MSI GF63 Thin หน้าตาเรียบร้อย แต่แรงไม่น้อยเลยนะ!
ถ้าพูดคำว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขึ้นมาสักครั้ง ผู้เขียนมั่นใจว่าแทบทุกคนจะเห็นโน๊ตบุ๊คเครื่องหนาและหนักและดีไซน์อลังการ ไม่ได้ดูมินิมอลเหมือน MSI GF63 Thin ที่แม้ดีไซน์จะมีความเกมมิ่งอยู่ทั้งตัวเครื่องสีดำและคีย์บอร์ดไฟสีแดง แต่นอกจากนั้นกลับดูเรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊คสายทำงานแบบประสิทธิภาพสูงเครื่องนี้อย่างแน่นอน ซึ่งทางบริษัทเองก็เสริมฟีเจอร์เอื้อการทำงานและเล่นเกมมาให้ครบเครื่อง พร้อมเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันได้สบายๆ
ฟีเจอร์เด่นที่เอื้อการเล่นเกม ได้แก่ Resizable BAR ซึ่งช่วยให้การประมวลและโหลด Texture ตอนเล่นเกมทำได้รวดเร็วกว่าเดิมราว 5~10% และยังรองรับการเปิด Ray Tracing, NVIDIA DLSS ช่วยเร่งเฟรมเรทตอนเล่นเกมให้มากขึ้น แม้จะรันการทำงานเต็มที่ก็ไม่ร้อน เพราะมีฟีเจอร์ Dynamic Boost 2.0 ที่ช่วยจัดการอุณหภูมิและเสียงของระบบระบายความร้อนในเครื่องให้เบาลงและเย็นขึ้นกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คของบริษัทคู่แข่งถึง 10% ทีเดียว
และข้อดีอีกอย่างเมื่อทางบริษัทเติมคำว่า “Thin” เข้ามาให้ในชื่อ ก็หมายถึงน้ำหนักและบอดี้ตัวเครื่องที่ถูกออกแบบให้บางเบาพกพาสะดวก โดย GF63 Thin มีน้ำหนัก 1.86 กิโลกรัมและบางเพียง 21.7 มิลลิเมตร จะพกไปไหนมาไหนก็ไม่หนักมาก มีพอร์ตให้ใช้งานครบถ้วนและระบบเสียงยังได้ทาง nahimic มาช่วยจูนเสียงลำโพงและหูฟัง ทำให้เวลาดูคอนเทนต์หรือเล่นเกมก็ได้ประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
NBS Verdicts
ผู้เขียนมั่นใจว่าผู้ใช้หลายๆ คน ก็อยากได้โน๊ตบุ๊คที่ประสิทธิภาพสูง รันงานต่างๆ ได้ไหลลื่น ไม่ว่าจะงานออฟฟิศหรือยาวไปจนงานกราฟฟิคและตัดต่อวิดีโอก็ตาม เจ้า MSI GF63 Thin เครื่องนี้ก็เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่นที่สเปคแรงพอรันงานเหล่านั้นได้ไหลลื่น เร็วทันใจผู้ใช้หลายๆ คนและตัวเครื่องก็ไม่หนักเกินไป พกใส่กระเป๋าไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากและรันงานหนัก เช่น ตัดต่อแต่งภาพหรือเปิดไฟล์ Excel ขนาดใหญ่ได้ลื่นไหลกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาที่เน้นพกพาอย่างแน่นอน
ด้านดีไซน์ของตัวเครื่อง ก็ถือว่ามันเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ดีไซน์ไม่อลังการเกินไปจนโดดเด่นเป็นเป้าสายตานัก ซึ่งจุดที่บ่งบอกความเป็นเกมมิ่งของ GF63 Thin ก็มีเพียงแค่โลโก้มังกรด้านหลังเครื่อง, คีย์บอร์ดสีแดงและขอบมุมตัวเครื่องที่ไม่ได้สมมาตรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งหมด แต่ถูกตัดเฉียงเล็กน้อยและยังมีรายละเอียดของดีไซน์แบบเกมมิ่งที่ทางบริษัทซ่อนเอาไว้ ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานประสิทธิภาพสูงเครื่องหนึ่งเท่านั้น
ทว่าจุดสังเกตที่ผู้เขียนพบเมื่อทดลองใช้งาน คือ ภายในเครื่องมีช่องอัพเกรด SSD เป็น M.2 NVMe SSD กับ 2.5″ SATA III SSD อย่างละช่อง ส่วนของ Function Hotkey บนปุ่ม F1-F12 มีให้ใช้งานเพียงไม่กี่ปุ่มเท่านั้น เพราะทาง MSI เลือกกระจายคีย์ลัดไปติดตั้งไว้ตามปุ่มต่างๆ บนคีย์บอร์ดแทน ทั้งที่ทาง MSI จะใส่คีย์ลัดเกมมิ่ง อย่างคำสั่งเรียก Crosshair, Windows Lock ฯลฯ เสริมเข้ามาเลยก็ได้ ซึ่งสะดวกกว่าการกดปุ่ม G แล้วเข้าไปตั้งค่าในซอฟท์แวร์ตั้งค่าของ MSI หลายเท่า ดังนั้นถ้า MSI จะกระจายคีย์ลัดไปยังปุ่มอื่นบนคีย์บอร์ดก็เอาฟีเจอร์สำหรับการเล่นเกมมาเซ็ตอัพไว้ให้แทนจะมีประโยชน์ต่อเกมเมอร์มากกว่าอย่างแน่นอน
ข้อดีของ MSI GF63 Thin
- งานดีไซน์ตัวเครื่องเรียบร้อยไม่หวือหวา ดูเรียบร้อยและงานประกอบแข็งแรง
