ประเด็นปัญหาสังคมมากมายถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อโซเชียล และถูกแชร์ต่อกันอย่างรวดเร็วราวกับไฟลามทุ่ง เรื่องราวเหล่านี้พบเห็นได้แทบทุกวัน ถ้าหากคุณผู้อ่านเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผูhเสพสื่อโซเชียล ซึ่งสื่อเหล่านี้ทุกคน ทุุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับการศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก ตรงจุดนี้เองทำให้เกิดสังคมตามน้ำแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง
สังคมตามน้ำ คำนี้หลาย ๆ คนคงไม่คุ้นหูสักเท่าไรนัก แต่ถ้าผู้อ่านเองลองนึกถึงพฤติดกรรมเหล่านี้ ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลทุกรายวัน ตามกระทู้หรือตามโพพสต่าง ๆ ก็คงจะเข้าใจดีถึงนิยามของคำว่า “สังคมตามน้ำ”
- แสดงความเห็นโดยอ่านแค่หัวข้อ
- ตีความจากคอมเม้นคนอื่น แล้วแสดงความเห็น
- เชื่อตามกันไปโดยไม่ตั้งคำถามหาข้อเท็จจริง
- แสดงความเห็นเชิงลบตามอารมณ์ความคิดของตัวเองเป็นหลัก
- ด่าก่อนอ่านทีหลัง
กรณีทั้ง 5 ที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่าง หลายคนคงจะนึกภาพสังคมตามน้ำกันออกแล้ว แน่นอนว่าบางคนมีพฤติกรรมเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวทำให้ สังคมตามน้ำเกิดการแพร่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลเสียด้านลบตามมาอย่างมากมาย เพราะผู้คนในสังคมเหล่านี้คือกลุ่มหลักในการตัดสินชีวิตคนที่ถูกนำไปเป็นประเด็นบนโลกโซเชียล ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นกันหลายกรณี ตามกระแสดราม่ารายวันที่เคยโด่งดัง และถูกลืมเลือนไปในเวลาอันสั้น ทิ้งไว้ให้เหลือแต่ความเสียหายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนหนึ่งคนไปตลอดกาล
การที่คนหมู่มากมาตัดสินชีวิตของคนอื่นบนโลกโซเชียล คนกลุ่มนั้นมีวุฒิภาวะพอแล้วหรือ
ในโลกแห่งความเป็นจริงการตัดสินคดีความต่าง ๆ ต้องทำไปตามขั้นตอน และถูกดำเนินการโดยศาล คณะลูกขุน อัยการ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมถูกยอมรับให้มาตัดสินคดีความโดยสังคมเห็นชอบ ซึ่งการตัดสินนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด (ถ้าหากตัดประเด็นเรื่อง ใต้โต๊ะ บนโต๊ะออกไป)
แต่สำหรับบนโลกโซเชียลแล้ว การตัดสินเหตุการณ์ต่าง ๆ ใครก็สามารถทำได้ เพียงแค่มีโซเชียลในมือ ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยหน้าตาก็สามารถกำหนดชีวิตคนได้ง่าย ๆ เพียงแค่พิมพ์ข้อความไปตามอารมณ์แล้วก็โพสลงไป ไม่ใช่แค่คนเดียวที่ทำได้ แต่เป็นหลักพัน หลักหมื่น จนไปถึงหลักล้านคน ที่ร่วมกันตัดสินเรื่องราวจากภาพเพียงหนึ่งภาพ คลิปเพียงหนึ่งคลิป หรือข้อความเพียงไม่กี่บรรทัด ไม่มีใครสนใจถึงที่มา เบื้องลึก เบื้องหลัง โพสเสร็จแล้วก็รู้สึกสบายใจ จากหนั้นก็หลบไปแสดงความเห็นเรื่องราวอื่นต่อ โดยไม่กลับมาติดตามเรื่องราวนั้นอีก
เรื่องราวของสังคมตามน้ำนั้นได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียหรือก่อนที่คอมพิวเตอร์จะถูกนำมาแพร่หลาย ดั่งภาพถ่าย “นายตำรวจจ่อยิงศีรษะนักโทษเวียดกงที่ใส่กุญแจมือ” อันโด่งดังจากสงครามเวียดนามที่ถูกตีพิมพ์บนสื่อทั่วโลกทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จนไปถึงเผยแพร่ทางโทรทัศน์ สิ่งที่ทุกคนได้เห็นจากเบื้องหน้า คือภาพความโหดร้ายจากสงครามเวียดนามที่มีการสังหารเชลยศึกไร้ทางสู้อย่างเลือดเย็น
แต่เบื้องหลังของภาพนี้ คือหัวหน้าหน่วยล่าสังหารของเวียดกงที่ถูกจับได้ เวียดกงคนนี้เพิ่งสังหารครอบครัวตำรวจ ทั้งลูกเมียและคนในบ้านอีกหลายศพ นายพลเหงียน หงอก โลน เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุด้วยความแค้น เขาสั่งให้ลูกน้องยิงฆาตกรเวียดกงคนนี้แต่ไม่มีใครกล้ายิงนายพลเหงียน หงอก โลน จึงจัดการเอง
แต่คนทั่วโลกได้ตัดสินภาพนี้ไปแล้วจากครั้งแรกที่เห็น นายพลเหงียนควรจะเป็นฮีโร่ แต่กลับถูกตีตราว่าเป็นผู้ที่ฆ่าคนไร้ทางสู้ สุดท้ายชีวิตคนหนึ่งคนต้องจบลงด้วยความความเกลียดชังของคนทั้งโลกจนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิต
เช่นเดียวกับโลกโซเชียลในยุคปัจจุบันนี้ จากเหตุการณ์ชายหนุ่มใส่รองเท้าเป็นรู แต่ถูกกล่าวหาว่าซ่อนกล้องจากภายถ่ายหนึ่งภาพบนโซเชียล หรือจะเป็นเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างคลิปวีดีโอผู้ชายสาดน้ำซุปใส่หน้าผู้หญิง ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเกิดจากฝ่ายชายเรื่องเข็นรถเข็นไปชนโต๊ะจนน้ำซุปหก และฝ่ายชายได้ขอโทษไปแล้ว แต่ฝ่ายหญิงได้ด่าทอคู่กรณีจนหมดความอดทน แต่คลิปถูกนำเสนอเพียงแค่ตอนสาดน้ำซุปเท่านั้น ทำให้ฝ่ายชายต้องตกเป็นจำเลยของสังคม
เพียงแค่คิดก่อนโพส หยุดตามน้ำ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ อย่าดูเพียงหัวข้อ
เรื่องสังคมตามน้ำเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากจากการที่ผู้คนบนโลกโซเชียลส่วนมากขาดการ คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม หาเหตุผล ใช้เพียงแค่ปลายนิ้วตัดสินชีวิตของคนอื่นโดยไม่สนใจผลที่ตามมา ถ้าผู้คนบนโซเชียลมีสติคิดก่อนที่จะโพสอะไรลงไป ก็จะสามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของสังคมตามน้ำได้อย่างดีเยี่ยม หาใครอ่านบทความนี้แล้วอย่าลืมเตือนสติตัวเองก่อนจะโพสหรือคอมเม้นอะไรลงไปบนโซเชียล และก็อย่าลืมเตือนสติคนรอบข้างให้หลุดจากวงจรสังคมตามน้ำ เพื่อโลกโซเชียลจะได้มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น