ONEXPLAYER 8.4 นิ้ว ชิป Intel Tiger Lake ถือเป็นตัวเลือกน่าสนใจสำหรับเกมเมอร์ที่อยากพกเกมไปเล่นเสมอ ๆ
ยุคนี้เกมมิ่งพีซีค่อย ๆ ย่อขนาดให้ตัวเล็กแล้วบางลงเรื่อย ๆ ONEXPLAYER เกมมิ่งพีซีจอ 8.4 นิ้ว ความละเอียด 2560×1600 พิกเซล ที่เป็นโปรเจคในเว็บไซต์ Indiegogo คู่แข่งหลักของ GPD Win 3 กับ AYA Neo ติดตั้งชิป Intel Tiger Lake ซึ่งจุดเด่นนอกจากชิปที่ใหม่กว่า หน้าจอก็ใหญ่และความละเอียดมากกว่า GPD Win 3 ขนาดจอ 5.5 นิ้ว HD (1280×720 พิกเซล) และ AYA Neo ที่ขนาดจอเพียง 7 นิ้ว HD (1280×800 พิกเซล) อีกด้วย ซึ่งทางเว็บไซต์ Liliputing นั้นได้เครื่องจริงมาทดลองเล่นแล้วสรุปการทดลองเล่น (First Look) มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ONEXPLAYER ข้อดีจอใหญ่เต็มมือ ดีไซน์ดี USB 4.0 กับจอใหญ่สุดในกลุ่ม
เกมมิ่งพีซีพกพาจากบริษัท One นี้ ทาง Liliputing ที่ได้ทดสอบเครื่องแล้วถือว่ามีขนาดใหญ่และหนาพอควร ด้วยขนาด 11.5″ x 5″ x 0.7″ กับน้ำหนัก 821 กรัม ซึ่งแม้จะหนาและมีน้ำหนักพอควร แต่จัดว่าจับได้เต็มมือและหน้าจอใหญ่ 8.4 นิ้ว ความละเอียดสูงจึงใช้งานได้สะดวก เทียบขนาดแล้วไล่เลี่ยกับแท็บเล็ตจอ 8 นิ้วหลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ตัวก้านอนาล็อกขนาดเดียวกับจอย PlayStation, Xbox อีกด้วย
นอกจากปุ่มหลัก ๆ สำหรับเล่นเกมเช่นก้านอนาล็อก ปุ่มขึ้นลงซ้ายขวาและ A, B, X, Y แล้ว ยังมีปุ่ม L1, L2, R1, R2 หรือชุดปุ่ม Trigger ด้านหลังเครื่องขนาดใหญ่ติดตั้งมาด้วย
ส่วนพอร์ตด้านหลังเครื่องถือว่าใหม่แกะกล่อง เพราะมีพอร์ต USB 4.0 Full Function Type-C ติดตั้งมาให้ 2 ช่อง, USB 3.0 Type-A x 1 ช่อง, ช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1 ช่อง รวมทั้งช่อง microSD Card reader x 1 ช่อง ส่วนปุ่มเปิดเครื่องที่ใช้สแกนลายนิ้วมือได้ติดตั้งอยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง สำหรับข้อดีของ USB 4.0 นั้น นอกจากต่อเข้ากับจอทีวีเพื่อส่งภาพและเสียงได้แล้ว ยังต่อเข้ากับ eGPU หรือกล่องการ์ดจอเพื่อช่วยประมวลผลกราฟฟิคได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพราะตัวใหญ่และมีน้ำหนักมากพอควร ทาง Liliputing เห็นว่าถ้าใช้งานจะถือมือเดียวลำบากพอควร และถ้าเป็นไปได้ควรวางแขนเล่นบนโต๊ะแล้วกางขาตั้งที่ติดอยู่ด้านหลังเครื่องออกมาช่วยดีกว่า
จุดเด่นแรกของเกมมิ่งพีซีตัวเล็กนี้ คือนอกจากจะเล่นเกมได้แล้ว ยังต่อคีย์บอร์ดเฉพาะซึ่งทางบริษัทสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะได้ สามารถใช้พิมพ์ทำงานได้เหมือนโน๊ตบุ๊คพกพาเครื่องหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจาก GPD Win 3 ที่คีย์บอร์ดเป็นแบบสไลด์หน้าจอขึ้นแล้วพิมพ์ หรือ AYA Neo ที่ไม่มีคีย์บอร์ดให้ใช้ แต่ราคาเมื่อสั่งพร้อมเครื่องจะอยู่ที่ 39.99 ดอลลาร์ หรือราว 1,200 บาท ราคาเต็มขึ้นไป 79.99 ดอลลาร์ หรือราว 2,500 บาททีเดียว
นอกจากนี้ ด้านหลังเครื่องจะมีชุดพัดลมระบายความร้อนกับพัดลมอยู่ 2 ตัว สามารถเลือปรับค่า TDP ได้สองระดับคือ 20 วัตต์ ซึ่งได้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไป ถ้าปรับ 28 วัตต์ จะดึงประสิทธิภาพของชิป Tiger Lake ออกมาสุงสุด ส่วนระบบระบายความร้อนนั้น ตัวเครื่อง ONEXPLAYER ดีไซน์ให้หลบมือของผู้ใช้แล้วเป่าออกด้านบนตัวเครื่องเหนือหน้าจอ ด้านในเครื่องติดตั้งฮีตไปป์สองตัวเพื่อระบายความร้อนให้ซีพียูได้ดีขึ้น
ส่วนด้านใต้เครื่องมีพอร์ตต่อคีย์บอร์ดโดยเฉพาะ แต่ทาง Liliputing เห็นว่าถ้าใช้งานจริงแล้วไม่ต้องต่อคีย์บอร์ดก็ได้ ใช้งานสะดวกไม่แพ้กัน นั่นเพราะบนตัวเครื่องมีปุ่มพิเศษติดตั้งมาให้ใช้กดคำสั่งพื้นฐานที่เราใช้งานเป็นประจำอยู่แล้ว คีย์บอร์ดเลยไม่จำเป็นมากอย่างที่ควร
ตัวอย่างเช่นถ้าต้องการกด Alt+Tab สลับระหว่างหน้าจอเกมกับหน้า Desktop ก็กดปุ่มสีส้มมุมล่างซ้ายเครื่องแทน ฝั่งขวาก็มีปุ่มสีส้มอีกสองปุ่ม ถ้าจะใช้คีย์บอร์ดก็กดปุ่มบนที่มุมล่างขวาเพื่อเปิด Virtual Keyboard ของ Windows 10 ขึ้นมาใช้แทน ถ้าใช้เมาส์ก็กดปุ่มคีย์บอร์ดค้างเอาไว้ก็เปลี่ยนไปใช้เมาส์แทน คลิกซ้ายด้วยปุ่ม A คลิกขวาใช้ปุ่ม B ได้เลย ทำให้ไม่ต้องต่ออุปกรณ์เสริมก็ยังไหว
ส่วนปุ่มปรับค่า TDP จะเขียนคำว่า Turbo อยู่ เอาไว้สลับไปมาระหว่าง 20 หรือ 28 TDP ได้สะดวกขึ้น เวลาใช้งานทั่วไปก็ใช้ 20 TDP ถ้าเล่นเกมก็เพิ่มไป 28 TDP ก็ได้ รวมทั้งกดปุ่มผสมกันได้อย่างเช่น
- Desktop + Keyboard เปิด Windows Task Manager
- Desktop + Turbo กดแคปหน้าจอ
- Desktop + Volume ตอนเปิดเครื่องจะเข้าสู่หน้า Boot setting เอาไว้เลือกบูตเครื่องจาก USB หรือเข้าหน้า BIOS/UEFI ได้ ใช้ปุ่ม D-Pad (ปุ่มขึ้นลงซ้ายขวา) เอาไว้เลือกตัวเลือกต่าง ๆ ได้ ใช้ปุ่ม Start เพื่อกดเลือกการตั้งค่าและแทนการกด OK
ด้านสเปคของ ONEXPLAYER ทั้งสามรุ่นจะเป็นดังนี้
สเปคและรายละเอียด ONEXPLAYER | Intel Core i5-1135G7 (Standard Edition) |
Intel Core i7-1165G7 (Pro Edition) |
Intel Core i7-1185G7 (Ultimate Edition) |
ฮาร์ดดิสก์ | M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB PCIe3.0 x4 | M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB PCIe3.0 x4 | M.2 NVMe SSD ความจุ 2TB PCIe3.0 x4 |
แรม | 16GB LPDDR4X 4266MHz | ||
การ์ดจอ | Intel iRIS Xe Graphics 96EUs | ||
หน้าจอ | 8.4 นิ้ว ความละเอียด 2560×1600 พิกเซล IPS รองรับการแตะหน้าจอ 10 จุด และปากกาสไตลัสแรงกด 4,096 ระดับ ความแม่นยำสี 72% NTSC, 100% sRGB | ||
แบตเตอรี่ | 15,300mAh (59Wh) รองรับการชาร์จไว 65W | ||
พอร์ตบนตัวเครื่อง | USB-C 4.0 Type-C x 2 ช่อง, USB 3.0 Type-A x 1, ช่องหูฟัง 3.5 มม. x 1, microSD Card Reader x 1 | ||
ระบบรักษาความปลอดภัยตัวเครื่อง | ระบบสแกนนิ้ว ติดตั้งไว้ด้านหลังเครื่องร่วมกับปุ่ม Power | ||
การเชื่อมต่อไร้สาย | Wi-Fi 6, Bluetooth 5.0 | ||
ลำโพงตัวเครื่อง | 2 ตัวแบบสเตอริโอ | ||
ราคา | 819 ดอลลาร์ หรือ 25,473 บาท (Super Early Bird) ราคาขายจริง 1,059 บาท หรือราว 33,000 บาท |
899 ดอลลาร์ หรือ 29,822 บาท (Super Early Bird) ราคาขายจริง 1,059 บาท หรือราว 36,000 บาท |
1,499 ดอลลาร์ หรือ 46,613 บาท (Super Early Bird) ราคาขายจริงยังไม่ทราบ (สินค้าหมดแล้ว) |
นอกจากนี้ทางบริษัท One ผู้ผลิตเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็มีตารางค่าเฟรมเรทเฉลี่ยที่ได้ตอนเล่นเกมด้วย ONEXPLAYER มาแสดงด้วย ซึ่งประสิทธิภาพนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับการปรับกราฟฟิคในเกมด้วยเช่นกัน โดยมีข้อมูลดังนี้
จะเห็นว่าตอนนี้เกมมิ่งพีซีตัวเล็กพกพาง่ายก็ค่อย ๆ เปิดตัวออกมาเรื่อย ๆ ทำให้เกมเมอร์สามารถเล่นเกมที่อยากเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ราคาและสเปคก็ยังถือว่าแพงอยู่พอควร แต่ถ้าใครชอบและได้ใช้ประโยชน์จากพีซีเครื่องเล็กพกง่ายเช่นนี้ ก็แนะนำให้อุดหนุนเอาไว้ใช้สักเครื่องก็น่าสนใจเช่นกัน อาจจะเป็นตัว Standard Edition เอามาต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศเพื่อทำงานแล้วพอเล่นเกมอินดี้บางเกมได้บ้างก็ถือว่าน่าสนใจดีเหมือนกัน
ที่มา : Indiegogo, Liliputing