หลายคนเลือกประกอบพีซีด้วยตัวเอง ด้วยงบประมาณตามที่ได้กำหนดไว้ และส่วนใหญ่ก็จะเลือกอุปกรณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะลงตัวในงบประมาณ เช่น ซีพียู แรม การ์ดจอ แต่บางครั้งก็ลืมไปว่า เพาเวอร์ซัพพลายนั้น จะเพียงพอต่อการใช้งานหรือเปล่า สิ่งที่สำคัญก็คือ การเลือก PSU ให้เยอะพอสำหรับการใช้งาน เพื่อลดปัญหาเรื่อง การจ่ายไฟไม่พอ หรือเครื่องดับ ไม่สามารถทำงานได้ เพราะจ่ายไฟแบบ Full Load ไม่ไหว
ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีการคำนวณในเบื้องต้น เกี่ยวกับการใช้พลังงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเลือกเพาเวอร์มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อการอัพเกรดในอนาคต
ซึ่งหากมองในภาพรวมก็คงต้องดูรายละเอียดกันไปทีละจุด สำหรับการใช้พลังงานของอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู แรม ฮาร์ดดิสก์ กราฟฟิกการ์ด แต่ข่าวดีก็คือ คุณสามารถค้นหาการค่าใช้พลังงานของอุปกรณ์ต่างๆ ได้จาก Google ด้วยการพิมพ์ชื่ออุปกรณ์และดูที่ technical Specification ในนั้นจะมีรายละเอียดของ Wattage แสดงอยู่
สำหรับกำลังไฟของซีพียูในปัจจุบันมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น AMD Sempron 2650 APU ทำงานในแบบ Dual Core และต้องการพลังงานเพียง 25W แต่สำหรับ Intel Core i7-6900K ซึ่งเป็นซีพียูระดับไฮเอนด์ก็จะใช้พลังงานมากกว่าและทำงานในแบบ 8- Cores เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่สูงในการประมวลผลอยู่ที่ 140W แต่สำหรับ AMD Ryzen 5 1600 ทำงานแบบ 6-Cores และใช้พลังงานเพียง 65W เท่านั้น
แต่สำหรับ GPU ต้องเรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างดุเดือด เพราะเวลาที่คุณพิมพ์งานหรือท่องเว็บ อาจไม่ได้ใช้พลังงานมากนัก แต่พอที่คุณเปิดเกมแอ็คชั่น 3D แล้วตั้งค่าเป็นแบบ Very High หรือ Extreme ก็จะมีการใช้พลังงานที่สูงขึ้นอย่างมาก เพราะมีการเรียกใช้ GPU อย่างมากมายเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น Radeon HD8470D อาจใช้พลังงานที่ 65W ในขณะที่ GeForce GTX 1080Ti นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 250W เมื่อทำงานแบบ Full-load
แรมมีการใช้พลังงานลดลงเล็กน้อย จากข้อมูลในเบื้องต้นจะระบุเอาไว้ประมาณ 4W ต่อโมดูล โดยที่ DRAM นี้จะมีการใช้พลังงานหรือ TDP ต่ำกว่า SRAM ในอดีต โดยสูงสุดอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10W เมื่อมีโหลดทำงานทั้งการอ่านและเขียนข้อมูล
ความแตกต่างของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งในแบบ HDD และ SSD ตัวอย่างเช่น Seagate 1TB BarraCuda HDD จะใช้พลังงานอยู่ระหว่าง 5.3W (500GB และ 1TB) และ 8W (2TB และ 3TB) เมื่อเทียบกับที่เรตราคาใกล้เคียงกันอย่าง SSD แต่ความจุน้อยกว่า จะใช้พลังงานอยู่ที่ประมาณ 21.2W ขณะทำงานหรือ 0.17W ในโหมด idle
เรื่องของการใช้พลังงานอาจดูยุ่งยากอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยหากคำนวณได้ดีพอ ก็จะช่วยให้การจ่ายไฟเป็นไปอย่างราบลื่น แต่อย่าลืมว่า Power Supplied นั้นใช้ไฟจากเต้าเสียบมากกว่าการจ่ายให้ระบบของคุณ เนื่องจากมันดึงกระแส AC จากปลั๊กและแปลงเป็น DC สำหรับบรรดาอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่อง จึงมีการสูญเสียพลังงานบางส่วนตรงจุดนี้ด้วย
ในการใช้ PSU ที่มีค่า efficiency 50% ก็จะหมายถึงคุณจะต้องดึงไฟ 800W จากไฟบ้าน เพื่อจ่ายให้กับระบบได้เพียง 400W เท่านั้น ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำไมถึงต้องเลือก PSU ที่มีประสิทธิภาพในการจ่ายไฟที่สูง เพื่อให้ใช้พลังไฟได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัยมากขึ้น
ที่มา: makeuseof