พบกันอีกครั้งหลังบทความการสอนใส่แรมนะครับ คราวนี้เราจะมาดูในเรื่องของการเลือกซื้อแรม เพิ่มแรม โน๊ตบุ๊คกันบ้าง ถ้าคุณเดินไปซื้อแรมหรือเปิดดูตามเว็บไซท์ต่างๆเช่น www.memorytoday.com อาจจะงงได้เหมือนกันสำหรับท่านมือใหม่ทั้งหลาย
เพราะว่าทำไมแรมก็แบบเดียวกัน ขนาดก็เท่ากัน ราคามันต่างกันตั้งเท่าตัว ก่อนอื่นผมจะอธิบายเรื่องคำจำกัดความของชนิดแรมนะครับ เช่น ความต่างระหว่าง SO DDR2 2 GB PC5300 (667) ? Value กับ SO DDR2 2 GB PC5300 (667) ? Premium
ประเภทของแรม
Value – คุ้มค่าราคาประหยัด
ในเบื้องต้นขอให้ทำความเข้าใจว่าบรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แบรนด์เนมไม่ได้เป็นผู้ผลิตแรม แรมที่เอามาใช้ก็สั่งให้บริษัทผู้ผลิตแรมทำแรมมาให้ตามเสปคที่กำหนด และส่วนใหญ่ก็สั่งแบบเกินมาตรฐานทั่ว ๆ ไป แรมประเภทนี้จัดว่าเป็นแรมแบบเกรด Premium ส่วนแรมแบบ Value นั้นก็คือแรมที่ไม่ได้เข้าร่วมทำการทดสอบกับเกณฑ์มาตรฐานสูง ๆ ตามที่บรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์กำหนด หรือผลิดเพื่อจำหน่ายแก่ตลาดระดับล่าง กล่าวคือจะเน้นความคุ้มค่าราคาประหยัด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงแรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการทดสอบ และแรมที่ทำเลียนแบบ
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าแรมแบบ Value นั้นจะไม่ดีเสมอไป แต่ทั้งนี้ต้องดูผู้ผลิต และดูชิพที่ใช้ด้วย เพราะข้อดีของแรมแบบ Value นั้นก็คือ คุ้มค่าราคาประหยัด และทนทานในระดับหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่จะผ่าน Severe 72-hour dynamic burn-in test แต่สำหรับผู้ใช้งานหนักในระดับสูง เช่น Programmer, Graphic Designer, Network Administrators เราจะแนะนำให้ใช้แรมแบบเกรด Premium ครับ
Premium – มาตรฐานสูงสุด
แรมเกรด Premium ถึงแม้จะเป็นแรม standard แต่ก็จะเป็นแรมเกรดเดียวกับ Replacement part ที่ซื้อจาก Apple, Compaq, Dell, HP, IBM, Sony และยี่ห้ออื่นๆ ชิพที่ใช้จะเป็นชิพที่ผลิตจากผู้ผลิตชิพที่มีชื่อเสียงเช่น Samsung, Micron, Infineon, Hynix, Elpida, PSC และเป็นชิพที่เพิ่งผลิตออกสู่ตลาด โดยสามารถสังเกตได้จากโลโก้ของผู้ผลิตและรหัสที่ปรากฎอยู่บนชิพ อีกทั้งชิพที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นชิพยี่ห้ออะไรจะเป็น Top Tier ของยี่ห้อนั้นเสมอ และในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต แรมแต่ละชิ้นจะถูก test อย่างละเอียดภายใต้อุณหภูมิ และสภาวะการทำงานอันหลากหลาย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า 100% tested
การผลิตแรม Premium กระบวนการผลิตจะสูงกว่ามาตรฐาน Intel?s specification 1.0 และเป็นไปตามมาตรฐาน JEDEC (the Joint Electron Device Engineering Council) ซึ่งทำให้แรม Premium ทุกชิ้นมีค่า MTBF (Mean Time between Failures) ที่ต่ำมาก กล่าวคือมีความเป็นไปได้สูงถึง 99.999% ที่แรมชิ้นนั้นสามารถทำงานได้ยาวนานมากกว่า 7 ปีขึ้นไป
แรมเกรด Premium จะเป็น แรม High density ซึ่งจะไม่ overheat เมื่อถูกใช้งานอย่างหนักและเต็มประสิทธิ์ภาพของระบบ และสิ้นเปลืองแบตเตอรี่น้อยกว่าในกรณีที่ใช้กับโน๊ตบุ๊ค ซึ่งจะสังเกตุเห็นได้ว่าแรมที่มากับโน๊ตบุ๊ค Hi end ส่วนใหญ่จะเป็นแรมแบบ High density ทั้งสิ้น
Specific – แรมพาร์ทเฉพาะตรงรุ่น 100%
จริง ๆ แล้ว แรม เกรด Premium จะสามารถทำงานได้กับความต้องการของระบบมากมายหลายประเภท แต่แรมที่เป็น Specific จะถูกออกแบบ ทดสอบ และผลิตในอีกระดับนึงเหนือขึ้นไปอีก ซึ่งหมายความว่ามันคือแรมพาร์ทเฉพาะที่ถูกปรับแต่งในรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับความต้องการของแต่ละระบบอย่างแท้จริง ขจัดปัญหาในเรื่องของจังหวะการทำงาน การรบกวน และความร้อน จึงส่งผลให้การทำงานของทั้งระบบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถึงระดับ 100% Compatibility โดยทั้งหมดได้ทดสอบโดยอุปกรณ์ โปรแกรม และระบบปฎิบัติการจากผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละรายจากผลการใช้งานของผมและคนอื่นๆที่ได้เลือกใช้งานแรมชนิด Value ซึ่งไม่พบว่าเกิดปัญหาขึ้นมาหรือว่าการใช้งานติดขัดแต่อย่างใด แต่ถึงแม้จะมีปัญหาขึ้นมาจริงๆ ตัวแรมซึ่งแทบจะทั้งหมดนั้นเป็นประกันแบบ Lifetime จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะเราสามารถจะเคลมได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
ขนาดของแรมที่ควรใส่
ระบบปฏิบัติการ Windows Vista
สำหรับ Vista นั้นค่อนข้างขึ้นชื่อในการบริโภคแรมเป็นอย่างมาก แค่เปิดเครื่องขึ้นมาก็รับประมานไปเหนาะๆแล้ว 900 กว่า MB เพราะฉะนั้นหากท่านเป็นคนที่ทำงานแบบปกติใช้งานพวก Microsoft Office ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเน็ทธรรมดา แรมขนาด 1.5 GB ก็เพียงพอต่อความต้องการแล้วครับ แต่ว่าหากเป็นเกมเมอร์ หรือทำงานเกี่ยวกับการประมวลผลที่ต้องอาศัยทรัพยากรมาก หรือแม้แต่การดูหนังความละเอียดสูงต่างๆ เช่น จาก HD-DVD ก็ควรจะมีแรมตั้งแต่ 2 GB ขึ้นไปครับ
ระบบปฏิบัติการ Windows XP
สำหรับ XP นั้นเราใช้งานกันมาตั้งแต่สมัยเครื่องตอมพิวเตอร์ทั่วๆไปยังมีแรมโดยเฉลี่ยประมาณ 256 MB เพราะฉะนั้นไม่ใช้ปัญหาสำหรับโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆที่มักจะมาพร้อมกับแรม 1 GB อยู่แล้ว ซึ่ง 1 GB ก็เพียงพอต่อการเล่นเกมต่างๆบน XP อยู่แล้วครับ แต่หากว่าอยากแรงขึ้นก็ติดตั้งตั้งแต่ 2GB ขึ้นไปก็ได้ครับ ระบบก็จะสามารถทำงานได้เร็วขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือประมวลผลข้อมูลต่างๆ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม + เก็บตก
สำหรับปัญหาที่ผมได้รับการถามมาถือว่าเยอะพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องความเร็วบัสของแรม เมื่อไปเช็คจากโปรแกรมตรวจสอบ Spec ต่างๆ ความเร็วบัสกลับไม่ตรงกับที่ระบุไว้ เมื่อตอนซื้อทำไมถึงโดนโกงกันดื้อๆแบบนี้ล่ะ?? – – จากปัญหาที่พบนี้ไม่ได้เป็นส่วนของ Product error แต่อย่างใด แต่เป็น User error 555+ เอาล่ะ ขออธิบายให้ฟังว่า คำว่า DDR2 นั้นย่อมากจาก Double Data Rate 2 ซึ่งหากเราสังเกตดีๆแล้วล่ะก็ ความเร็วบัสที่เราสามารถตรวจสอบได้จากโปรแกรมหากนำมา x2 ก็จะเท่ากับที่ระบุไว้ใน Spec ตอนซื้อพอดี
เรื่องน่ารู้อีกอย่างนั้นก็คือ แรมที่มีบัสสูงกว่าที่เครื่องเรากำหนดไว้ เมื่อนำมาใช้งานมันจะปรับบัสลงให้พอดีกับที่เครื่องเราทำงานได้สูงสุด และหากสังเกตดีๆแล้วแรมบัสสูงๆมีค่าตัวที่ถูกกว่าแรมบัสต่ำๆอีกด้วย สำหรับคนงบน้อยสามารถจะซื้อมาใส่ทดแทนกันได้ครับ ไม่สร้างปัญหาแต่อย่างใด
** หมายเหตุ ควรเป็นแรมชนิดเดียวกัน คือ ถ้าเครื่องรองรับแค่ DDR แต่ดันไปซื้อ DDR2 มาเล่น อันนี้ก็หมดสิทธิ์ครับ ควรตรวจสอบให้ดีว่าเครื่องใช้งานแรมแบบไหน
ข้อแนะนำข้อสุดท้าย เวลาไปซื้อแรมหากเป็นไปได้ยกน้องโน๊ตบุ๊คตัวเก่งไปลองด้วยก็จะดีครับ เพราะน๊ตบุ๊คบางยี่ห้อก็ไม่ถูกกับแรมยางยี่ห้อเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนผมใช้ HP dv series 2000 แล้วไปซื้อแรม corsair (ทั้งเครื่องโน๊ตบุ๊คและแรมซื้อจากอเมริกา) ปรากฏว่าเครื่องขึ้น Blue Screen บ่อยมาก เลยให้เพื่อนอีกคนเอาไปทดสอบกับ HP dv series 6000 ปรากฏว่าขึ้น Blue Screen เหมือนกันแต่ไม่บ่อยเท่าเครื่องเจ้าของแรม เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ ยกเครื่องติดไปด้วยครับ จะได้รู้ว่ามันเข้ากันได้ดีรึเปล่า อย่างผมไม่ยกไปเพราะว่ามีพี่ๆที่ใช้ S41 เค้าคอนเฟิร์มมาว่าใช้กะแรม Kingston Value ได้เป็นปกติ
เอาล่ะครับก็ขอจบการนำเสนอเรื่องแรมๆ เพิ่มแรม โน๊ตบุ๊ค แต่เพียงเท่านี้ครับ หากมีข้อสงสัยประการใดมาคุยกันได้ที่เว็บบอร์ดนะครับ ที่นี่มีเพื่อนๆยินดีให้ความช่วยเหลือเกือบ 24 ชม. เลยครับ
ขอบคุณบทความบางส่วนจากเว็บ www.memorytoday.com ครับ