Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

ทำความรู้จัก Thunderbolt 5 พอร์ตความเร็วสูงที่อาจเริ่มใช้ในปีนี้

พอร์ตเชื่อมต่อคือหนึ่งในส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งเป็นช่องทางรับส่งข้อมูล ช่องสำหรับรับและจ่ายไฟระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ แน่นอนว่าพอร์ตเด่นประจำยุคนี้ก็คือ USB-C ซึ่งก็มีการพัฒนาโปรโตคอลการรับส่งข้อมูลหลากหลายแบบมาใช้กับ USB-C โดยหนึ่งในโปรโตคอลสำคัญก็คือ Thunderbolt ที่ล่าสุดมีการเปิดตัว Thunderbolt 5 ออกมาแล้ว และดูจะเป็นไปได้ด้วยว่าเราอาจจะได้เริ่มใช้กันในปีนี้ ในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับโปรโตคอลใหม่กัน

thunderbolt 5

Advertisement

Thunderbolt 5 คืออะไร?

Thunderbolt คือชื่อของมาตรฐานการเชื่อมต่อเพื่อรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Intel และได้รับความร่วมมือจาก Apple พื้นฐานคือเป็นการนำสองโปรโตคอลเชื่อมต่อมารวมไว้ในสัญญาณเดียวกัน นั่นคือ PCI Express สำหรับรับส่งข้อมูลและ DisplayPort สำหรับรับส่งสัญญาณภาพ รวมถึงยังรองรับการจ่ายไฟ DC มาในสายเดียวกันด้วย ทำให้จุดเด่นของการเชื่อมต่อนี้ก็คือเราสามารถใช้สายเชื่อมต่อเพียงเส้นเดียวในการต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับอุปกรณ์อื่น โดยที่ได้คุณสมบัติเด่น ๆ เหล่านี้ตามมา

  • สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงระดับกิกะบิต (Gbps)
  • รองรับการต่อภาพออกจออื่นได้ทันที
  • สามารถต่ออุปกรณ์แบบขยายวงออกไปได้ (daisy chain) เช่น โน้ตบุ๊ก > จอ 1 > จอ 2 > External SSD
  • รองรับการจ่ายไฟได้ เช่น การเสียบปลั๊กไฟเข้าที่จอเพียงจุดเดียว แต่สามารถจ่ายไฟเลี้ยงจอและจ่ายมาเลี้ยงโน้ตบุ๊กที่ต่อกับจอนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กที่โน้ตบุ๊กเลย
  • รองรับการเชื่อมต่อโปรโตคอลอื่นได้ด้วย เช่น PCIe และ USB

Thunderbolt เริ่มใส่มาในคอมพิวเตอร์แบบเปิดให้ใช้งานจริงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2011 และยังได้รับการพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงมาตรฐานล่าสุดที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว นั่นคือ Thunderbolt 5

Screenshot 2024 01 23 at 10.00.06 AM

Thunderbolt 5 ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก Thunderbolt 4 โดยส่วนที่อัปเกรดขึ้นหลัก ๆ เลยก็คือแบนด์วิธการรับส่งข้อมูลที่กว้างขึ้น ทำให้ทั้งมีความเร็วสูงกว่าเดิม สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมกันได้มากขึ้น และเพิ่มความเรียบง่ายให้กับการเชื่อมต่อ ได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการจาก Intel เมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2023 สำหรับคุณสมบัติเชิงเทคนิคจะมีดังนี้

