การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องในปัจจุบันนี้อาจจะมีความลำบากอยู่บ้างสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวคราวและความเคลื่อนไหวในแวดวงของเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถพูดได้ว่าสมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่ในตอนนี้สามารถใช้งานได้สะดวกไม่แพ้กับบนคอมพิวเตอร์พีซีหรือโน๊ตบุ๊คเลยทีเดียว สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในฝั่งของสมาร์ทโฟนนั้นยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านของความแรงและประสิทธิภาพ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสเปคของสมาร์ทโฟนในช่วงนี้ปี 2014 กันครับ
ซีพียู :?เมื่อจำนวนคอร์ถูกนำมาใช้โฆษณามากขึ้น
หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงสำหรับในปีนี้คือเรื่องของจำนวนคอร์ที่ถูกเพิ่มมามากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา จากสองคอร์และสี่คอร์จนมาเป็นแปดคอร์ในปีนี้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาจาก Samsung Galaxy S4 ที่ใช้ Exynos 5 Octa ตัวประมวลผล 8 คอร์ตัวแรกที่ออกมาในระดับไฮเอนด์ และในช่วงของปลายปี 2013 นั้นเราก็เริ่มเห็นว่าตัวประมวลผลในระดับเริ่มต้นอย่าง MediaTek ก็เริ่มลงมาทำในแบบ 8 คอร์ด้วยเหมือนกัน
ประเด็นหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดนั้นคือจำนวนคอร์ที่มากขึ้นกว่าเดิมทุกคอร์นั้นไม่ได้เพิ่มความเร็วกว่าเดิมเป็นสองเท่าเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ซีพียูแบบ 4 คอร์ที่ความเร็ว 1 GHz ไม่ได้เร็วกว่าซีพียู 2 คอร์ความเร็ว 1 GHz ในทุกครั้ง ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ที่หลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่การปรับแต่งของซอฟแวร์หรือแอพคลิเคชันว่าจะสามารถนำคอร์ที่เพิ่มมานั้นไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไหนมากกว่า ดังนั้น ซีพียูแบบ 8 คอร์นั้นเวลาใช้งานจริงอาจจะไม่ถึง 8 คอร์ก็ได้เพราะแอพลิเคชันหรือระบบนั้นยังไม่ได้ถูกปรับแต่งมาให้ใช้ซีพียู 8 คอร์อย่างสมบูรณ์
นอกจากเรื่องของการแอพที่ไม่สามารถดึงการใช้งานออกมาได้ทุกคอร์แบบสมบูรณ์แล้ว ซีพียู ARM ที่ใช้บนสมาร์ทโฟนบางรุ่นนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทุกคอร์พร้อมกันด้วยสถาปัตยกรรมแบบ big.LITTLE ที่ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งภายในนั้นจะจัดซีพียูออกเป็นสองชุดคือชุดแรกสำหรับประมวลผลงานที่ต้องใช้พลังงานการคำนวณสูง และซีพียูอีกชุดหนึ่งที่เน้นการประหยัดพลังงานสำหรับงานประมวลผลที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งจะสลับกันทำงานตามสภาวะการใช้งานขณะนั้น ซีพียูในกลุ่มนี้ได้แก่ Exynos 5 Octa 5410 ที่ใช้ ARM Cortex A7 จำนวน 4 คอร์ที่เน้นด้านประหยัดพลังงาน และ ARM Cortex A15 อีก 4 คอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการใช้งานนั้นจะสามารถใช้งานได้สูงสุดครั้งละ 4 คอร์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเครื่องต้องการประมวลผลหนักขึ้นก็จะสลับจาก Cortex A7 ไปเป็น Cortex A15 แทน
ดังนั้นถึงแม้ว่า Exynos 5 Octa จะเป็นซีพียูแบบ 8 คอร์ที่การทำงานจริงๆ นั้นสามารถใช้ได้สูงสุดเพียง 4 คอร์เท่านั้น (ปัญหานี้ถูกแก้ด้วย Exynos 5 Octa 5422 รุ่นใหม่ในช่วงต้นปี 2014 ที่สามารถใช้งานได้พร้อมกัน 8 คอร์จริงๆ) ดังนั้น ถึงแม้ว่าจำนวนคอร์มากๆ จะดูดีในเชิงทฤษฏี แต่ประสิทธิภาพที่จะได้เพิ่มหรือไม่นั้นค่อนข้างที่จะมีตัวแปรหลากหลายมากกว่า เวลาดูเรื่องซีพียูนั้นจึงไม่ควรจะยึดติดว่าจำนวนคอร์ที่มากนั้นจะดีกว่าเสมอไปมากนักครับ
ประสิทธิภาพกับความเร็วเป็นส่วนสำคัญ
แล้วถ้าจะดูเรื่องซีพียูเป็นหลักแล้ว ความเร็วนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดเพราะค่าที่ยิ่งมากนั้นก็หมายถึงว่าสามารถประมวลผลได้ดีขึ้น ซึ่งหน่วยนั้นเริ่มจาก MHz และเมื่อครบหนึ่งพัน MHz แล้วก็จะขยับขึ้นเป็น GHz ซึ่งชัดเจนว่าซีพียูความเร็ว 1.5 GHz นั้นเร็วกว่าซีพียูความเร็ว 1 GHz ที่สถาปัตยกรรมเดียวกันอย่างแน่นอนและเห็นผลผ่านการใช้งานได้ชัดที่สุด เรื่องสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ซีพียูระดับบนที่ใหม่ก็จะเร็วกว่าซีพียูระดับบนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นสูตรคลาสสิคในการเลือกซีพียูที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
สถาปัยกรรมและเทคโนโลยีการผลิต
สถาปัตยกรรมของซีพียูในระดับไฮเอนด์ยังอยู่ที่ Cortex A15 เป็นหลักสำหรับผู้ผลิตอื่นและ Krait 400 สำหรับ Qualcomm Snapdragon ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 4 และ 8 คอร์ ซึ่งถ้าเห็นชื่อของซีพียูทั้งสองตัวนี้ก็นับว่าเป็นซีพียูระดับสูงแน่นอน รุ่นของซีพียูเหล่านี้ได้แก่ NVIDIA Tegra 4, Samsung Exynos 5 Octa, Qualcomm Snapdragon 800 หรือ 600 ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกใช้กับเครื่องระดับท็อปของแต่ละแบรนด์ครับ
ส่วนซีพียูระดับกลางในปีนี้นั้นส่วนใหญ่จะเป็น ARM Cortex A7 เป็นส่วนมาก ส่วนของฝั่ง Qualcomm นั้นก็จะเป็น Krait 200 ซึ่งมีทั้งแบบดู 2 คอร์และ 4 คอร์ ซีพียูในกลุ่มนี้ได้แก่ Qualcomm Snapdragon 400 รวมไปถึงชิปที่เราเห็นในสมาร์ทโฟนจีนอย่าง MediaTek MT6572 (Cortex A7 แบบ 2 คอร์), MT6582 (Cortex A7 แบบ 4 คอร์) และ AllWinner A20 และ A31 ต่างก็ใช้ Cortex A7 แบบ 2 คอร์และ 4 คอร์ตามลำดับเช่นกัน ซึ่งในปีนั้นส่วนใหญ่เราจะพบสมาร์ทโฟนจีนในราคาหลักพันจนไปถึงหลักหมื่นต่างก็ใช้ซีพียูตระกูลนี้ค่อนข้างมากครับ
ในระดับล่างนั้นก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ARM Cortex A5 ซึ่งในตอนนี้จะพบกับใน Snapdragon 200 เกือบทั้งหมด เช่น Snapdragon 8210 ที่เป็น Cortex A5 แบบดูอัลคอร์และ 8265Q ที่เป็นแบบควอดคอร์ตามลำดับครับ
ส่วนเทคโนโลยีการผลิตนั้นในปัจจุบันเกือบทุกรุ่นจะถูกผลิตที่ขนาด 28 นาโนเมตร แต่ก็มีซีพียูระดับเริ่มต้นบางรุ่นอย่าง Snapdragon 200 ที่ถูกผลิตที่ 45 นาโนเมตร ในปี 2015 นั้นเราก็น่าจะเริ่มเห็นชิปที่ถูกผลิตที่ขนาด 20 นาโนเมตรแล้ว ซึ่งขนาดการผลิตนั้นยิ่งเล็กก็ยิ่งจะทำให้ชิปนั้นมีความร้อนน้อยลงและสามารถใส่ทรานซิสเตอร์จำนวนมากเข้าไปได้ จึงทำให้ประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วยครับ
เทคโนโลยีหน้าจอเป็นหนึ่งปัจจัยในการซื้อ
ในตอนนี้นั้นหน้าจอระดับ HD นั้นถือเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งหน้าจอในปัจจุบันของสมาร์ทโฟนก้ได้พัฒนาความละเอียดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าสู่ยุคของ Full HD หน้าจอสมาร์ทโฟนในปัจจุบันก็จะแบ่งประเภทความละเอียดออกมาได้ดังนี้ครับ
1. HD หรือ High Definition ยุคเริ่มแรกของหน้าจอความละเอียดสูง โดยหน้าจอความละเอียดที่ 1280 x 720 พิกเซล
2. Full HD หรือ Full High Defnition ยุคหน้าจอความละเอียดถัดมาในปัจจุบัน ความละเอียดเพิ่มมาที่ 1920 x 1080 พิกเซล
3. Quad HD หรือ Quad High Definition ที่เริ่มได้เห็นในปีนี้ โดยมีความละเอียดหน้าจอที่ 2560 x 1440 พิกเซล
4. Quad Full HD หรือ Quad Full High Definition มีความเป็นว่าจะเห็นหน้าจอความละเอียด 3840 x 2160 พิกเซลนี้บนสมาร์ทโฟนในปี 2015
นอกจากในแง่ของความละเอียดแล้ว ชนิดของหน้าจอก็มีหลายประเภทซึ่งมีข้อได้เปรียบและเสียบเปรียบตามแต่เทคโนโลยีดังนี้ครับ
- LCD?หน้าจอ LCD นั้นถือเป็นมาตรฐานของหน้าจอที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้อได้เปรียบของ LCD สำหรับในแง่ของผู้ใช้งานนั้นไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่เนื่องจากหน้าจอ LCD นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานจึงมีราคาที่ไม่สูงผู้ผลิตต่างๆ จึงนิยมนำมาใช้ ซึ่งหน้าจอนั้นก็มีหลายระดับ ทั้งที่มีคุณภาพที่ดี ปานกลางแล้วแต่ผู้ผลิตจะเลือกใช้ ซึ่งโดยรวมๆ แล้วหน้าจอ LCD นั้นถ้ามีคุณภาพสูงก็จะสามารถแสดงสีได้ออกมาเป็นธรรมชาติไม่แพ้กับหน้าจอชนิดอื่นเช่นกัน
- IPS LCD?หน้าจอแบบ IPS นั้นถือเป็นพาเนลที่ได้รับการยอมรับกันว่าดีกว่าหน้าจอ LCD ทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีความคมชัด ความสว่างและการแสดงสีที่ดีกว่าจอ LCD แบบปกติที่ใช้พาเนลแบบ TN อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งผู้ผลิตถ้ามีการใช้หน้าจอชนิดนี้จะมีการบอกไว้อย่างแน่นอนเพราะเป็นหน้าจอที่มีคุณภาพสูงและคนรู้จักหน้าจอชนิดนี้กันพอสมควร ผู้ผลิตที่มีการใช้หน้าจอชนิดมากนี้ก็มีอย่าง LG หรือ Huawei และ Acer สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตบางรุ่นครับ
- AMOLED?ในปัจจุบันนั้นเราอาจจะได้พูดได้ว่าผู้ที่นำจอแบบ AMOLED มาใช้บนสมาร์โฟนนั้นมีแต่เพียง Samsung เท่านั้น หน้าจอ AMOLED มีข้อดีในเรื่องของคอนทราสที่สูงทำให้ภาพออกมานั้นมีสีสันสวยงามสดใส และการแสดงสีดำของจอ AMOLED นั้นจะให้สีดำที่สนิทกว่าเนื่องจากจอไม่ได้เปล่งแสงออกมาจริงๆ ซึ่งจุดนี้ต่างจากจอ LCD ที่สีดำนั้นจะแสดงได้ไม่สนิทเท่าเพราะว่าจะยังมีแสงสีขาวออกมาจากจออยู่บ้าง ซึ่งในอดีตนั้นจอ AMOLED นั้นมีจุดอ่อนหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการเรียงพิกเซลแบบ Pentile นั้นทำให้หน้าจอไม่คมชัดและแสดงสีได้ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมีการซับพิกเซลนั้นมีจำนวนน้อยกว่าปกติ แต่ปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยเทคโนโลยีของหน้าจอที่มีความละเอียดสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่าหน้าจอ AMOLED ในยุคนี้นั้นมีความคมชัดในระดับที่ดี ต่างกับจอ AMOLED ในยุคก่อน HD ที่มีความละเอียดที่ WVGA (800 x 480 พิกเซล) หรือ qHD (960 x 540 พิกเซล)
หน่วยความจำแรม
แรมนั้นเปรียบเสมือนที่พักของแอพและเซอร์วิสอื่นๆ ที่เรายังไม่ได้ใช้ในปัจจุบันและเก็บส่วนที่อาจจะใช้งานในอนาคตไว้ในแรมก่อน ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานของเครื่องนั้นเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากมี ทำให้สามารถเรียกใช้งานได้ทันที นอกจากนี้แล้วแรมถ้ามีจำนวนมากบน Android เมื่อเราสลับงานหลายๆ แอพคลิเคชันพร้อมกัน จะสามารถใช้งานแอพลิเคชันนั้นต่อได้ทันทีหลังจากที่เราสลับจากแอพหนึ่งมาจากอีกแอพหนึ่ง เพราะ Android ถ้ามีแรมไม่พอนั้นเมื่อเราสลับแอพมา ตัวแอพจะเริ่มทำงานใหม่แต่ต้นทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราเปิดลิงค์เว็บจาก Facebook ไปยัง Chrome จากนั้นกลับมายัง Facebook ใหม่ แอพ Facebook จะทำการรีเฟรชหน้า Feed ใหม่ทั้งหมดเพราะระบบ Android นั้นได้ทำการ Kill Task ดังกล่าวไปแล้วการเปิดนั้นจึงเหมือนการเรียกแอพลิเคชันใหม่ตั้งแต่ต้น (แอพ Facebook จะทำการรีเฟรชหน้า Feed ใหม่ทุกครั้งที่เปิดแอพใหม่) แต่ถ้าเครื่องมีแรมที่เพียงพอนั้น เมื่อเรากลับเข้ามาใน Facebook ตัวแอพจะอยู่ที่ตำแหน่งล่าสุดที่เราอ่านค้างเอาไว้ ซึ่งทำให้เราไม่ต้องเลื่อนสกรอลจากด้านบนลงมาจนถึงตำแหน่งล่าสุดที่เราอ่านไว้
ในปี 2014 นี้มีมาตรฐานของแรมได้เพิ่มมาเป็นที่ 3 GB และเป็นไปได้ว่าจะมีการเห็นแรมขนาด 4 GB บนสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่ใช้ตัวประมวลผลแบบ 64 บิทที่น่าจะเป็นมาตรฐานของตัวไฮเอนด์ต่อไปในปี 2015 ในปัจจุบันนี้แรมขนาด 1 GB ได้เป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนระดับกลางๆ แล้ว ส่วนรุ่นระดับเริ่มต้นนั้นก็ยังเห็นได้ว่ามีแรม 512 MB อยู่ในบางรุ่นซึ่งการใช้งานจะค่อนข้างจำกัดพอสมควร โดยสรุปแล้วจำนวนของแรมนั้นยิ่งมีมากก็ยิ่งดีอย่างแน่นอนครับ
พื้นที่เก็บข้อมูลหรือรอม
พื้นที่เก็บข้อมูลนั้นคือพื้นที่ส่วนที่เราสามารถติดตั้งแอพลิเคชันรวมไปถึงสามารถเก็บรูปถ่าย เพลง และวีดีโอต่างๆ ไว้ในเครื่อง ในปัจจุบันนั้นพื้นที่เก็บข้อมูลนั้นส่วนใหญ่จะมี 3 ขนาดคือ 16, 32 และ 64 GB (ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเห็นที่ 16 และ 32 GB เป็นส่วนมาก) สำหรับเครื่องระดับเริ่มต้นนั้นบางครั้งเราก็ยังเห็นที่ขนาดที่ 4 GB และ 8 GB อยู่บ้าง
สิ่งที่หนึ่งที่ควรพึงระวังไว้คือ?พื้นที่เก็บข้อมูลที่โฆษณานั้นไม่ได้ตรงกับพื้นที่ใช้งานจริงในทุกกรณี?สาเหตุนั้นก็เพราะว่าจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถูกเก็บไว้สำหรับระบบปฏิบัติการตั้งแต่ 2-7 GB แล้วแต่ความใหญ่เล็กของรอมซึ่งถูกหักออกไปจากพื้นที่เก็บข้อมูลที่เราควรจะมีทั้งหมด ซึ่งจะนำถูกออกมาแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่ไว้ติดตั้งแอพลิเคชันและเก็บข้อมูลแยกกันอีกทีหนึ่ง ดังนั้น Android ส่วนใหญ่จึงมี microSD มาเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลให้ส่วนหนึ่งด้วยครับ
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคงเห็นได้ว่ายิ่งพื้นที่เก็บข้อมูลมีขนาดน้อยก็ทำให้การใช้งานต่างๆ ก็ไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งแอพลิเคชันที่ต้องคอยหมั่นตรวจสอบพื้นที่เหลือกันให้ดี เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ติดตั้งไม่พอได้ครับ
กล้องและเทคโนยีการถ่ายภาพ
เทคโนโลยีกล้องบนสมาร์ทโฟนนั้นเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นและเริ่มมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้บนสมาร์ทโฟน แต่สิ่งที่ทำให้รูปที่ถ่ายออกมาดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้อยู่แค่เพียงเทคโนโลยีของกล้องที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความเข้าใจในการถ่ายภาพของแต่ละคนด้วย แต่เทคโนโลยีกล้องที่ดีนั้นก็ทำให้เราได้ภาพถ่ายสวยๆ ออกมาได้ง่ายขึ้น
พูดถึงเรื่องกล้องนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่ความละเอียดสูงสุดของภาพที่ถ่ายออกมาได้ที่ส่วนใหญ่เราเข้าใจว่าความละเอียดยิ่งสูงน่าจะทำให้ภาพออกมานั้นมีรายละเอียดที่ดียิ่งขึ้น แต่จริงๆ สิ่งที่ทำให้ภาพรายละเอียดออกมาดีนั้นอยู่ที่ขนาดของเซนเซอร์ เพราะเซนเซอร์นั้นคือส่วนที่รับภาพจริงๆ จากกล้อง ถ้าเราลองนึกภาพการทำงานของกล้องว่าเมื่อถ่ายไปแล้วสิ่งที่ใช้บันทึกรูปก่อนคือลงบนเซนเซอร์ จากนั้นจึงแปลงไปเป็นพิกเซล ดังนั้นขนาดเซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้นก็ย่อมทำให้มีการเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าเซนเซอร์ที่มีขนาดเล็ก กล้องที่มีความละเอียดพิกเซลสูงแต่เซนเซอร์มีขนาดเล็กก็จะทำให้รูปถ่ายออกมาไม่ดีนักเพราะว่าต้นทางก็คือเซนเซอร์นั้นเก็บรายละเอียดไม่ดีมากตั้งแต่ต้นแล้ว
รายละเอียดของเซนเซอร์บนสมาร์ทโฟนนั้นหาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็พอจะหาผ่านอินเตอร์เน็ตได้บ้าง หน่วยที่ใช้คือคือนิ้วซึ่งมีตั้งแต่ 1/3.2? มาจนถึง 1/1.2? ซึ่งตัวเลขนิ้วยิ่งน้อยถือว่าเซนเซอร์ยิ่งมีขนาดใหญ่ครับ อย่างไรก็ตาม เรื่องของภาพที่ออกมานั้นยังมีส่วนของหน่วยประมวลผลภาพ (ISP ? Image Signal Processer) มาช่วยโปรเซสภาพออกมาด้วย ซึ่งการดูว่ากล้องรุ่นไหนดีหรือไม่ดีนั้นควรดูจากภาพตัวอย่างจริงๆ ประกอบด้วยจะชัดเจนมากกว่าสเปคแต่เพียงอย่างเดียวครับ
นอกจากเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายตรงอย่างเซนเซอร์และความละเอียดแล้ว สิ่งที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นก็คือเรื่องการช่วยถ่ายภาพในที่แสงน้อย ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีเทคโนโลยีแตกต่างกันไปในการใช้ตัวประมวลผลภาพคำนวณแสงและแสดงเป็นรูปออกมา แต่ในฝั่งของเซนเซอร์นั้นก็มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า BSI หรือ Back-Side Illumianted ที่ย้ายโลหะมาไว้ด้านหลังของเซนเซอร์ทำให้รับแสงได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นผลมากเมื่อถ่ายในที่แสงน้อย อย่างตอนกลางคืนเป็นต้น ซึ่งภาพที่ได้จะเหนือกว่าเซนเซอร์กล้องที่ไม่มี BSI อย่างแน่นอน
อีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นก็คือ OIS หรือ Optical Image Stabilization ที่ช่วยป้องกันภาพสั่น ซึ่งจะทำให้ทั้งภาพและวีดีโอที่บันทึกนั้นมีความนิ่งและชัดขึ้น สำหรับบนสมาร์ทโฟนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจจับด้วยซอฟแวร์หรือที่เรียกว่า Digital Image Stabilization ซึ่งเป็นการตัดขอบส่วนเกินจากวีดีโอที่สั่นออกไปทำให้วีดีโอนั้นดูนิ่งมากขึ้น แต่ก็มีสมาร์ทโฟนบางรุ่นนั้นใช้ Gyroscope เพื่อตรวจจับการสั่นไหวและเคลื่อนไหวเลนส์เพื่อชดเชยกับการสั่นแทน ซึ่งส่วนมากแล้วการกันสั่นด้วยฮาร์ดแวร์จะเห็นผลดีกว่าแบบซอฟแวร์
เทคโนโลยี NFC
NFC หรือ Near Field Communication นั้นเป็นเทคโนโลยีที่พึ่งได้รับความนิยมมาไม่นานนี้ การทำงานของมันนั้นไม่ต่างกับ Bluetooth ที่สามารถเชื่อมต่อหรือแพร์เข้ากับอุปกรณ์ที่ต้องการได้ แต่การเชื่อมต่อแบบ NFC นั้นมีความสะดวกมากกว่า Bluetooth เนื่องจากมีความเร็วในการเชื่อมต่อที่ดีกว่าและไม่จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่ต้องการแพร์ผ่านทางสมาร์ทโฟนเหมือนกับ Bluetooth ซึง NFC จะสามารถนำบริเวณด้านหลังของสมาร์ทโฟนนั้นไปแตะกับอุปกรณ์ที่ต้องการจะเชื่อมต่อด้วยเพียงแค่นั้นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว
ในตอนนี้ NFC ส่วนใหญ่จะสนับสนุนกับสมาร์ทโฟนในระดับไฮเอนด์เป็นส่วนมาก ส่วนอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานนั้นถือว่าน่าสนใจและมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากความสะดวกในการใช้งานที่ดีกว่า Bluetooth ในตอนนี้ก็มีเช่น ลำโพง หูฟัง สมอล์ทอล์ก รวมไปถึงเลนส์กล้องแยกของ Sony อย่าง QX10 หรือ QX100 ก็ใช้การเชื่อมต่อผ่าน NFC ด้วยเช่นกันครับ
การเชื่อมต่อ USB OTG
USB OTG นั้นเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลังๆ ที่มีอุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อด้วยพอร์ท USB กับสมาร์ทโฟนมากขึ้น แต่การใช้งานนั้น ก่อนอื่นจำเป็นต้องมีสาย USB OTG ก่อน ซึ่งลักษณะของสายนั้นจะมีลักษณะที่แปลงจากพอร์ท microUSB ของมือถือให้กลายเป็นพอร์ท USB แบบใหญ่ที่เราใช้งานกันบนพีซี จากนั้นก็จะสามารถนำอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ท USB มาเสียบและใช้งานได้เลยทันที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแอพลิเคชันด้วยว่ารองรับหรือไม่ อย่างเช่นเกมแพด แต่ถ้าเป็น Flash Drive, External Harddisk หรือ Keyboard ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ
ที่สำคัญนั้นคือไม่ใช่สมาร์ทโฟนทุกรุ่นที่สามารถใช้งาน USB OTG ได้ แต่มือถือนั้นส่วนใหญ่จะรองรับอยู่แล้วโดยเฉพาะรุ่นที่เป็นที่รู้จักันในท้องตลาดอย่าง Samsung Galaxy S4, S3, S2, Galaxy Note 3, 2, Galaxy Nexus, LG G2, Optimus G, HTC One, Huawei Ascend D และอีกหลายรุ่น ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่นั้นสามารถหาข้อมูลด้วยชื่อรุ่นมือถือตามด้วย USB OTG ก็น่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ
สิ่งอื่นๆ ที่ควรนึกถึงในการซื้อสมาร์ทโฟน
มุมมองสำหรับคนเลือกซื้อสมาร์ทโฟนนั้นคงไม่ได้มีแต่เพียงสเปคหรือต้องเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเท่านั้น เพราะแต่ละคนนั้นก็มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องความสวยงาม ความชื่นชอบในแบรนด์เป็นการส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรกำหนดตายตัวว่าซื้อรุ่นนั้นดีกว่ารุ่นนี้ คนซื้อรุ่นนี้ผิด ถ้าเรารู้ว่าต้องการอะไรและรู้ว่าซื้อเพราะอะไรถึงซื้อรุ่นนี้ ซึ่งด้านล่างนี้เป็นเพียงมุมมองของผมที่คิดว่าควรที่จะลองคิดพิจารณาสักนิดก่อนซื้อมือถือครับ
1.?ราคา?เรื่องของราคานั้นเป็นปัจจัยที่สุดแสนจะคลาสสิค (อาจจะออกแนวสำคัญที่สุดด้วยซ้ำสำหรับบางคน) สำหรับผมแล้ว เรื่องของราคาสามารถกรองเครื่องที่เราจะซื้อต่อไปได้สะดวกยิ่งขึ้นเพราะตัดตัวเลือกออกไปได้มาก ซึ่งจากนั้นค่อยไปคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เราอยากได้ต่อไป ถ้าเรายังไม่รู้ว่าอยากได้อะไรก็ลองลดตัวเลือกลงด้วยเรื่องราคาได้ครับ
2.?เครื่องนอกหรือเครื่องศูนย์?คนที่เปลี่ยนเครื่องบ่อยนั้นการเล่นเครื่องนอกอาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะว่าเครื่องนอกนั้นมักจะมีราคาตกลงค่อนข้างเร็วและมีเครื่องใหม่ๆ ทียังไม่ขายผ่านศูนย์ไทยเสียมาก จึงเหมาะกับคนที่ชอบเล่นของอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่การซื้อเครื่องนอกนั้นก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของประกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นประกันร้าน และเมื่อเครื่องมีปัญหานั้นก็ต้องเปลี่ยนข้ามประเทศกันเลย ซึ่งก็ถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรเหมือนกัน
3.?ความสม่ำเสมอในการอัพเดท?สำหรับคนที่อยากให้สมาร์ทโฟนตัวเองทันสมัยอยู่ตลอดเวลา การเลือกแบรนด์ที่หมั่นออกตัวอัพเดทใหม่ๆ ให้กับมือถือตัวเดิมของตนก็ถือเป็นเรื่องที่ควรจะทำ นอกจากการเลือกแบรนด์แล้ว ระดับมือถือที่ตัวเองเลือกนั้นก็มีผลต่อการอัพเดทเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมือถือระดับกลางและสูงนั้นจะได้รับอัพเดทมากกว่ามือถือระดับเริ่มต้นที่ราคาไม่เกินหมื่นบาทที่มักจะมีข้อจำกัดเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ไม่รองรับตัวอัพเดทในอนาคต หรือถ้าคำนึงถึงเรื่องนี้มากๆ อาจจะเลือกมือถือตระกูล Nexus ไปเลยก็ได้ครับ
4.?ศูนย์บริการ?ศูนย์บริการบางครั้งนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจว่าตนเองนั้นจะได้รับการบริการและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเมื่อสมาร์ทโฟนที่ตัวเองซื้อไปเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งข้อมูลส่วนนี้สามารถหาอ่านได้จากเว็บบอร์ดหรือแลกเปลี่ยนกันสำหรับผู้ที่เคยใช้งานศูนย์บริการของแบรนด์นั้นไปก่อนหน้าแล้ว
5.?ความชอบส่วนตัว?การซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องนั้นบางทีถ้าเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสเปคเพียงอย่างเดียว ถ้าเราชอบในดีไซน์หรือแบรนด์นั้นเป็นการส่วนตัวแล้ว ก็อาจจะไม่ต้องคิดอะไรมากนักให้ยืดยาว ซึ่งต่างกับคนที่ซื้อแล้วต้องการความคุ้มค่าเน้นใช้งานระยะยาวที่อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของสเปคหรือตัวอัพเดทเพิ่มเติมครับ