- สเปคต่อราคาจัดว่าคุ้มค่าและไม่แพงเกิน ใช้ทำงานและเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันได้ดี
- ติดตั้งซีพียู Intel 11th Gen ยังใช้รันงานหนักและเล่นเกมในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน
- อัพเกรดแรมได้ 64GB หากต้องการรันโปรแกรมหรือเกมที่กินทรัพยากรเครื่องมากๆ ก็ทำได้
- มีพอร์ต 2.5″ SATA III ติดตั้งมาให้ใส่ HDD/SSD เพื่อเพิ่มพื้นที่ในเครื่องได้
- หน้าจอรองรับ Dynamic Refresh Rate ปรับการแสดงผลหน้าจอได้เพื่อประหยัดพลังงาน รองรับขอบเขตสีกว้าง
- น้ำหนักตัวเครื่องเพียง 1.86 กิโลกรัม มีน้ำหนักเบาและพกพาได้สะดวก
- ระบบระบายความร้อนภายในเครื่องจัดการอุณหภูมิได้ดีและเสียงไม่ดังเกินไป
- มีพอร์ตที่ต้องใช้ค่อนข้างครบถ้วนทั้ง USB-A 3.2, USB-C 3.2, HDMI, LAN
ข้อสังเกตของ MSI GF63 Thin
- มี M.2 NVMe SSD กับ 2.5″ SATA III ไม่ใช่ M.2 NVMe x 2 ช่อง
- มีคีย์ลัดที่ F1-F12 มีเพียงไม่กี่ปุ่ม แต่ก็ไม่ได้เสริมฟีเจอร์เกมมิ่งเข้ามาให้
รีวิว MSI GF63 Thin
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
MSI GF63 Thin เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวเครื่องบางเบาแต่สเปคจัดว่าดีพอใช้ทำงานและเล่นเกมฟอร์มใหญ่ได้ดี ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้ที่อยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเพราะประสิทธิภาพดีแล้วดีไซน์เครื่องก็เรียบร้อยไม่หวือหวา ซึ่งสเปคโดยละเอียดมีดังนี้
สเปคของ MSI GF63 Thin
- CPU : Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.7-4.5GHz
- GPU : NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- RAM : 16GB DDR4 บัส 3200 MHz
- Display : 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144Hz
- Ports : USB-A 3.2 Gen 2 x 3, USB-C 3.2 Gen 2 x 1, HDMI x 1, LAN x 1, Audio Combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
- Webcam : 720p HD Camera
- Software : Windows 11 Home
- Weight : 1.86 กิโลกรัม
- Price : 31,990 บาท (ราคากลาง)
ด้านสเปคของ MSI GF63 Thin นอกจากรุ่นที่นำมารีวิว จะมีรุ่นทางเลือกอีก 2 รุ่นด้วยกัน ได้แก่
- MSI GF63 Thin 11UC-869TH สเปค Intel Core i5-11400H, NVIDIA GeForce RTX 3050, RAM 8GB DDR4 บัส 3200MHz, M.2 NVMe SSD 512GB ติดตั้ง Windows 11 Home มาให้, หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ราคา 26,900 บาท
- MSI GF63 Thin 11UD-1031TH สเปค Intel Core i7-11800H, NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti, RAM 8GB DDR4 บัส 3200MHz, M.2 NVMe SSD 512GB ติดตั้ง Windows 11 Home มาให้, หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ราคา 29,990 บาท
Hardware & Design
ดีไซน์ของ GF63 Thin แม้จะเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค แต่เมื่อมองในมุมหน้าตรงจะเห็นว่าทาง MSI ออกแบบให้ตัวเครื่องดูเรียบง่าย ดีไซน์ไม่ค่อยหวือหวาเหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นที่มีเหลี่ยมสันและช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของตัวเครื่อง แต่ทางบริษัทก็ยังซ่อนดีไซน์เกมมิ่งไว้กับองค์ประกอบต่างๆ เช่น ทรงของปุ่ม Power บ้าง หรือจะไฟคีย์บอร์ดสีแดงปรับความสว่างได้ เป็นต้น
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าขอบตัวเครื่องนั้นไม่ได้เป็นทรงสี่เหลี่ยมเสียทีเดียว แต่ถูกตัดเฉียงตรงขอบที่วางข้อมือสองฝั่งและขอบบนของหน้าจอด้วย ไม่ให้ตัวเครื่องดูเรียบง่ายจนเกินไป ถัดมาส่วนกลางเครื่องตรงขอบล่างหน้าจอจะถูกตัดเว้นเอาไว้ให้ใช้นิ้วดึงเพื่อกางหน้าจอได้สะดวก ส่วนการบาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องตอนกางหน้าจอด้วยนิ้วเดียวแล้ว ตัวเครื่อง GF63 Thin จะยกตามหน้าจอขึ้นมาเล็กน้อยก่อนน้ำหนักตัวเครื่องจะดึงให้ตัวเครื่องกางออกแล้วใช้งานได้ตามปกติ ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้ใช้มืออีกข้างช่วยจับตัวเครื่องไว้ จะกางหน้าจอได้สะดวกกว่า