  • ตัวพอร์ตใช้เป็นแบบ USB-C อิงตามมาตรฐาน USB4 2.0
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสองทาง สูงสุดอยู่ที่ 80 Gbps และสามารถบูสท์ได้สูงสุดถึง 120 Gbps ในกรณีที่ต้องใช้ในการต่อภาพขึ้นจอ แบบที่ต้องใช้แบนด์วิธสูงกว่าปกติ
  • รองรับมาตรฐานการต่อจอแบบ DisplayPort 2.1
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่าน PCIe สูงสุด 64 Gbps ซึ่งสูงกว่าเดิมสองเท่า
  • จ่ายไฟแบบ downstream ได้สูงสุด 240W และจ่ายให้อุปกรณ์เสริมอื่นได้ที่กำลังไฟ 15W
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลระหว่างพีซีถึงพีซีด้วยกัน (ต่อตรงแบบ Thunderbolt Networking) สูงกว่าเดิมถึงสองเท่า
  • จำเป็นต้องใช้สายที่ใช้เทคโนโลยีสัญญาณแบบ PAM-3 เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยสายมีความยาวได้สูงสุด 1 เมตร
  • รองรับการใช้งานร่วมกับ Thunderbolt, USB และ DisplayPort รุ่นก่อนหน้า ผ่านพอร์ต USB-C ได้

Screenshot 2024 01 22 at 2.16.07 PM

หนึ่งในเทคนิคที่ทำให้ TB 5 (รวมถึง USB4 v2) ทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้สูงขึ้นก็คือการเปลี่ยนเทคนิคการเข้ารหัสและผสมสัญญาณมาใช้แบบ PAM-3 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานร่วมกับมาตรฐานของ USB ได้ มีคุณสมบัติคือมีค่า baud rate ในการส่งคลื่นสัญญาณที่ต่ำกว่าเดิม ทำให้สามารถส่งข้อมูลต่อหนึ่งรอบสัญญาณนาฬิกาได้มากกว่าเดิม เทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ในเวลา 1 วินาที PAM-2 อาจจะส่งคลื่นที่แทนข้อมูลได้แค่ 1 bit แต่ถ้าเป็น PAM-3 อาจจะสามารถส่งได้ถึงราว 2 bit ในเวลาที่เท่ากัน เป็นต้น นั่นจึงทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ PAM-3 ยังมีอัตราส่วนของ signal-to-noise ที่น้อยกว่า PAM-4 ด้วย อีกเหตุผลสำคัญก็คือเทคนิคการเข้ารหัสและผสมสัญญาณแบบนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทันทีโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มมากนัก ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจขยับเทคโนโลยีขึ้นมาได้ง่ายกว่า จึงทำให้ PAM-3 ถูกหยิบมาใช้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักของ TB 5

แม้ที่จริงแล้วในเชิงเทคนิคการเข้าและผสมรหัสสัญญาณจะมีเทคโนโลยี PAM-4 ที่มีศักยภาพด้านความเร็วสูงกว่าก็ตาม แต่ทั้ง USB4 และ TB 5 เลือกใช้ PAM-3 ก็มีสาเหตุหลักจากตัวของ PAM-4 มีอัตรา signal-to-noise ที่สูงกว่า มีการใช้พลังงานที่สูง รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฮาร์ดแวร์จากมาตรฐานเดิมหลายจุด ซึ่งจะสะท้อนถึงต้นทุนของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น ชิปคอนโทรลเลอร์ พอร์ตและสายด้วย

newsroom tbt5 new possibilities.png.rendition.intel .web .1920.1080

หากจับ Thunderbolt 4 (Today) มาเทียบกับ 5 (Tomorrow) จะเห็นว่าทั้งการใช้งานด้านภาพ ข้อมูลและการเชื่อมต่อ ต่างก็ได้รับการอัปเกรดให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิม อย่างในเรื่องการต่อภาพขึ้นจอ ตัวมาตรฐานใหม่สามารถต่อจอระดับ 4K 144Hz ได้สูงสุด 3 จอ ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลปริมาณแบนด์วิธที่ต้องใช้สำหรับการต่อจอจากเว็บไซต์ Intel เอง ที่จอ 4K 144Hz 8-bit จะต้องใช้ 35.83 Gbps หากต่อ 3 จอจะเท่ากับ 35.83 x 3 = 107.49 Gbps ซึ่งก็คือเกือบเต็มขีดจำกัด 120 Gbps เลยทีเดียว ส่วนกรณีของจอ 8K จะระบุไว้เพียงว่าสามารถต่อได้พร้อมกันมากกว่า 1 จอ ซึ่งน่าจะได้อย่างมากสุดก็ 2 จอ แบบที่เป็นจอ 8K 60Hz แต่สำหรับถ้าเป็นการต่อจอเดียว ซึ่งคาดว่าน่าจะอิงที่จอความละเอียดระดับ 1080p จะรองรับจอได้รีเฟรชเรตสูงสุดถึง 540Hz ผ่านการเชื่อมต่อแบบ DisplayPort ที่พอร์ต USB-C

