Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

จัดโต๊ะคอมสวย ๆ พับจอโน้ตบุ๊ก เครื่องจะมีปัญหามั้ย

นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเปลี่ยนมาทำงานแทน ส่งผลให้ต้องจัดพื้นที่ทำงาน จัดโต๊ะให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น ประกอบกับที่อาจจะมีเวลาว่างมากขึ้น จึงเกิดเป็นเทรนด์การจัดโต๊ะคอมขึ้นมา โดยมีทั้งการจัดพื้นที่บนโต๊ะให้ดูโล่งสะอาดตา การซื้อจอเสริมมาเพิ่มความสะดวก รวมถึงการจัดที่วางโน้ตบุ๊กให้ดูเป็นสัดเป็นส่วนกว่าเดิม ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็เลือกที่จะพับจอโน้ตบุ๊กไว้ แล้วใช้งานจอเสริมอย่างเดียว แต่ก็มีหลายท่านให้ความเห็นว่าการพับจอเพื่อใช้งาน อาจส่งผลกับอายุการใช้งานของโน้ตบุ๊กได้ ในบทความนี้เราจะมาลองดูกันครับ ว่าการพับจอไว้ เครื่องจะมีปัญหาหรือเปล่า

พับจอโน้ตบุ๊ก

Advertisement

สำหรับเครื่องที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ จะเป็น MacBook Pro 14″ (M1 Pro) โดยจะมีการทดสอบด้วยการวัดอุณหภูมิตรงผิวนอกเครื่อง ตำแหน่งที่ติดตั้ง CPU อยู่ นั่นคือส่วนกลางเยื้องบนของคีย์บอร์ด แบ่งเป็น 4 รอบดังนี้

  • วัดอุณหภูมิขณะเปิดเครื่องเฉย ๆ แบบเปิดหน้าจอปกติ (Idle)
  • วัดอุณหภูมิขณะเปิดเครื่องเฉย ๆ แบบปิดหน้าจอลง (Idle)
  • วัดอุณหภูมิขณะทดสอบ Cinebench R23 แบบเปิดหน้าจอปกติ
  • วัดอุณหภูมิขณะทดสอบ Cinebench R23 แบบปิดหน้าจอลง

ซึ่งการทดสอบ Cinebench จะทำให้ CPU ทำงานที่ 100% เต็ม ทำให้พอจะเทียบได้ว่าเครื่องทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพอยู่ ส่วนถ้าใครใช้เกมมิ่งโน้ตบุ๊กเล่นเกม ก็พอดูเป็นแนวทางได้เหมือนกันครับ เพราะความร้อน CPU อาจจะต่ำกว่านี้ แต่มีความร้อนของ GPU เข้ามาเสริมแทน

Idle – เปิดจอโน้ตบุ๊ก

1 1

สำหรับการใช้งานขณะ idle ในการทดสอบครั้งนี้ จะมีแค่การเปิดเว็บเบราเซอร์ทิ้งไว้ ทดสอบขณะที่อยู่ในห้องแอร์ อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศา เมื่อวัดอุณหภูมิตรงบริเวณกึ่งกลางคีย์บอร์ด เยื้องไปด้านบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ติดตั้ง CPU M1 Pro อยู่ ผลที่ได้คืออยู่ที่ประมาณ 35.7 องศาเซลเซียส ส่วนถ้าสลับมาวัดที่ฝาหลังตรงจุดเดียวกัน จะได้อุณหภูมิอยู่ที่ 34.9 องศา

Idle – พับจอโน้ตบุ๊ก

2 1

ทีนี้ลองเป็นการวัดอุณหภูมิเครื่องในสถานะ idle ระหว่างที่ปิดพับจอลงไป แล้วให้ส่งภาพไปออกจอนอกกันบ้าง แต่เนื่องจากเป็นการพับจอลงไป ดังนั้นจึงจะเปลี่ยนจากการวัดที่แผงคีย์บอร์ดมาเป็นการวัดที่หลังจอแทน ซึ่งความร้อนจะส่งผ่านหน้าจอขึ้นมา ผลที่ได้คืออยู่ที่ 33.3 องศา ส่วนถ้าวัดจากฝาหลังเครื่องตรงตำแหน่งเดิม จะอยู่ที่ 34.8 องศา

