ถึงแม้ว่าในปี 2018 ที่ผ่านมานั้นจะเป็นปีที่ทาง Intel ครบรอบ 50 ปีก็ตามครับ ทว่าในปีนั้นเรียกได้ว่า Intel เองต้องพบกับปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในบริษัทที่ CEO ของบริษัทลาออก รวมไปถึงเรื่องใหญ่อย่างปัญหาเรื่องการผลิตที่กระบวนการผลิตระดับ 10 nm ซ้ำหนักไปกว่านั้นปี 2018 นั้นทาง Intel เองก็ยังต้องประสบกับปัญหาเรื่องที่ Apple เริ่มหมดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของทาง Intel ด้วย อย่างไรก็ดีครับถึงแม้ว่าปีครบรอบ 50 ปีของทาง Intel นั้นจะไม่ดีเท่าไรนักทว่าทาง Intel ก็สามารถผ่านมันมาได้เป็นอย่างดีครับ
หลังจากที่ผ่านไปหนึ่งปีแห่งความโชคร้ายนั้นล่าสุดดูเหมือนทาง Intel จะกลับมาพร้อมความมั่นใจอีกครั้งแล้วครับกับการเผยข้อมูลล่าสุดของหน่วยประมวลผลที่จะใช้กระบวนการผลิตที่ระดับ 10 nm รุ่นแรกของทาง Intel กับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lake ซึ่งทาง Intel ได้บอกเอาไว้ครับว่ากำหนดการในการส่งหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lack นั้นจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ครับ
เริ่มต้นเลยนั้นคงต้องขอให้ชาว Desktop นั้นดูกันไปก่อนครับเพราะทาง Intel นั้นจะเริ่มส่งหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lake สำหรับโน๊ตบุ๊คออกมาก่อนครับ โดยสำหรับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lack สำหรับโน๊ตบุ๊คนั้นก็ถือว่าน่าสนใจมากครับ สิ่งแรกที่จะไม่กล่าวถึงไปไม่ได้เลยนั้นก็คือในส่วนของอัตราการคายความร้อนของตัวหน่วยประมวลผลที่ลดลงโดยใน Core i3 นั้นจะมีอัตราการคายความร้อนอยู่ที่ 9 W TDP, Core i5 นั้นจะมีอัตราการคายความร้อนอยู่ที่ 15 W TDP และ Core i7 กับอัตราการคายความร้อนอยู่ที่ 28 W TDP ตัวหน่วยประมวลผลรุ่นท๊อปสุดนั้นจะมาพร้อมกับแกนการประมวลผล 4 แกน 8 เทรด โดยที่ความเร็ว turbo นั้นจะสูงถึง 4.1 GHz ครับ
นอกเหนือไปจากอัตราการคายความร้อนที่จะลดลงแล้วนั้นตัวหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lake ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการวาง Thunderbolt 3 controller ไว้บน PCH รวมไปถึงโมดูล Wi-Fi 6 GIG+, USB 3.1 controller และ Quad Core DSP ด้วยเช่นเดียวกันครับ งานนี้เรียกได้ว่าในส่วนของการใช้งานนั้นนอกจากจะเร็วมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว การโอนถ่ายข้อมูลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากอุปกรณ์เชื่อมต่อภายนอกก็จะเร็วมากขึ้นตามไปด้วยครับ
Ice Lake จะเร็วมากขึ้นแค่ไหน
สำหรับความเร็วที่เพิ่มขึ้นนั้นนอกจากในส่วนของความเร็วสัญญาณนาฬิกาของตัวหน่วยประมวลผลจะเพิ่มขึ้น ทาง Intel ยังได้บอกอีกด้วยครับว่างานที่สามารถในการทำงานต่อหนึ่งวงจรสัญญาณนาฬิกานั้นจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกันด้วยการใช้ชุดคำสั่งแบบใหม่ซึ่งหากเทียบกับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Skylake แล้วนั้น Ice Lake จะมีความเร็วมากกว่า 18% เลยทีเดียวครับ(แต่แบบนี้ก็พูดกันลำบากหน่วยครับเพราะ Skylake นั้นวางจำหน่ายมาตั้งแต่ 4 ปีก่อนที่ผ่านมาแล้วครับ)
ส่วนประสิทธิภาพในการทำงานแบบ Single Core นั้นทาง Intel เองก็ได้บอกเอาไว้ว่า Ice Lake จะเร็วกว่า Broadwell เป็นอย่างมาก ทว่าเช่นเดิมครับ Broadwell นั้นเป็นหน่วยประมวลผลรุ่นเก่าที่มีวางจำหน่ายมาได้ 5 ปีแล้วครับ
เอาเป็นว่าเราจะมองข้ามในส่วนของการเปรียบเทียบที่ทาง Intel เอาหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรมเก่า(มาก) มาทำการเปรียบเทียบครับ โดยในส่วนของการเล่นเกมนั้นทาง Intel ได้บอกว่าด้วยชิปกราฟิกแบบฝังบนหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lake รุ่นใหม่กับ Iris Plus นั้นจะสามารถเล่นเกมที่ความละเอียด 1080p ได้ FPS ที่ดีกว่า UHD 620 เป็นอย่างมาก ทว่าที่บอกว่าเป็นอย่างมากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเปิดเอฟเฟคที่ระดับ High ในการเล่นได้นะครับ
นอกจากการเล่นเกมแล้วนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง Intel ได้ให้สัญญาเอาไว้ก็คือประสิทธิภาพในการบีดอัดไฟล์วีดีโอ HEVC นั้นจะเร็วขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ในส่วนของประสิทธิภาพในการประมวลผลด้าน AI ก็จะเร็วมากขึ้นถึง 2.5 เท่าไม่ว่าจะเป็นในด้าน machine learning อย่าง image recognition เป็นต้นครับ ในส่วนนี้นั้นผู้ใช้จะสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างทันทีในการใช้งานฟีเจอร์การค้นหารูปภาพผ่าน Microsoft Photo ครับ
รองรับการใช้งานร่วมกับมอนิเตอร์มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยชิปกราฟิกแบบฝังรุ่นที่ 11 บน Ice Lake นั้นผู้ใช้จะสามารถทำการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์กับหน้าจอภายนอกได้มากขึ้นกว่าเดิมโดยสูงสุดจะอยู่ที่ 3 หน้าจอครับ ทั้งนี้ทาง Intel บอกว่าความละเอียดที่จะรองรับบนทั้ง 3 มอนิเตอร์นั้นก็จะเป็นที่ระดับ 5K@60Hz, 4K@120Hz กับระบบสีแบบ 10 bit เป็นต้นครับ นอกไปจากนั้นแล้วชิปกราฟิกรุ่นที่ 11 นั้นยังรองรับกับเทคโนโลยี VESA Adaptive Sync อีกด้วยต่างหาก(เทคโนโลยีการลด motion-blur และ screen-tearing แบบเดียวกันกับที่พบบน G-Sync และ FreeSync ครับ)
โมดูลใหม่ๆ ที่ถูกติดตั้งไว้บน PCH อาจจะไม่ได้พบเห็นในทุกๆ รุ่น
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Ice Lake นั้นน่าจะเป็นในส่วนของการติดตั้งโมดูลรับรองการเชื่อมต่อต่างๆ ลงไปไว้บน PCH ของหน่วยประมวลผลโดยตรงครับ ไม่ว่าจะเป็น Thunderbole 3 หรือ Wi-Fi 6 GIG+ ทว่าอย่าพึ่งรีบดีใจไปนะครับว่าคุณจะได้พบกับ Ice Lake ที่มาพร้อมกับโมดูลดังกล่าวทุกรุ่นเนื่องจากว่าทาง Intel นั้นจะยังคงใช้กระบวนการผลิตที่ระดับ 14 nm กับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ice Lake บางรุ่นอยู่ ที่สำคัญแล้วนั้นก็ใช้ว่า Ice Lake จะสามารถใช้ Thunderbolt 3 ได้ในตัวครับเพราะผู้ผลิตจะยังคงต้องซื้อชิ้นส่วนเชื่อมต่อบางอย่างเพื่อที่จะให้การใช้งานสมบูรณ์นั่นเองครับ
อย่างไรก็ดีครับ การติดตั้งโมดูลต่างๆ เพิ่มเข้าไปบน PCH นั้นก็ยังคงมีข้อดีอยู่เพราะนั่นหมายความว่าความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลของโมดูลต่างๆ ที่ถูกติดตั้งไว้บน PCH นั้นจะเร็วมากขึ้น ที่สำคัญแล้วนั้นมันยังสามารถลดอัตราการใช้พลังงานได้ถึง 300 mW อีกเทคโนโลยีใหม่สำหรับ Ice Lake ที่จะลืมไปไม่ได้เลยก็คือการรองรับ USB 4.0 นี่ล่ะครับ
ที่มา : theverge