ต่อมาคือเรื่องการรับส่งข้อมูล ด้วยแบนด์วิธที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้มากขึ้น หลากหลายกว่าเดิม รวมถึงยังมีความเร็วสูงสุดที่มากกว่ารุ่นก่อนเป็นเท่าตัวอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่น่าจะได้ประโยชน์จากคุณสมบัติข้อนี้เต็ม ๆ ก็คือ External SSD ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงตลอดเวลา เช่น การตัดต่อวิดีโอจากไฟล์ที่อยู่ใน external หรืออีกกรณีก็คือการต่อกับการ์ดจอในลักษณะ eGFX เพื่อใช้ eGPU ได้ดีขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น รอบนี้น่าจะสามารถใช้สายเส้นเดียวเพื่อใช้ทั้งต่ออุปกรณ์ และจ่ายไฟให้โน้ตบุ๊กไปพร้อมกันได้จริง ๆ แล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง หรือโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงที่กินไฟสูงกว่าปกติ จากที่ใน Thunderbolt 4 แม้ว่าจะทำได้ก็จริง แต่ต้องเป็นกับโน้ตบุ๊กที่กินไฟไม่สูงมาก แล้วต้องใช้สายชาร์จเครื่องต่อตรงเข้าไปอีกเส้น เนื่องจากตัว TB4 รองรับการจ่ายไฟได้สูงสุดแค่ 100W ถึง 140W เท่านั้น ซึ่งแค่เกมมิ่งโน้ตบุ๊กเครื่องเดียวก็เต็มแล้ว แต่ใน TB5 จะรองรับได้สูงสุดถึง 240W เลย จัดว่าเพียงพอสำหรับจ่ายให้กับทั้งโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ต่อพ่วงส่วนใหญ่อยู่แล้ว

นั่นทำให้ในปีนี้เราอาจจะได้เห็นการโปรโมตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นบางเบา ที่ความแรง พลังกราฟิกและค่า TDP/TGP ไม่สูงมากนัก ซึ่งมาพร้อมอะแดปเตอร์ชาร์จที่จ่ายไฟไม่เกิน 240W สามารถใช้สาย TB เส้นเดียวเพื่อต่อจอและจ่ายไฟเข้าเครื่องได้พร้อมกันเลยก็เป็นได้ หรืออย่างน้อยก็คือโปรโมตว่าสามารถใช้สายเส้นเดียว ต่ออุปกรณ์เสริม ต่อเกมมิ่งเกียร์ที่จำเป็นทุกชิ้นได้แบบสบาย ๆ

newsroom tbt5 vs usb4 optional speeds.png.rendition.intel .web .1920.1080

ส่วนถ้านำเรื่องความเร็วมาเทียบกันตรง ๆ ระหว่าง Thunderbolt 5 เทียบกับเวอร์ชัน 3 และ 4 ข้ามไปถึงการเทียบกับ USB 2, 3 และ 4 เลย จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน สังเกตจากความเร็วพื้นฐานที่เป็นแท่งกราฟสีน้ำเงินเข้ม ที่ TB5 ในโหมดปกติก็สามารถทำได้สูงสุดถึง 80 Gbps แล้ว ซึ่งสูงกว่า TB4 อยู่สองเท่า และสูงกว่า USB 3.0 ระดับพื้นฐานถึง 16 เท่าตัว

ที่ดูเหมือนจะออกมาชนกันตรง ๆ ก็คือ TB5 กับ USB4 ที่หากเทียบเฉพาะความเร็ว ต้องบอกว่า TB5 สามารถทำได้สูงกว่าในโหมดปกติ ในขณะที่โหมดปกติของ USB4 จะทำได้แค่ 20 Gbps เท่านั้น แต่ก็สามารถเร่งขึ้นมาจากการเชื่อมต่อในโหมดต่าง ๆ  ได้จนถึงระดับ 80 Gbps เท่ากัน นอกจากนี้ทั้งสองมาตรฐานยังสามารถบูสท์ได้สูงสุดถึง 120 Gbps เพื่อรองรับการต่อจอภาพได้เหมือนกันด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก TB5 เป็นโปรโตคอลที่พัฒนาต่อยอดอิงมาจาก USB4 อีกทีนั่นเอง

Screenshot 2024 01 23 at 10.00.48 AM

ในเรื่องการบูสท์ความเร็วสูงสุดเป็น 120 Gbps ทาง Intel ก็มีการแสดงวิธีทำงานแบบง่าย ๆ  ด้วยเช่นกัน เริ่มจากภาพฝั่งซ้ายที่เป็นการทำงานในโหมดปกติ รองรับการรับส่งข้อมูลแบบ 2 ทางคือส่งออกและรับเข้า ที่ในสายจะแบ่งเป็น 4 เลน แบ่งเป็นเลนละ 40 Gbps พอแบ่งให้เป็นการเชื่อมต่อสองทางแบบเท่า ๆ กัน ก็จะได้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ฝั่งละ 80 Gbps พอดี

แต่ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อจอความละเอียดและรีเฟรชเรตสูง ที่ต้องใช้แบนด์วิธจำนวนมาก เช่นต่อจอ 4K HDR รีเฟรชเรตสูง ๆ ชิปและสายก็จะมีการปรับโหมดของเลนการส่งข้อมูลขาออกจากโน้ตบุ๊กให้เป็น ขาออก 3 ขาเข้า 1 ทำให้ได้ความเร็วการส่งข้อมูลสูงสุดเป็น 120 Gbps ส่วนความเร็วในการส่งข้อมูลขารับเข้าเครื่องจะปรับลดมาเหลือ 40 Gbps เท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าสูงมากอยู่ดี เพราะเป็นความเร็วที่เท่ากับ Thunderbolt 4 ที่ในตอนนี้ก็ยังถือว่าเร็วมากอยู่

Screenshot 2024 01 23 at 10.01.20 AM

ส่วนตารางด้านบนนี้ก็เป็นการเทียบโปรโตคอลการรับส่งข้อมูลแต่ละแบบเหมือนกันครับ แต่ก็จะมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีก อาทิ

  • TB 5 รองรับการต่อจอ 6K พร้อมกันได้สูงสุด 2 จอ ส่วน TB 4 จะได้แค่ 4K สองจอ
  • สามารถปลุกเครื่องผ่านอุปกรณ์ที่ต่อกับพอร์ต Thunderbolt จากสถานะ sleep ได้
  • อุปกรณ์ที่รองรับ TB 5 จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน และตรวจสอบก่อนออกวางจำหน่าย
  • สามารถจ่ายไฟให้อุปกรณ์เสริมได้สูงสุด 15W
  • จำเป็นต้องมีระบบ DMA เพื่อตรวจสอบและป้องกันความปลอดภัย จึงจะสามารถใช้งานได้

ทำให้สุดท้ายพอลองเทียบกัน จะพบว่า Thunderbolt ก็ยังคงเป็นพอร์ตที่มีการควบคุมมาตรฐานการทำงานที่เข้มงวดกว่าฝั่ง USB4 อยู่เช่นเคย นั่นก็น่าจะทำให้สะท้อนออกมาตรงราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงหน่อย เหมือนกับรุ่นก่อนหน้าที่ผ่านมา

Screenshot 2024 01 22 at 2.28.16 PM

ด้านของอุปกรณ์ Thunderbolt ก็จะมีออกมาให้เลือกใช้งานค่อนข้างหลากหลาย ที่อาจจะใกล้ตัวหน่อยก็เช่นพวกฮับ ตัวแปลงพอร์ต แท่น dock เชื่อมต่อ รวมถึงจอคอม เป็นต้น ซึ่งแผนของ Intel ก็ระบุไว้ว่าในช่วงแรกจะเน้นนำ TB 5 ไปบุกตลาดของผู้ใช้กลุ่มครีเอเตอร์ เกมเมอร์และผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ระดับเวิร์คสเตชันก่อน ตีคู่ไปกับ TB 4 ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน จากนั้นก็จะค่อยมาโฟกัสเพิ่มเติมกับผู้ใช้งานกลุ่มที่ใช้คอมทำงาน ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปอาจจะเข้ามาทีหลังสุดเลย โดยเน้นทำตลาดด้วย TB 4 ไปก่อน

อุปกรณ์เสริมที่ดูน่าสนใจและอาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายสายงาน ก็จะเป็นพวกที่เกี่ยวกับการประมวลผลกราฟิกและ AI อย่าง External Graphics และ External AI Accelerator ที่สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับโน้ตบุ๊กที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องสเปค เพื่อให้สามารถแสดงกราฟิกที่สวยงาม มีรายละเอียดสูงขึ้น รวมถึงใช้ในการประมวลผลเชิง AI ได้เร็วกว่าที่เครื่องเองทำได้ ซึ่งในปีสองปีนี้เราคงได้เห็นสินค้ากลุ่มนี้ออกทำตลาดเยอะขึ้น ด้วยการมาถึงของยุค AI PC ที่น่าจะทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องอาศัยพลังของ AI เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น

Screenshot 2024 01 22 at 2.28.27 PM

ในข้อมูลชุดเดียวกันนี้ก็มีการระบุถึงสัญลักษณ์ที่จะใช้ทำตลาด และจุดสังเกตบนอุปกรณ์มาให้ด้วย ที่อาจจะใกล้ตัวเราหน่อยก็คือส่วนของพอร์ตและสายครับ ส่วนไอคอนก็ยังคงใช้รูปสายฟ้าฟาดลงมาเหมือนเดิม

พอร์ต Thunderbolt 5 จะใช้เป็นช่อง USB-C หน้าตาปกติเลย แต่ข้างพอร์ตจะมีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าฟาดที่มีหัวลูกศรชี้ลงอยู่ตรงปลายด้วย แต่อาจจะสังเกตยากหน่อยว่าเป็นเวอร์ชันอะไร เพราะส่วนใหญ่ผู้ผลิตก็จะใส่มาแค่รูปสายฟ้าไว้ข้างพอร์ตเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุรุ่นเอาไว้ ส่วนสายเชื่อมต่อก็จะมีรูปสายฟ้าอยู่เช่นกัน แต่ให้สังเกตเลขตรงขั้วว่าเป็นเลขอะไร ถ้าเป็นมาตรฐานใหม่สุดก็จะใช้เป็นเลข 5 แบบชัด ๆ ไปเลย ซึ่งคงต้องรอดูกันอีกทีตอนขายจริง เพราะที่ผ่านมาในรุ่นก่อน ๆ หน้า ผู้ผลิตบางรายก็ไม่ใส่ตัวเลขไว้เลย บางรายดีหน่อยก็ใส่กำกับมาให้ด้วย

DSC09170

จะได้ใช้ Thunderbolt 5 กันเมื่อไหร่?

