Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

ทำความรู้จัก Thunderbolt 5 พอร์ตความเร็วสูงที่อาจเริ่มใช้ในปีนี้

พอร์ตเชื่อมต่อคือหนึ่งในส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งเป็นช่องทางรับส่งข้อมูล ช่องสำหรับรับและจ่ายไฟระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ แน่นอนว่าพอร์ตเด่นประจำยุคนี้ก็คือ USB-C ซึ่งก็มีการพัฒนาโปรโตคอลการรับส่งข้อมูลหลากหลายแบบมาใช้กับ USB-C โดยหนึ่งในโปรโตคอลสำคัญก็คือ Thunderbolt ที่ล่าสุดมีการเปิดตัว Thunderbolt 5 ออกมาแล้ว และดูจะเป็นไปได้ด้วยว่าเราอาจจะได้เริ่มใช้กันในปีนี้ ในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับโปรโตคอลใหม่กัน

thunderbolt 5

Advertisement

Thunderbolt 5 คืออะไร?

Thunderbolt คือชื่อของมาตรฐานการเชื่อมต่อเพื่อรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Intel และได้รับความร่วมมือจาก Apple พื้นฐานคือเป็นการนำสองโปรโตคอลเชื่อมต่อมารวมไว้ในสัญญาณเดียวกัน นั่นคือ PCI Express สำหรับรับส่งข้อมูลและ DisplayPort สำหรับรับส่งสัญญาณภาพ รวมถึงยังรองรับการจ่ายไฟ DC มาในสายเดียวกันด้วย ทำให้จุดเด่นของการเชื่อมต่อนี้ก็คือเราสามารถใช้สายเชื่อมต่อเพียงเส้นเดียวในการต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับอุปกรณ์อื่น โดยที่ได้คุณสมบัติเด่น ๆ เหล่านี้ตามมา

  • สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงระดับกิกะบิต (Gbps)
  • รองรับการต่อภาพออกจออื่นได้ทันที
  • สามารถต่ออุปกรณ์แบบขยายวงออกไปได้ (daisy chain) เช่น โน้ตบุ๊ก > จอ 1 > จอ 2 > External SSD
  • รองรับการจ่ายไฟได้ เช่น การเสียบปลั๊กไฟเข้าที่จอเพียงจุดเดียว แต่สามารถจ่ายไฟเลี้ยงจอและจ่ายมาเลี้ยงโน้ตบุ๊กที่ต่อกับจอนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กที่โน้ตบุ๊กเลย
  • รองรับการเชื่อมต่อโปรโตคอลอื่นได้ด้วย เช่น PCIe และ USB

Thunderbolt เริ่มใส่มาในคอมพิวเตอร์แบบเปิดให้ใช้งานจริงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2011 และยังได้รับการพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงมาตรฐานล่าสุดที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว นั่นคือ Thunderbolt 5

Screenshot 2024 01 23 at 10.00.06 AM

Thunderbolt 5 ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก Thunderbolt 4 โดยส่วนที่อัปเกรดขึ้นหลัก ๆ เลยก็คือแบนด์วิธการรับส่งข้อมูลที่กว้างขึ้น ทำให้ทั้งมีความเร็วสูงกว่าเดิม สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมกันได้มากขึ้น และเพิ่มความเรียบง่ายให้กับการเชื่อมต่อ ได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการจาก Intel เมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2023 สำหรับคุณสมบัติเชิงเทคนิคจะมีดังนี้

