ปัญหาจากการใช้ External HDD อาจเกิดขึ้นได้ในหลายสาเหตุ โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้งานบ่อยๆ ใช้ร่วมกันหลายคน หรือบางทีเกิดจากอุบัติเหตุ เช่นทำหล่นหรือใช้งานผิดรูปแบบก็มีเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับ External HDD หรือฮาร์ดดิสก์ต่อภายนอกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นนอกจากการใช้งานที่เหมาะสม การดูแลที่ดี ก็ควรจะต้องเก็บรักษาให้ปลอดภัยด้วย เพราะหากเอามาต่อแล้วใช้ไม่ได้ เปิดไม่ติด ต่อแล้วมองไม่เห็น โอกาสที่คุณจะเรียกข้อมูลกลับคืน หรือจะให้กลับมาเหมือนเดิมอาจจะยากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ External HDD เมื่อต่อแล้วใช้ไม่ได้ เปิดไม่ติด ต่อแล้วมองไม่เห็น ก็เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุเช่นกัน แต่ให้ลองเช็คปัญหาไปทีละขั้นตอนดังนี้
- เช็คสายต่อ USB ทำงานปกติหรือไม่ อาการติดๆ ดับๆ อาจเกิดขึ้นจากสายสัญญาณและพอร์ตต่อพ่วงจากตัว HDD ให้ลองใช้สายต่อ USB แบบเดียวกันจากรุ่นอื่นมาลองใช้ดูก่อน
- ลองต่อพอร์ต USB อื่นๆ บนคอมพิวเตอร์ เพราะอาจเกิดจากปัญหาของตัวพอร์ตที่ไม่รองรับหรือไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ตามปกติ
- หากเป็น External HDD แบบ 3.5″ ที่ต้องต่อไฟเลี้ยง ให้เช็คดูก่อนว่าสายไฟหรืออแดปเตอร์เหล่านั้นยังทำงานได้ ไม่เกิดความเสียหาย รวมถึงปลั๊กเอง ก็ควรจะต้องต่ออย่างแน่นหนา
- บางครั้งพาธไดรฟ์ (Label) ของไดรฟ์ที่นำมาต่อ อาจมีชื่อซ้ำกันอยู่ ก็อาจทำให้เรามองไม่เห็นไดรฟ์ที่ต่อเข้ามาใหม่นี้ การแก้ไขก็เพียงเข้าไปที่ Disk Management หากเป็น Windows 10 ให้คลิกขวาที่ Start menu > Disk Management และเลือกไดรฟ์ที่คิดว่าซ้ำกัน เช่น D:, E: หรือ F: แล้วคลิกขวาเลือก Change Drive Letter and Path… จากนั้นก็เปลี่ยนไดรฟ์ให้ไม่ซ้ำกัน เท่านี้ไดรฟ์ที่เป็น External ก็จะปรากฏขึ้นมาให้เราได้ใช้งานแล้ว
- หากซื้อฮาร์ดดิสก์นต่อภายนอก แบบประกอบเอง อาจจะต้องเช็คที่ตัวกล่องด้วยว่าเสียหรือไม่ เพราะบางครั้งแผงวลจรที่อยู่ในกล่อง อาจเสียหาย นั่นก็ทำให้ต่อแล้วใช้ไม่ได้ เปิดไม่ติด ต่อแล้วมองไม่เห็นได้เช่นกัน หากเสียก็เปลี่ยนกล่อง (Enclosure) ใหม่ได้เลย อย่าฝืนใช้งาน เพราะอาจจะทำให้ฮาร์ดดิสก์เราเสียหายไปด้วย
แต่ปัญหาแบบใด ที่คุณไม่ควรจะเข้าไปแก้ไขหรือทำสิ่งใดๆ กับตัวฮาร์ดดิสก์มากนัก
- มีเสียงขณะทำงาน เช่นเสียงแกรกๆ หรือเสียงโลหะกระทบกันดังผิดปกติ เพราะโอกาสที่หัวอ่านหรือสิ่งอื่นใดภายในฮาร์ดดิสก์อาจเกิดความเสียหายอยู่ การเปิดใช้ต่อหรือการฝืนใช้งานต่อเนื่องนานๆ อาจส่งผลเสียต่อข้อมูลที่เก็บอยู่บนแผ่นจานที่อยู่ในฮาร์ฺดดิสก์ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือ สำรองข้อมูลออกมาให้ได้มากที่สุด และต่อเนื่องที่สุด เหมือนกับว่าจะเปิดใช้ฮาร์ดดิสก์ลูกนั้นเป็นครั้งสุดท้าย
- หากมีปัญหาในการใช้งาน กรณีที่เกิดกับฮาร์ดดิสก์แบบสำเร็จรูป อาจจะต้องส่งเคลมกับผู้จำหน่าย และติดตามเรื่องของข้อมูลที่อยู่ภายในอีกครั้ง อาจมีโซลูชั่นที่แนะนำมาให้ แน่นอนว่าเราจะต้องเคลมทั้งในส่วนของฮาร์ดดิสก์และกล่องไปพร้อมกัน ในส่วนนี้ควรจะต้องเก็บกล่องที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของฮาร์ดดิสก์เอาไว้ด้วย เผื่อมีการเรียกเช็คเลข Serial
- แต่ในกรณีที่เป็นฮารฺดดิสก์แบบแยกประกอบเอง คือซื้อฮาร์ดดิสก์มา แล้วหาซื้อกล่อง Enclosure มาใช้ร่วมกัน การประกันก็จะอยู่ที่ฮาร์ดดิสก์เป็นหลัก เพราะกล่องจะเริ่มต้นการรับประกันในระดับเดือนเท่านั้น ยกเว้นที่เป็น Enclosure จากผู้ผลิตรายใหญ่ชั้นนำ ที่อาจจะมาพร้อมกันรับประกันระดับปี
แต่ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เรามองไม่เห็นฮาร์ดดิสก์ เปิดไม่ติด เกิดจากฮาร์ดดิสก์เสียหาย ให้หยุดทำการสแกนหรือแก้ไขแบบไม่ได้วางแผน เพราะนั่นอาจทำให้ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เสียไปตลอดกาล มีอยู่ 2 ทางเลือกที่น่าสนใจ หากข้อมูลไม่สำคัญมากนัก และยอมเสียได้บางส่วน ให้ใช้โปรแกรมสำหรับการกู้ข้อมูลที่คุณมั่นใจและพยายามทำเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น เพื่อลดความบอบช้ำกับตัวไดรฟ์ หรือถ้าสำคัญมากๆ ไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านั้นหายไป ศูนย์บริการกู้ข้อมูลก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคุณได้ เพราะจะมีพาร์ทหรือชิ้นส่วน ที่จะนำมาเปลี่ยนเพื่อให้ฮาร์ดดิสก์คุณทำงานได้อีกครั้ง พอให้การกู้ข้อมูลได้สะดวกขึ้น แต่ราคาก็จะสูงตามลักษณะความเสียหายและความจุของฮาร์ดดิสก์นั่นเอง
นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้เกิดความเสียหายกับข้อมูลสำคัญของคุณเอง การเลือกซอฟต์แวร์หรือซื้อฮาร์ดดิสก์เพิ่ม เพื่อสำรองข้อมูลเอาไว้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสำรองข้อมูลอย่างน้อย 2 แห่ง เช่น เก็บข้อมูลไว้ในคอม แต่ก็ควรจะมีเก็บสำรองไว้ใน External HDD ด้วย อันไหนเกิดหายหรือเสีย ก็ยังมีที่สำรองเอาไว้ เพราะถ้าเป็นรูปภาพ วีดีโอหรืองานสำคัญ เราไม่สามารถเรียกคืนกลับมาใหม่ได้อีกแล้ว การใช้ซอฟต์แวร์ Backup ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่จะทำให้การสำรองไฟล์ของคุณง่ายขึ้น แม้จะเสียเวลา แต่ก็คุ้มค่าต่อการใช้งานทีเดียว