การ์ดจอโน๊ตบุ๊คในตลาดเวลานี้ มีให้เลือกมากมาย ไม่เฉพาะโน๊ตบุ๊คเล่นเกมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโน๊ตบุ๊คทำงาน และโน๊ตบุ๊คแบบพกพา ที่มีความบาง น้ำหนักเบาอีกด้วย ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับการทำงานได้ดีขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ใช้กับงานเอกสาร หรือการทำงานในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในด้านมัลติมีเดีย และการเล่นเกมแบบเบาๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากกราฟิกที่เป็นแบบ Integrate มากับซีพียูเพียงอย่างเดียว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกราฟิกโน๊ตบุ๊คในรุ่นต่างๆ พร้อมกับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ และการเพิ่มความแรงให้กับโน๊ตบุ๊ค จะทำอย่างไรได้บ้าง
เลือกการ์ดจอโน๊ตบุ๊ค 2021
ในปัจจุบันโน๊ตบุ๊คได้ถูกจำแนกตามการใช้งานในรูปแบบต่างๆ มากมาย และในส่วนของผู้ผลิตเอง ก็มีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่แยกย่อยออกเป็นหลายซีรีส์ สำหรับใช้งานทั่วไป ทำงานกราฟิก Content Creator หรือจะเป็นโน๊ตบุ๊คเล่นเกม และแบบบางเบา ซึ่งราคาจำหน่ายของโน๊ตบุ๊คเหล่านี้ ก็มีความแตกต่างกันไป การ์ดจอโน๊ตบุ๊คก็เป็นตัวแปรในเรื่องของราคาด้วยเช่นกัน เพราะถ้านับกันล่าสุดตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น nVIDIA, AMD หรือ Intel เอง ก็มีกราฟิกที่มาให้ใช้งานกันบนโน๊ตบุ๊คด้วยเช่นกัน ซึ่งกราฟิกจากค่ายต่างๆ เหล่านี้ ก็มีทั้งที่เป็นการ์ดจอแยก (Discrete graphic) และการ์ดจอที่มากับซีพียู ที่มักเรียกกันว่าออนบอร์ด (Integrate graphic) ด้วยตัวแปรที่มีทั้งประสิทธิภาพและราคา การจะเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานจะต้องทำอย่างไร
โน๊ตบุ๊คบางเบา และใช้ในชีวิตประจำวัน: สำหรับโน๊ตบุ๊คในกลุ่มนี้ จะเน้นเรื่องของบอดี้และความกระทัดรัด ให้สามารถพกพาไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องแบก และที่สำคัญคือ ต้องใช้งานได้ยาวนาน ไม่เปลืองแบต และไม่ต้องชาร์จไฟบ่อย กราฟิกพื้นฐานที่เป็น Integrate graphic ทั้งค่าย Intel iGPU และ AMD ในรูปแบบของ APU เป็นต้น
เลือกการ์ดจอโน๊ตบุ๊คอย่างไร ต้องดูที่อะไรบ้าง
ในการเลือกการ์ดจอบนโน๊ตบุ๊ค ค่อนข้างคล้ายกับการ์ดจอบนเครื่องพีซี แต่ไม่ทั้งหมด เพราะบนโน๊ตบุ๊คนั้น จะมีซีรีส์ที่เป็นรหัสต่อท้ายในบางรุ่น ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างจากชิปกราฟิกปกติ ตัวอย่างเช่น M บนโน๊ตบุ๊ค ที่เป็นซีพียู AMD หรือ Max-Q ที่อยู่บนกราฟิกของทาง nVIDIA แต่ในส่วนอื่นๆ ก็จะคล้ายกันกับบนการ์ดจอพีซีนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น Core clock, Boost clock, CUDA, Stream processor และ Memory เป็นต้น
1.GTX or RTX: สำหรับรหัสที่นำหน้าชื่อรุ่นการ์ดจอ หลายท่านก็น่าจะคุ้นเคยกันดี โดยทั้ง 2 ซีรีส์นี้ จะแยกจากกันชัดเจน GTX จะอยู่บนโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งพื้นฐาน เน้นที่การเล่นเกมเป็นหลัก แต่ถ้าต้องการความสวยงามในด้านเอฟเฟกต์หรือการใช้งานด้านกราฟิกมาร่วมด้วยนั้น RTX series จะเพิ่ม RT Core และ Tensor Core เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล และรองรับ Ray-Tracing ที่ให้ความสมจริงของภาพ
2.Clock: สัญญาณนาฬิกาของกราฟิก ว่ากันที่ MHz หรือ Ghz เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ความเร็วของกราฟิกรุ่นนั้นๆ มีทั้ง Base clock และ Boost clock ตัวเลขยิ่งสูง ก็หมายถึงความเร็วที่สูง แต่จะต่างจากการ์ดจอแยกบนซีพีก็คือ กราฟิกเหล่านี้จะมีการจำกัดความเร็วบางส่วนเอาไว้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้พลังงานของโน๊ตบุ๊คในแต่ละรุ่น ไม่ให้ใช้พลังงานมากเกินที่กำหนด โดยเฉพาะในโน๊ตบุ๊คที่เน้นความบางเบา ประหยัดพลังงาน แต่ในส่วนของโน๊ตบุ๊คเล่นเกม ก็จะสามารถกำหนดให้แสดงศักยภาพได้เต็มที่มากขึ้น
3.CUDA cores/ Stream processor: สองสิ่งนี้ มีความคล้ายคลึงกัน เป็นหน่วยประมวลผลสำหรับกราฟิกโดยเฉพาะ ใช้วิธีการคำนวณแบบเดียวกับซีพียู ให้การประมวลผลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และให้ทันกับการทำงานของซีพียูควบคู่กันไป เพียงแต่ CUDA cores นั้น ใช้เรียกในฝั่งของ nVIDIA ส่วน AMD จะใช้คำว่า Stream processor แต่ในส่วนลึกๆ ก็จะให้การทำงานต่างกันไป ตามสถาปัตยกรรมของแต่ละค่าย ตัวเลขยิ่งมาก ก็หมายถึงประสิทธิภาพที่สูงมากขึ้น
4.Memory: หน่วยความจำของกราฟิก มีหน้าที่ในการรับส่งข้อมูลสำหรับการประมวลผลของ GPU และ CPU ตัวเลขยิ่งมาก ก็ยิ่งดี แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ไม่ใช่เพียงตัวเลขความจุของหน่วยความจำ แต่ยังมีเรื่องของ ความเร็วบัส, ชนิดของแรม และอินเทอร์เฟส เช่น ความจำแบบ GDDR5 หรือ GDDR6 เป็นแบบ 192-bit หรือ 256-bit ความจุ 4GB, 6GB หรือ 8GB เป็นต้น
5.Max-Q,Ti และ SUPER: เป็นรหัสที่ต่อท้ายชื่อรุ่นกราฟิก บอกถึงคุณลักษณะของกราฟิกรุ่นนั้นๆ ถ้าดูตามความแรง Ti และ SUPER อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ Ti จะมีสัญญาณนาฬิกาที่สูงกว่า แต่ SUPER จะเพิ่ม CUDA core ให้มากกว่า Ti ส่วน Max-Q จะเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของตัวเลขการออกแบบค่าพลังงานหรือ TDP ซึ่งหากเป็นคนที่ซีเรียสกับระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนานแล้ว และไม่ได้เล่นเกมมากมายนัก ควรเลือกตัวเลข TDP ที่น้อย แต่ถ้าจริงจังกับการเล่นเกม และไม่สนใจกับการพกพา เพราะต่อสายไฟ ใช้งานอยู่ที่เดิม ตัวเลข TDP ที่สูง ก็จะช่วยให้การเล่นเกมไหลลื่น เพราะกราฟิกแรงๆ ก็จะได้เรียกใช้ได้เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์ที่มาพร้อม GeForce RTX 3000 series ใหม่ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คจะมีการจำกัดค่า TDP ของซีพียูและกราฟฟิคการ์ดเอาไว้ว่าชิปทั้งสองสามารถสร้างความร้อนสูงสุดได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้สร้างความร้อนสูงเกินไปจนฮีตไปป์เกิดความเสียหายนั่นเอง และDynamic Boost 2.0 เป็นฟีเจอร์ปรับแต่งค่าวัตต์ระหว่างซีพียูและกราฟฟิคการ์ดด้วย AI ให้ค่า TDP ให้เหมาะสม ซึ่งใช้งานได้ทั้งซีพียูของ AMD และ Intel ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจัดการค่า TDP ระหว่างกราฟฟิคการ์ดและซีพียูได้อย่างมีอิสระมากยิ่งขึ้น ข้อดีของ Dynamic Boost 2.0 จะทำให้โน๊ตบุ๊คมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเดิมและใช้งานต่อเนื่องได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นฟีเจอร์ในกลุ่ม Max-Q ด้วย
โน๊ตบุ๊คใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน
สำหรับโน๊ตบุ๊คสำหรับใช้งานทั่วไป เช่น ดูหนัง ฟังเพลง พิมพ์งานหรือแค่การท่องอินเทอร์เน็ต การ์ดจอโน๊ตบุ๊คที่มาพร้อมกับซีพียูทั่วไป ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ์ดจอรุ่นใหม่ๆ ในเวลานี้ ก็มีความสามารถมากพอต่อการทำงาน และบางครั้งตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น Intel Iris Xe graphic รุ่นใหม่ ที่มีเทคโนโลยีช่วยในการประมวลผลกราฟิกได้ดียิ่งขึ้น เช่น DL Boost รวมถึงชุดกราฟิก 48-96 EUs เลยทีเดียว ให้ความเร็วได้ตั้งแต่ 1.10GHz ไปจนถึง 1.35GHz อีกด้วย เรียกได้ว่าความสามารถเทียบเท่ากับการ์ดจอแยกในระดับเริ่มต้นของคู่แข่งได้เลย พร้อมกับราคาที่เคาะออกมาแล้ว แทบไม่ทำให้โน๊ตบุ๊คที่ใช้กราฟิกรุ่นใหม่บนซีพียู Intel Core Gen11 ราคาแพงไปกว่าโน๊ตบุ๊คที่เป็น Core Gen10 มากมายนัก
ตัวอย่างกราฟิก Intel UHD Graphic, Intel Iris Plus และ Intel Iris Xe Graphic
- Intel Core i9-10980HK – Intel UHD Graphic, Base clock 350MHz, Upto 1250MHz
- Intel Core i7-10850H – Intel UHD Graphic, Base clock 350MHz, Upto 1150MHz
- Intel Core i5-1035G1 – Intel UHD Graphic, Base clock 300MHz, Upto 1050MHz
- Intel Core i5-10310U – Intel UHD Graphic, Base clock 300MHz, Upto 1150MHz
- Intel Core i7-1065G7 – Intel Iris Plus, Base clock 300MHz, Upto 1100MHz
- Intel Core i5-1030G7 – Intel Iris Plus, Base clock 300MHz, Upto 1050MHz
- Intel Core i7-1165G7 – Intel Iris Xe Graphic, Boost clock 1.30GHz, 96 CUs
- Intel Core i5-1145G7 – Intel Iris Xe Graphic, Boost clock 1.30GHz, 80 CUs
- Intel Core i5-1130G7 – Intel Iris Xe Graphic, Boost clock 1.10GHz, 80 CUs
AMD Radeon และ Vega Graphic
สำหรับการ์ดจอโน๊ตบุ๊คค่าย AMD เองก็มีการ์ดจอที่มากับซีพียูเช่นเดียวกัน มีตั้งแต่รุ่นประหยัด เริ่มต้นด้วย RX Vega 2 ไปจนถึงซีพียูตัวท็อปอย่าง Ryzen 7 ที่มีทั้ง Radeon RX Vega 7 และ Vega 10 และย่อมมาพร้อมกับความแรงแบบสมศักดิ์ศรี เหมาะกับคนที่กำลังมองหาโน๊ตบุ๊คที่มีการ์ดจอประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการ์ดจอแยก แต่ประหยัดพลังงาน โดยพื้นฐานของ RX Vega รุ่นใหม่นั้น สามารถเล่นเกมออนไลน์หรือเกมที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากมายนัก ให้เล่นได้ลื่นขึ้น แต่ชุดประมวลผลนั้นยังคงแชร์หน่วยความจำกับ RAM ตามปกติ สนนราคาของโน๊ตบุ๊คที่ใช้กราฟิกเหล่านี้ ค่อนข้างประหยัดเหมือนกัน
- AMD Athlon Silver 3050U – Radeon RX Vega 2, Boost clock 1100MHz, 128 Shader Units
- AMD Ryzen 3 3250U – Radeon RX Vega 3, Boost clock 1100MHz, 192 Shader Units
- AMD Ryzen 5 4500U – Radeon RX Vega 6, Boost clock 1500MHz, 384 Shader Units
- AMD Ryzen 7 2700U – Radeon RX Vega 10, Boost clock 1300MHz, 640 Shader Units
- AMD Ryzen 7 3700U – Radeon RX Vega 10, Boost clock 1300MHz, 640 Shader Units
- AMD Ryzen 7 4700U – Radeon RX Vega 7, Boost clock 1600MHz, 448 Shader Units
โน๊ตบุ๊คสำหรับทำงาน การศึกษาและสำนักงาน
สำหรับการใช้งานที่ต้องอาศัยประสิทธิภาพของกราฟิกเข้ามาช่วย รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์ให้ไหลลื่นขึ้น การ์ดจอโน๊ตบุ๊คแบบแยกที่เป็นตัวเริ่มต้น และมีหน่วยความจำสำหรับกราฟิกมาโดยเฉพาะ ไม่ต้องแชร์จาก RAM ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกว่า ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานที่ใกล้เคียงกับการ์ดจอแยก ที่อยู่ในกลุ่มของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ตัวอย่างเช่น GeForce MX330 หรือ MX350 ก็จะเทียบเคียงกับ GeForce GTX960 ส่วนรุ่นใหม่ MX450 ก็ให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ GTX1050 เลยทีเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำงานเอกสาร พรีเซนเทชั่นหรือจะดูภาพยนตร์ความละเอียดสูง ไปจนถึงการเล่นเกมอย่าง PUBG Mobile, DOTA2 การ์ดจอแยกเหล่านี้ ก็พอให้คุณเล่นได้ลื่นขึ้นกว่าการ์ดจอที่มีอยู่ในซีพียูอีกด้วย
nVIDIA GeForce MX series
- nVIDIA GeForce MX330 – Base clock 1,530MHz, Boost 1,590MHz, GDDR5 2GB, 384 Shader Units
- nVIDIA GeForce MX350 – Base clock 1,354MHz, Boost 1,468MHz, GDDR5 2GB, 640 Shader Units
- nVIDIA GeForce MX450 – Base clock 840MHz, Boost 1,020MHz, GDDR6 2GB, 896 Shader Units
โน๊ตบุ๊คเล่นเกม
มาถึงในกลุ่มของการ์ดจอโน๊ตบุ๊ค 2021 ที่เป็นโน๊ตบุ๊คเล่นเกมกันบ้าง ปีนี้ค่อนข้างสดใส และมีตัวเลือกให้ใช้งานได้เยอะ ต่างจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการ์ดจอค่าย nVIDIA ที่เรียกว่าซอยรุ่นกันให้ถี่ยิบ และหลายโมเดล ก็ใช้ชิปที่เป็นแบบการ์ดจอบนพีซีมาอีกด้วย จึงให้ประสิทธิภาพในการทำงาน แทบไม่ต่างจากพีซีเดสก์ทอปเลยทีเดียว เพื่อให้เกมเมอร์สามารถเล่นเกมได้สนุกสนาน ตัวเลือกที่มีตั้งแต่ GeForce GTX และ RTX series ขึ้นอยู่กับงบประมาณและการเลือกใช้ของแต่ละบุคคล หากเน้นที่ประสิทธิภาพ มีตัวเลือกอย่าง GeForce GTX 1660 Ti หรือ RTX 2070 และ RTX 3070 แต่ถ้าอยากได้โน๊ตบุ๊คบางเบา แต่การ์ดจอแรง ก็มีตัวเลือก RTX 2070 Max-Q ที่ประหยัดพลังงาน ความร้อนน้อย แต่เล่นเกมได้ลื่นเช่นเดียวกัน ส่วนถ้าจะก้าวสู่ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ อยากได้เฟรมเรตที่ไหลลื่น ไม่จำกัดในแง่ของงบประมาณ RTX 3080 ที่มาพร้อมหน่วยความจำ GDDR6 8GB และ CUDA core 6,144 ชุด ช่วยกระชากเฟรมเรตให้คุณเล่นเกมบนความละเอียดสูงที่มากกว่า Full-HD ได้สนุกเลยทีเดียว
จุดเด่นของกราฟฟิคการ์ดรุ่นใหม่จาก NVIDIA อย่าง NVIDIA GEFORCE RTX 30 Series จะโดดเด่นเรื่องการนำ AI เข้ามาประมวลผลทั้งการเรนเดอร์, การจัดการพลังงานและพัดลมให้เบาลงและลดการรบกวนระหว่างทำงานลงไปมากทีเดียว
นอกจากนี้ก็มีตัวเลือกจากค่าย AMD ที่มีตัวเลือกการ์ดจอโน๊ตบุ๊คอย่าง Radeon RX 5500M เป็นการ์ดจอแยกเริ่มต้น เหมาะกับการเล่นเกมพื้นฐาน ส่วนถ้าอยากจะขยับความแรงขึ้นมา ยังมี RX 5600M และ RX 5700M ให้ใช้งาน ซึ่งความแรงก็เทียบเท่ากับการ์ดจอคู่แข่งในระดับกลางได้เลย ไม่ว่าจะเป็น RTX 2070 หรือ RTX 2070 SUPER ด้วยสเปคที่ไม่ธรรมดา ราคาโน๊ตบุ๊คที่ใช้กราฟิกกลุ่มนี้ จับต้องได้ง่าย แต่ก็ผลิตภัณฑ์ที่ให้เลือกไม่มากนัก
nVIDIA GeForce GTX และ RTX series
- nVIDIA GeForce GTX 1650 – Base clock 896MHz, Boost clock 1,560MHz, GDDR5 4GB, 1024 CUDA cores
- nVIDIA GeForce GTX 1650 Ti – Base clock 1,350MHz, Boost clock 1,485MHz, GDDR5 4GB, 1024 CUDA cores
- nVIDIA GeForce GTX 1660 Ti – Base clock 1,455MHz, Boost clock 1,590MHz, GDDR6 6GB, 1536 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 2060 – Base clock 960MHz, Boost clock 1,200MHz, GDDR6 6GB, 1920 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 2070 Max-Q – Base clock 885MHz, Boost clock 1,185MHz, GDDR6 8GB, 2304 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 2070 Super – Base clock 1,140MHz, Boost clock 1,380MHz, GDDR6 8GB, 2560 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 2080 Super – Base clock 1,365MHz, Boost clock 1,560MHz, GDDR6 8GB, 3072 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 3060 – Boost clock 1,703MHz, GDDR6 6GB, 192-bit, 3840 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 3070 – Boost clock 1,620MHz, GDDR6 8GB, 256-bit, 5120 CUDA cores
- nVIDIA GeForce RTX 3080 – Boost clock 1,710MHz, GDDR6 8/16GB, 256-bit, 6144 CUDA cores
AMD Radeon RX series
- AMD Radeon RX 5700M – Boost clock 1,720MHz, Game clock 1,620MHz, GDDR6 8GB, 2,304 Stream processor
- AMD Radeon RX 5600M – Boost clock 1,265MHz, Game clock 1,190MHz, GDDR6 6GB, 2,304 Stream processor
- AMD Radeon RX 5500M – Boost clock 1,645MHz, Game clock 1,448MHz, GDDR6 4GB, 1,480 Stream processor
ตารางการ์ดจอโน๊ตบุ๊คเล่นเกม
Graphic model | Base clock | Boost clock | CUDA/Stream | Memory | |
GeForce GTX 1650 Ti | 1,350MHz | 1,485MHz | 1024 | GDDR5 4GB | |
GeForce GTX 1660 Ti | 1,455MHz | 1,590MHz | 1536 | GDDR6 6GB | |
GeForce RTX 2060 | 960MHz | 1,200MHz | 1920 | GDDR6 6GB | |
GeForce RTX 2070 Max-Q | 885MHz | 1,185MHz | 2304 | GDDR6 8GB | |
GeForce RTX 2070 Super | 1,140MHz | 1,380MHz | 2560 | GDDR6 8GB | |
GeForce RTX 2080 Super | 1,365MHz | 1,560MHz | 3072 | GDDR6 8GB | |
GeForce RTX 3060 | 1,703MHz | 3,840 | GDDR6 6GB | ||
GeForce RTX 3070 | 1,620MHz | 5,120 | GDDR6 8GB | ||
GeForce RTX 3080 | 1,710MHz | 6144 | GDDR6 8/16GB | ||
Radeon RX 5700M | 1,720MHz | 2,304 | GDDR6 8GB | ||
Radeon RX 5600M | 1,265MHz | 2,304 | GDDR6 6GB | ||
Radeon RX 5500M | 1,645MHz | 1,480 | GDDR6 4GB |
ข้อมูลโดยสรุปในการเลือกการ์ดจอโน๊ตบุ๊ค ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ที่จะเน้นสิ่งใดเป็นหลัก หากต้องการโน๊ตบุ๊คเล่นเกม ก็คงต้องเน้นที่การ์ดจอประสิทธิภาพสูง เช่น GeForce GTX หรือ RTX series รวมไปถึง AMD RX 5000M เป็นต้น แต่ถ้าใช้งานในชีวิตประจำวัน มีงานกราฟิกบ้าง แต่ไม่มาก อยากได้ความบันเทิงในช่วงพัก พกพาไม่ลำบาก โน๊ตบุ๊คที่ใช้การ์ดจอแยก GeForce MX330, 350 หรือ MX450 ก็ตอบโจทย์ได้ในราคาที่ระดับ 2 หมื่นกว่าบาท ส่วนถ้าใช้งานทั่วไป ทำงานเอกสาร ท่องอินเทอร์เน็ต ดูหนัง กราฟิกที่มาพร้อมกับซีพียูไม่ว่าจะค่าย Intel หรือ AMD ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว และยังให้คุณไม่ต้องจ่ายแพง เพราะเริ่มต้นแค่หมื่นกว่าบาทเท่านั้น ยกเว้นกลุ่มที่เป็นโน๊ตบุ๊คบางเบา หรือพรีเมียม ก็จะขยับสูงขึ้นไป ตามฟังก์ชั่นและวัสดุของโน๊ตบุ๊คในรุ่นนั้นๆ ครับ