SpatialLabs Experience Center โปรแกรมเปลี่ยนจอเป็น 3 มิติ เห็นโมเดลเป็นรูปร่างสมจริงตรงหน้า!
Acer SpatialLabs เป็นโปรแกรมใหม่สำหรับแสดงภาพโมเดลเป็น 3 มิติบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คแบบไม่ต้องใส่แว่น 3 มิติให้เสียเวลา เพราะทางบริษัทจัดแจงประกอบหน้าจอเป็นพาเนลแบบพิเศษ คือจอพาเนล 2 มิติที่มี Liquid Crystal Lenticular Lens เป็นหน้าจอที่สร้างภาพแสดงความลึกและเปลี่ยนการแสดงผลภาพบนหน้าจอได้เมื่อผู้ใช้มองจากคนละองศากัน
ข้อดีคือ เวลาออกแบบโมเดลบ้าน, ตัวละครหรือสิ่งของออกมาในโปรแกรมทำโมเดล 3 มิติ เช่น Blender แล้วเปิดด้วยโปรแกรม SpatialLabs Experience Center แล้ว หน้าจอ Liquid Crystal ของ Acer ConceptD นั้นสามารถแสดงภาพออกมาเป็น 3 มิติ แบบลอยอยู่ตรงหน้า มองเห็นระยะความลึกและมิติของโมเดลชิ้นนั้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งโปรแกรมนี้ คนที่ต้องการซื้อโน๊ตบุ๊ค Acer ConceptD และ Acer Predator รุ่น High End จะได้โปรแกรมนี้ติดตั้งมาให้ในเครื่องด้วย ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งมาในโน๊ตบุ๊ครุ่นดังกล่าวช่วงปลายปี 2021 นี้
สำหรับรีวิวนี้ จะรวบรวมประสบการณ์ทดลองใช้ว่าโปรแกรมนี้เป็นอย่างไร, ใช้งานอย่างไร รวมทั้งประสบการณ์ทดลองใช้งานโปรแกรมนี้มาฝากผู้ใช้ที่กำลังสนใจจะซื้อโน๊ตบุ๊ค Acer ConceptD กับ Predator ที่ทางบริษัทเตรียมติดตั้งโปรแกรมนี้มาให้ในเครื่องด้วย ว่าดีต่อคนทำงานกับโมเดล 3D และคลิปแบบ 3D CG อย่างไรบ้าง
รู้จักกับ Lenticular Lens ฉบับง่าย
หลายคนอาจจะสงสัยว่าหน้าจอแบบ Lenticular Lens ที่เกริ่นถึงในช่วงนำของบทความคืออะไร ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นหน้าจอที่จะเปลี่ยนมุมการมองเห็นไปตามองศาของใบหน้าและสายตาของผู้ใช้ ซึ่งถ้าใครเล่นอินเตอร์เน็ตแล้วเจอภาพวาดที่เป็นภาพลวงตาที่มีคนถ่ายคลิปแล้วเดินจากซ้ายไปขวา ภาพจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นอีกภาพหนึ่ง ก็เป็นหลักการคล้าย ๆ กัน
ซึ่งภาพแบบนี้ จะเป็นการปริ้นท์ภาพ 2 ภาพสานไขว้เข้าหากันโดยซ้อนกันเป็นแบบลูกฟูก แล้วนำเลนส์มาปิดทับบนภาพที่อยู่ด้านล่างแล้วตั้งองศาให้พอดี จะกลายเป็นภาพสามมิติที่เปลี่ยนตามองศาและมุมมองของคนที่อยู่ตรงหน้าภาพได้ ซึ่งหลักการทำงานของหน้าจอสามมิติจะคล้าย ๆ กัน แต่เปลี่ยนเป็นพาเนลแบบพิเศษที่เปลี่ยนกลับไปมาระหว่างหน้าจอแบบธรรมดาที่แสดงผล 2 และ 3 มิติได้อย่างอิสระ