หากเป็นไปตามแผน เราน่าจะเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ที่มาพร้อมพอร์ต TB 5 กันภายในปีนี้แน่นอน ซึ่งตามกำหนดการ ในช่วงแรกคงจะเป็นกลุ่มเครื่องประสิทธิภาพสูง ที่ราคาค่อนข้างสูงนิดนึงก่อน เพื่อจับกลุ่มครีเอเตอร์ เกมเมอร์ และกลุ่มผู้ใช้เวิร์คสเตชันเป็นหลัก ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ในช่วงแรกอาจจะมาอยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสเปคใหม่ ๆ ก่อน ส่วนอีกกลุ่มที่พอเป็นไปได้ก็คือสาย Mac ไปเลย ที่เก็งกันว่าในปีนี้อาจจะมีการเปิดตัว Mac mini, Mac Studio ที่อัปเกรดสเปคใหม่ ที่อาจจะเหมาะกับการเปิดตัวพอร์ต TB 5 ในแมคเป็นครั้งแรกได้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ใช้ CPU Intel ก็ตาม แต่เครื่องแมคก็ยังรองรับทั้ง Thunderbolt และ USB4 ในพอร์ตเดียวกันมาตั้งแต่เข้าสู่ยุคของชิป Apple Silicon แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการจะใช้ TB 5 ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็จะต้องใช้สาย TB 5 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากภายในมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเข้ารหัสและผสมสัญญาณที่ต่างไปจากเดิม ส่วนถ้าใช้สายของเวอร์ชันเก่า ถึงแม้จะสามารถใช้ได้ตามคุณสมบัติการรองรับอุปกรณ์เวอร์ชันก่อนหน้าก็ตาม แต่ความเร็วก็จะตันตามข้อจำกัดของอุปกรณ์ TB เวอร์ชันต่ำสุดที่เชื่อมต่อกันอยู่ดี เช่น เครื่อง A ใช้ TB 5 ต่อกับสาย TB 4 ไปหาอุปกรณ์ที่ใช้ TB 3 ความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูลที่สามารถทำได้ก็จะตันที่ระดับ TB 3 เท่านั้น

ซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ในปี 2024 จำเป็นต้องมี TB 5 มั้ย?

ถ้าจำเป็นต้องซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ในปีนี้จริง ๆ เป็นไปได้ว่าเครื่องที่มาพร้อมพอร์ต TB 5 อาจจะยังมีให้เลือกไม่มากนัก รวมถึงกลุ่มของอุปกรณ์เสริมด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเทคโนโลยีใหม่ในตลาดอยู่แล้ว ที่ช่วงแรก ๆ  ตัวเลือกจะน้อย ราคาสินค้าค่อนข้างสูง อาจจะต้องรอไปอีกซัก 1-2 ปีกว่าจะเริ่มอยู่ตัวและหาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับความเร็วที่ระดับ TB 4 เองก็ยังเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่ได้อยู่ ดังนั้นในปีนี้ หลายท่านอาจจะมองข้าม ๆ พอร์ตใหม่นี้ไปก่อนก็ได้ ไว้ปีหน้าค่อยว่ากันอีกที เพราะขนาดในตอนนี้ อุปกรณ์ Thunderbolt 4 ยังคงมีราคาค่อนข้างสูง โน้ตบุ๊กที่รองรับก็ยังมีในตลาดไม่ถึงครึ่งเลย

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ อันนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ ก็ของมันจำเป็นเนาะ เผลอ ๆ ซื้อมาทำงานเดียวก็คืนทุนแล้ว กับงานที่ต้องใช้แบนด์วิธสูงสุดระดับ 120 Gbps ในปี 2024 ส่วนอีกกลุ่มที่จะเล็งไว้ก็ได้ คือคนที่อยากจัดโต๊ะคอมแบบโล่ง ๆ ไม่ชอบให้มีสายพะรุงพะรัง เพราะด้วยแบนด์วิธที่กว้างมากจนน่าจะสามารถใช้สายเส้นเดียวเพื่อใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้สบาย เช่น ใช้แค่สาย TB 5 เพื่อต่อภาพจากโน้ตบุ๊กขึ้นจอ ที่สามารถใช้จ่ายไฟเข้าเครื่องได้ด้วย เท่านี้ก็จบแล้ว ที่เหลือก็เลือกใช้เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สายได้สบาย และน่าจะเรียกได้ว่า one cable to rule them all ของจริง แต่ทั้งนี้ต้องชัวร์ด้วยนะครับว่าสเปคจอนอกที่เอามาต่อ มันสามารถจ่ายไฟได้ถึงระดับที่โน้ตบุ๊กต้องการจริง ๆ ซึ่งถ้าต้องจ่ายวัตต์สูงมาก รับรองว่าแพงเอาเรื่องแน่ ถ้าจะให้มั่นใจหน่อยคงใช้เป็นโน้ตบุ๊กต่อกับ Thunderbolt Hub ซักตัว ที่ต่อออกได้หลาย ๆ พอร์ตดีกว่า

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

การ์ดจอคือหนึ่งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะกับเกมเมอร์ และผู้ที่ต้องการใช้พลังประมวลผลจากการ์ดจอที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะทางได้ดี แต่ตัวของการ์ดจอเองก็มีออกมาหลากหลากรุ่น หลายสเปคจากผู้ผลิตรายต่าง ๆ ทำให้ในการเสนอขายก็จะเต็มไปด้วยคำศัพท์เชิงเทคนิคมากมาย ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า 20 คำที่เรามักเจอในการบอกสเปคจะมีอะไรบ้าง จะได้เลือกซื้อการ์ดจอได้ตรงความต้องการที่สุด แบบเหมาะสมกับงบประมาณที่มีในกระเป๋า และถ้าอยากจะตั้งค่าการ์ดจอให้เล่นเกมไหลลื่นได้มากกว่าเดิมไปที่นี่ได้เลย 20 คำศัพท์เลือกซื้อการ์ดจอ Clock OC GDDR / Gig (กิ๊ก) / Bit PCIe...

CONTENT

ปี 2024~2025 นี้ มีเกมน่าเล่นเปิดตัวมาให้เกมเมอร์ได้เสียเงินกันมากมาย โดยเฉพาะตอนนี้สังเกตว่าเกม Steam จะมีทั้งเกมใหม่แกะกล่องผสมกับเกมพอร์ตจากเกมคอนโซลอย่าง PlayStation 5 ตบเท้ามาให้เล่นกันเพียบ ทำให้เกมเมอร์ไม่ต้องซื้อเครื่องมาเล่นแค่ 1~2 เกมอีกต่อไปแล้ว และข้อดีของการพอร์ตมาให้เล่นในคอมแล้ว ผู้พัฒนาและทีมพอร์ตเกมก็เพิ่มฟังก์ชั่น Upscalling อย่าง NVIDIA DLSS, AMD FSR เข้ามา แม้ฮาร์ดแวร์จะเริ่มมีอายุแล้วก็ยังเล่นได้ลื่นไหลหรือจะต่อหน้าจอความ QHD~UHD...

Notebook Review

Gigabyte AORUS 17X AZG ทรงพลังเกมมิ่ง เล่นลื่นทุกเกม จะจอ QHD หรือ UHD ก็พร้อมลุย! เกมเมอร์ในปัจจุบันมีทางเลือกเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะคนทุนหนาในยุคนี้ก็ไม่จำกัดว่าต้องประกอบคอมก็ได้ เพราะมีเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงอย่าง Gigabyte AORUS 17X AZG ให้เลือก เพียงเสียบปลั๊กตั้งค่านิดหน่อยก็พร้อมเล่นเกมได้แล้ว ถ้าหน่วยความจำไม่พอจะเปิดฝาเพิ่ม RAM หรือ SSD...

Buyer's Guide

ถ้าการประกอบเกมมิ่งพีซีมันวุ่นวายเพราะต้องมานั่งเลือกสเปคให้เข้ากันให้วุ่นวายเสียอีก ถ้าอยากตัดปัญหาเอาง่ายเข้าว่าก็น่าซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมไปต่อหน้าจอแยกและเกมมิ่งเกียร์แทนก็เป็นทางออกที่ดีและยิ่งปี 2024 นี้ โน๊ตบุ๊คเล่นเกมก็ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ เพราะพลังของจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series พอผสานกับซีพียู AMD Ryzen หรือ Intel Core Series รุ่นใหม่แล้วก็เล่นเกมฟอร์มใหญ่บนหน้าจอความละเอียดสูงได้สบายๆ ปรับกราฟิคสูงสุดบนจอ 1080p เรียกว่าไม่มีปัญหา ขยับไปหน้าจอ 2160p...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก