ในปี้นี้ดูเหมือนว่าผู้ผลิตเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบแยกส่วนมากยิ่งขึ้น แทนท่จะใส่สิ่งต่างๆ เอาไว้ในเคสเครื่องเดียว แต่กลายเป็นว่า เรากระจายสิ่งต่างๆ ภายในออกมา แล้วใช้วิธีการเชื่อมต่อแบบใหม่ แทนสายไฟต่างๆ ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายภายในเครื่อ กับอุปกรณ์ที่สามารถแยกส่วน ถอดประกอบได้เหมือนกับการวางแท่งอิฐหรือต่อเลโก้
โดยมีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่จากทาง Razer ในโปรเจกท์ที่เรียกว่า Christine และ Acer Revo Build รวมถึง Micro Lego Computer ที่ต่างไม่มีใครอยากจะล็อคการพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ให้เป็นเฉพาะของตัวเอง แต่จะสามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งหมด เพื่อการทำงานที่คล่องตัวและเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกค้าที่จะเข้ามา
ซึ่งในการพัฒนาล่าสุด ก็ยังมีความหวังว่า modular pc นั้นจะเกิดขึ้นให้เห็นในเร็ววัน โดยเฉพาะการเติบโตของ Intel NUC ที่เป็นเครื่องในกลุ่ม Barebone ซึ่งได้รับการเพาเวอร์อัพให้มีพลังดังเช่นเครื่องพีซีปกติ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ การพัฒนาพอร์ตเชื่อมต่อสำหรับกราฟฟิกภายนอก ซึ่งนำโดย Raer Core นั่นเอง ความพยายามในการสร้างสรรสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตั้งใจหวังว่าจะเกิดขึ้นเป็นเครื่องพีซีในแบบ Lego ที่ประกอบเป็นชิ้นๆ ได้ง่าย ให้เราจินตนาการถึงคอมพิวเตอร์ที่สามารถแยกส่วนได้และใช้งานได้จริง
ใกล้ถึงเวลา Modular PC แล้วหรือยัง คำตอบมีอยู่ในเทคโนโลยีที่แฝงอยู่เวลานี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเดสก์ทอปพีซีแบบดั้งเดิม จะเห็นได้ชัดว่า Modular ให้ความสะดวกสบายกว่า เพราะฉีกกฏในเรื่องของการติดตั้งสายออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยแต่ละส่วนคือ พาร์ท (Part) ที่นำมาประกบเข้ากับเคสตัวหลักโดยตรง แบบไม่ต้องต่อสายให้วุ่นวาย ทำให้เราสามารถถอดเปลี่ยนหรือประกอบได้ง่ายขึ้น
เรื่องของความยุ่งยากนั้น เห็นได้ชัดในปัจจุบัน เมื่อคุณมีการอัพเกรดหรือเปลี่ยนซีพียูใหม่และเมนบอร์ดใหม่ ก็ต้องถอดสายไฟ สายสัญญาณและรื้อสิ่งต่างๆ ออกมากองข้างนอก จากนั้นใส่เมนบอร์ด ที่ติดตั้งซีพียูใหม่ลงไป แล้วจึงจะใส่ลงไปในเคส เพื่อต่อสายไฟต่างๆ อีกครั้ง นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับใครหลายคน แต่เมื่อมองไปที่ Intel NUCs สิ่งเหล่านี้มาพร้อมซีพียูและเมนบอร์ดในตัว ก็แทบจะไม่ต้องไปแตะอะไรกับการใช้งานมากนัก จะมีเพียงแรมและ Storage ที่มีการเพิ่มเติมเข้าไปในภายหลัง รวมถึงการเคลื่อนย้ายที่พกพาไปใช้งานนอกบ้านได้สะดวกขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ NUCs ยังได้พัฒนาให้ใช้ซีพียูแบบ Dual Core ที่ใช้พลังงานต่ำ ซึ่งล่าสุดได้ประกาศตัว Skull Canyon ที่ใช้ซีพียู Quad core ในรุ่น Core i7-6770HQ ที่จะได้พบกันในโน๊ตบุ๊คกลุ่มเกมเมอร์ ซึ่งสนับสนุนแรม 32GB ในแบบ DDR4 อีกด้วย ทำไมเรื่องนี้ถึงมาเกี่ยวข้องกับ Barebone ส่วนหนึ่งก็เพราะคุณลักษณะที่ขนาดเล็ก จัดการสะดวก รวมถึงไม่ต้องใช้พื้นที่ภายในให้เสียเปล่า โดยที่ Intel ทำให้เห็นในเรื่องของการพัฒนากราฟฟิกในตัวให้ทดแทนการใช้กราฟฟิกอื่นมาติดตั้งในตัว และยังเลือกใช้ M.2 สำหรับการเก็บข้อมูลที่รวดเร็วภายใต้พื้นที่เล็กๆ สิ่งที่ได้ก็คือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ต้องวุ่นวายกับสายไฟต่างๆ แต่ยังคงรองรับการอัพเกรดได้ดี
External Graphic กราฟฟิกภายนอก เทคโนโลยีที่เชื่อมโลกคอมพิวเตอร์
ในช่วงปีที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปที่ใช้กราฟฟิกบนซีพียูเริ่มจะไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ใช้ในกลุ่ม เกมเมอร์ นักออกแบบ นักตัดต่อวีดีโอและอื่นๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องการประสิทธิภาพที่แข็งแกร่ง และเป็นไปได้ว่า เทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ก็คือ External Graphic หรือกราฟฟิกต่อภายนอกนั่นเอง ในเดือนที่ผ่านมา Razer ได้นำเสนอ External Graphic ในรูปแบบ Enclosure โดยที่ Razer Core นี้ รองรับกราฟฟิก GPU ได้สูงถึง 375 TDP และเชื่อมต่อเข้ากับพีซีผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 รวมถึงการเข้ากันกับ Skull Conyon NUC อีกด้วย
ดังนั้นเราน่าจะเห็นภาพบางส่วนขึ้นบ้างแล้ว กับระบบที่แท้จริงของ Modular PC ที่ทั้งหมดถูกจับแยกส่วนออกจากกัน รวมถึงมีการถอดเปลี่ยนได้ง่ายดาย และเนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง เพียงแต่โครงสร้างหลักอาจจะยังใกล้เคียงกับพีซีเดสก์ทอปแบบเดิม แต่ละส่วนจะถูกแยกออกเป็นชิ้น และประกบเข้าไปในโครงสร้าง ที่ช่วยให้คุณสามารถ Swap สับเปลี่ยนระหว่างระบบ AMD หรือ Intel รวมถึงการใช้กราฟฟิกการ์ดของ AMD หรือ nVIDIA ได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องรื้อชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาและเสียบสายกลับไปใหม่
ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่า เราจะได้เห็นผู้ผลิตพีซีที่เป็นแบบ Single Dock เหมือนแกนหลัก ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ จากภายนอก เช่น mini-PC, HDD และGraphic เข้ามาติดตั้งผ่านพอร์ตเชื่อมต่อความเร็วสูงและจ่ายไฟได้ในตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาพอร์ตในการเชื่อมต่อ ที่ต้องให้ความเร็วในการติดต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในปัจจุบัน แต่ก็คงต้องมองว่ามีผู้ผลิตที่เข้าร่วมและสนใจในการพัฒนาร่วมกันมากน้อยเพียงใด เพราะระบบนี้อาจจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์มากและเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น เกมเมอร์ ที่อาจจะดูคุ้มค่ามากกว่า อย่างไรก็ดีคงต้องดูกันต่อไปในอีก 3-4 ปี
ที่มา :pcworld