ดูเหมือนว่า Acer จะประสบความสำเร็จกับโน๊ตบุ๊คในไลน์ของ Nitro ที่เวลานี้อัพเกรดมาเป็น Intel Skylake ซึ่งต้องมาดูกันต่อว่าจะมีอะไรใหม่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไปในซีรีส์ Nitro นี้
Acer ได้นำเอาซีรีส์ของ Nitro มาอวดโฉมในช่วงปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในด้านของแนวคิดที่ตอบโจทย์การใช้งานมัลติมีเดีย ด้วยการนำเอาซีพียู Intel Skylake รุ่นใหม่ล่าสุดมาใช้ร่วมกับแรม DDR4 ที่เป็นแรมความเร็วสูงรุ่นใหม่ พร้อมพอร์ต USB Type-C รวมถึงสนับสนุน Thunderbolt 3 และยังมีรุ่นที่มาพร้อมการแสดงผลในระดับ 4K ให้เลือกอีกด้วย
จากตัวอย่าง Nitro เครื่องนี้ มาพร้อมกับองค์ประกอบภายในที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยซีพียู Intel Core i7-6700HQ และแรมมากถึง 8GB ฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลในแบบ SSHD 1TB (Cache 8GB) โดยมีกราฟฟิกการ์ด nVIDIA GeForce GTX 960m และหน้าจอแบบ FHD จะจำหน่ายในราคาประมาณ 1308USD หรือประมาณ 47,000 บาท ส่วนในรุ่นท็อปจะมาพร้อมกับไดรฟ์บลูเรย์และหน้าจอ 4K พร้อมเพิ่ม SSD 256GB และแรม 16GB จะจำหน่ายในราคา 2021USD หรือประมาณ 72,000 บาท
Acer Aspire V Nitro Black Edition VN7-792G-74Q4
- Processor : Intel Core i7-6700HQ 2.6 GHz (Intel Core i7)
- Graphics adapter : NVIDIA GeForce GTX 960M – 2048 MB, Core: 1100 MHz, Memory: 1250 MHz, Boost 1176 MHz, 10.18.13.5362 WHQL(ForceWare 353.62), NVIDIA Optimus
- Memory8192 MB
- Display : 17.3 inch 16:9, 1920×1080 pixel, AUO B173HAN01_0, IPS, glossy: no
- Mainboard : Intel HM170 (Skylake PCH-H)
- Storage : Toshiba MQ02ABD100H, 1000 GB, 5400 rpm, 8 GB SSD cache, 911 GB free
- Weight : 3.06 kg, Power Supply: 620g
พอร์ตการเชื่อมต่อ
นอกจากองค์ประกอบพื้นฐานที่เราทราบกันดีอยู่แล้วจากในรุ่นก่อนหน้านี้ ก็ยังมีพอร์ต USB Type-C เพิ่มเติมเข้ามา เช่นเดียวกับ Thunderbolt 3 ที่ทำให้อัตราการรับส่งข้อมูลสูงถึง 40Gbps รวมถึงอินเทอร์เฟสด้านหน้าและหลังของโน๊ตบุ๊ค จะช่วยป้องกันบรรดาสายต่างๆ พันกันยุ่งเหยิงในขณะที่ใช้งานหรือต่อพ่วงอุปกรณ์จำนวนมาก
รูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย
เป็นโมดูลจาก Atheros/Qualcomm QCA6174 802.11 ac ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ Wireless โดยการทำงานนั้นจะผ่านอินเทอร์เฟสภายใน LP-PCIe และเพื่อให้อัตราการรับส่งข้อมูลนั้นทำได้ถึง 866Mbps ทั้งนี้ Acer Aspire V17 ยังเพิ่มพอร์ต Ethernet ที่เป็นการทำงานผ่าน LAN ด้วยอัตราความเร็ว 1Gbps
โดยมีการทดสอบความเร็วเครือข่ายไร้สายและมีสาย (LAN) ด้วยเงื่อนไขคือ ใช้การถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องโน๊ตบุ๊คไปยัง FRITZ 7490 ที่เป็น NAS ด้วยการเชื่อมต่อผ่านเราเตอร์ที่มีระยะห่างระหว่างกันระดับหนึ่ง Aspire V17 ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อ 96MB/s สำหรับเชื่อมต่อผ่าน LAN และ 54MB/s ในการทำงานผ่าน WiFi ก็จัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ทำงานได้อย่างน่าพอใจ
คีย์บอร์ด
คีย์บอร์ดบน Aspire V17 นี้ เป็นแบบ Chiclet ที่มี Numpad มาในตัว พร้อมการปรับปรุงคีย์บอร์ดให้ดีขึ้น ด้วยผิวสัมผัสที่สะดุดนิ้ว บรรดาคีย์ต่างๆ ติดตั้งมาอย่างแน่นหนา ไม่โยกคลอน รับแรงกดได้อย่างเหมาะสม เหมาะสำหรับการทำงานในระยะยาว เสียงพิมพ์ที่เบาและเงียบ พร้อมแสงแบ็คไลท์ด้านใต้สำหรับการพิมพ์ในที่มืด นอกจากนี้ยังสามารถปรับระดับความสว่างได้อีกด้วย
ทัชแพด
ทัชแพดมีขนาด 10.6 x 7.8cm ซึ่งดูกำลังพอเหมาะ พื้นผิวไม่หยาบหรือเงาจนเกินไป ซึ่งส่งผลให้มีความราบลื่นในการใช้งาน สามารถเคลื่อนไหวและใช้งานได้ดี ตอบสนองกับการทำงานในแบบมัลติทัช
จอแสดงผล
หน้าจอที่มีความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล ที่ติดตั้งมาในโน๊ตบุ๊คมัลติมีเดียปัจจุบัน Acer ได้เปลี่ยนหน้าจอให้กับโมเดลใหม่เวลานี้ ด้วยการใช้พาแนล LG ซึ่งจอแสดงผลล่าสุดมาจาก AU Optronics เป็นพาแนลแบบ IPS จากข้อมูลในเบื้องต้นของตัว Sample นี้ ให้ค่า Brightness คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 261 cd/m ในขณะที่ค่าเฉลี่ยได้ที่ต่างจากการทดสอบบนโน๊ตบุ๊คมัลติมีเดียขนาดหน้าจอ 17 นิ้วที่ผ่านๆ มาอยู่เล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีหน้าจอแบบ 4K เป็นทางเลือกแทน Full-HD และเพิ่ม SSD 256GB กับราคาที่เพิ่มขึ้นอีกพอสมควร
นอกจากนี้ Aspire Nitro ยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการแสดงที่ใช้ในพื้นที่แสงสว่างมากได้ แม้ขนาดและน้ำหนักไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับใช้งานกลางแจ้งก็ตาม แต่ต้องยกนิ้วให้ความสว่างที่มากพอของหน้าจอ ที่ทำให้แสงสว่างไม่ส่งผลกระทบต่อการมองมากนัก
ด้วยหน้าจอ IPS คุณภาพสูง ช่วยให้การดูวีดีโอหรือภาพได้ในเกือบทุกมุมมอง จะมีเพียงบางมุมที่ดูแสงเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ส่วนหนึ่งมาจากการจัดวางหน้าจออยู่ด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจอแสดงผลจากเทคโนโลยีนี้ดูเหมาะสมกับการใช้งานร่วมกับ Aspire Nitro ได้ดีทีเดียว
ประสิทธิภาพในการทำงาน
Acer Aspire V 17 Black Edition มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดีสำหรับการใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นในปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้งานมัลติมีเดียและซอฟต์แวร์สำนักงาน จากในการทดสอบก็บอกถึงความสามารถในการรับมือกับเกม ที่จะให้การเล่นเป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย
โดยผู้ผลิตอาศัยซีพียู Intel Core i7 รุ่นใหม่ จากสถาปัตยกรรม Skylake และยังคงเลือกใช้กราฟฟิกการ์ด nVIDIA พร้อมการติดตั้งหน่วยความจำ DDR4 ที่มีอยู่สองโมดูล ทำงานในแบบ Dual channel เช่นเดียวกับ Nitro ในอีกหลายรุ่น Acer ยังมีตัวเลือกที่เป็น Core i5 ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง (Intel Core i5-6300U) หรือรุ่นที่เน้นประสิทธิภาพ (Intel Core i5-6300HQ)
นอกจากนี้ผู้ซื้อยังเลือกเพิ่มหรือเปลี่ยนการใช้งานฮาร์ดดิสก์ในรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น SSD, HDD และ SSHD และเพิ่มหน่วยความจำด้วยความจุ 8GB หรือ 16GB เช่นเดียวกับ nVIDIA GeForce 950m รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ อย่างหน้าจอในแบบ 4K UHD และ SSD 256GB แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นพอสมควร ด้วยสนนราคาประมาณ 1915USD – 2021USD หรือประมาณ 69,000 – 72,000 บาท
หน่วยประมวลผล
ผู้ผลิตเลือกติดตั้งซีพียู Intel Core i7-6700HQ มาในตัวอย่างรีวิวรุ่นนี้ ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลที่เปิดตัวไปเมื่อไม่นาน และต้องถือว่าเป็นไฮไลต์ของ Nitro ที่มีสัญญาณนาฬิกาพื้นฐาน 2.6GHz และสามารถเพิ่มความเร็วได้ที่ 3.5GHz ผ่านทาง Turbo Boost (4 แกนหลัก สูงสุด 3.1GHz) ซึ่งซีพียู 4 แกนหลักนี้ ถูกวางเอาไว้ในกลุ่มของซีพียูทรงประสิทธิภาพ และเหนือกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Intel Core i7-4810MQ และ Intel Core i7-4900M
โดยการเปรียบเทียบนั้นใช้ผลการทดสอบจากรุ่นที่แล้ว มาเทียบกับรุ่น Black Edition บนพื้นฐานการทดสอบซีพียูด้วย Cinebench R15 ผลที่ได้คือ Aspire V 17 มีความเสถียรในสัญญาณนาฬิกา 3.1GHz ซึ่งอยู่ในโหมด Turbo ให้ผลคะแนนที่ดี ด้วยผล 679 คะแนน (ในการทดสอบมัลติคอร์) ต้องถือว่าผลคะแนนเป็นไปตามที่คาดเอาไว้ แต่นั่นก็คือผลที่ได้จากการโหมด Charge ส่วนในการทำงานของแบตจะตกไปอยู่ที่ 414 คะแนนเท่านั้น
ประสิทธิภาพของระบบ
โน๊ตบุ๊ค Acer รุ่นนี้มาพร้อมฮาร์ดแวร์ทรงประสิทธิภาพ ในการทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นจึงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ติดอยู่เล็กน้อยที่ SSHD นั้น คงไม่สามารถตอบสนองได้ดีเท่า SSD บนการทดสอบ PCMark 7 ที่ให้ความชัดเจนในการทดสอบด้านการทำงานได้เป็นอย่างดี ด้วยคะแนนรวม 4800 คะแนน หากเทียบกับ Acer Aspire V Nitro 7-791G ที่มีคะแนน 5669 คะแนน เนื่องจากเป็นรุ่นที่ทำงานบนพื้นฐานของ SSD
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
Acer เลือกใช้ SSHD 1TB ที่มากับ SSD 8GB ในการจัดเก็บข้อมูล บนขนาด 2.5″ ในแบบ 5400rpm ด้วยผลทดสอบในด้านการอ่านและเขียนข้อมูล 113.8MB/s และ 106.6MB/s จึงทำให้ผลที่ได้ค่อนข้างจะเบสิคหากเทียบกับการใช้งาน SSD ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
กราฟฟิกการ์ด
เช่นเดียวกับในไลน์ของ Nitro ที่มาในเวอร์ชั่น Haswell กราฟฟิกการ์ด nVIDIA GTX ยังคงเป็นตัวเลือกในการนำมาใช้บนโน๊ตบุ๊คเช่นเคย รุ่นที่เป็นตัวอย่างนี้ มีหน่วยความจำกราฟฟิก 2GB และสัญญาณนาฬิกา 1030-1100MHz ส่วนรุ่นอื่นๆ ของ Aspire V 17 มีได้มากสุดถึง 4GB ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ในแต่ละรุ่น
การทดสอบ 3DMark 11 แสดงให้เห็นถึงโซลูชั่นที่มาพร้อมการติดตั้งกราฟฟิกการ์ดรุ่นใหม่นี้ ด้วยคะแนนที่มากถึง 5709 คะแนน ในการทดสอบครั้งแรกนี้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Acer Aspire V 17 Nitro ที่ใช้ GeForce GTX 945M และซีพียู Intel Core i5-6300U ที่ทำได้เพียง 4025 คะแนนเท่านั้น โดยผลการทดสอบที่ได้นี้ อยู่ในโหมด Charge ส่วนในโหมด Battery จะลงมาอยู่ที่ 3160 คะแนน
ประสิทธิภาพในด้านเกม
ต้องเรียกว่าพลังเหลือล้นจริงๆ สำหรับโน๊ตบุ๊คตัวอย่างรุ่นนี้ ด้วยความโดดเด่นในการรีดพลังสำหรับการทดสอบในเกมต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Tomb Raider บนค่า High ได้ถึง 71 เฟรมต่อวินาที ส่วนในเกม Theif นั้น Aspire V17 ก็ยัง High ได้ที่ 54 เฟรมต่อวินาทีและบน Battlefield Hardline ก็ไปแตะอยู่ที่ 50 เฟรมต่อวินาที บนการตั้งความละเอียด High เช่นเดียวกัน แต่ในโหมด Ultra นั้น เฟรมเรตตกไปเยอะก็เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด
เสียงรบกวน
ในด้านของเสียงรบกวนมีการปรับปรุงไปมาก ซึ่งในภาพรวมเวลาที่ไม่ได้โหลดงาน ก็ไม่ได้มีเสียงอะไรให้ได้ยินนัก การตอบสนองของพัดลมก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนเมื่อมีการโหลด พัดลมก็จะเพิ่มความเร็วในการทำงาน ส่วนเสียงที่เกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 48dB นับว่าเป็นระดับที่ไม่ได้ส่งผลรบกวนกับผู้ใช้แต่อย่างใด แม้ว่าจะดังขึ้นมาเล็กน้อยจาก Aspire V 17 Nitro VN7-792G ที่มีค่าประมาณ 38.6dB
อุณหภูมิในการทำงาน
อุณหภูมิระหว่างการทำงานของโน๊ตบุ๊ค Acer Aspire V17 Nitro อยู่ในระดับที่น่าพอใจตลอดการทดสอบ ด้วยตัวเคสที่ร้อนขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ในระหว่างที่เล่นเกม ในระหว่างการใช้งานอุณหภูมิไม่มีการขยับมากมายนัก อยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส มีโหลดขึ้นมาบ้างในบางจุด ก็ไม่ได้เป็นปัญหา แต่จุดที่เกิดความร้อนสูงสุดอยู่ที่ 44 องศาเซลเซียสอยู่ใต้คีย์บอร์ด แต่ในภาพรวมต้องถือว่าความร้อนเกิดขึ้นน้อยมากๆ สำหรับโน๊ตบุ๊คมัลติมีเดียรุ่นนี้
นอกจากนี้ในเรื่องของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นภายใต้ฮาร์ดแวร์ภายในที่มีการทำงานในสภาพหนักหน่วงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยการทดสอบบน FurMark และ Prime95 ในการจำลองสภาวะการโหลดของโปรแกรมที่หนักขึ้น ซีพียูยังคงทำงานบนความเร็วพื้นฐานที่ 2.6GHz จากนั้นเมื่อรันโปรแกรมเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง สองแกนหลัก จากในสี่แกนหลัก เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 96 องศาเซลเซียส มากกว่าอีก 2 แกนหลัก (90 องศาเซลเซียส) แต่ก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที บนค่าเฉลี่ยการทำงานที่ 2.6GHz
การใช้พลังงาน
การใช้พลังงานในโหมดปกติ (idle) ค่อนข้างสมดุลและเป็นปกติในการใช้งานทั่วไป Aspire V 17 Nitro มีค่าอยู่ที่ 5.8 – 14.7Watts ในส่วนการทำงานนี้ เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ดูเหมือนว่าจะมีการโหลดที่ประมาณ 120W แต่สำหรับตัวอย่างทดสอบนี้ จะมีการโหลดเพิ่มเติมขึ้นอีก 20-30W เลยทีเดียว โดยที่ภาคจ่ายไฟของระบบสามารถจ่ายได้ที่ 135W
ระยะการทำงานของแบตเตอรี่
โดยการทดสอบในสถานการณ์แบบต่างๆ เพื่อให้ได้ผลการทำงานของแบตเตอรี่แบบเต็มที่ จึงตั้งค่าความสว่างของหน้าจอให้น้อยที่สุดและทดสอบด้วย Batter Eater Reader’s test โน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ปิดการทำงานลงหลังจากผ่านไปได้ 7 ชั่วโมง จากการ Disable การเชื่อมต่อต่างๆ และใช้โพรไฟล์ energy-saving
นอกจากนี้ยังมีการจำลองใช้งานด้วยการท่องอินเทอร์เน็ต เพื่อทดสอบใช้งานจริง ด้วยการเปิดใช้ความสว่างปานกลาง ประมาณ 150cd/m โดยที่ Aspire V 17 Nitro ทำเวลาอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 14 นาที จากนั้นทดสอบด้วย Battery Eater Classic เพื่อทดสอบวัดการใช้งานที่มีโอกาสเป็นไปได้น้อย ในการทดสอบนั้นปรากฏว่าไปหยุดอยู่ที่ประมาณ 1.36 ชั่วโมง จากการเปิดโหมด High-performance และหน้าจอสว่างสุด ซึ่งก็ดูเป็นการทดสอบหนักหน่วงเอาการเลยทีเดียว
ในภาพรวมจัดได้ว่า Acer Aspire V Nitro Black Edition VN7-792G-74Q4 ได้มีการขัดเกลาในด้านฮาร์ดแวร์และองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอ คีย์บอร์ด ทำให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเก็บรายละเอียดในแง่ของฟังก์ชั่นการใช้งานไว้ได้อย่างครบครันในด้านของเกมและความบันเทิง หน้าจอแสดงผลให้ความสว่างที่ดีและมีความคมชัดสูง การประมวลผลภายในมีการเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น DDR4 ที่ให้ประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้น แต่จะมีในส่วนของฮาร์ดดิสก์ที่น่าจะเป็น SSD จะเหมาะสมกว่า สุดท้ายเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่ยังอยู่ในระดับพอเหมาะกับการใช้งานตามลักษณะเฉพาะของโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งอีกด้วย
ที่มา :notebookcheck