พูดกันตามตรงแล้วหล่ะก็งานวิจัยนี้ไม่น่าจะงานเข้าแค่ Fitbit เฉยๆ หล่ะครับเพราะว่าในปัจจุบันนั้นอุปกรณ์สวมใส่ที่มาในรูปแบบสายรัดข้อมือและสมาร์ทวอท์ชนั้นต่างก็ชูประเด็นเรื่องการใช้งานทางด้านสุขภาพกันทั้งนั้น ทว่าผลของงานวิจับที่ชื่อว่า Effectiveness of activity trackers with and without incentives to increase physical activity (TRIPPA): a randomised controlled trial ของทางทีมวิจัย Duke-NUS Medical School จากประเทศสิงคโปร์นำโดยศาสตราจารย์ Eric Finkelstein บอกเลยครับว่าอุปกรณ์อย่าง Fitbit นั้นไม่ได้ช่วยให้สุขภาพของผู้ใส่ดีขึ้นครับ
Fitbit ZIP
ตามงานวิจัยนั้นระบุเอาไว้ว่าทางทีมวิจัยได้ทำการวิจัยโดยเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพจากอาสาสมัครจำนวน 800 คนโดยอาสาสมัครนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 21 – 65 ปีและทุกคนอยู่ในวัยทำงาน(โดยมาจากบริษัทที่แตกต่างกัน 13 บริษัทและตำแหน่งของอาสาสมัครก็แต่ต่างกันไป) หลังจากที่ได้อาสาสมัครมาแล้วนั้นทางทีมวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่มโดยใช้วิธีการสุ่มแยกกลุ่มอาสาสมัครออกจากกัน ทั้งนี้อาสาสมัครทั้ง 4 กลุ่มจะถูกกำหนดตัวแปรควบคุมที่ใช้ในการวิจัยดังต่อไปนี้ครับ
- กลุ่มที่ 1 จำนวน 201 รายจะไม่ได้รับอุปกรณ์อะไรเลย
- กลุ่มที่ 2 จำนวน 203 รายจะได้รับอุปกรณ์ Fitbit ZIP สำหรับใช้ในการวัดจำนวนการก้าวเดิน
- กลุ่มที่ 3 จำนวน 199 รายจะได้รับอุปกรณ์ Fitbit ZIP สำหรับใช้ในการวัดจำนวนการก้าวเดินพร้อมทั้งได้รับราววัลตามจำนวนการก้าวเดินแต่ราววัลที่ได้รับจะถูกบริจาคให้กับการกุศล
- กลุ่มที่ 4 จำนวน 197 รายจะได้รับอุปกรณ์ Fitbit ZIP สำหรับใช้ในการวัดจำนวนการก้าวเดินพร้อมทั้งได้รับราววัลตามจำนวนการก้าวเดินเป็นของตัวเอง
การทดสอบการใช้งานนั้นจะกำหนดระยะเวลาอยู่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2013 ถึง 15 สิงหาคม 2014 โดยทางอาสาสมัครจะถูกนำมาวัดจำนวนการก้าวเดินและเวลาที่ใช้ไปกับกิจกรรมการออกกำลังกาย(ซึ่งในที่นี้คือการก้าวเดิน) ที่ใช้พลังงานสูงโดยจำนวนการก้าวเดินนั้นจะต้องมากกว่า 70,000 ครั้งต่อวัน(ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่ทางทีมวิจัยต้องการ) นอกจากนั้นจะวัดค่าทางด้านสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข่องเช่น น้ำหนัก, ความดันโลหิต, คุณภาพชีวิต โดยจะวัด 3 ครั้งคือก่อนการทดลอง, เมื่อผ่านไป 6 เดือนและหลังจากครบ 1 ปีครับ
หมายเหตุ – ค่าทึ่ถูกวัดได้จะถูกเปลี่ยนเป็นค่าสถิติทางด้านสุขภาพอย่าง moderate-to-vigorous physical activity (MVPA) เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบผลการทดสอบครับ
จากการทดสอบนั้นพบว่าเมื่อผ่านไป 6 เดือนแล้วกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับ Fitbit ZIP และเงินรางวัลจากการออกกำลังมากถูกให้เป็นการกุศลนั้นมีค่า MVPA มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งกลุ่มไปอยู่ที่ 21 MVPA(หรือสรุปคือออกกำลังกายมากขึ้น 21 นาทีต่อสัปดาห์) ส่วนกลุ่มที่ 4 ที่ได้รับ Fitbit ZIP และเงินรางวัลจากการออกกำลังมากให้เป็นของตัวเองนั้นมีค่า MVPA มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งกลุ่มไปอยู่ที่ 29 MVPA(หรือสรุปคือออกกำลังกายมากขึ้น 29 นาทีต่อสัปดาห์) ส่วนกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่ไม่ได้รับอะไรเลยกับได้รับ Fitbit ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดครับ(ค่าอยู่ที่ราวๆ 16 MVPA)
แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีนั้นกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับ Fitbit ZIP และเงินรางวัลจากการออกกำลังมากถูกให้เป็นการกุศลนั้นมีค่า MVPA อยู่ที่ 32 MVPA(หรือสรุปคือออกกำลังกายมากขึ้น 32 นาทีต่อสัปดาห์) ส่วนกลุ่มที่ 4 ที่ได้รับ Fitbit ZIP และเงินรางวัลจากการออกกำลังมากให้เป็นของตัวเองนั้นมีค่า MVPA อยู่ที่ 37 MVPA(หรือสรุปคือออกกำลังกายมากขึ้น 37 นาทีต่อสัปดาห์) ซึ่งค่านั้นไม่ได้แตกต่างไปจากกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับ Fitbit ZIP เฉยๆ อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดครับ
ทางศาสตราจารย์ Eric ได้สรุปผลเอาไว้ครับว่าจากการทดสอบนี้นั้นทำให้เราเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่วัดค่าทางด้านสุขภาพนั้นไม่ได้ทำให้คนเราสนใจที่อยากจะออกกำลังกายมากขึ้นเลยโดยเจ้าอุปกรณ์พวกนี้นั้นไม่ได้ต่างอะไรไปจากการเป็นแค่อุปกรณ์ที่ใช้วัดและบอกค่าให้คนเราได้รู้ค่าทางด้านสุขภาพเท่านั้นครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในช่วงแรกที่ผู้คนสวมใส่อุปกรณ์จำพวกนี้แล้วนั้นพวกเขาจะมีความตื่นเต้นและใส่ใจในการใช้งานพวกมันเพื่อออกกำลังกาย(หรือจะบอกว่าเห่อของใหม่ก็ได้ครับ) แต่หลังจากผ่านไปแล้วอุปกรณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งผลในการมีความพยายามจะออกกำลังกายเพิ่มเติม
ผลของการวิจัยที่น่าสนใจมากกว่าการได้รับ Fitbit ของการวิจัยนี้ก็คือการพบว่า “เงิน”(หรือของรางวัลที่ใช้ในการล่อใจ) มีผลต่อการเกิดความสำเร็จในการออกกำลังกายของกลุ่มทดสอบมากกว่าหล่ะครับ
ที่มา : thelancet(Lancet Diabetes & Endocrinology), medscape