เมื่อกางหน้าจอจนสุดแล้ว MSI GF63 Thin จะกางจอได้ราว 120 องศา ถือว่ากว้างไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งและสายทำงานในระดับราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งเราสามารถกางหน้าจอ GF63 Thin ให้เข้ากับมุมสายตาของผู้ใช้ได้ง่าย จะวางเอาไว้บนโต๊ะทำงานหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับใช้งานได้สะดวก
ส่วนด้านหลังตัวเครื่องจะเห็นว่า MSI GF63 Thin จะเน้นดีไซน์เรียบง่าย โดยฝาหลังมีแต่โลโก้รูปมังกรของทางบริษัทเพียงอย่างเดียว ถัดลงมาที่บานพับหน้าจอจะเป็นแบบก้านหน้าจอยึดเข้ากับฐานตัวเครื่องโดยแยกเป็นฝั่งซ้ายและขวา เมื่อกางแล้วฝาหลังทำมุม 90 องศากับตัวเครื่องแล้ว พาร์ททั้งสองชิ้นจะตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันพอดี
ด้านใต้ตัวเครื่องจะเป็นดีไซน์ฝาหลังแบบกากบาทและมีช่องระบายความร้อนอยู่ทั้งหมด 2 ส่วนด้วยกันคือฝั่งซ้ายเป็นช่องขนาดใหญ่ซึ่งตรงกับชุดซิ้งค์ของซีพียูและการ์ดจอพอดี ส่วนฝั่งขวามือมีช่องลมเข้าขนาดเล็กสำหรับดึงลมเข้าไปแล้วระบายออกที่ช่องด้านข้างเครื่อง ส่วนยางรองบอดี้ตัวเครื่องจะมีทั้งหมด 4 จุด ดีไซน์เป็นทรงสามเหลี่ยมติดตั้งเอาไว้ตามมุมของตัวเครื่อง เป็นยางขนาดใหญ่และเล็กอย่างละคู่ ช่วยป้องกันบอดี้ด้านใต้เครื่องเกิดความเสียหายได้เป็นอย่างดี
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ของ GF63 Thin มีขอบหน้าจอฝั่งซ้ายขวาบางกว่าส่วนอื่น ส่วนบนจะหนาและเว้นขอบเอาไว้เล็กน้อยให้เป็นจุดกางหน้าจอ ด้านค่า Refresh Rate ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นแบบ Dynamic ถ้าเปิดดูในคำสั่ง Advance Display ของ Windows 11 จะเห็นว่าถ้าตั้งค่าแบบ Dynamic แล้ว ระบบของตัวเครื่องจะปรับค่า Refresh Rate ให้เข้ากับคอนเทนต์โดยอัตโนมัติอีกด้วย ซึ่งมีหน้าจอของโน๊ตบุ๊คเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สามารถตั้งค่าแบบนี้ได้
ขอบเขตสีหน้าจอของ GF63 Thin เมื่อคาลิเบรตด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 จะเห็นว่าทาง MSI เลือกพาเนลคุณภาพดีมาติดตั้งให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ ซึ่งขอบเขตสีตั้งต้นจากโรงงานใน Gamut coverage นั้นได้ 87.8% sRGB, 63.7% Adobe RGB, 67.1% DCI-P3 เมื่อคาลิเบรตเสร็จแล้ว Gamut volume จะเพิ่มขึ้นเป็น 95.5% sRGB, 65.8% Adobe RGB, 67.6% DCI-P3 สำหรับความเที่ยงตรงของสีสันหน้าจอที่วัดเป็นค่า Delta-E เฉลี่ยอยู่ที่ 0.06~0.51 ซึ่งเมื่อน้อยกว่า 2 ก็ถือว่าเที่ยงตรงพอใช้พรู้ฟงานอาร์ตหรือแต่งภาพถ่ายจากกล้องก็ใช้ได้ไม่มีปัญหาแน่นอน
ความสว่างหน้าจอที่โปรแกรม DisplayCal 3 วัดได้เมื่อปรับความสว่าง 100% อยู่ที่ 307.01 cd/m2 นับว่าสว่างสู้แสงแดดได้โดยไม่มีปัญหา จะนั่งทำงานที่ร้านกาแฟหรือโดนแสงส่องกระทบหน้าจอก็ไม่มีปัญหา โดยส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้ปรับความสว่างไว้ 60% ก็สว่างพอใช้ทำงานในออฟฟิศแล้ว
ลำโพงของ MSI GF63 Thin เป็นลำโพง 2 ดอก กำลังขับ 2W x 2 ได้ Nahimic มาช่วยปรับจูนเสียงให้ เนื้อเสียงจัดว่าคมชัด หากใช้เล่นเกมก็ได้เนื้อเสียงดีและตัวระบบสามารถแบ่งแยกทิศทางเสียงได้ดี แต่ในแง่การฟังเพลงถือว่าแค่พอใช้โดยเนื้อเสียงจะเน้นเสียงคนร้องและเครื่องดนตรีเป็นหลัก เสียงเบสพอมีแค่ซัพพอร์ตให้เนื้อเสียงโดยรวมมีมิติ แต่เมื่อฟังเพลงแนวฮิปฮอป, R&B จะมีกำลังขับไม่มากพอ ณ จุดนั้นควรต่อลำโพงแยกไปเลยจะฟังเพลงได้อรรถรสยิ่งกว่า
