คราวนี้เคาก็มีโน๊ตบุ๊คมารีวิวอีกเช่นเคยครับ โดยเป็นเครื่องที่ใช้ CPU ตระกูล i5 รุ่นใหม่จาก Intel อย่าง i5-2410M นั่นคือ ASUS K43SJ โน๊ตบุ๊คในระดับกลางๆของทาง ASUS ที่ให้ความคุ้มค่าพอตัวเลยทีเดียว เราไปดูรูปร่างหน้าตากันก่อนเลยครับ
สเปกของตัวเครื่องก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ครับ จุดเด่นก็จะอยู่ที่ CPU ซึ่งเลือกใช้เป็น i5-2410M รุ่นใหม่ล่าสุด ที่ให้ประสิทธิภาพสูงพอๆกับ i7 รุ่นเก่าบางตัวเลยทีเดียว ส่วนการ์ดจอนั้น ดูท่าคงจะไม่เหมาะกับการเล่นเกมมากนัก เพราะเป็นการ์ดจอในระดับกลางเกือบล่างอย่าง NVIDIA GeForce GT 520M แต่ถ้าจะนำมาใช้งานทั่วไป หรือใช้เพื่อเอาฟังก์ชัน CUDA มาใช้ นับว่าคุ้มค่าแน่นอนครับ HDD ก็ให้มาถึง 640 GB มากมายถึงใจกันเลยทีเดียว และเป็นที่น่าเสียดายเพราะรุ่นนี้ยังคงไม่มี USB 3.0 มาให้อีกเช่นเคย แต่มาทดแทนด้วยปริมาณความจุของแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างเยอะครับ ส่วน OS และราคานั้นยังไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากยังไม่มีกำหนดการวางขายในไทยแต่อย่างใด
ฝาหลังจะมีลักษณะเป็นลายทางยาวไปตามแนวขวาง ในขณะที่จะมีลายเส้นเล็กๆขัดกันอยู่ในระหว่างเส้นด้วย วัสดุก็เป็นพลาสติกสีดำอมน้ำตาลนิดๆ ความแข็งแรงคาดว่าหายห่วงได้เลยครับ
มาดูลวดลายกันใกล้ๆครับ เรียบง่ายแต่ซ่อนไปด้วยความลึกล้ำ (เว่อร์ไปนิด ฮ่าๆๆ) ส่วนตัวอักษรที่เป็นชื่อยี่ห้อก็จะลึกลงไปจากตัวฝานิดนึง
ตัวฝาสามารถเปิดได้ง่ายมาก ใช้เพียงแค่มือเดียวก็สามารถเปิดฝาได้แล้ว (เหมือน Mac) วัสดุภายในเป็นอะลูมิเนียมสีน้ำตาลอมทองนิดๆ ดูหรูหราทีเดียวครับ
ตัวจอก็ไม่ได้หนามากมายเท่าไร อยู่ในระดับปกติครับ โดยสามารถกางออกมาได้ราว 135 องศา
กรอบจอเป็นพลาสติกสีดำเงาตามแบบฉบับของ ASUS ครับ ตัดขึ้นมาเป็นขอบของจอชัดเจน ส่วนตัวจอนั้นเป็นแบบจอกระจกครับ ซึ่งมีแสงสะท้อนจากด้านหลังออกมาเยอะพอควร
กล้องเว็บแคมและไฟแสดงสถานะการทำงานก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนกับรุ่นอื่นๆ
บานพับแข็งแรง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเปิดฝาเครื่องขึ้นได้อย่างง่ายดาย นับว่าออกแบบมาได้ดีครับ ส่วนปุ่มสีเทาๆนั้น คือสวิตช์เปิด/ปิดเครื่องนั่นเอง ถ้าเครื่องเปิดอยู่ก็จะมีไฟสีขาวติดขึ้นมาอีกด้วย
อาจจะสงสัยว่าเสียงจากลำโพงมันจะออกมาจากตรงไหน ยอมรับว่าตอนแรกผมก็งงครับ แต่พอลองนั่งฟังกับคนอื่นๆ ก็ลงความเห็นกันได้ว่ามันดังออกมาจากด้านในของเครื่องนั่นเอง โดยเสียงจะออกมาดังก้องๆ จากด้านใน ฟังแล้วไม่ค่อยใสเท่าไร อาจจะขัดใจคนที่ชอบฟังเพลงจากโน๊ตบุ๊คครับ
ลงมาดูต่อกันที่ keyboard กันบ้าง ซึ่งการออกแบบของตัวปุ่มและการวางปุ่มจะเป็นแบบ chiclet อีกเช่นเคย ระยะห่างกำลังพอดีๆ ตัวปุ่มจะแข็งๆ กดยากนิดนึง แต่ใช้ๆไปก็คงชินหรือไม่ก็อ่อนลงไปเองครับ
ผิวของ touchpad เป็นแบบราบเรียบ แต่ก็สามารถใช้งานได้อย่างไหลลื่นใช้ได้และยังรองรับการใช้งานแบบมัลติทัชอีกด้วย อย่างเช่นการจิ้มสามนิ้วเพื่อใช้งานคลิกขวาก็สามารถใช้งานได้เหมือนรุ่นอื่นๆของ ASUS ตัวปุ่มคลิกซ้าย/ขวานั้น ค่อนข้างแข็ง กดยาก ถัดลงมาก็เป็นไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่องครับ
สติ๊กเกอร์ทางฝั่งซ้ายก็มีแต่ของ NVIDIA เพื่อรับรองว่าใช้ GPU เป็น GT 520M ที่มีการทำงานในระบบ CUDA ด้วย แถมแรมมาให้ในตัว 1 GB ซึ่งมากมายเกินพอ แต่เนื่องด้วยสเปกของ GPU นั้นไม่สุงมาก ก็อาจจะทำให้ไม่เหมาะกับการเล่นเกมอย่างหนักหน่วงมากนัก ส่วนของที่วางมือนั้น เนื่องด้วยเทคโนโลยี IceCool ที่ทำให้บริเวณที่รองมือนั้นเย็น ทำให้สามารถใช้งานเครื่องได้ง่ายและได้นาน ถือว่าเป็นฟังก์ชันที่ดีครับ
ฝั่งขวาก็มีสติ๊กเกอร์บอกสเปกแบบคร่าวๆอยู่ โดยในรุ่นนี้ก็มีฟังก์ชันอย่าง Express Gate และ Power4Gear มาให้เช่นเคย
น้ำหนักของตัวเครื่องนั้นอยู่ที่ราวๆ 2.4 กิโลกรัม ถือว่าค่อนข้างหนักพอสมควรเลย เมื่อดูจากยี่ห้ออื่นๆ ที่จะอยู่ราวๆ 2.1 กิโลกรัม
พอรวม adapter เข้าไปแล้ว น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.9 กิโลกรัม
ตัวเครื่องนั้นมีความหนากว่ากล่อง DVD พอสมควร ก็ถือว่าอยู่ในระดับปกติครับ
ตัวเครื่องด้านหน้าเรียบง่าย มี Card Reader อยู่ทางด้านซ้าย ใกล้ๆกันนั้นก็มีช่องระบายอากาศเล็กๆอยู่
ตัวเครื่องด้านขวา ไล่จากด้านซ้ายก็จะพบกับช่อง Audio, Mic, USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง และ DVD-writer
ด้านหลังไม่มีพอร์ตใดๆครับ
ส่วนทางด้านซ้าย ถ้าไล่จากซ้ายไปขวาก็จะพบกับ Kensington Lock, ช่องระบายอากาศ, ช่องเสียบสาย adapter (ซึ่งผมว่าวางตำแหน่งได้ไม่ดีเลย) พอร์ต LAN, D-Sub, HDMI และ USB 2.0 อีก 1 พอร์ต
หน้าต่อไป เราไปดูตัวเครื่องด้านล่างกันบ้างนะครับ