เพื่อหลายๆ คนในหลายๆ ประเทศได้เข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนที่โดยปกติแล้วจะมีราคาค่อนข้างจะแพง(สำหรับคนในบางพื้นที่) นั้น ทาง Google ได้ทำการเปิดตัวโครงการ Android One ขึ้นมาครับ โดยเราจะเห็นได้ว่า Google นั้นลดราคาของเครื่องที่อยู่ในโครงการ Android One มาอยู่ในระดับที่คนในหลายๆ พื้นที่สามารถจับต้องได้
ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของตัวโครงการ(รวมไปถึงในเมืองไทยบ้านเราเอง) นั้นจะปล่อยสมาร์ทโฟนที่ราคายังอยู่ในระดับที่หลายๆ คนอาจจะยังจับต้องไม่ได้กันสักเท่าไร ทั้งๆ ที่ Google เองได้ตั้งความหวังไว้กับสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One รุ่นแรกว่าควรจะอยู่ที่ $50 หรือประมาณ 1,700 บาทเท่านั้น
แต่ต่อไปนี้เชื่อว่า Google จะลดราคาของสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One อีกให้ลดลงมาอีกได้ครับโดยนักวิเคราะห์โทรคมนาคมหลักของ IHS อย่าง Wayne Lam บอกว่าราคาสมาร์ทโฟนของโครงการ Android One นั้นอาจจะลดมาเหลืออยู่ที่ระดับ $42 หรือประมาณ 1,430 บาทเท่านั้นครับ
เชื่อว่าคงมีหลายๆ คนคงจะสงสัยครับว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรกับการที่จะลดราคาสมาร์ทโฟนที่เคยอยู่ในหลัก $100 หรือประมาณ 3,400 บาท มาให้เหลือเพียงแค่ $42 นั้นจะทำได้จริงอย่างไร วันนี้เราจึงได้นำความเห็นของ Lam ที่เสนอราคาต้นทุนของสมาร์ทโฟนที่มีราคาอยู่ที่ $42 ครับว่าจะเป็นอย่างไรบ้างไปติดตามกันเลยครับ
Display: $8 หรือประมาณ 275 บาท
องค์ประกอบของสมาร์ทโฟนที่มีราคาแพงมากที่สุดนั้นก็คือส่วนของหน้าจอครับ เพราะเจ้าหน้าจอนี้จะอัดแน่นมาทั้งเทคโนโลยีการแสดงผลที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความละเอียดหน้าจอหรือความคมชัด ฯลฯ ตัวอย่างเช่นหน้าจอขนาด 5 นิ้วที่รองรับความละเอียดระดับ Quad HD นั้นมีต้นทุนสูงถึง $100 หรือประมาณ 3,400 บาทไปแล้วครับ ถ้าเป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตหน้าจอเป็นของตัวเองก็อาจจะตัดราคาต้นทุนในส่วนนี้ออกไปได้หน่อยเช่น Samsung กับหน้าจอขนาด 5.1 นิ้วแบบโค้งที่ใช้บน S6 Edge นั้นมีรายงานว่าต้นทุนอยู่ที่ $85 หรือประมาณ 2,890 บาทครับ
ทีนี้ลองกลับมาดูหน้าจอที่จะมีราคาอยู่ในช่วง $8 ที่จะนำมาใช้ในสมาร์ทโฟนราคาถูกนั้น Lam ได้บอกเอาไว้ว่าจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 4 – 4.5 นิ้วรองรับความละเอียดที่ระดับ FWVGA หรือ 854 x 480 pixels โดยใช้ Panel เป็น LCD ธรรมดาทั่วไปครับ ตรงนี้นั้นทาง Lam ก็ได้เปรียบเทียบไว้ว่าจะเป็นหน้าจอแบบเดียวกับที่เราเห็นบน Sony Xperia M ซึ่งวางจำหน่ายตั้งแต่ในปี 2013 ซึ่งตอนนั้นต้นทุนของหน้าจอระดับนี้จะอยู่ที่ $12 หรือประมาณ 410 บาทครับ อย่างไรก็ตามถ้าทางบริษัทผู้ผลิตใจดีหน่อยเราก็อาจจะได้เห็นหน้าจอที่ขนาด 4.7 นิ้ว ที่มีต้นทุนอยู่ที่ $12.60 หรือประมาณ 430 บาทในสมาร์ทโฟนระดับนี้ก็เป็นได้ครับ
หมายเหตุ – ที่หน้าจอกลายเป็นองค์ประกอบของสมาร์ทโฟนที่ราคาแพงที่สุดนั้นเนื่องจากมันเป็นเพียงองค์ประกอบแยกเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นครับ
Design: Free
สำหรับเคล็ดลับในเรื่องของการดีไซน์สมาร์ทโฟนราคาถูกนั้น หากอ้างอิงจากรองประธานผ่ายการตลาดของบริษัท MediaTek อย่าง Siegmund Redl แล้ว เขาได้บอกเอาไว้ครับว่าดีไซน์ของสมาร์ทโฟนราคาถูกนั้นจะต้องมาในรูปแบบที่อ้างอิงมาจากผู้สร้างโครงการมากที่สุดแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย(ซึ่งในที่นี้ก็คือ Google เอง) เพราะนั่นหมายความว่าผู้ผลิตจะไม่มีความจำเป็นในการต้องมานั่งเสียเวลาออกแบบดีไซน์ของตัวเครื่องให้มีต้นทุนในส่วนนี้อีกต่อไปครับ
ข้อดีของการใช้ดีไซน์จากผู้ออกแบบโครงการนั้นก็จะมีต่อเนื่องครับ เพราะผู้ผลิตก็จะไม่มีความจำเป็นต้องไปออกแบบเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดวางองค์ประกอบอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ต้นทุนขององค์ประกอบอื่นๆ เป็นไปตามที่เจ้าของโครงการตั้งใจไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามใช่ว่ามันจะไม่มีข้อเสียอะไรเลยนะครับ เพราะถ้าใช้หลักการณ์ตาม Redl บอกแล้วหล่ะก็สมาร์ทโฟนในโครงการ Android One นั้นจะออกมาดูเหมือนกันไปหมดในทุกที่ทุกภูมิภาคครับ ซึ่งตามหลักการตลาดแล้วมันจะไม่เกิดความแตกต่างจนทำให้ผู้บริโภคเกิดความอยากได้ในตัวยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งขึ้นมาครับ
หมายเหตุ – เรื่องของดีไซน์นี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งครับที่ทำให้สมาร์ทโฟนในระดับกลางไปจนถึงสูงนั้นต้องสร้างความแตกต่างเพื่อกระตุ้นความอยากใช้งานของผู้บริโภค โดยทั่วไปแล้วสมาร์ทโฟนที่มีราคา $150 หรือประมาณ 5,100 บาทขึ้นไปมักจะมีต้นทุนของการออกแบบดีไซน์อยู่ด้วยครับ
หมายเหตุ 2 – บางครั้งเรื่องของต้นทุนการดีไซน์ก็ไม่สามารถเอามาใช้กับสมาร์ทโฟนในระดับสูงได้ครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยก็คือ iPhone ที่รุ่นตัวเลขธรรมดา กับรุ่นที่เติม s ต่อท้ายมักจะมีดีไซน์ในรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนไปมากนัก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ HTC One M9 ที่ดีไซน์ของมันนั้นเหมือนกับ HTC One M8 ทุกอย่างจนทำให้ผู้บริโภคไม่ได้เกิดความอยากในการเปลี่ยนไปใช้ขึ้นมาครับ
System-on-a-Chip: $10 หรือประมาณ 340 บาท
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญของสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีขาดไปอย่างไม่ได้เด็ดขาดก็คือแผงวงจรที่ประกอบไปด้วยชิปเซ็ทในการทำงานต่างๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่มีกรอบเป็นพลาสติกหรือเหล็ก แม้กระทั่งแก้วใดๆ ก็ตามต่างก็ต้องมีองค์ประกอบนี้อยู่ภายในครับ
โดยส่วนใหญ่แล้วสมาร์ทโฟนระดับสูงมักจะใช้แผงวงจรและชิปเซ็ทจากผู้ผลิตชื่อดังอย่างเช่น NVIDIA หรือ Qualcomm ซึ่งทำให้ต้นทุนในส่วนนี้สูงมากขึ้นตามกำลังในการประมวลผลของชิปเซ็ทครับ(แล้วต้นทุนเหล่านั้นก็จะมาลงกับราคาเครื่องพร้อมกับการกำหนดประสิทธิภาพของเครื่องไปในตัวครับ)
อย่างไรก็ตามถือว่าเรายังโชคดีครับที่ยังมีผู้ผลิตวงจรและชิปเซ็ทที่ไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพให้สูงมากเท่าไรนักแต่มาเน้นเรื่องของราคาต่อประสิทธิภาพให้คุ้มทุนมากกว่าอย่างเช่น MediaTek เป็นต้นครับ ดังนั้นแล้วแผงวงจรและชิปเซ็ทที่เราจะเห็นได้บนสมาร์ทโฟนในระดับราคา $50 นี้คงจะเหมือนๆ กันหมดโดยจะมาจาก MediaTek อย่างชิปเซ็ทในรุ่น MT6582 ที่เราได้เห็นบนโครงการสมาร์ทโฟน Android One รุ่นแรกเป็นต้นครับ
ตัวชิปเซ็ท MT6582 นั้นก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสมราคาครับเพราะมันมาพร้อมกับสเปค 1.3GHz quad-core ARM Cortex-A7 CPU, Mali 400 graphics, a HSPA+ modem, WiFi, Bluetooth, GPS และรองรับ FM radio แถมยังสามารถที่จะใช้งานร่วมกับกล้องความละเอียด 8 MP ได้อีก นี่ยังไม่รวมถึงความสามารถที่จะแสดงผลกราฟิกได้ที่ระดับ 1,280 x 720 pixels และรองรับการถ่ายวีดีโอที่ความละเอียด Full HD ด้วยนะครับ เรียกได้ว่าถึงจะถูกแต่ประสิทธิภาพนั้นไม่ได้ด้อยเลยครับ(แต่อย่าเอาไปเทียบกับของแพงๆ นะครับ)
RAM and storage: $10 หรือประมาณ 340 บาท
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไปเสียมิได้เลยของสมาร์ทโฟน เพราะถ้าไม่มีมันแล้วก็จะทำงานไม่ได้ก็คือหน่วยความจำ(RAM) และแหล่งเก็บข้อมูล(Storage) ครับ องค์ประกอบส่วนนี้ต้องบอกเลยครับว่านับวันก็จะยิ่งมีราคาต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากว่าในปัจจุบันนั้นเริ่มมีผู้ผลิตเข้ามาในตลาดขององค์ประกอบนี้กันมากขึ้นครับ
ลองไปดูกันที่สมาร์ทโฟนระดับสูงอย่าง Samsung Galaxy S6 Edge ที่ใช้หน่วยความจำแบบ LPDDR4 SDRAM ขนาด 3 GB พร้อมด้วยแหล่งเก็บข้อมูลความจุ 64 GB แบบ eMMC NAND storage ซึ่งทาง IHS ได้คำนวณต้นทุนของทั้ง 2 ส่วนนี้เอาไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ $52.50 หรือประมาณ 1,785 บาทครับ(หน่วยความจำต้นทุนอยู่ที่ $27.50 หรือประมาณ 935 บาท แหล่งเก็บข้อมูลต้นทุนอยู่ที่ $25 หรือประมาณ 850 บาท)
เมื่อมาเปรียบเทียบกัลสมาร์ทโฟนจากโครงการ Android One รุ่นแรกที่มาพร้อมกับหน่วยความจำขนาด 1GB พร้อมด้วยแหล่งเก็บข้อมูลความจุ 4 GB แล้วจะพบว่าหน่วยความจำขนาด 1 GB นั้นมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ $9 หรือประมาณ 310 บาท ส่วนแหล่งเก็บข้อมูลความจุ 4 GB นั้นจะมีต้นทุนอยู่ที่ $1.50 หรือประมาณ 52 บาทเท่านั้นครับ(รวมกันแล้วพร้อมเวลาผ่านไป 1 ปี ต้นทุนในส่วนนี้ก็คงจะลดเหลือไม่เกิน $10 หรือ 340 บาท)
ถามว่าหน่วยความจำขนาด 1 GB กับแหล่งเก็บข้อมูลความจุ 4 GB เพียงพอไหมสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนเริ่มต้น(ตามจุดประสงค์ของโครงการ Android One) ก็คงต้องบอกว่าพอเพียงแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟนในระดับกลางไปจนถึงล่างนั้นมักจะมาพร้อมกับความสามารถในการเพิ่มแหล่งเก็บข้อมูลผ่าน microSD Card ได้ด้วยแล้ว เรียกว่าต้นทุนในส่วนนี้คงไม่มีการเพิ่มเติมขึ้นมามากแต่อย่างใดครับ
หมายเหตุ – ในขณะที่สมาร์ทโฟนระดับล่างไปจนถึงกลางยังคงมาพร้อมกับความสามารถในการเพิ่มแหล่งเก็บข้อมูลผ่าน microSD Card ได้ ทว่าสมาร์ทโฟนระดับสูงในปัจจุบันนั้นเริ่มจะมีแนวทางที่มาพร้อมกับแหล่งเก็บข้อมูลภายในความจุสูงๆ แต่ไม่สามารถเพิ่มแหล่งเก็บข้อมูลผ่าน microSD Card ได้อีกต่อไปครับ
Battery and cameras $5 หรือประมาณ 170 บาท
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อหล่ะครับว่าต้นทุนของแบตเตอรี่และกล้องที่ใช้ในโครงการ Android One จะต่ำมาก เพราะอยู่ที่ประมาณ $5 หรือประมาณ 170 เท่านั้น แต่ทว่าในส่วนของแบตเตอรี่และกล้องนี้เองที่สมาร์ทโฟนในระดับล่างอย่างโครงการ Android One นั้นต้องแลกมากับประสิทธิภาพที่ไม่ค่อยจะดีมากเท่าไรนัก เรียกได้ว่าแค่มีให้ใช้ก็คุ้มแบบนั้นก็ว่าได้ครับ
สำหรับแบตเตอรี่นั้น Lam ได้บอกเอาไว้ว่าด้วยต้นทุนประมาณนี้คุณจะได้แบตเตอรี่ที่มีความจุประมาณ 1,600 mAh โดยจะกินราคาต้นทุนไปที่ประมาณ 5% ของราคาเครื่องทั้งหมดคืออยู่ที่ราวๆ $2.10 หรือประมาณ 72 บาทเท่านั้น แต่ด้วยความจุเพียงเท่านี้เชื่อว่าการใช้งานตลอดทั้งวันคงไม่เพียงพอครับ คงต้องหาที่ชาร์จกันทุก 3 – 4 ชั่วโมงเลยทีเดียวถ้าจะใช้งานกันต่อเนื่อง(ขนาดสมาร์ทโฟนระดับสูงบางรุ่นยังต้องวิ่งหาปลั๊กไฟมาชาร์จกันวุ่นเลยครับ)
ส่วนตัวกล้องนั้นก็จะมีความละเอียดอยู่ที่ 5 MP เป็นมาตรฐานครับ ซึ่งจะไปหวังเทคโนโลยีรูรับแสงหรือระบบกันสั่นเหมือนอย่างในกล้องของสมาร์ทโฟนระดับบนก็คงจะไม่ได้ สำหรับราคาต้นทุนของตัวกล้องนั้นก็จะคิดเป็น 5% ของราคาตัวเครื่องเหมือนกันคืออยู่ที่ $2.10 หรือประมาณ 72 บาท และส่วนที่เหลืออีก $0.80 หรือประมาณ 27.20 บาท ก็จะตกเป็นของกล้องหน้าที่ความละเอียดน่าจะอยู่ที่ระดับ 2 MP ครับ
The rest: $9 หรือประมาณ 306 บาท
สำหรับส่วนที่เหลืออีก $9 หรือประมาณ 306 บาทนั้นหลายๆ ท่านอาจจะคิดว่ามันหายไปที่ไหน ทาง Lam ก็ได้บอกเอาไว้ครับว่าต้นทุนในส่วนนี้นั้นเป็นส่วนขององค์ประกอบเสริมต่างๆ ที่ทางผู้ผลิตจะใส่เข้ามาในสมาร์ทโฟนของตัวเองเพื่อสร้างความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์พิเศษ, อุปกรณ์เสริมอย่างเช่นชุดหูฟัง, ชุดของเสาอากาศที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม รวมไปถึงค่าแรงต่างๆ ที่ผู้ผลิตต้องใช้ในการจ้างแรงงานเพื่อที่จะทำการผลิตสมาร์ทโฟนเหล่านี้ครับ
ส่วนหนึ่งที่สามารถตัดไปได้เลยก็คือต้นทุนในการโฆษณาหรือการตลาดที่โครงการ Android One นั้นทาง Google เป็นผู้ที่ทำการโฆษณาให้อยู่แล้วในส่วนหนึ่งครับ(ซึ่งผู้ผลิตเองก็อาจจะต้องมีการทำโฆษณาเพื่อตัวเองบ้างเหมือนกันแต่ก็ทุ่นไปเยอะจากการที่ Google ช่วยเหลือครับ) คุณยังคงต้องไม่ลืมเรื่องของค่าขนส่งด้วยอีกอย่างนะครับเนื่องจากว่าสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One นั้นหากเอาตามจุดประสงค์ของโครงการแล้วทำขึ้นเพื่อประชาชนที่ขาดโอกาสและอยู่ในที่ที่ห่างไกล ดังนั้นเรื่องของการขนส่งก็จะต้องมีต้นทุนเข้ามาด้วยครับ
เราอาจจะไม่ใช่ประเทศที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ Google เน้นโครงการ Android One มากนัก แต่ลองคิดถึงประชากรกว่า 1 พันล้านคนในอินเดียดูครับว่าถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนในราคาต่ำเพื่อใช้งานทางด้านต่างๆ ได้จริงมันจะทำให้เกิดความก้าวหน้าไปมากขนาดไหน(คิดถึงเรื่องการติดต่อสื่อสารที่จะกระจายออกไป, การเข้าถึงบริการต่างๆ ที่มากขึ้นและการสร้างงานที่เกิดจากการจ้างแรงงานผลิตดูครับ)
ผมคงไม่ต้องบอกทุกท่านนะครับว่าโครงการ Android One นั้นจะสามารถคุณประโยชน์ให้กับประชากรที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาได้เข้าถึงความเจริญได้มากขึ้นแค่ไหน นั่นยังไม่รวมถึงการที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราเองก็จะมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อยู่ในจังหวัดชนบทที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่อาจจะไม่เท่าเทียมกับคนในชุมชนเมืองแต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และอื่นๆ เป็นอย่างมากครับ
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นบริษัทใหญ่ๆ มาร่วมกับโครงการ Android One กันสักเท่าไร แต่นั่นก็ถือว่าเป็นผลดีนะครับ เพราะโครงการ Android One จะทำให้ House Brand มีโอกาสในการขยายธุรกิจภายในประเทศของพวกเขามากขึ้นไปอีก และยังจะเป็นการทำให้เกิดแรงกดดันกับบริษัทใหญ่ๆ ที่หวังแต่ผลกำไรมากจนเกินไปเริ่มหันมาคิดถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงครับ
ที่มา : engadget