Keyboard & Touchpad
แม้ GF63 Thin จะเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วก็ตาม แต่ขนาดของคีย์บอร์ดเป็น Tenkeyless ไม่มี Numpad เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นที่ขนาดเท่ากัน โดยทาง MSI ออกแบบให้ด้านข้างคีย์บอร์ดสองฝั่งมีพื้นที่ของตัวเครื่องเพิ่มขึ้นและได้ขนาดปุ่มคีย์บอร์ดเป็นแบบเต็มแทบทั้งหมด ยกเว้น F1-F12 และปุ่ม Grave Accent ที่ถูกย่อขนาดเหลือครึ่งเดียว
ไฟ LED Backlit ของ GF63 Thin เป็นไฟสีแดง ปรับความสว่างได้โดยคีย์ลัดที่รวมเอาไว้กับปุ่ม Page Up, Page Down และสังเกตว่า MSI ไม่ค่อยเอา Function Hotkey มาเซ็ตรวมไว้กับ F1-F12 เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น แต่กระจายปุ่มเอาไว้ตามส่วนต่างๆ ของคีย์บอร์ดแทน อย่างปุ่มลูกศรของคีย์บอร์ดก็มีคำสั่งเพิ่มลดความสว่างหน้าจอและเสียงลำโพงอยู่และปุ่ม End เป็นปุ่มปิดเสียงลำโพง เป็นต้น และยังออกแบบให้มีขีดมาร์กกิ้งไว้ที่ปุ่ม W ซึ่งเป็นปุ่มหลักที่เกมเมอร์วางนิ้วเพื่อเล่นเกมนั่นเอง
ด้าน Function Hotkey ที่ปุ่ม F1-F12 นั้น ทาง MSI เซ็ตเอาไว้ให้เพียง 6 ปุ่มเท่านั้น และเป็นปุ่มสำหรับใช้ทำงานทั่วไปเท่านั้น โดยมีคำสั่งดังนี้
- F2 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F3 – ปุ่มปิดการทำงานทัชแพด
- F6 – ปุ่มเปิดปิด Webcam
- F7 – ปุ่มเรียกโปรแกรม MSI Center
- F10 – Airplane Mode
- F12 – Sleep Mode
แม้จะเห็นว่าทางบริษัทติดตั้งคีย์ลัดเอาไว้ให้ใช้งานค่อนข้างครบถ้วนก็ตาม แต่ผู้เขียนก็คิดว่าในเมื่อมีปุ่ม F1-F12 ว่างอยู่ ก็อยากให้ทาง MSI เสริมคีย์ลัดปรับโหมดการทำงานของตัวเครื่อง, ปุ่มเปิด/ปิดเป้าเล็งปืน (Crosshair) และ Windows Lock มาให้กดใช้งานได้ทันทีเลยจะดีกว่าให้ผู้ใช้เข้าไปกดเปิดปิดใน MSI Center อย่างเดียว หรือไม่ก็อัพเดทให้ผู้ใช้เซฟปุ่มมาโครหรือเซ็ตคีย์ลัดแยกได้ด้วยตัวเองไปเลย เชื่อว่าจะมีประโยชน์ยิ่งกว่าเดิมแน่นอน
ทัชแพดของ MSI GF63 Thin มีขนาดไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่น รองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนและตอบสนองได้ดีและใช้แทนเมาส์ได้สบายๆ แต่พอวางมือบนคีย์บอร์ดแล้วสันมือซ้ายจะทาบลงขอบของทัชแพดพอดี แม้จะเป็นเช่นนั้น จากที่ผู้เขียนทดลองใช้งานแล้วก็ไม่เจอปัญหาทัชแพดลั่นอย่างที่กังวลใจอย่างแน่นอน แต่หากใครกังวลปัญหาเรื่องนี้หรือจะต่อเมาส์แยกเพื่อใช้งานอยู่แล้ว ก็กดปุ่ม Fn+F3 เพื่อปิดการทำงานทัชแพดไปก่อนก็ได้
Connector / Thin & Weight
พอร์ตของ GF63 Thin จะถูกติดตั้งเอาไว้ด้านข้างเครื่องทั้งฝั่งซ้ายและขวา ยกเว้น HDMI ซึ่งถูกแยกมาติดตั้งไว้ด้านหลังของตัวเครื่องซึ่งเป็นช่องที่ต่อแล้วไม่ถอดเข้าออกบ่อยๆ โดยพอร์ตและการเชื่อมต่อทั้งหมดจะมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – อแดปเตอร์จ่ายไฟ, USB-A 3.2 Gen 1 x 1
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Headphone out x 1, Mic in x 1, USB-A 3.2 Gen 1 x 2, USB-C 3.2 Gen 1 x 1, RJ45 LAN x 1
- ด้านหลังเครื่อง – HDMI รองรับความละเอียดสูงสุด 4K 60Hz x 1
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
ซึ่งพอร์ตทั้งหมดของตัวเครื่องต้องถือว่าให้มาครบถ้วนและมีพอร์ต USB-C สำหรับต่อแยกเป็นพอร์ตอื่นๆ ได้ แต่จะเป็นพอร์ตแบบ Data Transfer อย่างเดียว ต่อชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery หรือหน้าจอแยกแบบ DisplayPort ไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนคาดหวังว่าถ้าทาง MSI จะส่งภาคต่อของตระกูล Thin ออกมาวางตลาดต่อ ก็อยากให้พอร์ต USB-C เป็นแบบ Full-Function จะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นแน่นอน
น้ำหนักของ MSI GF63 Thin จากหน้าสเปคบนเว็บไซต์จะเคลมน้ำหนักเอาไว้ 1.86 กิโลกรัม เมื่อชั่งดูแล้วได้น้ำหนักเพียง 1.84 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเบาและใกล้เคียงกับสเปคที่เคลมไว้ และเมื่อเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วรุ่นอื่นในปัจจุบันจัดว่าเบาทีเดียว เมื่อรวมกับอแดปเตอร์น้ำหนัก 474 กรัมแล้ว จะมีน้ำหนักรวม 2.31 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักนี้อาจจะหนักเท่าน้ำหนักเครื่องของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คบางรุ่นเท่านั้น จัดว่าน้ำหนักอยู่ในระดับที่กำลังดี สามารถใส่กระเป๋าเป้พกติดตัวไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากมากนัก
Inside & Upgrade
หากใครต้องการอัพเกรด MSI GF63 Thin ก็เริ่มจากขันน็อตหัว Philips Head ทั้ง 11 ดอกออกได้เลย แต่จะมีน็อตตัวหนึ่งถูกสติ๊กเกอร์ Factory Seal ปิดเอาไว้อยู่ ขอให้เช็คดูเสมอค่อยใช้ปิ๊กกีตาร์ไล่ตามขอบตัวเครื่องต่อไป ทว่าจุดที่ควรระวังอยู่ที่กรอบเครื่องส่วนช่องระบายความร้อน เพราะกรอบตัวเครื่องส่วนนั้นเป็นก้านตะขอเกี่ยวล็อคระหว่างตัวเครื่องและฝาด้านใต้เครื่องเอาไว้ด้วยกัน แนะนำให้ค่อยๆ ดันฝาใต้ตัวเครื่องให้ตะขอเกี่ยวเลื่อนออกเล็กน้อยก่อนค่อยดึงเปิดฝา ถ้าฝืนอาจจะทำให้ฝาหลังเสียหายได้
ที่เมนบอร์ดจะเห็นว่าทาง MSI ก็มีช่องอัพเกรดมาค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะ RAM แบบ SO-DIMM ทั้งสองช่องที่รองรับความจุ 64GB DDR4 และ M.2 NVMe SSD ที่เป็นช่องหลัง ส่วนฮาร์ดดิสก์ช่องเสริมจะเป็น 2.5″ SATA III ซึ่งยังพอยอมรับได้เพราะผู้ใช้สามารถเลือกอัพเกรดได้ว่าจะใส่เป็น HDD หรือ SSD ก็ได้
Performance & Software
สเปคของ MSI GF63 Thin รุ่นนี้ติดตั้งซีพียู Intel Core i5-11400H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.7-4.5GHz สถาปัตยกรรม Tiger Lake มีค่า TDP 45 วัตต์มาให้ ซึ่งประสิทธิภาพจัดว่าพร้อมทำงานและเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี ติดตั้งแรมมาให้ 16GB DDR4 บัส 3200MHz มาให้ สามารถอัพเกรดเพิ่มความจุได้มากสุด 64GB DDR4 ทีเดียว ส่วนเมนบอร์ดใช้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 จึงใส่ M.2 NVMe SSD รุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูงได้อย่างแน่นอน
การ์ดจอในเครื่องนอกจาก Intel UHD Graphics ซึ่งติดมากับซีพียู Intel แล้ว ก็มี NVIDIA GeForce RTX 3050 แรม 4GB GDDR6 ติดตั้งมาให้ใช้ทำงานและเล่นเกมได้เป็นอย่างดี รองรับ DirectX 12 และชุดคำสั่งกราฟฟิคต่างๆ ครบถ้วน ทั้ง OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, Ray Tracing, DirectCompute, DirectML, Vulkan, PhysX ด้วย ดังนั้นจะเล่นเกมหรือเอาไว้ทำงานกราฟฟิคก็ไม่มีปัญหา
ใน Device Manager จะเห็นว่า MSI GF63 Thin ติดตั้งการ์ด Wi-Fi รุ่น Intel AX201 ซึ่งรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.2 ในตัว มีแบนด์วิธคลื่น 160MHz อีกด้วย ดังนั้นเวลาเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi ก็สามารถโหลดไฟล์, เปิดเว็บไซต์ได้ดีขึ้น
ด้าน M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ในเครื่องเป็น OEM ของ Kingston รหัส OM8PDP3512B-AI1 โดยตัว SSD นั้นเป็นอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 เมื่อทดสอบกับโปรแกรม CrystalDiskMark 8 แล้ว จะได้ความเร็ว Sequantial Read 2,542.68 MB/s และ Sequential Write 1,210.84 MB/s ซึ่งถ้าใช้งานในโน๊ตบุ๊คบางเบาและเน้นใช้ทำงานทั่วไปก็ถือว่าใช้งานได้ แต่ในกรณีของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามันยังทำงานได้ไม่เร็วเท่าที่ควร หากผู้เขียนซื้อมาใช้งานเองจะเปลี่ยนไปใช้ M.2 NVMe ที่ประสิทธิภาพดีกว่านี้ก่อนเป็นอย่างแรก
โดย M.2 NVMe SSD ที่แนะนำจะมีตัวเลือกหลากหลายรุ่น ไม่ว่าจะ WD Black SN750, Samsung 980, Transcend MTE220S หรือจะข้ามไปเป็นตัวอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 อย่าง Samsung 980 PRO, WD Black SN770, PNY XLR8 CS3040 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
ด้านการเรนเดอร์ 3D CG เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 ที่ทดสอบการทำงานกราฟฟิคโดยรวม จะเห็นว่าตัว MSI GF63 Thin ทำคะแนน OpenGL ได้ 150.99 fps และได้คะแนนซีพียู 1,498 cb ทีเดียว และเมื่อรันทดสอบ CINEBENCH R20 ซึ่งเน้นทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูจะได้คะแนน CPU สูงถึง 3,417 pts ทีเดียว ดังนั้นถ้าใครจะซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปตัดต่อแต่งภาพหรือวิดีโอ รวมทั้งพรีวิวโมเดล 3D ให้ลูกค้าได้ดูก็สามารถรันได้ดีไม่มีปัญหา
ส่วนหน้าที่หลักอย่างการเล่นเกม เมื่อทดสอบด้วย 3DMark Time Spy จะได้คะแนนเฉลี่ย 4,374 คะแนน แยกเป็น CPU score 5,815 คะแนน และ Graphics score 4,191 คะแนน เป็นระดับคะแนนที่เล่นเกมฟอร์มยักษ์ได้อย่างแน่นอน แต่ผู้เขียนแนะนำว่าความละเอียดหน้าจอควรอยู่ระดับ 1080p จะดีสุดและไม่เกินกำลังของ NVIDIA GeForce RTX 3050 เกินไปอีกด้วย
เมื่อทดสอบด้วย PCMark 10 แล้ว MSI GF63 Thin นั้นทำคะแนนเฉลี่ยได้ 5,135 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นระดับคะแนนที่สูงพอใช้ทำงานต่างๆ ได้อย่างดีไม่มีปัญหา โดยเฉพาะงานทั่วไปอย่างการเปิดเว็บไซต์, เปิดโปรแกรมใช้งานต่างๆ รวมไปถึงโปรแกรมตระกูล Microsoft Office ก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา เมื่อได้การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 เข้ามาเสริม ก็ช่วยให้ทำงานตัดต่อวิดีโอและแต่งภาพดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามันสามารถตัดต่อคลิปหนังสั้นหรือ Vlog ทั่วไปสำหรับอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้อย่างแน่นอน
สเปคของ MSI GF63 Thin รุ่นที่ได้รับมาทดสอบ ต้องถือว่ามันสามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันได้ดี โดยผู้เขียนแนะนำให้เล่นบนความละเอียด 1080p เป็นหลักจะไม่กินกำลังประมวลผลของการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3050 มากเกินไป และจากที่อัพไดรเวอร์เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว จะเห็นว่าแต่ละเกมที่นำมาทดสอบแม้จะปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดก็ยังรีดเฟรมเรทได้สูงและเล่นได้ไหลลื่นทั้งหมด ดังนั้นจะเล่นบนหน้าจอของโน๊ตบุ๊คเองหรือต่อหน้าจอแยก 1080p ดีๆ ผ่านพอร์ต HDMI ก็ได้
อย่างไรก็ตาม Forza Horizon 5 ในการทดสอบครั้งนี้เป็นข้อยกเว้น เพราะเมื่อทดลองตั้งค่ากราฟฟิคไประดับ Extreme Quality แล้วตัวเกมจะขึ้นแจ้งเตือนทันทีว่าแรมการ์ดจอ 4GB GDDR6 นั้นไม่พอใช้งาน และขอให้ปรับกราฟฟิคลง ซึ่งถ้าฝืนเล่นต่อไปจะได้เฟรมเรทอยู่ราว 25~29 Fps แม้จะปรับลงมาระดับ Ultra ก็ยังได้เฟรมเรทระดับ 30~40 Fps ซึ่งยังไม่ลื่นเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าใครจะเอา MSI GF63 Thin มาเล่นเกมนี้ แนะนำให้ตั้ง Graphics Preset ไว้ที่ระดับ High ก่อน แล้วค่อยปรับกราฟฟิคขึ้นทีละส่วน จะทำให้กราฟฟิคในเกมสวยและได้เฟรมเรทสูงไปพร้อมๆ กัน
