อาการผิดปกติที่เกิดกับโน๊ตบุ๊ค บางทีก็เกินกำลังในการซ่อมโน๊ตบุ๊คด้วยตัวเอง เพราะฮาร์ดแวร์หลายขิ้น อะไหล่หลายตัว ไม่สามารถให้ผู้ใช้ทั่วไป มาเปิดซ่อมหรือแก้ไขได้เอง เปิดเครื่องไม่ติด ลำโพงไม่มีเสียง จอดับ บูตไม่เข้าระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มีทางเดียวก็ต้องส่งซ่อมเท่านั้น
แต่จะเช็คอย่างไร ว่าอาการใด ต้องยกไปหาช่าง เข้าศูนย์ซ่อมโน๊ตบุ๊ค ในเบื้องต้นง่ายๆ เลยคือ สังเกตว่าเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การใช้แฟลชไดรฟ์บูตเข้าเครื่องด้วยตัวเอง หรือการ Reset PC ได้ตามปกติ รวมถึงบางคนอาจจะพอแกะอุปกรณ์ เช่น แรม หรือ SSD, HDD เอามาทดสอบ ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือบางคนอาจจะอยู่ในระดับ Advanced ที่สามารถถอดเปลี่ยนหน้าจอได้ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ดังนั้นสิ่งที่อาจจะต้องพอรู้ไว้ ก็จะเป็นเรื่องของอาการ ที่คุณจะต้องสังเกตได้ และบอกเล่ากับช่างที่รับซ่อมสินค้าของคุณได้อย่างละเอียด เพราะจะคล้ายกับการที่คุณไปหาหมอ หากบอกอาการได้ละเอียดครบถ้วน ก็จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้ครบถ้วนและรวดเร็วยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า คุณก็จะหายได้เร็วกว่าการที่ไปแบบไม่แน่ใจ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การรับประกัน เราเคยอาจได้ยินการรับประกันที่มีหลายรูปแบบ เช่น ประกัน 3 ปี ประกันอุบัติเหตุ ประกัน On-site service หรือเป็นแบบ Carry on ซึ่งสิ่งเหล่านี้คืออะไรกันบ้าง อาจจะต้องทำความเข้าใจไว้บ้าง เพื่อที่จะไม่เสียสิทธิ์ของคุณเอง รวมถึงในแต่ละที่ก็จะมีเงื่อนไขในการรับประกันสินค้าที่อาจต่างกันออกไปดังนี้
- On-site service เป็นการรับประกันแบบมาซ่อมให้ถึงที่ จะเปลี่ยนอะไหล่ หรือซ่อมแซมในเงื่อนไข
- Next Business Day จะคล้ายกัน เพียงแต่จะมาซ่อมให้ในวันถัดไป หลังจากที่แจ้ง
- Carry-In Service ผู้ใช้นำโน๊ตบุ๊คเข้าไปให้ทางศูนย์ซ่อมด้วยตัวเอง
- แต่กรณีที่ไม่เร่งด่วนหรือผู้ใช้ยังพอทำเองได้ หลายที่ก็จะมีบริการให้ข้อมูลด้านเทคนิค ตั้งแต่เรื่องซอฟต์แวร์ ไปจนถึงฮาร์ดแวร์ เพื่อให้ผู้ใช้พอแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้
ส่วนเงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับประกัน ก็จะค่อนข้างคล้ายกันเกือบทุกค่าย
- ไม่เกิดจากการตกหล่น แตก บิ่น หัก
- ไม่รับประกันในส่วนที่เสียหายจากสัตว์ แมลงหรือมีมด หนู ไปทำรังเป็นต้น
- เสียหายอันอาจเกิดจากอุปกรณ์ต่อพ่วง
- หรือมีการดัดแปลงนอกเหนือไปจากที่ผู้ผลิตกำหนดให้
- การรับประกันฮาร์ดแวร์ เช่น แบตเตอรี่ อแดปเตอร์ รับประกัน 1 ปี
- ซอฟต์แวร์มาตรฐานในเครื่องรับประกัน 30 วัน
- หน้าจอมี Dot หรือ Dead pixels ต้องมีตั้งแต่ 4 จุดขึ้นไป
แต่บางค่าย ก็จะมีการรับประกันนอกเหนือจากการใช้งานปกติ เช่น เกิดอุบัติเหตุ ตกหล่น น้ำหกใส่ หรือไฟฟ้าลัดวงจร แบบนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนถ้านอกเหนือจากนั้น อาจจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20% ของค่าซ่อมเป็นต้น
