เลือกเครื่องเกมพกพา Handheld game console ปี 2024 ดูที่สิ่งใดบ้าง มี 5 ข้อนี้ซื้อได้เลย
หลายท่านที่วางแผนจะซื้อคอมใหม่ในช่วงนี้ โดยเฉพาะถ้าต้องพกพาเครื่องไปใช้นอกสถานที่บ่อย ๆ เชื่อว่าคงมีแอบเล็งเครื่องเกมพกพา ที่เป็น Handheld PC กันไว้บ้าง เพราะส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อม Windows 11 ที่ใช้งานได้เต็มรูปแบบ และจากที่มีจอสัมผัสในตัว ระบบควบคุมที่ใช้งานได้พอตัว รวมถึงสเปคเองก็เพียงพอสำหรับเล่นเกมในปัจจุบันได้ประมาณหนึ่งด้วย ในบทความนี้จะมาดูกันว่าก่อนซื้อเครื่อง handheld ควรต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง
เลือกซื้อเครื่องเกมพกพาใหม่ 2024
- งบประมาณที่มี
- เกมที่ต้องการเล่น
- ต้องใช้แท่น dock หรือเปล่า
- เล่นเกมติดต่อกันนานเท่าไหร่?
- สเปคเครื่องตอบโจทย์หรือไม่?
- สรุป สิ่งที่ต้องพิจารณา
1. งบประมาณที่มี
แน่นอนว่าการจะซื้อของ เงินในกระเป๋าหรือวงเงินบัตรเครดิตคือเรื่องสำคัญ สำหรับราคาเครื่องเกมพกพาแบบ Handheld PC ในไทยก็จะอยู่ที่ตั้งแต่หมื่นต้น ๆ ที่ก็จะเป็นสเปคเบาหน่อย ใช้ทำงานได้ เหมาะกับใช้เล่นเกมเรโทรผ่านโปรแกรม emulator ขยับมาอีกนิดก็ราคาหมื่นกลางที่เริ่มเป็นกลุ่มสเปคแรงขึ้นมาหน่อย ใช้ชิปตระกูล AMD Ryzen Z1 ที่มักจะเป็นราคาเครื่องมือสอง ส่วนถ้าต้องการเครื่องมือหนึ่งก็สามารถหาได้ที่ราคาหมื่นปลายถึงสามหมื่น จากนั้นก็จะเป็นอีกกลุ่มที่ใช้ชิป AMD Ryzen รุ่นเดียวกับที่ใช้ในโน้ตบุ๊กไปเลย
ทีนี้แต่ละรุ่นก็อาจมีขายแยกตามความจุ SSD ในเครื่องไปอีก ซึ่งบางรุ่นก็อาจสามารถหาซื้อ SSD มาอัปเกรดทีหลังได้ ซึ่งก็จะเป็นมิตรกับคนที่งบจำกัดในการซื้อเครื่องประมาณนึง เอาว่าถ้าอยากซื้อเครื่องเกมพกพาแบบของใหม่ซักเครื่องในตอนนี้ ก็ควรมีงบเผื่อไว้ซื้ออุปกรณ์เสริมเช่นพวกกระเป๋าพกพา ฮับและแท่น dock รวมกันไว้ซักสองหมื่นกลางถึงสามหมื่นต้น ๆ แล้วแต่ราคาเครื่อง ส่วนถ้าเป็นเครื่องมือสองก็จะเริ่มตั้งแต่หมื่นกลางถึงเกือบสองหมื่น แล้วแต่สภาพเครื่องและความจุ SSD
ซึ่งถ้าเทียบแล้วในงบที่เท่ากันก็สามารถซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ใช้การ์ดจอ RTX 2050, 3050 ไปจนถึง 4050 ได้อยู่เหมือนกัน หรือถ้าจะเป็นการ์ดจอแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU/APU ก็ได้ในระดับที่พอเล่นเกมได้ประมาณนึงเลย แต่ได้หน้าจอใหญ่กว่า คีย์บอร์ดก็พร้อมใช้งานมากกว่า ระบบระบายความร้อนเอื้อกับการเล่นเกม ระยะเวลาการใช้งานแบตขณะเล่นเกมเอาจริง ๆ อาจไม่ต่างกันมากด้วย แต่ก็จะเสียเปรียบเรื่องความสะดวกในการพกพาประมาณนึงไป หรือจะใช้ประกอบคอมเดสก์ท็อปซักเครื่อง ก็ยังพอจะได้การ์ดจอระดับเริ่มต้นถึงกลาง แบบที่ถัว ๆ ราคากับฮาร์ดแวร์ชิ้นอื่นไป อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ลักษณะการใช้งาน ความสะดวกในการพกเครื่องของแต่ละท่านอีกที
อีกสายก็คือเครื่องเกมคอนโซลไปเลย ที่เครื่อง PS5 มือหนึ่งราคาจะเริ่มตั้งแต่หมื่นต้น ๆ ถึงประมาณ 17,000 บาท อันนี้รับรองว่าเล่นเกมได้แน่ แต่ก็จะไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มพีซี ทำให้หนึ่งคือไม่สามารถใช้ทำงานได้เหมือนคอม สองคือระบบการซื้อเกมก็จะเป็นของแต่ละค่ายเอง ยกเว้นฝั่ง Xbox ที่จะมี Xbox Play Anywhere ให้สามารถซื้อเกมครั้งเดียว เล่นได้ทั้งบนพีซีและเครื่อง Xbox ได้ สามคือเครื่องจะไม่มีจอติดมาด้วย ต้องเล่นกับจอทีวีหรือจอคอมด้วยเท่านั้น ต่างจากเครื่องเล่นเกมพกพาที่มีจอในตัว
2. เกมที่ต้องการเล่น
เครื่องเกมพกพาแบบ handheld PC เกือบทั้งหมดในยุคนี้จะถูกออกแบบมาให้ใช้ Windows 11 เป็นหลัก ทำให้สามารถเล่นเกมที่ซื้อบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Steam, EA, Epic Store, GOG หรือติดตั้งเกมจากไฟล์ที่มีก็ได้ เพราะจริง ๆ แล้วตัวเครื่องก็คือคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งนั่นเอง จะมีที่แปลกหน่อยก็คือ Steam Deck ที่ได้รับการออกแบบให้ทำงานด้วย SteamOS ซึ่งเป็นระบบสาย Linux จึงสามารถเล่นได้เฉพาะเกมที่ซื้อผ่าน Steam เท่านั้น ถ้าอยากเล่นเกมจาก store อื่นอาจจะต้องเล่นท่ายากซักหน่อย แต่ถ้าพื้นที่ SSD เหลือพอก็สามารถติดตั้ง Windows ลงไปใช้งานแบบ dual boot ได้เหมือนกัน
ดังนั้นถ้าคุณต้องการเล่นเกมพีซี เกมที่ดองไว้ใน Steam หรือเกมแจกฟรีที่กดรับไว้ใน Epic Store โดยเฉพาะถ้าเป็นสายเล่นเกมอินดี้ เกมขนาดเล็กที่กราฟิกไม่ซับซ้อนมากนัก เครื่องเกมพกพาคือตอบโจทย์มาก โดยเฉพาะถ้าตั้งใจเอามาใช้เล่นเกมจาก Steam ล้วน ๆ ก็หา Steam Deck มาโดยตรงเลยจะดีกว่า เพราะระบบมันถูกเขียนมาให้เข้ากับการเล่นเกมได้ดีพอตัว ราคาเครื่องหิ้วมือหนึ่งหรือเครื่องมือสองก็จะแล้วแต่รุ่นว่าเป็นจอ LCD หรือ OLED แล้วก็ตามความจุอีกที อาจจะดูสูงนิดนึง แต่สบายใจกว่าเรื่องความเข้ากันได้และการสนับสนุนจากผู้ผลิต
อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับเกมที่ต้องการเล่นบนเครื่องพกพาก็คือ เกมคอนโซลบางเกมอาจจะไม่ได้รับการออกแบบหรือปรับจูนให้เข้ากับการเล่นเกมบนหน้าจอขนาดเล็ก หรือกับสเปคในระดับเครื่องพกพาที่ต้องใส่ใจเรื่องการกินพลังงานด้วย ทำให้บางเกมอาจจะเล่นได้ไม่เต็มที่ กินสเปคเกินไปจนเล่นไม่สนุก จะดีหน่อยที่ตอนนี้หลาย ๆ เกมก็มีการอัปเดตให้เกมรองรับการปรับกราฟิกแบบที่สร้างโปรไฟล์สำหรับเครื่องเกมพกพามาให้เลย ที่ก็จะช่วยให้สามารถเล่นเกมได้ลื่นประมาณนึง โดยที่ยังได้อัตราการกินพลังงานที่ไม่โหดจนเกินไป
หรือถ้าคุณชื่นชอบเกมแนว RTS เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นแนวเกมที่มักต้องอาศัยการใช้เมาส์คลิก การดูสถานการณ์โดยรวมผ่านหน้าจอ อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นบนเครื่อง handheld ซักเท่าไหร่ จะดีขึ้นหน่อยก็ตอนนำไปต่อภาพออกจอ ต่อเมาส์กับคีย์บอร์ด ทำให้ถ้าต้องพกเพื่อไปเล่นที่อื่น ก็อาจต้องขนไปทั้งเครื่อง + dock หรือสายต่อจอ + อะแดปเตอร์ชาร์จ + เมาส์ คีย์บอร์ด ซึ่งก็อาจจะกลายเป็นไม่ต่างจากการใช้โน้ตบุ๊กหรือเครื่องเดสก์ท็อปพีซีเลย
แต่แน่นอนว่าถ้าคุณต้องการเล่นเกมที่อยู่ในระบบอื่น เช่น เกม PS5 อันนี้ยังพอจะซื้อเครื่องเกมพกพามาใช้ได้ในบางกรณีครับ เพราะ Sony ก็ทยอยนำเกมฟอร์มใหญ่มาลงในพีซีหลายเกมแล้ว แค่ใช้เวลาซักนิดนึง แต่ถ้าต้องการเล่นเกม PS5 ในแบบ handheld จริง ๆ เครื่อง PlayStation Portal น่าจะเหมาะกว่า เพราะตัวเครื่องจะมีหน้าจอ มีจอยให้พร้อมเล่นได้ทันทีผ่านการรีโมทและสตรีมข้อมูลมาจากเครื่อง PS5 ที่มีอยู่ เท่ากับว่าต้องมีทั้ง PS5 มีเครื่อง Portal มีเน็ตที่แรงและเสถียรด้วย แต่ถ้าต้องการเล่นเกม Nintendo Switch อันนี้ก็แนะนำว่าซื้อ Nintendo Switch ไปเลยดีกว่า ราคาเครื่องก็ไม่จัดว่าสูงมาก ไม่แนะนำให้ซื้อเครื่องพกพาอื่นแล้วมาลง emulator เพื่อเล่นเกมของ Switch ที่ทั้งขั้นตอนยุ่งยาก บางครั้งก็เล่นไม่ลื่น และยังไม่รองรับบางเกมอีก สู้ซื้อเครื่องแท้ เล่นเกมแท้ไปเลยดีกว่า
3. ต้องใช้แท่น dock หรือเปล่า
จุดเด่นหลักของเครื่อง handheld ก็คือความสามารถในการเล่นเกมและใช้ทำงานแบบติดมือไปไหนต่อไหนได้ เนื่องจากขนาดที่จัดว่ากะทัดรัดสำหรับการเป็นคอมพิวเตอร์ ทั้งยังมีแบตเตอรี่ในตัวด้วย แต่อีกความสามารถหนึ่งที่ตกหลาย ๆ ท่านได้ก็คือมันสามารถต่อสาย หรือต่อกับแท่น dock เพื่อต่อภาพออกจอใหญ่ ออกทีวี ต่ออุปกรณ์เสริมเพื่อใช้เป็นคอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบได้ด้วย ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานจริงมากกว่า ทำให้ถ้าคุณมีข้อจำกัดที่สามารถซื้ออุปกรณ์เล่นเกมได้เครื่องเดียว พวกเครื่องเกมพกพารูปแบบนี้ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ
แต่เครื่องเล่นเกมพีซีแบบพกพาหลายรุ่นจะได้รับการออกแบบมาให้ส่วนควบคุมอย่างจอยคอนโทรลเลอร์ และทัชแพดอยู่เป็นชิ้นเดียวกับตัวเครื่องทั้งหมด ทำให้เวลาที่ต่อกับ dock หรือต่อสายเพื่อส่งภาพขึ้นจอ ก็อาจจะต้องหาเมาส์ คีย์บอร์ด และอาจรวมถึงคอนโทรลเลอร์แยกมาใช้เพิ่มด้วย เพื่อที่จะได้สามารถทำงานหรือเล่นเกมได้ จะมีก็บางรุ่นที่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถถอดจอยแยกออกมาจากหน้าจอคล้ายกับ Nintendo Switch เช่น Lenovo Legion Go อันนี้ก็ได้ความสะดวกไปอีกแบบ อย่างน้อยก็สามารถแยกเอาจอเล็กไปต่อจอใหญ่ โดยถอดจอยมาใช้เล่นเกมชิล ๆ ได้
ซึ่งถ้าคุณจำเป็นต้องใช้งานแบบต่อ dock ต่อสายออกจอบ่อย ๆ ก็ต้องพิจารณาส่วนของอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ด้วยครับ ถ้ามีอยู่แล้วก็สบายเลย แต่ถ้าไม่มีก็อาจต้องซื้อเพิ่ม ซึ่งที่จะต้องเลือกหน่อยก็คือส่วนของ hub หรือ dock ที่จะใช้ต่อหลาย ๆ อุปกรณ์กับตัวเครื่อง เพราะปกติแล้วเครื่องเกมพกพาจะมีพอร์ต USB-C มาให้มากสุดก็ 2 ช่อง จึงจำเป็นต้องใช้ USB-C hub หรือ USB-C dock เพื่อให้สามารถต่อทั้งหน้าจอ ทั้งอุปกรณ์ USB ต่าง ๆ ได้พร้อมกัน
และถ้าจะซื้อ hub หรือ dock มาใช้งานกับเครื่องเหล่านี้ ก็ต้องเลือกที่มีสเปคสูงพอตัวด้วย เพื่อให้มีแบนด์วิธเพียงพอกับการต่อทั้งจอความละเอียดสูง รีเฟรชเรตสูง พร้อมกับต่ออุปกรณ์อื่นพร้อมกันได้
4. เล่นเกมติดต่อกันนานเท่าไหร่?
แม้ว่าจุดเด่นของเครื่องเล่นเกมแบบพีซีพกพาคือความสามารถในการนำเครื่องไปใช้เล่นเกม ใช้ทำงานที่ไหนก็ได้ ในรูปแบบที่พกพาได้ง่ายกว่า น้ำหนักเบากว่าโน้ตบุ๊ก แต่ข้อจำกัดที่จะมีตามมาก็คือระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ก็จำกัดลงตามขนาดเครื่อง และรูปแบบการใช้งานอยู่ดี อย่างถ้าเล่นเกมที่กราฟิกสูงนิดนึง เครื่องอย่าง Steam Deck และเครื่องที่สเปคใกล้เคียงก็มักจะเล่นโดยใช้แบตได้ราว ๆ 1 ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงกว่าเท่านั้น ยิ่งถ้าต้องเผื่อไว้สำหรับทำงานฉุกเฉิน ก็ยิ่งต้องคำนึงเรื่องแบตระหว่างวันเพิ่มเข้าไปอีก สุดท้ายก็คงต้องหาจุดเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ เพื่อจะได้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งถ้าคุณต้องการมาเครื่องมาใช้งานในลักษณะนี้ เครื่องเกมพกพาก็จะเสียจุดเด่นในเรื่องความสะดวก ความคล่องตัวไป แต่ถ้าปกติแล้วคุณเล่นเกมแค่ประมาณวันละ 1 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น และเล่นเกมที่ไม่กินสเปคมากนัก เครื่องกลุ่มนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีเลย เพราะเพียงแค่หยิบออกมาก็ใช้เล่นเกมได้อย่างรวดเร็ว แถมจะเล่นจากบนโซฟา บนที่นอน หรือขณะนั่งอยู่ในรถก็ทำได้สะดวกมาก พอเล่นจบแล้วก็เสียบสายชาร์จต่อได้
5. สเปคเครื่องตอบโจทย์หรือไม่?
ถ้าจากทั้ง 4 ข้อที่ผ่านมา เครื่องเกมแบบพกพาตอบโจทย์ส่วนตัวของคุณได้แล้ว ก็จะเหลือเรื่องสเปค ความแรงเครื่องที่ต้องมาดูกันต่อ เพราะสุดท้ายแล้วเครื่องกลุ่มนี้ก็คือคอมพิวเตอร์ที่ย่อส่วนลงมานั่นเอง ต่างจากกลุ่มเครื่องเกมคอนโซล เครื่องพกพาที่มีแพลตฟอร์มเฉพาะอย่าง Nintendo Switch ที่มีสเปคแบบเจาะจงมาจากผู้ผลิตแต่ละค่ายอยู่แล้ว และก็เป็นคนละกลุ่มกับเครื่องพกพาที่อาศัยเล่นเกมผ่านการสตรีมมิ่งด้วย
ในด้านของชิปประมวลผล ในขณะนี้จะมีอยู่สองสายหลัก ๆ คือ
- ใช้ชิปตระกูล AMD Ryzen Z1 + AMD Radeon 780M
- ใช้ชิปรุ่นเดียวกับโน้ตบุ๊ก เช่น AMD Ryzen 7 8840U และ Intel Core Ultra 7 155H
กลุ่มแรกจะเป็นชิปที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเครื่อง handheld โดยเฉพาะ จึงจะมีการจัดการพลังงาน ค่า TDP ที่เข้มขันกว่าเพื่อลดการกินไฟและลดความร้อนสะสม รวมถึงมีการตัดโมดูลบางอย่างออก เช่น NPU ทำให้รวม ๆ แล้วความแรงก็จะไม่ต่างกันมากนัก แต่ชิปกลุ่มสองอาจจะครอบคลุมการทำงานได้หลากหลายกว่านิดนึง ทำให้ค่อนข้างเหมาะกับคนที่จะใช้เครื่องเพื่อทั้งทำงานและเล่นเกม
แรมก็เป็นส่วนสำคัญมากเช่นกัน แต่ในช่วงนี้ผู้ผลิตหลายรายจะใส่มาให้ 16GB เป็นหลัก มีบางส่วนที่ก็มีให้เลือกหลากหลายตามช่วงราคา บางรุ่นก็สามารถหาแรมโน้ตบุ๊กมาใส่เพิ่มได้ แต่ในปีนี้เราน่าจะได้เห็นเครื่องใหม่ ๆ ที่ให้แรมมาขั้นต่ำ 24GB กันแล้ว อย่าง ASUS ROG Ally X ก็เปิดตัวมาที่แรม 24GB ขยับจากรุ่นแรกที่ให้มา 16GB ซึ่งถ้าถามว่าแรม 16GB ยังพอหรือไม่ ตามจริงก็ยังพอครับ แต่ก็ถือว่าตึง ๆ แล้ว โดยเฉพาะกับการเล่นเกมใหญ่ ๆ เพราะเกมก็ยิ่งกินสเปคมากขึ้นทุกปี แถมถ้าเป็นเกมแนว open world อันนี้แรมจะมีส่วนสำคัญมากทีเดียว
ด้านของความจุ SSD คือสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลย ส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตจะให้มาเริ่มต้นที่ 512GB และอาจมีตัวเลือกรุ่นที่ความจุสูงขึ้นมาอีกให้เลือกบ้าง ซึ่งถ้าให้แนะนำก็ควรเลือกเครื่องที่ให้ความจุมา 1TB ไว้ก่อน หรืออย่างน้อยก็สามารถอัปเกรดโดยการเปลี่ยน SSD ในเครื่องได้ ซึ่งก็จะเป็น SSD แบบ NVMe M.2 กันแทบทั้งนั้น เนื่องจากเกมในปัจจุบันก็กินเนื้อที่ติดตั้งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อใช้เก็บไฟล์ texture ความละเอียดสูง บางเกมกินเป็นหลัก 100GB+ เลยทีเดียว ทำให้ SSD 512GB อาจจะเริ่มแน่นไปนิดนึง ถ้าต้องลงหลายเกม ไหนจะมี OS ไหนจะโปรแกรมต่าง ๆ อีก
ส่วนหน้าจอ แต่ละรุ่นจะให้เป็นจอสัมผัสขนาดขั้นต่ำที่ 7 นิ้วขึ้นไป รีเฟรชเรตก็มีให้เลือกทั้ง 120 และ 144Hz ความละเอียดขั้นต่ำระดับ Full HD 1080p เรียกว่าส่วนใหญ่จะเฉือนกันที่ขนาดหน้าจอเป็นหลักมากกว่า ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับขนาดและน้ำหนักเครื่องตามไปด้วย ส่วนถ้าอยากเล่นเกมบนจอใหญ่ขึ้นมาหน่อย ก็ค่อยต่อจอนอกเพิ่ม หรือจะซื้อจอพกพาขนาดซัก 13-15.6″ พกติดตัวเพิ่มไปอีกซักชิ้นก็น่าสนใจ
สุดท้ายคือเรื่องอุปกรณ์ควบคุมที่แต่ละเครื่องจะมีทั้งก้านอนาล็อก และปุ่มกดที่วางตำแหน่งมาในลักษณะเดียวกับจอยคอนโทรลเลอร์ เพื่อให้สามารถจับแล้วเล่นเกมได้เลยทันที โดยสเปคของจอยก็จะมีหนึ่งจุดที่ได้รับความสำคัญก็คือชุดก้านอนาล็อกว่าเป็นแบบ hall effect หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นแบบ hall effect ก็จะมีข้อได้เปรียบตรงด้านความคงทน เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะไม่เกิดปัญหาการควบคุมก้านอนาล็อกไม่ได้ดั่งใจ หรือปัญหาจอยดริฟท์ที่ชาวคอนโซลหลายท่านคงเคยพบเจอกันมา กับอีกแบบที่น่าสนใจคือเครื่องพกพาบางรุ่นจะมีแถบทัชแพดเล็ก ๆ มาให้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากในสถานการณ์ที่ต้องใช้เมาส์ในการสั่งงาน เช่น เวลาต่อภาพออกจอ หรือเวลาต้องการจิ้มเลือกวัตถุที่มีขนาดเล็กบนหน้าจอ เป็นต้น
ตัวอย่าง Asus ROG Ally ในรุ่นท๊อปสุด จะมาพร้อมหน่วยความจำแบบ LPDDR5-6400 ความจุถึง 16 GB ติดตั้งทำงานแบบ Dual-Channel รวมถึงในส่วนของแหล่งเก็บข้อมูลนั้น ใช้เป็นแบบโมดูล M.2 SSD ซึ่งมีความจุ 512GB ให้เพียงพอต่อการติดตั้งเกมระดับ AAA ใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ได้ 2-3 เกม อีกทั้งถ้าหากพื้นที่ไม่พอใช้งาน ก็ยังเสริมช่องเชื่อมต่อสำหรับ SD card slot (UHS-II) ได้อีกด้วย
สรุป สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนการเลือกซื้อเครื่องเกมพกพา
โดยหลักแล้วก็คือต้องดูจากโจทย์และรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ก่อน ว่าสามารถพกพาเครื่องได้ระดับไหน จะนำเครื่องไปใช้ทำอะไรบ้าง แต่ละวันต้องใช้เครื่องหนักและนานขนาดไหน เกมที่ต้องการเล่นมีลงในแพลตฟอร์มใดบ้าง และที่ขาดไม่ได้ก็คือสเปคที่แต่ละเครื่องมีให้นั้นเพียงพอกับข้อต่าง ๆ ข้างต้นหรือไม่
ซึ่งเครื่องเล่นเกมพีซีแบบพกพาในลักษณะนี้ก็จะมีจุดเด่นที่ขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย หยิบขึ้นมาใช้งานก็ทำได้รวดเร็ว ความสามารถก็เทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์แบบเต็ม ๆ เครื่องหนึ่งได้เลย จะมีที่ต้องเป็นห่วงนิดนึงก็คือเรื่องความร้อนสะสม และระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่บางสถานการณ์ก็อาจจะยังน้อยกว่าโน้ตบุ๊กอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากตัวเครื่องที่มีขนาดเล็ก รวมถึงอาจจะจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานอีก เช่น ฮับหรือ dock สำหรับต่อพ่วงอุปกรณ์เสริม แบตสำรองที่จ่ายไฟได้กำลังสูง นอกจากนี้การอัปเกรดอุปกรณ์ก็ยังมีข้อจำกัดมากกว่า ซึ่งคงต้องรอการพัฒนาจากแต่ละค่ายกันต่อไป ที่ตอนนี้ก็เริ่มมีแบรนด์ต่าง ๆ ตบเท้าเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นแล้ว ดังที่เปิดตัวกันไปในงาน Computex 2024 ที่ผ่านมา เลยคาดว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะยังเติบโตได้อีกไกลทีเดียว
แต่ถ้าใครที่ยังมองว่าเครื่องในกลุ่มนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในขณะนี้ เกมมิ่งโน้ตบุ๊กก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่ ด้วยราคาที่เริ่มตั้งแต่สองหมื่นต้น ๆ ใช้งานได้แบบเดียวกัน แถมอาจจะดีกว่าในหลายจุดด้วย ติดที่ตัวเครื่องก็จะใหญ่กว่า พกยากขึ้นมาหน่อยเท่านั้นเอง
เรียบเรียงจากบทความบนเว็บไซต์ MakeUseOf