ด้านโปรแกรม MSI Center นอกจากจะมีโหมดมอนิเตอร์ตัวเครื่องแล้ว ยังใช้ปรับแต่งโหมดการทำงาน, ตั้ง Gaming Mode สำหรับเกมที่เปิดเล่นเป็นประจำก็ยังใช้อัพเดทไดรเวอร์และยังใช้ตั้ง Recovery เพื่อดึงการตั้งค่าตัวเครื่องตอนสมบูรณ์ที่สุดกลับมาใช้งานได้ ยิ่งไปกว่านั้นหน้า User Interface ก็ใช้งานง่ายไม่ต้องทำความเข้าใจมาก ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้เปิดโปรแกรมนี้มาเช็คอัพเดทและตั้งค่าตัวเครื่องเป็นระยะๆ จะช่วยให้ MSI GF63 Thin ใช้งานได้ดีต่อเนื่องไม่มีปัญหาแน่นอน
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ MSI GF63 Thin เป็นแบตเตอรี่แบบ OEM ที่ไม่ติดข้อมูลบอกว่ามีความจุเท่าไหร่และใครเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลูกนี้ คาดว่าทาง MSI สั่ง OEM มาให้ โดยตัวแบตเตอรี่ถูกติดตั้งเอาไว้ชิดกับลำโพงฝั่งซ้ายมือเมื่อวางโน๊ตบุ๊คใช้งานตามปกติและเว้นพื้นที่สำหรับติดตั้ง 2.5″ SATA III SSD ไว้ด้วย
ด้านความจุของแบตเตอรี่เมื่อเช็คด้วยโปรแกรม BatteryMon จะเห็นว่ามีความจุ 52Wh และเมื่อทดสอบตามมาตรฐานเว็บไซต์โดยปิดไฟ LED Backlit, ลดความสว่างหน้าจอให้ต่ำสุดและเปิดเสียงเพียง 10% และตั้งค่าเป็นโหมดประหยัดพลังงานแล้วดูคลิปใน YouTube เป็นเวลา 30 นาที ด้วย Microsoft Edge แล้ว สามารถใช้งานได้นานสุด 5 ชั่วโมง 37 นาที ถือว่าใช้งานได้นานไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ สามารถพกเครื่องเข้าประชุมหรือห้องเรียนเพื่อจดเลคเชอร์ได้โดยแบตเตอรี่ไม่หมดกลางคันเสียก่อน แต่ถ้าต้องทำงานหนักเมื่อไหร่แนะนำให้พกอแดปเตอร์ติดกระเป๋าไปด้วย
ด้านชุดระบายความร้อนภายในเครื่องที่ทาง MSI เรียกว่า Dynamic Boost 2.0 จะเป็นชุดฮีตไปป์ 3 เส้น พาดจากซีพียูและการ์ดจอตรงไปยังพัดลมโบลเวอร์เพื่อระบายความร้อนออกจาเครื่อง ซึ่งทาง MSI เคลมว่าระบบนี้สามารถจัดการอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดี และลดอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดีกว่าเดิม 10% ทีเดียว
ประสิทธิภาพการระบายความร้อนต้องถือว่าระบบ Dynamic Boost 2.0 นั้นทำงานได้ดี เมื่อทดลองเปิดโปรแกรม Benchmark ควบคู่กับ CPUID HWMonitor จะเห็นว่าอุณหภูมิของ Package นั้นเฉลี่ยเพียง 58 องศา และมีอุณหภูมิตัวเครื่องอยู่ระดับ 51~94 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าจัดการความร้อนได้ดีไม่ติดตัวแดงให้เห็นเลย ด้านของ SSD และการ์ดจอแยกในเครื่องก็ไม่ร้อนเกินไปด้วย ดังนั้นผู้ใช้คนไหนที่กำลังอยากได้ MSI GF63 Thin ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนในเครื่องเลยก็ได้
User Experience
MSI GF63 Thin เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดีไซน์น้ำหนักเบาพกพาสะดวก ผิดกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นที่ได้รีวิวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งน้ำหนักรวมอแดปเตอร์ 2.31 กิโลกรัมนั้นสามารถพกใส่กระเป๋าติดไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟได้สบายๆ และดีไซน์ก็ดูเรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊คสายทำงานทั่วไปไม่ดึงดูดสายตามากอีกด้วย ดังนั้นถ้าใครต้องใช้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครันงานและโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ แล้วโน๊ตบุ๊คบางเบาไม่ตอบโจทย์นัก ก็มี GF63 Thin เป็นตัวเลือกที่ดีและน่าใช้งานมาก
นอกจากจะพกพาสะดวกแล้ว สเปคของ MSI GF63 Thin ก็จัดว่าแรงพอใช้ทำงานกราฟฟิค, งานออฟฟิศและเล่นเกมได้ดีด้วยซีพียู Intel 11th Gen พร้อมกับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3000 Series และยังอัพเกรดเพิ่มแรมไปได้มากสุด 64GB DDR4 ได้อีก ดังนั้นในแง่การใช้งานถือว่าไม่มีปัญหา หากใครรู้สึกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาไม่ตอบโจทย์ก็หันมาใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้แทนน่าจะตอบโจทย์กว่า