สรุปของสถานะ idle

เมื่อเทียบกันทั้ง 2 รอบ พบว่าอุณหภูมิของตำแหน่งที่ติดตั้ง CPU ไว้ แทบจะไม่แตกต่างกันมากนัก ทีนี้มาลองดูอุณหภูมิที่เซ็นเซอร์ภายในเครื่องเก็บข้อมูลได้กันบ้างครับ แสดงผ่านแอป iStats Menu

compare1

เทียบกันแบบจุดต่อจุดระหว่างช่วงที่เปิดและพับจอโน้ตบุ๊ก จะเห็นว่าอุณหภูมิที่เซ็นเซอร์ต่าง ๆ นั้นแทบไม่แตกต่างกันแบบมีนัยเลย ส่วนต่างมากสุดอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น โดยจุดที่สูงกว่าในช่วงเปิดจอ อาจจะเป็นเพราะระบบมีการประมวลผลเบื้องหลัง ทำให้มีการใช้ไฟมากขึ้น ความร้อนเพิ่มขึ้นในตอนที่แคปภาพพอดี

CPU 100% – เปิดจอโน้ตบุ๊ก

3 1

การทดสอบด้วยโปรแกรม Cinebench R23 ในโหมด multi core จะทำให้ CPU ทำงานแบบเต็ม 100% ซึ่งสามารถใช้แทนสภาวะการทำงานแบบฟูลโหลดได้ในระดับหนึ่ง ผลที่ได้คือเมื่อวัดที่คีย์บอร์ดจะอยู่ที่ 45.5 องศา ส่วนเมื่อวัดที่ฝาหลังจะได้ประมาณ 41 องศาเซลเซียส

ถ้าเทียบกับตอนสถานะ idle จะพบว่าอุณหภูมิบริเวณแผงคีย์บอร์ดเพิ่มสูงขึ้นราว 10 องศา ส่วนที่ฝาหลังเพิ่มขึ้นประมาณ 5 องศา

CPU 100% – พับจอโน้ตบุ๊ก

4

ต่อกันด้วยการวัดอุณหภูมิขณะที่พับจอโน้ตบุ๊กลงไปกันบ้าง ที่บริเวณหลังจอซึ่งรับความร้อนต่อมาจากแผงคีย์บอร์ดเต็ม ๆ จะวัดได้ประมาณ 35 องศา (สูงขึ้นประมาณ 2 องศา) ส่วนตรงฝาหลังจะอยู่ที่ 41 องศา (สูงขึ้นประมาณ 6.3 องศา)

after open up Large

มีแถมนิดนิดครับ เป็นการวัดอุณหภูมิขณะที่ CPU ทำงาน 100% แบบพับจอไว้เช่นกัน แต่เป็นการเปิดจอขึ้นมาแล้ววัดทันที ผลที่ได้คืออุณหภูมิที่หน้าคีย์บอร์ดอยู่ที่เกือบ 46 องศาเซลเซียส ถ้าเทียบกับตอน idle เปิดจอ พบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 10 องศาเลยทีเดียว

compare2

ทีนี้มาเทียบค่าที่ได้จาก iStats Menu กันบ้าง ถ้าดูจากเลขอุณหภูมิ จะเห็นว่าตอนช่วงที่เปิดจอ อุณหภูมิของแทบทุกจุดจะสูงกว่าตอนพับจอ ที่เห็นได้ชัดก็เช่นตรง CPU ทุกคอร์, GPU และแรมที่อยู่ในแพ็คเกจเดียวกัน ซึ่งจะสูงกว่าตอนปิดจอประมาณ​ 3-4 องศาเซลเซียส

Screenshot 2023 09 11 at 10.36.54 AM

พอลองเอาข้อมูลมาลงกราฟ ก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนมากขึ้นว่าตอนเปิดจอ อุณหภูมิเฉลี่ยของหลายจุดนั้นดูสูงกว่าตอนพับจอโน้ตบุ๊กจริง ๆ

ถ้าเห็นข้อมูลเพียงเท่านี้อาจจะดูว่าค่อนข้างแปลกไปซักนิดนึง แต่ถ้าดูตรงรอบพัดลมทั้งฝั่งซ้ายและขวา จะเห็นว่าตอนปิดจอ พัดลมจะหมุนเร็วกว่าถึงตัวละเกือบ 1,000 รอบ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการระบายความร้อนออกให้ได้เร็วที่สุด สิ่งที่ตามมาก็คือเสียงพัดลมหมุนที่ดังกว่าแบบเห็นได้ชัดด้วย ประกอบกับแนวทางการตั้งค่าของ Apple เองที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องรอบพัดลมมากกว่าการคุมความร้อน คือจะพยายามให้พัดลมหมุนเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เสียงพัดลมออกมาเบาที่สุด โดยที่อุณหภูมิยังอยู่ในเกณฑ์ที่เครื่องรับมือได้