  • ตัวพอร์ตใช้เป็นแบบ USB-C อิงตามมาตรฐาน USB4 2.0
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสองทาง สูงสุดอยู่ที่ 80 Gbps และสามารถบูสท์ได้สูงสุดถึง 120 Gbps ในกรณีที่ต้องใช้ในการต่อภาพขึ้นจอ แบบที่ต้องใช้แบนด์วิธสูงกว่าปกติ
  • รองรับมาตรฐานการต่อจอแบบ DisplayPort 2.1
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่าน PCIe สูงสุด 64 Gbps ซึ่งสูงกว่าเดิมสองเท่า
  • จ่ายไฟแบบ downstream ได้สูงสุด 240W และจ่ายให้อุปกรณ์เสริมอื่นได้ที่กำลังไฟ 15W
  • ความเร็วในการรับส่งข้อมูลระหว่างพีซีถึงพีซีด้วยกัน (ต่อตรงแบบ Thunderbolt Networking) สูงกว่าเดิมถึงสองเท่า
  • จำเป็นต้องใช้สายที่ใช้เทคโนโลยีสัญญาณแบบ PAM-3 เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยสายมีความยาวได้สูงสุด 1 เมตร
  • รองรับการใช้งานร่วมกับ Thunderbolt, USB และ DisplayPort รุ่นก่อนหน้า ผ่านพอร์ต USB-C ได้

Screenshot 2024 01 22 at 2.16.07 PM

หนึ่งในเทคนิคที่ทำให้ TB 5 (รวมถึง USB4 v2) ทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้สูงขึ้นก็คือการเปลี่ยนเทคนิคการเข้ารหัสและผสมสัญญาณมาใช้แบบ PAM-3 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานร่วมกับมาตรฐานของ USB ได้ มีคุณสมบัติคือมีค่า baud rate ในการส่งคลื่นสัญญาณที่ต่ำกว่าเดิม ทำให้สามารถส่งข้อมูลต่อหนึ่งรอบสัญญาณนาฬิกาได้มากกว่าเดิม เทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ในเวลา 1 วินาที PAM-2 อาจจะส่งคลื่นที่แทนข้อมูลได้แค่ 1 bit แต่ถ้าเป็น PAM-3 อาจจะสามารถส่งได้ถึงราว 2 bit ในเวลาที่เท่ากัน เป็นต้น นั่นจึงทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ PAM-3 ยังมีอัตราส่วนของ signal-to-noise ที่น้อยกว่า PAM-4 ด้วย อีกเหตุผลสำคัญก็คือเทคนิคการเข้ารหัสและผสมสัญญาณแบบนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทันทีโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มมากนัก ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจขยับเทคโนโลยีขึ้นมาได้ง่ายกว่า จึงทำให้ PAM-3 ถูกหยิบมาใช้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักของ TB 5

แม้ที่จริงแล้วในเชิงเทคนิคการเข้าและผสมรหัสสัญญาณจะมีเทคโนโลยี PAM-4 ที่มีศักยภาพด้านความเร็วสูงกว่าก็ตาม แต่ทั้ง USB4 และ TB 5 เลือกใช้ PAM-3 ก็มีสาเหตุหลักจากตัวของ PAM-4 มีอัตรา signal-to-noise ที่สูงกว่า มีการใช้พลังงานที่สูง รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฮาร์ดแวร์จากมาตรฐานเดิมหลายจุด ซึ่งจะสะท้อนถึงต้นทุนของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น ชิปคอนโทรลเลอร์ พอร์ตและสายด้วย

newsroom tbt5 new possibilities.png.rendition.intel .web .1920.1080

หากจับ Thunderbolt 4 (Today) มาเทียบกับ 5 (Tomorrow) จะเห็นว่าทั้งการใช้งานด้านภาพ ข้อมูลและการเชื่อมต่อ ต่างก็ได้รับการอัปเกรดให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิม อย่างในเรื่องการต่อภาพขึ้นจอ ตัวมาตรฐานใหม่สามารถต่อจอระดับ 4K 144Hz ได้สูงสุด 3 จอ ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลปริมาณแบนด์วิธที่ต้องใช้สำหรับการต่อจอจากเว็บไซต์ Intel เอง ที่จอ 4K 144Hz 8-bit จะต้องใช้ 35.83 Gbps หากต่อ 3 จอจะเท่ากับ 35.83 x 3 = 107.49 Gbps ซึ่งก็คือเกือบเต็มขีดจำกัด 120 Gbps เลยทีเดียว ส่วนกรณีของจอ 8K จะระบุไว้เพียงว่าสามารถต่อได้พร้อมกันมากกว่า 1 จอ ซึ่งน่าจะได้อย่างมากสุดก็ 2 จอ แบบที่เป็นจอ 8K 60Hz แต่สำหรับถ้าเป็นการต่อจอเดียว ซึ่งคาดว่าน่าจะอิงที่จอความละเอียดระดับ 1080p จะรองรับจอได้รีเฟรชเรตสูงสุดถึง 540Hz ผ่านการเชื่อมต่อแบบ DisplayPort ที่พอร์ต USB-C

