มือใหม่แล้วไง? EP.2 จับโน๊ตบุ๊คเครื่องเก่า เปลี่ยน HDD เป็น SSD จะดีขึ้นขนาดไหน | NotebookSPEC
เปลี่ยน HDD เป็น SSD
ถ้าโน๊ตบุ๊คที่ใช้งานอยู่เริ่มช้า เริ่มมีอาการอืด เปิดเครื่องก็ติดช้า เปิดโปรแกรมขึ้นมาแต่ละทีแล้วต้องรอเป็นวัน กินข้าวก็แล้ว ดูหนังก็แล้ว ยังโหลดไม่เสร็จ เราอาจไม่ต้องลงมือลงแรงถึงขั้นเปลี่ยนเครื่องใหม่ หากแต่เปลี่ยน HDD เป็น SSD ก็เรียกความเร็วของคอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค ให้เร็วขึ้นได้เกือบเท่าตัวแล้ว และสำหรับวันนี้ ทีมงานก็จะมาพูดถึงการเปลี่ยน HDD เป็น SSD โดยเฉพาะกับในโน๊ตบุ๊คว่า SSD นั้นดีอย่างไร มีกี่ประเภท และมี SSD น่าใช้งาน และได้รับความนิยมจากเว็บไซต์ของเรากันบ้าง ไปดูกันเลย
- Hard Disk VS SSD
- ประเภทของ SSD
- เลือก SSD ราคา ความจุ เท่าไรถึงพอเหมาะ?
- 10 อันดับ SSD ยอดฮิตในหน้าจัดสเปค NBS
Hard Disk VS SSD
ฮาร์ดดิสหรือหน่วยความจำหลักสำหรับเก็บข้อมูลต่าง ๆ ถ้าเป็นสมัยก่อนแทบไม่มีผลต่อการใช้งานเครื่องเท่าไร เพราะเป็นฮาร์ดดิสค์จานหมุน จึงจะมีผลกับพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่ายิ่งความจุมากก็เก็บข้อมูลได้เยอะ แต่ปัจจุบันฮาร์ดดิสค์มีแบบ SSD (solid state drive) หรือฮาร์ดดิสค์ที่เป็นแบบชิป ข้อดีของมันก็คือเร็วกว่าฮาร์ดดิสค์จานหมุนถึง 10 เท่า เพราะว่าไม่ต้องหมุนจานเพื่อหาตำแหน่งข้อมูล แต่มีข้อสังเกตคือถ้า SSD เสีย ก็จะไม่สามารถกู้ข้อมูลใด ๆ ได้ ในขณะที่ HDD แบบจานหมุนยังพอสามารถเข้าศูนย์กู้ข้อมูลออกมาได้
SSD จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความเร็วในการเปิดเครื่อง เปิดโปรแกรม หรือค้นหาไฟล์ในเครื่องเป็นหลัก ถ้าเปลี่ยนมาใช้ SSD ชีวิตจะเปลี่ยนไปทันทีแล้วแทบไม่สามารถกลับมาใช้ฮาร์ดดิสค์ธรรมดาได้เลย เปิดเครื่องในระดับไม่ถึงนาที หรือเปิดโปรแกรม เปิดไฟล์ได้รวดเร็ว หาไฟล์ในเครื่องแทบจะในทันทีไม่ต้องรอฮาร์ดดิสค์หมุน และที่สำคัญคือไม่มีเสียรบกวนและประหยัดพลังงานยิ่งกว่า แต่ด้วยพื้นที่จำกัดอาจจะต้องมีฮาร์ดดิสค์แบบ USB ไว้เก็บข้อมูลสักอัน หรือบางรุ่นที่มีพอร์ตเชื่อมต่อฮาร์ดดิสค์ 2 แบบก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจุได้ด้วย
โดยปกติแล้วโน๊ตบุ๊คทั่วไปจะมีช่องสำหรับติดตั้งฮาร์ดดิสค์ แบบ 2.5 นิ้ว 1 ตัวเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว การอัพเกรดจึงเป็นการเพิ่มความจุ หรือเปลี่ยนชนิดของฮาร์ดดิสค์เป็น SSD แบบ 2.5 นิ้ว มีขายทั่วไป ในราคาไม่แพงมาก สามารถซื้อมาใส่แทนตัวเก่าได้เลย จากนั้นก็ลงวินโดวส์เหมือนฮาร์ดดิสค์ธรรมดา และเพื่อความคุ้มค่าสูงสุด เรายังสามารถเอาฮาร์ดดิสค์ตัวเก่าที่ถอดมา ใส่กล่อง เพื่อทำเป็นฮาร์ดดิสค์ USB ได้ด้วย ราคากล่องแค่หลักร้อยคุ้มกว่าไปซื้อฮาร์ดดิสค์ USB ต่อเพิ่ม
มีโน๊ตบุ๊คบางรุ่นที่มีช่องสำหรับติดตั้งฮาร์ดดิสค์แบบ SSD นามว่า M.2 ซึ่งสลีอตนี้จะเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ต่อการ์ด WiFi มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถติดตั้งบนโน๊ตบุ๊คได้โดยไม่เปลืองพื้นที่ และยังสามารถมีฮาร์ดดิสค์แบบ 2.5 นิ้ว อีกลูกได้ด้วย โดย SSD แบบ M.2 จะแบบยาว ๆ คล้ายการ์ด WiFi โดยโน๊ตบุ๊คทั่วไป ซึ่งก็จะแบ่งแยกย่อยออกเป็น 2 แบบอีกคือ M.2 แบบธรรมดา ซึ่งจะให้ความเร็วเทียบเท่ากับพอร์ต SATA ธรรมดา อีกแบบคือ PCI Express หรือ PCIe แบบเดียวกับซล๊อตบนเมนบอร์ดเครื่องพีซี ซึ่งให้ความเร็วสูงกว่า M.2 ธรรมดา อย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัว SSD ด้วยว่าสามารถรันได้ที่ความเร็วเท่าไร ซึ่งความต่างนอกจาก PCIe จะมีการระบุถึงชิป Nvme ที่เป็นชิปคอนโทรลแล้ว สล๊อตเชื่อมต่อก็ยังต่างกันอีกด้วย M.2 ทั่วไปจะมี 2 ร่อง ขณะที่ PCIe จะมีร่องเดียว
ซึ่งเราต้องดูก่อนว่า โน๊ตบุ๊คของเรามีสล๊อตหรือไม่ และเป็นแบบใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ M.2 แต่ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คที่มีราคาแพง ระดับ 29,990 บาทขึ้นไป ก็มักจะเป็นแบบ PCIe แนะนำว่าเช็คจากผู้ผลิตอีกทีเพื่อความแน่ใจ โดย PCIe จะมีราคาแพงกว่าพอสมควรอย่างน้อย 20 -30% แต่ก็แลกมาด้วยความเร็วสูงกว่า จากนั้นก็มีดูความจุที่ต้องการ 128GB ไปจนถึง 2TB สำหรับเครื่องที่มีฮาร์ดดิสค์ 2.5 นิ้ว อีกลูกอาจจะซื้อแค่ 128GB ก็เพียงพอ (หากต้องการเก็บข้อมูลหรือลงเกมหนัก ๆ ก็สามารถเลือกลงที่ฮาร์ดดิสค์ธรรมดาได้) แต่ถ้าหากโน๊ตบุ๊คมีช่อง M.2 อันเดียว ควรจะซื้อความจุ 256GB ขึ้นไปมาใส่ดีกว่า
ประเภทของ SSD
- PCIe M.2 NVMe ถือเป็นพอร์ตที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเป็น SSD ราคา ค่อนข้างสูง แต่สามารถทำความเร็วอ่านเขียนได้ถึงระดับ 5,000 MB/s ใน PCIe 4.0 หรืออย่างต่ำๆก็ได้ 1500 – 3500 MB/s แล้ว เปิดเครื่องไวเปิดโปรแกรมเร็ว เมนบอร์ดส่วนใหญ่ในปัจจุบันทั้งพีซีและโน๊ตบุ๊ครองรับ ถ้าซื้อเครื่องมาใหม่แนะนำใช้แบบ PCIe NVMe ไปเลย
- SATA M.2 มีหน้าตาเป็นการ์ดเหมือน PCIe NVMe แต่จะต่างที่ขาสล๊อต และชิปควบคุม ตามสเปคจะอ่านเขียนได้ช้ากว่า PCIe ที่ราวๆ 500 MB/s เพราะอยู่บนมาตรฐาน SATA เช่นเดียวกับแบบต่อสาย แต่ได้ข้อดีคือไม่ต้องต่อสาย หรือจ่ายไฟเพิ่ม รวมไปถึงโน๊ตบุ๊คในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นความบางเบาก็จะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อแบบนี้
- SATA III 2.5 นิ้ว เป็นพอร์ตที่เชื่อมต่อโดยการใช้สาย แบบเดียวกับฮาร์ดดิสค์เลย เมนบอร์ดโน๊ตบุ๊ค พีซีรองรับเกือบทุกตัวเลยก็ว่าได้ เพราะเมนบอร์ดส่วนใหญ่จะมีช่องต่อสาย SATA มาให้แน่นอน ไปจนถึงพีซีรุ่นเก่าหรือโน๊ตบุ๊คต่อให้เก่ามากๆยังไงก็ยังสามารถใช้ SSD แบบนี้ได้
เลือก SSD ราคา ความจุ เท่าไรถึงพอเหมาะ?
- 128GB ความจุเริ่มต้น จัดเป็น SSD ราคา ประหยัด เหมาะกับเครื่องที่เน้นใช้งานทั่วไป ลงวินโดวส์ โปรแกรมออฟฟิต และเก็บไฟล์รูป หนังอีกนิดหน่อย ไม่เหมาะกับการลงเกมหรือโปรแกรมใหญ่ๆ เหมาะกับการซื้อไปอัพเกรทพีซีเครื่องเก่า หรือมีฮาร์ดดิสค์ไว้เก็บข้อมูลอยู่แล้ว
- 256GB ความจุพื้นฐาน เป็นความจุที่เหมาะสมทั้งการใช้งานทั่วไป ลงเกมหรือโปรแกรมได้ประมาณนึง แต่ก็ไม่สามารถติดตั้งเกมหรือโปรแกรมใหญ่ๆได้มากนัก แนะนำว่าใช้งานคู่กับฮาร์ดดิสค์จะดีที่สุด ไม่ควรใช้ลูกเดียวจบเพราะอาจจะไม่พอใช้งาน
- 512GB ความจุระดับกลาง เป็น SSD ราคา แนะนำ ความจุเหมาะสมของทีมงาน สำหรับเกมเมอร์ที่ใช้ SSD เพราะมีความยืดหยุ่นสูง ลงเกม หรือโปรแกรมหนักๆได้เยอะ หรือจะสายตัดต่อก็ยังมีพื้นที่ไว้เก็บไฟล์งานได้ สามารถใช้ลูกเดียวจบได้โดยไม่ต้องมีฮาร์ดดิสค์มาเสริม แต่ถ้าท่านข้อมูลเยอะ ไฟล์งานมาก ก็อาจจะหาฮาร์ดดิสค์พกพามาสำรองข้อมูลเป็นพักๆ
- 1TB ความจุน่าใช้ ลูกเดียวจบ ลงได้ทั้งเกม โปรแกรม ไฟล์งาน หนังรูปเพลง โดยไม่ต้องห่วงเรื่องความจุ ใส่ในโน๊ตบุ๊คหรือพีซีลูกเดียวไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดดิสค์ไว้สำรองข้อมูลก็ยังได้ เหมาะกับท่านที่เน้นความสะดวกไม่อยากเก็บข้อมูลหลายที่ และไม่ต้องมาห่วงเรื่องความจุเต็ม
- 2TB ความจุเหลือใช้ เหมาะกับท่านที่จบตรง SSD ราคา ไม่ใช่ปัญหา ลูกเดียวครบ เก็บเพลง หนัง งาน โปรแกรม เกม เป็นสิบเป็นร้อยก็ยังไหว แต่ต้องระวัง SSD บินนะครับ เพราะไม่อย่างงั้นชีวิตท่านจะสูญสลายไปด้วย ยังไงต่อให้ SSD ความจุสูง ก็ต้องมีฮาร์ดดิสค์ไว้เก็บข้อมูลด้วยนะ
10 อันดับ SSD ยอดฮิตในหน้าจัดสเปค NBS
- SAMSUNG 970 EVO Plus 500GB NVMe
- Western Digital SN850 SSD 1TB Black
- Western Digital Black SN750 250GB NVMe
- Western Digital Blue 1TB 3D NAND
- Kingmax PQ3480 SSD 1TB
- Western Digital SN850 SSD 500GB Black
- Western Digital Blue SN550 500GB NVMe
- SAMSUNG 970 EVO Plus 1TB NVMe
- Western Digital Black SN750 500GB NVMe
- SAMSUNG 860 EVO 1TB
กล่าวโดยสรุปแล้ว การเปลี่ยน HDD เป็น SSD นั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับคอมพิวเตอร์ของเราให้รวดเร็วขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีกด้วย เพราะคอมพิวเตอรืสามารถทพงานได้อย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รันโปรแกรมได้รวดเร็วขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนผ่านเงินก้อนใหญ่ในการซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่แต่อย่างใด ในส่วนของความจุ ว่าถ้าเปลี่ยน HDD เป็น SSD แล้วนั้น ควรจะใช้ SSD กี่ GB ก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการ รวมไปถึงการบริหารพื้นที่ในการใช้งานของเราด้วย เช่น เราอาจจะซื้อ SSD ความจุ 240GB มาใช้เป็นไดรฟ์ติดตั้ง Windows 10 เอาไว้และโปรแกรมหลักแล้วมี HDD เอาไว้เป็นไดรฟ์เสริมสำหรับบันทึกไฟล์งานสัก 1TB ก็ดีเช่นกัน หรือจะเอาซื้อ 500GB แล้วเอางานทั้งหมดใส่ไว้ใน External Hard disk เพื่อจะได้ไม่ต้องกินพื้นที่ในไดรฟ์ C ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการพลิกแพลงการใช้งานของผู้ใช้ ว่าจะบริหารการใช้งานเครื่องของเราอย่างไร