จึงทำให้ตอนเปิดจอ ตัวเครื่องไม่เร่งรอบพัดลมขึ้นเพื่อให้เครื่องเย็นลง เพราะอุณหภูมิยังอยู่ในระดับที่ตั้งค่าไว้ แต่พอเป็นตอนที่ปิดจอ เมื่อเซ็นเซอร์พบว่าความร้อนสะสมมีสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งรอบพัดลมเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อนออกไป ส่งผลให้อุณหภูมิที่จุดต่าง ๆ ลดลงด้วย แต่ก็มาพร้อมเสียงพัดลมที่ดังขึ้นเช่นกัน

compare3

ทีนี้ผมลองบังคับรอบการหมุนของพัดลมทั้งสองตัวไว้ที่ 3,500 RPM โดยใช้เครื่องมือของ iStats Menu เอง อุณหภูมิที่ได้ออกมาก็ยังคงเป็นลักษณะเดียวกันเลย นั่นคือตอนเปิดจอจะสูงกว่าตอนพับจอเล็กน้อย ประมาณ 1-2 องศา แต่ที่น่าสนใจคือรอบพัดลมของช่วงปิดจอพุ่งขึ้นไปสูงกว่า 4,000 RPM ทะลุค่า 3500 RPM ที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ตอนก่อนที่ระบบจะเร่งรอบพัดลมขึ้นสูงกว่า 3,500 รอบ ระบบยังมีการคุมกำลังไฟให้ต่ำลง สังเกตจากฝั่งซ้ายที่เป็นตอนเปิดจอ ค่า Total Power จะอยู่ที่ประมาณ 48.6W ส่วนฝั่งขวา ระบบจะพยายามกดไว้ให้ไม่เกิน 43W เพื่อลดความร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน แต่ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการประมวลผลด้วยในระดับหนึ่ง แล้วพอถึงช่วงที่ความร้อนน่าจะใกล้ถึงขีดจำกัดที่ Apple ตั้งไว้ ระบบจึงบังคับให้พัดลมหมุนเร็วขึ้นอีกทาง เพื่อช่วยระบายความร้อนสะสมออกให้เร็วที่สุด ซึ่งสถานการณ์ก็ใกล้เคียงกันกับชุดด้านบน ที่ปล่อยให้ระบบจัดการปรับรอบพัดลมแบบอัตโนมัติเอง

เทียบผลทดสอบประสิทธิภาพ

ถัดจากเรื่องความร้อน ก็มาลองดูความแตกต่างของประสิทธิภาพจากผลการทดสอบผ่านแอป Cinebench 2024 ที่เป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุด (โหลดมาทดสอบได้จากเว็บไซต์ผู้พัฒนา) และ Geekbench 6 กันบ้างครับ เพื่อดูว่าระหว่างการเปิดหน้าจอปกติ กับการใช้งานแบบพับจอลงมา จะมีผลคะแนนจากการทดสอบที่แตกต่างกันขนาดไหน โดยในรอบนี้จะเป็นการทดสอบที่ห้องพัดลมที่มีอากาศถ่ายเทตามปกติ พัดลมเครื่องทำงานแบบอัตโนมัติตามการตั้งค่าของ OS

compare5

เริ่มด้วย Cinebench 2024 ที่จะเทียบจากผลคะแนนของการทดสอบประสิทธิภาพแบบ Multi Core เพื่อให้ทุกคอร์ทำงานแบบเต็มกำลังที่สุด ในแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณสิบกว่านาทีต่อรอบ ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาพบว่า ทั้งเปิดและปิดจอ ให้คะแนนออกมาในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก คืออยู่ในช่วง 550 คะแนน ส่วนต่าง 2 คะแนนนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นค่าคาดเคลื่อนได้เล็กน้อย เลยจัดว่าทั้งสองแบบนี้ ให้ประสิทธิภาพจากการทดสอบอยู่ในระดับเดียวกัน

compare4

ถัดมาเป็นผลการทดสอบจาก Geekbench 6 ภาพชุดบนคือผลการทดสอบ CPU ที่มีทั้งแบบ single และ multi core ผลคะแนนออกมาก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันเลย คือคะแนนจัดว่าใกล้เคียงกัน แต่ที่ตัวของ multi core จะมีความห่างของคะแนนที่กว้างซักนิดนึง คือเกือบสองร้อยคะแนน มาจากการที่พัดลมทำงานในรอบสูงกว่าตอนเปิดจอ ระบบเลยเร่งความแรงขึ้นได้อีกนิดหน่อย เพราะมองว่าอุณหภูมิลดลงแล้ว

ส่วนชุดล่างคือผลคะแนนจากการทดสอบ GPU ที่ออกมาในรูปแบบเดียวกัน คือตอนที่ปิดจอจะสูงกว่านิดนึง ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นแบบเดียวกันครับ คือตอนปิดจอ -> พัดลมหมุนเร็วขึ้น -> ระบายความร้อนดีขึ้น -> CPU/GPU เร่งการทำงานขึ้นได้อีก

 

สรุปเรื่องการพับจอโน้ตบุ๊ก

หากดูเฉพาะผลการวัดอุณหภูมิเทียบกันระหว่างเปิดจอ ปิดจอ ทำงานแบบ idle และแบบ 100% ในการทดสอบด้วย Cinebench R23 ที่มักมีการใช้งานเครื่องสูงกว่าการทำงานทั่วไป แม้ว่าอาจจะยังต่ำกว่าการเล่นเกมด้วยการ์ดจอแยกบนเกมมิ่งโน้ตบุ๊กอยู่พอสมควร แต่ก็พอใช้บอกแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าถ้าเป็นเครื่องกลุ่มเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก หรือใช้ในการเรนเดอร์งานติดต่อกันเป็นเวลานาน อุณหภูมิก็น่าจะสูงกว่านี้ขึ้นไปอีก

ซึ่งจากการทดสอบครั้งนี้ พบว่าหากเป็นการเปิดเครื่องทิ้งไว้แบบไม่ได้เข้าโหมดสลีป หรือถ้าใช้ทำงานเบา ๆ ไม่ว่าจะเปิดหรือพับจอนั้นแทบจะไม่ส่งผลกับความร้อนของตัวเครื่องมากนัก สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ สังเกตได้จากพัดลมระบายความร้อนภายในเครื่องที่ทำงานในรอบใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าความร้อนสะสมภายในเครื่องนั้นไม่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้พัดลมต้องเร่งรอบช่วย

ส่วนอุณหภูมิหลังจอ หากจับตอนพับจอแบบ idle มาเทียบกับตอน 100% CPU จะเห็นว่าอุณหภูมิต่างกันแค่ 1-2 องศาเท่านั้น ทำให้ประเมินได้ว่าเป็นช่วงอุณหภูมิปกติของจออยู่แล้ว แม้ว่าจะพับจอขณะที่ทำงานฟูลโหลดอยู่ ความร้อนที่ถ่ายเทขึ้นมาก็ไม่ได้สูงเกินขีดจำกัดของหน้าจอเลย

MacBook Pro 14 M1 Pro 2

แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดสุดจริง ๆ ก็คือรอบพัดลมในช่วงที่เครื่องทำงานแบบฟูลโหลด ระหว่างตอนที่เปิดจอและพับหน้าจอลงไป เนื่องจากตอนที่เปิดหน้าจอไว้ ส่วนคีย์บอร์ดจะเปิดโล่ง ช่วยระบายความร้อนสะสมภายในออกมาได้ง่ายกว่า ต่างจากตอนพับจอโน้ตบุ๊ก ที่หน้าจอจะมาปิดกั้นผิวสัมผัสของคีย์บอร์ดออกจากอากาศภายนอก ประกอบกับผิวกระจกเองก็มีการสะท้อนความร้อนบางส่วนกลับไปหาตัวเครื่องด้วย ทำให้อุณหภูมิจริงจะสูงขึ้นไปอีก ระบบจึงเร่งรอบพัดลมขึ้นถึงหลักพันกว่ารอบ เพื่อคุมอุณหภูมิให้กลับลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับตอนเปิดจอ ซึ่งเมื่อระบายความร้อนได้ดีขึ้น คะแนนการทดสอบประสิทธิภาพก็สูงขึ้นเล็กน้อยด้วย เนื่องจาก CPU/GPU สามารถเร่งการทำงานขึ้นได้อีกนิดนึง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของทางผู้ผลิตด้วย ว่าเซ็ตระบบ เซ็ตค่าอุณหภูมิกับการทำงานของพัดลมไว้อย่างไร

MSI Katana 15 RTX 4070 Ti DSC01755

ซึ่งถ้าต้องการวางเครื่องแบบพับจอโน้ตบุ๊กไว้ แล้วต้องใช้งานประมวลผลหนัก ๆ ที่มีความร้อนสูง รวมถึงใช้ในการเล่นเกม อันนี้ก็สามารถทำได้ครับ บอดี้ ฮาร์ดแวร์ภายใน รวมถึงหน้าจอในปัจจุบันสามารถทนความร้อนได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนถ้าในระยะยาว อันนี้เชื่อว่าอาจจะมีผลกระทบกับการแสดงผลของหน้าจออยู่บ้างในระดับหนึ่ง เห็นได้ชัดหน่อยก็อาจจะเป็นสารเคลือบผิวหน้าจอ ที่อาจจะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จากที่ต้องอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีความร้อนสูงติดกันเป็นระยะเวลานาน และอีกจุดที่หลายท่านอาจมองข้ามไป นั่นคือบริเวณยางกันกระแทกที่ขอบจอ ซึ่งจะเสื่อมสภาพเร็วขึ้นมากถ้าต้องเจอกับความร้อนสูงอยู่ตลอดเวลา

ส่วนถ้าถามว่าในการใช้งานโน้ตบุ๊กกับจอแยกแบบนี้ จะเปิดจอหรือพับจอดี หากเป็นการใช้ทำงานทั่วไป งานที่ใช้เครื่องไม่หนักมาก กรณีนี้สามารถใช้แบบพับจอได้ตามต้องการ แต่ถ้าเป็นไปได้ การกางหน้าจอโน้ตบุ๊กออกมา จะส่งผลดีกับอายุการใช้งานของเครื่องในระยะยาวมากกว่า ส่วนถ้าเป็นการเล่นเกม หรืองานที่ต้องใช้พลังประมวลผลสูง ๆ แนะนำว่าควรเปิดจอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนออกจากเครื่อง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวเครื่องได้

 

 

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

ช่วงต้นปีนี้ ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สายเกมเมอร์น่าจะตื่นเต้นกันพอสมควร เพราะมีการเปิดตัว CPU และ GPU รุ่นใหม่กันหลากหลายค่าย โดยเฉพาะ AMD ที่นอกจากจะมีการเปิดตัว CPU สายเน้น AI อย่าง AMD Ryzen AI Max 300 series แล้ว ยังมีการเปิดตัวชิปรุ่นเน้นความแรงอย่าง AMD Ryzen...

How to

หนึ่งในปัญหายอดนิยมเวลามีคอมพิวเตอร์ Windows สักเครื่อง คือโน๊ตบุ๊คต่อ WiFi ไม่ได้ คอมพิวเตอร์ต่อเน็ตไม่ติด ซึ่งปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลากหลายทางมาก ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์, ซอฟท์แวร์ไปจนเครือข่ายมีปัญหาเองก็ได้ทั้งนั้น แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกและวิธีแก้ไขทั้งนั้น ถ้าสันนิษฐานได้ว่าปัญหาน่าจะมาจากจุด A, B หรือ C แล้ว ก็แก้ปัญหาได้ในเวลาไม่นาน แถมวิธีทำก็ง่ายมากและทำตามขั้นตอนในบทความนี้ได้ง่ายๆ ก่อนส่งให้ศูนย์บริการรับผิดชอบต่อได้ด้วย วิธีเช็คและแก้ปัญหาโน๊ตบุ๊คต่อ WiFi ไม่ได้ ถ้าต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้...

CONTENT

เปิดใช้งานโน๊ตบุ๊คใหม่ 2025 ตั้งค่าระบบให้พร้อมใช้ฉบับมือใหม่ Step by step ลงทะเบียน MS Office และโปรแกรมฟรีใช้งานได้ทันที แก้ปัญหาใหญ่ของมือใหม่ เมื่อสั่งซื้อโน๊ตบุ๊คมาใหม่ Windows 11 แล้วจะเปิดใช้งานอย่างไรฉบับปี 2025 แต่ที่ร้านอาจไม่ได้เซ็ตระบบมาให้ หรือซื้อออนไลน์มา พอกดปุ่มเปิดเครื่องแล้ว ต้องทำไงต่อ บทความนี้มาเป็นแนวทางให้คุณเซ็ตระบบตอนเปิดเครื่องใหม่ได้เอง ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยสิ่งที่ต้องทำ ประกอบด้วย...

Buyer's Guide

8 ลำโพงคอมไร้สายดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมจบ 2000 แต่งโต๊ะคอมสวย ดีไซน์กระทัดรัด รวม 8 ลำโพงคอมดีไซน์สวย จัดโต๊ะคอมในปี 2025 ขนาดกระทัดรัด แต่รองรับการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม และทำงานครบ เพิ่มลุคของโต๊ะทำงานให้ดูสวยขึ้นได้ เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกในการทำงานและความบันเทิงได้ในตัว โดยคัดมาเป็นแบบราคาประหยัดในงบ 2000 บาท เกือบทุกรุ่นรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ใช้งานแบบไร้สาย...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก