ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ซื้อโน๊ตบุ๊คพีซี หรือประกอบเครื่องใช้เองก็มักอยากจะอัพเกรดเครื่องของท่านไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหลายๆท่านที่ใช้เครื่องมาสักพักแล้วพอมีงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์อัพเกรด หรือจากความจำใจที่ต้องอัพเกรทเครื่องให้ใช้งานได้ดีขึ้น โดยอุปกรณ์ที่หลายๆท่านมักจะมองเพื่ออัพเกรทเป็นหลักเลยนั่นก็คือ RAM หรือชื่อเต็มๆ คือ Random Access Memory
เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งเองได้ไม่ยาก แต่เครื่องส่วนใหญ่ก็มักจะมีสล๊อตแรมเหลือให้ใส่เพิ่มได้อยู่แล้ว จึงมักจะมีคำถามสอบถามตามกรุ๊ป หรือกระทั่ง inbox ของ NBS เองก็มี บางอันก็แปลกๆ บางอันก็เป็นความเข้าใจผิดๆ วันนี้ผมเลยมาแนะนำความเข้าใจผิดหลายๆ ท่านให้เข้าใจอย่างถูกต้องกันหน่อย
- ใส่แรมแถวใกล้ซีพียูสุดเพื่อความเร็วสูงสุด
เป็นคำพูดที่ผมได้ยินมานานตั้งแต่สมัยเริ่มเล่นคอมใหม่ๆ ละครับ จนปัจจุบันหลายๆ ท่านก็ยังเข้าใจแบบนี้อยู่ จึงมักจะใส่แรมบนสล๊อตที่ใกล้ซีพียูมากที่สุดเป็นหลักเพื่อความเร็วที่ดีที่สุด ซึ่งความเป็นจริงจะสล๊อตใกล้หรือไกลก็ให้ความเร็วไม่ต่างกันครับ เพราะสุดท้ายก็วิ่งไปที่ซีพียูหรือชิปเซ็ตพร้อมกันทุกสล๊อตอยู่ดีละครับ และความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลมันเร็วมากจนเราไม่รู้ถึงความต่างกันเลย ยกเว้นการติดตั้งแบบ Dual Channel ที่จะต้องติดตั้งให้ถูกสล๊อตจึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่งั้นมันก็จะเป็น Single Channel แบบที่นักจัดสเปคชื่อดังเคยพลาดมาแล้ว
อีกส่วนที่ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องติดตั้งแรมบนสล๊อตติดกับซีพียูเลยก็คือการจัดวางของพัดลมระบายความร้อนซีพียุ ที่บางตัวพัดลมหรือชุดระบายความร้อนใหญ่มากจนลามมาสล๊อตแรม ถ้าเราติดตั้งใกล้เกินไปแรมอาจจะบิดงอ หรือทำให้ระบบระบายความร้อนไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นติดตั้งตามความเหมาะสมดีกว่า
- บัสต่างกันใช้ด้วยกันได้ไหม
อีกหนึ่งคำถามโลกแตกของผู้ใช้แรม โดยเฉพาะผู้ใช้มือใหม่หรือผู้ใช้โน๊ตบุ๊คที่มักไม่รู้สเปคของแรมซึ่งติดตั้งอยู่ในเครื่อง อีกทั้งในตลาดก็มีหลายรุ่นหลายความเร็วบัสให้เลือก แล้วก็มักจะถามว่ารุ่นนี้แรมสเปคเป็นอย่างไร ความเร็วเท่าไร ซึ่งไม่ว่าแรมบัสเท่าไรขอให้เป็นชนิดเดียวกันสามารถใส่ด้วยกันได้ เช่นแรมเดิม 2133 MHz แต่ซื้อบัส 2400 MHz มาใสด้วยกันก็สามารถใช้งานได้ แต่แรมที่ความเร็วสูงกว่าจะถูกกดให้วิ่งเท่าความเร็วของตัวต่ำกว่าในที่นี้คือ 2400 จะลดสเปคเหลือ 2133 MHz เท่านั้นเอง
แต่ถ้าเอาให้ชัวร์เพื่อความเร็วที่สมบูรณ์แบบแนะนำให้โหลดโปรแกรมเช่น CPU-Z มาเช็คสเปคแรมที่มีอยู่ก่อน และซื้อแรมที่มีความเร็วเท่ากันจะดีและคุ้มค่ากว่า ยกเว้นแรมบางตัวที่ผลิตน้อยหรือเลิกผลิตไปแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรมสเปคต่ำ ก็จะแนะนำว่าซื้อแรมตลาดที่ความเรวบัสสูงกว่ามาใช้งานเผลอๆมีราคาถูกกว่าอีกนะ
- ความจุต่างกันใช้ด้วยกันไม่ได้
ถ้าถามว่าแรมต่างความจุกันใช้ด้วยกันได้ไหม ตอบได้เลยว่าได้ไม่ต้องห่วง เพราะแรมออกแบบมาให้สามารถใช้งานต่างสเปคกันได้อยู่แล้ว แต่ถ้าความจุเหมือนกัน สเปคเหมือนกันอาจจะสามารถทำ Dual Channel ได้ก็เท่านั้นเอง แต่ถึงไม่ใช่ Dual Channel ก็ไม่ได้ให้ประสิทะิภาพที่ต่างกันมากนัก เอาตามความจุที่เราต้องการดีกว่า สมมุติว่าเดิมมีแรม 4GB แต่เหลือสล๊อตว่างอีก 1 สล๊อต ถ้าซื้อใหม่มาอีก 4GB ก็อาจจะไม่พอใช้งานโดยเฉพาะสายเกม แต่ถ้าใส่ 8GB ไปเลยความจุไม่เท่ากัน แต่ก็ช่วยให้ใช้งานได้ดีกว่า และใช้งานด้วยกันได้ไม่ต้องเป็นห่วง
##แล้วเพื่อนๆ ท่านใดเคยได้ยินคนรอบข้างถามเรื่องอะไรแปลกๆ ในการใช้แรมกันบ้าง มาแชร์กันได้นะครับ##