อาการที่เจอบ่อยและค่าใช้จ่ายซ่อมโน๊ตบุ๊ค
1.เปิดเครื่องไม่ติด บูตไม่เข้าวินโดว์
เนื่องจากการบูตระบบมีปัญหาหรืออาจคาบเกี่ยวไปที่ฮาร์ดแวร์ด้วย ส่วนใหญ่มักจะไปจบที่การ ฟอร์แมต ลงวินโดวส์ใหม่ และไม่มีใครอยากจะต้องทำแบบนั้นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อมูลและโปรแกรมที่เซ็ตไว้ดีแล้ว แต่กรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรืออุปกรณ์บางอย่างทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น แรม ฮาร์ดดิสก์หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ที่ติดตั้งมายบนเมนบอร์ด อาจทำให้เกิดการรีบูตแบบไม่หยุดหรือบูตไม่เข้าระบบ ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ก็มีส่วนสำคัญทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ให้ลองนำฮาร์ดดิสก์ที่มี มาลองติดตั้งและบูตเข้าสู่ระบบดูก่อน เผื่อว่าฮาร์ดดิสก์เริ่มเสียหรือบางส่วนเสียหาย ทำให้ไม่อ่านไฟล์ในจุดดังกล่าวได้ ก็มีผลทำให้ไม่สามารถบูตเข้าระบบได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่แน่ใจจริง หรือไม่อยากแกะด้วยตัวเอง ส่งศูนย์ซ่อมน่าจะปลอดภัยและสะดวกกว่า
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: เฉพาะค่าฮาร์ดดิสก์ 1TB อยู่ที่ราวพันกว่าบาท ส่วนถ้าเป็น SSD ก็อยู่ที่ประมาณ ไม่ถึงพันบาท ไปจนถึงหลายพันบาท ขึ้นอยู่กับความจุและรูปแบบ ยังไม่รวมค่าแรง
2.จอภาพดับ
จอภาพเปิดไม่ติด ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาการที่หนักพอควร สำหรับผู้ใช้โน๊ตบุ๊ค เปิดคอมติด แต่ไม่ขึ้นภาพ จอดำ ไม่แสดงผล อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่ได้จำเพาะว่าเกิดจากหน้าจอเท่านั้น แต่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งตัวเครื่อง เมนบอร์ด สายแพและจอแสดงผล ที่ส่วนใหญ่ก็มักจะแก้ไขด้วยตัวเองได้ยาก เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใน หากไม่ชำนาญในการแกะโน๊ตบุ๊ค ก็ไม่แนะนำที่จะให้ทำด้วยตัวเอง ลองกดปุ่มเพาเวอร์เพื่อเข้าสู่ระบบ จากนั้นกด F2 หรือปุ่มสำหรับการเข้าสู่ BIOS ส่วนจะเป็นปุ่มใด ก็ขึ้นอยู่กับโน๊ตบุ๊คในแต่ละรุ่น ในขั้นต้นนี้ลองดูก่อนว่าสามารถเข้าไบออสได้หรือไม่ หากไม่มีสัญญาณใดๆ เข้าสู่หน้าจอ ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า เกิดปัญหาที่ในส่วนของ จอไม่ติด การแสดงผลและสายสัญญาณที่ต่อเข้าหน้าจอนั่นเอง ส่วนถ้าแสดงผลได้ในส่วนของไบออส แต่ยังเข้าระบบปฏิบัติการไม่ได้ ก็เป็นได้ว่าเกิดจากในส่วนของซอฟต์แวร์หรือโปรแกรม แต่ถ้าระบบไม่สามารถที่จะแสดงผลได้เลย ไม่ว่าจะแก้ไขในส่วนใดแล้วก็ตามแต่ ก็น่าจะเกิดความเสียหายบนเมนบอร์ด กราฟฟิกหรือชิปเซ็ตที่อยู่ภายใน ซึ่งก็คงจะเกินจากความสามารถของเรา มีเพียงวิธีเดียวก็คือ ต้องส่งเคลมหรือศูนย์ซ่อมเท่านั้น ในการตรวจเช็คอาการและแก้ไข
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: หากเป็นที่จอภาพ อาการจอดับ ไม่ขึ้นภาพ ค่าซ่อมอยู่ที่ราว 2,500 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความเสียหาย หรือคุณภาพของจอภาพในแต่ละรุ่น ซึ่งถ้าเปลี่ยน ก็อาจจะสูงกว่า 3,000 บาท++ บนจอภาพความละเอียด Full-HD ขึ้นไป
3.ลำโพงไม่มีเสียง
โดยปกติของระบบเสียง ของคอมพิวเตอร์นั้น เครื่องหมายลำโพงจะมีรูปลำโพงคือปกติ แต่ถ้าเป็นเครื่องหมายอื่นแสดงว่าระบบเสียงของเราอาจมีปัญหา ต้องรีบเช็คเพื่อให้ความบันเทิงของเรากลับมาเหมือนเช่นเดิม สังเกตว่า ตัวลำโพง ไม่ได้ขึ้นเครื่องหมายผิดปกติ ซึ่งเกิดจาก Windows รายงานความผิดพลาด รูปลำโพงกลายเป็นเครื่องหมายสีแดงแบบนี้ ซึ่งหมายถึงปิดการทำงานของลำโพง อาจจะเผลอไปกดที่ปุ่ม Hotkey หรือการคลิ๊กผิดไปโดนก็ตาม ดังนั้นแม้จะปรับ Volume ให้ดัง เสียงก็ไม่ออกมา เวลาแก้ไข ให้กดที่รูปลำโพงที่อยู่ด้านใต้แถบระดับเสียงหนึ่งครั้ง ให้เครื่องหมายกลับมาเหมือนเดิม แต่ถ้าลำโพงเสียงไม่ออก? เสียงยังไม่ดัง ก็ให้เราไป Device Manager โดยให้เราคลิกขวาที่ My Computer แล้วเลือก Properties จะมีคำสั่ง Device Manager แสดงอยู่เป็นคำสั่งแรกของแถบฝั่งซ้ายมือ ให้เราคลิกเข้าไปแล้วดูที่ไดร์เวอร์รูปลำโพงที่ติดตั้งเอาไว้ในเครื่อง ซึ่งถ้ามีเครื่องหมายสามเหลี่ยมสีเหลือง ก็อาจเป็นไปได้ว่า ไดรเวอร์ Speaker หายไป ถูกลบออก หรือลำโพงเสียก็เป็นได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องส่งซ่อม
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: ลำโพงโน๊ตบุ๊คเฉพาะค่าอะไหล่ เริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 400 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับโน๊ตบุ๊คแต่ละรุ่น เพราะบางรุ่นมาเฉพาะลำโพง แต่บางรุ่นมีซับวูเฟอร์มาด้วย รวมถึงอาการเสียข้างเคียง ซึ่งไม่รวมถึงชิปเสียงที่เป็นคอนโทรลเลอร์บนเมนบอร์ด
4.แบตไม่เก็บไฟ แบตหมดไว
อาการแบตเสื่อมแบตเสีย อาจทำให้ไม่สามารถบูตเครื่องได้ เนื่องจากเกิดอาการแบตเสื่อม ซึ่งเช็คได้ง่ายๆ ด้วยการ ชาร์จแบตด้วยการต่อไฟจากที่ชาร์จเอาไว้ จนกว่าจะเต็ม จากนั้นคลิกขวาที่ปริมาณแบตใน System tray ว่าเต็มหรือไม่ ถ้าแบตเริ่มเสื่อมมักจะชาร์จไม่เต็ม เพราะประสิทธิภาพในการเก็บประจุลดลง จากนั้นเปิดเครื่องในหน้า Windows ทิ้งไว้ ไม่ต้องใช้งาน แล้วดูว่าแบตลดลงรวดเร็วหรือไม่ โดยปกติ ก็จะค่อยๆ ลดลงนิดหน่อย กรณีที่ Idle บน Windows อยู่ๆ แบตลดลงไปเกือบครึ่งในไม่กี่นาที หรืออยู่ดีๆ เครื่องดับ ก็แสดงว่าแบตเสื่อมเยอะแล้วไม่เก็บไฟ การแก้ไขมี 2 ทางคือ ต่อไฟขณะใช้งานตลอดเวลา อาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานนอกบ้าน หรือจะเปลี่ยนแบตลูกใหม่ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: สนนราคาของการซ่อมโน๊ตบุ๊ค ด้วยการเปลี่ยนแบตรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้แพงมาก จะเลือกแบบของแท้หรือของเทียบ ก็แล้วแต่ความเหมาะสมตามงบประมาณในกระเป๋า ราคาเริ่มต้นกับแบต 3-cell ที่ประมาณพันกว่าบาท ไปจนถึงรุ่นท็อปๆ หรือบางรุ่นอะไหล่หายาก เช่นกลุ่มโน๊ตบุ๊คบางเบาหรือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวใหญ่ ราคาก็อาจจะสูงขึ้นไปอีก
5.โน๊ตบุ๊คร้อนแล้วดับ
อาการโน๊ตบุ๊คร้อนแล้วดับ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ใช้งานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โน๊ตบุ๊คมีระบบการระบายความร้อนที่จำกัดกว่าคอมพีซี จึงร้อนได้ง่าย ฝุ่นเข้าไปสะสม ทำให้ระบบระบายความร้อน เช่น พัดลม ทำงานไม่เป็นปกติ โน๊ตบุ๊คโดนกระแทก หรือตกหล่น เพราะอาจทำให้พัดลมระบายความร้อนเสียหาย การซ่อมโน๊ตบุ๊คในเบื้องต้นอาจจะไม่ได้ทำให้โน๊ตบุ๊คเสียหาย ช่างที่ชำนาญอาจจะแค่ แกะพัดลมและซิงก์ออกมาทำความสะอาดและทาซิลิโคนเข้าไปใหม่ รวมถึงปัดฝุ่นที่พัดลม หรือที่ขวางทางเข้าออกของอากาศ ก็ช่วยให้โน๊ตบุ๊คกลับมาเย็นเหมือนเดิมได้แล้ว แต่ถ้าในกรณีที่ไปเจอปัญหาใหญ่ เช่น พัดลมเสีย ก็ต้องว่ากันตามอาการ
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: โชคดีที่ปัจจุบัน พัดลมโน๊ตบุ๊คมีอะไหล่ค่อนข้างหาง่าย และมีทดแทนในแต่ละรุ่นได้พอสมควร จึงเปลี่ยนได้ง่ายกว่าในอดีต แต่เรื่องของราคาในบางรุ่น อาจจะแพงอยู่บ้าง สนนราคามีตั้งแต่หลักร้อยต้นๆ ขึ้นไป ยังไม่รวมค่าดำเนินการ
6.Blue screen บ่อย
Blue screen หรือ BSOD มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่การตรวจเช็คระบบให้พร้อมสำหรับการทำงาน ที่พบกันบ่อย จะเป็นเรื่องของ แรม ฮาร์ดดิสก์และซอฟต์แวร์หรือยูทิลิตี้ที่ติดตั้งไว้ ความไม่เข้ากันหรือไฟล์ระบบบางส่วนเสียหาย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหานี้ได้ แต่ที่เจอกันบ่อยก็หนีไม่พ้นปัญหาแรมเสีย อาจจะเป็นแรมออนบอร์ดหรือเป็นสล็อตแรมแยกก็ตาม รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์ที่ติด Bad sector รวมไปถึงเมนบอร์ดของโน๊ตบุ๊กเกิดความเสียหาย ทั้งการลัดวงจร ชิปหรือแผงวงจรมีปัญหา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผู้ใช้ทั่วไปอาจแก้ไขเองไม่ได้ ต้องส่งช่างที่ศูนย์ ถอดเปลี่ยนหรือซ่อม แล้วแต่กรณี
ค่าใช้จ่ายในการซ่อมโน๊ตบุ๊ค: การเปลี่ยนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด สนนราคาของแต่ละชิ้นก็ต่างกันออกไป เช่น แรม DDR4 8GB ตกประมาณพันกว่าบาท หรือจะเป็นฮาร์ดดิสก์ 1TB ก็ราคาพอๆ กับแรมที่ว่ามา แต่ถ้าเป็น SSD ก็แล้วแต่ความจุ ว่ากันตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไป ส่วนถ้าเป็นการซ่อมชุดเก็บประจุบางชิ้นก็ไม่แพง แต่ถ้าเปลี่ยนทั้งบอร์ดก็หลายพันบาทเลย
7.ต่ออินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อ WiFi ไม่ได้
อาการนี้ค่อนข้างชัดว่าเกิดปัญหาจากคอนโทรลเลอร์ WiFi ที่อยู่ในโน๊ตบุ๊ค อาจจะเช็คอาการได้โดย ใช้มือถือหรือคอมเครื่องอื่น เชื่อมต่อ WiFi ตัวเดียวกัน ถ้าใช้งานได้ ก็พอชี้ชัดได้ว่าเป็นปัญหาที่โน๊ตบุ๊ค ในเบื้องต้นอาจจะใช้วิธี Install Driver Wireless controller เข้าไปใหม่ หรืออัพเดตให้เป็นตัวล่าสุด รวมถึงลองปิดและเปิดการทำงานของ WiFi เช็คใน Device Manager ว่ายังสามารถ Detect สัญญาณได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าทั้งหมดยังใช้ไม่ได้ ก็พอมี 2 วิธีให้เลือกคือ แบบแรก ซื้อโมดูล USB WiFi มาติดตั้ง ข้อดีคือ ใช้งานได้เลย ข้อเสียคือ เสียพอร์ต USB ไปและต้องถอดเข้าออกทุกครั้ง อีกแบบหนึ่งคือ ส่งซ่อม ข้อดีคือ กลับมาใช้งานได้ปกติ ข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่าย และต้องส่งโน๊ตบุ๊คไปซ่อมอาจใช้เวลาหลายวัน
ค่าใช้ในการซ่อม: โดยปกติถ้าเป็นโมดูลที่ไม่ได้ฝังมาบนเมนบอร์ด ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก เปลี่ยนชิ้นโมดูลราคาไม่แพงมากนัก แต่ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คบางๆ เบาๆ อาจจะต้องซ่อมและถอดเปลี่ยน ซึ่งใช้เวลาและฝีมือ ราคาอาจจะสูงในระดับพันบาท
8.คีย์บอร์ดกดไม่ติด
อาการคีย์บอร์ดกดไม่ติด หรือติดบ้างไม่ติดบ้าง ก็อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักๆ คือ สายแพที่ต่อเข้ากับบนบอร์ดมีปัญหา แต่ถ้าโชคดีก็แค่หลวม ช่างเปิดเครื่องขยับเล็กน้อยก็ทำงานได้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการตกหล่นหรือเจอกระแทก แต่ถ้าสายหักก็ต้องเปลี่ยนใหม่ อาการแบบนี้เช็คด้วยการแกะเครื่องเองอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเป็นเครื่องในหลายๆ ปีก่อน แต่ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน สามารถแกะออกมาดูได้ไม่ยากนัก
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: อาการนี้ถือว่าไม่น่ากลัวสักเท่าไรในการซ่อมโน๊ตบุ๊ค เพราะถ้าดูจากราคาของคีย์บอร์ดที่เป็นอะไหล่วางจำหน่ายอยู่นั้น เริ่มที่หลักร้อย ไปจบที่พันกลางๆ ถึงสองพัน แต่คุณอาจจะต้องเสียเวลาค่อนข้างนานในการส่งซ่อม
9.บานพับและกรอบจอแตก
เป็นอาการที่เรียกว่าค่อนข้างน่าห่วง เพราะปัญหาแรกคือ ถ้าซ่อมแล้วไม่สวย ก็ไม่น่าใช้ รวมถึงบานพับก็เป็นสิ่งสำคัญ เปิดไปเปิดมา ก็อาจจะเสียได้อีก และที่สำคัญคือ บานพับก็จะเกี่ยวข้องกับบรรดาสายแพ สายสัญญาณต่างๆ อาจส่งผลทำให้สิ่งเหล่านี้เสียหายได้อีกด้วย หากซ่อมแล้วไม่จบ ดังนั้นผู้ใช้อาจจะต้องส่งซ่อมแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายลุกลามได้ อาการที่เจอคือ กรอบจอเริ่มเปิดอ้า ไม่แนบไปกับแผงจอ หรือปิดพับโน๊ตบุ๊คลงไม่สนิด มักจะเจอได้บนโน๊ตบุ๊คที่ใช้มาหลายปี หรือหล่นกระแทกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายในการซ่อม: เนื่องจากกรอบบานของหน้าจอนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ซึ่งจะไม่เหมือนกัน บางรุ่นที่นิยม มีจำหน่ายในบ้านเราเยอะ ก็มักมีเป็นสต๊อกสำรองเอาไว้ บางครั้งเบิกศูนย์ยังพอได้ แต่บางรุ่นก็อาจจะต้องสั่งและรออะไหล่ ซึ่งผู้ใช้จะเปลี่ยนเองก็ได้ หากสั่งของจากต่างประเทศ แต่ก็ค่อยแนะนำ เพราะโอกาสที่ทำพลาด แตกหักก็มี เพราะเครื่องมือไม่พร้อม ก็ยิ่งทำให้เสียเวลา เสียเงินเพิ่มขึ้น ฝากทางร้านหรือศูนย์ที่วางใจได้เปลี่ยนให้ แถมยังมีประกันร้านให้อีก เพิ่มเงินไม่มาก แต่อุ่นใจได้มากกว่า