ต่อมาคือเรื่องการรับส่งข้อมูล ด้วยแบนด์วิธที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้มากขึ้น หลากหลายกว่าเดิม รวมถึงยังมีความเร็วสูงสุดที่มากกว่ารุ่นก่อนเป็นเท่าตัวอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่น่าจะได้ประโยชน์จากคุณสมบัติข้อนี้เต็ม ๆ ก็คือ External SSD ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงตลอดเวลา เช่น การตัดต่อวิดีโอจากไฟล์ที่อยู่ใน external หรืออีกกรณีก็คือการต่อกับการ์ดจอในลักษณะ eGFX เพื่อใช้ eGPU ได้ดีขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น รอบนี้น่าจะสามารถใช้สายเส้นเดียวเพื่อใช้ทั้งต่ออุปกรณ์ และจ่ายไฟให้โน้ตบุ๊กไปพร้อมกันได้จริง ๆ แล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง หรือโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงที่กินไฟสูงกว่าปกติ จากที่ใน Thunderbolt 4 แม้ว่าจะทำได้ก็จริง แต่ต้องเป็นกับโน้ตบุ๊กที่กินไฟไม่สูงมาก แล้วต้องใช้สายชาร์จเครื่องต่อตรงเข้าไปอีกเส้น เนื่องจากตัว TB4 รองรับการจ่ายไฟได้สูงสุดแค่ 100W ถึง 140W เท่านั้น ซึ่งแค่เกมมิ่งโน้ตบุ๊กเครื่องเดียวก็เต็มแล้ว แต่ใน TB5 จะรองรับได้สูงสุดถึง 240W เลย จัดว่าเพียงพอสำหรับจ่ายให้กับทั้งโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ต่อพ่วงส่วนใหญ่อยู่แล้ว

นั่นทำให้ในปีนี้เราอาจจะได้เห็นการโปรโมตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นบางเบา ที่ความแรง พลังกราฟิกและค่า TDP/TGP ไม่สูงมากนัก ซึ่งมาพร้อมอะแดปเตอร์ชาร์จที่จ่ายไฟไม่เกิน 240W สามารถใช้สาย TB เส้นเดียวเพื่อต่อจอและจ่ายไฟเข้าเครื่องได้พร้อมกันเลยก็เป็นได้ หรืออย่างน้อยก็คือโปรโมตว่าสามารถใช้สายเส้นเดียว ต่ออุปกรณ์เสริม ต่อเกมมิ่งเกียร์ที่จำเป็นทุกชิ้นได้แบบสบาย ๆ

newsroom tbt5 vs usb4 optional speeds.png.rendition.intel .web .1920.1080

ส่วนถ้านำเรื่องความเร็วมาเทียบกันตรง ๆ ระหว่าง Thunderbolt 5 เทียบกับเวอร์ชัน 3 และ 4 ข้ามไปถึงการเทียบกับ USB 2, 3 และ 4 เลย จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน สังเกตจากความเร็วพื้นฐานที่เป็นแท่งกราฟสีน้ำเงินเข้ม ที่ TB5 ในโหมดปกติก็สามารถทำได้สูงสุดถึง 80 Gbps แล้ว ซึ่งสูงกว่า TB4 อยู่สองเท่า และสูงกว่า USB 3.0 ระดับพื้นฐานถึง 16 เท่าตัว

ที่ดูเหมือนจะออกมาชนกันตรง ๆ ก็คือ TB5 กับ USB4 ที่หากเทียบเฉพาะความเร็ว ต้องบอกว่า TB5 สามารถทำได้สูงกว่าในโหมดปกติ ในขณะที่โหมดปกติของ USB4 จะทำได้แค่ 20 Gbps เท่านั้น แต่ก็สามารถเร่งขึ้นมาจากการเชื่อมต่อในโหมดต่าง ๆ  ได้จนถึงระดับ 80 Gbps เท่ากัน นอกจากนี้ทั้งสองมาตรฐานยังสามารถบูสท์ได้สูงสุดถึง 120 Gbps เพื่อรองรับการต่อจอภาพได้เหมือนกันด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก TB5 เป็นโปรโตคอลที่พัฒนาต่อยอดอิงมาจาก USB4 อีกทีนั่นเอง

Screenshot 2024 01 23 at 10.00.48 AM

ในเรื่องการบูสท์ความเร็วสูงสุดเป็น 120 Gbps ทาง Intel ก็มีการแสดงวิธีทำงานแบบง่าย ๆ  ด้วยเช่นกัน เริ่มจากภาพฝั่งซ้ายที่เป็นการทำงานในโหมดปกติ รองรับการรับส่งข้อมูลแบบ 2 ทางคือส่งออกและรับเข้า ที่ในสายจะแบ่งเป็น 4 เลน แบ่งเป็นเลนละ 40 Gbps พอแบ่งให้เป็นการเชื่อมต่อสองทางแบบเท่า ๆ กัน ก็จะได้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ฝั่งละ 80 Gbps พอดี

แต่ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อจอความละเอียดและรีเฟรชเรตสูง ที่ต้องใช้แบนด์วิธจำนวนมาก เช่นต่อจอ 4K HDR รีเฟรชเรตสูง ๆ ชิปและสายก็จะมีการปรับโหมดของเลนการส่งข้อมูลขาออกจากโน้ตบุ๊กให้เป็น ขาออก 3 ขาเข้า 1 ทำให้ได้ความเร็วการส่งข้อมูลสูงสุดเป็น 120 Gbps ส่วนความเร็วในการส่งข้อมูลขารับเข้าเครื่องจะปรับลดมาเหลือ 40 Gbps เท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าสูงมากอยู่ดี เพราะเป็นความเร็วที่เท่ากับ Thunderbolt 4 ที่ในตอนนี้ก็ยังถือว่าเร็วมากอยู่

Screenshot 2024 01 23 at 10.01.20 AM

ส่วนตารางด้านบนนี้ก็เป็นการเทียบโปรโตคอลการรับส่งข้อมูลแต่ละแบบเหมือนกันครับ แต่ก็จะมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีก อาทิ

  • TB 5 รองรับการต่อจอ 6K พร้อมกันได้สูงสุด 2 จอ ส่วน TB 4 จะได้แค่ 4K สองจอ
  • สามารถปลุกเครื่องผ่านอุปกรณ์ที่ต่อกับพอร์ต Thunderbolt จากสถานะ sleep ได้
  • อุปกรณ์ที่รองรับ TB 5 จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน และตรวจสอบก่อนออกวางจำหน่าย
  • สามารถจ่ายไฟให้อุปกรณ์เสริมได้สูงสุด 15W
  • จำเป็นต้องมีระบบ DMA เพื่อตรวจสอบและป้องกันความปลอดภัย จึงจะสามารถใช้งานได้

ทำให้สุดท้ายพอลองเทียบกัน จะพบว่า Thunderbolt ก็ยังคงเป็นพอร์ตที่มีการควบคุมมาตรฐานการทำงานที่เข้มงวดกว่าฝั่ง USB4 อยู่เช่นเคย นั่นก็น่าจะทำให้สะท้อนออกมาตรงราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงหน่อย เหมือนกับรุ่นก่อนหน้าที่ผ่านมา

Screenshot 2024 01 22 at 2.28.16 PM

ด้านของอุปกรณ์ Thunderbolt ก็จะมีออกมาให้เลือกใช้งานค่อนข้างหลากหลาย ที่อาจจะใกล้ตัวหน่อยก็เช่นพวกฮับ ตัวแปลงพอร์ต แท่น dock เชื่อมต่อ รวมถึงจอคอม เป็นต้น ซึ่งแผนของ Intel ก็ระบุไว้ว่าในช่วงแรกจะเน้นนำ TB 5 ไปบุกตลาดของผู้ใช้กลุ่มครีเอเตอร์ เกมเมอร์และผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ระดับเวิร์คสเตชันก่อน ตีคู่ไปกับ TB 4 ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน จากนั้นก็จะค่อยมาโฟกัสเพิ่มเติมกับผู้ใช้งานกลุ่มที่ใช้คอมทำงาน ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปอาจจะเข้ามาทีหลังสุดเลย โดยเน้นทำตลาดด้วย TB 4 ไปก่อน

อุปกรณ์เสริมที่ดูน่าสนใจและอาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายสายงาน ก็จะเป็นพวกที่เกี่ยวกับการประมวลผลกราฟิกและ AI อย่าง External Graphics และ External AI Accelerator ที่สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับโน้ตบุ๊กที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องสเปค เพื่อให้สามารถแสดงกราฟิกที่สวยงาม มีรายละเอียดสูงขึ้น รวมถึงใช้ในการประมวลผลเชิง AI ได้เร็วกว่าที่เครื่องเองทำได้ ซึ่งในปีสองปีนี้เราคงได้เห็นสินค้ากลุ่มนี้ออกทำตลาดเยอะขึ้น ด้วยการมาถึงของยุค AI PC ที่น่าจะทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องอาศัยพลังของ AI เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น

Screenshot 2024 01 22 at 2.28.27 PM

ในข้อมูลชุดเดียวกันนี้ก็มีการระบุถึงสัญลักษณ์ที่จะใช้ทำตลาด และจุดสังเกตบนอุปกรณ์มาให้ด้วย ที่อาจจะใกล้ตัวเราหน่อยก็คือส่วนของพอร์ตและสายครับ ส่วนไอคอนก็ยังคงใช้รูปสายฟ้าฟาดลงมาเหมือนเดิม

พอร์ต Thunderbolt 5 จะใช้เป็นช่อง USB-C หน้าตาปกติเลย แต่ข้างพอร์ตจะมีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าฟาดที่มีหัวลูกศรชี้ลงอยู่ตรงปลายด้วย แต่อาจจะสังเกตยากหน่อยว่าเป็นเวอร์ชันอะไร เพราะส่วนใหญ่ผู้ผลิตก็จะใส่มาแค่รูปสายฟ้าไว้ข้างพอร์ตเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุรุ่นเอาไว้ ส่วนสายเชื่อมต่อก็จะมีรูปสายฟ้าอยู่เช่นกัน แต่ให้สังเกตเลขตรงขั้วว่าเป็นเลขอะไร ถ้าเป็นมาตรฐานใหม่สุดก็จะใช้เป็นเลข 5 แบบชัด ๆ ไปเลย ซึ่งคงต้องรอดูกันอีกทีตอนขายจริง เพราะที่ผ่านมาในรุ่นก่อน ๆ หน้า ผู้ผลิตบางรายก็ไม่ใส่ตัวเลขไว้เลย บางรายดีหน่อยก็ใส่กำกับมาให้ด้วย

DSC09170

จะได้ใช้ Thunderbolt 5 กันเมื่อไหร่?

หากเป็นไปตามแผน เราน่าจะเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ที่มาพร้อมพอร์ต TB 5 กันภายในปีนี้แน่นอน ซึ่งตามกำหนดการ ในช่วงแรกคงจะเป็นกลุ่มเครื่องประสิทธิภาพสูง ที่ราคาค่อนข้างสูงนิดนึงก่อน เพื่อจับกลุ่มครีเอเตอร์ เกมเมอร์ และกลุ่มผู้ใช้เวิร์คสเตชันเป็นหลัก ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ในช่วงแรกอาจจะมาอยู่ในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กสเปคใหม่ ๆ ก่อน ส่วนอีกกลุ่มที่พอเป็นไปได้ก็คือสาย Mac ไปเลย ที่เก็งกันว่าในปีนี้อาจจะมีการเปิดตัว Mac mini, Mac Studio ที่อัปเกรดสเปคใหม่ ที่อาจจะเหมาะกับการเปิดตัวพอร์ต TB 5 ในแมคเป็นครั้งแรกได้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ใช้ CPU Intel ก็ตาม แต่เครื่องแมคก็ยังรองรับทั้ง Thunderbolt และ USB4 ในพอร์ตเดียวกันมาตั้งแต่เข้าสู่ยุคของชิป Apple Silicon แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการจะใช้ TB 5 ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็จะต้องใช้สาย TB 5 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากภายในมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเข้ารหัสและผสมสัญญาณที่ต่างไปจากเดิม ส่วนถ้าใช้สายของเวอร์ชันเก่า ถึงแม้จะสามารถใช้ได้ตามคุณสมบัติการรองรับอุปกรณ์เวอร์ชันก่อนหน้าก็ตาม แต่ความเร็วก็จะตันตามข้อจำกัดของอุปกรณ์ TB เวอร์ชันต่ำสุดที่เชื่อมต่อกันอยู่ดี เช่น เครื่อง A ใช้ TB 5 ต่อกับสาย TB 4 ไปหาอุปกรณ์ที่ใช้ TB 3 ความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูลที่สามารถทำได้ก็จะตันที่ระดับ TB 3 เท่านั้น

ซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ในปี 2024 จำเป็นต้องมี TB 5 มั้ย?

ถ้าจำเป็นต้องซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ในปีนี้จริง ๆ เป็นไปได้ว่าเครื่องที่มาพร้อมพอร์ต TB 5 อาจจะยังมีให้เลือกไม่มากนัก รวมถึงกลุ่มของอุปกรณ์เสริมด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเทคโนโลยีใหม่ในตลาดอยู่แล้ว ที่ช่วงแรก ๆ  ตัวเลือกจะน้อย ราคาสินค้าค่อนข้างสูง อาจจะต้องรอไปอีกซัก 1-2 ปีกว่าจะเริ่มอยู่ตัวและหาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับความเร็วที่ระดับ TB 4 เองก็ยังเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่ได้อยู่ ดังนั้นในปีนี้ หลายท่านอาจจะมองข้าม ๆ พอร์ตใหม่นี้ไปก่อนก็ได้ ไว้ปีหน้าค่อยว่ากันอีกที เพราะขนาดในตอนนี้ อุปกรณ์ Thunderbolt 4 ยังคงมีราคาค่อนข้างสูง โน้ตบุ๊กที่รองรับก็ยังมีในตลาดไม่ถึงครึ่งเลย

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ อันนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ ก็ของมันจำเป็นเนาะ เผลอ ๆ ซื้อมาทำงานเดียวก็คืนทุนแล้ว กับงานที่ต้องใช้แบนด์วิธสูงสุดระดับ 120 Gbps ในปี 2024 ส่วนอีกกลุ่มที่จะเล็งไว้ก็ได้ คือคนที่อยากจัดโต๊ะคอมแบบโล่ง ๆ ไม่ชอบให้มีสายพะรุงพะรัง เพราะด้วยแบนด์วิธที่กว้างมากจนน่าจะสามารถใช้สายเส้นเดียวเพื่อใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้สบาย เช่น ใช้แค่สาย TB 5 เพื่อต่อภาพจากโน้ตบุ๊กขึ้นจอ ที่สามารถใช้จ่ายไฟเข้าเครื่องได้ด้วย เท่านี้ก็จบแล้ว ที่เหลือก็เลือกใช้เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สายได้สบาย และน่าจะเรียกได้ว่า one cable to rule them all ของจริง แต่ทั้งนี้ต้องชัวร์ด้วยนะครับว่าสเปคจอนอกที่เอามาต่อ มันสามารถจ่ายไฟได้ถึงระดับที่โน้ตบุ๊กต้องการจริง ๆ ซึ่งถ้าต้องจ่ายวัตต์สูงมาก รับรองว่าแพงเอาเรื่องแน่ ถ้าจะให้มั่นใจหน่อยคงใช้เป็นโน้ตบุ๊กต่อกับ Thunderbolt Hub ซักตัว ที่ต่อออกได้หลาย ๆ พอร์ตดีกว่า

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Notebook Review

Gigabyte G6X 9KG ตัวแรงรุ่นใหม่เอาใจเกมเมอร์ขั้นสุด ดุดันทรงพลังไม่ถึงครึ่งแสน!! เกมเมอร์หลายคนอาจติดภาพ Gigabyte ว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอมชั้นนำของโลก แต่ฝั่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คก็ถือว่าเด็ดดวงไม่แพ้กัน เช่น Gigabyte G6X 9KG ซึ่งเป็นภาคต่อของ Gigabyte G5 MD ซึ่งยืนพื้นราคาไว้ดีเท่าเดิมโดยจับคู่ซีพียู Intel รุ่นที่ 13 กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce...

PR-News

บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น ประกาศแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายขาย การตลาด และการสื่อสาร (Sales, Marketing and Communications Group: SMG) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-ญี่ปุ่น (APJ) และภูมิภาคอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของอินเทล สำหรับภูมิภาค APJ อินเทลได้ประกาศแต่งตั้ง นายฮานส์ ฉวง (Hans Chuang) ขึ้นดำรงตำแหน่ง...

Buyer's Guide

โน๊ตบุ๊คเล่นเกมรุ่นใหม่ก็มา รุ่นเก่าสเปคเด็ดก็มี ถ้าใครอยากเปลี่ยนเครื่องอยู่นาทีนี้มีรุ่นน่าโดนให้เลือกเพียบ! จะปี 2024 นี้หรือปีไหนโน๊ตบุ๊คเล่นเกมก็ยังคงเป็นตัวเลือกขวัญใจใครหลายคนเพราะประสิทธิภาพดี ทรงพลังเหลือเฟือไม่ว่าจะงานเบาๆ ทำเอกสารไปจนตัดต่อคลิปและงาน 3D ก็ไหว เล่นเกมก็ได้สบายๆ ยิ่ง 2~3 ปีมานี้ พอเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ซีพียูกับจีพียู็ยิ่งทรงพลังก็ทำให้เกมเมอร์และครีเอเตอร์ที่ไม่อยากเสียเวลาประกอบพีซีให้วุ่นวายเลือกตัดปัญหาทั้งหมดโดยซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมสเปคแรงมาใช้แทน แถมได้เปรียบว่าพกพาสะดวกหยิบไปทำงานได้ กลับบ้านต่อหน้าจอแยกก็เล่นเกมชั้นนำได้ดีพอตัว นอกจากสเปคแล้ว ในปี 2024 ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายแบรนด์ก็เสริม AI...

PC Review

Intel Core i7 14th Gen คู่ Arc A770 ประกอบคอมตัวจบสำหรับคอเกมและครีเอเตอร์ 2024 เพื่อผู้ใช้ระดับ Performance Intel Core i7-14700 จัดเป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมการเป็น Hybrid Core โดดเด่นทั้งประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน เมื่อจับคู่กับ Intel Arc A770...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก