ในช่วงที่ผ่านมานั้นมีข่าวลือออกมามากมายหลายครั้งว่าทาง Apple จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ที่ตัวเองเป็นผู้ออกแบบเองแทนหน่วยประมวลผลจากทาง Intel บนเครื่อง Mac ต่างๆ อย่างไรก็ตามแต่แล้วนั้นข่าวลือดังกล่าวนี้ก็ยังคงไม่เคยเกิดขึ้นจริงในทุกๆ ปีที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของทาง Apple ทว่าหากจะว่าไปแล้วนั้นความเป็นไปได้ของข่าวลือเรื่องนี้ก็ถือว่ายังคงมีอยู่เพราะคงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหน่วยประมวผลสถาปัตยกรรม ARM ที่ทาง Apple ออกแบบเองนั้นถือได้ว่าเป็นหน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้การเปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM นั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ง่ายเท่าไรนักเพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญมากๆ เลยก็คือตัวระบบปฎิบัติการและซอฟต์แวร์ต่างๆ บน Mac นั้นถูกออกแบบขึ้นมาให้ใช้งานบนหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรมแบบ x86 ของทาง Intel(รวมถึง AMD) มาอย่างยาวนาน นั่นทำให้หากทาง Apple ต้องการที่จะเปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM นั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะอาจจะทำให้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่รองรับการทำงานเหมือนกับที่ Microsoft เองก็ประสบปัญหานี้อยู่เช่นเดียวกัน
กล่าวลึกลงไปมากกว่านั้นแล้วหน่วยประมวลผลของทาง Intel จะใช้สถาปัตยกรรมการออกแบบแบบ CISC (Complex Instruction Set Architecture) ซึ่งแตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมการออกแบบแบบ RISC (Reduced Instruction Set Computer) ของสถาปัตยกรรม ARM เป็นอย่างมาก ทว่าสถาปัตยกรรมแบบ RISC นั้นก็มีข้อดีอย่างที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเช่นอัตราการใช้พลังงานนั้นจะต่ำกว่าในขณะที่ยังคงความสามารถในการประมวลผลได้ไม่แพ้กับสถาปัตยกรรม CISC
ตัวอย่างง่ายๆ สำหรับข้อดีของสถาปัตยกรรมแบบ RISC ก็คือมันจะมาพร้อมกับชุดคำสั่งที่เหมาะสมกับการทำงานซ้ำๆ กันมากกว่าเช่นหากในสถาปัตยกรรม CISC นั้นมีการใช้คำสั่ง “ต่อย” ถ้าจะให้ “ต่อย” หลายๆ ครั้งตัวโปรแกรมก็จะต้องเรียใช้คำสั่ง “ต่อย” ตามจำนวนครั้งที่ต้องการ ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบ RISC นั้นจะมาพร้อมกับคำสั่ง “ต่อยรัว” มาให้เลย จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากเป็นการทำงานกำคำสั่งเดิมๆ แล้วนั้นสถาปัตยกรรมแบบ RISC จะให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่าเป็นอย่างมาก
ประสิทธิภาพระหว่างหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ของทาง Apple กับหน่วยประมวลผลของทาง Intel
เชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะมีคำถามว่าหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ของทาง Apple นั้นมีดีอย่างไรถึงจะต้องเปลี่ยนมาใช้งาน งานนี้นั้นก็ต้องนำผลการทดสอบมาให้ดูกันเพื่อเป็นการเปรียบเทียบโดยจากตารางทางด้านบนนั้นจะเห็นได้ว่าหน่วยประมวลผล A12X ของทาง Apple บน iPad Pro รุ่นปี 2018 นั้นมีพลังในการประมวลผลพอๆ กับหน่วยประมวลผล Core i7 ของทาง Intel ซึ่งอยู่บน MacBook Pro รุ่นปี 2018 โดยถึงแม้ว่าคะแนนการทดสอบในส่วนของ multi-core จะได้น้อยกว่าแต่ทว่าเมื่อเทียบกับอัตราการใช้พลังงานแล้วนั้นหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ของทาง Apple ดีกว่าทาง Intel มาก
ปัจจุบันทาง Apple ก็ได้เริ่มใส่ชิปสถาปัตยกรรม ARM ลงบน Mac แล้ว
ทั้งนี้หากถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่ทาง Apple จะเปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM กับเครื่อง Mac ของตัวเอง คงต้องบอกอย่างในตอนต้นว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากเนื่องจากในปัจจุบันนั้นทาง Apple เองก็ได้มีการใช้ชิปสถาปัตยกรรม ARM เข้ามาเสริมการทำงานบนเครื่อง Mac แล้วไม่ว่าจะเป็น MacBook Pro, MacBook Air, iMac Pro และ Mac mini ซึ่งตัวเครื่องรุ่นดังกล่าวนั้นจะมาพร้อมกับชิปสถาปัตยกรรม ARM ที่มีรหัสว่า T1 และ T2 โดยจะทำหน้าที่ในการควบคุมการใช้งาน Touch Bar และอื่นๆ เป็นต้น
นอกเหนือไปจากนั้นแล้วทาง Apple ยังได้ใช้ชิป T2 ในการควบคุมส่วนต่างๆ บนตัวเครื่อง Mac อย่าง system management controller, image signal processor, SSD controller และ Secure Enclave with a hardware-based encryption engine อีกดังนั้นถ้าพูดถึงทาง Apple เองแล้วนั้นการออกแบบระบบปฎิบัติการ macOS ให้รองรับชิปหน่วยความจำสถาปัตยกรรม ARM คงไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก ทว่าสิ่งที่ Apple จะต้องทำให้ได้ก็คือการพยายามให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ภายนอกหันมาอัพเกรดโปรแกรมของตัวเองให้รองรับกับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ด้วย
ที่มา : macrumors