Connect with us

Hi, what are you looking for?

Special Story

อดีตปรมาจารย์การดีไซน์ Apple วิจารณ์การออกแบบของ Apple ในปัจจุบันว่า “สวยแต่ใช้งานยาก”

ในครั้งอดีตกาลสมัยที่ Apple ยังคงมี Steve Jobs เป็นผู้กุมบังเหียนนั้นต้องยอมรับจริงๆ ครับว่ามีผู้ที่เพรียบพร้อมไปด้วยความสามารถมากมายหลากหลายสาขาได้เข้าไปร่วมทำงานกับ Jobs ทว่าแน่นอนครับ

ในครั้งอดีตกาลสมัยที่ Apple ยังคงมี Steve Jobs เป็นผู้กุมบังเหียนนั้นต้องยอมรับจริงๆ ครับว่ามีผู้ที่เพรียบพร้อมไปด้วยความสามารถมากมายหลากหลายสาขาได้เข้าไปร่วมทำงานกับ Jobs ทว่าแน่นอนครับเมื่อกาลเวลาผ่านไปผู้ที่เข้าทำงานกับ Apple เมื่อแก่ตัวขึ้นก็ต้องมีการเกษียณออกไปหรือย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่นบ้าง อย่างไรก็ตามนั้นเท่าที่ผ่านมาเราจะไม่ค่อยได้เห็นอดีตของพนักงาน Apple ออกมาเขียนบทความต่างๆ ว่ากล่าวอะไร Apple กันสักเท่าไรนัก ถึงจะมีบ้างเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้มากมายครับ

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 01

Advertisement

ล่าสุดไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นมาเพราะอดีตพนักงานเก่าของ Apple ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นปรมาจารย์ทางด้านการออกแบบดีไซน์ไปแล้ว 2 ท่านอย่าง Don Norman และ Bruce Tognazzini ได้ร่วมใจกันเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการดีไซน์ทางด้านซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ของ Apple ในปัจจุบันและได้มีการเผยแพร่ผ่านทาง Fastcodesign(ต้นฉบับตามลิงค์ที่มา) เมื่อไม่นานมานี้ โดยทั้ง 2 ท่านได้กล่าวไว้ครับว่าดีไซน์ของซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ของ Apple ในปัจจุบันนั้นสวยงามมากขึ้นกว่าเดิมมากแต่ “ใช้งานยากกว่าเดิม” เยอะครับ

ย้อนกลับไปในอดีตนั้นผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็นทางด้านซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์นั้นจะได้รับการใส่เป็นเป็นพิเศษในการออกแบบโดยยึดหลักว่า “easy-to-use, easy-to-understand” หรือ “ใช้งานง่ายและเข้าใจได้ง่าย” ครับ หากมองกันแบบไม่เอียงแล้วก็ต้องยอมรับจริงๆ ครับว่าผลิตภัณฑ์ของ Apple ในอดีตนั้นเป็นอย่างที่ทั้ง 2 ท่านกล่าวอ้างมาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ graphical user interface นั้นใช้งานง่ายมากๆ ทำความเข้าใจได้เร็ว หรือจะเป็นทางด้านฮาร์ดแวร์ที่องค์ประกอบต่างๆ นั้นชัดเจนในการทำงานว่ามันเอาไว้ใช้ทำงานเพื่ออะไรครับ

เมื่อกลับมามองในยุคปัจจุบันนั้นทั้ง 2 ท่านต่างยอมรับครับว่าผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้นมีความสวยงามมากขึ้น แต่ว่าความสวยงามของมันนั้นก็ต้องแลกมาราคาอันแสนแพงครับ ทั้ง 2 ท่านมองว่าผลิตภัณฑ์ Apple ในยุคสมัยใหม่นั้นได้ขาดในส่วนของหลักการพื้นฐานของการออกแบบที่ดีไปหมดไม่ว่าจะเป็น discoverability(ความสามารถในการเข้าถึงหรือค้นพบได้โดยง่าย), feedback(การตอบสนองในการใช้งาน), recovery(การกู้คืน) ฯลฯ เสมือนกับว่า Apple ใส่ใจแค่เรื่องของความสวยงามแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ทั้ง 2 ท่านได้ยกตัวอย่างของการออกแบบที่ไม่ดีของ Apple ไว้ด้วยครับเช่น

  • การออกแบบตัวอักษรที่ทั้งเล็กลงและผอมลงควบกับความคมชัดที่น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนไม่สามารถที่จะทำการอ่านด้วยสายตาปกติได้
  • การสร้างระบบการควบคุมด้วยท่าทาง(gestures) ที่สุดแสนจำกำกวม กำกวมในระดับที่มันเยอะมากจนเกินไปมากกว่าความสามารถของนักพัฒนาที่จะทำการจดจำและเข้าถึงทั้งหมดเพื่อที่จะนำไปพัฒนาเพื่อใช้งานต่อได้
  • นอกจากนั้นแล้วทั้ง 2 ท่านยังได้บอกว่า Apple ยังได้ใส่ฟีเจอร์ต่างๆ เข้ามาในผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากมาย มายจนขนาดที่ว่าผู้ใช้บางคนก็ไม่รู้เลยครับว่ามีฟีเจอร์นั้นๆ ให้ใช้งานได้ด้วย

“Apple กำลังทำลายการออกแบบ”

ทั้ง 2 ท่านได้บอกเอาไว้ครับว่า Apple กำลังทำลายหลักการออกแบบ ที่แล้วร้ายที่สุดก็คือ Apple ทำลายความเชื่อในการออกแบบเก่าๆ ที่ดีไปจนหมดเพราะ Apple ในปัจจุบันใส่ใจแค่ในเรื่องการจะทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์สวยงามเท่านั้น ทั้ง 2 ท่านได้บอกเอาไว้ว่าการออกแบบนั้นเป็นวิธีคิดที่จะกำหนดว่าผู้ใช้ต้องการอะไรบ้างหลังจากนั้นผู้ที่ทำการออกแบบจะต้องนำสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการส่งไปให้ผู้ใช้ทั้งผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการ การดีไซน์นั้นเป็นการรวมกันของความเข้าใจในตัวผู้คน(หรือผู้ใช้), เทคโนโลยี, สังคมและธุรกิจ การผลิตความสวยงามของวัตถุเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ องค์ประกอบหนึ่งของการดีไซน์สมัยใหม่เท่านั้น

ข้อความที่หนักที่สุดที่ทั้ง 2 ท่านส่งสารไปถึง Apple(รวม Google เข้าไปด้วย) นั่นก็คือ “Apple เคยเป็นผู้นำในเรื่องนี้ แล้วไม่รู้ทำไมถึงต้องทำตัวเองให้ตามกระแสไปกับผู้อื่น ที่ร้ายกว่านั้นทำไม Google ถึงต้องทำตามข้อเสียทั้งหมดของ Apple ไปด้วยซะงั้น)

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 03

ทั้ง 2 ท่านได้บอกเอาไว้ต่อครับว่าในอดีตนั้นผลิตภัณฑ์ของ Apple ถือได้ว่าเป็นข้ออ้างอิงที่ดีในการดีไซน์เพราะมันเต็มไปด้วยทั้งการเข้าถึงได้ง่าย, สามารถเข้าใจได้ไม่ยากและทรงพลังเป็นอย่างมาก มากพอที่ผู้อื่นจะต้องมาดูการออกแบบของ Apple ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อนำไปอ้างอิง ในอดีตนั้นแนวทางการออกแบบและหลักการในการออกแบบของ Apple ถือว่าทรงพลัง, เป็นที่นิยมและมีอิทธิพลในวงกว้าง แต่ตอนนี้มันกลับไปเป็นคนละเรื่องเลยครับ

ผลิตภัณฑ์แรกของ Apple ที่เริ่มเข้าสู่ยุคของการดีไซน์ที่เน้นไปทางด้านความสวยงามนั้นทั้ง 2 ท่านได้บอกไว้ว่าคือ iPhone รุ่นแรกครับ โดยเราจะเห็นได้ว่า iPhone รุ่นแรกนั้นเน้นในเรื่องของรูปแบบดีไซน์ gestural-based interfaces หลังจากนั้น iPad ก็ตามออกมาโดยใช้หลักการดีไซน์แบบเดียวกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้นั้นได้ทิ้งหลักการเรื่องการใช้ปุ่มเยอะๆ อย่างจงใจ ทำให้พวกมันขาดส่วนหนึ่งของหลักการออกแบบที่ดีไปอย่าง discoverability และ recoverability โดยเหลือไว้เพียงการตอบสนองต่อผู้ใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือผู้ใช้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่บากที่จะทำการเรียนรู้เพื่อใช้งาน แถมผู้ใช้ยังรู้ตัวว่าต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวก็เมื่อสายไปซะแล้วเพราะผู้ใช้ได้ทำการจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ สิ่งที่ผู้ใช้ทำได้ก็คือพวกเขาต้องพยายามเรียนรู้ที่จะใช้งานรูปแบบการใช้งาน gestural-based interfaces ใหม่ที่ Apple ดีไซน์ให้เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่าซื้อบื้อเกินไป … อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ iPhone และ iPad ได้เป็นตัวอย่างของกรณีศึกษาในเรื่องของความสวยงามที่มาพร้อมความเรียบง่ายในส่วนต่างๆ ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการใช้คำ, สัญลักษณ์ต่างๆ หรือกระทั่งเมนู ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีหลายๆ คนไม่สามารถอ่านตัวอักษรบนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ก็ไม่มีคนแคร์ครับเพราะมันสวยแล้ว

ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งได้บอกแก่ทั้ง 2 ท่านไว้ครับว่าเธอต้องใช้ assistive tool บน iOS เพื่อที่จะทำการปรับขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่เธอจะสามารถทำการอ่านข้อความบนหน้าจออุปกรณ์ของเธอได้ แต่กระนั้นเธอก็ยังต้องพบเจอกับปัญหาที่บนบางหน้าจอและบนบางแอปพลิเคชันนั้นมีตัวอักษรที่ใหญ่มากจนเกินไปไม่พอดีกับหน้าจอ เหนือสิ่งอื่นใดเธอผู้นี้ไม่มีปัญหาทางด้านสายตาแต่อย่างใดและเธอก็ไม่ได้มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นด้วย ดังนั้นแล้วทั้ง 2 ท่านคาดว่าเธอคนนี้สามารถที่จะทำการด้วยสายตาของเธอได้เป็นอย่างดีก่อนที่ Apple จะทำการเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรให้เล็กลง, ผอมลงและคมชัดน้อยลงกว่าเดิมครับ

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 05

“ตัวอักษรไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่แสดงถึงความล้มเหลวในการออกแบบของ Apple”

ไม่เพียงแค่เรื่องของการออกแบบตัวอักษรเท่านั้นครับที่เป็นข้อบ่งชี้ว่า Apple ล้มเหลวทางด้านการออกแบบ ในอุปกรณ์ปัจจุบันของ Apple นั้นขาดในเรื่องของ discoverability เป็นอย่างมาก คุณจะไม่สามารถที่จะทำการมองที่หน้าจอแค่เพียงอย่างเดียวแล้วค้นพบวิธีการที่จะควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ของ Apple ได้เลย สิ่งที่คุณทำนั้นจะต้องปาดนิ้วมือไปทางซ้ายหรือขวา ไม่ก็ขึ้นหรือลงด้วยนิ้วหนึ่งนิ้ว … สองนิ้วหรือมากถึงขนาด 5 นิ้วพร้อมกันเลยทีเดียว นอกไปจากนั้นแล้วคุณยังต้องใช้นิ้วกดไปที่หน้าจออีกซึ่งต้องยอมรับเลยครับว่าบางทีผู้ใช้ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจะใช้งานได้จากการกวาดนิ้วแล้วกดไปที่หน้าจอเพียงครั้งหรือสองครั้ง เพราะผู้ใช้งานต้องผ่านการลองถูกลองผิดก่อน

ที่หนักที่สุดที่ผลิตภัณฑ์ของ Apple ในปัจจุบันนั้นแถบจะไม่มีเลยก็คือเรื่องของ recoverability หรือความสามารถในการย้อนกลับครับ ในอดีตที่ผ่านมานั้น iOS เป็นระบบปฎิบัติการตัวอย่างที่ดีมากที่คาดความใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะคุณจะไม่มีปุ่มใดๆ ที่จะสามารถทำการย้อนกลับการกระทำของคุณได้เลยนอกเหนือไปจากการกดปุ่ม Home เพื่อกลับไปที่หน้าจอหลักเท่านั้น ถึงแม้ว่า iOS เวอร์ชันหลังๆ มาจะได้รับการแก้ไขในส่วนนี้บ้างแต่ก็ยังถือว่าเข้าถึงยากอยู่

ในสมัยแรกๆ นั้นคุณเชื่อไหมครับว่าเพื่อที่จะทำการย้อนกลับการกระทำที่ผู้ใช้เผลอสั่งงานพลาดไปนั้น ผู้ใช้บางคนถึงกับเคยเขย่า iPhone หรือ iPad อย่างรุนแรงมาแล้วเพราะคิดว่ามันจะสามารถช่วยทำให้เขาย้อนกลับการสั่งงานที่สั่งผิดไปได้ ซึ่งในขณะที่Apple นั้นรู้ตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าจะทำการแก้ไข iOS ให้ดีขึ้นแต่ก็ยังมีใช้งานแค่ในบางหน้าจอเท่านั้น กลับกันแล้วทางฝั่ง Android นั้นทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าเพราะมีการกำหนดมาอย่างชัดเจนว่าอุปกรณ์ที่จะใช้ระบบปฎิบัติการ Android ได้นั้นจะต้องมีปุ่ม Home, Back และ Menu

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 06

ทั้ง 2 ท่านนั้นได้บอกครับว่าปัญหาในเรื่องของการออกแบบที่เน้นไปแต่ความสวยงามนั้นไม่ได้เป็นเฉพาะ Apple เท่านั้น เพราะในปัจจุบันนั้นหลายๆ บริษัทได้เอาแบบอย่าง Apple ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามนำหน้าแต่คาดซึ่งความสามารถอื่นๆ ที่ดีของการดีไซน์ที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น Google กับ Google Maps ที่นับวันนั้นสวยงามมากขึ้นๆ แต่ทว่ามันก็ดันใช้งานยากมากขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน และสิ่งเดียวกันนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับการออกแบบระบบปฎิบัติการ Android ด้วย

ในทางกลับกันนั้น Microsoft สามารถทำการดีไซน์ Windows 8 ให้มีความฉลาดและเป็นอัจฉริยะสำหรับอุปกรณ์ที่เน้นการใช้งานทางการออกท่าทาง(gestural) มากกว่า ทว่าสิ่งที่ Microsoft ผิดพลาดไปก็คือการลืมเรื่องของความต้องการในอดีตของผู้ใช้ที่คุ้นเคยและสามารถใช้งานรูปแบบ Desktop ได้เป็นอย่างดี โชคดีที่ Microsoft รู้ตัวเร็วและทำการปรับปรุงระบบปฎิบัติการใหม่ออกมาเป็น Windows 10 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้ง 2 ท่านยังไม่ขอวิจารณ์ Windows 10 มากเนื่องจากว่าทั้ง 2 ท่านนั้นยังใช้งาน Windows 10 ได้ไม่นานพอที่จะวิจารณ์ได้ทั้งหมดครับ

“อะไรคือสิ่งที่ Apple ผิดพลาด”

หลายท่านคงมีความสงสัยครับว่า Don Norman และ Bruce Tognazzini เป็นใครกันถึงกล้าที่จะออกมากล่าวว่า Apple แรงขนาดนี้ โดยก่อนอื่นนั้นต้องบอกว่าหากท่านใดที่เรียนอยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและวิศวกรรมซอฟต์แวร์นั้นน่าจะเคยได้ยินชื่อทั้ง 2 ท่านนี้มาก่อนเพราะทั้ง 2 นั้นก็เป็นผู้เขียนหนังสือที่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะนำมาให้ผู้เรียนได้ทำการเรียนด้วยครับ

Bruce Tognazzini 600

Bruce Tognazzini

พูดถึงท่านแรกก่อนอย่าง Bruce Tognazzini หรือ “Tog” นั้นเป็นผู้เขียนหนังสือ “Tog on Interface” เข้ามาทำงานในสมัยที่ Steve Jobs ยังคงอยู่(ในตอนแรกก่อนที่จะออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่) ซึ่ง Tog นั้นเป็นบุคคลสำคัญของ Apple ที่ได้เขียนเอกสารอย่าง “Apple Human Interface Guidelines” ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับแนวทางในการพัฒนา GUI ซอฟต์แวร์บนระบบปฎิบัติการ Mac สำหรับ Apple ที่ทาง Apple ได้ใช้งานในช่วงต้นๆ มาอย่างยาวนานครับ(และเอกสารดังกล่าวก็ได้มีบริษัทอื่นๆ นำไปอ้างอิงดัดแปลงเพื่อใช้งานให้เข้ากับรูปแบบของบริษัทตัวเองด้วย)

Don Norman 600

Don Norman

ในส่วนของ Don Norman นั้นเป็นผู้เขียนหนังสือ “The Design of Everyday Things”(ซึ่งบอกตามตรงเลยครับว่าผมนี่แหละได้เรียน textbook เล่มนี้ด้วย) โดย Norman นั้นเข้ามาเป็นพนักงานของ Apple หลังจาก Tog ซึ่งตอนนั้น Jobs ได้ออกจากบริษัท Apple ไปช่วงหนึ่งและก่อนที่ Jobs จะกลับเข้ามากุมบังเหียน Apple เหมือนเดิมในช่วงปี 1996 นั้นทาง Norman ก็ได้ออกจาก Apple ไปก่อน ทำให้ Norman นั้นไม่ได้พบกับ Jobs โดยตรง

ทว่า Norman นั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับบริษัท Apple อย่างมากเพราะเขาทำงานในตำแหน่ง “User Experience Architect” ซึ่ง Norman นั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกของ Apple ที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่มีคำว่า “User Experience” นี้ครับ

สรุปแล้วก็คือบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้นั้นได้เข้ามาทำงานกับ Apple ในช่วงเวลาที่ Apple ยึดถือเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ว่า “easy-to-use, easy-to-understand” ครับ ในสมัยนั้น(หากยอมรับกันตามความจริงแบบไม่แอนเอียง) ผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาพร้อมกับคู่มือการใช้งานใดๆ เลยครับ

ก่อนที่ Jobs จะกลับเข้ามาอีกครั้งในปี 1996 การออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Apple จะยึดถือแนวความ 3 สิ่งเป็นหลักสำคัญคือ user experience(ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้, engineering(วิศวกรรม) และ marketing(การตลาด) ซึ่งแนวความคิดทั้ง 3 ส่วนนี้จะเข้ามาเป็นส่วนของวงจรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ในวันแรกจนกระทั่งวันที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถูกส่งไปเตรียมทำการจำหน่ายครับ

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 08

สิ่งที่ทั้ง 2 ท่านยกตัวอย่างขึ้นมานั้นไม่ใช่เฉพาะกับในส่วนของ iPhone และ iPad เท่านั้น ทว่าในส่วนของการออกแบบ Mac ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่ทั้ง 2 ท่านยกขึ้นมาก็คือการใช้งาน Apple mouse หรือ trackpad บนเครื่อง Mac ที่ทั้ง 2 ท่านยอมรับครับว่ามันมาพร้อมกับดีไซน์ที่เรียบง่ายและดูสวยงามมากจริงๆ แต่ว่าในการใช้งานนั้นยากมาก

ผู้ใช้ที่ต้องการใช้งาน Apple mouse หรือ trackpad บนเครื่อง Mac ให้เต็มประสิทธิภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ลักษณะการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยถ้าหากท่านไม่เชื่อให้ลองเข้าไปดูที่ “System Preferences”(หรือ Control Panel) บน Mac แล้วอ่านในส่วนตัวเลือก(และความแตกต่าง) ระหว่างการควบคุมในรูปแบบ tabs กับ gestures ของ Apple mouse หรือ trackpad ดูครับ ท่านจะพบว่ามันเข้าใจยากมากทีเดียว

อย่างที่บอกไปครับว่า Tog นั้นเป็นผู้ที่เขียน “Apple Human Interface Guidelines” ขึ้นมาโดยฉบับแรกนั้นได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นมาตั้งแต่ในปี 1978 (ใช้เวลาเขียนในช่วงปี 1985 – 1986) ซึ่งแม้กระทั่งในปี 1996 ที่ Jobs กลับมากุมบังเหียน Apple แล้ว “Apple Human Interface Guidelines” ของ Tog นั้นก็ยังคงมีการใช้งานอยู่เรื่อยมา โดยหลักการของการออกแบบที่ Tog ได้ใส่เข้าไปใน “Apple Human Interface Guidelines” เต็มไปด้วยความใส่ใจในเรื่องของความต้องการ, ความปรารถนาและความสามารถของมนุษย์ ซึ่งนั่นทำให้หลักการดังกล่าวอ้างอิงจากสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการโดยตรงครับ

ทาง Norman หลังจากที่ออกจาก Apple แล้วไปเป็นอาจารย์สอนที่ University of California, San Diego (UCSD) ก็ได้มีการตีพิมพ์บทความทางด้านวิชาการพร้อมด้วยหนังสือชื่อ User Centered System Design (UCSD) ที่ใช้หลักการมาจาก “Apple Human Interface Guidelines” มาทำการปรับปรุงเพื่อพัฒนารูปแบบการออกแบบซึ่งในการตีพิมพ์นั้นได้มีการทดสอบการออกแบบดังกล่าวก่อนตีพิมพ์จากผู้ใช้ทั่วไป(ซึ่งใช้เวลานานในการทดสอบ) เพื่อทดสอบความพึงพอใจ ซึ่งผลตอบรับดีเป็นอย่างมากจนทำให้นักพัฒนาหลายๆ คนและพนักงานบางคนของ Apple ถึงกับเข้าไปเป็นนักเรียนของ Norman เพื่อเรียนเรื่องด้านการออกแบบโดยเฉพาะอีกด้วย(ในช่วงยุค 80s)

แน่นอนครับว่ายุคสมัยผ่านก็ต้องมีการปรับปรุงเรื่องของแนวคิดในการออกแบบกันบ้าง ซึ่ง Apple เองก็เป็นบริษัทที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดการออกแบบรวมไปถึงออกเอกสาร “Apple Human Interface Guidelines” เวอร์ชันใหม่ๆ ออกมาเหมือนกัน(อย่างของ iOS เองตอนนี้ฉบับล่าสุดก็เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 5 เดือนพฤศจิกายน 2015 ที่ผ่านมาเองครับ : Designing for iOS) การพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีครับ เพราะถ้าไม่พัฒนา Apple เองก็คงสู้กับคู่แข่งไม่ได้ แต่ทว่าสิ่งที่ Apple ทำพลาดในการออกเอกสาร “Apple Human Interface Guidelines” เวอร์ชันใหม่ๆ ก็คือแทนที่ Apple จะทำการทดสอบกับผู้ใช้งานจริงๆ แต่ Apple ดันทดสอบกันเองภายในโดยผู้ร่วมงานในบริษัท Apple ครับ

“Apple ละทิ้งสิ่งดีๆ ในอดีตสำหรับความสวยงามเท่านั้น”

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 07

ภาพการเปลี่ยนแปลงของ Apple Human Interface Guidelines ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดย Michael Meyer

หากคุณลองมองดูแผนภาพทางด้านบนที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของ Human Interface Guidelines ตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2015 จะเห็นได้ครับว่า Human Interface Guidelines การออกแบบของปี 2015 ที่ใช้สำหรับ iOS นั้นวิวัฒนาการมาจากระบบปฎิบัติการอย่าง OS X ซึ่งทั้ง 2 ระบบปฎิบัติการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพราะ iOS นั้นเป็นระบบปฎิบัติการที่เน้นใช้งานกับอุปกรณ์ที่ต้องทำการออกท่าทาง(gestural devices) แต่ OS X นั้นเป็นระบบปฎิบัติการที่ยังคงเน้นการใช้งานผ่านเมาส์และคีย์บอร์ดอยู่ครับ

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถใช้ Human Interface Guidelines ของระบบปฎิบัติการหนึ่งในการออกแบบอีกระบบปฎิบัติการหนึ่งไม่ได้นะครับ แต่สิ่งที่ปรากฎนั้นก็คือคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรทาง Apple ก็ตัดเอาแนวคิดในการออกแบบที่ดีๆ ไปตัวอย่างเช่นในปี 2008 ที่แนวคิดเรื่อง Stability(ความเสถียร) และ Modelessness(การโต้ตอบของหน้าต่างที่สอง) หายไป ต่อมาในปี 2010 แนวคิด See and Point(ความสามารถในการมองเห็นและชี้) หายไปซึ่งเป็นช่วงที่ Apple ปล่อย iOS 4 ออกมา … ดังนั้นแล้วหลังจากนั้นไม่อยากจะคิดครับ

dieter-rams 600

Dieter Rams 

จริงๆ แล้วที่เป็นเช่นนี้นั้นทาง Apple ก็มีเหตุผลครับ เพราะ Apple ในปัจจุบันได้อ้างว่าพวกเขาใช้หลักการออกแบบของ Dieter Rams นักออกแบบชาวเยอรมันซึ่งเขาผู้นี้เป็นผู้ที่เคยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและสามารถเข้าใจได้กับบริษัท Braun มาหลายปี โดยหลักการออกแบบของ Rams นั้นก็คือ 10th Principle: “Good design is as little design as possible” ซึ่งทั้ง Tog และ Norman ได้วิจารณ์ไว้ค่อนข้างหนักครับว่าถ้าคุณได้ทำตามหลักการของ Rams มา 9 ข้อแรกแล้วก็น่าจะถึงเวลาหยุดไม่ใช่ยัดเยียดสิ่งต่างๆ ออกมาให้มันแน่นมากจนเกินไป โดยหลักการของ Rams ทั้ง 10 ประการมีดังต่อไปนี้ครับ

  1. Innovative
  2. Makes a product useful
  3. Aesthetic
  4. Makes a product understandable
  5. Unobtrusive
  6. Honest
  7. Long-lasting
  8. Thorough down to the last detail
  9. Environmentally friendly
  10. As little design as possible

How Apple Is Giving Design A Bad Name 600 09

ตามหลักการแนวคิดการออกแบบของ Rams ที่ได้ให้ความหมายนั้นทุกข้อดีหมดครับ แต่สิ่งที่ Apple พลาดและไม่ยอมบอกคนอื่นก็คือทาง Apple นั้นไม่ได้ปฎิบัติตามแนวทางการออกแบบของ Rams อย่างแท้จริง บางข้อนั้น Apple ก็ตัดออกไปเฉยๆ หรือบางข้อ Apple ก็เปลี่ยนความหมายของ Rams ให้เป็นของตัวเองไปซะอย่างนั้น ซึ่งในที่สุดแล้วกลายเป็นว่า Apple แค่ตามหลักการข้อที่ 10 ของ Rams ตามหลักการของ Rams จริงๆ เท่านั้นครับ

หมายเหตุ – ท่านใดสนใจคำอธิบายของหลักการออกแบบของ Rams ที่ทาง Tog และ Norman ได้ยกมาเป็นตัวอย่างว่า Apple ทำให้ผิดเพี้ยนไม่ตรงตามต้นฉบับสามารถเข้าไปอ่านในลิงค์ที่มาได้ครับ โดยหลักๆ แล้ว Tog และ Norman ได้กล่าวถึง 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ Makes a product useful, Aesthetic และ Makes a product understandable ครับ

iOS 9 ที่พึ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานนั้น ทั้ง 2 ท่านก็ได้วิจารณ์เอาไว้ค่อนข้างจะหนักเช่นเดียวกันครับ อย่างเช่นตัวอักษรบนคีย์บอร์ดของ Apple เองที่ไม่ว่าจะใช้งานเป็นตัวพิมพ์เล็กหรือตัวพิมพ์ใหญ่ก็จะแสดงผลเป็นตัวพิมพ์ใหญ่มาโดยตลอด และเป็นระยะเวลานานมากกว่าที่ Apple จะทำการเปลี่ยนมันให้ถูกต้องใน iOS 9 นี้ ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว Android สามารถทำได้ดีมาตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด

หากอ้างอิงจากบทความของ Forbes : “Apple iOS 9 has 25 Great Secret Features.” ที่หมายความว่า Apple เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ มาใน iOS 9 โดยที่ไม่มีการบอกผู้ใช้โดยตรงทำให้ผู้ใช้ต้องมาศึกษาการใช้งานใหม่และจดจำเพิ่ม(อีกครั้ง) ซึ่งกลับกลายเป็นว่า iOS 9 ที่มีส่วนที่ดีขึ้นแต่ก็มีส่วนที่แย่ลงใส่มาด้วยซะอย่างนั้น

ทั้งนี้ทั้ง 2 ท่านก็ได้ให้แนวทางในการแก้ไขไว้ด้วยเช่นกันว่าการออกแบบนั้นทั้งทางด้าน Graphic และ interaction ควรที่จะออกแบบให้ทำงานอย่างควบคู่กันไป ซึ่งนั่นหมายถึงว่านักออกแบบทางด้านอุตสาหกรรม, วิศวกรและโปรแกรมเมอร์ จะต้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกๆ การออกแบบที่ออกมานั้นควรจะต้องมีการทดสอบโดยมืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อที่จะหาทั้งจุดผิดพลาดและ usability(ความสามารถในการใช้งานได้) เพื่อที่จะดูครับว่าการเปลี่ยนแปลงใดที่ช่วยให้เกิดประโยชน์หรือไปทำให้การออกแบบยิ่งแย่ไปใหญ่

ท้ายที่สุดแล้วทั้ง 2 ท่านได้ทิ้งข้อความไปยัง Apple ครับว่า “จะให้ดีที่สุดแล้ว Apple ควรที่จะทำตามจิตวิญญาณดังเดิมของการออกแบบและข้อความที่อยู่ใน Human Interface Guidelines ของ Apple เองครับ”

ที่มา : fastcodesign

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Accessories review

ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ Lexar Portable SSD SL400 คือไอเท็มสำคัญควรมีติดกระเป๋า! ในวงการหน่วยความจำแล้ว Lexar ก็เป็นผู้ผลิตหน่วยความจำระดับโลกซึ่งมีสินค้าหลากหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น Lexar Portable SSD SL400 สำหรับครีเอเตอร์ยุคใหม่เจ้าของ iPhone 15 Pro และ 16 Pro Series ได้ถ่ายคลิปเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ทำงานต่อได้หรือพกคู่มือถือ Android...

Mac Corner

ขึ้นชื่อว่าเป็นไอโฟนเป็นใครอยากได้ ว่าด้วยราคาเครื่องจะจ่ายเงินสดรอบเดียวก็ยังได้แต่ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้องใช้เงินก้อนเมื่อไหร่ หลายคนจึงเลือกวิธีผ่อนไอโฟนทีละงวดไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 10 ถึง 30 เดือนก็มี ตามที่ร้านค้ากับธนาคารเจ้าของบัตรจะทำข้อตกลงกันไว้ ทำให้ลูกค้าได้เปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น และยังไม่รวมแคมเปญอื่นๆ จาก Apple กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละเจ้าเอามาเป็นจุดจูงใจเพิ่มเติมอีกด้วย ข้อดีของการจ่ายเงินผ่อน นอกจากไม่ต้องลงเงินก้อนครั้งเดียวแต่เฉลี่ยจ่ายไปเรื่อยๆ จนครบได้แล้ว ยังมีเครื่องมือทางการเงินอีกหลายอย่างเข้ามาช่วยแบ่งเบาผู้ใช้ได้อีกมาก ไม่ว่าจะใช้แต้มในบัตรเครดิตหักลดราคาเครื่องก่อนผ่อนชำระได้, กดส่งโค้ดเอาแต้มกับเงินคืนไว้ใช้ในโอกาสอื่นได้ไม่พอ ในยุคนี้บางร้านค้ายังให้ผ่อนด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้อีก เป็นทางเลือกเพื่อคนไม่มีบัตรเครดิตแต่มีเงินในกระเป๋าแบ่งจ่ายค่าเครื่องได้สะดวกไม่แพ้กันAdvertisement ผ่อนไอโฟนวิธีไหนได้บ้าง? ปัจจุบันสามารถผ่อนมือถือได้หลายวิธี...

Mac Corner

พอ Apple เปิดตัว iPhone 16 Series เปิดตัว iPhone 15 ราคาก็ถูกลงตามกลไกการตลาด หลีกทางให้สินค้ารุ่นใหม่และเคลียร์สต็อกสินค้าเก่าไปด้วย ถึงจะตกรุ่นแล้วแต่ถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปเน้น Social network, ถ่ายวิดีโอเก็บภาพความทรงจำและเล่นเกมบ้าง ไม่เน้น Apple Intelligence (AI) ตามสมัยนิยมเอาความแรงตัวชิปเซ็ตเข้าว่า ก็พูดได้ว่าราคาไอโฟน 15 ตอนนี้ก็คุ้มดีแล้วใช้เป็นมือถือเครื่องหลักไปได้อีกหลายปีก่อนจะหมดรอบการอัปเดต iOS...

Accessories review

VOLTME Revo 140 กับ VOLTME RUGG CTC 100W คอมโบสายและอะแดปเตอร์สุดเจ๋ง ชาร์จได้หมดทั้งโน๊ตบุ๊ค, แท็บเล็ตและมือถือ!! ถ้าเปิดกระเป๋ามานอกจากโน๊ตบุ๊คแล้ว หลายคนก็มีแท็บเล็ตกับสมาร์ทโฟนติดกระเป๋ากันแน่ๆ ดังนั้นอะแดปเตอร์อย่าง VOLTME Revo 140 กับสายชาร์จ VOLTME RUGG CTC 100W เลยเป็นไอเท็มคู่สำคัญควรมีติดกระเป๋าเอาไว้ให้อุ่นใจ ยิ่งใครใช้โน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงหรือ MacBook...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก