทั้งคู่จะดีกว่า
เมื่อดูปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ จะเห็นว่า DELL ติดตั้งฟังก์ชั่นสำหรับทำงานมาครบถ้วน แต่จะมีหลายปุ่มซ้อนเข้าไปกับชุดปุ่ม F1-F12 ไล่จาก F10~F12 อยู่ 3 ปุ่ม และถ้าสังเกตจะเห็นว่าเหนือปุ่ม Numpad จะมีปุ่มเรียกโปรแกรม Calculator ติดมาให้พร้อมคำสั่งแบบเครื่องคิดเลขอย่าง CE (Clear Entry) และเครื่องหมาย +/- อีกด้วย ถ้าใครต้องคำนวนตัวเลขกดสูตรกับไฟล์ Excel เป็นประจำ ต้องถือว่า Numpad นี้มีฟังก์ชั่นให้ครบทีเดียว
นอกจากนี้ ปุ่ม Grave Accent (~) จะเป็นแบบครึ่งเดียวเพื่อเบียดพื้นที่ให้ปุ่มอื่นเป็นปุ่มขนาดปกติหมด มีคำสั่ง Function Lock กดสลับเลเยอร์ระหว่าง F1-F12 กับ Function Hotkey ได้ โดยกด Fn+Esc เหมือนโน๊ตบุ๊คทำงานหลายๆ รุ่นในตอนนี้ และมีการทำลายล้อมกรอบเอาไว้ที่ปุ่ม WASD ซึ่งเกมเมอร์วางนิ้วเป็นประจำอีกด้วย
ส่วนของ Function Hotkey ที่ปุ่ม F1-F12 ของ DELL G15 เครื่องนี้ ถ้าสังเกตแล้วจะเห็นว่ามีแต่คีย์หลักเน้นทำงานทั่วไป อย่างมากคือมีปุ่ม G สำหรับสลับโหมดการทำงานติดมาอีกหนึ่งปุ่มเท่านั้น โดย DELL จัดการ Mapping คีย์ลัดมาดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – หยุดหรือเล่นเพลงหรือวิดีโอ
- F5 – ปรับไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
- F6-F7 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F8 – Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F9 – Game Shift สำหรับเร่งประสิทธิภาพตัวเครื่องตอนทำงานกราฟฟิคหรือเล่นเกม
- F10 – Print Screen
- F11 – Home
- F12 – End
จะเห็นว่าตั้งแต่ F10~F12 จะเป็นปุ่มฟังก์ชั่นใช้งานทั่วไป ซึ่งปกติเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหรือแม้แต่โน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ เครื่องจะเอามารวบไว้ด้วยกันเป็น 2 ฟังก์ชั่นในปุ่มเดียว เช่น Home รวมกับ End, Insert รวมกับ Delete เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะได้ปุ่ม F10-F11 เอาไว้ Mapping ปุ่มลัดน่าใช้อื่นๆ เพิ่มได้ ไม่ว่าจะ Windows Lock, เรียก Crosshair หรือจะใช้เป็นปุ่มเปิดปิด Webcam ก็ได้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้นผู้เขียนคิดว่าตรงชุดปุ่มเรียกคำสั่ง Calculator ไม่ได้จำเป็นต้องแยกออกมาเป็นปุ่มเฉพาะ (Dedicated button) ก็ได้ ถ้านำไปรวมไว้กับปุ่ม Enter ของ Numpad และเอา CE รวมกับ +/- ก็จะได้ปุ่มลัดคืนอีก 2 ปุ่ม ให้ใส่คำสั่ง Print Screen รวมกับคีย์ลัดเรียก Snipping Tool ได้อีกและมีปุ่มว่างเอาไว้ใช้อีกปุ่ม อาจจะใช้เซ็ตเป็น Windows Lock แทนก็ได้ ซึ่งการเซ็ตปุ่มจากโรงงานให้ DELL G15 เช่นนี้ ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าใช้ปุ่มสิ้นเปลืองไปและคาดหวังว่าโมเดลถัดไป ทางบริษัทจะเซ็ตปุ่มลัดเอื้อเกมเมอร์ยิ่งกว่านี้
ทัชแพดของ G15 จะเป็นทัชแพดขนาดเล็กและวางตัวไว้ตรงกลางของที่วางข้อมือ โดยริมซ้ายจะพอดีกับริม Spacebar และไปสุดที่ Alt ขวาพอดี มีขนาดกะทัดรัดกำลังดีและรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วน ตอบสนองได้เร็วอีกด้วย แต่ไม่สามารถกดล็อคทัชแพดได้ แต่โอกาสทัชแพดลั่นก็ไม่ถี่จนรบกวนการใช้งานนัก แต่ถ้าจะเล่นเกมจริงจังแนะนำให้ต่อคีย์บอร์ดแยกไปเลยดีกว่า
Connector / Thin & Weight
น้ำหนักของ DELL G15 เมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอล เฉพาะเครื่องหนัก 2.54 กิโลกรัม เมื่อรวมกับอแดปเตอร์น้ำหนัก 699 กรัมแล้ว จะมีน้ำหนักรวม 3.24 กิโลกรัมทีเดียว จัดว่าหนักในยุคที่โน๊ตบุ๊คเกมมิ่งหลายๆ รุ่นเริ่มลดน้ำหนักลงให้พกพาง่าย ซึ่งน้ำหนักเครื่องระดับนี้แนะนำให้ใช้กระเป๋าเป้เท่านั้น อย่าใช้กระเป๋าสะพายข้างเพื่อป้องกันน้ำหนักตกไหล่มากเกินไปแล้วไหล่ทรุดจนร่างกายบาดเจ็บเรื้อรังได้
พอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมจะติดตั้งเอาไว้รอบตัว 3 ด้านทั้งฝั่งซ้ายขวาและหลังเครื่องเหมือนกับ Alienware m15 และเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน โดยมีพอร์ตดังนี้
- ด้านซ้ายมือ – RJ45 LAN, Audio combo
- ด้านขวามือ – USB-A 3.2 x 2 ช่อง
- ด้านหลังเครื่อง – USB-C 3.2 x 1 รองรับการต่อจอแยก DisplayPort, USB-A 3.2 x 1, HDMI 2.1 x 1, ปลั๊กชาร์จโน๊ตบุ๊ค
ดูโดยรวมแล้ว ถือว่า DELL G15 มีพอร์ตหลักๆ สำหรับเกมมิ่งติดตั้งมาครบถ้วนพร้อมใช้งานแล้ว แต่ที่น่าเสียดายคือพื้นที่ตัวเครื่องมีเหลือเยอะมากและยังขาดพอร์ตอยู่บ้าง หากทาง DELL ย้าย RJ45 LAN ที่ต่อแล้วไม่ค่อยถอดออกแล้วเติม MicroSD Card Reader แทน จะได้รองรับกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นครีเอเตอร์ได้ทันที ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมมากนัก
Inside & Upgrade
การแกะอัพเกรดสเปคเครื่องสามารถแกะทำได้ง่าย โดยพลิกด้านใต้เครื่องขึ้นมาแล้วขันน็อต 6 ตัวออกได้เลย โดยน็อต 2 ตัวบนจะเป็นแบบขันออกได้จนสุด แต่อีก 4 ตัวจะเป็นแบบเกลียวมีปีกรองเอาไว้ เพียงแค่ขันน็อตออกจนหลวมก็ใช้การ์ดแข็งไขไล่กรอบรอบเครื่องเปิดฝาได้เลย ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้เริ่มจากริมฝั่งซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้แล้วไล่ไปขอบล่างของตัวเครื่องใต้ที่วางข้อมือก็สามารถเปิดฝาได้แล้ว
ส่วนแรกที่อัพเกรดได้เต็มที่ คือ RAM SO-DIMM ความจุ 16GB DDR5 บัส 4800MHz ซึ่งแกะอัพเกรดเพิ่มความจุได้ ซึ่งผู้เขียนคาดว่าอัพเกรดไป 32GB ได้ สันนิษฐานจากคำว่า “DDR5 8G 16G ONLY” บนเมนบอร์ดข้างช่องแรมนั่นเอง ซึ่งถ้าใครตัดต่อวิดีโอและแต่งภาพเป็นหลักก็อัพเกรดเพิ่มก็น่าจะทำงานได้ไหลลื่นแน่นอน
ด้านซ้ายเหนือแบตเตอรี่จะมี SSD อินเตอร์เฟส M.2 PCIe ความจุ 512GB ติดไว้บนเมนบอร์ด 1 ตัวเป็นไดรฟ์หลักของตัวเครื่องและสังเกตว่าฝั่งซ้ายของ SSD ด้านซ้ายมือจะมีก้านเหล็กเอาไว้ขันน็อตล็อค SSD ด้วย สามารถใส่ M.2 2242, M.2 2280 ได้ ดังนั้นใครจะใส่ไดรฟ์ยาวหรือสั้นก็เลือกได้ตามสะดวก
ถ้าสังเกตด้านขวาจะเห็นว่ามีก้านเหล็กสำหรับยึด M.2 NVMe SSD อยู่ด้วย แต่ไม่มีอินเตอร์เฟส PCIe ติดตั้งมาให้ จัดว่าน่าเสียดายเป็นอย่างมากทั้งที่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในตลาดแทบทุกรุ่นจะใส่ M.2 NVMe x 2 ช่องได้ หรือเป็น M.2 NVMe กับ 2.5″ SATA III SSD อย่างละช่องได้แล้ว แต่ DELL G15 รุ่นเริ่มต้นไม่มีให้ใช้และมีเฉพาะตัวบนเท่านั้น จัดว่าเป็นการกั๊กสเป็คที่ไม่ควรทำแล้วในปี 2022 นี้ ให้ดีก็ควรใส่มาทั้ง 2 ช่องเลยจะดีกว่า
ส่วนจุดน่าสังเกตคือ ที่ขอบเมนบอร์ดเหนือแบตเตอรี่จะมีคอนเน็คเตอร์หนึ่งว่างอยู่ไม่ได้ใช้งาน เขียนว่า KB 4 Zone สันนิษฐานได้ว่าเป็นหัวเชื่อมต่อคีย์บอร์ดแบบ 4-Zone RGB คาดว่าทาง DELL ทำเมนบอร์ดออกมาแบบเดียวแล้วใช้ร่วมกันทั้งรุ่นเริ่มต้นและรุ่นราคาแพงแล้วตัดบางฟีเจอร์ออกเพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะให้คีย์บอร์ด 4-Zone RGB และอินเตอร์เฟส M.2 PCIe x 2 ช่อง ทุกรุ่นจะดีกว่าแล้วผู้ใช้งานก็ได้ประโยชน์ด้วย
Performance & Software
สเปคตัวเครื่องของ DELL G15 เครื่องนี้ได้รับการอัพเกรดซีพียูกับแรมให้เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดแล้ว โดยติดตั้ง Intel Core i5-12500H แบบ 12 คอร์ (4P+8E) 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.5GHz สถาปัตยกรรม Alder Lake มีค่า TDP 45 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งสำหรับใช้งานครบถ้วนพร้อมทำงานและเล่นเกมได้เป็นอย่างดี มีแรม 16GB DDR5 บัส 4800MHz เป็นแรมแบบ SO-DIMM ทั้งสองช่อง สามารถถอดอัพเกรดเพิ่มความจุได้สะดวก
การ์ดจอนอกจาก Intel Iris Xe Graphics ที่เป็นออนบอร์ดติดกับซีพียูก็จะมี NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6 สำหรับเรนเดอร์งานกราฟฟิคและเล่นเกมที่กินทรัพยากรหนักๆ ได้ดี รองรับชุดคำสั่งครบ ทั้ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan, CUDA, Ray Tracing, PhysX ครบ ใช้เรนเดอร์โมเดล 3D CG ได้สบายๆ
เมื่อเช็คชิ้นส่วนในเครื่องด้วย Device Manager แล้ว จะเห็นว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ติดตั้งการ์ด Wi-Fi PCIe รุ่น Intel AX201 ซึ่งรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 มาให้ในตัวพร้อมชิป TPM 2.0 ที่ Windows 11 ต้องใช้รันระบบรักษาความปลอดภัยในเครื่อง ถือว่ามีให้ครบไม่แพ้โน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ อย่างแน่นอน
ด้าน M.2 NVMe SSD ติดเครื่องจะเป็น Samsung PM991a ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 จากหน้าสเปคจะเคลมความเร็ว Sequential Read 3,100MB/s และ Sequential Write 1,800MB/s พอทดสอบด้วย CrystalDiskMark ก็ได้ Sequential Read 3,155MB/s กับ Sequential Write 1,481MB/s ถือว่าใกล้เคียงกับที่ผู้ผลิตเคลมสเปคไว้หน้าเว็บไซต์เลย
แต่ข้อสังเกตควรระวังของ Samsung PM991a ที่ผู้เขียนพบเจอด้วยตัวเอง คือ ถ้าใส่ไฟล์หรือลงเกมเอาไว้ในเครื่องเยอะๆ จนเหลือพื้นที่เฉลี่ยใน SSD ต่ำกว่า 30% เมื่อไหร่ ความเร็ว Read/Write ของไดรฟ์นี้จะลดลงอย่างมากจนแทบไม่ต่างจากฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ถ้าให้ดีแนะนำว่าควรบริหารพื้นที่ในไดรฟ์ให้เหมาะสมหรืออัพเกรดไปเป็น M.2 NVMe SSD ตัวอื่นอย่าง WD Black SN750, Transcend 220S, Kingston KC2500 ที่คอนโทรเลอร์ทำงานได้ดีเสมอต้นเสมอปลายไปเลยจะดีกว่า แต่ถ้าเน้นทำงานอย่างเดียวอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้
ตั้งแต่การทดสอบการทดสอบเรนเดอร์ 3D CG หรือโมเดลสามมิติต่างๆ ด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH เป็นต้นไป ผู้เขียนได้เปลี่ยนโหมดของตัวเครื่องด้วย Alienware Command Center ให้เป็นโหมด Performance เพื่อดึงประสิทธิภาพสูงสุดของ DELL G15 ออกมาจะเห็นว่าฝั่งของ CINEBENCH R15 จะได้คะแนน OpenGL สูงถึง 179.82 fps และคะแนนซีพียู 2250 cb จัดว่าสูงมากอย่างไม่มีข้อกังขา และพอทดสอบด้วย CINEBENCH R20 ที่เน้นกำลังการเรนเดอร์โมเดลและงาน 3D ก็ได้คะแนนสูงถึง 5,379 pts ซึ่งถ้าครีเอเตอร์เอาไปทำงานหนักๆ ก็ทำได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน
ผลการทดสอบเล่นเกมฟอร์มยักษ์ด้วย 3DMark Time Spy จะได้คะแนนเฉลี่ย 5,560 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้ก็เล่นได้ทุกเกมในปัจจุบันนี้เลย และถ้าสังเกตคะแนนของ CPU, Graphics แล้ว จะเห็นว่า CPU score สูงมากถึง 10,953 คะแนน และ Graphics score ทำได้ 5,116 คะแนน กรณีเช่นนี้กล่าวได้เต็มปากว่า Intel Core i5-12500H มีพลังการประมวลผลสูงจนรีดประสิทธิภาพของ NVIDIA GeForce RTX 3050 ออกมาได้อย่างหมดจด
ในแง่การทำงาน DELL G15 เครื่องนี้ก็ทำได้สมบูรณ์แบบไม่แพ้กัน ด้านคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ส่วนอยู่ที่ 6,579 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงกว่าโน๊ตบุ๊คสายทำงานและเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ เครื่องที่ได้ทดสอบมา ซึ่งถ้าผู้ใช้จะซื้อ DELL เครื่องนี้ไปทำงานออฟฟิศทั่วไป เปิดไฟล์ Word, Excel หรือประชุมออนไลน์, ทำงานกับโปรแกรมประเภท Web app อย่างๆ เรียกว่าแรงหายห่วง รวมถึงใช้ตัดต่อวิดีโอ Vlog หรือแต่งภาพก็ทำได้สบายๆ เพราะหมวด Digital Content Creator เองก็ทำคะแนนได้ดีมากไม่ดึงคะแนนเฉลี่ยลงเลยแม้แต่น้อย
ในเมื่อเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ก็ต้องนำ DELL G15 เครื่องนี้มาทดสอบเล่นเกมฟอร์มยักษ์ที่นิยมในปัจจุบันนี้ด้วย โดยผู้เขียนตั้งค่าตัวเครื่องใน Alienware Command Center ให้อยู่ในโหมด Performance แล้วปรับกราฟฟิคในเกมระดับสูงสุดทุกเกมก่อนเริ่มการทดสอบ
ผลที่ได้คือ DELL G15 เครื่องนี้ถึงจะเป็นสเปคเริ่มต้นอย่าง Intel Core i5-12500H, NVIDIA GeForce RTX 3050 และแรม 16GB DDR5 บัส 4800MHz เป็นสเปคพื้นๆ ไม่ค่อยต่างกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนัก แต่ก็เล่นเกมได้ไหลลื่นเกินตัวมาก อาจจะพูดได้ว่าทาง DELL จัดการ Optimize เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มาได้ดีจนดึงศักยภาพของ GeForce RTX 3050 ออกมาได้เต็มที่ เพราะตอนเล่นเกมเพื่อทดสอบถึงปรับสุดหมดก็ไม่เจออาการหน่วงเสี้ยววินาทีแม้แต่ครั้งเดียว และได้เฟรมเรทเฉลี่ยช่วง 50-60 fps ตลอด โดยเฉพาะ Resident Evil Village ถึงปรับสุดจนหมดไม่เกิดอาการเฟรมเรทตก ภาพกระตุกหรือปัญหาที่ทำให้เล่นเกมไม่สนุกเลยแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นผู้เขียนเองก็กล่าวได้ว่าหน้าสเปคถึงจะจัดมาเป็นตัวเริ่มต้นก็ตาม แต่ตอนใช้งานจริงกลับผิดกันมากเลยทีเดียว
จุดที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นตัวแปรสำคัญ คือโปรแกรม Alienware Command Center และการ Optimize ตัวเครื่องจากทาง DELL นั้นทำได้สมบูรณ์แบบ รีดประสิทธิภาพตัวเครื่องออกมาได้หมดจดในโหมด Performance และจัดการพลังงานได้ดีเยี่ยมในโหมด Battery Saver ช่วยให้ DELL G15 รุ่นเริ่มต้นตัวนี้ทรงพลังเทียบชั้นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่นได้อย่างสมศักดิ์ศรีทีเดียว
โปรแกรม Alienware Command Center เรียกว่าเป็นโปรแกรมเฉพาะของ Alienware กับ DELL Gaming โดยเฉพาะ นอกจากจะใช้มอนิเตอร์ตัวเครื่อง, เลือกเกมที่เล่นประจำให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ดึงประสิทธิภาพออกมาสูงสุด ซึ่งโปรแกรมนี้เรียกว่า Optimize ตัวเครื่องได้ดีมากจนไม่แพ้กับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงรุ่นอื่นเลย
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ DELL G15 จะมีความจุเพียง 56Wh และเป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ถือว่ามีขนาดไม่ใหญ่มากและไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับกลางๆ หลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ ซึ่งสามารถใช้งานต่อนเนื่องได้นานระดับหนึ่งอย่างแน่นอน
ด้านการทดสอบด้วย BatteryMon และตั้งค่าตัวเครื่องเพื่อทดสอบตามมาตรฐานเว็บไซต์ คือ เปลี่ยนโหมดเครื่องเป็น Battery Saver, ลดความสว่างหน้าจอต่ำสุดและปรับความดังของลำโพงเพียง 10% ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดทิ้งไป ใช้ Microsoft Edge เปิดดูคลิป YouTube ต่อเนื่อง 30 นาที ได้ผลว่า DELL G15 เครื่องนี้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 8 ชั่วโมงกับ 17 นาที ถือว่ามากกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นที่ทดสอบแล้วจะอยู่ราว 6 ชั่วโมง 30 นาทีหรือ 7 ชั่วโมงอยู่หลายรุ่นด้วยกัน จัดว่าระบบการจัดการพลังงานในเครื่องนั้นน่าประทับใจดี
และข้อสังเกตหนึ่งของผู้เขียน คือ ต่อให้ปรับความสว่างหน้าจอต่ำสุดแล้วก็ตาม แต่หน้าจอของ DELL ก็ไม่ได้มืดจนมองอะไรไม่เห็นหรืออาจจะปรับให้สว่างขึ้นสัก 10% ก็ได้ ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าถ้าสว่างระดับนี้ก็น่าจะใช้โน๊ตบุ๊คนี้ทำงานได้นานขึ้น อาจจะได้อยู่ได้ราว 9-10 ชั่วโมงได้เลย
ชุดฮีตไปป์และพัดลมระบายความร้อน ถูกออกแบบให้พัดลมโบลวเวอร์เป่าลมร้อนออกด้านข้างและด้านหลังเครื่องทั้งสองตัวและซ่อนฮีตไปป์เอาไว้อีกด้านอยู่ใต้แป้นคีย์บอร์ดแทน ทำให้พื้นที่เหนือชุดแรมและระหว่างพัดลมโบลวเวอร์ทั้งสองตัวไม่มีฮีตไปป์ติดอยู่เลย
เมื่อรันโปรแกรมกินทรัพยากรเครื่องแล้วเช็คด้วย CPUID HWMonitor เพื่อดูอุณหภูมิในเครื่อง จะเห็นว่าตัวเครื่องมีอุณหภูมิที่ 44~94 องศา เฉลี่ยที่ 84 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายๆ คนอาจจะกังวลเรื่องอุณหภูมิว่าถ้าสูงขนาดนี้จะร้อนแล้วระอุขึ้นมือหรือไม่ ในส่วนนี้ตอนผู้เขียนทดลองใช้ทำงานทั่วๆ ไปและเล่นเกมแบบใช้แป้นคีย์บอร์ดด้วยก็ไม่เจอปัญหาว่าความร้อนระอุขึ้นมือมาเลย อย่างมากแค่อุ่นขึ้นมานิดหน่อย ไม่ได้ร้อนจนไม่สามารถวางมือบนเครื่องได้เหมือนรุ่นก่อนหน้านี้เลย ต้องถือว่าทาง DELL ทำการบ้านกับระบบระบายความร้อนและอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดีมาก
User Experience
หากมองข้ามเรื่องการอัพเกรดเพิ่ม M.2 NVMe SSD และไฟคีย์บอร์ดสีส้มสีเดียวในรุ่นเริ่มต้นไป ต้องถือว่า DELL G15 เป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่หน้าตาโฉบเฉี่ยวผสมความสวยเรียบร้อยในเครื่องเดียว ไม่ได้ออกเกมมิ่งเกินไปและไม่เรียบจนเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานนัก ถ้าจะซื้อไปเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานพกเข้าออฟฟิศก็ไม่มีปัญหา กลับบ้านมาก็เล่นเกมฟอร์มยักษ์ที่ต้องการได้เลย เรียกว่าครบเครื่องมาก ตอบโจทย์ตั้งแต่คนทำงานออฟฟิศหรือ YouTuber ที่หาโน๊ตบุ๊คทำงานออฟฟิศและตัดต่อวิดีโอได้ในเครื่องเดียว กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีงบประมาณระดับหนึ่งที่ไม่อยากจ่ายเงินเยอะแล้วหาโน๊ตบุ๊คเครื่องเดียวใช้เรียนและเล่นได้ทั้งคู่ก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เช่นกัน
ด้านการเล่นเกม จากที่ได้กล่าวไปในส่วนผลทดสอบ Benchmark ก่อนหน้านี้แล้ว ผู้เขียนกล้าพูดได้เต็มปากกว่าระบบการ Optimization ของ Alienware Command Center ใน DELL G15 เครื่องนี้ ทำได้ดีและสมบูรณ์กว่าโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นที่ได้ทดสอบมาก่อนหน้านี้มาก เพราะกดสลับโปรไฟล์ไปมาระหว่างใช้งานได้ทันทีไม่รวนกลางระหว่างใช้งานเลย กล่าวคือ ผู้เขียนทดลองสลับโปรไฟล์ Performance ตอนเล่นเกมมา Battery Saver เพื่อประหยัดพลังงานในทันทีตอนทำงาน เครื่องก็มีเสียงพัดลมระบายความร้อนอยู่ครู่หนึ่งเพื่อระบายความร้อนในซีพียูและการ์ดจอจนเข้าสู่จุดที่เหมาะสมแล้วก็เงียบลงและใช้งานได้นานขึ้นทันที ถือว่าปรับโหมดการทำงานได้รวดเร็วไม่มีปัญหา
ตอนเล่นเกม ในครั้งแรกผู้เขียนตั้งธงเอาไว้ในใจว่าเมื่อการ์ดจอเป็น NVIDIA GeForce RTX 3050 แล้ว ก็คงจะได้ประสิทธิภาพประมาณหนึ่งเท่านั้น คือเปิดกราฟฟิคระดับสูงได้แต่พอเปลี่ยนไปใช้โหมด Performance ของ DELL G15 ก็ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะทางบริษัท Optimize ตัวเครื่องได้ดี ไม่เกิดอาการลื่นและได้เฟรมเรทสูง ไม่เกิดอาการหน่วงและร้อนตอนเล่นเกมเลย ดังนั้นถ้าเอาไปทำงานกราฟฟิคก็คาดหวังว่าเครื่องนี้ก็สามารถทำงานได้ลื่นไหลไม่แพ้กันแน่นอน
Conclusion & Award
DELL G15 ถือเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คน่าใช้อีกรุ่น แม้จะอัพเกรดไม่ได้มากทว่าสเปคและโปรแกรม Alienware Command Center กลับ Optimize ตัวเครื่องได้ดี รีดประสิทธิภาพได้ดีมากจนไม่นึกว่าเครื่องนี้เป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นของสาย DELL Gaming เลย และยังได้บอดี้ดีไซน์แชร์ร่วมกับตระกูล Alienware m15 อีกด้วย ถือว่าได้ความเท่ผสมผสานมาในตัวแบบครบเครื่องแล้ว
ในแง่กลุ่มผู้ใช้ที่เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ถือว่ารองรับได้กว้างหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนทำงานออฟฟิศและนักเรียนนักศึกษาที่หาซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องเดียวจบ ทำงานตั้งแต่เอกสารไปจนตัดคลิปแต่งภาพก็ได้และมีซอฟท์แวร์อย่าง Microsoft Office Home & Student 2021 ติดตั้งมาในตัว ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เปิดเครื่องทำงานได้เลย หรือแม้แต่ YouTuber มือใหม่จะทำคลิปหรือไลฟ์สตรีมเล่นเกมด้วยโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เครื่องเดียว DELL G15 เครื่องนี้ก็ดีไม่แพ้แบรนด์คู่แข่งอย่างแน่นอน เหลือแค่เติมอุปกรณ์เสริมไม่ว่าจะเกมมิ่งเกียร์, External HDD และกระเป๋าเป้ดีๆ สักใบเอาไว้พกเครื่องไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น เท่านี้ก็เหลือเฟือแล้ว
award
best performance
รางวัล Best Performance ต้องยกให้กับสเปคเครื่องที่ได้ Intel 12th Gen Alder Lake กับแรม 16GB DDR5 ที่จบจากโรงงานกับ Alienware Command Center ที่ Optimize เปลี่ยนโหมดเครื่องไปมาระหว่าง Performance และ Battery Saver ได้ดี รีดประสิทธิภาพเครื่องได้หมดจด
best gaming
การจับคู่ Intel 12th Gen, RAM 16GB DDR5 กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 ทำให้รีดประสิทธิภาพของ NVIDIA GeForce RTX 3050 ออกมาได้เต็มที่ เล่นเกมฟอร์มยักษ์ได้ดีและเฟรมเรทไม่ตกเลย ก็สมควรกับรางวัล Best Gaming อย่างไม่ต้องสงสัย