นอกจากหน้าจอ Lenticular Lens แล้ว อีกฟังก์ชั่นที่ทำให้โน๊ตบุ๊ค Acer ConceptD สามารถแสดงและขยับโมเดล 3 มิตให้เข้ากับการมองเห็นของผู้ใช้ คือ กล้องหน้าคู่ที่จับการขยับของใบหน้าและดวงตาของผู้ใช้ (Eye tracking) เวลาเรามองหรือกลอกตาไปมองมุมอื่น หรือตะแคงหน้ามองโมเดลที่แสดงอยู่ ตัวกล้องคู่ที่อยู่ขอบบนของหน้าจอจะจับการมองแล้วขยับโมเดลให้เข้ากับการมองเห็นของเราโดยอัตโนมัติด้วย และฟีเจอร์นี้ทำงานได้อย่างลื่นไหลดีทีเดียว
อินเตอร์เฟสโปรแกรม SpatialLabs Experience Center
สำหรับโน๊ตบุ๊ค ConceptD ที่ติดตั้งหน้าจอพาเนลแบบพิเศษสำหรับใช้งานกับโปรแกรมแสดงโมเดล 3 มิตินี้ได้ ทาง Acer จะสกรีนโลโก้กล่องทรง 3 มิติกับคำว่า SpatialLabs เอาไว้มุมขวาล่างหลังหน้าจอและติดสติกเกอร์ Built on SR (Simulated Reality) เอาไว้ที่ตัวเครื่องด้วย ซึ่งถ้า ConceptD เครื่องไหนไม่รองรับ จะไม่มีสติกเกอร์และการสกรีนลายพิเศษนี้ติดเอาไว้
ส่วนของโปรแกรมที่ติดตั้งมาให้ในเครื่อง จะมีหน้าต่างรวมส่วนเสริมสำหรับโปรแกรม 3 มิติ ที่ทาง Acer ทำขึ้นมาเพื่อใช้งานกับโปรแกรมนี้เป็นพิเศษรวมอยู่ในตัวด้วย โดยหน้าแรกจะเป็นหน้ารวมฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก ๆ เอาไว้ มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
- SpatialLabs Go – ฟีเจอร์ปุ่มลอยบนหน้าจอของ SpatialLabs พอคลิกแล้วจะเปลี่ยนการแสดงผลหน้าจอจาก 2 มิติให้กลายเป็น 3 มิติ แนะนำให้กดใช้กับโปรแกรมหรือแอพฯ ที่รองรับ เพราะเมื่อกดใช้งานกับโปรแกรมปกติแล้ว ภาพบนหน้าจอจะซ้อนกันจนตาลายได้
- SpatialLabs Model Viewer – ฟีเจอร์ดูโมเดล 3 มิติที่สร้างขึ้นมา โดยโปรแกรมจะโชว์ตัวอย่างโมเดล 3 มิติแบบ Real-time เห็นมิติต่าง ๆ ของโมเดลตัวนั้นอย่างสมจริง และถ้ามีการตั้งค่าให้ขยับได้ ตัวโมเดลก็จะขยับตามที่ตั้งค่าเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นอย่างการหันตัวโมเดลตามการมองและการกลอกสายตาของผู้ใช้ด้วย ซึ่ง ConceptD จะใช้กล้องแบบพิเศษจับการมองและขยับใบหน้าของเราและขยับตัวโมเดลตาม
- SpatialLabs Player – โปรแกรมเล่นคลิปวิดีโอ 3 มิติ ซึ่งถ้าคลิปวิดีโอนั้นเป็น 3D CG เมื่อเรนเดอร์เสร็จแล้วสามารถเปิดดูด้วยในนี้ได้เลย
ถัดมาในส่วนของ Software Add-ons จะรวมส่วนเสริมของซอฟท์แวร์ทำโมเดล 3 มิติ ยอดนิยมเอาไว้ เมื่อคลิกที่โฟลเดอร์ของโปรแกรมนั้นจะเป็นการติดตั้งส่วนเสริมของโปรแกรม 3D นั้นลงไปในเครื่องเพื่อใช้ร่วมกับโปรแกรมนี้ได้เลย
สำหรับส่วนเสริมที่ Acer ทำเอาไว้ในแอพฯ นี้แล้วโหลดไปติดตั้งได้เลย จะมี 3ds Max, Blender, Cura, Fusion 360, Inventor, PiStage, Rhino, SketchUp และ Zbrush ถ้าใครใช้โปรแกรมกลุ่มนี้อยู่แล้วต้องการใช้ส่วนเสริม 3 มิติให้เต็มประสิทธิภาพ ก็แนะนำให้ลองติดตั้งไว้ทดลองใช้งานดูได้เลย
ถัดมาที่ Help Desk จะรวมวิธีการใช้งานเอาไว้โดยละเอียด แยกเป็น User Guide, Tutorial และ FAQ ซึ่งถ้าเพิ่งเริ่มใช้โปรแกรมนี้และยังไม่รู้ว่าใช้งานอย่างไร แนะนำให้เริ่มอ่านจาก User Guide และเปิด Tutorial มาลองดูก่อน จะได้ใช้โปรแกรมนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยทาง Acer ได้เขียนวิธีการใช้งานเอาไว้ให้อ่านโดยละเอียด สามารถอ่านแล้วลองใช้งานตามได้เลย
Settings หรือหน้าตั้งค่า ซึ่งยังตั้งได้แค่การเปิดและปิด Stereoscopic 3D Mode เท่านั้น โดยค่าเริ่มต้นจากโรงงานจะตั้งให้การกด Alt+R เป็นเปิด Stereoscopic 3D Mode และถ้าจะปิดต้องกด Alt+T แต่ถ้าไม่คล่องก็กดเปลี่ยนเป็นปุ่มอื่นได้ และผู้เขียนเชื่อว่าถ้าทาง Acer ติดตั้งโปรแกรมนี้มากับโน๊ตบุ๊ค ConceptD กับ Predator ที่ใช้โปรแกรมนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ ก็น่าจะมีรายละเอียดอื่น ๆ ใน Settings เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
แต่ในตอนนี้ ผู้เขียนแนะนำว่ายังไม่ควรเปิด Stereoscopic 3D Mode ใช้งานกับโปรแกรมทั่วไป นั่นเพราะหน้าโปรแกรมธรรมดา ๆ ที่เราใช้งานทั่วไปยังเป็นโปรแกรมแบบ 2 มิติตามปกติอยู่ ยังไม่ได้ออกแบบให้รองรับกับ Stereoscopic 3D Mode จริง ๆ ซึ่งถ้าฝืนเปิดใช้งาน นอกจากจะกดหน้าคำสั่งต่าง ๆ ของโปรแกรมไม่ถูกแล้ว ยังตาลายเพราะภาพหน้าจอซ้อนกันอีกด้วย
ทางที่ดีสุดถ้าอยากใช้ Stereoscopic 3D Mode แนะนำให้ทำโมเดลที่ต้องการให้เสร็จในแบบ 2D ก่อนแล้วเอามาเปิดดูโมเดลใน Model Viewer แทนจะดีกว่า เพราะจะทำให้เห็นโมเดลแบบ 3D สวยงามและขยับได้สวยสมจริงแบบ Real-time อีกด้วย
ทดลองเล่น Acer ConceptD SpatialLabs Model Viewer
สำหรับฟังก์ชั่นสำคัญที่ทำให้ Acer ConceptD เครื่องตัวอย่างสามารถแสดงโมเดลเป็น 3 มิติและขยับหมุนตัวโมเดลตามการมองเห็นของเราได้ คือหน้าจอ Lenticular Lens กับกล้องหน้า Eye tracking ที่เป็นกล้องคู่แถบยาวตรงขอบหน้าจอสำหรับจับพฤติกรรมการมองของผู้ใช้ที่นั่งอยู่ข้างหน้าโน๊ตบุ๊คได้โดยอัตโนมัติและแสดงผลแบบ Real-time อีกด้วย
เวลาใช้งานนั้น เนื่องจากการแสดงผลแบบ 3 มิติต้องใช้พลังประมวลผลของทั้งเครื่องระดับหนึ่ง ดังนั้นตอนดูโมเดล 3 มิติแล้ว จะได้ยินเสียงพัดลมของตัวเครื่องขึ้นมาอย่างชัดเจนเพื่อระบายความร้อนภายในเครื่องให้เย็นและทำงานได้เสถียรตลอดเวลา ซึ่งจากการทดลองเล่นกับโน๊ตบุ๊ค Acer ConceptD เครื่องที่ได้รับมาทดสอบแล้ว เรียกว่าทำงานได้เสถียรไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องหน่วงหรือค้างระหว่างใช้งานเลย และยังคุมอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดี ไม่มีอาการเรื่องความร้อนใด ๆ รบกวนระหว่างใช้งานโปรแกรมเลย
โดยหน้าจอของ Acer ConceptD เครื่องที่ได้รับมาทดสอบนั้น มีหน้าตาคล้ายคลึงกับ ConceptD รุ่นอื่น ๆ ที่มีวางขายในปัจจุบัน แต่จุดแตกต่างที่มองเห็นได้ชัดเป็นอย่างแรกคือกล้องหน้าจะเป็นแถบยาวและติดกล้องเอาไว้ 2 ตัวเพื่อใช้จับการมองและขยับใบหน้าของเราโดยเฉพาะ
ส่วนหน้าจอถ้ามองเผิน ๆ จะเป็นหน้าจอโน๊ตบุ๊คธรรมดา ๆ ที่เราเห็นทั่วไป แต่จุดที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคือ เมื่อยื่นหน้ามองใกล้ ๆ แล้ว พิกเซลบนหน้าจอของ ConceptD จะเหลือบรุ้งนิด ๆ ซึ่งถ้าใช้งานตามปกติจะไม่ต่างกับหน้าจอโน๊ตบุ๊คทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่มองโฟกัสจับผิดจะมองไม่เห็นอย่างแน่นอน ซึ่งหน้าจอที่แสดงสีรุ้งแบบนี้คาดว่าเป็นเพราะพาเนลหน้าจอและ Liquid Crystal ที่ทำมาเพื่อใช้กับฟีเจอร์แสดงผลสามมิติ
ส่วนวิธีการใช้งานที่ทาง Acer แนะนำคือ ให้ผู้ใช้สร้างโมเดล 3 มิติในโปรแกรมทำโมเดล เช่น Blender จนเสร็จก่อน จากนั้นก็นำมาดูตัวอย่างโมเดลที่ทำเสร็จแล้ว (Preview) ในโปรแกรมนี้ได้เลย ซึ่งจากการทดลองใช้งานดู ผู้เขียนสามารถพูดได้เต็มปากว่าหน้าจอ 3 มิติแบบใหม่นี้ สามารถแสดงภาพตัวอย่างโมเดลเป็น 3 มิติได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
สำหรับการดูโมเดล 3 มิติด้วยหน้าจอพิเศษของ Acer ConceptD จะต้องเปิดใน SpatialLabs Model Viewer โดยโน๊ตบุ๊คเครื่องทดสอบนี้ มีโมเดลสำเร็จรูปติดตั้งมาให้ทดลองเปิดดูการแสดงภาพบนหน้าจอแบบ 3 มิติได้ทันที ส่วนคนที่มีความสามารถและอยากลองสร้างโมเดล 3 มิติจากโปรแกรม Blender ก็สามารถทำแล้วนำมาลองเปิดในโปรแกรมนี้ได้เลย
จากการทดลองโหลดโมเดลสำเร็จรูปที่ ConceptD ใส่มาให้ในเครื่องเพื่อเอาไว้ทดลองกับหน้าจอ 3 มิติและกล้องหน้าที่มี Eye tracking ผู้เขียนได้ทดลองกับโมเดล 3 ตัวด้วยกันคือทหารออร์ค, ยานอวกาศและนักบินอวกาศ ซึ่งฟีเจอร์ Model Viewer ของโปรแกรมนจะขยับตัวโมเดลตามการมองเห็นของเราโดยอัตโนมัติเพียงเล็กน้อยเพื่อให้เห็นขอบข้างอีกเล็กน้อย แต่เราสามารถใช้เมาส์คลิกลากเพื่อเปลี่ยนมุมให้ดูโมเดลจากด้านข้างและด้านหลังของโมเดลได้ด้วย
สำหรับโมเดลทหารออร์คที่เป็นโมเดลแบบตัวละคร เวลามองหน้าตรงเข้าไปและได้องศาพอดีกับสายตาของเราแล้ว ตัวละครบนหน้าจอ Lenticular Lens ของ ConceptD ก็ลอยออกมาจากหน้าจอเหมือนดูหนัง 3 มิติอยู่และโมเดลก็ขยับเล็กน้อยตามที่คนปั้นโมเดลออกแบบเอาไว้ และถ้าอยากดูมุมด้านข้างหรือด้านหลังของโมเดลก็ใช้เมาส์คลิกแล้วลากเปลี่ยนมุมได้ทันที
จุดที่สังเกตเห็นและรู้สึกทันทีที่มองบนหน้าจอนี้ คือตอนที่มองหรือเอียงคอดูส่วนไหนของโมเดลบนจอเป็นพิเศษ กล้องหน้าที่จับพฤติกรรมการดูโมเดลของเราจะขยับโมเดลให้เล็กน้อยด้วย เช่น ตอนที่เน้นมองแขนของทหารออร์คแล้วเอียงคอเล็กน้อย กล้องหน้าก็หมุนส่วนของแขนออกมาเป็นพิเศษ ทำให้เห็นโมเดลส่วนนั้นมากขึ้น และภาพก็มีความลึกเหมือนโมเดลปั้นมือจริง ๆ ลอยอยู่ตรงหน้าอีกด้วย
ในภาพที่ 3 ผู้เขียนใช้นิ้วชี้ยื่นไปแตะปลายมือข้างที่ไม่ได้ถือดาบ เพื่อเช็คดูว่าระยะโมเดลที่ดวงตามองเห็นว่าลอยออกมาจากหน้าจออยู่ระดับไหน (ในภาพถ่ายจะไม่เห็น ต้องใช้สายตามนุษย์มอง) ซึ่งระยะที่นิ้วมือของผู้เขียนรู้สึกว่าแตะโดนมือของโมเดลจะอยู่ราว 10 เซนติเมตรจากหน้าจอ
ส่วนตัวโมเดลยานอวกาศที่มีความซับซ้อนของโมเดลที่มีระยะตื้นลึกของกราบเรือทั้งสองฝั่ง ตัว Model Viewer ก็ยังแสดงระยะความลึกและห่างของทั้งสองฝั่งได้ดี ไม่รู้สึกว่าตัวกราบทั้งสองฝั่งอยู่ชิดกันเป็นโมเดลตัดแปะเลย นอกจากนี้เวลาเอียงคอหรือกลอกตาเล็กน้อย กล้อง Webcam คู่ก็จับเปลี่ยนองศาของโมเดลยานอวกาศในทันทีแบบ Real-time ทำให้เห็นรายละเอียดโมเดลในองศาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
นอกจากลองแตะปลายโมเดลที่แสดงออกเป็นสามมิติและลองจับกราบของเครื่องดูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งพบจุดสังเกตว่าถ้ากางมือของเราแล้วยื่นมาจับจนบังระยะเซนเซอร์ของกล้องที่ใช้จับโฟกัสเข้าหน้าและดวงตาของเราเมื่อไหร่ มือของเราจะทะลุโมเดลแทน ดังนั้นเวลาใช้งานแนะนำว่าไม่ควรยื่นหรือยกมือเข้าไปใกล้หน้าจอจนรบกวนการทำงานของเซนเซอร์จะดีกว่า
ส่วนของโมเดลนักบินอวกาศในโปรแกรมนี้ เรียกว่าเก็บรายละเอียดเนื้อผ้าแสงเงาได้ดีและขยับโมเดลตามการมองของเราได้ต่อเนื่อง เวลาดูผ่านหน้าจอ 3 มิติ ของ ConceptD ก็เห็นรายละเอียดตัวโมเดลได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าใครทำโมเดลที่มีรายละเอียดตัวโมเดลกับแสงเงาเยอะ ๆ แล้วเอามาโชว์แบบ 3 มิติ ก็เรียกว่าเห็นรายละเอียดได้ดีไม่แพ้กับการดูบนหน้าจอ 2 มิติตามปกติเลย
ดังนั้นถ้าครีเอเตอร์คนไหนต้องทำงานกับโมเดล 3 มิติแล้วต้องการดูตัวอย่างโมเดลที่ปั้นและใส Motion ให้ขยับได้จนเสร็จแล้ว จะดูตัวอย่างว่าโมเดลที่ทำเสร็จเป็นอย่างไร สีสันและการขยับดีหรือไม่ก็สามารถดูผ่านหน้าจอนี้ได้เลย
สรุป – โปรแกรม Acer SpatialLabs หน้าจอ 3 มิติที่ใช้งานได้จริง
จะเห็นว่าชุดซอฟท์แวร์ Acer SpatialLabs ที่จะติดตั้งมาในโน๊ตบุ๊ค Acer ConceptD และ Predator ที่เตรียมวางขายช่วงปลายปี 2021 นี้ เรียกว่าเป็นซอฟท์แวร์และฟีเจอร์สำหรับการเปิดภาพโมเดล 3 มิติที่ปั้นมาสำเร็จรูปแล้วให้เห็นแบบพลิกโมเดลดูได้ 360 องศา มองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เรียกว่ามีประโยชน์ต่อนักออกแบบสินค้า, วิศวกรที่ต้องการออกแบบดีไซน์บ้าน หรือแม้แต่นักทำโมเดล 3D CG สำหรับเกมหรือทำเป็นเวอร์ชวลไอดอลก็ได้
ด้านหน้าจอ Lenticular Lens กับกล้องจับการขยับของใบหน้าและดวงตาได้อย่างละเอียดแล้วขยับโมเดลให้เข้ากับการมองของเราแบบ Real-time นอกจากจะดีต่อคนทำโมเดล 3 มิติแล้ว ตอนนำผลงานไปพรีเซนตลูกค้าก็มีประโยชน์ แค่เปิดโมเดลที่ทำเสร็จแล้วด้วย Model Viewer ให้ลูกค้าดูแล้วเห็นตัวอย่างโมเดลแบบครบทุกรายละเอียดอย่างที่เราออกแบบเอาไว้ทั้งหมด ทำให้ทั้งคนออกแบบและลูกค้าเข้าใจตรงกันได้เร็วขึ้น ไม่ต้องติดปัญหาว่าโมเดล 3 มิติ ไม่เหมือนกับ 2 มิติที่เคยคุยกันเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าโน๊ตบุ๊ค ConceptD และ Predator รุ่นไหนบ้างที่จะได้ฟีเจอร์หน้าจอสามมิตินี้มาจากโรงงาน แต่เชื่อว่าปลายปี 2021 นี้ ทาง Acer น่าจะเปิดตัวโน๊ตบุ๊คสองซีรี่ส์ที่ติดตั้งโปรแกรมนี้มาให้เลือกซื้อกันอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าถ้าใครต้องทำงานกับโมเดล 3 มิติเป็นประจำและกำลังมีแผนจะซื้อโน๊ตบุ๊ค Workstation เป็นเครื่องใหม่ อาจจะรอดูว่าทาง Acer จะเปิดตัวโน๊ตบุ๊คกับฟีเจอร์พิเศษนี้เมื่อไหร่ และราคาเท่าไหร่บ้างค่อยตัดสินใจก็ไม่สายเช่นกัน
NBS Verdicts
ข้อดี
- หน้าจอแสดงผลเป็น 3 มิติ มองเห็นโมเดลเรนเดอร์บนหน้าจอแบบ Real-time และลื่นไหลมาก
- ระบบการจับใบหน้าและดวงตา จับการมองและบิดโมเดลให้เห็นมุมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- ถ้าต้องการดูโมเดล 3 มิติจากมุมอื่น สามารถคลิกเมาส์แล้วบิดดูได้ทันที
- ทำให้คนทำโมเดลและลูกค้าที่ต้องการดูโมเดลชิ้นนั้น ๆ สามารถเห็นชิ้นงานจริงแบบ 3 มิติได้เลย
- ในตัวซอฟท์แวร์มีส่วนเสริมสำหรับโปรแกรม 3 มิติยอดนิยมให้โหลดมาติดตั้งได้เลย
ข้อสังเกต
- ตอนเรนเดอร์ภาพเป็น 3 มิติ ไม่ควรเอามือไปใกล้โมเดล 3 มิติ เพราะอาจจะบังเซนเซอร์
- โหมด SpatialLabs Go ควรเปิดดูกับโมเดล 3 มิติเท่านั้น ไม่แนะนำให้เปิดใช้งานกับโปรแกรม 2 มิติทั่วไป ไม่อย่างนั้นจะตาลาย
- คาดว่าเป็นโปรแกรมเฉพาะกับโน๊ตบุ๊ครุ่นที่ใช้กล้องและหน้าจอพิเศษจากทาง Acer เท่านั้น โน๊ตบุ๊ครุ่นธรรมดาอาจจะโหลดไปติดตั้งแล้วใช้งานไม่ได้