ด้านการเล่นเกม ผู้เขียนถือว่า MSI GF63 Thin นั้นสามารถเล่นเกมบนจอ 1080p ได้ดีทุกเกม แต่ต้องให้เวลากับการปรับกราฟิคในเกมสักหน่อย นั่นเพราะ NVIDIA GeForce RTX 3050, RTX 3050 Ti นั้นแม้จะมีประสิทธิภาพดีระดับหนึ่งแต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ VRAM มีเพียง 4GB GDDR6 ทำให้ปรับ Texture ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าปรับกราฟฟิคแบบง่ายๆ แนะนำให้เริ่มจาก High ก่อน แล้วจะดันกราฟิคในส่วนไหนเพิ่มค่อยปรับเพิ่มเติมจะเล่นได้ลื่นกว่า
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการอัพเกรดภายในเครื่องแม้จะเพิ่มแรมได้ 64GB DDR4 ก็ตาม แต่ฮาร์ดดิสก์ในเครื่องถือว่ายังอัพเกรดได้ค่อนข้างจำกัด โดยอัพเกรดได้เพียง M.2 NVMe SSD และ 2.5″ SATA III SSD/HDD ได้อย่างละช่องเท่านั้น ซึ่งปกติเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันจะใส่ M.2 NVMe SSD ได้ 2 ช่อง แต่กรณีของ MSI GF63 Thin ก็ต้องบริหารพื้นที่ให้ดี ว่าจะติดตั้งโปรแกรมและเกมไหนเข้าไดรฟ์ไหน จะได้เรียกใช้งานได้เร็วทันใจยิ่งขึ้น
Conclusion & Award
จะเห็นว่า MSI GF63 Thin เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คน้ำหนักเบาและตัวเครื่องไม่หนามาก พกพาง่ายและน้ำหนักไม่มากเกินไป เพียง 1.86 กิโลกรัม ซึ่งถ้าใส่กระเป๋าเป้ก็พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สบายๆ จะทำงานหนักอย่างเปิดโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือแต่งภาพก็ทำได้ดี ด้วยการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3000 ในตัว ทำให้งานที่ต้องใช้พลังประมวลผลกราฟิครันได้ไหลลื่นไม่มีปัญหาใดๆ ขอแค่ตอนเล่นเกมตั้งค่ากราฟิคให้เหมาะสมก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาแล้ว
ในมุมของผู้เขียนเอง มองว่า GF63 Thin เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาที่อยู่หอพักแล้วอยากได้โน๊ตบุ๊คพกพาง่าย เล่นเกมฟอร์มใหญ่ได้ลื่นไหลและเอาไว้ทำงานได้ดี แบตเตอรี่ก็ใช้งานต่อเนื่องได้นานสักหน่อย หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิศที่อยากได้โน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงมาใช้รันงานที่ทำอยู่ให้เสร็จเร็วขึ้นก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เช่นกัน แต่ถ้าซื้อรุ่นที่ติดตั้งแรม 8GB DDR4 มาให้ ก็หาแรมมาอัพเกรดเป็น 16GB DDR4 เท่านี้ก็ทำงานได้ดีไม่มีปัญหาแล้ว
และหากใครรู้สึกเสียดายว่า MSI GF63 Thin ยังเป็น Intel 11th Gen อยู่ ก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากทาง MSI นั้นติดตั้งซีพียู Intel แบบ 6 คอร์ 12 เธรด และ 8 คอร์ 16 เธรด มาให้ ช่วยให้มันสามารถรันงานและเกมได้เป็นอย่างดี ไม่มีอาการช้าหรือหน่วงมากวนใจแน่นอน หากไม่ได้ซีเรียสว่าจะเอาของใหม่แกะกล่องเสมอ แต่สนใจว่าอยากได้โน๊ตบุ๊คที่ประสิทธิภาพต่อราคาคุ้มค่าที่สุด ก็ซื้อมันไปใช้งานได้เลย
Award
best mobility
ปกติแล้วเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้ว มักมีน้ำหนักช่วง 2 กิโลกรัมขึ้นไปทั้งนั้น แต่ MSI GF63 Thin กลับเบาเพียง 1.86 กิโลกรัมและตัวเครื่องไม่หนามาก จึงพกใส่กระเป๋าเป้ติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก และยังทำงานได้ลื่นไหลอย่างแน่นอน
best design
ดีไซน์ของ MSI GF63 Thin นั้นจัดว่าเรียบร้อยสวยงามไม่แพ้กับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน แต่น่าจะได้ใจผู้ใช้หลายๆ คนเพราะดีไซน์สวยเรียบร้อยไม่ฉูดฉาดเกินไป จะพกไปทำงานในออฟฟิศหรือร้านกาแฟก็ดูไม่โดดเด่นจนเป็นเป้าสายตาเกินไปอย่างแน่นอน